Share to:

 

อำเภอนาหมื่น

อำเภอนาหมื่น
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Na Muen
เรือข้ามฟากในเขื่อนสิริกิติ์
เรือข้ามฟากในเขื่อนสิริกิติ์
คำขวัญ: 
กราบพระแก้ว แอ่วปากนาย มากมายมะขามหวาน
ไหว้ศาลหลักเมือง ลือเลื่องน้ำตกสวย
แผนที่จังหวัดน่าน เน้นอำเภอนาหมื่น
แผนที่จังหวัดน่าน เน้นอำเภอนาหมื่น
พิกัด: 18°11′22″N 100°39′32″E / 18.18944°N 100.65889°E / 18.18944; 100.65889
ประเทศ ไทย
จังหวัดน่าน
พื้นที่
 • ทั้งหมด785.608 ตร.กม. (303.325 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด14,256 คน
 • ความหนาแน่น18.15 คน/ตร.กม. (47.0 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 55180
รหัสภูมิศาสตร์5510
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอนาหมื่น ถนนเจ้าฟ้า ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน 55180
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

นาหมื่น (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของจังหวัด

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มีประชากรตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ปี มาแล้ว อยู่ทางใต้สุดของจังหวัดน่าน ระยะทางห่างจากจังหวัดประมาณ ๘๐ กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นภูเขา และที่ราบบริเวณหุบเขา มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้

ประวัติ

ท้องที่อำเภอนาหมื่นแต่เดิมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนาน้อย ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกตำบลบ่อแก้ว ตำบลนาทะนุง และตำบลเมืองลี ออกจากการปกครองของอำเภอนาน้อย รวมตั้งเป็น กิ่งอำเภอนาหมื่น[1] ต่อมาในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกบางหมู่บ้านออกจากการปกครองของตำบลเมืองลี รวมตั้งเป็นตำบลปิงหลวง[2] และในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ ยกฐานะให้เป็น อำเภอนาหมื่น จนถึงปัจจุบัน[3]

  • เมืองหิน เมืองลี

ในอดีตนั้นได้แบ่งเป็น ๒ เมืองคือ ๑.เมืองหิน ประกอบด้วยตำบลบ่อแก้ว ตำบลนาทะนุง และยังรวมไปถึงตำบลสถาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนาน้อยในปัจจุบันด้วย ๒.เมืองลี ประกอบด้วยตำบลเมืองลีกับตำบลปิงหลวง ซึ่งทั้งสองเมืองนี้เป็นเพียงเมืองเล็กๆที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองน่านเท่านั้นแต่มีความสำคัญคือเป็นเมืองด่านใต้ของเมืองน่านในสมัยที่ยังมีเจ้าเมืองปกครองอยู่ได้มีด่านตรวจคนเข้าเมืองอยู่ที่ บ้านนาทะนุง เมืองหินและในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ข้าศึกพวกเงี้ยวเข้าตีเมืองแพร่นั้น ทางเมืองน่านก็ได้ทำการตั้งด่านอยู่ที่ดอยผาไก่ขัน เมืองลี ดังนั้นเมืองทั้งสองจึงเป็นเมืองด่านใต้ของเมืองน่าน[4]

  • บ้านหลักหมื่น

ที่มาของคำว่า “อำเภอนาหมื่น” แต่เดิมหมู่บ้านตั้งอยู่ ตำบลนาทะนุง สาเหตุที่ชื่อบ้านหลักหมื่น ได้มีเล่าสืบต่อกันมาว่า มีเสาหลักกิโลเมตรที่ทางราชการมาปักไว้แต่ไม่ทราบว่า พ.ศ.ใด และยังบอกว่าเสานี้ คือ “เสาแดนเมือง” เป็นหลักที่หนึ่งหมื่น แต่ไม่ทราบว่าเสาต้นที่หนึ่งเริ่มนับมาจากที่ใด หมู่บ้านดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “บ้านหลักหมื่น” เป็นต้นมา เสาหลักกิโลเมตรที่หนึ่งหมื่นดังกล่าว เป็นเสาไม้เนื้อแข็ง สี่เหลี่ยม ขนาด ๑๐ x ๑๐ นิ้ว ยาว ๓ เมตร รอบฐานมีเสาไม้ขนาด ๕ x ๕ นิ้ว ยาว ๑.๕ เมตร ฝังรอบอีก ๕ ต้น กาลเวลาล่วงเลยมานาน เสาหลักที่หมื่นได้ล้มลง และต่อมาโดยการนำของท่านนายอำเภอนาหมื่นสมัยนั้น คือ นายดิเรก ถึงฝั่ง พร้อมราษฎรในอำเภอ นำเสาแดนเมืองมาปักไว้ที่ที่ว่าการกิ่งอำเภอนาหมื่น และตั้งศาลขึ้นมา เรียกกันทั่วไปว่า “ศาลหลักเมือง” ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอนาหมื่น และเป็นที่นับถือ ยึดเหนี่ยวรวมน้ำใจของชาวอำเภอนาหมื่นจนถึงปัจจุบันนี้ ชื่ออำเภอนาหมื่นได้มาจากหลักเมืองนาหมื่น ถือว่าเป็นสิริมงคล ทางผู้ใหญ่และชาวบ้านเห็นฟ้องกันว่าต้องการให้สอดคล้องกับอำเภอนาน้อย อันเนื่องจากเคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนาน้อย และเห็นควรให้ชื่อดีเด่นกว่าของเดิม ซึ่ง นาน้อย หมายถึงที่นามีน้อย แต่คำว่า นาหมื่น หมายถึงมีที่นามากเป็นหมื่นไร่[5]

ประเพณีและวัฒนธรรม

พิธีบวงสรวงศาลหลักเมืองนาหมื่น
๑๗ เมษายน / บ้านหลักหมื่น ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น
ในอดีตได้มีผู้คนนำเอาเสาหลักแดนเมืองมาปักฝังไว้ เมื่อวันเดือนปีใดไม่ทราบ เป็นหลักที่หนึ่งหมื่นที่หมู่บ้านนี้พอดี แต่ไม่รู้ว่าเป็นการวัดโดยลักษณะใดและวัดมาจากไหน ลักษณะของเสาหลักหมื่นดังกล่าวนั้น เป็นเสาไม้เนื้อแข็งสี่เหลี่ยมขนาด ๑๐ ´ ๑๐ นิ้ว ยาว ๓ เมตร รอบฐานมีเสาไม้ขนาด ๕ ´ ๕ นิ้ว ยาวเมตรครึ่งฝังรอบ อีกสี่ด้าน บริเวณเสากลางมีปรากฏร่องรอยการจารึกอักษรขอมเมืองไว้ด้วย แต่อยู่ในสภาพเลือนลาง อ่านจับใจความไม่ได้ อีกทั้งยังมีร่องรอยการถูกฟักฟันด้วยของมีคมเต็มไปหมด ด้วยเหตุที่หมู่บ้านนี้มีเสาหลักหมื่นตั้งอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านหลักหมื่น สำหรับเสาแดนเมืองหลักหมื่นเวลาได้ผ่านเลยมาเป็นเวลานานเสาหลักได้ล้มลง ต่อมาบรรดาประชาชนชาวอำเภอนาหมื่น นำโดยนายดิเรก ถึงฝั่ง หัวหน้ากิ่งอำเภอนาหมื่นในขณะนั้น ได้นำเอาเสาแดนเมืองเก่ามาฝังใว้ตรงที่ทำการกิ่งอำเภอนาหมื่นแล้วสร้างเป็นศาลหลักเมืองขึ้นมา เรียกว่าศาลหลักเมืองนาหมื่น ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวอำเอนาหมื่นมาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีนมัสการพระธาตุเมืองลีศรีน้ำอูน
กุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม (๑๕ ค่ำ เดือน ๓) / บ้านน้ำอูน ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น
พระธาตุน้ำอูน ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างด้วยการบริจาคจากศรัทธาของ วัดน้ำอูนและผู้มีจิตศรัทธา เหตุผลที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันก่อสร้างก็เพื่อให้คณะศรัทธาวัดน้ำอูนได้สักการะบูชา เนื่องจากในพระธาตุได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คณะศรัทธามีความเห็นร่วมกันว่าจะร่วมกันทำบุญสักการะพระธาตุในวันมาฆบูชา และมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกและได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกันถึง ๔ ประการ คือ ๑. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวกมาฆฤกษ์ ๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ๔. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา และเพราะเกิดเหตุ ๔ ประการข้างต้นทำให้วันมาฆบูชาเรียกอีกอย่างว่า วันจาตุรงคสันนิบาต[6]


เลี้ยงอาญาปัว-อาญาหลวง
กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม (เดือน ๔ และ เดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ และ แรม ๑๒ ค่ำ) / ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น
เลี้ยงอาญาปัว ในสมัยอดีตกาลการก่อตั้งตำบลเมืองลีเริ่มแรกโดยปกติชุมชนเริ่มแรกเป็นชนเผ่าลัวะขมุที่เดินทางมาจากทางสายเหนือคือ อำเภอปัว เข้ามาเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเล็กๆ แต่สิ่งที่ผู้คนในสมัยนั้นได้นำมาคือ ระบบการปกครองผู้นำชนเผ่า หรือหัวหน้าหมู่บ้าน สิ่งที่สามารถยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ในชุมชนคือ ต้องมีสิ่งที่ นำความเชื่อถือ ศักดิ์สิทธิ์ เคารพบูชา เป็นหลักในการดำรงชีวิต ในปัจจุบันการสักการบูชาอาชญาปัวมีการกำหนดการในการ บนบานศาลกล่าวไว้ ๒ ครั้ง คือ เดือน ๔ เหนือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ และ แรม ๑๒ ค่ำ หรือเรียกตามภาษาพื้นบ้าน (การแก้บนของคนใน) เดือน ๖ เหนือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ – แรม ๑๒ ค่ำ ถือเป็นรอบการแก้บนโดยปกติ การแก้บนโดยทั่วไปสามารถบนบานศาลกล่าวได้ ทั้งเงิน(ของแดง) หมู(ลักษณะสีดำเท่านั้น) และไก่ ก่อนที่อาชญาปัวจะมาเข้าทรงจะมีช่างซอ ช่างฟ้อน บรรเลงเพลงเพื่ออัญเชิญให้อาชญาปัวมาเข้าทรงที่ร่างทรง ร่างทรงของอาชญาปัวจะเป็นผู้หญิงและการทำพิธีสักการะจะทำในช่วงบ่ายของวันนั้น ๆ เมื่อเสร็จพิธีแก้บนแล้วจะมีการทำบายศรีสู่ขวัญให้กับร่างทรง โดยเชื่อกันว่าเป็นการเรียกขวัญของร่างทรงให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว หลังจากที่ขวัญได้ออกจากร่างไปในช่วงที่อาชญาปัวมาเข้าทรง

เลี้ยงอาญาหลวง สมัยอดีตกาล อาชญาหลวงเริ่มมีบทบาทมากในการให้ ความเคารพเพราะอาชญาหลวงมีลักษณะการปกครอง ที่กว้างขวางทั้งในพื้นที่ของตำบลเมืองลีและตำบลปิงหลวง ลักษณะการปกครองมีทั้งการรวมตัวของบรรดาญาติพี่น้องจากชุมชนต่างๆ เหมือนการรวมญาติครั้งใหญ่ อาชญาหลวงจึงมีศาล (โฮงอาชญา) หลายแห่ง คือ ที่ตำบลเมืองลี ตั้งอยู่ที่บ้านนาหมอ หมู่ที่ ๓ ตำบลปิงหลวง ตั้งอยู่ที่ บ้านปิงหลวง หมู่ที่ ๒ ในอดีตจนถึงปัจจุบันการบนบานศาลกล่าวจะแก้บนโดยเป็นเงิน (ของแดง) หรือบางคนบนบานโดยใช้สัตว์ใหญ่ (ควาย)[7]

ไหว้สาผาช้าง
มิถุนายน หรือ พฤษภาคม (๑๕ ค่ำ เดือน ๖) / บ้านนาหมอ ตำบลเมืองลี อำเภอนาหมื่น
ตำบลเมืองลี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาและมีพิธีทางศาสนาสืบเนื่องกันมานานแล้วก็คือ ไหว้ผาช้าง จะมีการจัดงานขึ้นทุกๆปี เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบลเมืองลี และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมจารีตประเพณีพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการจุดบั้งไฟบูชาเพื่อเป็นการสักการะผาช้าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะทำให้ ฝนตกตามฤดูกาล พืชผลไร่นาอุดมสมบูรณ์ ประเพณีไหว้สาผาช้างจะจัดขึ้นในวันวิสาขบูชาของทุกปี เนื่องจากวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือการดับขันธ์ของพระพุทธเจ้า[8]
ประเพณีสืบชะตาหลวงและสืบชะตาข้าว
๑๖ เมษายน / วัดนาทะนุง ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น

การสืบชะตาข้าว จะจัดขึ้นภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉาง เพื่อความเป็นสิริมงคลและในพืชผลเจริญงอกงาม และเพื่อประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้าว และการเพาะปลูกข้า ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชน รวมถึงให้ประชาชนในตำบลได้เรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมอันดีร่วมกัน พิธีนี้เป็นพิธีมงคลที่สำคัญประการหนึ่ง จึงต้องหาวันที่เป็นมงคลก่อน เชื่อว่าถ้าทำพิธีในวันที่ไม่เป็นมงคล ขวัญข้าวจะไม่มารับเครื่องสังเวย อนึ่งการสืบชะตาข้าวเป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณแม่โพสพหรือเทพีแห่งข้าว และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม่หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย
การสืบชะตาหลวง หมายถึงการ สืบชะตาบ้าน และสืบชะตาคนพร้อมกัน โดยทางคณะศรัทธาวัดนาทะนุง จะร่วมกันจัดเตรียมเครื่องใช้ในการประกอบพิธี การประกอบพิธีกรรมสืบชะตาจะเป็นพิธีทางสงฆ์ จะมีการสวดเจริญพุทธมนต์ก่อน และตามด้วยบทสวดสืบชะตา โดยจะทำพร้อมกับการสืบชะตาข้าว เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนสี่เป็ง โดยเริ่มพิธีนับแต่วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนสี่เหนือ (เดือน ๒ ของทางภาคกลาง) โดยจะเสร็จสิ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสี่เหนือ หรือในท้องถิ่นเรียกสี่เป็ง(วันเพ็ญเดือน ๒ ของทางภาคกลาง) การทำพิธีสืบชะตาเป็นการสืบทอดองค์ความรู้มาจากบรรพบุรุษ โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้มีการถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ บรรพบุรุษ โดยยึดเอาวันที่ ๑๖ เมษายน ของทุกปี ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทุกคนว่างจากการทำงาน มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เป็นสิริมงคลให้กับตัวเองในรอบหนึ่งปี [9]

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอนาหมื่นแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 4 ตำบล 48 หมู่บ้าน ได้แก่

ที่ ชื่อตำบล ตัวเมือง อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร

(ธันวาคม 2565)[10]

1. นาทะนุง Na Thanung 17 4,766
2. บ่อแก้ว Bo Kaeo 14 4,458
3. เมืองลี Mueang Li 7 1,929
4. ปิงหลวง Ping Luang 10 2,927

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอนาหมื่นประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลบ่อแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อแก้วทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาทะนุง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาทะนุงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองลีทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปิงหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปิงหลวงทั้งตำบล

การคมนาคม

  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1026 (เวียงสา-นาน้อย-นาหมื่น)
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1339 (นาหมื่น-น้ำปาด)

สถานที่ท่องเที่ยว

สถานที่
ที่ตั้ง
ติดต่อ
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ศน.6(ปากนาย) หมู่บ้านประมงปากนาย ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น น่าน 55180
แพขนส่งยานต์ยนต์ ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น น่าน 55180
แพอาหารสินไท ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น น่าน 55180
แพสองบัว ตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น น่าน 55180
จุดชมวิวพระธาตุเขาแสง ศาลเจ้าพ่อเขาเผือก ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น น่าน 55180
เขาแสงอาชญาแก้ว ตำบลบ่อแก้ว อำเภอนาหมื่น น่าน 55180
  • วังเขียว
  • น้ำตกตาดหมอก
  • น้ำตกนางวังกวัก
  • น้ำตกพระง่าง

อ้างอิง

  1. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาหมื่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (113 ง): 3464. 17 ตุลาคม 2521. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2007-10-17.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 98 (71): 1374–1376. 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2524. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเปือยน้อย ... และอำเภอศรีวิไล พ.ศ. ๒๕๓๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 111 (21 ก): 32–35. 3 มิถุนายน 2537. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2007-10-17.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-07. สืบค้นเมื่อ 2016-09-30.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-07. สืบค้นเมื่อ 2016-09-30.
  6. http://www.muanglee.com/tradition
  7. http://www.muanglee.com/tradition
  8. http://www.muanglee.com/tradition
  9. http://www.muanglee.com/tradition
  10. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
Kembali kehalaman sebelumnya