Share to:

 

จักรพันธุ์ ยมจินดา

จักรพันธุ์ ยมจินดา
โฆษกกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2538
รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.
ดำรงตำแหน่ง
1 มกราคม – 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ก่อนหน้าธนวัฒน์ วันสม
ถัดไปเปรมกมลย์ ทินกร ณ อยุธยา (รักษาการ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด22 สิงหาคม พ.ศ. 2497
อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ประเทศไทย
เสียชีวิต15 ตุลาคม พ.ศ. 2567 (70 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2535–2543)
ไทยรักไทย (2543–2549)
คู่สมรสอิสรา ยมจินดา
อาชีพนักพากย์, ผู้บรรยาย, ผู้ประกาศข่าว, นักการเมือง
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2519 - 2530 (นักพากย์)
พ.ศ. 2525 - 2557 (ผู้ประกาศข่าว)
พ.ศ. 2535 - 2552 (นักการเมือง)
พ.ศ. 2558 - 2567 (ดีเจ)

จักรพันธุ์ ยมจินดา (22 สิงหาคม พ.ศ. 2497 – 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567) เป็นอดีตผู้ประกาศข่าว, อดีตนักพากย์, อดีตผู้บรรยาย, อดีตนักการเมืองชาวไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการทำงานกับฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในช่วงปี พ.ศ. 2531 - 2535 และเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโทรทัศน์ และอดีตรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รวมถึงรองประธานกรรมการคนที่ 2 ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

ประวัติ

จักรพันธุ์เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ที่ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นบุตรของนายวิทยา และนางบุญเลี้ยง ยมจินดา มีพี่น้อง 7 คน นายจักรพันธุ์ เป็นคนที่ 3[1] นายจักรพันธุ์ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมเมื่อปี พ.ศ. 2543[2] และจบการศึกษาระดับชั้นปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ (EPA) มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ชีวิตครอบครัว เขาสมรสกับนางอิสรา มีธิดาด้วยกัน 1 คน

จักรพันธุ์ ยมจินดา ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 16:41 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สิริอายุได้ 70 ปี[3]

การทำงาน

จักรพันธุ์เริ่มชีวิตการทำงานที่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จากการเป็นผู้สื่อข่าวและผู้บรรยายการแข่งขันกีฬา ร่วมกับ พิษณุ นิลกลัด และ เอกชัย นพจินดา (อนึ่ง จักรพันธุ์เป็นเจ้าของเสียงบรรยายในไตเติลเปิดรายการ 7 สีคอนเสิร์ต ยุคแรกด้วย) จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง บรรณาธิการฝ่ายข่าว[4] และเป็นที่รู้จักของผู้ชมข่าวโทรทัศน์ จากการเป็นผู้ประกาศข่าวภาคค่ำ ช่อง 7 สี คู่กับ ศันสนีย์ นาคพงศ์ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยมอบหมายให้จักรพันธุ์เป็นผู้อ่านประกาศคำสั่งของ รสช.ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปแสดงความไม่พอใจกับการกระทำของเขาในครั้งนั้น จักรพันธุ์จึงลาออกจากช่อง 7 ในเวลาต่อมา[4]

ต่อมา จักรพันธุ์ก่อตั้ง บริษัท แมกซิมา สตูดิโอ จำกัด ร่วมกับญาติพี่น้องและมิตรสหายหลายคน โดยดำรงตำแหน่งประธานบริหาร[5] เพื่อผลิตรายการข่าว สถานีสนามเป้า (ต่อมาเปลี่ยนชื่อและเวลาเป็น สนามเป้า..เล่าข่าว และ สนามเป้า..ข่าวเที่ยง ตามลำดับ) ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งจักรพันธุ์เป็นพิธีกรข่าวด้วยตนเอง โดยมีผลงานที่สำคัญคือ การสัมภาษณ์เดี่ยว (Exclusive) ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ และถูกรัฐประหารโดย คปค. เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ ยังผลิตรายการโทรทัศน์ ประเภทวาไรตี้บันเทิงอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมทั้งร่วมบริหารวิทยุเอฟเอ็ม 94.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ลูกทุ่งเอฟเอ็ม และเป็นดีเจจัดรายการในทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-10.00 น.อีกด้วย[6]

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จักรพันธุ์เข้าเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ดำเนินรายการข่าว รายการ แว่นขยาย BY จักรพันธุ์ และ ในช่วงวิกฤตมหาอุทกภัย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกัน จักรพันธุ์ลาออกจากตำแหน่งประธานบริหาร บจก.แมกซิมา สตูดิโอ เพื่อเป็นกรรมการฝ่ายสื่อสารมวลชนและพัฒนาองค์กร ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และจากนั้นในราวต้นปี พ.ศ. 2555 ก็เลื่อนชั้นขึ้นเป็น รองประธานกรรมการคนที่สอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโทรทัศน์ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท

ทว่าในวันที่ 9 พฤษภาคม ปีเดียวกัน จักรพันธุ์ก็ยื่นหนังสือขอลาออกจากทั้งสองตำแหน่งหลังสุดนี้พร้อมกับสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารของบริษัทเดียวกัน แต่ยังคงเป็นกรรมการของ บมจ.อสมท อยู่ตามเดิม ทั้งนี้เขาให้เหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองตำแหน่งนี้ได้ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด แทบไม่มีเวลาพักผ่อนและออกกำลังกาย เกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องสุขภาพ จึงขอลาออกเพื่อให้มีเวลาเป็นส่วนตัวมากขึ้น ส่วนที่มีข่าวว่าตนกับผู้บริหารพรรคเพื่อไทย และพนักงานของ บมจ.อสมท ขัดแย้งกันเรื่องการจัดผังรายการ ประจำเดือนมิถุนายนที่กำลังจะมาถึง จักรพันธุ์ปฏิเสธ เนื่องจากมีคณะกรรมการหลายฝ่ายร่วมพิจารณา[7]

งานการเมือง

ภายหลังลาออกจากช่อง 7 จักรพันธุ์ได้ลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จังหวัดระยอง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535[2] โดยเขาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ด้วยคะแนนกว่า 100,000 เสียง รวมถึงเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัด และได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทย ในยุคที่พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2537 จนถึงกลางปี พ.ศ. 2538 จักรพันธุ์เป็นผู้ประกาศข่าวอีกครั้ง ในช่วงสถานการณ์ประจำวัน ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จนถึงปลายปี พ.ศ. 2539 จึงได้ลาออกเพื่อลงสมัครเป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งที่ 10 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตบางกอกน้อย, เขตบางพลัด และเขตตลิ่งชัน โดยเขาได้รับการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 64,428 เสียง

หลังจากนั้น เขาจึงลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544[2] และได้รับการวางตัวจากพรรคไทยรักไทย ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 30 เพื่อแข่งขันกับองอาจ คล้ามไพบูลย์ ของประชาธิปัตย์ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 แต่ถูกศาลจังหวัดระยองวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เนื่องจากขึ้นเวทีปราศรัยหมิ่นประมาท พันตำรวจเอกพณาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช ว่าเป็นผู้ค้าอาวุธเถื่อน ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2544 เสียก่อน[8] ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2548[9]

ผลงาน

สื่อโทรทัศน์

รายการข่าว

ช่อง 7
  • ข่าวภาคค่ำช่อง 7 (พ.ศ. 2531 - 2535)
ช่อง 3
  • สถานการณ์ประจำวัน (พ.ศ. 2538 - 2539)
ช่อง 5
  • สถานีสนามเป้า
  • สนามเป้าข่าวเที่ยง

รายการโทรทัศน์

  • เจาะสนาม - ช่อง 7

งานพากย์เสียง

ภาพยนตร์
การ์ตูน (การ์ตูนญี่ปุ่นและโทคุซัทสึ)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. โคราชคึกคัก!! บุญรวี ยมจินดา ผู้สมัครนายก อบต. ลุยตลาดนัดหาเสียงตั้งใจพัฒนาชาวนากลาง อย่างมั่นใจ
  2. 2.0 2.1 2.2 ประวัติผู้สมัคร ส.ส. - จักรพันธุ์ ยมจินดา เก็บถาวร 2011-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์คนไทยดอตคอม
  3. "อาลัย จักรพันธุ์ ยมจินดา อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง เสียชีวิตอย่างสงบ ในวัย 70 ปี". ข่าวสด. 15 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 "จักรพันธุ์ ยมจินดา" ชีวิตที่ผกผัน เพราะอ่าน "ประกาศ รสช." 2 ฉบับ เก็บถาวร 2007-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์นิตยสารผู้จัดการ 360° รายเดือน
  5. รายการ บุษบาบานเช้า ททบ.5 ยกทีมถ่ายทำสกู๊ป ฐานเรียนรู้เกษตรที่แม่โจ้ เก็บถาวร 2021-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  6. รายชื่อดีเจประจำคลื่นลูกทุ่งเอฟเอ็ม เก็บถาวร 2010-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ลูกทุ่งเอฟเอ็ม เก็บถาวร 2011-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. เปิดอก"จักรพันธุ์ ยมจินดา" เหตุไขก๊อกรักษาการ ผอ.อสมท ปัดแรงกดดัน ต้องการพักออกกำลังกาย เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากมติชนออนไลน์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555
  8. ทรท.วุ่น ศาลสั่งจำคุก 'จักรพันธุ์ ยมจินดา'! เก็บถาวร 2016-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด ในเว็บไซต์ไทยเฮลธ์ดอตเน็ต
  9. แถลงข่าว-จับสลากการแข่งขันฟุตบอล "ควีนสคัพ" ครั้งที่ 32 เก็บถาวร 2011-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
Kembali kehalaman sebelumnya