เล่าเบา
เล่าเบา[1] (ค.ศ. 183–255) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลิว จ้าน (จีน: 留贊; พินอิน: Liú Zàn) ชื่อรอง เจิ้งหมิง (จีน: 正明; พินอิน: Zhèngmíng) เป็นขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เดิมรับใช้ขุนศึกซุนกวน (ภายหลังเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก) ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ประวัติช่วงต้นและการรับใช้ซุนกวนเล่าเบาเป็นชาวอำเภอฉางชาน (長山縣 ฉางชานเซี่ยน) เมืองห้อยเข (會稽郡 ไคว่จีจฺวิ้น) ซึ่งอยู่ในนครจินหฺวา มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน เล่าเบารับราชการเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในที่ว่าการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่วัยเยาว์ และครั้งหนึ่งเคยรบกับอู๋ หฺวาน (吳桓) ผู้นำกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าเล่าเบาจะสังหารอู๋ หฺวานได้ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บที่ขาข้างหนึ่งและไม่สามารยืดขาให้ตรงได้อีก[2] แม้ว่าเล่าเบาได้รับบาดเจ็บแต่ยังคงแน่วแน่เด็ดเดี่ยว เล่าเบาชอบอ่านตำราการทหารและประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ เมื่อใดที่เล่าเบาอ่านเรื่องที่แม่ทัพในยุคโบราณจัดกระบวนทัพในยุทธการ เล่าเบาก็ทอดถอนใจเพราะคิดว่าตนคงไม่มีทางเป็นอย่างแม่ทัพเหล่านั้นได้ ครั้งหนึ่งเล่าเบาบอกกับครอบครัวและเพื่อนฝูงว่า "แผ่นดินโกลาหล ผู้คนจำนวนมากต่อสู้เพื่ออำนาจ ตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์มีเพียงผู้มีความพิเศษเท่านั้นที่ขึ้นมามั่งคั่งและมีชื่อเสียงได้สำเร็จ บัดนี้ข้าไม่อาจทำอะไรได้กับทุพพลภาพนี้ได้ ข้าก็ไม่ต่างกับคนตาย ข้าตั้งใจจะเฉือนขาตนเอง หากโชคดีพอที่จะรอดชีวิตก็คงสามารถยืดขาได้ แล้วข้าก็จะสามารถทำตามความฝันได้ต่อมา แต่หากข้าตายก็ให้ไปเป็นตามนั้นเถิด"[3] ครอบครัวและเพื่อนของเล่าเบาพยายามจะหยุดเล่าเบาไม่ให้ทำเช่นนั้นแต่ไม่สำเร็จ เล่าเบาใช้มีดเฉือนขาของตัวเองและปล่อยให้เลือดไหลออก แต่ก็หมดสติไปเพราะความเจ็บปวด หลังเล่าเบาหายดีแล้วก็สามารถยืดขาและเดินได้ตามปกติอีกครั้ง[4] เล่งทองนายทหารผู้รับใช้ขุนศึกซุนกวนได้ยินเรื่องเกียวกับเล่าเบาก็รู้สึกประทับใจ จึงแนะนำซุนกวนว่าเล่าเบาเป็นผู้มีความสามารถ เล่าเบาจึงได้มารับใช้ซุนกวน หลังเล่าเบามีผลงานการรบในยุทธการหลายครั้ง ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็นนายกองพันทหารม้าประจำการ (屯騎校尉 ถุนฉีเซี่ยวเว่ย์) เล่าเบาเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนผู้พูดจาเปิดเผยตรงไปตรงมาและไม่เกรงกลัวอำนาจใด ๆ ซุนกวนจึงเห็นว่าเล่าเบาเป็นคนค่อนข้างน่ากลัว[5] ยุทธการที่ตังหินในปี ค.ศ. 252 หลังการสวรรคตของจักรพรรดิซุนกวน เล่าเบารับราชการต่อมากับซุนเหลียงรัชทายาทของซุนกวนผู้ขึ้นเป็นจักรพรรดิลำดับที่ 2 แห่งง่อก๊ก ต่อมาในปีเดียวกัน วุยก๊กรัฐอริของง่อก๊กบุกเข้าโจมตีเขื่อนที่ทัพง่อก๊กสร้างที่ตังหิน (東興 ตงซิง; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครเฉาหู มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) จูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กนำทัพง่อก๊กไปต้านข้าศึก โดยเล่าเบา เตงฮอง ลิกี๋ และต๋องจูนำทัพหน้าเข้ายึดคันดินสฺวี (徐塘 สฺวีถาง) และทำลายค่ายในแนวหน้าส่วนหนึ่งของข้าศึก ทัพหลักของง่อก๊กตามมาสมทบและร่วมกันปราบทัพวุยก๊ก เล่าเบาได้เลื่อนขึ้นเป็นขุนพลซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน) จากความดีความชอบในยุทธการ[6] กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิมในปี ค.ศ. 255 เมื่อบู๊ขิวเขียมและบุนขิมขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) ซุนจุ๋นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของง่อก๊กตัดสินใจจะนำกำลังพลไปยังฉิวฉุนเพื่อสนับสนุนการก่อกบฏ เล่าเบาได้รับการตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์ทัพซ้าย (左護軍 จั่วฮู่จฺวิน) ได้รับตราอาญาสิทธิ์ และได้รับคำสั่งให้ไปเข้าร่วมกับซุนจุ๋นในการรบ แต่เล่าเบาล้มป่วยระหว่างเดินทางไปฉิวฉุน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทัพหลวงของวุยก๊กได้ปราบปรามกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่างที่ซุนจุ๋นเตรียมการจะกลับง่อก๊กได้สั่งให้เล่าเบานำกำลังทหารคุ้มกันเสบียงกลับไปก่อนล่วงหน้า[7][8] จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กใช้โอกาสที่ข้าศึกล่าถอยสั่งให้เจียวปั้น (蔣班 เจี่ยง ปาน) ให้นำกำลังพล 4,000 นายไล่ตามโจมตีเล่าเบา[9] เล่าเบายังคงป่วยอยู่ในเวลานั้นจึงไม่สามารถลุกขึ้นมาสั่งการกองกำลังให้รบกับข้าศึกได้ เล่าเบาเห็นว่าหากเป็นอย่างนี้ก็ต้องพ่ายแพ้แน่ จึงส่งร่มพิธีการและตราประจำตำแหน่งของตนให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วบอกว่า "ข้าผู้เป็นแม่ทัพเคยได้ปราบข้าศึกและยึดธงข้าศึกไป แต่ข้าไม่เคยพ่ายแพ้ในการรบแม้แต่ครั้งเดียว บัดนี้ข้าล้มป่วยและมีกำลังพลด้อยกว่าข้าศึกนัก ท่านควรรีบจากไปขณะที่ยังทำได้ หากเราตายในวันนี้ทั้งหมดก็ไม่เป็นผลดีต่อรัฐของเรา รังแต่จะเป็นประโยชน์ต่อข้าศึกเท่านั้น" ผู้ใต้บังบัญชาปฏิเสธที่จะจากไป เล่าเบาจึงชักดาบออกมาและขู่จะฆ่าผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงยอมจากไป[10] ในอดีต เมื่อเล่าเบาเข้าร่วมในการรบ มักจะเรียกกองกำลังมาร่วมกลุ่มกันก่อนและให้พวกทหารร้องเพลงและโห่ร้องเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจ เล่าเบาไม่เคยพ่ายแพ้ในการสู้รบใด ๆ ที่เคยเข้าร่วม[11] จนกระทั่งการรบครั้งสุดท้าย ก่อนเล่าเบาจะเสียชีวิตได้ทอดถอนใจกล่าวว่า "ข้าได้ต่อสู้เช่นนี้อยู่เสมอ วันนี้ข้าต้องจบลงเช่นนี้ด้วยอาการป่วย มันเป็นโชคชะตา!" เมื่อเล่าเบาเสียชีวิตนั้นมีอายุ 73 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เจียวปั้นสั่งให้ทหารตัดศีรษะของเล่าเบาและนำไปประจานและยึดตราประจำทัพของเล่าเบา[12] หลายคนต่างคร่ำครวญให้กับการเสียชีวิตของเล่าเบา[13] ครอบครัวเล่าเบามีบุตรชาย 2 คนคือเล่าเลียก (留略 หลิว เลฺว่) และหลิว ผิง (留平) ทั้งคู่รับราชการเป็นขุนพลในง่อก๊ก[14] ดูเพิ่มอ้างอิง
บรรณานุกรม
|