กบฏโพกผ้าเหลือง
กบฏโพกผ้าเหลือง (จีนตัวย่อ: 黄巾之乱; จีนตัวเต็ม: 黃巾之亂; พินอิน: Huáng Jīn Zhī Luàn) เป็นการก่อการกำเริบของเหล่าชาวนาในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน การก่อการกำเริบเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 184 ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ แม้ว่ากลุ่มกบฏหลักจะถูกปราบปรามในปี ค.ศ. 185 แต่ต้องใช้เวลาถึง 21 ปีในการปราบปรามพื้นที่ที่ยังต่อต้านและกลุ่มกบฏที่เกิดขึ้นได้อย่างราบคาบในปี ค.ศ. 205[1] ความอ่อนแอของราชสำนักและอิทธิพลทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครองทางการทหารที่ตั้งตนเป็นอิสระในส่วนภูมิภาคซึ่งช่วยในการปราบปรามกบฏ ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การช่วงชิงอำนาจระหว่างขุนศึกและส่งผลทำให้เกิดยุคสามก๊ก กบฏโพกผ้าเหลืองซึ่งได้ชื่อมาจากสีของผ้าโพกศีรษะของกลุ่มกบฏ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของลัทธิเต๋า อันเนื่องมาจากความเกี่ยวพันระหว่างผู้นำกลุ่มกบฏกับสมาคมลับของลัทธิเต๋าในเวลานั้น[4] การก่อการกำเริบครั้งนี้ยังถูกใช้เป็นเหตุการณ์เปิดเรื่องในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 สาเหตุเมื่อถึงปี ค.ศ. 184 ราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอลงเนื่องจากขันทีในราชสำนักใช้อำนาจเหนือจักรพรรดิในทางที่ผิดเพื่อแสวงประโยชน์ให้ตนเอง ขันทีที่มีอำนาจมากที่สุด 12 คนถูกเรียกว่าสิบเสียงสี โดยที่ครั้งหนึ่งพระเจ้าเลนเต้เคยตรัสว่า "ขันทีเตียวเหยียงเป็นบิดาของข้า และขันทีเตียวต๋งเป็นมารดาของข้า"[5] การฉ้อราษฎร์บังหลวงของราชสำนักถูกมองว่าเป็นสาเหตุของโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าจักรพรรดิสูญเสียอาณัติแห่งสวรรค์ เมื่อแม่น้ำฮวงโหท่วมท้นทำให้ชาวนาและทหารต้องย้ายถิ่นฐานลงใต้ แรงงานส่วนเกินกระตุ้นให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ มีรายงานการระบาดของโรคในปี ค.ศ. 171, 173, 179, 182 และ 185 โดยสาเหตุอาจมาจากโรคระบาดแอนโทนิน ซึ่งแพร่ระบาดตั้งแต่ปี ค.ศ. 165 ถึง ค.ศ. 180 ฝีดาษและโรคหัดระบาดไปตามเส้นทางสายไหม[5] ผู้นำลัทธิเต๋าเตียวก๊กจึงส่งสาวกของเขาไปทางตอนเหนือของจีนเพื่อเตรียมการก่อจลาจลโดยอ้างว่าจัดหาน้ำบำบัดรักษาผู้คน[5] การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพวกเขานั้นไม่มีใครสังเกตเห็นจนกระทั่งพวกเขามีพลังอำนาจและกำลังคนเกินกว่าจะท้าทายได้ เตียวก๊กตั้งใจจะก่อการจลาจลทั่วจักรวรรดิ แต่แผนถูกเปิดโปงจากการทรยศก่อนที่เขาจะเริ่มต้น ผู้สมรู้ร่วมคิดในลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ถูกจับและประหารชีวิต ทำให้ต้องเริ่มต้นก่อนกำหนดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 184 แม้จะขาดการประสานงานและการเตรียมการทั้งหมดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ชายฉกรรจ์นับหมื่นคนก็ลุกฮือทำการก่อการกำเริบ สถานที่ราชการถูกปล้นและทำลาย กองทัพจักรวรรดิต้องเร่งรีบป้องกันโดยด่วน[6] กลุ่มกบฏผู้ก่อตั้งการก่อกบฏภายใต้การนำโดยเตียวก๊ก (ซึ่งเป็นรู้จักกันในเหล่าหมู่สาวกว่า "แม่ทัพแห่งสวรรค์") และน้องชายสองคนอย่างเตียวโป้ (張寶 จาง เป่า) และเตียวเหลียง (張梁 จาง เหลียง) ซึ่งเกิดในเมืองกิลกกุ๋น (巨鹿郡 จฺวี้ลู่จฺวิ้น) ทั้งสามพี่น้องได้ก่อตั้งนิกายของลัทธิเต๋าในมณฑลชานตงปัจจุบัน ทั้งสามได้รับการยกย่องในฐานะผู้รักษาโรคซึ่งรับดูแลผู้ป่วยที่ยากจนโดยไม่เก็บค่ารักษา เมื่อเห็นว่าข้าราชการท้องถิ่นข่มเหงชนชั้นชาวนาด้วยการใช้แรงงานและเก็บภาษีอย่างหนัก ทั้งสามจึงวางแผนจะก่อกบฏ นิกายเต๋ากลุ่มกบฏเป็นสาวกกลุ่มแรกของนิกายไท่ผิงเต้า (太平道; Tàipíng Dào) หรือวิถีมหาสันติสุข และนับถือเทพหฺวาง-เหล่า (黃老) ซึ่งเตียวก๊กอ้างว่าเป็นผู้มอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ชื่อไทแผงเยาสุด (太平要術; Tàipíng Yàoshù ไท่ผิงเย่าชู่) หรือมรรควิธีสู่วิถีสันติสุข อิงมาจากคัมภีร์ไท่ผิงจิง (太平經) เตียวก๊กผู้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้วิเศษ เรียกตนเองว่าเป็น "ต้าเซียนเหลียนชือ" (大賢良師) หรือ "มหาปรมาจารย์" เมื่อเตียวก๊กประกาศก่อกบฏ ได้สร้างคำขวัญที่ประกอบด้วยคำ 16 คำเผยแพร่ผ่านงานการรักษาของเหล่าสาวกว่า:[7]
การปฏิบัติศาสนกิจเตียวก๊กอ้างวิธีการรักษาผู้ป่วยโดยการให้ผู้ป่วยสารภาพบาปเพื่อการรักษาโรคด้วยศรัทธาตามวิธีในลัทธิเต๋า สามพี่น้องสกุลเตียวเชื่อในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีเจี๋ยจื่อซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของวงรอบ 60 ปีวงใหมซึ่งเกี่ยวข้องกับฟ้าสีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของการการปกครองใหม่ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับสีของผ้าโพกศีรษะ[8] เหล่าวสาวกรวบรวบผู้คนหลากชาติพันธุ์ผ่านกิจกรรมชุมชนของนิกยายอย่างการอยู่ในภวังค์ การอดอาหาร การแสดงดนตรี การสวดมนต์ การจุดธูป และการสั่งสอน ผู้นำชนเผ่าซฺยงหนูหลายเช่นเช่นยฺหวีฝูหลัว (於夫羅) ให้การสนับสนุนกิจกรรมของนิกาย ซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เตียวนำความเชื่อเรื่องหมอผีของชนเผ่าซฺยงหนูไปใช้[9] แม้ว่าจะมีบันทึกที่หลงเหลืออยู่น้อย แต่นิกายไท่ผิงเต้าในช่วงต้นอาจจะคล้ายคลึงกับนิกายเทียนชือเต้า (天師道; นิกายอาจารย์สวรรค์) เมื่อพิจารณาว่าตัวเตียวก๊กอ้างตนเป็นผู้สืบเชื่อสายของเตียวเหลง (張陵 จาง หลิง) หรือจางเต้าหลิง (張道陵) ใน 52 บทที่หลงเหลือของคัมภีร์ไท่ผิงจิงส่วนใหญ่ที่พบในสารบบเต้าจาง (道藏) มีความสัมพันธ์โดยตรงกับนิกายเทียนชือเต้า โดยมีข้อแตกต่างบางประการที่อาจถูกยกเลิกไปโดยนักบวชเต๋าในยุคหลัง[10] แผนการของเตียวก๊กสำหรับก่อกบฎก่อนที่การก่อกบฏจะเริ่มต้นขึ้น เตียวก๊กได้ส่งม้าอ้วนยี่ (馬元義 หม่า ยฺเหวียนอี้) เพื่อระดมเหล่าสาวกจากมณฑลเกงจิ๋วและยังจิ๋ว แล้วรวบรวมไว้ที่เงียบกุ๋น ม้าอ้วนยี่ได้เดินทางไปลกเอี๋ยงนครหลวงของราชวงศ์ฮั่นอยู่บ่อยครั้ง จึงสามารถโน้มน้าวฮองสี (封諝 เฟิง ซฺวี) และสฺวี เฟิ่ง (徐奉) สมาชิกของกลุ่มขันทีในราชสำนักให้ร่วมมือกับเตียวก๊กอย่างลับ ๆ พวกเขากำหนดวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 184 เป็นวันก่อการกบฏ แต่ก่อนที่แผนการจะเริ่มดำเนินการ กลุ่มโพกผ้าเหลืองก็ถูกทรยศ เมื่อตองจิ๋ว (唐周 ถาง โจว) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งนิกายไท่ผิงเต้าถูกกีดกันจากการร่วมวางแผนในภายหลัง ตองจิ๋วจึงไปแจ้งเรื่องม้าอ้วนยี่ต่อทางการ ทำให้ม้าอ้วนยี่ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตด้วยทัณฑ์รถม้าแยกร่างในลกเอี๋ยง[11][8] หลังจากที่พระเจ้าเลนเต้ทรงทราบว่าเตียวก๊กกำลังวางแผนก่อการกบฎ จึงทรงมีรับสั่งให้โจว ปิน (周斌) หัวหน้าพระราชอุทยานหลวง (鉤盾令 โกวตุ้นลิ่ง) ทำการสืบสวนไปยังผู้ร่วมสมคบคิดทั้งหมด ผู้คนหลายร้อยคนจึงถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตในเวลานั้น[12] การก่อกบฏเมื่อเตียวก๊กได้ทราบข่าวแล้วว่าราชสำนักรับรู้ถึงแผนการก่อกบฏของเขาได้ เขาจึงรีบส่งคนส่งสารไปติดต่อหาพันธมิตรของเขาทั่วแผ่นดินจีนและให้ดำเนินการทันที ในช่วงระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ และ 29 มีนาคม ค.ศ. 184 เตียวก๊กได้เริ่มก่อกบฏโพกผ้าเหลืองโดยมีเหล่าสาวกจำนวน 360,000 คนภายใต้บัญชาของเขา ทุกคนล้วนสวมผ้าโพกคลุมศีรษะสีเหลืองกันหมด[13] เขาได้เรียกตัวเองว่า "แม่ทัพแห่งสวรรค์" (天公將軍) ในขณะที่น้องชายคนกลาง เตียวโป้ จะถูกเรียกว่า "แม่ทัพแห่งพิภพ" (地公將軍) และน้องชายคนสุดท้าย เตียวเหลียง จะถูกเรียกว่า "แม่ทัพแห่งปวงประชา" (人公將軍) ตามลำดับ กลุ่มกบฏได้เข้าโจมตีหน่วยงานของรัฐ ทำการปล้นสะดมทั่วทั้งมณฑลและหมู่บ้าน และเข้ายึดครองเมือง เพียง 10 วัน การก่อกบฏได้แพร่กระจายไปทั่วแผ่นดินจีน และทำให้ราชสำนักฮั่นในลกเอี๋ยงต้องตื่นตระหนกอย่างมาก กลุ่มกบฏส่วนใหญ่ต่างกระจุดรวมตัวกันอยู่ในมณฑลกิจิ๋ว, เกงจิ๋ว, อิ๋วจิ๋ว และอิจิ๋ว กลุ่มที่นำโดยเตียวก๊กและสองน้องชายได้ให้การสนับสนุนแก่พวกเขาในมณฑลกิจิ๋ว ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวงโห ใกล้กับเมืองจูลู่ ดินแดนบ้านเกิดของเตียวก๊ก (บริเวณรอบอำเภอผิงเซียง มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) และเมืองเว่ย (บริเวณรอบหานตาน มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) การก่อการกำเริบครั้งใหญ่ครั้งที่สองซึ่งเกิดขึ้นในเมืองกวนหยาง (บริเวณรอบกรุงปักกิ่งในปัจจุบัน) และเมืองโจว (บริเวณรอบจูโจว มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) ในมณฑลอิ๋วจิ๋ว และศูนย์กลางที่สามของการก่อกบฎอยู่ในเมืองเองฉวน (บริเวณรอบสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และเมืองลู่หนาน (บริเวณรอบซินหยาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ในมณฑลอิจิ๋ว และเมืองลำหยง (บริเวณรอบลำหยง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ในทางตอนเหนือของมณฑลเกงจิ๋ว เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 184 พระเจ้าเลนเต้ทรงแต่งตั้งให้โฮจิ๋น ผู้เป็นพระเทวันของพระองค์ ข้าหลวงเมืองเหอหนาน (河南尹) เป็นแม่ทัพใหญ่ (大將軍) และมีพระบัญชาให้คุมกองทัพจักรวรรดิเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏ ในเวลาเดียวกัน พระเจ้าเลนเต้ยังทรงแต่งตั้งแม่ทัพสามคน ได้แก่ โลติด ฮองฮูสง และจูฮี นำทั้งสามกองทัพแยกกันไปจัดการกับพวกกบฏ โลติดมุ่งหน้าไปยังค่ายของเตียวก๊กในกิจิ๋ว ในขณะที่ฮองฮูสงและจูฮี มุ่งหน้าไปยังเมืองเองฉวน พวกเขามีกองกำลังทหารทั้งหมด 40,000 นาย มณฑลอิวจิ๋ว: เมืองกว่างหยางและตุ้นก้วนในมณฑลอิวจิ๋ว พวกกบฏได้สังหารกัว ซฺวิน (郭勳) ข้าหลวงมณฑล และหลิว เว่ย์ (劉衛) เจ้าเมืองกว่างหยาง[14] นายพันเจาเจ้งนำทัพหลวงเข้าปราบปรามกบฏในมณฑลอิวจิ๋ว เล่าปี่ได้นำกองกำลังทหารอาสาสมัคร[e] เพื่อช่วยสนับสนุนเจาเจ้ง[15] มณฑลอิจิ๋ว: เมืองยีหลำและเองฉวนเมื่อกลุ่มกบฏก่อการขึ้นครั้งแรกในมณฑลอิจิ๋ว ราชสำนักฮั่นเลือกอ้องอุ้นเป็นการพิเศษเพื่อแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑลคอยดูแลปฏิบัติการทางทหาร[16] เจ้า เชียน (趙謙) เจ้าเมืองยีหลำได้นำกองกำลังทหารเข้าโจมตีฝ่ายกบฏก่อนที่จูฮีจะมาถึง แต่ก็ต้องพบความปราชัยที่เส้าหลิง (邵陵; ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) เมืออำเภอเฉิน (陳縣; อำเภอหวยหยาง มณฑลเหอหนาน) ถูกพวกกบฏเข้าโจมตี ลูกน้องของเตียวเขียนทั้งเจ็ดคนซึ่งไม่ใช่ทหาร ต่างพากันจับดาบ และเข้าฟาดฟันพวกกบฏจนถูกรุมสังหารตายทั้งหมด ต่อมาภายหลังกบฏถูกปราบปราม พระเจ้าเลนเต้ทรงประกาศยกย่องทั้งเจ็ดคนว่า "ผู้ทรงธรรมทั้งเจ็ด" รัฐเฉิน (陳國; บริเวณโจวโข่ว, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) หนึ่งในเมืองของมณฑลอิจิ๋ว สามารถหลีกเลียงการนองเลือดของกบฎโพกผ้าเหลืองเพราะพวกกบฏต่างหวาดกลัวต่ออ๋องเล่าฉง ผู้มีชื่อเสียงในด้านความสามารถในการยิงธนู และเหล่าพลธนูชั้นยอดภายใต้บัญชาการของเขา พวกกบฏในเมืองลู่หนานที่นำโดยโป ไฉ (波才), ได้เอาชนะจูฮีในการรบในช่วงแรก และขับไล่เขาไปได้ ราชสำนักจึงส่งโจโฉผู้บัญชาการทหารม้าไปเสริมกำลังเพื่อช่วยเหลือแก่จูฮี ในช่วงระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 25 มิถุนายน จูฮี ฮองจูสง และเฉาเชาได้รวมกองกำลังและเอาชนะโปไฉที่ฉางชี (長社; ทางด้านตะวันออกของฉางเก่อ, มณฑลเหอหนานในยุคปัจจุบัน) ในขณะที่โปไฉได้พยายามหลบหนี ฮองจูสงและจูฮีได้ไล่ล่าตามเขาไปที่อำเภอหยางเซี่ย (陽翟縣; ยูโจว, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และเอาชนะเขาได้อีกครั้งที่นั่น ทำให้พวกกบฏต่างพากระจัดกระจาย ฮองจูสงและจูฮีได้เอาชนะพวกกบฏในเมืองลู่หนานที่นำโดยเผิง โต้ว (彭脫) ที่อำเภอซีหัว (西華縣; ทางตอนใต้ของเทศมณฑลซีหัว, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ราชสำนักจึงสั่งให้พวกเขาแยกย้ายกัน: ฮองจูสงจะเข้าโจมตีพวกกบฏที่เมืองต่ง (東郡;บริเวณรอบของเทศมณฑลผู่หยาง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ในขณะที่จูฮีจะเข้าโจมตีพวกกบฏที่เมืองลำหยง ในช่วงเวลานี้ อองของ ผู้ตรวจการมณฑลอิจิ๋วได้พบหลักฐานว่า พวกกบฏได้ติดต่ออย่างลับ ๆ กับเตียวเหยียง (張讓) หัวหน้ากลุ่มสิบขันทีผู้มีอิทธิพลในลกเอี๋ยง จึงกราบทูลแก่พระเจ้าเลนเต้ให้ทรงทราบ พระองค์ทรงกล่าวตำหนิเตียวหยียง แต่ไม่ได้รับสั่งให้ลงโทษเขาแต่อย่างใด ในช่วงระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน ถึง 6 ธันวาคม เป้า หง (鮑鴻) ขุนพลได้นำกองทัพจักรวรรดิเข้าโจมตีกลุ่มกบฏในจีเป่ย์ (葛陂; ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเทศมณฑลซินเซีย, มณฑลเหอหนาน) และเอาชนะพวกเขาได้ มณฑลกิจิ๋ว: เมืองเว่ย์และกิลกกุ๋นในเวลาเดียวกัน โลติดได้เอาชนะกองทัพกบฏของเตียวก๊กในเขตบัญชาการจูลู่ และปิดล้อมผู้นำกบฏในอำเภอกวนจง (廣宗縣; ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเทศมณฑลกวนจง , มณฑลเหอเป่ยในยุคปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม ภายหลังพวกขันทีได้กราบเพ็ดทูลด้วยความเท็จว่า โลติดคิดคดทรยศ พระเจ้าเลนเต้ทรงรับสั่งให้โลติดออกจากการบังคับบัญชากองทัพของเขาและพากลับไปที่ลกเอี๋ยงในฐานะนักโทษ ทางราชสำนักจึงส่งแม่ทัพต่งจั่วเข้ามาบัญชากองทัพแทนที่โลติดและเข้าโจมตีเตียวก๊ก อย่างไรก็ตาม ต่งจั่วกลับล้มเหลวและล่าถอย วันที่ 23 หรือ 24 กันยายน ฮองฮูสงและฟู่ เซี่ย (傅燮), แม่ทัพนายกองลูกน้องของเขา ได้เข้าปราบปรามกบฏที่ชางติ่ง (倉亭; ทางตอนเหนือของเทศมณฑลยางกู่, มณฑลชานตงในปัจจุบัน), ได้เข้าจับกุมผู้นำที่มีนามว่าปู๋ จี่ (卜己) และสังหารพวกกบฏกว่า 7,000 คน รวมทั้งผู้นำรองคนอื่น ๆ อย่างจาง ปั๋ว (張伯) และเหลียง จ้งหนิง (梁仲寧) เมื่อวันที่ 25 กันยายน ทางราชสำนักได้ออกคำสั่งให้เขาเข้ามาแทนที่ต่งจั่วและนำกองทัพของเขาไปทางเหนือสู่อำเภอกวนจง และโจมตีเตียวก๊ก เตียวก๊กได้ล้มป่วยตาย ในขณะที่ถูกฮองฮูสงเข้าโจมตีในอำเภอกวนจง ในระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 20 ธันวาคม ฮองฮูสงยังคงโจมตีเตียวเหลียง ซึ่งได้เข้ามาควบคุมเหล่าสาวกของพี่ชายที่อำเภอกวนจง แต่ไม่สามารถเอาชนะพวกกบฏได้ เนื่องจากเตียวเหลียงนั้นมีนักรบที่เก่งกาจมากในท่ามกลางกลุ่มโพกผ้าเหลืองของเขา จากนั้นฮองฮูสงก็ได้เปลี่ยนกลยุทธ์การป้องกันเพื่อหลอกล่อให้พวกกบฏลดการป้องกัน ซึ่งพวกเขาทำสำเร็จ เขาจึงฉวยโอกาสโจมตีตอบโต้กลับในเวลากลางคืนและปราบกบฏให้สิ้นซาก เตียวเหลียงได้ตายในสนามรบพร้อมกับกบฏ 30,000 คน ในขณะที่จำนวนกบฏอีก 50,000 คน ที่พยายามหลบหนีข้ามแม่น้ำก็ต้องจมน้ำตาย ฮองฮูสงยังเผาเกวียนจำนวนกว่า 30,000 คันที่บรรจุไปด้วยเสบียงสำหรับพวกกบฏและเข้าจับกุมสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ของพวกเขา ฮองฮูสงได้สั่งให้ขุดหลุมศพเตียวก๊กขึ้นมา ทำการตัดและส่งศีรษะไปยังราชสำนักที่ลกเอี๋ยง เมื่อทรงทราบถึงความสำเร็จของฮองฮูสง พระเจ้าเลนเต้ทรงเลื่อนตำแหน่งให้เขาเป็นแม่ทัพฝ่ายซ้ายแห่งกองรถม้าศึกและทหารม้า (左車騎將軍) ในระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 184 ถึง 18 มกราคม ค.ศ. 185 ฮองฮูสงได้นำกองทัพเข้าร่วมกับกัว เตี่ยน (郭典) ผู้ว่าราชการเมืองจูลู่ เพื่อเข้าโจมตีพวกกบฏที่หลงเหลือซึ่งนำโดยเตียวโป้ น้องชายอีกคนของเตียวก๊ก พวกเขาได้เอาชนะพวกกบฏที่อำเภอเซียคูหยาง (下曲陽縣; ทางตะวันตกของจิ่นโจว, มณฑลเหอเป่ยในยุคปัจจุบัน), สังหารเตียวโป้และพวกกบฏต่างพากันยอมจำนนจำนวนกว่า 100,000 คน มณฑลเกงจิ๋ว: เมืองลำหยงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 184 พวกกบฏที่นำโดยจาง ม่านเฉิง (張曼成) สังหารฉู่ ก้ง (褚貢), ผู้ว่าราชการเมืองลำหยง และเข้ายึดครองเมืองหลวงของเมืองคือ อ้วนเซีย (宛城; เขตอ้วนเซีย , นครระดับเมืองลำหยง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน).ฉิน เจี๋ย (秦頡) ทายาทของฉู่ ก้ง ได้ระดมกำลังคนท้องถิ่นในลำหยงเพื่อเข้าโจมตี จาง ม่านเฉิง จนเอาชนะและสังหารเข้าได้ในระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน ถึง 25 กรกฎาคม ก่อนที่กองกำลังเสริมที่นำโดยจูฮีจะปรากฏตัวขึ้น ภายหลังการเสียชีวิตของจาง ม่านเฉิง เตียวฮ่อง (趙弘) กลายเป็นผู้นำคนใหม่ในอ้วนเซีย ประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 184 หรือหลังจากนั้นฉิน เจี๋ย และจูฮีได้เข้ารวมกองกำลังกับชีจิ๋วเป๋ง (徐璆 สฺวี ฉิว), ผู้ตรวจการมณฑลเกงจิ๋วเพื่อเข้าโจมตีอ้วนเซียด้วยกองทัพจำนวนประมาณ 18,000 นาย พวกเขาสามารถเอาชนะและสังหาร เตียวฮ่อง ลงได้ หลังการเสียชีวิตของเตียวฮ่อง ฮั่นต๋ง (韓忠) และกลุ่มกบฏที่เหลือได้เข้าควบคุมอ้วนเซีย และยังคงต่อต้านกองทัพจักรวรรดิต่อไป จูฮีได้ออกคำสั่งให้กองทหารของเขาให้แสร้งทำเป็นโจมตีจากทางตะวันตกเฉียงใต้ ในขณะที่เขาจะลักลอบชั้นยอดจำนวน 5,000 นายทำการแทรกซึมอ้วนเซีย จากทางตะวันตกเฉียงเหนือ ฮั่นต๋ง ได้ถอยกลับเข้าไปในป้อมปราการและต้องการยอมสวามิภักดิ์แก่ฉิน เจี๋ย, ชีจิ๋วเป๋ง และเตียวเถียว (張超 จาง เชา), แม่ทัพนายกอง ภายใต้คำสั่งของจูฮีได้ยอมรับการยอมจำนนแต่กลับถูกปฏิเสธ ต่อมาจูฮีได้แสร้งทำเป็นยุติการล้อมเพื่อล่อให้ ฮั่นต๋ง ออกมาโจมตี ฮั่นต๋งหลงกลอุบาย พ่ายแพ้การต่อสู้ และพยายามหลบหนีไปทางเหนือ ในขณะที่คนของเขาจำนวน 10,000 นายล้วนถูกสังหารโดยกองทัพจักรวรรดิ ด้วยความสิ้นหวัง ฮั่นต๋ง จึงยอมสวามิภักดิ์ต่อจูฮี แต่ฉิน เจี๋ย ที่รู้สึกเกลียดชังได้เข้าไปสังหารเขาเสีย เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 185 จูฮีได้เอาชนะกองกำลังกบฏอีกกลุ่มหนึ่งที่นำโดยซุน เซี่ย (孫夏),ที่ได้หลบหนีไปยังอำเภอซีเอ้อ (西鄂縣; ทางตอนเหนือของนครระดับเมืองลำหยง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) จูฮีได้ติดตามไล่ล่าเขาไปที่นั้น เอาชนะเขาได้ และทำให้กบฏที่เหลือต่างพากันหนีแตกกระเจิง มณฑลชีจิ๋วและยังจิ๋วในมณฑลชีจิ๋ว ผู้ตรวจการมณฑล โตเกี๋ยม พร้อมกับความช่วยเหลือของจงป้าและคนอื่น ๆ สามารถเอาชนะพวกกบฏและฟื้นฟูความสงบสุขในภูมิภาค[17][18] ซุนเจียนซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในอำเภอเซี่ยพีหรือแห้ฝือ (下邳縣; ทางตอนใต้ของปี่โจว, มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน) ในมณฑลซีจิ๋ว เข้าร่วมกับกองทัพของจูฮีในฐานะเป็นแม่ทัพนายกอง เขาได้นำทัพที่มาพร้อมกับชายหนุ่มหลายคนจากเมืองเซี่ยปี่และทหารคนอื่น ๆ ที่เขารับสมัครมาจากภูมิภาคแม่น้ำห้วย[19] ในมณฑลหยางจิ๋ว พวกกบฏได้เข้าโจมตีอำเภอฉู่ (舒縣; ตอนกลางของมณฑลอานฮุยในปัจจุบัน), อำเภอหนึ่งในเมืองลู่เจียง (廬江郡; บริเวณรอบลู่อัน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) และจุดไฟเผาอาคารต่าง ๆ หยาง ซฺวี่ (羊續) ผู้ว่าราชการเมืองลู่เจียง ได้รวบรวมชายฉกรรจ์ตั้งแต่อายุ 19 ปีขึ้นไปจำนวนหลายพันคนเพื่อช่วยเหลือเขาในการต่อสู้รบกับกลุ่มกบฏและดับเพลิง[20] เขาประสบความสำเร็จ ฟื้นฟูความสงบและความมั่นคงในภูมิภาค จุดจบของการก่อกบฏในช่วงต้นปี ค.ศ. 185 การก่อกบฏได้ถูกปราบปรามภายหลังจากจูฮีได้เข้ายึดครองอ้วนเซีย ในเมืองลำหยงกลับคืนมา และชัยชนะของฮองฮูสงต่อพี่น้องสกุลเตียวในมณฑลกิจิ๋ว กลุ่มกบฏแทบไม่เหลือผู้รอดชีวิตในสงคราง แม้สงครามจบลงกองทัพทางการไล่ติดตามในการดำเนินกวาดล้างต่าง ๆ เผื่อมีกบฏโพกผ้าเหลืองหลงเหลืออยู่ และในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 185 พระเจ้าเลนเต้ได้ทรงประกาศเฉลิมฉลองโดยเปลี่ยนชื่อยุคสมัยของพระองค์จากกวางเหอ (光和) มาเป็น จงผิง (中平; "การบรรลุความสุขสงบ")[8] ความเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองที่ฟื้นคืนกลับมาในช่วงหลังต้นปี ค.ศ. 185แม้ว่ากบฏโพกผ้าเหลืองจะจบสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 185 แต่การก่อกบฏขนาดเล็ก ๆ ของกลุ่มกบฏโพกผ้าเหลืองที่ยังหลงเหลือยังคงปะทุขึ้นทั่วแผ่นดินจีนตลอดหลายทศวรรษต่อมา แม้แต่ในเมืองซึ่งก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ โจรคลื่นขาวระหว่างวันที่ 16 มีนาคม และ 13 เมษายน ค.ศ. 188 กัว ไท่ (郭太) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่ จำนวน 100,000 นาย เพื่อเริ่มก่อกบฎในเมืองซีเหอ (บริเวณรอบเฟินหยาง, ชานซีในปัจจุบัน) เนื่องจากพวกเขามีต้นกำเนิดมาจากหุบเขาไป่โป (白波谷; "หุบเขาคลื่นขาว") ในเมืองซีเหอ ต่อมาพวกเขากลายเป็นที่รู้จักกันคือ "โจรคลื่นขาว"(白波賊) พวกเขาได้ร่วมมือกับยฺหวีฝูหลัว ผู้นำชนเผ่าซยฺงหนู และเข้าโจมตีเมืองไท่หยวน (บริเวณรอบไท่หยวน, มณฑลชานซีในปัจจุบัน) และเมืองเหอตง (บริเวณรอบยฺวิ่นเฉิง มณฑลชานซีในปัจจุบัน)[21][22] ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม และ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 189 เมื่อพวกโจรเข้าโจมตีเมืองเหอตง ขุนศึกนามว่า ตั๋งโต๊ะ ได้พยายามที่จะส่งหนิวฝู่ (งิวฮู) ผู้เป็นลูกเขยของตนไปนำกองกำลังทหารเข้าโจมตีแต่ล้มเหลว[23][24] ราวกลางปี ค.ศ. 195 พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงหลบหนีออกจากนครฉางอัน เมืองหลวงของจักรวรรดิที่ซึ่งพระองค์ทรงถูกจับเป็นตัวประกันโดยลูกน้องสมุนของตั๋งโต๊ะอย่างลิฉุยและกุยกี นับตั้งแต่ตั๋งโต๊ะถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 192 พระองค์ทรงกลับมายังซากเมืองลกเอี๋ยงที่เป็นเมืองหลวงเก่า ซึ่งตั๋งโต๊ะทำการเผาใน ค.ศ. 191 ในขณะที่ย้ายถิ่นฐานไปยังฉางอานโดยบังคับ ต่ง ฉง (ตังสิน อดีตลูกน้องของงิวฮู) และหยาง เฟิ่ง (เอียวฮอง อดีตโจรคลื่นขาว)[25] เข้าปกป้องพระเจ้าเหี้ยนเต้ในลกเอี๋ยง เมื่อลิฉุยและกุยกีพยายามที่จะไล่ติดตามและนำฮ่องเต้กลับไปที่ฉางอัน ตังสินและเอียวฮองได้เรียกกลุ่มโจรคลื่นขาวซึ่งนำโดย ลิงัก (李樂 หลี่ เล่อ), หันเซียม, โฮจ๋าย (胡才 หู ไฉ) และคนอื่น ๆ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือพระเจ้าเหี้ยนเต้ กองกำลังของชนเผ่าซฺยงหนูที่นำโดยชวี่เปย์ (去卑) ก็ตอบรับคำเรียกเช่นกันแล้วยกมาช่วยเหลือพระเจ้าเหี้ยนเต้ ต่อต้านกองกำลังของลิฉุยและกุยกี[26] ระหว่างปี ค.ศ. 195 ขุนศึก โจโฉ ได้นำกองกำลังของตนเข้าสู่ลกเอี๋ยงและและคุ้มกันพระเจ้าเหี้ยนเต้พาไปยังฐานที่มั่นของตนในเมืองสฺวี่ตู (許; สฺวี่ชาง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) และสถาปเมืองหลวงจักรวรรดิแห่งใหม่ที่นั่น เอ๊กจิ๋ว: หม่า เซียง และเจ้า จือใน ค.ศ. 188 หม่า เซียง (馬相) และเจ้า จือ (趙祗) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่เพื่อเริ่มก่อกบฎในเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมมณฑลเสฉวนและฉงชิ่งในปัจจุบัน) พวกเขาสังหารหลี่ เชิง (李升; นายอำเภอแห่งเมืองเมียนจู 緜竹縣), เจ้า ปู้ (趙部; ผู้ว่าราชการเมืองปา 巴郡) และซี เจี่ยน (郗儉; ผู้ตรวจการมณฑลเอ็กจิ๋ว) หม่า เซียงได้ประกาศตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้ ก่อนที่กลุ่มกบฎเหล่านี้จะถูกปราบปรามโดยกองกำลังท้องถิ่นที่นำโดยเจี่ย หลง (賈龍) อดีตลูกน้องของซี เจี่ยน[27][28] เฉงจิ๋ว: จาง เหรา, กวนไฮ, สฺวี เหอ และซือหม่า จฺวี้ราวปี ค.ศ. 189 จาง เหรา (張饒) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่จำนวน 200,000 นายเพื่อเข้าทำลายล้างชิงจิ๋ว เขาได้เอาชนะกองกำลังจักรวรรดิภายใต้การนำของข่งหรง (ขงหยง) เสนาบดีแห่งรัฐเป๋ยไห่ซึ่งราชสำนักฮั่นได้แต่งตั้ง (บริเวณรอบเหวย์ฟาง, ซานตงในปัจจุบัน) ในชิงจิ๋ว[29] ต่อมาขงหยงได้ถูกปิดล้อมในอำเภอตู้ชาง (都昌縣; บริเวณรอบ Changyi, ซานตง) โดยโจกโพกผ้าเหลืองหลายพันคนที่นำโดยก่วนไฮ่ (管亥) ไทสูจู้ แม่ทัพขุนพลภายใต้สังกัดขงหยงสามารถตีฝ่าวงล้อมและขอความช่วยเหลือจากเล่าปี่ ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีแห่งรัฐผิงหยวนที่อยู่ใกล้เคียง เล่าปี่ได้นำกองกำลังทหารจำนวน 3,000 นาย เข้าโจมตีกวนไฮและช่วยเหลือขงหยงได้สำเร็จ[30] ใน ค.ศ. 200 สฺวี เหอ (徐和) และซือหม่า จฺวี้ (司馬俱) ได้นำกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่จากเมืองจี่หนาน (บริเวณรอบ Zhangqiu, ซานตงในปัจจุบัน) และเมืองเล่ออัน (บริเวณรอบจือปั๋ว, ซานตงในปัจจุบัน) เพื่อเข้าทำลายล้างชิงจิ๋วอีกครั้ง พวกเขากลับพ่ายแพ้และถูกสังหารโดยแฮหัวเอี๋ยน จงป้า และลิยอย ในระหว่างปี ค.ศ. 206 ถึง 209[f][31][32] กุนจิ๋ว:กองทัพเฉงจิ๋วของโจโฉราวเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 192 กองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่จำนวนแสนนายจากมณฑลชิงจิ๋วได้บุกเข้าไปในมณฑลหยานและสังหารเจิ่ง ซุ่ย (鄭遂) เสนาบดีแห่งรัฐเหริ่นเชิง (任城國; บริเวณรอบโจวเฉิง, มณฑลชานตงในปัจจุบัน) ก่อนที่จะย้ายไปยังเมืองตงผิง (東平郡; บริเวณรอบอำเภอตงผิง, มณฑลชานตงในปัจจุบัน) เล่าต้าย ผู้ตรวจการแห่งมณฑลกุนจิ๋ว ต้องการที่จะนำกองกำลังเข้าโจมตีพวกกบฏแต่แม่ทัพขุนพลนามว่า เปาสิ้น ได้ให้คำแนะนำเขาว่าให้ตั้งรับ เล่าต้ายได้เมินเฉยต่อคำแนะนำและเสียชีวิตในการโจมตีพวกกบฏ เปาสิ้นและขุนพลอีกคนนามว่า ว่านเฉียน (萬潛) ได้ไปยังเมืองตง (東郡; บริเวณรอบผู่หยาง, มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) เพื่อเชิญโจโฉเป็นผู้ว่าราชการแห่งมณฑลกุนจิ๋วคนใหม่ จากนั้นเปาสิ้นได้นำกองกำลังฝ่ายรัฐบาลเข้าโจมตีพวกกบฎทางตะวันออกของอำเภอโชวจาง (壽張縣; ทางตอนใต้ของอำเภอตงผิง มณฑลชานตงในปัจจุบัน) แต่เสียชีวิตในการรบ[33] ต่อมาแม้จะมีกองกำลังที่น้อยกว่า แต่โจโฉก็สามารถเอาชนะพวกกบฏในรัฐจี้เป่ยได้ กลุ่มกบฎจำนวนกว่า 300,000 นายได้เข้ามายอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉพร้อมกับครอบครัว โจโฉได้คัดเลือกนักรบที่เก่งที่สุดและจัดตั้งหน่วยทหารชั้นเยี่ยมที่มีชื่อว่า กองทัพชิงโจว (青州兵; ยังแปลว่า "กองพลน้อยชิงโจว")[34][35] เมืองยีหลำและเองฉวน: โฮงี, เล่าเพ็ก, ก๋งเต๋า และคนอื่น ๆในเมืองยีหลำและเองฉวน กองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออยู่ยังคงประจำการภายใต้การนำของโฮงี (何儀), เล่าเพ็ก (劉辟), อุยเซียว (黃邵), และโฮปัน (何曼) ในตอนแรก พวกเขาเป็นพันธมิตรกับขุนศึก อ้วนสุดและซุนเกี๋ยน แต่กลายเป็นกองกำลังอิสระใน ค.ศ. 190 ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม และ 15 เมษายน ค.ศ. 196 ขุนศึก โจโฉ ได้นำกองกำลังเข้าโจมตีพวกเขาและสังหารเล่าเพ็ก อุยเซียว และโฮปัน โฮงีนำกองกำลังที่เหลือเข้ามายอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ[36] กองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งในยีหลำที่นำโดย Wu Ba (吳霸) และก๋งเต๋า (龔都) Wu Ba พ่ายแพ้และถูกจับกุมโดยแม่ทัพขุนพลนามว่า ลิถอง ก๋งเต๋าได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อโจโฉ เมื่อเขาได้ร่วมมือกับเล่าปี่ คู่ปรับของโจโฉ และยึดการควบคุมเมืองหรู่หนานใน ค.ศ. 201 ตอนแรก โจโฉได้ส่ง Cai Yang (蔡揚) ไปกำจัดพวกเขา แต่ Cai Yang กลับถูกสังหาร เขาจึงนำกองกำลังด้วยตนเองเข้าโจมตีและเอาชนะพวกเขาได้ เล่าปี่ต้องหลบหนีไปยังทางใต้เพื่อเข้าร่วมกับเล่าเปียว ในขณะที่ก๋งเต๋าและพวกกบฎที่เหลือต่างแยกย้ายกระจายกันไป[37] มณฑลยังจิ๋วและเกาจิ๋วกองกำลังโจรโพกผ้าเหลืองที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งในเมืองห้อยเข (บริเวณรอบเช่าซิง, มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) จนกระทั่งเล่าจ้านได้สังหารผู้นำนามว่า อู๋หฺวาน (吳桓)[38] ใน ค.ศ. 200 เฉิน ไป้ (陳敗) และว่าน ปิ่ง (萬秉) ได้เริ่มก่อการกบฎในเมืองจิ่วเจิ้น (九真郡; เมืองทัญฮว้า ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ใน ค.ศ. 202 พวกเขาได้พ่ายแพ้และถูกจับกุมโดย จูตี ผู้ว่าราชการของเมือง[39] ผลพวงและผลกระทบกองทัพฮั่นได้รับชัยชนะ แม้ว่าสถานที่ทางราชการที่สำคัญได้ถูกทำลายไป การเสียชีวิตของข้าราชการระดับสูง และดินแดนของราชวงศ์ได้ถูกแตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ พวกกบฏเสียชีวิตเป็นจำนวนหลายแสนคน ในขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามได้ถูกทำให้กลายเป็นคนไร้บ้านหรือสิ้นเนื้อประดาตัวจากสงคราม ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอลงอย่างมากจนไม่สามารถปกครองได้อย่างเต็มที่ อำนาจได้ถูกกระจัดกระจายไปยังแม่ทัพขุนศึกและผู้นำท้องถิ่นจนกระทั่งล่มสลายอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 220 ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคตใน ค.ศ. 189 การแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างโฮจิ๋น ผู้เป็นพระเทวันและพวกขันทีซึ่งจบลงด้วยโฮจิ๋นถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 189 อ้วนเสี้ยวขุนศึกผู้ใต้บังคับบัญชาของโฮจิ๋นได้ทำการจุดไฟเผาพระราชวังและบุกเข้าไปเข่นฆ่าพวกขันที ขุนศึกตั๋งโต๊ะได้เข้าเมืองหลวง ปลดพระเจ้าฮั่นเช่าตี้ออกจากราชบังลังก์ แต่งตั้งหองจูเหียบซึ่งยังทรงพระเยาว์เป็นฮ่องเต้องค์ใหม่ พระนามว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ และตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำให้มีอำนาจบาตรใหญ่คอยข่มเหงราษฏรอย่างโหดเหี้ยม จนกระทั่งถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 192 ต่อมาแม่ทัพขุนศึกและผู้นำท้องถิ่นต่างตั้งตนเป็นใหญ่และทำสงครามกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ จนกระทั่งเหลือขุนศึกสามคน ได้แก่ เล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน โจโฉได้ควบคุมพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นหุ่นเชิดคอยชักใยอำนาจอยู่เบื้องหลัง จนถูกเล่าปี่และซุนกวนต่อต้านทำให้ต้องส่งกองทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จ เมื่อโจโฉถึงแก่อสัญกรรม โจผี ทายาทของโจโฉได้บีบบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชบังลังก์และมอบให้แก่ตน โจผีได้แต่งตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้องค์ใหม่และก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ เล่าปี่ไม่ยอมรับและแต่งตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้เพื่อกอบกู้ราชวงศ์ฮั่น และซุนกวนก็แต่งตั้งตนเองเป็นฮ่องเต้ตามพวกเขาเช่นกัน จนนำไปสู่ยุคสามก๊กในที่สุด หมายเหตุ
อ้างอิง
|