ดาวเฮาเมอา
เฮาเมอา (การตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย: 136108 เฮาเมอา; อังกฤษ: Haumea, IPA: [haʊˈmeɪə]; สัญลักษณ์: )[6] เป็นดาวเคราะห์แคระดวงหนึ่งในแถบไคเปอร์ มีมวลขนาดหนึ่งในสามของดาวพลูโต ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2547 โดยไมเคิล อี. บราวน์ (Michael E. Brown) และทีมค้นหาจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) และหอดูดาวเมานาเคอาในสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2548 โดยโฆเซ ลุยส์ ออร์ติซ โมเรโน (José Luis Ortiz Moreno) และทีมค้นหาจากหอดูดาวซิเอร์ราเนบาดาในประเทศสเปน (แต่การอ้างว่าเป็นผู้ค้นพบของฝ่ายหลังถูกโต้แย้ง) ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551 สหภาพดาราศาสตร์นานาชาติได้จัดดาวดวงนี้ให้อยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์แคระ และตั้งชื่อตามเฮาเมอา เทพีแห่งการให้กำเนิดของชาวฮาวาย เฮาเมอามีลักษณะพิเศษต่างจากวัตถุพ้นดาวเนปจูนเท่าที่ค้นพบแล้วดวงอื่น ๆ เนื่องจากทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์กว้างมาก แม้ว่ายังจะไม่มีการสำรวจรูปร่างของมันโดยตรง แต่จากการคำนวณจากเส้นความสว่าง (light curve) ทำให้สันนิษฐานได้ว่าดาวเคราะห์แคระดวงนี้เป็นวัตถุทรงรี มีแกนหลักยาวเป็นสองเท่าของแกนรอง แต่กระนั้นก็เชื่อว่ามันมีแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะดึงดูดตัวเองให้อยู่ในภาวะสมดุลอุทกสถิต (hydrostatic equilibrium) ได้ ดังนั้นดาวดวงนี้จึงมีลักษณะตรงตามคำจำกัดความของดาวเคราะห์แคระ สันนิษฐานว่าการทำมุมเช่นนี้ รวมทั้งลักษณะอื่น ๆ เช่น การหมุนรอบตัวเองเร็วผิดปกติ ความหนาแน่นสูง และอัตราส่วนสะท้อน (albedo) สูง (ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะชั้นน้ำแข็งบนพื้นผิว) เป็นผลมาจากการชนกันครั้งใหญ่ซึ่งทำให้เฮาเมอากลายเป็นสมาชิกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของตระกูลวัตถุที่เกิดจากการชนกัน (collisional family) ของมันเองซึ่งรวมดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 2 ดวงของมันไว้ด้วย การตั้งชื่อก่อนที่จะมีชื่อเรียกถาวร ทีมค้นหาของแคลเทคตั้งชื่อเล่นให้กับดาวดวงนี้ว่า ซานตา (Santa) เนื่องจากพวกเขาค้นพบดาวดวงนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หลังวันคริสต์มาส[7] เมื่อทีมค้นหาชาวสเปนประกาศการค้นพบต่อศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (MPC) ในปี พ.ศ. 2548 ดาวดวงนี้จึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า (136108) 2003 EL61 โดยตัวเลข "2003" มาจากช่วงเวลาบนภาพถ่ายการค้นพบของทีมค้นหาชาวสเปน จากแนวทางกว้าง ๆ ซึ่งสหภาพดาราศาสตร์นานาชาติเป็นผู้กำหนดขึ้นว่า วัตถุชั้นเอกในแถบไคเปอร์จะมีชื่อเรียกตามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง (creation) ในเทวตำนานต่าง ๆ [8] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ทีมค้นหาจากแคลเทคจึงได้ส่งชื่อทางการสำหรับทั้งดาว 2003 EL61 และดวงจันทร์ที่ค้นพบทั้งสองดวงโดยนำชื่อมาจากเทวตำนานของฮาวายเพื่อที่จะ "แสดงความเคารพต่อสถานที่ที่ดาวบริวารเหล่านั้นถูกค้นพบ"[9] ชื่อเหล่านั้นได้รับการเสนอจากเดวิด ราบิโนวิตซ์ หนึ่งในทีมค้นหาของแคลเทค[10] เฮาเมอาเป็นเทพีผู้ปกป้องคุ้มครองเกาะฮาวายซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูดาวเมานาเคอา นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นเทพีของโลก[11] พระองค์จึงเป็นตัวแทนของหิน ซึ่งก็มีความเหมาะสม เพราะสันนิษฐานกันว่าดาว 2003 EL61 มีโครงสร้างเป็นหินแข็งเกือบทั้งหมด ไม่ได้เป็นชั้นน้ำแข็งหนาที่ห่อหุ้มแก่นหินเล็ก ๆ ไว้ (ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของวัตถุในแถบไคเปอร์ดวงอื่น ๆ [12]) ประการสุดท้าย เฮาเมอาเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และการให้กำเนิด[11] ตามตำนานกล่าวว่ามีเด็กหลายคนเกิดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของพระองค์ สอดคล้องกับกลุ่มของก้อนน้ำแข็งที่เชื่อว่าแตกออกมาจากดาว 2003 EL61 ระหว่างเหตุการณ์การชนกันในอดีตครั้งหนึ่ง ดวงจันทร์บริวารทั้งสองซึ่งสันนิษฐานกันว่าเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์นี้เช่นกันจึงได้รับการตั้งชื่อตามธิดาของเฮาเมอาด้วย นั่นคือ ฮีอีอากา (Hiʻiaka) และนามากา (Namaka) [12] ดวงจันทร์เฮาเมอามีดวงจันทร์บริวารเท่าที่ค้นพบแล้ว 2 ดวง คือ (136108) ฮีอีอากา (Hiʻiaka) และ (136108) นามากา (Namaka) [13] ดวงจันทร์ทั้งสองถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2548 เพียงไม่กี่ปีหลังจากที่มีการบังดาวเฮาเมอาของฮีอีอากาเมื่อปี พ.ศ. 2542 ซึ่งการบังของฮีอีอากาจะไม่เกิดขึ้นอีกจนกว่าจะถึงปี พ.ศ. 2681[14] แต่นามากามีการบัง 5 ครั้งระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2551[14] ทีมของไมก์ บราวน์ได้คำนวณการโคจรและคาดว่าการบังของนามากาอาจเกิดขึ้นอีก 2-3 ปี[7] ฮีอีอากาซึ่งทีมแคลเทคตั้งชื่อเล่นว่า "รูดอล์ฟ" (Rudolph) นี้เป็นดวงจันทร์ดวงแรกที่ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2548[15] เป็นดวงจันทร์ดวงนอกและดวงที่ใหญ่ที่สุด (ประมาณ 310 กิโลเมตร) และใช้เวลา 49 วันในการโคจรรอบดาวเฮาเมอา[16] นามากาซึ่งมีชื่อเล่นว่า "บลิตเซน" (Blitzen) ตั้งโดยทีมแคลเทคเช่นกัน[17] ได้รับการประกาศการค้นพบเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 นามากาเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กกว่าและอยู่รอบใน โดยโคจรรอบดาวเฮาเมอาใช้เวลาประมาณ 34 วัน สันนิษฐานว่ามีวงโคจรเป็นวงกลม[16] ระนาบวงโคจรเอียงทำมุมประมาณ 40° จากระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ฮีอีอากา[16] จากการสังเกตความสว่างของมันคาดว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางร้อยละ 12 ของดาวเฮาเมอาหรือประมาณ 170 กิโลเมตร[18] และมีองค์ประกอบของพื้นผิวคล้ายกับของดวงจันทร์ฮีอีอากา ดูเพิ่มอ้างอิง
|