เมฆิกานาเดอาเบียซิออน
เมฆิกานาเดอาเบียซิออน (สเปน: Mexicana de Aviación) เรียกโดยทั่วไปว่า เมฆิกานา เป็นสายการบินที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศเม็กซิโก โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 ก่อนที่จะเลิกดำเนินการในปี 2010 เมฆิกานาเคยเป็นสายการบินแห่งชาติและสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ในปี 2023 เซเดนา–ภายใต้กระทรวงกลาโหม ได้ทำการฟื้นฟูกิจการของสายการบินอีกครั้ง[1][2] โดยใช้ชื่ออาเอโรลิเนอาเดลเอสตาโดเมฆิกาโน ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 ด้วยชื่อเมฆิกานาเช่นเดิม[3][4][5] ประวัติเมฆิกานาเป็นสายการบินแรกของประเทศเม็กซิโก เป็นสายการบินที่เก่าที่สุดในอเมริกาเหนือและเป็นอันดับที่สี่ของโลกที่ดำเนินการในชื่อเดิม ตามหลังเคแอลเอ็มของเนเธอร์แลนด์ อาเบียงกาของโคลอมเบีย และควอนตัสของออสเตรเลีย นอกเหนือจากการดำเนินการภายในประเทศของสายการบินแล้วเมฆิกานายังให้บริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางระหว่างประเทศในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง หมู่เกาะแคริบเบียน อเมริกาใต้ และยุโรป โดยมีฐานการบินหลักที่ท่าอากาศยานนานาชาติเบนิโต ฆัวเรซในเม็กซิโกซิตี และมีท่ารองที่ท่าอากาศยานนานาชาติกังกุนและท่าอากาศยานนานาชาติมิเกล อิดัลโก อี โกสติยาในกัวดาลาฮารา[6] เมฆิกานาแข่งขันกับอาเอโรเมฆิโก (ถึงแม้เมฆิกานาจะมีข้อตกลงการบินร่วมกับสายการบินในบางเส้นทางก็ตาม) และสายการบินราคาประหยัดอย่างโบลาริสและอินเตร์เฆต ในปี 2009 เมฆิกานากรุป (รวมเมฆิกานากลิกและเมฆิกานาลิงก์) ได้ขนส่งผู้โดยสารกว่า 11 ล้านคน (6.6 ล้านในเที่ยวบินภายในประเทศและ 4.5 ในเที่ยวบินระหว่างประเทศ) ด้วยเครื่องบิน 110 ลำในฝูงบิน[7] หลังจากเริ่มเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรสตาร์อัลไลแอนซ์ในปี 2000 เมฆิกานาออกจากเครือข่ายในปี 2004 ก่อนที่จะเข้าร่วมวันเวิล์ดในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2009[8] เมฆิกานาได้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2010 หลังจากที่พยายามปรับโครงสร้างองค์กร[9] และได้เลิกการดำเนินงานในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2010[10] นอกจากนี้แล้วสายการบินลูก เมฆิกานากลิกและเมซิกานาลิงก์ ก็ได้เลิกดำเนินการเช่นเดียวกัน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 เมฆิกานาได้ประกาศเป็นครั้แรกว่าเมดแอตแลนติกเข้าซื้อสายการบินด้วยเงิน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 2014 ได้มีการตัดสินให้เมฆิกานาเป็นผู้มีหนี้สินพ้นตัวและล้มละลายรวมถึงสั่งให้ขายทรัพย์สินของสายการบิน เดิมเมฆิกานามีสำนักงานใหญ่ที่อาคารเมฆิกานาเดอาเบียซิออนในเม็กซิโกซิตี[11] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 รัฐบาลเม็กซิโกได้เข้าซื้อทรัพย์สินของสายการบิน โดยมีแผนที่จะฟื้นฟูกิจการสายการบินราคาประหยัดนี้ใหม่อีกครั้ง โดยให้อยู่ภายใต้เซเดนา–กระทรวงกลาโหมเม็กซิโก[12] คริสต์ทศวรรษ 1920: ช่วงแรกแอล.เอ. วินชิป และแฮร์รี เจ. ลอว์ซัน ได้ร่วมกันก่อตั้ง กอมปัญญิอาเมฆิกานาเดตรันส์ปอร์ตาซิออนอาเอเรอาอาลาซาซอน หรือ เซเอเมเตอา ซึ่งเริ่มทำการบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังตัมปิโกและมาตาโมโรสด้วยเครื่องบินลินคอล์นสแตนดาร์ด แอล.เอส.5[13] ซึ่งทั้งสองเมืองนั้นเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1924 วิลเลียม แลนตี มัลลอรี และจอร์จ รีห์ล ได้ร่วมกันก่อตั้ง กอมปัญญิอาเมฆิกานาเดอาเบียซิออน (แปลตรงตัว: "บริษัทการบินเม็กซิโก" หรือ "บริษัทสายการบินเม็กซิโก") ซึ่งทำการบินไปยังตัมปิโกและมาตาโมโรสจากเม็กซิโกซิตีเช่นเดียวกัน เมฆิกานาก่อตั้งขึ้นหลังจากกอมปัญเญียเมฆิกานาเดอาเบียซิออนเข้าซื้อสินทรัพย์ของเซเอเมเตอา[14] ทำให้สามารถเริ่มทำการบินได้ ในปี 1925 เชอร์แมน แฟร์ไชลด์ ได้เข้าซื้อหุ้น 20% ในสายการบิน ทำให้เริ่มมีการนำเครื่องบินแฟร์ไชลด์ เอฟซี2 ในปี 1928 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 วาน ทริปป์ จากแพนแอมได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของสายการบิน และได้เริ่มทำการบินระหว่างประเทศสู่จุดหมายปลายทางในสหรัฐ โดยใช้เครื่องบินฟอร์ด ไตรมอร์เตอร์ในการบินเส้นทางเม็กซิโกซิตี-ตุกซ์ปัน-ตัมปิโก-บราวน์สวิลล์ โดยได้มีชาลส์ ลินด์เบิร์ก เป็นนักบินในเที่ยวบินแรก คริสต์ทศวรรษ 1930–1950ในช่วงคริสต์ทตวรรษ 1930 เมฆิกานาได้มีการพัฒนาในหลากหลายด้าน สายการบินเริ่มทำการบินจากบราวน์สวิลล์ไปยังกัวเตมาลาซิตี โดยมีจุดแวะพักที่เบรากรุซ มินาติตลัน อิชเตเปก และตาปาชูลา นอกจากนี้แล้วยังเพิ่มเส้นทางบินไปยังเอลซัลวาดอร์ คอสตาริกา คิวบา นิการากัว และปานามา ซึ่งร่วมมือกับแพนแอมในการทำการบินจากฐานการบินไมแอมีของแพนแอม (แพนแอมเป็นผู้ทำการบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังไมแอมี) ในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1936 เมฆิกานาทำการบินไปยังลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นสายการบินต่างประเทศสายแรกที่ทำการบินไปยังที่นี้[14] ในคริสต์ทศวรรษ 1940 เป็นช่วงเวลาที่เมฆิกานาได้พัฒนาเส้นทางภายในประเทศเป็นหลัก แต่เมฆิกานาก็เริ่มทำการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศบ้าง เช่น เที่ยวบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังอาบานา เมฆิานาเริ่มเส้นทางสู่มอนเตร์เรย์ นูเอโบลาเรโด และเมริดา นอกจากนี้ยังทำการบินเที่ยวบินกลางคืนไปยังลอสแองลิสเพิ่มเติม เป็นการเริ่มการทำการบินเที่ยวบินกลางคืนของสายการบิน ต่อมาจึงมีการทำเที่ยวบินกลางคืนสู่เมริดา เดิมเมฆิกานาใช้เครื่องบินดักลาส ดีซี-2 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศนี้ ตามกาลเวลาสายการบินก็ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินที่ใหญ่ขึ้น เช่น ดักลาส ดีซี-3 และดักลาส ดีซี-4 โดยการนำดีซี-4 มาประจำการทำให้สายการบินสามารถทำการบินตรงจากเม็กซิโกซิตีไปยังลอสแอนเจลิสได้โดยไม่ต้องแวะพัก และในช่วงเวลานี้ เมฆิกานาได้ตั้งโรงเรียนการบินในเม็กซิโกซิตี ในคริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นช่วงที่เมฆิกานาพัฒนาช้าลง โดยในช่วงนี้มีการเริ่มประจำการของเครื่องบินดักลาส ดีซี-6 และการปรับปรุงการทำงานของพนักงานด้วยการเปิดโรงเรียนฝึกหัดพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เครื่องบินดีซี-6 ได้นำมาทำการบินในเที่ยวบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังปูเอร์โตบายาร์ตาและวาฮากา และเริ่มบินเส้นทางไปยังแซนแอนโทนีโอ รัฐเท็กซัส คริสต์ทศวรรษ 1960: การเข้ามาของอากาศยานไอพ่นในคริสต์ทศวรรษ 1960 เมฆิกานาได้สั่งซื้อเดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท 4ซี จำนวนสี่ลำ การนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเข้ามาประจำการในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1960 นับเป็นการเริ่มต้นสมัยอากาศยานไอพ่นของสายการบิน โดยทำการบินเที่ยวบินแรกจากเม็กซิโกซิตีไปยังลอสแอนเจลิส แม้ว่าสายการบินจะมีเครื่องบินที่ล้ำสมัย แต่มีการแข่งขันสูง ในช่วงปลายทศวรรษเมฆิกานาได้ประกาศล้มละลาย แต่เมฆิกานายังสามารถเริ่มนำเครื่องบินโบอิง 727-100 เข้ามาประจำการได้ ในปี 1967 สายการบินทำการบินไปยังจุดหมายปลายทางในสหรัฐ ได้แก่ คอร์ปัสคริสตี แดลลัส และแซนแอนโทนีโอในรัฐเท็กซัส ชิคาโกในรัฐอิลลินอย ลอสแอนเจลิสในรัฐแคลิฟอร์เนีย และไมแอมีในรัฐฟลอริดา และยังทำการบินไปยังอาบานา ประเทศคิวบา และคิงส์ตันและมอนทีโกเบย์ ปัญหาทาการเงินของสายการบินได้นำมาสู่การเปลี่ยนชุดเจ้าหน้าที่บริหารในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1968 โดยมีเกรเซนซิโอ บาเยสเตโรส เป็นประธาน และมานูเอล โซซา เด ลา เบกา เป็นซีอีโอ โดยแผนการฟื้นฟูกิจการของชุดเจ้าหน้าที่บริหารชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ปี 1969 เป็นปีที่สายการบินจะต้อประสบกับเหตุเครื่องบินโบอิง 727 ตกสองลำ ลำแรกตกในสภาพอากาศเลวร้ายขณะทำการบินจากเม็กซิโกซิตีไปยังมอนเตร์เรย์ โดยลำที่สองตกขณะทำการบินจากชิคาโกกลับมาเม็กซิโกซิตี คริสต์ทศวรรษ 1970–1990ในปี 1971 เมฆิกานาเริ่มทำการบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติลุยส์ มุญโญซ มารินในซานฮวน ปวยร์โตรีโก ซึ่งเป็นเส้นทางที่สายการบินทำการบินติดต่อกันเป็นเวลากว่า 25 ปี โดยดำเนินจากเม็กซิโกซิตี แต่มีบางช่วงที่มีจุดแวะพักที่เมริดา[15] และเริ่มทำการบินไปยังเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สายการบินได้ขยายฝูงบินอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีเครื่องบินไอพ่นประจำการอยู่ 19 ลำ มากที่สุดในละตินอเมริกา ณ เวลานั้น นอกจากนั้นแล้วสายการบินยังได้เริ่มใช้เครื่องจำลองการบินของเครื่องบินโบอิง 727 ที่ฐานการบินหลักในท่าอากาศยานนานาชาติเม็กซิโกซิตี ในช่วงเวลานี้เมฆิกานาเป็นผู้ให้บริการโบอิง 727 รายใหญ่ที่สุดนอกสหรัฐ ในโอกาสวาระครบรอบ 50 ปีของสายการบิน ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้กับเมฆิกานาเดอาเบียซิออนในฐานะที่เป็นสายการบินแรกของประเทศ ภายในหลังปี 2010 อนุสรณ์สถานนี้เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมกาบินของเม็กซิโกและสายการบินต่าง ๆ ที่เคยให้บริการในประเทศ ในคริสต์ทศวรรษ 1980 เมฆิกานามีอัตราการเติบโตที่คงที่ แต่ก็มีเหตุการณ์สำคัญบ้าง ในปี 1981 แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10-15 จำนวนสามลำเข้าประจำการกับสายการบิน โดยได้เริ่มทำการบินในเส้นทางสู่จุดหมายปลายทางในทะเลแคริบเบียน โดยดีซี-10 เป็นเครื่องบินลำตัวกว้างลำแรกของสายการบินซึ่งจะใช้งานในเส้นทางที่มีจำนวนผู้โดยสารมาก ในปี 1982 รัฐบาลเม็กซิโกเข้าถือหุ้น 58% ของสายการบินก่อนที่จะออกมาเป็นบริษัทเอกชนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1989 ต่อมาในปี 1984 การก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของเมฆิกานาที่ถนนโชลา เม็กซิโกซิตี ได้เสร็จสิ้น โดยเป็นอาคาร 30 ชั้นที่มีลักษณะคล้ยกับหอบังคับการบิน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1986 เมฆิกานา เที่ยวบินที่ 940 ซึ่งดำเนินเที่ยวบินสู่ปูเอร์โตบายาร์ตา เกิดไฟไหม้บนเที่ยวบินและตกลงในบริเวณเทือกเขาทางตะวันตกของเม็กซิโก ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิต อุบัติเหตุในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินของเมฆิกานา ในปี 1988, อาเอโรนาเบสเดเมฆิโก (ปัจจุบันดำเนินการในชื่อ อาเอโรเมฆิโก) ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของเมฆิกานา ได้ประกาศล้มละลาย เป็นผลให้เมฆิกานาได้สิทธิในเที่ยวบินระยะไกลหลายเที่ยวบินของอาเอโรเมฆิโกตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เมฆิกานาให้บริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางมากกว่า 13 แห่งในสหรัฐ ได้แก่ บอลทิมอร์, ชิคาโก, แดลลัส/ฟอร์ตเวิร์ธ, เดนเวอร์, ลอสแอนเจลิส, ไมแอมี, นครนิวยอร์ก, ออร์แลนโด, ซานแอนโทนีโอ, ซานฟรานซิสโก, แซนโฮเซ (รัฐแคลิฟอร์เนีย), ซีแอตเทิล และแทมปา รวมถึงซานฮวน เปอร์โตริโก และเพิ่มเที่ยวบินสู่กัวเตมาลาซิตี อาบานา และซานโฮเซ ประเทศคอสตาริกา[16] การยกเลิกกฎระเบียบของอุตสาหกรรมการบินของเม็กซิโกทำให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ เช่น ลาตูร์, ซาโร และตาเอซา ส่งผลให้เมฆิกานาเริ่มนำเครื่องบินสมัยใหม่มาประจำการ เช่นแอร์บัส เอ320 ในปี 1991 และฟอกเกอร์ 100 ในปี 1992 ต่อมาในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจเม็กซิโกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลดค่าเงินเปโซของเม็กซิโก จึงทำให้เมฆิกานา อาเอโรเมฆิโก และสายการบินระดับภูมิภาคในเครือถูกแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจหลังจากบริษัทแม่ ซินตรา (กอร์โปราซิออนอินเตร์นาซิโอนัลเดตรันส์ปอร์เตอาเอเรโอ) ถูกรัฐบาลควบคุม ก่อนที่จะเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้งในปี 2005 ในปี 1967 เมฆิกานาได้มีผู้บริหารชุดใหม่ โดยมีเฟร์นันโด โฟลเรส เป็นประธานและซีอีโอ สายการบินได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเน้นไปที่การบริการระหว่างประเทศใหม่ เส้นทางที่ไม่ได้ผลกำไรจะถูกยกเลิก และปลดประจำการดักลาส ดีซี-10 เมฆิกานาได้ขยายเส้นทางบินไปยังทวีปอเมริกาใต้หลายเส้นทาง เช่น ลิมา ซานเตียโกเดชิเล และบัวโนสไอเรส และขยายไปยังอเมริกาเหนือ เช่น มอนทรีออล เพื่อดำเนินการในเส้นทางใหม่นี้ สายการบินได้เช่าเครื่องบินโบอิง 757-200 นอกจากนี้ เมฆิกานาได้เข้าร่วมกับพันธมิตรสายการบินต่าง ๆ โดยเริ่มแรกสายการบินเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคอย่าง ลาตินปัส และ อาลัสเดอาเมริกา ต่อมาได้เป็นพันธมิตรกับยูไนเต็ดแอร์ไลน์ พันธมิตรนี้สามารถช่วยให้เมฆิกานาเข้าร่วมพันธมิตรสายการบินระดับโลกได้ โดยได้เข้าร่วมสตาร์อัลไลแอนซ์ จุดหมายปลายทางตลอดการดำเนินงานของสายการบิน เมฆิกานาให้บริการเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทาง 59 แห่งในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรป ข้อตกลงการบินร่วมเมซิกานาทำข้อตกลงการบินร่วมกับสายการบินดังต่อไปนี้: ฝูงบินเมฆิกานาเคยให้บริการเครื่องบินดังต่อไปนี้:[17][18]
ดูเพิ่มอ้างอิง
|