ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา
|
---|
เกิด | 17 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ตรอกตันง่วนส่วย ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร |
---|
เสียชีวิต | 3 มกราคม พ.ศ. 2545 (71 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร |
---|
สาเหตุเสียชีวิต | ภาวะเลือดออกหลังการผ่าตัดเนื่องจากเส้นเลือดในหัวใจตีบตัน |
---|
สัญชาติ | ไทย |
---|
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (M.A. และ Ph.D.) |
---|
อาชีพ | นักวิชาการ |
---|
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2496–2545 |
---|
องค์การ | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
---|
ตำแหน่ง | อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ |
---|
คู่สมรส | ศรีสอางค์ ฟักเจียม (สมรส 1955) |
---|
บุตร | ปิยศักดิ์ แย้มนัดดา |
---|
บิดามารดา | ชลวิทย์ แย้มนัดดา ช้อย แย้มนัดดา |
---|
ญาติ | อร่ามพรรณ จั่นแก้ว (พี่) |
---|
ครอบครัว | แย้มนัดดา |
---|
รางวัล | บุคคลดีเด่นในด้านอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย - พ.ศ. 2537 |
---|
อาชีพนักเขียน |
นามปากกา | ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา อาศรมศัลยา มัลลิกา ศัลยา |
---|
ผลงานที่สำคัญ | - ศักดิ์ศรีนิพนธ์
- ศักดิ์ศรีวรรณกรรม
- วรรณวิทยา
|
---|
|
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา (17 ตุลาคม พ.ศ. 2473 – 3 มกราคม พ.ศ. 2545) เป็นนักวิชาการไทย เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาวรรณคดีและกวีนิพนธ์สอนภาษาไทยรวมถึงภาษาบาลีสันสกฤตในฐานะอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับวรรณคดีไทยและแปลงานวรรณกรรมภาษาสันสกฤตกว่า 100 เรื่องเป็นภาษาไทย[1]
ประวัติ
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ที่บ้านเลขที่ 2678 ตรอกตันง่วนส่วย (ปัจจุบันคือซอยปราโมทย์) ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายชลวิทย์และนางช้อย แย้มนัดดา มีพี่สาว 1 คน คือ นางอร่ามพรรณ จั่นแก้ว[2]
เนื่องจากบิดารับราชการกระทรวงมหาดไทย ตอนเยาว์วัยศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีจึงติดตามไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ[2]
การศึกษา
ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีได้ศึกษาดังต่อไปนี้[2]
- พ.ศ. 2481–2482 ประถมปีที่ 1–2 อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ระหว่างที่บิดาเป็นปลัดอำเภอ
- พ.ศ. 2483–2484 ประถมปีที่ 3–4 โรงเรียนศึกษาวิทยา ในขณะที่บิดาได้ลาออกจากราชการไปแล้ว
- พ.ศ. 2484–2485 มัธยมปีที่ 1–4 โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม และได้รับทุนจากกระทรวงศึกษาธิการในฐานะนักเรียนเรียนดี
- พ.ศ. 2485–2488 มัธยมปีที่ 4–5 โรงเรียนสวัสดิ์อำนวยเวทย์ ระหว่างอยู่ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
- พ.ศ. 2488–2492 มัธยมปีที่ 5–8 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย หลังสงครามยุติ
- พ.ศ. 2492 จบมัธยมปีที่ 8 ได้คะแนนเป็นที่ 5 ของนักเรียนทั่วประเทศ
- พ.ศ. 2492–2496 ปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2499 สอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.)
- พ.ศ. 2505 สอบชิงทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (Univercity of Pennsylvania) สหรัฐ
- พ.ศ. 2507 ได้รับปริญญาโท (M.A)
- พ.ศ. 2513 ได้รับปริญญาเอก (Ph.D) สาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) วิชาเอกสันสกฤต
ศักดิ์ศรีนับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จปริญญาเอกทางภาษาสันสกฤตจากสหรัฐ
พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การทำงาน
ก่อนรับราชการ
ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีเป็นครูตั้งแต่ยังเป็นนิสิต โดยเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์ให้แก่นักเรียนประจำของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในเวลากลางคืนในฐานะที่เป็นนักเรียนทุนของโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2496 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงสมัครเข้าเป็นครูในโรงเรียนนั้น สอนวิชาดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2501 จึงได้ลาออก[2]
การรับราชการ
ศักดิ์ศรีเริ่มรับราชการในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2501 ในตำแหน่งอาจารย์ตรี แผนกวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาภาษาไทยและภาษาบาลี ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับมาสอนภาษาไทยทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก รวมทั้งสอนวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์จนกระทั่งเกษียนอายุราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 จากนั้นได้รับเชิญเป็นอาจารย์ผู้ชำนาญการและอาจารย์พิเศษสอนที่คณะอักษรศาสตร์ตลอดมาจนถึงแก่อนิจกรรม[2]
นอกจากงานสอนแล้ว ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรียังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะอักษรศาสตร์ เช่น
- เลขานุการฝ่ายปริญญามหาบัณฑิต แผนก ภาษาตะวันออก
- หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2524–2532
ส่วนตำแหน่งทางวิชาการนั้นได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ตามลำดับ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2536
ตำแหน่งพิเศษ
ศักดิ์ศรีมีตำแหน่งนอกจากตำแหน่งทางราชการ ดังนี้
- อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา สถาบันราชภัฏมหาสารคาม สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ สถาบันราชภัฏนครปฐม โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา) โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นต้น
- กรรมการประเมินผลงานวิชาการ เพื่อเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชภัฏทั่วประเทศ
- ราชบัณฑิต สาขาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง พ.ศ. 2529[3]
- ที่ปรึกษาการใช้ภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- กรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน
- กรรมการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยของราชบัณฑิตยสถาน
- กรรมการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน
- อนุกรรมการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเขียนทับศัพท์ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
- ประธานสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน[4]
- ประธานกรรมการธนาคารศรีนคร
- ประธานกรรมการบางกอกสหประกันภัย
- กรรมการทุนธนชาต
- กรรมการธนาคารทหารไทย
- กรรมการธนาคารดีบีเอสไทยทนุ
- กรรมการธนาคารสหธนาคาร
ผลงาน
ผลงานของศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีมีเป็นจำนวนมากทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองส่วนใหญ่จะใช้นามจริงในการแต่งหนังสือ นอกจากนั้นเคยใช้นามปากกาบ้างเป็นบางครั้ง
มีผลงานที่เป็นร้อยแก้วมีทั้งที่เป็นงานวิจัย ตำรา บทความ ภารตนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล รวมแล้วกว่า 500 เรื่อง เช่น คำกร่อนในวรรณคดีไทย หนังสือเรียนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายวิชาประวัติวรรณคดีไทย และ วิชาการพินิจวรรณคดีมรดกเฉพาะเรื่อง หนังสือเรื่องสำนวนไทยที่มาจากวรรณคดี เช่น วรรณคดีพระพุทธศาสนาพาทย์ไทย
ส่วนผลงานที่เป็นร้อยกรองกว่า 100 เรื่อง โดยเฉพาะบทอาศิรวาทในวโรกาสเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีแต่งอย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลายาวนาน ทั้งได้ประดิษฐ์ฉันท์ขึ้นใหม่ถึง 4 แบบ คือ จันทรการตฉันท์ 16 และสูรยกานตฉันท์ 16 ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อร้อยกรองถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมัยเมื่อทรงตั้งวิทยุ อ.ส. ขึ้นในระยะแรก สุรัสวดีเทวีฉันท์ 18 ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อร้อยกรองถวายชัยมงคลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2524 และรัตนราชินีฉันท์ 16 ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแต่งบทอาศิรวาทถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2527[2]
ผลงานวิชาการ
- เป็นประธานอบรมครูภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ ตามนโยบายการให้บริการทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 6 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528–2533
- เผยแพร่ความรู้ทางภาษาไทยแก่สื่อมวลชน ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ ปาฐกถา พิมพ์บทความในวาระครบ 700 ปี ลายสือไท และในโอกาสอื่นๆ
- ปาฐกถาทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีไทย บาลีและสันสกฤตในสถาบันต่างๆ อีกหลายแห่ง
- รวบรวมบทความวิชาการและวรรณคดี รวมตีพิมพ์แล้ว 3 เล่ม
- อธิบายคำในสารานุกรมไทย ราชบัณฑิตยสถานและสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 คำ
- ภาษาไทย 5 นาที ประมาณ 250 ตอน มอบให้สถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
งานแปล
- แปลวรรณกรรมสันสกฤตเป็นพาทย์ไทย กว่า 100 เรื่องรวมเป็นชุดภารตะนิยายและยังมีเรื่องวิกรมจริต ตอน เวตาลปัญจวิงศติ
- แปลประวัติศาสตร์จีนฉบับสังเขป
- แปลวรรณกรรมบางเรื่องของรพินทรนาถ ฐากูร
ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการด้านอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง สำนักศิลปกรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2529[3] ได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญต่างๆ ในราชบัณฑิตยสถาน[4]
งานอดิเรก
ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีนอกจากอ่านและเขียนหนังสือแล้ว ยังสะสมหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สนใจมวยไทย รำไทย เพลงไทย ดนตรีไทย หมากรุกไทย ชอบดูเพชรนิลจินดา และสะสมพระเครื่องเกือบทุกชนิด[2]
ปั้นปลายชีวิต
โดยปรกติศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีมีสุขภาพแข็งแรง ต่อมามีอาการของโรคเบาหวานอยู่แต่ไม่รุนแรง ยังคงไปปฏิบัติงานสอนอยู่เป็นประจำ ต่อมากลางเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2544 เกิดอาการปวดท้องจึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแพทย์พบว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน ต้องรับการผ่าตัด ความทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และรับเป็นคนรับในพระราชานุเคราะห์ ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีมีกำลังใจดีมากและสุขภาพก็ดีตามลำดับ ยังพูดคุยกับศิษย์และผู้มาเยี่ยมเสมอว่า หลังผ่าตัดแล้ววันที่ 15 มกราคมก็จะไปสอน ครั้นวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2545 เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ หลังการผ่าตัดปรากฏว่าโลหิตออกไม่หยุด จึงถึงแก่อนิจกรรมในคืนนั้น สิริอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 17 วัน[2]
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2545 เวลา 16.43 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากวังสระปทุม ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดตระกูลต่าง ดังนี้[2][5]
รางวัล
ด้วยผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่าเป็นจำนวนมากดังกล่าว ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีจึงได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้[2][11]
- บุคคลดีเด่นในการอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2537
- รางวัลพระเกี้ยวทองคำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ. 2534
- เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทยของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2534
- รางวัลเชิดชูเกียรติครูภาษาไทยดีเด่นอุดมศึกษาระดับอุดมศึกษา ประเภทมหาวิทยาลัยของรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2532
- รางวัลชนะเลิศประกวดเรียงความของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ปีซ้อน พ.ศ. 2494–2495
- รางวัลชนะเลิศประกวดเรียงความงานพระราชนิพนธ์ประเภทร้อยกรองในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2494
- รางวัลชนะเลิศแต่งคำประพันธ์งาน “วันแม่” ปีแรกของกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2492
- รางวัลชนะเลิศแต่งโคลงประเภทปฏิภาณในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491
อ้างอิง
- ↑ "ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา" (PDF). Pali–Sanskrit Section website. Faculty of Arts, Chulalongkorn University. Retrieved 9 February 2018. Excerpt from ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ชีวิตและผลงานของศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ใน วิทยา รัตนากร: รวมบทความวิชาการอักษรศาสตร์ ของศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, หน้า 219-223. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2545
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 "หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2546" (PDF). elibrary.ksp. หอสมุดคุรุสภา. สืบค้นเมื่อ 12 Mar 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
- ↑ 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิต, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๐๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙
- ↑ 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดราชบัณฑิตประจำสาขาวิชา, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๒๘ ง หน้า ๖๔๔๔, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก พระบรมมหาราชวัง วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๕ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๓๕ ง หน้า ๑๑๒, ๓๐ เมษายน ๒๕๔๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๙, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๓, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๔๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๑, ๑๑ เมษายน ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๒๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๑๗๘, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖
- ↑ "ประวัติ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา" (PDF). arts.chula.ac.th. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 12 Mar 2022.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
บรรณานุกรม