Share to:

 

เอ็นบีที 2 เอชดี

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)
ตราสัญลักษณ์สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
ชื่ออื่นNational Broadcasting
Services of Thailand
ประเทศไทย ไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย ประเทศไทย
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์/สถานีวิทยุ
ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล
ประเภทบริการสาธารณะ
คำขวัญข่าวสาร ความรู้ คู่รัฐและประชาชน
สำนักงานใหญ่เลขที่ 236 ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
แบบรายการ
ระบบภาพ1080p (16:9 คมชัดสูง/ออนไลน์)
1080i (16:9 คมชัดสูง/ทีวีดิจิทัล,กล่องโทรทัศน์ดาวเทียมระบบเอชดี)
576i (16:9 คมชัดปกติ/กล่องโทรทัศน์ดาวเทียมระบบเอสดี)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของกรมประชาสัมพันธ์
สำนักนายกรัฐมนตรี
บุคลากรหลัก
ช่องรอง
ประวัติ
เริ่มออกอากาศวันแพร่ภาพออกอากาศ:
1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 (39 ปี)
วันสถาปนา:
11 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 (36 ปี)
ชื่อเดิมสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11
(2528 - 2551)
ลิงก์
เว็บไซต์nbt2hd.prd.go.th
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
ดิจิทัลช่อง 2 (มักซ์#1 : พีอาร์ดี)
เคเบิลทีวี
ช่อง 2
ทีวีดาวเทียม
ช่อง 2
ไทยคม 6 C-Band3920 H 30000 (3/4)
4150 H 12000 (3/4)
ไทยคม 8 KU-Band11560 H 30000
สื่อสตรีมมิง
PRDชมรายการสด

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ชื่อย่อ: เอ็นบีที; อังกฤษ: The National Broadcasting Services of Thailand) หรือ เอ็นบีที 2 เอชดี (อังกฤษ: NBT 2HD; อ่านว่า เอ็นบีที ทูเอชดี) เป็นหน่วยงานสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐบาล มีสถานะเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศไทย สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือ จิราพร สินธุไพร), รองนายกรัฐมนตรี สมศักดิ์ เทพสุทิน[1] และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือ นายธีรพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาศ) เป็นผู้กำกับดูแล โดยมีการเปลี่ยนชื่อพร้อมปรับปรุงระบบการบริหารงาน และรูปแบบของสถานีฯ เพื่อให้สมเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไปในวันที่ใช้ชื่อเอ็นบีที และได้เปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ของสถานีฯ ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติ

สืบเนื่องจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจกา (Japan International Cooperation Agency; JICA) ให้การสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียง และถ่ายทำรายการโทรทัศน์ภายในห้องถ่ายทำ (Studio) แก่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เพื่อให้ มสธ. นำไปใช้ก่อตั้ง ศูนย์ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ (Educational Broadcasting Production Center; EBPC) ระหว่างปี พ.ศ. 2525 - 2527 ทว่าในขณะนั้น ประเทศไทยไม่มีสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเพื่อรองรับเนื้อหาที่ผลิตขึ้นจากศูนย์ผลิตรายการดังกล่าว ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีจึงลงมติให้กรมประชาสัมพันธ์ จัดทำโครงการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการสู่ประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึงการเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนเป็นสถานีโทรทัศน์แม่ข่ายให้แก่สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคในเครือกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ

จากนั้นกรมประชาสัมพันธ์ได้ย้ายเครื่องส่งโทรทัศน์สีจากสถานีส่งที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ มาใช้แพร่ภาพชั่วคราว ด้วยระบบวีเอชเอฟความถี่สูง ทางช่องสัญญาณที่ 11 (Band 3, VHF CH-11) จากอาคารศูนย์ระบบโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จัดตั้งขึ้นเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และเริ่มต้นทดลองออกอากาศเป็นครั้งแรก ประมาณต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528[2] ก่อนจะแพร่ภาพเป็นประจำทุกวัน ระหว่างเวลา 16:30-21:00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2529 แต่ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณของกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเครื่องส่งโทรทัศน์มีกำลังส่งต่ำ เป็นผลให้ดำเนินการแพร่ภาพออกอากาศได้ไม่สะดวก ศาสตราจารย์ ยามาซากิ, ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิคม ทาแดง ผู้ร่วมดำเนินการก่อตั้ง ศูนย์ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ มสธ. จึงร่วมกันจัดทำร่างโครงการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาอนุมัติวงเงิน 2,062 ล้านเยน (ขณะนั้นคิดเป็นประมาณ 300 ล้านบาท) แบบให้เปล่าผ่านไจกา เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการ จัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์ ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ถึงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2531 รวมระยะเวลาประมาณ 9 เดือน โดยระหว่างนั้น สทท. ยุติการออกอากาศเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เพื่อดำเนินการโอนย้ายระบบออกอากาศดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เวลา 10:00 นาฬิกา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อย่างเป็นทางการ[3] จากนั้นเป็นต้นมาจึงกำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ต่อมาจึงเริ่มกลับมาออกอากาศรายการภาคเช้า ข่าวภาคค่ำ รายการเพื่อการศึกษา และรายการประเภทอื่น ไปยังสถานีเครือข่ายส่วนภูมิภาคตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะที่เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการ และนำเสนอรายการที่เป็นสาระความรู้ โดยเฉพาะด้านการศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี มาโดยตลอด ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนั้น สทท.11 ในส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการถ่ายทอดรายการเป็นส่วนมาก และบางช่วงเวลาจะให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาค ดำเนินการถ่ายทอดรายการของตนเฉพาะท้องถิ่นไป แล้วแต่ช่วงเวลานั้น ๆ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะแรก สทท.11 มักถูกมองข้ามจากผู้ชมส่วนใหญ่ เนื่องด้วยความเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล ซึ่งไม่มีรายการที่สามารถดึงดูดผู้ชมได้ โดยเฉพาะรายการประเภทบันเทิง เช่นละครโทรทัศน์หรือเกมโชว์ และประกอบกับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่สามารถหารายได้ด้วยการโฆษณา จึงทำให้ประเภทรายการที่ออกอากาศทาง สทท.11 มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้มีผู้ติดตามรับชมจำนวนไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2539 สทท.11 มีข้อเสนอให้หน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐ สามารถแสดงภาพสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าบนหน้าจอโทรทัศน์ได้ นอกจากนั้นก็ยังต่อยอดจากข้อเสนอข้างต้น ด้วยการผลิตภาพยนตร์โฆษณาของสถานีฯ เพื่อออกอากาศด้วยตนเอง ซึ่งดำเนินมาจนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวมีการกำหนดไม่ให้กรมประชาสัมพันธ์หารายได้จากการโฆษณาเชิงพาณิชย์[4] แต่ สทท.11 ยังคงมีโฆษณาเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อสำนักงาน กสทช. แจ้งเตือนให้ สทท. ห้ามมีการโฆษณาเชิงพาณิชย์ในรายการในช่วงปี พ.ศ. 2561[5] ทำให้มีการย้ายบางรายการที่ไม่สามารถปรับตัวให้ปลอดการโฆษณาเชิงพาณิชย์ได้ ไปออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ของเอกชนแทน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งรับรองโดยมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถมีโฆษณาได้เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้ สทท. สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้เทียบเท่ากับ ททบ.5 โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด [6]

อนึ่ง สทท.11 เริ่มมีชื่อเสียงในการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬา จากการริเริ่มนำเทปการแข่งขันมวยปล้ำอาชีพมาออกอากาศในระยะหนึ่ง และถ่ายทอดสดฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ในช่วงปี พ.ศ. 2540 - 2543 จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา สทท.11 ก็กลับมามีชื่อเสียงในเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อร่วมกับบริษัท ทศภาค จำกัด บริษัทลูกที่ประกอบกิจการโฆษณาในเครือไทยเบฟเวอเรจ, สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศญี่ปุ่น โดยไม่มีภาพยนตร์โฆษณาระหว่างการแข่งขัน ซึ่งหลังจากนั้น สทท.11 ก็ดำเนินการถ่ายทอดสดกีฬาอีกหลายรายการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อนึ่ง กรณีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2002 นับเป็นเรื่องแปลกใหม่ของวงการโทรทัศน์ไทยในขณะนั้น เนื่องจากตามธรรมเนียมปกติที่ผ่านมา การถ่ายทอดโทรทัศน์ในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินช่องต่างๆ มักรวมตัวกันในนามโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์การเผยแพร่ในประเทศไทย และหารายได้ทดแทนค่าลิขสิทธิ์ ด้วยการเสนอภาพยนตร์โฆษณาสินค้าบริการต่างๆ คั่นระหว่างการถ่ายทอด

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ มีแนวความคิดเปลี่ยนแปลง สทท.11 เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารงาน และตอบสนองเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสถานีฯ ดังนั้นในวันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. สทท.11 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (National Broadcasting Services of Thailand; เอ็นบีที) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้จดทะเบียนสมาชิกกับสหภาพวิทยุ-โทรทัศน์แห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union; ABU) และเปลี่ยนสีประจำสถานีเป็นสีแดง พร้อมกันนั้น ยังเริ่มออกอากาศรายการรูปแบบใหม่ เพื่อให้สมเจตนารมณ์ในการก่อตั้งสถานีและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ เอ็นบีทีจะนำเสนอข่าวที่ผลิตโดยกองบรรณาธิการข่าวของสถานีฯ เอง ซึ่งแยกออกมาจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ต่างจากในยุค สทท.11 ซึ่งจะนำเสนอข่าวที่ผลิตจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์แทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที นำอดีตผู้ประกาศข่าวหลายคนของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเดิม ที่ไม่เข้าร่วมงานกับสถานีฯต่อเมื่อเปลี่ยนชื่อไปเป็นสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยมาทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นตวงพร อัศววิไล, จอม เพชรประดับ, จิรายุ ห่วงทรัพย์, ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ เป็นต้น ซึ่งเอ็นบีทีนำเสนอภาพลักษณ์สถานีโทรทัศน์ข่าวสาร โดยให้เวลานำเสนอข่าวในผังรายการ มากกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน และปรับรูปลักษณ์ของสถานีฯ เพื่อให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม ซึ่งในช่วงแรก เอ็นบีทีถูกจับตาอย่างยิ่งจากหลายฝ่าย จากการประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ปัจจุบันคือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) ในลักษณะของ "สงครามสื่อโทรทัศน์ภาครัฐ" เนื่องจากเอ็นบีทีนำเสนอความเป็นทีวีสาธารณะของภาครัฐบาล ขึ้นรับมือกับไทยพีบีเอส ที่ประกาศตัวเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยไปก่อนหน้า และนอกจากนี้ เอ็นบีทียังถูกจับตามองอย่างยิ่งในแง่มุมของการเสนอข่าว ซึ่งมีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอ็นบีทีนำเสนอข่าวในลักษณะเข้าข้างรัฐบาลเป็นพิเศษ

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จากสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายปฏิรูปสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยจัดประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งกำหนดแนวคิดตราสัญลักษณ์ ให้สื่อถึงความเป็นโทรทัศน์แห่งชาติ มีความทันสมัยผสมผสานกับความเป็นไทย และเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การใช้ชื่อเอ็นบีที โดยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้เปิดตราสัญลักษณ์ใหม่ และเปิดตัวสถานีฯ ในฐานะสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จากนั้นจึงมีการเลิกสัญญาบริษัทผลิตข่าว ซึ่งเดิมเป็นของ บริษัท ดิจิทัลมีเดียโฮลดิ้ง จำกัด มาประมูลใหม่ ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือก จากการประกวดราคานี้ได้แก่บริษัท โพสต์พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กระทั่งต่อมาเอ็นบีทีก็ได้เรียกเวลารายการข่าวคืนมาผลิตเองทั้งหมด

ในยุคที่ เอ็นบีที ก้าวสู่การแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 สถานีได้เปลี่ยนอักษรย่อที่กำกับด้านล่าง จากอักษรไทยเป็นอักษรอังกฤษ และทดลองออกอากาศผ่านโครงข่ายกรมประชาสัมพันธ์ทางช่องหมายเลข 2 โดยระยะแรกออกอากาศในอัตราส่วน 4:3 โดยมีแถบสีม่วงอยู่ที่บริเวณด้านซ้ายและขวาของหน้าจอ แต่ต่อมาได้ปรับอัตราส่วนจอเป็น 16:9 แต่ในปีเดียวกัน กรมประชาสัมพันธ์ ประสบปัญหาโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิทัลที่ล่าช้า ประกอบกับการจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคา ประมูลโครงข่าย และขั้นตอนการจัดระเบียบทางราชการ นำไปสู่การเลื่อนเปิดใช้โครงข่ายทีวีดิจิทัลออกไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 กรมประชาสัมพันธ์ ได้เปิดใช้โครงข่ายทีวีระบบดิจิทัล ตั้งแต่ที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ทยอยเปิดใช้โครงข่ายในอนาคต ระนาบเดียวกัน มีการปรับรูปแบบรายการข่าวใหม่ด้วยรูปแบบห้องส่งใหม่ที่มีคุณภาพเทียบเท่าช่องโทรทัศน์บริการธุรกิจ เช่น ฉากกำแพงวิดีทัศน์ (Video Wall) ขนาดใหญ่ โดยใช้ฉากหลังเป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในประเทศไทย หรือ ฉากที่มีข้อความรณรงค์ต่าง ๆ และกลางปี พ.ศ. 2559 มีการปรับรูปแบบรายการข่าวใหม่โดยใช้ชื่อรายการข่าวแนวเดียวกับช่องโทรทัศน์บริการธุรกิจทั่วไป ส่วนกราฟิกเปิดรายการข่าวยังคงเดิม เพียงแต่มีการปรับสีเล็กน้อย รวมถึง เอ็นบีที.ได้นำเทคโนโลยี VTag QRCode ซึ่งจะนำคิวอาร์โค้ดซึ่งเชื่อมโยงสื่อสังคมออนไลน์ของ สทท. โดยนำมาแสดงที่บริเวณมุมจอล่างขวาถัดจากสัญลักษณ์ของสถานีฯ บนหน้าจอ (หรือกรอบล่ามผู้บรรยายภาษามือในบางรายการ เช่น ข่าวภาคค่ำ ฯลฯ)

ปี พ.ศ. 2560 เอ็นบีที เริ่มใช้เพลงประกอบและไตเติ้ลข่าวใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบไตเติ้ลข่าวภูมิภาคให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับส่วนกลาง จนกระทั่งเริ่มมีการออกอากาศช่องรายการส่วนภูมิภาคผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลของ สทท. เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 จึงได้ยุติการใช้กราฟิกและเพลงประกอบจากส่วนกลาง

ในช่วง อุทกภัยในภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2560 สทท.ได้ปรับรูปแบบการนำเสนอเพื่อเป็นสถานีสื่อกลางในการรายงานข่าวเหตุอุทกภัยและรายงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยใช้แถบ L-Bar ในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับอุทกภัยภาคใต้ที่ด้านขวามือของจอ สลับกับรายการปกติตามผังซึ่งจะลดขนาดลงมากึ่งหนึ่ง ยกเว้นบางรายการ เช่น ข่าวในพระราชสำนัก การถ่ายทอดสดพระราชพิธี รวมถึงรายการภาคบังคับจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังคงแสดงเต็มหน้าจอ

ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 สทท. ได้ทำการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกจากสถานีส่ง 12 สถานีทั่วประเทศที่เหลือ (โดยเลื่อนแผนออกไปจากเดิมที่ก่อนหน้านี้มีแผนกำหนดว่าจะให้ยุติการออกอากาศในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ซึ่ง 37 สถานีได้ยุติระบบอนาล็อกตามแผนกำหนด)[7] ซึ่งเป็นไปตามที่ทางสถานีฯได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สังกัดคณะกรรมการ กสทช. ว่าด้วยแผนการยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกของสถานีเอง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 และจะเหลือแต่เพียงแค่การออกอากาศในระบบดิจิทัลภาพคมชัดสูง หมายเลข 2 เท่านั้น ในวันถัดไป (ก่อนหน้านั้น เอ็นบีทีได้ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559)[8]

สทท.ได้ยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกจากสถานีส่ง 12 สถานีทั่วประเทศโดยสมบูรณ์ เมือวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 00:01 น.

โครงสร้างการบริหาร

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย บริหารงานแบบองค์กรราชการ จัดแบ่งการบริหารงานออกเป็น 3 ส่วน 2 ฝ่าย และ 1 กลุ่ม คือ

  • ส่วนจัดและควบคุมรายการ มีหน้าที่ จัดสรร และควบคุมเนื้อหารายการ รวมถึงการออกอากาศรายการต่างๆ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
  • ส่วนผลิตรายการ มีหน้าที่ ผลิตรายการเพื่อป้อนให้กับ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เพื่อการออกอากาศต่อไป
  • ส่วนเทคโนโลยี มีหน้าที่ กำกับดูแลในด้านเทคโนโลยีการออกอากาศ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นต้น
    • ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่ บริหารงานทั่วๆ ไป เช่น ฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายบุคคล เป็นต้น
    • ฝ่ายแผนงานและประสานงาน มีหน้าที่ วางแผนงาน และประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ในสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
      • กลุ่มงานวิชาการ มีหน้าที่ ศึกษา ค้นคว้า และ ประสานงาน ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน โดยได้จัดทำโครงการ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัย รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตงานวิจัย และบทความเพื่อการประชาสัมพันธ์

ที่ทำการ

อาคารสำนักงาน

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เริ่มเปิดทำการในอาคารเลขที่ 90-91 ถนนกำแพงเพชร 7 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ต่อมา สทท.ทยอยดำเนินการย้ายฐานปฏิบัติงาน ไปยังอาคารที่ทำการหลังใหม่ ซึ่งก่อสร้างขึ้นภายในบริเวณเดียวกับที่ทำการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เลขที่ 236 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันย้ายมาอย่างสมบูรณ์แล้ว ส่วนอาคารหลังเดิม เอ็นบีทีโอนให้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์(รวมไปถึงสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเวิลด์) จนถึงปัจจุบัน

เครือข่ายในส่วนภูมิภาค

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย มีสถานีโทรทัศน์เครือข่ายในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 12 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันออก 1 แห่ง และภาคใต้ 6 แห่ง โดยในแต่ละสถานี จะมีการเชื่อมโยงรับส่งสัญญาณกับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยส่วนกลาง ด้วยระบบดาวเทียม โดยที่ทางสถานีฯ ได้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 6

รายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง

คำขวัญ

  • โทรทัศน์แห่งประเทศไทย ทางเลือกใหม่ของปวงชน (1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2551, 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน)

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าว

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

  • ธีรัตถ์ รัตนเสวี (เก๋)
  • ลักขณา ปันวิชัย (แขก)
  • ภูวนาท คุนผลิน (อั๋น)
  • พัชยา มหัทธโนธรรม (มา)
  • ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข (ชู)
  • วิโรจน์ อาลี
  • วีรนันต์ กัณหา (จิ๊บ)
  • ศศิพงศ์ ชาติพจน์ (พงศ์)
  • วันรัก สุวรรณวัฒนา (เฟย์)
  • จิรภัทร อุดมสิริวัฒน์ (พีท)
  • ส.กรกช ยอดไชย
  • กรองแก้ว ชัยกฤษ (แนน)
  • สุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี (แจ็ค)
  • ปัฐมาภรณ์ หาญชาญชัย (เชอรี่)
  • วีระศักดิ์ ขอบเขต (ป๋อง)
  • นิศากานต์ กีร์ตะเมคินทร์ (ฝนฝน)
  • ชลภร นภินธากร (เอื้อม)
  • เมธี ฉิมจิ๋ว
  • ศตคุณ ดำเกลี้ยง (เฟิร์ส)
  • ณิชาภัทร รุ่งรัตนเสถียร (มิวสิค)
  • กนกนวล จรัสกุณโฮง (เมย์)
  • จินตนา ทิพย์รัตน์กุล (อื๊บ)
  • วรภัทร ภัททิยากุล (บุ๊ค)
  • อาคีระ กิจธนาโสภา (อาร์ท)
  • กัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล (ยุ้ย)
  • ชาดา สมบูรณ์ผล (แคท)
  • อิทธิพันธ์ บัวทอง
  • ประเทศ ทาระ (เทศ)
  • ปฏิพัทธ์ เข็มทิศ (อ๊อฟ)
  • สถานุ ณ พัทลุง
  • ภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม (ชมพู่)
  • ปารินทร์ เจือสุวรรณ (อิฐ)
  • ชลพรรษา นารูลา (ฮันนี่) (ข่าวภาษาอังกฤษ)
  • ดารา ธีรเกาศักย์ (ข่าวภาษาอังกฤษ)
  • แซนดร้า หาญอุตสาหะ (แซนดี้) (ข่าวภาษาอังกฤษ)
  • สุรพันธุ์ เหล่าธารณาฤทธิ์ (โน้ต) (ข่าวภาษาอังกฤษ)
รายการข่าว ผู้ประกาศข่าว
NBT News ภาคเช้า
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 06:00 - 08:00 น.
วันเสาร์ - วันอาทิตย์
เวลา 07:00 - 08:00 น.
ปฏิพัทธ์ เข็มทิศ (วันจันทร์ - วันพุธ)
จินตนา ทิพยรัตน์กุล (วันจันทร์ - วันพุธ)
วรภัทร ภัททิยากุล (วันพฤหัสบดี - วันศุกร์)
อาคืระ กิจธนาโสภา (วันพฤหัสบดี - วันศุกร์)
กัญญ์ณาณัฏฐ์ ภาธรสืบนุกูล (วันเสาร์ - วันอาทิตย์)
นิศากานต์ กีร์ตะเมคินทร์ (วันเสาร์ - วันอาทิตย์)
คุยคลายข่าว
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 08:00 - 09:30 น.
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ธีรัตถ์ รัตนเสวี
ลักขณา ปันวิชัย
ภูวนาท คุนผลิน
วิโรจน์ อาลี
วีรนันต์ กัณหา
ศศิพงศ์ ชาติพจน์
วันรัก สุวรรณวัฒนา
พัชยา มหัทธโนธรรม
Better Future
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 10:10 - 11:30 น.
วันเสาร์ - วันอาทิตย์
เวลา 10:00 - 12:00 น.
ศกัญ แก้วประจันทร
นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
นิศากานต์ กีร์ตะเมคินทร์
วิรัตน์ มาหาญ
เมธิยา เข็มเพ็ชร
กฤติรดา พุฒิโชติหิรัญ
จามจุรี ยรรยง
รัตนาวดี จิตต์รุ่งเรืองชัย
นวัศกรณ์ สรษณะ
Law เธอมาคุย

วันพฤหัสบดี
เวลา 11:30 - 12:00 น.

ปภิณวิช อ่องบางน้อย
NBT News ภาคเที่ยง
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 12:00 - 14:00 น.
วันเสาร์ - วันอาทิตย์
เวลา 12:00 - 13:00 น.
วีระศักดิ์ ขอบเขต (วันจันทร์ - วันศุกร์)
ปัฐมาภรณ์ หาญชาญชัย (วันจันทร์ - วันศุกร์)
สุภนันท์ ฤทธิ์มนตรี (วันเสาร์ - วันอาทิตย์)
ชลภร นภินธากร (วันเสาร์ - วันอาทิตย์)
เกาะกระแสหุ้นกับ NBT
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 14:00 - 14:30 น.
ศรวณีย์ พรมเสน
เคลียร์คัดชัดเจน
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 14:30 - 15:00 น.
นันทิญา จิตตโสภาวดี
NBT มีคำตอบ
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 15:05 - 16:00 น.
เจตน์ เลิศจรูญวิทย์
NBT ทั่วไทย
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 17:00 - 17:30 น.
วันเสาร์ - วันอาทิตย์
เวลา 17:30 - 18:00 น.
ศตคุณ ดำเกลี้ยง (วันจันทร์ - วันศุกร์)

ณิชาภัทร รุ่งรัตนเสถียร (วันเสาร์ - วันอาทิตย์)

NBT News ภาคค่ำ
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 17:30 - 20:00 น.
วันเสาร์ - วันอาทิตย์
เวลา 18:00 - 20:00 น.
กรองแก้ว ชัยกฤษ (วันจันทร์ - วันศุกร์)
ส.กรกช ยอดไชย (วันเสาร์ - วันจันทร์)
จิรภัทร อุดมสิริวัฒน์ (วันอังคาร - วันอาทิตย์)
ข่าวในพระราชสำนัก
วันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา 20:00 - 20:30 น.
สิริเสาวภา เอกเอี่ยมสิน
เรื่องดังหลังข่าว
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 20:30 - 21:30 น.
ชาดา สมบูรณ์ผล
อิทธิพันธ์ บัวทอง
Match Point
วันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา 21:30 - 22:00 น.
พีระณัฐ จำปาเงิน
พสิษฐ สุทธิกุล
NBT News ภาคดึก
วันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลา 22:00 - 23:00 น.
ประเทศ ทาระ
กนกนวล จรัสกุณโฮง
ภัชชาร์ ภัทรเดชาธรรม
สถานุ ณ พัทลุง
Newsline
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 23:00 - 23:25 น.
ชลพรรษา นารูลา
ดารา ธีรเกาศักย์
แซนดร้า หาญอุตสาหะ
สุรพันธุ์ เหล่าธารณาฤทธิ์

ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวในอดีต

  • ปิยะ ชำนาญกิจ (ปัจจุบันเป็นนักพากย์)
  • จิรายุ ห่วงทรัพย์ (ปัจจุบันเป็นโฆษกกระทรวงกลาโหม)
  • ปนัดดา วงศ์ผู้ดี (ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ)
  • ณยา คัตตพันธ์ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • จอม เพชรประดับ (ปัจจุบันลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศและทำรายการผ่านยูทูบในชื่อ "เสียงไทยเพื่อเสรีภาพของคนไทย (jom voice)")
  • กฤต เจนพานิชการ (ปัจจุบันอยู่ช่องวัน 31 และจีเอ็มเอ็ม 25 ในนามสำนักข่าววันนิวส์)
  • สุมนา แจวเจริญวงศ์ (ปัจจุบันอยู่ช่อง 3 เอชดี)
  • ตวงพร อัศววิไล (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • วสุ แสงสิงห์แก้ว (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • วรวีร์ วูวนิช (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • รณฤทธิ์ บุญพรหม (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • สัญลักษณ์ เจริญเปี่ยม (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ธีระ ธัญญอนันต์ผล (ปัจจุบันอยู่ช่อง 8)
  • ชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ (ปัจจุบันอยู่ช่อง 8)
  • ชมะนันทน์ วรรณวินเวศร์ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ (ปัจจุบันอยู่ช่อง 3 เอชดี)
  • จุฑารัตน์ เอี่ยมอำพันธ์ (ปัจจุบันอยู่ไทยรัฐทีวี)
  • สุภัสรา มหาคามินทร์ (ปัจจุบันอยู่ไทยรัฐทีวี)
  • รสริน ประกอบธัญ (นามสกุลเดิม : ชนะมิตร) (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • พิชาญพงศ์ วงศ์ศรีแก้ว (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • กาญจนา ปลื้มจิตต์ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • รัชนีวรรณ ดวงแก้ว (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • อภิรักษ์ หาญพิชิตวนิชย์ (ปัจจุบันอยู่ไทยพีบีเอส)
  • จตุพร สุวรรณรัตน์ (ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ)
  • บุญเลิศ มโนสุจริตชน (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • อนุรักษ์ ทรัพย์เพ็ง (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • อภิวัฒน์ บุราคร (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • สุชาทิพ มั่นสินธร (นามสกุลเดิม : จิรายุนนท์) (ปัจจุบันอยู่ททบ.5 เอชดี)
  • ปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการประชาสัมพันธ์)
  • กัมพล บุรานฤทธิ์ (ปัจจุบันอยู่ช่อง 7 เอชดี)
  • ศิริรัตน์ อานนท์ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ (ปัจจุบันอยู่ช่อง 3 เอชดี และพิธีกรอิสระ)
  • วิลาสินี แวน ฮาเรน (นามสกุลเดิม : ลิ้มพรกุล) (ปัจจุบันอยู่เนชั่นทีวี)
  • กอบชัย หงษ์สามารถ (ปัจจุบันอยู่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
  • ธนากร ริตุ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ณัฐพงษ์ ธีระภัทรานนท์ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • สุภาดา วิจักรไชยวงศ์ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ศิรวิทย์ ชัยเกษม (ปัจจุบันอยู่เจเคเอ็น 18 ในนามท็อปนิวส์)
  • ปวีณา ฟักทอง (ปัจจุบันอยู่ไทยพีบีเอส)
  • ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์ (ปัจจุบันอยู่เนชั่นทีวี)
  • วรรณชนก สังขเวช (ปัจจุบันอยู่ไทยพีบีเอส)
  • ศิริลักษณ์ รัตนวโรภาส (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ปรเมษฐ์ ภู่โต (ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ)
  • ถนอม อ่อนเกตุพล (ปัจจุบันอยู่ททบ.5 เอชดี)
  • มนัส ตั้งสุข (ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2567)
  • อัญชลี โปสุวรรณ (ปัจจุบันอยู่ไทยพีบีเอส)
  • ชญาณิศา มิเกลลี่ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ภัทริส ณ นคร (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • สโรชินี เสวกฉิม (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ขวัญ จิระพันธ์ (สกุลเดิม : ศรีสำรวล) (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • อารียานันท์ สัทธรรมสกุล (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • ณิชชา เดชสีหธนานนท์ (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)
  • จิรภิญญา ปิติมานะอารี (ปัจจุบันยุติการทำหน้าที่แล้ว)

ข้อวิพากษ์วิจารณ์และเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานี

กระบอกเสียงรัฐบาล

ในปี พ.ศ. 2551 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 57 ของไทย) โดยเฉพาะให้มีรายการความจริงวันนี้ ซึ่งเป็นรายการกระบอกเสียงของรัฐบาล โดยมีผู้เสียหายจากข้อเท็จจริง จนต้องออกมาฟ้องหมิ่นประมาทอยู่บ่อยครั้ง เช่นตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. รวมไปถึงสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยของกลุ่มพันธมิตรเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม

การบุกยึดที่ทำการ สวท. และ สสท.

เมื่อเวลา 05.30 น.วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 มีกลุ่มชายฉกรรจ์สวมหมวกไอ้โม่งปิดหน้าอย่างมิดชิด ซึ่งอ้างตัวเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย หน่วยรักษาความปลอดภัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำนวนประมาณ 80 คน บุกเข้ายึดอาคารที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่งดออกอากาศรายการข่าวเช้า ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ โดยตรวจพบอาวุธปืน ไม้กอล์ฟ มีดดาบสปาตา และใบกระท่อม ในตัวกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าว

จากนั้น เวลาประมาณ 06.00 น. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ขึ้นประกาศบนเวทีใหญ่ของพันธมิตรที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ว่า กลุ่มพันธมิตรได้บุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเป็นผลสำเร็จแล้ว ตนจะนำกลุ่มดาวกระจายตามไปสมทบที่สถานีฯ

ต่อมา เวลาประมาณ 08.30 น. แนวร่วมกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรที่นำโดยสมเกียรติและอมร อมรรัตนานนท์ ได้พังประตูรั้วเข้ายึดที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตลอดจนห้องส่งกระจายเสียง และห้องส่งออกอากาศ ถือเป็นการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์โดยประชาชนครั้งแรกในประเทศไทย[10]

กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เอฟเอ็ม 92.5 และ 97.0 เมกะเฮิรตซ์ ตลอดจนมีความพยายามของเจ้าหน้าที่เทคนิค สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ในการนำสัญญาณโทรทัศน์ของเอเอสทีวี มาออกอากาศในคลื่นความถี่โทรทัศน์ของเอ็นบีทีแทน เป็นผลให้เอ็นบีทีไม่สามารถออกอากาศได้ในช่วงแรก แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคเปลี่ยนระบบการออกอากาศ โดยใช้สัญญาณแอนะล็อกแทนสัญญาณดิจิทัล ทำให้สามารถออกอากาศได้โดยไม่มีคลื่นแทรก กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจจึงตัดสายไฟฟ้าของเครื่องส่ง เพื่อให้เกิดความเสียหายแทน[ต้องการอ้างอิง]

แต่ก็ยังคงมีความพยายามออกอากาศรายการข่าวทางเอ็นบีทีอย่างต่อเนื่องของพนักงานฝ่ายข่าว นำโดยตวงพร อัศววิไล, จิรายุ ห่วงทรัพย์, สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์, อดิศักดิ์ ศรีสม, วรวีร์ วูวนิช, กฤต เจนพานิชการ เป็นต้น โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ กล่าวคือ

  • ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากรถถ่ายทอดสดนอกสถานที่ แล้วให้สำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยส่วนกลางที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ รับสัญญาณผ่านดาวเทียม ส่งไปยังเสารับสัญญาณโทรทัศน์บนอาคารใบหยก 2 เพื่อส่งออกอากาศทั่วประเทศอีกชั้นหนึ่ง โดยออกอากาศจากห้องส่งชั่วคราวภายในบริเวณสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จนกระทั่งกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาพบ จึงถูกระงับการออกอากาศไปอีก
  • ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาค (ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และ จังหวัดเชียงใหม่)[ต้องการอ้างอิง] มาที่ส่วนกลาง แล้วไปตามเส้นทางเดิม
  • ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากรถถ่ายทอดสดนอกสถานที่เช่นเดิม และต่อมาใช้ห้องส่งที่โมเดิร์นไนน์ทีวี เป็นห้องส่งชั่วคราว[10]

จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. วันเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศถอนกำลังออกจากสถานีฯ เนื่องจากความพยายามเชื่อมต่อสัญญาณเอเอสทีวีไม่ประสบผล แล้วไปสมทบกับกลุ่มใหญ่ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบบริเวณสถานีฯ พบว่ามีการบุกรุกเข้าไปห้องต่าง ๆ ภายในอาคาร สถานที่ถูกทำลายไปเป็นบางส่วน อีกทั้งมีทรัพย์สินเสียหายและสูญหายไปจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะมีการบุกรุกเข้าไปรื้อค้นสิ่งของ ภายในห้องประทับรับรองของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่มีหมายกำหนดการเสด็จทรงบันทึกเทปรายการทูบีนัมเบอร์วันวาไรตี้ ที่เอ็นบีทีในวันดังกล่าวด้วย หลังจากการตรวจสอบในเบื้องต้น จึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานีฯ กลับเข้าปฏิบัติงานภายในอาคารได้[ต้องการอ้างอิง]

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และผู้ประกาศข่าวส่วนหนึ่ง ยังคงรายงานข่าวที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกในช่วงคืนวันที่ 26 ต่อเช้าวันที่ 27 สิงหาคม จนกระทั่งสามารถกลับมาออกอากาศรายการข่าวภายในสถานีได้ตามปกติ ในช่วงข่าวเที่ยง วันที่ 27 สิงหาคม[ต้องการอ้างอิง]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 165/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เก็บถาวร 2019-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สืบค้นวันที่ 1 สิงหาคม 2562
  2. ขุดกรุ:จากสถานี HS1PJ ถึงโทรทัศน์สีสเตอริโอ(บางส่วน) จากเว็บไซต์รถไฟไทยดอตคอม
  3. ข่าวพระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2530-กันยายน พ.ศ. 2531 บทที่ 11 หน้า 6[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการ
  4. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เก็บถาวร 2018-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มาตรา 20 ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สาม จะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหารายได้โดยการโฆษณาหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานหรือกิจการของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ หรือการเสนอภาพลักษณ์ขององค์กร บริษัท และกิจการโดยมิได้มีการโฆษณาสรรพคุณ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด.
  5. 'มวยดีวิถีไทย' ย้ายวิกเปิดชมฟรี 1 เม.ย.นี้![ลิงก์เสีย]
  6. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๙/๒๕๖๑ เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
  7. "ช่อง 11 หรือ NBT" สถานีโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก 50 สถานี ยุติแล้ว 38 สถานี ยังออกอากาศ 12 สถานี (ข้อมูล ณ วันที 26 กุมภาพันธ์ 2561), Facebook ของสำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.
  8. แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก (ข้อมูล ณ วันที 19 มิถุนายน 2560) เก็บถาวร 2020-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  9. “ทรูโฟร์ยู ช่อง 24” จับมือ “เพชรยินดี” ส่งรายการ “ทรูโฟร์ยู มวยมันส์วันศุกร์”เขย่าจอ เก็บถาวร 2020-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน adslthailand.com
  10. 10.0 10.1 พันธมิตรฯบุกยึด เอ็นบีที จากเว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya