ฐานันดรศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือ หมายถึง ระบบชั้น และชั้นยศของเจ้านายประเทศราชฝ่ายเหนือ ซึ่งประกอบด้วยนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน และนครแพร่
สมัยอาณาจักรล้านนา
ในสมัยอาณาจักรล้านนา มีกษัตริย์และราชวงค์สืบทอดกันมายาวนาน
- พญา หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ เจ้าอยู่หัว เช่น พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชอาณาจักรล้านนา พญาญี่บากษัตริย์แห่งลำพูน[1]
- ขุน เช่น ขุนเครือผู้ครองเมืองพร้าว
- ท้าว เช่น ท้าวน้ำท่วมผู้ครองเมืองฝางและเมืองเชียงตุง ท้าวช้อยผู้ครองเมืองฝาง ท้าวลกผู้ครองเมืองพร้าว
- เจ้าหลวง
- เจ้าป้อ เช่น เจ้าป้อประตูผา กษัตริย์เมืองงาว
เจ้านายฝ่ายหญิง มีพระอิสริยยศ ดังนี้
สมัยเข้าเป็นประเทศราชของสยาม
พระเป็นเจ้าทั้งสาม
ชาวยวนตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาเรียกเจ้าผู้ครองนครว่าพญา (พงศาวดารสยามสะกดว่าพระยา)[2] ต่อมาจึงมีตำแหน่งพระมหาอุปราชเรียกว่าเจ้าหอหน้า[3]
ปี พ.ศ. 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางได้พาพี่น้องลงมาเข้าเฝ้าสวามิภักดิ์ จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยากาวิละขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองนครเชียงใหม่ พร้อมทั้งตั้งเจ้าธรรมลังกาเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ และเจ้าคำฟั่นเป็นพระยารัตนหัวเมืองแก้ว[4] "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" เรียกเจ้านายทั้งสามพระองค์นี้ว่าพระเป็นเจ้าทั้ง 3 พระองค์พี่น้อง[5] โดยพระยาอุปราชเป็นวังหน้าและพระยารัตนะหัวเมืองแก้วเป็นวังหลัง[6]
เจ้าขันห้าใบ
ในปี พ.ศ. 2366 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระยาเมืองแก้วประจำนครเชียงใหม่เป็นครั้งแรก[7] ถึงปี พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตั้งตำแหน่งพระยาเมืองแก้วและพระยาราชบุตรขึ้นสำหรับนครลำปางและนครลำพูน[8] ทำให้เกิดตำแหน่ง "เจ้าขันห้าใบ" ขึ้นเป็นครั้งแรกในนครลำปางและนครลำพูน ต่อมาปี พ.ศ. 2386 จึงทรงตั้งเจ้าขันทั้งห้าสำหรับเมืองพะเยาด้วย[9]
ในปี พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเลื่อนยศเจ้าขันห้าของเมืองประเทศราชอันใหญ่ ได้แก่ นครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน จากพระยาขึ้นเป็นเจ้าทั้ง 3 เมือง ส่วนเมืองขึ้นให้คงเป็นพระยาอยู่ตามเดิม[10] และปีต่อมาเจ้าขันห้าของนครน่านก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าด้วย[11]
เจ้าขันห้าใบ ประกอบด้วย เจ้าห้าตำแหน่ง คือ[12]
- เจ้านคร หรือ เจ้าหลวง หรือ เจ้าหอคำ หมายถึง เจ้าผู้ครองนคร มีอำนาจเฉกเช่นพระมหากษัตริย์ มีพานทองคำกลมเครื่องพร้อมเป็นเครื่อยศ เจ้าหลวงที่ทรงอำนาจมากจะเรียกว่า เจ้ามหาชีวิต ดังข้าราชการอังกฤษที่เดินทางมาติดต่อกับเจ้านายล้านนาพบว่า เจ้าหลวงนั้นเป็น"...ผู้นำอิสระที่มีอำนาจเหนือคนในบังคับของตนและเหนือทรัพย์สินรายได้ เป็นผู้สร้างและบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมวัดวาอารามและมีพระสงฆ์เป็นผู้รับใช้ ไม่มีกองทัพบกหรือกองทัพเรือ แต่ถ้ามีก็จะอยู่ภายใต้อำนาจพระองค์..."[13]
- เจ้าอุปราช หรือ เจ้าหอหน้า มีพานทองคำเหลี่ยมเครื่องพร้อมเป็นเครื่องยศ เป็นเจ้านายที่ทรงอิทธิพลมากกว่าเจ้านายองค์อื่น ๆ บางครั้งเจ้าหอหน้าบางองค์ มีอิทธิพลเหนือเจ้าหลวงด้วย ในยามที่เจ้าหลวงไม่ได้ประทับในนครหลวง ประชวร หรือถึงแก่พิราลัย ระหว่างรอการแต่งตั้งเจ้าหลวงองค์ใหม่ เจ้าหอหน้าจะทำหน้าที่แทน ชาวต่างประเทศที่มาติดต่อกับล้านนาต้องเข้าพบเจ้าหอหน้าก่อนที่จะพบกับเจ้าหลวง เจ้าหอหน้าบางองค์ สามารถเพิกถอนโองการของเจ้าหลวงได้[14]
- เจ้าราชวงศ์ มักเป็นอนุชาในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ หรือเป็นโอรสในเจ้าหลวงองค์ก่อน มีพานเงินกลีบบัวถมยาดำเป็นเครื่องยศ
- เจ้าบุรีรัตน์ หรือที่ก่อนรัชกาลที่ 4 เรียกว่า เจ้าหอเมืองแก้ว มักเป็นโอรสในเจ้าหลวงองค์ก่อน หรือเป็นโอรสในเจ้าห้าขันเดิม มีพานเงินกลีบบัวกลมเป็นเครื่องยศ
- เจ้าราชบุตร เป็นโอรสในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ มีพานเงินกลีบบัวกลมเป็นเครื่องยศ หากเจ้าหลวงถึงแก่พิราลัยแล้วผู้อื่นได้ขึ้นเป็นเจ้าหลวงแทน เจ้าหลวงองค์ใหม่จะเลื่อนเจ้าราชบุตรขึ้นเป็นเจ้าบุรีรัตน์หรือเจ้าราชวงศ์
นายโฮลต์ ฮัลเลต์ นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้เคยเขียนบันทึกระบุถึงเจ้าห้าขันไว้ว่า
...ที่ดินทั้งหมดเปนของเจ้าผู้ทรงอำนาจสูงสุดทั้งห้าคน ซึ่งประกอบกันเปนรัฐบาล เขาทั้งหลายให้ที่ดินแก่เจ้านายแลขุนนาง... ซึ่งจะได้รับข้าวหนึ่งตระกร้า...เป็นภาษีที่ดินหรือค่าเช่าที่ดิน...[15]
— มิสเตอร์ โฮลต์ ฮัลเลต์
เจ้าตำแหน่งรองและตำแหน่งพิเศษ
เจ้าตำแหน่งรอง เป็นตำแหน่งเจ้านายระดับรองลงมาจากเจ้าขันห้าใบ ประกอบด้วย
- เจ้าสุริยวงษ์
- เจ้าราชสัมพันธวงษ์
- เจ้าราชภาคินัย
- เจ้าราชภาติกวงษ์
- เจ้าอุตรการโกศล
- เจ้าไชยสงคราม
เฉพาะตำแหน่งเจ้าราชภาคิไนยที่ตั้งในรัชกาลที่ 4 ตำแหน่งที่เหลือเริ่มตั้งในรัชกาลที่ 5
เจ้าตำแหน่งพิเศษ เป็นตำแหน่งเจ้านายระดับรองลงมาจากเจ้าขันห้าใบและระดับรอง ประกอบด้วย[16]
- เจ้าราชดนัย (มีเฉพาะ นครน่าน)
- เจ้าทักษิณนิเขตน์/ทักษิณเกษตร
- เจ้านิเวศน์อุดร
- เจ้าประพันธ์พงษ์
- เจ้าวรญาติ
- เจ้าราชญาติ
- เจ้าวรวงศ์ (มีเฉพาะ นครลำปาง)
- เจ้าไชยวรเชษฐ์
นอกจากนี้ยังมีเจ้าระดับรองมีตำแหน่งเป็น ”พระ“ ประกอบด้วย 15 ตำแหน่ง คือ
- พระสุริยะจางวาง
- พระเมืองราชา
- พระอุตรการโกศล
- พระไชยสงคราม
- พระอินทราชา
- พระจันทราชา
- พระอินทวิไชย
- พระวิไชยราชา
- พระไชยราชา (เจ้าตำแหน่งที่ 1 ถึง 9 สามารถเลื่อนขึ้นไปเป็นเจ้าขันห้าได้)
- พระวังขวา (นครน่าน ได้เป็น ”พระยาวังขวา“ เป็นกรณีพิเศษ)
- พระวังซ้าย (นครน่าน ได้เป็น ”พระยาวังซ้าย“ เป็นกรณีพิเศษ)
- พระเมืองไชย
- พระเมืองแก่น
- พระถาง
- พระคำลือ (เจ้าตำแหน่งที่ 10 ถึง 15 ไม่สามารถเลื่อนขึ้นไปตำแหน่งที่ 1 ถึง 9 และเจ้าขันห้าได้)
ในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้แก่เจ้านาย ตามที่เจ้าประเทศราชขอกราบบังคมทูลเสนอมา
อนึ่ง เจ้าระดับรองของนครแพร่ ถึงแม้จะมีตำแหน่งเป็นชั้น "พระ" แต่ภายในล้านนาหรือในนครแพร่เองก็จะได้รับการยอมรับว่ามีฐานันดรศักดิ์สูงกว่ากลุ่มขุนนางเค้าสนามหลวงที่มาจากไพร่และเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้แต่งตั้ง เพราะเจ้าระดับรองลงมาเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อพระวงศ์สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองนครแพร่ หรืออาจเป็นขุนนางเป็นคหบดีที่ได้เสกสมรสกับราชธิดานัดดาของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ซึ่งมักเรียกกันว่า "เจ้าพระ"
เจ้านายฝ่ายหญิง
เจ้านายฝ่ายหญิง มีอิสริยยศ ดังนี้
- มหาเทวี หมายถึง พระมารดาในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ และเป็นพระชายาในเจ้าหลวงองค์ก่อน นิยมเรียกว่าแม่เจ้าเฒ่า หรือแม่เจ้าหลวงเฒ่า
- ราชเทวี หมายถึง พระชายาเอกในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ นิยมเรียกว่าแม่เจ้า หรือแม่เจ้าหลวง
- เทวี หมายถึง พระชายารองในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ นิยมเรียกว่าแม่เจ้า
อนึ่งการขึ้นเป็น “เจ้าผู้ครองนคร” หรือสืบตำแหน่ง “เจ้าหลวง” หรือสืบความเป็นเจ้านายของล้านนาสามารถสืบทางฝ่ายหญิงได้เพราะวัฒนธรรมล้านนานั้นนับถือผีบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) ซึ่งเป็นผีฝ่ายผู้หญิง วิถีชีวิตของเจ้านายล้านนาจึงแตกต่างจากเจ้านายสยามอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้หญิงสามารถสืบทอดเชื้อสายวงศ์ตระกูล และมีการตรากฎหมายรองรับชัดเจนในสมัยพระเจ้าสุทโธธัมมราชา (King Thalun) (คัดลอกจากบทความของอ.ชัยวุฒิ ไชยชนะ) การสืบทอดผ่านทางผีปู่ย่าของฝ่ายหญิงไม่ว่าเจ้านายผู้หญิงจะแต่งงานกับเจ้าที่ต่ำศักดิ์ หรือแต่งงานกับไพร่ บุตรธิดาที่เกิดมาจะมีความเป็นเจ้าโดยปริยาย แต่หากเจ้านายผู้ชายแต่งงานกับไพร่ บุตรธิดาที่เกิดมาจะเป็นไพร่ธรรมดาสามัญหากผีฝ่ายหญิงไม่ปรากฏชัด โดยเฉพาะส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าหญิงไพร่มีเชื้อผีกะหรือผีปอบ ในทางกลับกันลูกทาสที่ถือผีคุ้มหลวงอาจมีสถานะเหนือกว่าทั้งนี้เป็นเพราะผีปู่ย่าของฝ่ายหญิงนั้นสำคัญมากต้องมีการสืบให้รู้ ดังเช่น
- พระยาเทพวงศ์ ขึ้นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 2 สืบผ่านทางราชเทวี คือ แม่เจ้าสุชาดา ราชธิดาในพระยาศรีสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ สมัยอาณาจักรธนบุรี กับราชเทวี
- พระยาพิมพิสารราชา ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 4 สืบผ่านทางพระมารดา คือ แม่เจ้าปิ่นแก้ว ราชธิดาในพระยาเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 2 กับแม่เจ้าสุชาดาราชเทวี ซึ่งมีบิดาเป็นเพียง พระวังขวา เมืองแพร่
- เจ้านายอ้าย ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 3 สืบผ่านทางพระมารดา คือ แม่เจ้านางเทพ ราชธิดาในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 1
- เจ้ามโน ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 4 สืบผ่านทางพระมารดา คือ แม่เจ้านางเทพ ราชธิดาในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 1
- พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 สืบผ่านทางราชเทวี คือ แม่เจ้าอุษา ราชธิดาในพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 5 กับแม่เจ้าสุวรรณคำแผ่นราชเทวี ซึ่งมีตำแหน่งเดิมเป็นพระยาเมืองแก้ว (พระยาบุรีรัตน์)
- พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 สืบผ่านทางราชเทวี คือ แม่เจ้าทิพเกสร ราชธิดาองค์โตในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 กับแม่เจ้าอุษาราชเทวี เป็นโอรสในพระยาราชวงศ์ (มหาพรหมคำคง)
- หรือการขึ้นรั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำปางของเจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) โดยการอ้างสิทธิ์ของเจ้าศรีนวล ณ ลำปาง ราชธิดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 13 กับแม่เจ้าเมืองชื่นราชเทวี ซึ่งโดยหลักการแล้วการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนคร สมควรจะแต่งตั้งจากเจ้าขันห้าใบ ที่ดำรงฐานันดรชั้นสูงกว่า กล่าวคือ สมควรจะแต่งตั้งเจ้าราชวงศ์ (แก้วปราบเมรุ ณ ลำปาง) ซึ่งดำรงฐานันดรเป็น "เจ้าราชวงศ์เมืองนครลำปาง"
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ พงศาวดารโยนก, หน้า 267
- ↑ พงศาวดารโยนก, หน้า 267
- ↑ ตำนานวังน่า, หน้า 1
- ↑ พงศาวดารโยนก, หน้า 425
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ
เชียงใหม่ 700 ปี, หน้า 126
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี, หน้า 134
- ↑ พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 91-92
- ↑ พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 99
- ↑ พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 104
- ↑ พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 109-112
- ↑ เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ, หน้า 43
- ↑ เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ, หน้า 84-85
- ↑ U.K., Hilderbrand's Report. F.O. 625/10/157. 15 Febuary. 1875.
- ↑ Carl Bock. Temple and Elephant: Travels in Siam in 1881-1882. p. 226.
- ↑ Holt Hallet. A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States. p. 411.
- ↑ ภูเดช แสนสา. หัวเมืองในล้านนายุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน (ทิพจักราธิวงศ์) ช่วงเป็นประเทศราชของสยาม พ.ศ. ๒๓๑๗ - ๒๔๔๒
- ↑ เชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย, หน้า ๖๗ และ ๑๑๐
- บรรณานุกรม
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานวังน่า. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462. [พิมพ์แจกในงานศพนางสุ่น ชาติโอสถ ปีมะแม พ.ศ. 2462]
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. 496 หน้า. ISBN 974-8150-62-3
- บัวผิว วงศ์พระถาง และคณะ, เชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย, (แพร่ : แพร่ไทยอุตสาหการพิมพ์, ๒๕๓๗).
- ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. 496 หน้า. ISBN 978-616-7146-62-1
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- มหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ), พระยา. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2505.
- วรชาติ มีชูบท. เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2556. 428 หน้า. ISBN 978-616-220-054-0
- สุริยพงษ์ผริตเดช, พระเจ้า. ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๐ เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่านยังให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2461.