ลอสแอนเจลิส
ลอสแอนเจลิส (อังกฤษ: Los Angeles /lɔːs ˈændʒələs/ ; สเปน: Los Ángeles, ออกเสียง: [los ˈaŋxeles])[1] หรือที่รู้จักในชื่อ แอลเอ (L.A.) เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดอันดับสองในสหรัฐอเมริกาโดยเป็นรองเพียงนิวยอร์ก และเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยจำนวนผู้อาศัยประมาณ 3.9 ล้านคนภายในเขตเมืองใน ค.ศ. 2023 ลอสแอนเจลิสเป็นศูนย์กลางทางการค้าและวัฒนธรรมในภูมิภาคเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย มีจุดเด่นในด้านสภาพภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นจากภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะชาวเอเชียและอเมริกาใต้เข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากลักษณะของอากาศที่อบอุ่นสบาย และเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการปะปนของวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก ชื่อลอสแอนเจลิส (Los Angeles) /lɒs.ˈæn.dʒə.lɪs/ มาจากคำว่า โลสอังเฆเลส (สเปน: Los Ángeles) /los.'aŋ.xe.les/ ในภาษาสเปน หมายถึง ทูตสวรรค์หลายองค์ เป็นรูปพหูพจน์ของคำว่า el ángel ซึ่งเป็นเพศชายชื่อเมืองจึงมีความหมายว่า "เมืองแห่งทูตสวรรค์" พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแอ่งทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตก และขยายบางส่วนผ่านเทือกเขาซานตาโมนิกาและทางเหนือสู่หุบเขาซานเฟอร์นันโด โดยใจกลางเมืองติดกับหุบเขาซานกาเบรียลทางทิศตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 469 ตารางไมล์ (1,210 ตารางกิโลเมตร) และเป็นที่ตั้งเทศมณฑลลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นเทศมณฑลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยประชากร 12 ล้านคนใน ค.ศ. 2023[2] ลอสแอนเจลิสยังเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมมากเป็นอันดับสามในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 2.7 ล้านคนใน ค.ศ. 2023 พื้นที่ปัจจุบันของลอสแอนเจลิสเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวตองวาพื้นเมืองซึ่งในเวลาต่อมาดินแดนทั้งหมดถูกอ้างเป็นกรรมสิทธิ์ของสเปนโดย ฆวน โรดริเกซ กาบรีโย ใน ค.ศ. 1542 ลอสแอนเจลิสเริ่มตั้งเป็นเมืองเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1781 โดยฟิลิป เดอ เนฟในขณะที่มีประชากร 1,610 คน ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโกในต้นศตวรรษที่ 19 ภายหลังสงครามประกาศเอกราชเม็กซิโก ต่อมา ลอสแอนเจลิสและดินแดนส่วนที่เหลือของรัฐแคลิฟอร์เนียถูกซื้อโดยเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญากัวดาลูเป อีดัลโก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ ก่อนที่จะถูกรวมเป็นเทศบาลเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1850 ห้าเดือนก่อนที่แคลิฟอร์เนียจะมีสถานะกลายเป็นรัฐของสหรัฐ มีการค้นพบปิโตรเลียมในช่วงทศวรรษที่ 1890 ทำให้เศรษฐกิจและชื่อเสียงของเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว[3] ลอสแอนเลลิสได้รับการขยายเมืองจากการสร้างสะพานส่งน้ำลอสแอนเจลิสซึ่งเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1913 ซึ่งส่งน้ำจากบริเวณแคลิฟอร์เนียตะวันออก ลอสแอนเจลิสเป็นที่รู้จักในฐานะที่ตั้งของฮอลลีวูดซึ่งมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก และมีท่าเรือที่คับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกา[4][5] ใน ค.ศ. 2018 มหานครลอสแอนเจลิสมีผลิตภัณฑ์มหานครรวมมากกว่า 1.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] ทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่มีอัตราจีดีพีสูงเป็นอันดับสามของโลกต่อจากนิวยอร์กและโตเกียว และยังเป็นปลายทางของถนนสายประวัติศาสตร์ ทางหลวงสหรัฐหมายเลข 66 ลอสแอนเจลิสเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) และมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) ทีมกีฬาที่มีชื่อเสียงในเมือง ได้แก่ ลอสแอนเจลิสเลเกอส์ (บาสเกตบอล) ลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส (บาสเกตบอล) ลอสแอนเจลิส สปาร์ค (บาสเกตบอลหญิง) ลอสแอนเจลิส ดอดจ์เจอร์ส (เบสบอล) ลอสแอนเจลิส คิงส์ (ฮอกกี้น้ำแข็ง) ลอสแอนเจลิส กาแลกซี (ฟุตบอล) และ ซี.ดี. ชีวาส ยูเอสเอ (ฟุตบอล) ลอสแอนเจลิสได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนสองครั้งใน ค.ศ. 1932 และ ค.ศ. 1984 และจะเป็นเจ้าภาพครั้งที่สามในโอลิมปิกฤดูร้อน 2028 ปัจจุบันลอสแอนเจลิสกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าบริษัทใหญ่หลายแห่งในย่านดาวน์ทาวน์จะปิดตัวลง นับตั้งแต่การระบาดทั่วของโควิด-19 แต่ในปัจจุบันเมืองลอสแอนเจลิสกำลังถูกพัฒนาเพื่อรองรับการจัดแสดงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งออกแบบโดยแฟรงก์ เกห์รี[7] ประวัติยุคแรกและการค้นพบดินแดนโดยจักรวรรดิสเปนการตั้งถิ่นฐานของชาวพื้นเมืองแคลิฟอร์เนียในลุ่มน้ำลอสแอนเจลิสสมัยใหม่ และหุบเขาซานเฟอร์นันโดถูกครอบงำโดยตองวา (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อกาเบรียเลโนนับตั้งแต่ยุคอาณานิคมของสเปน) ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของชาวตองวาในภูมิภาคนี้คือการตั้งถิ่นฐานของยาอังกา (Tongva: Iyáangẚ) ซึ่งแปลว่า "สถานที่แห่งต้นโอ๊กพิษ" และยังได้รับการแปลว่า "หุบเขาแห่งควัน"[8][9][10] การเดินทางมาถึงของนักสำรวจชาวสเปนนามว่า ฆวน โรดริเกซ กาบรีโย เป็นจุดเริ่มต้นของการอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนทั้งหมดให้แก่จักรวรรดิสเปนใน ค.ศ. 1542 การสำรวจอาณานิคมยังดำเนินต่อไปตามชายฝั่งแปซิฟิกจากฐานที่ตั้งอาณานิคมก่อนหน้านี้ของนิวสเปนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้[11] ก่อนที่กัสปาร์ เด ปอร์โตลาและคณะฟรานซิสกันนำโดย ฆวน เกรสปี มาถึงสถานที่ปัจจุบันในลอสแอนเจลิสเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1769[12] การเผยแพร่คริสตศาสนาเริ่มต้นใน ค.ศ. 1771 โดยไฟรเออร์นามว่าจูนิเปโร เซอร์รา เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1781 กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐาน 44 คนที่รู้จักกันในชื่อ "Los Pobladores" ได้ก่อตั้งปวยโบล (เมือง) ที่พวกเขาเรียกว่า El Pueblo de Nuestra Señora la Reina de los Ángeles หรือ "เมืองของพระแม่ราชินีแห่งนางฟ้า"[13] เมืองในปัจจุบันมีอัครสังฆมณฑลนิกายโรมันคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ สองในสามของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเม็กซิกันหรือ (สเปนใหม่) เป็นลูกครึ่งซึ่งเป็นส่วนผสมของเชื้อสายแอฟริกัน ชนพื้นเมือง และชาวยุโรป[14] การตั้งถิ่นฐานของประชากรในยุคแรกมักยังไม่มีความเป็นสังคมเมืองมากนัก ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งมีเพียงหลักสิบคน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำฟาร์มปศุสัตว์หลายทศวรรษ แต่เมื่อถึงปี 1820 ประชากรก็เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 650 คน[15] ปัจจุบัน ปวยโบลได้รับการรำลึกถึงในย่านประวัติศาสตร์ของลอสแอนเจลิส ปูเอโบลพลาซา และถนนโอลเวราซึ่งเป็นบริเวณที่เก่าแก่ที่สุดของลอสแอนเจลิส[16] นิวสเปนได้รับเอกราชจากจักรวรรดิสเปนใน ค.ศ. 1821 บริเวณทั้งหมดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐที่หนึ่งของเม็กซิโก ในระหว่างการปกครองของเม็กซิโก ผู้ว่าการนามว่า Pío Pico ได้สร้างและบูรณะลอสแอนเจลิสจนกลายเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคอัลตาแคลิฟอร์เนีย[17] ใน ค.ศ. 1846 ระหว่างสงครามเม็กซิกัน-อเมริกันที่ขยายวงกว้าง นาวิกโยธินจากสหรัฐเข้ายึดครองบริเวณปวยโบล ส่งผลให้มีการปิดล้อมเมืองซึ่งกองกำลังติดอาวุธเม็กซิกัน 150 นายต่อสู้กับผู้ยึดครองท้องถิ่นซึ่งจบลงด้วยการยอมจำนน การปกครองของเม็กซิโกสิ้นสุดลงในช่วงหลังการพิชิตแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเม็กซิกัน-อเมริกัน ชาวอเมริกันเข้าควบคุมดินแดนแคลิฟอร์เนียหลังจากการสู้รบหลายครั้ง ซึ่งปิดท้ายด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1847 สนธิสัญญากัวดาลูเป อีดัลโกยกลอสแอนเจลิสและส่วนที่เหลือของแคลิฟอร์เนียให้แก่สหรัฐ ยุคหลังการพิชิต และการครอบครองของเม็กซิโกเริ่มมีการก่อสร้างทางรถไฟรวมถึงเส้นทาข้ามทวีปบริเวณแปซิฟิกตอนใต้จากนิวออร์ลีนส์มายังลอสแอนเจลิสใน ค.ศ. 1876 ปิโตรเลียมถูกค้นพบในเมืองและพื้นที่โดยรอบใน ค.ศ. 1892 และใน ค.ศ. 1923 แคลิฟอร์เนียกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศ คิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของผลผลิตปิโตรเลียมของโลก[18] ภายในปี 1900 ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 102,000 คน สร้างปัญหาให้กับแหล่งน้ำของเมือง[19] การสร้างสะพานส่งน้ำลอสแอนเจลิสเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1913 ภายใต้การดูแลของวิลเลียม มัลฮอลแลนด์ ทำให้เมืองนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากข้อกำหนดในกฎบัตรของเมืองที่ห้ามไม่ให้เมืองลอสแอนเจลิสขายหรือจัดหาน้ำจากท่อระบายน้ำไปยังพื้นที่ใด ๆ นอกพรมแดน เมืองและชุมชนที่อยู่ติดกันหลายแห่งจึงรู้สึกว่าถูกบังคับให้เข้าร่วมลอสแอนเจลิส[20] ลอสแอนเจลิสได้จัดทำข้อบัญญัติการแบ่งเขตเทศบาลฉบับแรกในสหรัฐเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1908 สภาเมืองได้ประกาศการใช้ที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม พระราชกฤษฎีกาใหม่ได้กำหนดเขตที่อยู่อาศัยสามแห่ง โดยห้ามใช้เพื่อจุดประสงค์ทางอุตสาหกรรม ข้อห้ามดังกล่าวรวมถึงโรงนา ลานไม้ และการใช้ที่ดินทางอุตสาหกรรมที่ใช้อุปกรณ์ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักร กฎหมายเหล่านี้ยังบังคับใช้กับทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ข้อห้ามเหล่านี้เป็นกิจกรรมเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่มีอยู่ซึ่งถูกควบคุมแล้วว่าเป็นการก่อความรำคาญ ซึ่งรวมถึงคลังสินค้าวัตถุระเบิด แก๊ส การขุดเจาะน้ำมัน โรงฆ่าสัตว์ และโรงฟอกหนัง สภาเมืองลอสแอนเจลิสยังได้กำหนดเขตอุตสาหกรรมเจ็ดแห่งภายในเมืองด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 1908 ถึง 1915 สภาเมืองได้กำหนดข้อยกเว้นหลายประการสำหรับการสั่งห้ามที่นำไปใช้กับเขตที่อยู่อาศัยทั้งสามแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการใช้งานทางอุตสาหกรรมเกิดขึ้นภายในเขตดังกล่าว มีความแตกต่างสองประการระหว่างกฎหมายเขตที่อยู่อาศัย ค.ศ. 1908 และกฎหมายการแบ่งเขตในสหรัฐ ประการแรก กฎหมายปี 1908 ไม่ได้กำหนดแผนที่การแบ่งเขตที่ครอบคลุมเหมือนที่กฎหมายกำหนดเขตนครนิวยอร์กปี 1916 ระบุ ประการที่สอง โซนที่อยู่อาศัยไม่ได้แบ่งแยกประเภทของที่อยู่อาศัย หากแต่กำหนดข้อปฏิบัติต่ออพาร์ทเมนท์ โรงแรม และบ้านเดี่ยวอย่างเท่าเทียมกัน[21] ใน ค.ศ. 1910 ย่านฮอลลีวูดได้รวมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งลอสแอนเจลิส โดยมีบริษัทภาพยนตร์ 10 แห่งดำเนินธุรกิจในเมืองนี้อยู่แล้ว ภายในปี 1921 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์กระจุกอยู่ในแอลเอ[22] ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองได้รับผลกระทบเล็กน้อยแม้จะเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษต่อมา ประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นเป็นประมาณหนึ่งล้านคนใน ค.ศ. 1930 และลอสแอนเจลิสเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกใน ค.ศ. 1932 หลังสงครามโลกครั้งที่สองในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ลอสแอนเจลิสเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ อาทิ การต่อเรือและสร้างอากาศยาน และพื้นที่ลอสแอนเจลิสเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของประเทศ 6 ราย ในช่วงสงครามมีการผลิตเครื่องบินสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีจำนวนมากกว่าการผลิตทั้้งหมดก่อนหน้านี้นับตั้งแต่สองพี่น้องไรต์ทำการบินเครื่องบินลำแรกใน ค.ศ. 1903 รวมกัน ซึ่งในเวลาต่อมา วิลเลียม เอส. นัดเซน นายพลชาวอเมริกันในช่วงสงครามโลกในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกลาโหมแห่งชาติกล่าวไว้ว่า "เราชนะเพราะเราปราบศัตรูด้วยการผลิตถล่มอย่างถล่มทลาย แบบที่เขาไม่เคยเห็นและไม่เคยฝันมาก่อนว่าจะเป็นไปได้" หลังสงครามสิ้นสุด ลอสแอนเจลิสมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยแผ่ขยายออกไปถึงหุบเขาซานเฟอร์นันโด[23] การขยายตัวของระบบทางหลวงระหว่างรัฐในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของชานเมือง และส่งสัญญาณถึงการล่มสลายของระบบรางไฟฟ้าของเอกชนในเมือง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลที่ตามมาของสงครามโลกครั้งที่สอง การเติบโตของชานเมือง และความหนาแน่นของประชากร สวนสนุกหลายแห่งจึงถูกสร้างขึ้นและเปิดบริการในบริเวณนี้ ตัวอย่างคือ เบเวอร์ลี พาร์ค ความขัดแย้งทางเชื้อชาติก่อให้เกิดการจราจลใน ค.ศ. 1965 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 34 รายและบาดเจ็บมากกว่า 1,000 ราย[24] ใน ค.ศ. 1973 ทอม แบรดลีย์ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรกของเมือง โดยดำรงตำแหน่ง 5 วาระจนกระทั่งเกษียณอายุใน ค.ศ. 1993 ในช่วงต้น ค.ศ. 1984 เมืองนี้มีประชากรแซงหน้าชิคาโกจึงกลายเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสหรัฐ แม้จะเผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรโอลิมปิกฤดูร้อน 1984 ทว่าเมืองนี้ก็ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งที่สอง และประสบความสำเร็จทางการเงินมากกว่าครั้งก่อน ความตึงเครียดทางเชื้อชาติปะทุขึ้นในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1992 โดยคณะลูกขุนซิมิแวลลีย์ของเจ้าหน้าที่กรมตำรวจลอสแอนเจลิส (LAPD) สี่นายพ้นผิดในข้อหาทำร้ายร่างกาบร็อดนีย์ คิง ซึ่งนำไปสู่การจลาจลครั้งใหญ่[25] ในปี 1994 แผ่นดินไหวขนาด 6.7 แมกนิจูดนอร์ธริดจ์สั่นสะเทือนทั่วทั้งเมือง ทำให้เกิดความเสียหาย 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและมีผู้เสียชีวิต 72 ราย เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษนี้จบลงด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ Rampart ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีที่มีการบันทึกไว้อย่างกว้างขวางที่สุดเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของตำรวจในประวัติศาสตร์อเมริกา[26] ศตวรรษที่ 21ใน ค.ศ. 2002 นายกเทศมนตรี เจมส์ ฮาห์น เป็นผู้นำการรณรงค์ต่อต้านการแยกตัวออกจากเมือง ส่งผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอาชนะความพยายามฮอลลีวูดที่จะแยกตัวออกจากเมือง[27] ในปี 2022 คาเรน แบสกลายเป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกของเมือง ทำให้ลอสแอนเจลิสเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐที่เคยมีสตรีเป็นนายกเทศมนตรี[28] ลอสแอนเจลิสจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิกฤดูร้อน 2028 ทำให้ลอสแอนเจลิสเป็นเมืองที่สามที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถึง 3 ครั้ง[29] ภูมิศาสตร์เมืองลอสแอนเจลิสครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 502.7 ตารางไมล์ (1,302 ตารางกิโลเมตร) ประกอบด้วยที่ดิน 468.7 ตารางไมล์ (1,214 ตารางกิโลเมตร) และแหล่งน้ำ 34.0 ตารางไมล์ (88 ตารางกิโลเมตร)[79] เมืองนี้มีขนาดทอดยาว 44 ไมล์ (71 กม.) จากเหนือจรดใต้ และ 29 ไมล์ (47 กม.) จากตะวันออกไปตะวันตก ความยาวปริมณฑลของเมืองคือ 342 ไมล์ (550 กม.) ลอสแอนเจลิสมีทั้งที่ราบและบริเวณที่เป็นเนินเขา จุดที่สูงที่สุดในเมืองคือ Mount Lukens ที่ความสูง 1,547 ม. (5,074 ฟุต)[30] ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของหุบเขาซานเฟอร์นันโด ปลายด้านตะวันออกของเทือกเขาซานตาโมนิกาทอดยาวจากตัวเมืองไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก และแยกแอ่งลอสแอนเจลิสออกจากหุบเขาซานเฟอร์นันโด พื้นที่เนินเขาอื่น ๆ ของลอสแอนเจลิส ได้แก่ พื้นที่ภูเขาวอชิงตันทางตอนเหนือของดาวน์ทาวน์ พื้นที่ทางตะวันออก เช่น บอยล์ไฮท์ส เขตเครนชอว์รอบ ๆ เนินเขาบอลด์วิน และเขตซานเปโดร บริเวณรอบเมืองเต็มไปด้วยมีภูเขาสูงจำนวนมาก ที่เด่นคือเทือกเขาซานเกเบรียลซึ่งเป็นพื้นที่พักยอดนิยมสำหรับเมืองแอนเจเลโนส จุดสูงสุดคือภูเขาแซนอันโตนิโอ หรือที่รู้จักในท้องถิ่นว่าภูเขาบัลดีซึ่งมีความสูงถึง 3,068 ม. ไกลออกไป จุดที่สูงที่สุดในแคลิฟอร์เนียตอนใต้คือภูเขาซานกอร์โกนิโอ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองลอสแอนเจลิสไปทางตะวันออก 130 กม. โดยมีความสูง 3,506 ม.[31] แม่น้ำลอสแอนเจลิสซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางระบายน้ำหลัก ถูกขยายและปูด้วยคอนกรีตความยาว 82 กิโลเมตรโดยวิศวกรประจำเมืองเพื่อทำหน้าที่เป็นช่องทางควบคุมน้ำท่วม ลอสแอนเจลิสอุดมไปด้วยพันธุ์พืชพื้นเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความหลากหลายของแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงชายหาด พื้นที่ชุ่มน้ำ และภูเขา พืชพื้นเมือง ได้แก่: ดอกป๊อปปี้แคลิฟอร์เนีย ดอกป๊อปปี้มาติลิจา ดอกโคสต์ไลฟ์โอ๊ค มะเดื่อ วิลโลว์ และไจแอนท์ไวลด์ไรย์ พันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้หลายชนิด เช่น ดอกทานตะวันในลอสแอนเจลิส กลายเป็นของหายากมากจนถือว่าใกล้สูญพันธุ์ แม้ว่าจะไม่ใช่พืชพื้นเมืองในพื้นที่ แต่ต้นไม้ประจำเมืองของลอสแอนเจลิสคือต้นปะการัง และดอกไม้ประจำเมืองลอสแอนเจลิสคือ Bird of Paradise (Strelitzia reginae) ปาล์มพัดเม็กซิกัน, ปาล์มหมู่เกาะคานารี, ควีนปาล์ม, ปาล์มอินทผลัม และปาล์มพัดแคลิฟอร์เนีย มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ลอสแอนเจลิส แม้ว่าจะมีเพียงพันธุ์สุดท้ายเท่านั้นที่มีถิ่นกำเนิดในแคลิฟอร์เนีย แม้ว่าจะยังไม่มีถิ่นกำเนิดในเมืองลอสแอนเจลิสก็ตาม สภาพอากาศลอสแอนเจลิสมีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนสองฤดู คือ ฤดูร้อนที่แห้ง และฤดูหนาวที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่ปริมาณฝนต่อปีน้อยกว่าบริเวณภูมิอากาศเมดิเตอร์เรเนียนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ โดยทั่วไปอุณหภูมิตอนกลางวันจะค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี ในฤดูหนาว อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20 °C ทำให้รู้สึกเหมือนอาศัยในเขตร้อน แม้ว่าอุณหภูมิจะเย็นเกินไปเล็กน้อยที่จะเป็นภูมิอากาศแบบเขตร้อนโดยเฉลี่ย เนื่องจากอุณหภูมิในตอนกลางคืนจะค่อนข้างเย็นสบาย ฤดูใบไม้ร่วงมีแนวโน้มที่จะร้อน โดยคลื่นความร้อนครั้งใหญ่มักเกิดขึ้นในเดือนกันยายนและตุลาคม ในขณะที่เดือนฤดูใบไม้ผลิมีแนวโน้มที่จะเย็นกว่าและมีฝนตกชุกมากขึ้น ลอสแอนเจลิสมีแสงแดดจัดตลอดทั้งปี โดยมีปริมาณฝนโดยเฉลี่ยเพียง 35 วันต่อปี[32] อุณหภูมิในหุบเขาซานเฟอร์นันโดและซานเกเบรียลจะอุ่นกว่ามาก อุณหภูมิอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแต่ละวัน ในพื้นที่ภายในประเทศ ความแตกต่างระหว่างค่าต่ำสุดเฉลี่ยรายวันและค่าสูงสุดเฉลี่ยรายวันอยู่ที่มากกว่า 30 °F (17 °C)[33] อุณหภูมิเฉลี่ยของชายฝั่งทะเลทั้งปีอยู่ที่ 63 °F (17 °C) จาก 58 °F (14 °C) ในเดือนมกราคม ไปจนถึง 68 °F (20 °C) ในเดือนสิงหาคม[34] ชั่วโมงแสงแดดรวมมากกว่า 3,000 ชั่วโมงต่อปี จากเฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อวันในเดือนธันวาคม มาเป็นเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวันในเดือนกรกฎาคม[35] เมื่อไม่นานมานี้ ความแห้งแล้งทั่วทั้งรัฐแคลิฟอร์เนียทำให้ปริมาณน้ำของเมืองน่าวิตกมากขึ้น ตัวเมืองลอสแอนเจลิสมีฝนตกเฉลี่ย 14.67 นิ้ว (373 มม.) ต่อปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม โดยทั่วไปจะอยู่เป็นฝนตกปานกลางแต่บางครั้งก็มีฝนตกหนักในช่วงพายุฤดูหนาว ปริมาณน้ำฝนมักจะสูงกว่าในเนินเขาและทางลาดชายฝั่งของภูเขาเนื่องจากการยกตัวขึ้น วันในฤดูร้อนมักจะไม่มีฝนตก ไม่ค่อยมีอากาศชื้นเข้ามาทางทิศใต้หรือทิศตะวันออกอาจทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองช่วงสั้น ๆ ในช่วงปลายฤดูร้อนโดยเฉพาะบนภูเขา ทั้งอุณหภูมิเยือกแข็งและหิมะตกนั้นหาได้ยากมากในแอ่งเมืองและตามแนวชายฝั่ง โดยอุณหภูมิสูงสุด 32 °F (0 °C) ที่สถานีในตัวเมืองเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายคือวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1979 อุณหภูมิเยือกแข็งเกิดขึ้นเกือบทุกปีในบริเวณหุบเขา ในขณะที่ภูเขาภายในเขตเมืองมักมีหิมะตกทุกฤดูหนาว ปริมาณหิมะที่ใหญ่ที่สุดที่บันทึกไว้ในตัวเมืองลอสแอนเจลิสคือ 2.0 นิ้ว (5 ซม.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1932[36] หิมะตกในลอสแอนเจลิสครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1962[37] ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศสืบเนื่องจากปริมาณการใช้รถยนต์ที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และท่าเรือที่คับคั่ง ทำให้ลอสแอนเจลิสเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในรูปแบบของควันพิษและฝุ่นละออง โดมีความอ่อนไหวต่อการผกผันของชั้นบรรยากาศ ซึ่งสะสมไอเสียจากยานพาหนะบนถนน เครื่องบิน หัวรถจักร การขนส่ง การผลิต และแหล่งที่มาอื่น ๆ เปอร์เซ็นต์ของมลพิษอนุภาคขนาดเล็ก (ชนิดที่แทรกซึมเข้าไปในปอด) ที่มาจากยานพาหนะในเมืองอาจสูงถึงร้อยละ 55 ปริมาณหมอกควันจะมากที่สุดตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในขณะที่เมืองใหญ่อื่น ๆ อาศัยฝนเพื่อกำจัดหมอกควัน ลอสแอนเจลิสมีฝนตกเพียง 15 นิ้ว (380 มม.) ในแต่ละปี มลพิษสะสมหลายวันติดต่อกัน ปัญหาคุณภาพอากาศในลอสแอนเจลิสและเมืองใหญ่อื่น ๆ นำไปสู่การผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในยุคแรก ๆ ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติอากาศสะอาดด้วย อย่างไรก็ตาม ทั่วทั้งรัฐแคลิฟอร์เนียไม่สามารถจัดทำแผนการดำเนินงานของรัฐที่จะทำให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศดังกลาาวได้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะระดับมลพิษในลอสแอนเจลิสที่เกิดจากยานพาหนะรุ่นเก่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐแคลิฟอร์เนียได้เป็นผู้นำประเทศในการทำงานเพื่อจำกัดมลพิษด้วยการบังคับใช้ยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษต่ำ คาดว่าหมอกควันจะยังคงลดลงต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากมีมาตรการเชิงรุกในการลดหมอกควัน ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน และมาตรการอื่น ๆ จำนวนการแจ้งเตือนหมอกควันระดับ 1 ในลอสแอนเจลิสลดลงจากกว่า 100 ครั้งต่อปีในช่วงทศวรรษ 1970 เหลือเกือบศูนย์ในศตวรรษที่ 21[38] อย่างไรก็ตามเมืองนี้ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในสหรัฐ โดยมีมลพิษในระยะสั้นและมลพิษในอนุภาคตลอดทั้งปี[39] เมืองบรรลุเป้าหมายในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของเมือง 20 เปอร์เซ็นต์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในปี 2010[40] ลอสแอนเจลิสยังเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำมันในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย มีบ่อน้ำมันที่ใช้งานอยู่มากกว่า 700 แห่งภายในระยะ 1,500 ฟุต (460 ม.) จากบ้าน โบสถ์ โรงเรียน และโรงพยาบาลในเมือง[41] ทัศนียภาพรูปแบบถนนในเมืองโดยทั่วไปเป็นไปตามแผนผังตาราง โดยมีความยาวบล็อกสม่ำเสมอและมีถนนตัดขวางเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตามมีความซับซ้อนเนื่องจากภูมิประเทศที่ขรุขระ ซึ่งจำเป็นต้องมีตารางที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละหุบเขาที่ลอสแอนเจลิสครอบคลุม ถนนสายหลักได้รับการออกแบบมาเพื่อการสัญจรปริมาณมากผ่านหลายส่วนของเมือง ซึ่งหลายแห่งมีความยาวมาก Sepulveda Boulevard เป็นสำคัญสถานที่และการขนส่งทางเดินในเมืองลอสแอนเจลิส และเมืองอื่น ๆ อีกหลายแห่งในภาคตะวันตก การจราจรในลอสแอนเจลิสมีความพลุกลพล่านมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ตามดัชนีการจราจรประจำปีรายงานว่า ผู้ขับขี่พาหนะในแอลเอใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอีกมากถึง 92 ชั่วโมงในแต่ละปี และในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะมีอัตราความแออัดสูงถึง 80%[42] ประชากรศาสตร์การสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐ ค.ศ. 2010 รายงานว่าลอสแอนเจลิสมีประชากร 3,792,621 คน ความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ 8,092.3 คนต่อตารางไมล์ (3,124.5 คน/กม.2) การกระจายอายุคือ 874,525 คน (23.1%) อายุต่ำกว่า 18 ปี, 434,478 คน (11.5%) จาก 18 เป็น 24 ปี, 1,209,367 คน (31.9%) จาก 25 เป็น 44, 877,555 คน (23.1%) จาก 45 เป็น 64 และ 396,696 คน ( 10.5%) ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีที่อยู่อาศัย 1,413,995 ยูนิตเพิ่มขึ้นจาก 1,298,350 ยูนิตระหว่างปี 2005–2009 โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 2,812.8 ครัวเรือนต่อตารางไมล์ (1,086.0 ครัวเรือน/กม.2) โดย 503,863 ครัวเรือน (38.2%) มีเจ้าของ และ 814,305 (61.8%) %) ถูกครอบครองโดยผู้เช่า อัตราตำแหน่งว่างของเจ้าของบ้านอยู่ที่ 2.1%; อัตราพื้นที่ว่างให้เช่าอยู่ที่ 6.1% ผู้คน 1,535,444 คน (40.5% ของประชากร) อาศัยอยู่ในหน่วยบ้านจัดสรรที่มีเจ้าของ และ 2,172,576 คน (57.3%) อาศัยอยู่ในบ้านเช่า ลอสแอนเจลิสมีรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 49,497 ดอลลาร์ โดย 22.0% ของประชากรอยู่ต่ำกว่าอัตราความยากจนซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลกลาง การแบ่งแยกเชื้อชาติในลอสแอนเจลิสประกอบด้วย: คนผิวขาว 1,888,158 คน (49.8%) คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 365,118 คน (9.6%) คนอเมริกันพื้นเมือง 28,215 คน (0.7%) ชาวเอเชีย 426,959 คน (11.3%) ชาวหมู่เกาะแปซิฟิก 5,577 คน (0.1% ), 902,959 คนจากเชื้อชาติอื่น (23.8%) และ 175,635 (4.6%) มีสองเชื้อชาติขึ้นไป ลอสแอนเจลิสมีผู้พลัดถิ่นจากภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะชาวเอเชียและอเมริกาใต้เข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากลักษณะของอากาศที่อบอุ่นสบาย และเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการปะปนของวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก โดยเป็นปลายทางของผู้อพยพจาก 140 ประเทศและมีภาษาพูดมากกว่า 224 ภาษา[43] คนผิวขาวที่ไม่ใช่ชาวสเปนคิดเป็น 28.7% ของประชากรใน ค.ศ. 2010 เทียบกับ 86.3% ใน ค.ศ. 1940 ประชากรผิวขาวที่ไม่ใช่ชาวสเปนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งแปซิฟิก รวมถึงในละแวกใกล้เคียงและบนเทือกเขาซานตาโมนิกา ประชากรเชื้อสายเม็กซิกันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มฮิสแปนิกที่ 31.9% ของประชากรทั้งหมดในเมือง รองลงมาคือกลุ่มชาติพันธุ์เอลซัลวาดอร์ (6.0%) และกัวเตมาลา (3.6%) ประชากรฮิสแปนิกมีชุมชนเม็กซิกันอเมริกัน และอเมริกากลางที่ก่อตั้งมายาวนาน และแพร่กระจายไปทั่วเมืองลอสแอนเจลิสและเขตเมืองใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์เอเชียที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ชาวฟิลิปปินส์ (3.2%) และชาวเกาหลี (2.9%) ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดตั้งขึ้นของตนเอง ได้แก่ โคเรียทาวน์ในวิลเชอร์เซ็นเตอร์และฮิสทอริกฟิลิปิโนทาวน์ ชาวจีนซึ่งคิดเป็น 1.8% ของประชากรในลอสแอนเจลีส ส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองลอสแอนเจลิส และหุบเขาซานเกเบรียลทางตะวันออกของลอสแอนเจลิสเคาน์ตี้ แต่กลับปรากฏตัวให้จำนวนมากในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไชนาทาวน์ ชาวแอฟริกันอเมริกันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่โดดเด่นในลอสแอนเจลิสตอนใต้ ซึ่งกลายเป็นชุมชนแอฟริกันอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐตะวันตกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ลอสแอนเจลิสมีประชากรเม็กซิกัน, อาร์เมเนีย, ซัลวาดอร์, ฟิลิปปินส์ และกัวเตมาลาใหญ่เป็นอันดับสองของโลก โดยมีจำนวนประชากรชาวแคนาดามากเป็นอันดับสามของโลก และมีประชากรญี่ปุ่น อิหร่าน/เปอร์เซีย กัมพูชา และโรมานี (ยิปซี) มากที่สุดในประเทศ[44] ศาสนาศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในลอสแอนเจลิส (65%) อัครสังฆมณฑลนิกายโรมันคาทอลิกแห่งลอสแอนเจลิสเป็นอัครสังฆมณฑลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พระคาร์ดินัล โรเจอร์ มาโฮนี ในฐานะอาร์ชบิชอป กำกับดูแลการก่อสร้างอาสนวิหารพระแม่มารีย์ซึ่งเปิดในเดือนกันยายน ค.ศ. 2002 ในดาวน์ทาวน์ลอสแอนเจลิส[45] ด้วยจำนวนชาวยิว 621,000 คนในเขตมหานคร ส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีประชากรชาวยิวมากเป็นอันดับสองในสหรัฐ รองจากนิวยอร์ก ชาวยิวในลอสแอนเจลิสจำนวนมากอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกและในหุบเขาซานเฟอร์นันโด ลอสแอนเจลิสมีประเพณีโปรเตสแตนต์ที่มีอิทธิพล พิธีโปรเตสแตนต์ครั้งแรกในลอสแอนเจลิสคือการประชุมเมธอดิสต์ที่จัดขึ้นในบ้านส่วนตัวในปี 1850 และโบสถ์โปรเตสแตนต์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเปิดดำเนินการอยู่คือ First Congregational Church ก่อตั้งใน ค.ศ. 1867 ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 สถาบันพระคัมภีร์แห่งลอสแอนเจลีสตีพิมพ์เอกสารการก่อตั้งขบวนการคริสเตียนนิกายฟันดาเมนทัลลิสต์ พระวิหารลอสแอนเจลbส แคลิฟอร์เนีย พระวิหารใหญ่เป็นอันดับสองดำเนินการโดยศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ตั้งอยู่บนถนนซานตาโมนิกา ในย่านเวสต์วูดของลอสแอนเจลิส วัดแห่งนี้อุทิศในปี 1956 เป็นพระวิหารแห่งแรกของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่สร้างขึ้นในแคลิฟอร์เนียและวิหารทางศาสนาวัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อสร้างเสร็จ[46] เนื่องจากมีประชากรหลายเชื้อชาติจำนวนมากในลอสแอนเจลิส จึงมีความเชื่อที่หลากหลาย รวมถึงศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม โซโรอัสเตอร์ ศาสนาซิกข์ บาไฮ โบสถ์อีสเทิร์นออร์โธด็อกซ์ต่างๆ ศาสนาซูฟี ศาสนาชินโต ลัทธิเต๋า ขงจื๊อ ศาสนาพื้นบ้านของจีน และอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้อพยพจากเอเชีย ได้ก่อตั้งคริสตจักรพุทธที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งทำให้เมืองนี้เป็นที่ตั้งของชาวพุทธที่หลากหลายมากที่สุดในโลก[47] อเทวนิยม และความเชื่อทางโลกอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน คนไร้บ้านณ เดือนมกราคม ค.ศ. 2020 มีคนไร้บ้านในเมืองลอสแอนเจลิสจำนวน 41,290 คน คิดเป็นประมาณ 62% ของประชากรคนไร้บ้านในแอลเอเคาน์ตี ซึ่งเพิ่มขึ้น 14.2% จากปีก่อน (โดยเพิ่มขึ้น 12.7% ในจำนวนประชากรไร้บ้านโดยรวม ศูนย์กลางของคนไร้บ้านในลอสแอนเจลิสคือย่านสกิดโรว์ ซึ่งมีคนไร้บ้านอยู่ 8,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรคนไร้บ้านที่มั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ[48][49] เป็นที่รู้จักในฐานะย่านที่เต็มไปด้วยคนไร้บ้านอาศัยอย่างแออัดมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 จนถึงปัจจุบัน จำนวนประชากรไร้ที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในลอสแอนเจลิสมีสาเหตุมาจากการขาดความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย[50] และปัญหายาเสพติด เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชาชน 82,955 คนที่กลายเป็นคนไร้บ้านใหม่ในปี 2019 กล่าวว่าการไร้บ้านของพวกเขาเป็นเพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ในลอสแอนเจลิส คนผิวดำมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาคนไร้บ้านมากกว่าคนผิวขาวประมาณสี่เท่า อาหารวัฒนธรรมอาหารของลอสแอนเจลิสเกิดจาดการผสมผสานระหว่างอาหารระดับโลก สืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์และจำนวนผู้อพยพอันยาวนานของเมือง ใน ค.ศ. 2022 มิชลินไกด์ได้ยกย่องร้านอาหาร 10 แห่งในเมืองโดยให้ร้านอาหารสองแห่งได้รับดาวสองดวง และร้านอาหารแปดแห่งได้รับหนึ่งดาว[51] ผู้อพยพชาวลาตินอเมริกา โดยเฉพาะผู้อพยพชาวเม็กซิกัน นำตาโก บูร์ริโต เกซาดิยา ตอร์ตา ตามัล และเอนชิลาดามาเสิร์ฟจากรถขายอาหารและแผงขายทั่วไป และร้านกาแฟ รวมถึงร้านอาหารเอเชียซึ่งมีเจ้าของเป็นผู้อพยพจำนวนมากมีให้บริการทั่วเมือง[52] อาหารประจำชาติแท้ ๆ มีพบเห็นทั่วไป เช่น ไก่ทอด และ แฮมเบอร์เกอร์ อาชญากรรมใน ค.ศ. 1992 เมืองลอสแอนเจลิสรับรายงานเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมกว่า 1,092 คดี ลอสแอนเจลิสเผชิญกับอาชญากรรมลดลงอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1990 และปลายทศวรรษ 2000 และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีในปี 2009 โดยมีการฆาตกรรมเหลือ 314 คดี[53] อัตราส่วนคือ 7.85 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งลดลงอย่างมากจากปี 1980 ที่มีรายงานอัตราการก่ออาชญากรรมในประชากร 34.2 ต่อ 100,000 คน[54] ซึ่งรวมถึงเหตุกราดยิงที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ 15 ราย เหตุกราดยิงครั้งหนึ่งทำให้แรนดัล ซิมมอนส์ สมาชิกในทีมหน่วย SWAT เสียชีวิต ถือเป็นรายแรกในประวัติศาสตร์ของกรมตำรวจลอสแอนเจลิส[55] ในปี 2556 มีคดีฆาตกรรมรวม 251 คดี ลดลงร้อยละ 16 จากปีก่อนหน้า ตำรวจคาดการณ์ว่าการลดลงนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์[56] ในปี 2022 การก่ออาชญากรรมพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 โดยได้รับการรายงานมากถึง 348 คดี[57] อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่ากรมตำรวจลอสแอนเจลิสรายงานอาชญากรรมต่ำกว่าความเป็นจริงมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมในเมืองต่ำกว่าความเป็นจริงมาก[58][59] กีฬาลอสแอนเจลีสและเขตเมืองใหญ่เป็นที่ตั้งของทีมกีฬาอาชีพระดับแนวหน้าจำนวน 11 ทีม ซึ่งหลายทีมเล่นในชุมชนใกล้เคียงแต่ใช้ลอสแอนเจลิสในชื่อของพวกเขา ทีมกีฬาที่มีชื่อเสียง เช่น ลอสแอนเจลิสเลเกอส์ (บาสเกตบอล) ลอสแอนเจลิสคลิปเปอส์ (บาสเกตบอล)[60] ลอสแอนเจลิส สปาร์ค (บาสเกตบอลหญิง) ลอสแอนเจลิส ดอดจ์เจอร์ส (เบสบอล) ลอสแอนเจลิส คิงส์ (ฮอกกี้น้ำแข็ง) ลอสแอนเจลิส กาแลกซี (ฟุตบอล) แม้ว่าลอสแอนเจลิสมีฐานะเป็นเมืองใหญ่อันดับสองในประเทศ แต่เมืองนี้ไม่มีทีมเนชันแนลฟุตบอลลีกตั้งแต่ทศวรรษ 2000 จนถึงปี 2015 ครั้งหนึ่งพื้นที่ลอสแอนเจลิสเป็นที่ตั้งของทีม ลอสแอนเจลิส แรมส์ และ ลาสเวกัส เรดเดอร์ส ทั้งสองทีมได้ย้ายที่ตั้งออกจากเมืองใน ค.ศ. 1995 โดยแรมส์ได้ย้ายไปเซนต์หลุยส์ ในขณะที่เรดเดอร์สย้ายกลับสู่ที่ตั้งเดิมอย่างออคแลนด์ โดยใน ค.ศ. 2016 แรมส์ได้ย้ายกลับมายังลอสแอนเจลิสและลงเล่น ณ สนามเหย้าอย่างโคลิเซียมอนุสรณ์แห่งลอสแอนเจลิส[61] ก่อนปี 1995 แรมส์เล่นเกมในบ้านในโคลีเซียมตั้งแต่ ค.ศ. 1946 ถึง 1979 ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นทีมกีฬาอาชีพทีมแรกที่เล่นในลอสแอนเจลิส จากนั้นจึงย้ายไปที่สนามกีฬาอนาไฮม์ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ถึง 1994 ลอสแอนเจลิสจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิกฤดูร้อน 2028 ทำให้ลอสแอนเจลิสเป็นเมืองที่สามที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสามครั้งต่อจากลอนดอนและปารีส ลอสแอนเจลิสยังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกจำนวน 8 นัดที่โรสโบว์ลในฟุตบอลโลก 1994 รวมถึงรอบชิงชนะเลิศที่บราซิลชนะลูกโทษอิตาลี สนามแห่งนี้ยังเป็นสนามแข่งขันรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกหญิง 1999 ซึ่งสหรัฐเอาชนะจีนในการดวลลูกโทษและคว้าแชมป์โลกสมัยที่สอง อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ลอสแอนเจลิส |