อุทยานแห่งชาติขุนสถาน ครอบคลุมพื้นที่ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ในท้องที่อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน และอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าดิบเขา และป่าดิบแล้ง นอกจากนี้ยังมีต้นนางพญาเสือโคร่งในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถานซึ่งจะบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปี
ภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความสูงชันทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีแนวสันเขาของดอยแปรเมืองเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดแพร่กับจังหวัดน่าน ความสูงตั้งแต่ 120-1,726 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำน่านเป็นแนวกันระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดน่าน มีลำธารและลำห้วยซึ่งเป็นต้นน้ำน่านอยู่หลายสาย เช่น ห้วยน้ำแหง ห้วยน้ำอูน ห้วยน้ำลี เป็นต้น ดอยที่สำคัญ เช่น ดอยจวงปราสาท สูง 1,193 เมตร ดอยแม่จอก สูง 1,469 เมตร ดอยกู่สถาน(ดอยธง) สูง 1,634 เมตร และดอยที่สูงที่สุดคือยอดดอยภูคา มีความสูง 1,726 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติขุนสถาน มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดเดือนพฤษภาคม 25 องศาเซลเซียส
- ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิต่ำสุดเดือนมกราคม 2 องศาเซลเซียส
ทรัพยากรป่าไม้
อุทยานแห่งชาติขุนสถานสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้เป็น
- ป่าดิบเขา ขึ้นอยู่ตามสันเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เช่น บริเวณดอยขุนห้วยย่าทาย ดอยขุนห้วยหก ดอยขุนสถาน มีพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่าง ได้แก่ ก่อ สารภีดอย พะวา จำปีป่า เหมือด กำยาน เฟิน และ ปรงป่า และทีเฟริ์น เป็นต้น
- ป่าสนเขา ขึ้นกระจายตามยอดเขาที่ความสูงประมาณ 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น บนดอยจวงปราสาท ดอยแปรเมือง มีอาณาบริเวณไม่กว้างนัก พันธุ์ไม้ที่พบได้แก สนสองใบ สนสามใบ เหียง และ พะยอม เป็นต้น
- ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไป สภาพป่ามีความชื้นสูง สภาพป่ารกทึบ มีพันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างได้แก่ ยางปาย ยมหิน ม่วงก้อม ชมพูป่า เขืองแข้งม้า และ หนามเล็บเหยี่ยว เป็นต้น
- ป่าเบญจพรรณ พบกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 250-1,000 เมตร ชนิดไม้และพืชพื้นล่างที่พบได้แก่ ประดู่ ชิงชัน เก็ดแดง เก็ดดำ รกฟ้า มะเฟืองช้าง ตะแบกเลือด ปู่เจ้า มะกอกเกลื้อน ไผ่ไร่ ไผ่บง ไผ่ซาง เห็ดจั่น เห็ดมัน เห็ดซาง และ เห็ดขอน เป็นต้น
- ป่าเต็งรัง พบตามสันเขาที่มีความสูงระหว่าง 700-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่างที่พบ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พะยอม มะม่วงหัวแมงวัน กระโดน ติ้ว กระท่อมหมู ปรง เห็ดไข่ห่านเหลือง และเห็ดขมิ้นใหญ่ เป็นต้น
- ป่าดิบแล้ง พบกระจายอยู่ทั่วไป แต่เป็นบริเวณไม่กว้างนัก พันธุ์ไม้และพืชพื้นล่าง ได้แก่ ตะเคียนทอง ยมหอม เชียด เลือดม้า กระทุ่มบก ลำพูป่า เฟิน ผักกูด กีบแรด บอน เห็ดแดง และ เห็ดขมิ้นน้อย และยังพบกล้วยไม้นานาชนิด เช่น สิงโตสยามฯ เป็นต้น
ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์ป่าที่พบในอุทยานแห่งชาติขุนสถาน ได้แก่ เสือโคร่ง หมีควาย กวางป่า เลียงผา หมูป่า ลิง อีเห็น หมูหริ่ง หมาหริ่ง กระต่ายป่า ตุ่น อ้น กระรอก นกขุนทอง นกแก้ว [[นกขมิ้น นกหัวขวาน นกแซงแซวหางบ่วง นกตะขาบทุ่ง แย้ ตะกวด กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก ฯลฯ สำหรับในบริเวณแหล่งน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำสิริกิตติ์ มีปลาอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาตะเพียนแดง ปลาแรด ปลาชะโด ปลาไน ปลาช่อน ปลาบู่ทอง ปลาสลาก ปลาตะโกก ปลาหมอ และ ปลาสร้อย เป็นต้น
การเดินทาง
- จากจังหวัดน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 (น่าน - เวียงสา) ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1026 (เวียงสา - นาน้อย) ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร และจากอำเภอนาน้อยเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1216 (นาน้อย - ห้วยแก๊ต) ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร
- จากจังหวัดแพร่ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ประมาณ 66 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยแก๊ต เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1216 ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร
- เดินทางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 จากจังหวัดน่านผ่านอำเภอเวียงสา มุ่งหน้าไปจังหวัดแพร่ ระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านห้วยแก๊ต ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1216 ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติขุนสถาน แสดงที่ตั้งและเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่
แหล่งท่องเที่ยว
แหล่งข้อมูลอื่น
อ้างอิง
- ↑ ส่วนภูมิสารสนเทศ. สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. "รายงานสรุปพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พื้นที่รวม 72.046 ล้านไร่ (คำนวณในระบบ GIS)." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www2.dnp.go.th/gis/รูปอัพเว็บ/สรุปพื้นที่ป่า.pdf 2557. สืบค้น 3 สิงหาคม 2560.