Share to:

 

จูหวน

จูหวน (จู หฺวาน)
朱桓
ขุนพลทัพหน้า (前將軍 เฉียนเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 229 (229) – ค.ศ. 238 (238)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลโกะหยง
เจ้ามณฑลเฉงจิ๋ว (青州牧)
(แต่ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 229 (229) – ค.ศ. 238 (238)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลโกะหยง
ขุนพลสำแดงยุทธ์
(奮武將軍 เฟิ่นอู่เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. 229 (229)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลซุน เช่า (ถึงปี ค.ศ. 225)
โกะหยง (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 225)
ปลัดรัฐเพ้งเสีย (彭城相 เผิงเฉิงเซียง)
(ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 223 (223) – ค.ศ. 229 (229)
กษัตริย์ซุนกวน
หัวหน้ารัฐบาลซุน เช่า (ถึงปี ค.ศ. 225)
โกะหยง (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 225)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 177[a]
นครซูโจว มณฑลเจียงซู
เสียชีวิตค.ศ. 238 (61 ปี)[a]
บุตรจูอี้
อาชีพขุนพล
ชื่อรองซิวมู่ (休穆)
บรรดาศักดิ์เจียซิงโหว
(嘉興侯)

จูหวน (ค.ศ. 177–238)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จู หฺวาน (จีน: 朱桓; พินอิน: Zhū Huán) ชื่อรอง ซิวมู่ (จีน: 休穆; พินอิน: Xiūmù) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน แม้ว่าจูหวนเริ่มรับราชการภายใต้ขุนศึกซุนกวน แต่ก็ยังไม่มีบทบาทสำคัญใด ๆ จนกระทั่งหลังยุทธการที่กังเหลงในปี ค.ศ. 209 ตั้งแต่นั้นจูหวนก็ได้รับผิดชอบการป้องกันในท้องถิ่นและปราบปรามกบฏจำนวนหนึ่งเป็นผลสำเร็จ ระหว่างปี ค.ศ. 222 ถึง ค.ศ. 225 เมื่อโจผีจักรพรรดิแห่งวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของง่อก๊กเปิดฉากการบุกง่อก๊กสามทาง ซุนกวนแต่งตั้งให้จูหวนเป็นแม่ทัพในการต้านวุยก๊กที่รุกราน จูหวนเอาชนะโจหยินขุนพลของวุยก๊กได้ในยุทธการที่ยี่สู (ค.ศ. 222–223)

ประวัติช่วงต้น

จูหวนเป็นชาวอำเภออู๋ (吳縣 อู๋เซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครซูโจว มณฑลเจียงซู[2] จูหวนมาจากตระกูลจูที่เป็นหนึ่งในสี่ตระกูลที่มีอิทธิพลที่สุดในเมืองง่อกุ๋นในเวลานั้น[b] จูหวนเริ่มรับราชการภายใต้ขุนศึกซุนกวนผู้ปกครองอาณาเขตในภูมิภาคกังตั๋งในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จูหวนมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ ( จ่าง) ของอำเภออีเหี้ยว (餘姚縣 ยฺหวีเหยาเซี่ยน) ในเวลานั้น

เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในอำเภออีเหี้ยวทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น จูหวนจึงให้เปิดยุ้งฉางของที่ว่าการอำเภอและแจกจ่ายอาหารให้กับราษฎร ขณะเดียวกันก็สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจกจ่ายยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดด้วย[3] เป็นผลให้จูหวนได้รับความเคารพและการยอมรับจากราษฎรในท้องถิ่น ต่อมาซุนกวนแต่งตั้งจูหวนเป็นนายกอง (校尉 เซี่ยวเว่ย์) นำทหาร 2,000 นายไปตามหาผู้คนที่กระจัดพลัดพรายไปก่อนหน้านี้เพื่อหลีกหนีโรคระบาด จูหวนทำภารกิจสำเร็จและสามารถจัดหาใหม่ที่อยู่ให้ราษฎร 10,000 คนในเมืองง่อกุ๋นและห้อยเข (會稽 ไคว่จี) หลังดำเนินการอยู่หลายปี[4]

การรับราชการช่วงกลาง

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 200 ถึงราว ค.ศ. 222 จูหวนยังไม่มีบทบาทรับผิดชอบสำคัญใด ๆ ในขณะที่นายทหารคนอื่น ๆ ของซุนกวนมีส่วนร่วมอย่างมากในยุทธการที่รบกับขุนศึกอริ โดยเฉพาะกับโจโฉขุนศึกผู้กุมอำนาจราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นและควบคุมดินแดนทางเหนือของแม่น้ำแยงซี ในช่วงเวลานั้น จูหวนได้ปราบปรามกบฏหลายครั้งในเมืองตันเอี๋ยง (丹楊 ตานหยาง) และกวนหยง (鄱陽 ผัวหยาง) ในขณะที่นายทหารร่วมราชการคนอื่น ๆ กำลังรบอยู่ที่แนวหน้า จากความชอบในการปราบกบฏของจูหวน ซุนกวนจึงมอบบรรดาศักดิ์ให้จูหวนเป็นซินเฉิงถิงโหว (新城亭候) และเลื่อนยศเป็นขุนพลรอง (裨將軍 ผีเจียงจวิน)[5]

ยุทธการที่ยี่สู

ในปี ค.ศ. 222 จูหวนสืบทอดตำแหน่งจิวท่ายในฐานะแม่ทัพพื้นที่ประจำป้อมปราการที่ยี่สู (濡須 หรูซฺวี) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ชายแดนตามแนวแม่น้ำแยงซีระหว่างง่อก๊กและวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ เวลานั้นโจผีจักรพรรดิแห่งวุยก๊กเปิดฉากการบุกง่อก๊กสามทางและมีรับสั่งให้ขุนพลโจหยินนำการโจมตีที่ยี่สู[6]

โจหยินปล่อยข่าวว่าตนจะโจมตีที่เอียนเข (羨溪 เซี่ยนซี) โดยมีจุดประสงค์เพื่อหันเหความสนใจของง่อก๊กออกจากป้อมปราการที่ยี่สู จูหวนหลงกลโจหยินจึงส่งกองกำลังจำนวนมากไปทางตะวันออกเพื่อไปเสริมกำลังที่เอียนเข ขณะเดียวกันโจหยินนำกองกำลังหลายหมื่นนายเข้าโจมตียี่สูซึ่งจูหวนอยู่รักษาป้อมปราการโดยมีกำลังทหารเหลือเพียง 5,000 นาย[7] ทหารง่อก๊กที่ยี่สูต่างหวาดกลัวเพราะกองกำลังของโจจิ๋นมีจำนวนมากกว่า จูหวนจึงบอกกับเหล่าทหารว่า "เมื่อใดที่ทหารสองฝ่ายรบกัน ผลการรบจะถูกกำหนดโดยเจตจำนงแม่ทัพไม่ใช้จำนวนทหาร พวกเจ้าได้ยินชื่อเสียงด้านการรบของโจหยิน เห็นคิดว่าความสามารถของโจหยินจะเทียบกับข้าได้หรือ หลักการทางการทหารว่าทัพฝ่ายบุกควรมีจำนวนสองเท่าของทัพฝ่ายรับเมื่อรบบนที่ราบ เงื่อนไขคือฝ่ายตั้งรับไม่ได้อยู่ในป้อมปราการและขวัญกำลังใจของทั้งสองฝ่ายเท่ากัน บัดนี้โจหยินไม่มีทั้งปัญญาและความกล้า ทหารก็ขี้ขลาดทั้งยังเหนื่อยล้าจากการเดินทางนับพันลี้ ในทางกลับกัน เรายึดป้อมปราการที่มีกำแพงสูงใหญ่ อยู่ทางเหนือของแม่น้ำและทางใต้ของภูเขา สถานการณ์อำนวยให้ฝ่ายเรา เราจะมีชัยต่อข้าศึกที่อ่อนเล้า เราจะชนะร้อยศึกถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ร้อยครั้ง เราต้องไม่กลัวต่อให้โจผีมาที่นี่ด้วยตนเอง แล้วจะมากังวลอะไรกับคนเช่นโจหยินเล่า"[8]

จูหวนจึงสั่งผู้ใต้บังคับบัญชาซ่อนธงทิวและกลองศึกเพื่อให้โจหยินเข้าใจว่าพวกตนอ่อนแอเพื่อล่อให้โจหยินเข้าโจมตี โจหยินให้เฉา ไท่ (曹泰) บุตรชายนำทัพหลักเข้าไปใกล้ป้อมปราการ และสั่งให้เสียงเตียว (常雕 ฉาง เตียว) และฮองสัง (王雙 หวาง ซฺวาง) เปิดฉากโจมตีจงโจว (中洲; เกาะกลางแม่น้ำ) ที่มีครอบครัวของทหารฝ่ายง่อก๊กอาศัยอยู่ จูหวนจึงส่งเหยียน กุย (嚴圭) ไปยังจงโจวเพื่อซุ่มกำลังที่นั่น ในขณะที่จูหวนนำกำลังที่เหลือไปรบกับเฉา ไท่ เสียงเตียวและฮองสังถูกซุ่มโจมตีและพยายามล่าถอย แต่เรือของทั้งสองถูกทัพง่อก๊กยึดไว้จึงไม่สามารถถอยกลับได้ เสียงเตียวถูกสังหารในที่รบ ส่วนฮองสังถูกจับเป็น ทหารวุยก๊ก 1,000 นายจมน้ำตายขณะพยายามหนี ส่วนที่เหลือก็ถูกจับ ส่วนทางด้านนอกป้อมปราการยี่สู จูหวนรบไล่การโจมตีของเฉา ไท่ และสามารถแทรกซึมเข้าไปในค่ายของข้าศึกในจุดไฟเผาค่าย[9] จากผลงานของจูหวนในการรบ ซุนกวนจึงเลื่อนขั้นให้จูหวนเป็นขุนพลสำแดงยุทธ (奮武將軍 เฟิ่นอู่เจียงจฺวิน) ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "เจียซิงโหว" (嘉興侯) และแต่งตั้งให้เป็นปลัด (相 เซียง) ของเมืองเพ้งเสีย (彭城 เผิงเฉิง) ในนาม[10]

ยุทธการที่เซ็กเต๋ง

หกปีต่อมา จูหวนเข้าร่วมในยุทธการที่เซ็กเต๋งในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของลกซุน ครั้งหนึ่งจูหวนเสนอกับลกซุนว่าสามารถจะจับตัวโจฮิวขุนพลของข้าศึกได้โดยง่ายด้วยการปิดกั้นเส้นทางถอยของโจฮิวโดยใช้กำลังทหารเพียง 10,000 นายภายใต้การบัญชาของตัวจูหวน แต่ลกซุนปฏิเสธแผนของจูหวนและมอบหมายให้จูหวนนำทหาร 30,000 นายเข้าโจมตีด้านข้างของข้าศึก เมื่อโจฮิวนำทัพ 100,000 นายมาถึงเซ็กเต๋ง จูหวนและจวนจ๋องจึงนำทหารของตนเข้าโจมตีปีกซ้ายและปีกขวาของทัพโจฮิว ในขณะที่ลกซุนเข้าโจมตีเมื่อทัพข้าศึกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย ทัพโจฮิวแตกพ่ายกระจัดกระจายและมีทหารเสียชีวิตนับหมื่นนาย[11]

คำวิจารณ์และเสียชีวิต

จูหวนต้องการเป็นผู้นำมาโดยตลอดและรู้สึกละอายใจที่ต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการของผู้อื่น ในขณะที่จูหวนเข้าร่วมยุทธการก็ไม่สามารถทำตามใจชอบได้จึงรู้สึกโกรธและขุ่นเคือง แต่จูหวนก็ให้ความสำคัญกับคุณธรรม เมื่อจูหวนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 238 ขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ครอบครัวของจูหวนยากจนมาก ซุนกวนจึงให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวของจูหวนเพื่อให้จัดงานศพของจูหวนอย่างสมเกียรติ สาเหตุเหตุที่ครอบครัวจูหวนยากจนเป็นเพราะขณะเมื่อจูหวนยังมีชีวิตอยู่มักจะใช้ทรัพย์สินของตนช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว จึงทำให้ครอบครัวของจูหวนไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินมากนักเมื่อถึงเวลาที่จูหวนเสียชีวิต เมื่อเหล่าทหารใต้บังคับบัญชาของจูหวนรู้ว่าจูหวนป่วยหนัก ต่างรู้สึกกังวลและว้าวุ่นใจ เมื่อจูหวนเสียชีวิต เหล่าทหารและครอบครัวก็โศกเศร้าต่อการเสียชีวิตของจูหวนอย่างสูง บุตรชายของจูหวนชื่อจูอี้ (朱異) สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาและรับราชการเป็นนายทหารในทัพง่อก๊ก[12]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. 1.0 1.1 1.2 สามก๊กจี่ระบุว่าจูหวนเสียชีวิตขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในศักราชชื่ออู (ค.ศ. 238–251) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของซุนกวน[1]
  2. สี่ตระกูลใหญ่แห่งเมืองง่อกุ๋นได้แก่ ตระกูลโกะ (顧 กู้), ลก (陸 ลู่), จู (朱 จู) และเตียว (張 จาง) บุคคลที่มีชื่อเสียงในแต่ละตระกูลได้แก่ โกะหยง (กู้ ยง), กู้ เช่า และกู้ ถานจากตระกูลโกะ; ลกซุน (ลู่ ซฺวิ่น), ลกเจ๊ก (ลู่ จี้) และลู่ ข่าย จากตระกูลลก; จูหวน และจู จฺวี้ จากตระกูลจู และเตียวอุ๋น (จาง เวิน) จากตระกูลเตียว

อ้างอิง

  1. (年六十二,赤烏元年卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56
  2. (朱桓字休穆,吳郡吳人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  3. (往遇疫癘,谷食荒貴,桓分部良吏,隱親醫藥,餐粥相繼,士民感戴之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  4. (遷盪寇校尉,授兵二千人,使部伍吳、會二郡,鳩合遺散,期年之閒,得萬餘人。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  5. (桓督領諸將,周旋赴討,應皆平定。稍遷裨將軍,封新城亭候。) จดหมายเหคุสามก๊ก เล่มที่ 56.
  6. (後代周泰為濡須督。黃武元年,) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  7. (魏使大司馬曹仁步騎數萬向濡須,仁欲以兵襲取州上,偽先揚聲欲東攻羨溪;桓分兵將赴羨溪,既發,卒得仁進軍拒濡須七十里問。桓遣使追還羨溪兵,兵未到而仁奄至。時桓手下及所部兵,在者五千人) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  8. (諸將業業,各有懼心,桓喻之曰:"凡兩軍交對,勝負在將,不在眾寡。諸君聞曹仁用兵行師,孰與桓邪?兵法所以稱客倍而主人半者,謂俱在平原。無城池之守,又謂士眾勇怯齊等故耳。今仁既非智勇,加其士卒甚怯,又千里步涉,人馬罷困,桓與諸軍。共據高城,南臨大江,北背山陵,以逸待勞,為主制客,此百戰百勝之勢也。雖曹丕自來,尚不足憂,況仁等邪!") สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  9. (桓因偃旗鼓,外示虛弱,以誘致仁。仁果遣其子泰攻濡須城,分遣將軍常雕督諸葛虔、王雙等,乘油船別襲中洲。中洲者,部曲妻子所在也。仁自將萬人留橐皋,復為泰等後拒。桓部兵將攻取油船,或別擊雕等,桓等身自拒泰,燒營而退,遂梟雕,生虜雙,送武昌,臨陳斬溺,死者千餘) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  10. (權嘉桓功,封嘉興侯,遷奮武將軍,領彭城相。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  11. (黃武七年,鄱陽太守周魴譎誘魏大司馬曹休,休將步騎十萬至皖城以迎魴。時陸遜為元帥,全琮與桓為左右督,各督三萬人擊休。休知見欺,當引軍還,自負眾盛,邀於一戰。桓進計曰:「休本以親戚見任,非智勇名將也。今戰必敗,敗必走,走當由夾石、挂車,此兩道皆險阨,若以萬兵柴路,則彼眾可盡,而休可生虜,臣請將所部以斷之。若蒙天威,得以休自效,便可乘勝長驅,進取壽春,割有淮南,以規許、洛,此萬世一時,不可失也。」權先與陸遜議,遜以為不可,故計不施行。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.
  12. (桓性護前,恥為人下,每臨敵交戰,節度不得自由,輒嗔恚憤激。然輕財貴義,兼以彊識,與人一面,數十年不忘,部曲萬口,妻子盡識之。愛養吏士,贍護六親,俸祿產業,皆與共分。及桓疾困,舉營憂戚。年六十二,赤烏元年卒。吏士男女,無不號慕。又家無餘財,權賜鹽五千斛以周喪事。子異嗣。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 56.

บรรณานุกรม

Kembali kehalaman sebelumnya