Share to:

 

ยุทธการที่ฮันต๋ง

ยุทธการที่ฮันต๋ง
ส่วนหนึ่งของ สงครามในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น
A drawing of a man with a long beard wearing a traditional hat. The image is in black and yellow. On the top are Chinese symbols.
ภาพวาดโจโฉจากซานไฉถูฮุ่ย
วันที่ธันวาคม ค.ศ. 217[1] - สิงหาคม ค.ศ. 219[1]
สถานที่
ผล เล่าปี่ชนะ เล่าปี่เข้ายึดเมืองฮันต๋ง
คู่สงคราม
เล่าปี่ โจโฉ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
เล่าปี่   แฮหัวเอี๋ยนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 219
โจโฉตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 219
ยุทธการที่ฮันต๋ง
อักษรจีนตัวเต็ม漢中之戰
อักษรจีนตัวย่อ汉中之战

ยุทธการที่ฮันต๋ง (จีน: 漢中之戰) เป็นการรบที่เริ่มโดยขุนศึกเล่าปี่เพื่อยึดครองเมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) จากโจโฉที่เป็นคู่อริ การรบเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 217 ถึง 219 ในช่วงก่อนเข้าสู่ยุคสามก๊ก แม้ว่าทัพของโจโฉได้ตั้งมั่นในเมืองฮันต๋งเมื่อสองปีก่อนหลังยุทธการที่เองเปงก๋วน แต่ทัพโจโฉก็อ่อนกำลังลงด้วยกลยุทธ์ฟาเบียนที่ใช้โดยทัพของเล่าปี่ ซึ่งใช้การโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายเพื่อยึดจุดยุทธศาสตร์จากข้าศึก การโจมตีครั้งหนึ่งทำให้แฮหัวเอี๋ยนขุนพลระดับสูงคนหนึ่งของโจโฉเสียชีวิต และได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อขวัญกำลังใจของทัพโจโฉ ในที่สุดโจโฉก็จำต้องทิ้งเมืองฮันต๋งเนื่องจากปัญหาด้านการขนส่งเสบียงและปัญหาอื่น ๆ และสั่งให้ล่าถอยในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 219[1] เล่าปี่ได้รับชัยชนะในการรบและยึดครองเมืองฮันต๋งได้ จากนั้นจึงประกาศตั้งตัวเป็นอ๋องแห่งฮันต๋งในเดือนสิงหาคมของปีนั้น[1]

การรบครั้งนี้ถือเป็นการศึกครั้งสุดท้ายที่โจโฉเข้าร่วมก่อนที่โจโฉจะเสียชีวิตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 220

ภูมิหลัง

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 215[2] โจโฉโจมตีขุนศึกเตียวฬ่อในเมืองฮันต๋ง เอาชนะเตียวฬ่อได้ในยุทธการที่เองเปงก๋วน ต่อมาในเดือนธันวาคม[2] เตียวฬ่อยอมจำนนและโจโฉยึดฮันต๋งได้[3] หลังจากนั้น โจโฉจึงแต่งตั้งให้ผู่ หู (朴胡), ตู้ ฮั่ว (杜濩) และยฺเหวียน เยฺว (袁約) เป็นเจ้าเมืองปาสามเมือง แต่ทั้งสามถูกอุยก๋วนโจมตีแตกพ่าย จากนั้นอุยก๋วนจึงเข้ายึดเมืองปาตง (巴東), ปาเส (巴西 ปาซี) และปากุ๋น (巴郡 ปาจฺวิ้น)[4][5][6]

ทางด้านของเล่าปี่นั้น เล่าปี่เพิ่งเข้ายึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) จากเล่าเจี้ยงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 214[7] และเข้าพัวพันในกรณีพิพาทกับซุนกวนที่เป็นพันธมิตรในเรื่องมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 215[2] เล่าปี่รู้สึกถูกคุกคามเมื่อได้รับข่าวเมืองฮันต๋งตกเป็นของโจโฉ เพราะฮันต๋งเป็น "ปากทาง" ด้านเหนือของมณฑลเอ๊กจิ๋ว และเวลานี้เล่าปี่เสี่ยงต่อการเสียมณฑลเอ๊กจิ๋วให้โจโฉ ดังนั้นเล่าปี่จึงทำข้อตกลงเรื่องชายแดนกับซุนกวนซึ่งยึดได้เมืองเตียงสา (長沙 ฉางชา), ฮุยเอี๋ยง (桂陽 กุ้ยหยาง) และเลงเหลง (零陵 หลิงหลิง) ในมณฑลเกงจิ๋วตอนใต้จากเล่าปี่ เล่าปี่ขอเมืองเลงเหลงคืน แลกกับการที่ซุนกวนได้เมืองเตียงสา, กังแฮ (江夏 เจียงเซี่ย) และฮุยเอี๋ยง[8]

ความแตกต่างทางยุทธวิธี

การทัพ

การปะทะช่วงแรก

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 217[1] ทัพเล่าปี่รุดหน้าไปยังด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน) ในช่วงเวลาเดียวกัน เล่าปี่ก็ส่งเตียวหุย, ม้าเฉียว, งอหลัน (吳蘭 อู๋หลาน), ลุยต๋อง (雷銅 เหลย์ ถง) และงิมเอ๋ง (任夔 เริ่น ขุย) ไปโจมตีเมืองปูเต๋า (武都郡 อู่ตูจฺวิ้น) และให้รักษาการณ์ที่อำเภอแฮเปียน (下辨縣 เซี่ยเปี้ยนเซี่ยน) ในช่วงเวลานั้น เหลย์ติ้ง (雷定) แห่งกลุ่มชาติพันธุ์ตีนำชนเผ่า 7 เผ่ามาเข้าร่วมกับเล่าปี่ ทางฝ่ายโจโฉนั้น แฮหัวเอี๋ยนป้องกันด่านเองเปงก๋วน เตียวคับและซิหลงรักษากว่างฉือ (廣石) และหม่าหมิงเก๋อ (馬鳴閣) ตามลำดับ ส่วนโจหองและโจฮิวนำทัพแยกไปต้านเตียวหุย

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 218[1] ทัพของเตียวหุยและม้าเฉียวตั้งมั่นอยู่ที่กู้ชาน (固山) โดยแพร่ข่าวไปว่าพวกตนจะยกไปสกัดเส้นทางถอยของข้าศึก โจหองต้องการโจมตีงอหลันที่อำเภอแฮเปียน แต่นายทหารคนอื่น ๆ ระแวงความเคลื่อนไหวของเตียวหุย โจฮิวเห็นว่าถ้าเตียวหุยวางแผนจะสกัดเส้นทางถอยของพวกตนจริงก็ควรเก็บแผนไว้เป็นความลับ เวลานี้เตียวหุยเผยเจตนาอย่างโจ่งแจ้ง พวกตนก็ควรจะใช้โอกาสนี้แสร้งล่าถอยแล้วจึงเข้าโจมตีซึ่งหน้า โจหองเห็นด้วยกับยุทธวิธีของโจฮิวและเข้าโจมตี ลุยต๋องและงิมเอ๋งถูกสังหารในที่รบ ส่วนงอหลันหนีไปเข้าร่วมกับเผ่าตี ภายหลังลุยต๋องถูกเฉียงตฺวาน (强端) หัวหน้าชนเผ่าตีสังหาร หลังจากเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาถูกตีแตกพ่าย เตียวหุยและม้าเฉียวจึงล่าถอยไป[9]

สถานการณ์พลิกผัน

ช่วงสุดท้าย

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 219[1] โจโฉนำทัพจากเตียงอั๋นไปฮันต๋งผ่านหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) ด้วยตนเอง เล่าปี่ไม่กังวลโดยเห็นว่า "แม้ว่าโจโฉมาก็ทำอะไรไม่ได้ ข้าจะยึดแม่น้ำฮั่นซุยได้เป็นแน่" เล่าปี่จึงรวบรวมกำลังพลและตั้งรับอย่างมั่นคง โดยไม่เข้าปะทะกับทัพของโจโฉในการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ เล่าปี่มุ่งเน้นไปที่การทำศึกยืดเยื้อตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนที่อยู่ในภาวะคุมเชิงกัน ทหารของโจโฉก็ล้มตายหรือหนีทัพมากขึ้นเรื่อย ๆ[10]

ต่อมาเมื่อทัพโจโฉขนส่งเสบียงผ่านเขาปักสัน (北山 เป่ย์ชาน) ฮองตงนำทัพไปปล้นเสบียงของข้าศึก แต่ยังไม่กลับไปให้ทันเวลา เตียวจูล่งจึงนำทหารม้าสิบนายออกจากค่ายเพื่อตามหาฮองตงและเผชิญหน้ากับทัพของโจโฉ เตียวจูล่งและทหารถูกล้อมแต่เตียวจูล่งตีฝ่าออกไปแล้วถอนกลับไปค่ายโดยมีข้าศึกยกไล่ตามมา เมื่อมาถึงค่าย เตียวจูล่งสั่งให้เปิดประตู ลดธงลง และหยุดตีกลองรบ ทหารของโจโฉกลัวว่าจะมีการวางกำลังดักซุ่มภายในค่ายจึงหันหลังกลับ ทันใดนั้นเตียวจูล่งก็สั่งให้ทหารตีกลองเสียงดังและให้ทหารมือเกาทัณฑ์ยิงเกาทัณฑ์ใส่ข้าศึก ทหารของโจโฉสับสนอลหม่านและเหยียบย่ำกันเองขณะพยายามหลบหนี ในขณะที่หลายคนจมน้ำตายขณะพยายามหนีข้ามแม่น้ำฮั่นซุย[11]

ขณะที่ทัพของโจโฉเผชิญหน้ากับทัพเล่าปี่ด้วยภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาหลายเดือนและประสบปัญหาด้านการขนส่งเสบียงอย่างมาก ในที่สุดโจโฉก็ออกคำสั่ง "ซี่โครงไก่" (雞肋 จีเล่ย์) ไม่มีผู้ใดเข้าใจว่าโจโฉหมายถึงอะไรเมื่อพูดถึง "ซี่โครงไก่" ยกเว้นนายทะเบียนเอียวสิ้ว เอียวสิ้วอธิบายว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ต้องทิ้งซี่โครงไก่ไปแม้ว่ามีเนื้อเหลือติดอยู่ไม่มากนัก นี่เป็นการอุปมาถึงสถานการณ์ที่โจโฉเผชิญอยู่ โจโฉรู้ว่าตนมีโอกาสเอาชนะเล่าปี่ได้น้อยมาก แต่ก็รู้สึกเสียดายที่ต้องทิ้งเมืองฮันต๋ง โจโฉไม่พอใจกับคำอธิบายของเอียวสิ้ว ภายหลังจึงสั่งให้ประหารชีวิตเอียวสิ้ว ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 219[1] โจโฉล่าถอยกลับไปที่เตียงอั๋นและทิ้งเมืองฮันต๋งให้กับเล่าปี่[12]

ผลสืบเนื่อง

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 219 หนึ่งเดือนหลังยึดฮันต๋ง เล่าปี่ส่งเบ้งตัดไปโจมตีเมืองห้องเหลง (房陵郡 ฝางหลิงจฺวิ้น) ผ่านอำเภอจีกุ๋ย (秭歸縣 จื่อกุยเซี่ยน) เบ้งตัดเอาชนะและสังหารไขว่ ฉี (蒯祺) เจ้าเมืองห้องเหลงและเข้ายึดเมืองห้องเหลง ภายหลังเล่าปี่ส่งเล่าฮองบุตรบุญธรรมไปโจมตีเมืองเซียงหยง (上庸郡 ช่างยงจฺวิ้น) ผ่านแม่น้ำไกซุย (沔水 เหมียนฉุ่ย) เจ้าเมืองเซียงหยงยอมจำนนต่อเล่าฮอง ประมาณเดือนสิงหาคม ค.ศ. 219 เล่าปี่ประกาศตนเป็น "อ๋องแห่งฮันต๋ง" (漢中王 ฮั่นจงหวาง)[13]

อีกด้านหนึ่ง หลังโจโฉล่าถอย โจโฉกังวลว่าเล่าปี่อาจโจมตีเมืองปูเต๋า จึงสั่งเตียวกี๋ ข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) มณฑลยงจิ๋ว (雍州 ยงโจว) ให้ย้ายชาวตี๋ 50,000 คนจากเมืองปูเต๋าไปยังเมืองฝูเฟิง (扶風) และเทียนซุย (天水 เทียนฉุ่ย)[14]

ในที่สุดข่าวชัยชนะของเล่าปี่ที่เมืองฮันต๋งก็ไปถึงกวนอูผู้ประจำการอยู่ที่มณฑลเกงจิ๋วตอนใต้ในเวลานั้น กวนอูใช้โอกาสจากความสำเร็จในยุทธการที่ฮันต๋งในการนำทัพของตนเข้าโจมตีฐานที่มั่นของโจโฉในมณฑลเกงจิ๋วตอนเหนือ นำไปสู่ยุทธการที่อ้วนเสียในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 219

บุคคลในยุทธการ

หมายเหตุ

  1. ไขว่ ฉีคนนี้เป็นหลานชายของเก๊งอวด (蒯越 ไขว่ เยว่) และเก๊งเหลียง (蒯良 ไขว่ เหลียง) และก่อนหน้านี้สมรสกับพี่สาวของจูกัดเหลียง[15]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Sima (1084), vol. 68.
  2. 2.0 2.1 2.2 Sima (1084), vol. 67.
  3. (會魯降,漢中平,) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  4. (然卒破杜濩、朴胡,) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
  5. (九月,巴七姓夷王朴胡、賨邑侯杜濩舉巴夷、賨民來附,於是分巴郡,以胡為巴東太守,濩為巴西太守,皆封列侯。天子命公承制封拜諸侯守相。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 1.
  6. (權破公所署三巴太守杜濩、朴胡、袁約等。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 6.
  7. Sima (1084), vol. 66.
  8. (二十年,孫權以先主已得益州,使使報欲得荊州。先主言:「須得涼州,當以荊州相與。」權忿之,乃遣呂蒙襲奪長沙、零陵、桂陽三郡。先主引兵五萬下公安,令關羽入益陽。是歲,曹公定漢中,張魯遁走巴西。先主聞之,與權連和,分荊州、江夏、長沙、桂陽東屬,南郡、零陵、武陵西屬,引軍還江州。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  9. (備遣張飛屯固山,欲斷軍後。衆議狐疑,休曰:「賊實斷道者,當伏兵潛行。今乃先張聲勢,此其不能也。宜及其未集,促擊蘭,蘭破則飛自走矣。」洪從之,進兵擊蘭,大破之,飛果走。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  10. (及曹公至,先主斂眾拒險,終不交鋒,積月不拔,亡者日多。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  11. (夏侯淵敗,曹公爭漢中地,運米北山下,數千萬囊。黃忠以為可取,雲兵隨忠取米。忠過期不還,雲將數十騎輕行出圍,迎視忠等。值曹公揚兵大出,雲為公前鋒所擊,方戰,其大衆至,勢逼,遂前突其陣,且鬬且却。公軍散,已復合,雲陷敵,還趣圍。將張著被創,雲復馳馬還營迎著。公軍追至圍,此時沔陽長張翼在雲圍內,翼欲閉門拒守,而雲入營,更大開門,偃旗息鼓。公軍疑雲有伏兵,引去。雲雷鼓震天,惟以戎弩於後射公軍,公軍驚駭,自相蹂踐,墮漢水中死者甚多。) อรรถาธิบายจากเจ้า-ยฺหวินเปี๋ยจฺว้านในสามก๊กจี่เล่มที่ 36.
  12. 《九州春秋》:時王欲還,出令曰‘雞肋’,官屬不知所謂。主簿楊修便自嚴裝,人驚問修:‘何以知之?’修曰:‘夫雞肋,棄之如可惜,食之無所得,以比漢中,知王欲還也。
  13. (建安二十四年,命達從秭歸北攻房陵,房陵太守蒯祺為達兵所害。達將進攻上庸,先主陰恐達難獨任,乃遣封自漢中乘沔水下統達軍,與達會上庸。上庸太守申耽舉衆降,) สามก๊กจี่ เล่มที่ 40.
  14. (太祖將拔漢中守,恐劉備北取武都氐以逼關中,問既。既曰:「可勸使北出就穀以避賊,前至者厚其寵賞,則先者知利,後必慕之。」太祖從其策,乃自到漢中引出諸軍,令既之武都,徙氐五萬餘落出居扶風、天水界。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
  15. (钦从祖祺妇, 即诸葛孔明之大姊也。) เซียงหยางจี้

บรรณานุกรม

  • ตันซิ่ว. สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
  • ฉาง ฉฺวี (คริสต์ศตวรรษที่ 4). หฺวาหยางกั๋วจื้อ.
  • ฝาง เสฺวียนหลิง. จิ้นชู.
  • เผย์ ซงจือ. อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • Sima, Guang (1084), จือจื้อทงเจี้ยน.
Kembali kehalaman sebelumnya