อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 482.4 ตารางกิโลเมตร หรือ 301,500 ไร่ ประกอบไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาอินทนนท์ (ทิวเขาถนนธงชัยตะวันออก) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย สภาพภูมิประเทศทั่วไปประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีดอยอินทนนท์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร[2] ยอดเขาที่มีระดับสูงรองลงมาคือ ดอยหัวมดหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 2,330 เมตร ป่าอินทนนท์นี้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำแม่กลาง แม่ป่าก่อ แม่ปอน แม่หอย แม่ยะ แม่แจ่ม แม่ขาน และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำแม่ปิงที่ ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกต่างๆ โดยเฉพาะน้ำตกแม่ยะ ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศ ดอยอินทนนท์ เดิมมีชื่อว่า "ดอยหลวงอ่างกา" ต่อมาได้ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าอินทวิชยนนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ลักษณะภูมิอากาศมีลักษณะอากาศแบบอบอุ่นจนถึงหนาวจัด พันธุ์ไม้และสัตว์ป่าในอุทยานนั้นมีสภาพป่าเป็น ป่าดิบเขา ป่าสน ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก ตะเคียน สนเขา เต็ง เหียง มะเกลือ ไม้แดง ประดู่ รกฟ้า มะค่า ไม้เก็ดแดง ไม้จำปีป่า ตะแบก ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ป่าให้พบเห็นอีกด้วย เช่น ฟ้ามุ่ย ช้างแดง รองเท้านารี และกุหลาบป่า สำหรับมอส ข้าวตอกฤๅษี ออสมันด้า มีอยู่ทั่วไปในระดับสูง แต่สัตว์ป่าในเขตอุทยานนั้นมีจำนวนน้อย เนื่องด้วยถูกชาวเขา ล่าไปเป็นอาหาร ปัจจุบันสัตว์ที่หลงเหลือก็มี เลียงผา กวางผา กวาง เสือ หมูป่า หมี ชะนี กระต่ายป่า และ ไก่ป่า ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กในอันดับปลาหนังชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาแค้ ที่พบได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในโลก ที่ลำธารน้ำไหลแรงบนทิวเขาอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร ปัจจุบันมีสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว รูปภาพ
อ้างอิง
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แหล่งข้อมูลอื่น
|