สิบเสียงสี
สิบเสียงสี[1] ในภาษาจีนกลางเรียกว่า ฉือฉางชื่อ (จีน: 十常侍; พินอิน: Shí Chángshì) หรือที่รู้จักในคำเรียกว่า สิบขันที เป็นกลุ่มของขุนนางขันทีที่มีอิทธิพลในราชสำนักของพระเจ้าเลนเต้ (ครองราชย์ ค.ศ. 168 - ค.ศ. 189) จักรพรรดิจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก แม้ว่าจะถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มของคน 10 คน แต่จริง ๆ แล้วกลุ่มสิบเสียงสีประกอบด้วยขันทีจำนวน 12 คน และทุกคนดำรงตำแหน่งจงฉางชื่อ (中常侍; "ขุนนางผู้ถวายงานส่วนกลาง") ในราชสำนักของพระเจ้าเลนเต้ ขันทีทั้ง 12 คนได้แก่ เตียวเหยียง (張讓 จาง ร่าง), เตียวต๋ง (趙忠 เจ้า จง), เห้หุย (夏惲 เซี่ย ยฺหวิน), กุยเสง (郭勝 กัว เซิ่ง), ซุน จาง (孫璋), ปี้ หลัน (畢嵐), ลี่ ซง (栗嵩), ต๋วนกุย (段珪 ตฺว้าน กุย), เกา ว่าง (高望), จาง กง (張恭), หาน คุย (韓悝) และซ่ง เตี่ยน (宋典)[2] ช่วงเริ่มต้นขันทีสองคนคือ เตียวเหยียง (張讓 จาง ร่าง) และ เตียวต๋ง (趙忠 เจ้า จง) เริ่มรับราชการเป็นขันทีในราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นโดยดำรงตำแหน่งจี่ชื่อเฉิงจง (給事省中) เตียวเหยียงมาจากเมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ส่วนเตียวต๋งมาจากเมืองอันเป๋ง (安平郡 อันผิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณเมืองจี้โจว มณฑลเหอเป่ย์)[2] ทั้งสองได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเสี่ยวหฺวังเหมิน (小黃門) ในรัชสมัยของพระเจ้าหวนเต้ (ฮั่นหฺวันตี้ ครองราชย์ ค.ศ. 146 - ค.ศ. 168) ในปี ค.ศ. 159 เตียวต๋งได้เข้าร่วมรัฐประหารโค่นล้มอำนาจของเหลียง จี้ซึ่งเป็นขุนพลทรงอิทธิพลที่ผูกขาดอำนาจรัฐได้ผลเป็นสำเร็จ พระเจ้าหวนเต้จึงมอบบรรดาศักดิ์ให้เตียวต๋งเป็นโตฺวเซียงโหฺว (都鄉侯) ในปี ค.ศ. 165 เตียวต๋งได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหฺว) ได้รับเบี้ยหวัดเงินปีประจำปีเป็นข้าว 1,000 หู [3] ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ (ครองราชย์ ค.ศ. 168–189) เตียวต๋งและเตียวเหยียงขึ้นมามีตำแหน่งเป็นจงฉางชื่อ (中常侍) และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นโหฺว (พระยา) ขันทีทั้งสองยังเป็นมิตรกับอีกสองขันทีผู้ทรงอิทธิพลได้แก่ เทาเจียด (曹節 เฉา เจี๋ย; เสียชีวิต ค.ศ. 181) และหวัง ฝู่ (王甫; เสียชีวิต ค.ศ. 179) หลังจากเทาเจียดเสียชีวิต เตียวต๋งได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็กของฮองเฮา (大長秋 ต้าฉางชิว).[4] ในขณะนั้น เตียวเหยียงและเตียวต๋ง พร้อมด้วยขุนนางขันทีอีกสิบคนได้แก่ เห้หุย (夏惲 เซี่ย ยฺหวิน), กุยเสง (郭勝 กัว เซิ่ง), ซุน จาง (孫璋), ปี้ หลัน (畢嵐), ลี่ ซง (栗嵩), ต๋วนกุย (段珪 ตฺว้านกุย), เกา ว่าง (高望), จาง กง (張恭), หาน คุย (韓悝) และซ่ง เตี่ยน (宋典) ต่างก็ดำรงตำแหน่งจงฉางชื่อ (中常侍) และอีกทั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นโหฺว[5] ญาติสนิทมิตรสหายของขันทีเหล่านี้ซึ่งกระจายอยู่ในหลายเมืองของอาณาจักรฮั่นก็มีชื่อเสียงที่ไม่ดีจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง [6] กบฏโพกผ้าเหลืองเมื่อกบฏโพกผ้าเหลืองก่อการจลาจลในปี ค.ศ. 184 ขุนนางชื่อเตียวกิ๋น (張鈞 จาง จฺวิน) เขียนฎีกาถวายพระเจ้าเลนเต้กล่าวโทษสิบเสียงสีและญาติสนิทมิตรสหายในความผิดฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงอันเป็นเหตุทำให้ราษฎรไม่พอใจจนนำไปสู่การก่อกบฏ เตียวกิ๋นแนะนำพระเจ้าเลนเต้ให้ประหารสิบเสียงสีและประกาศความผิดของสิบเสียงสีให้ทั่วอาณาจักรฮั่นเพื่อระงับความไม่พอใจของราษฎร [7] เมื่อพระเจ้าเลนเต้นำฎีกาของเตียวกิ๋นให้เหล่าขันทีอ่าน ขันทีเหล่านั้นถอดหมวกและรองเท้าออก แล้วคุกเข่าอ้อนวอนพระเจ้าเลนเต้ให้กักขังพวกตน อีกทั้งยังแสดงความเต็มใจที่จะบริจาคทรัพย์สมบัติของตนไว้เป็นทุนให้ทหารในการปราบปรามกบฏ พระเจ้าเลนเต้มีรับสั่งให้เหล่าขันทีสวมหมวกและรองเท้าและให้ยังคงตำแหน่งดังเดิม จากนั้นพระองค์ทรงตำหนิเตียวกิ๋นว่า "เหลวไหล สิบเสียงสีจะไม่มีคนดีสักคนเชียวหรือ" [8] เตียวกิ๋นถวายฎีกาอีกฉบับที่มีเนื้อความคล้ายคลึงกับฉบับก่อนหน้า แต่ฎีกาฉบับนี้ไม่ถูกส่งไปถึงพระเจ้าเลนเต้ [9] จากนั้นพระเจ้าเลนเต้มีรับสั่งให้เสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) และราชเลขาธิการ (御史 อฺวี่ฉื่อ) ทำการสืบเรื่องเตียวก๊กและลัทธิไท่ผิง (太平道 ไท่ผิงเต้า) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มกบฏโพกผ้าเหลือง เตียวเหยียงและเหล่าขันทีได้ลอบสั่งขุนนางเหล่านั้นให้ใส่ร้ายเตียวกิ๋นฐานเข้ารีตกับลัทธิไท่ผิง เตียวกิ๋นถูกจับขังคุกและถูกทรมานจนกระทั่งตายในคุก [10] ที่จริงแล้วเป็นเหล่าขันทีเองที่ลอบติดต่อร่วมมือกับเตียวก๊ก หลังจากขันทีสองคนชื่อฮองสี (封諝 เฟิงซฺวี) และสฺวีเฟิ่ง (徐奉) ถูกจับได้และถูกประหาร พระเจ้าเลนเต้ผู้ทรงพิโรธได้ตรัสตำหนิเหล่าขันทีว่า "พวกเจ้าพูดอยู่บ่อยครั้งว่าเหล่าขุนนางทำแต่ความผิด บ้างก็ถูกกักขัง บ้างก็ถูกประหาร บัดนี้ก็มีขุนนางที่พิสูจน์ตนแล้วว่ามีคุณงามความดีต่อแผ่นดิน ในขณะที่พวกเจ้าสมคบคิดกับเตียวก๊ก ใครกันแน่ที่ข้าควรประหาร" เหล่าขันทีอ้อนวอนร้องขอชีวิตและโยนความผิดให้ขันทีหวังฝู่ (王甫) และเหาลำ (侯覽 โหฺวหล่าน) ว่าเป็นผู้กระทำการ พระเจ้าเลนเต้จึงปล่อยเหล่าขันทีให้พ้นผิด [11] การฉ้อราษฎร์บังหลวงเตียวเหยียงมีบ่าวรับใช้หลายคนช่วยดูแลจัดการภายในบ้าน บ่าวเหล่านี้สร้างเครือข่ายกับผู้มีอิทธิพลคนอื่นและรับสินบน มีคนผู้หนึ่งชื่อเมิ่ง ถัว (孟佗) จากเมืองฝูเฟิง (扶風郡 ฝูเฟิงจฺวิ้น) ได้นำทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตระกูลมาเป็นของกำนัลแก่บ่าวคนหนึ่งของเตียวเหยียง บ่าวของเตียวเหยียงเห็นเมิ่ง ถัวนำทรัพย์สมบัติมามอบให้ก็มีความยินดีแล้วถามเมิ่ง ถัวว่าต้องการสิ่งใดตอบแทน เมิ่ง ถัวตอบว่าต้องการพบกับเตียวเหยียง ในเวลานั้นมีผู้คนจำนวนมากที่กำลังแสวงหาหนทางเพื่อเข้าพบเตียวเหยียงซึ่งล้วนนำเกวียนที่เต็มไปด้วยของมาเป็นของกำนัลเข้าแถวเป็นแนวยาวนอกบ้านของเตียวเหยียง เมิ่ง ถัวมาถึงช้าจึงไม่อาจเข้าไปได้ แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อบ่าวของเตียวเหยียงที่เมิ่ง ถัวตีสนิทด้วยได้ออกมาต้อนรับเมิ่ง ถัวเยี่ยงแขกผู้ทรงเกียรติแล้วสั่งคนใช้ให้พาเมิ่ง ถัวเข้าไปในบ้านของเตียวเหยียง แขกผู้มาเยี่ยมคนอื่นเห็นดังนั้นก็เข้าใจว่าเมิ่ง ถัวเป็นสหายคนสนิทของเตียวเหยียง จึงนำของกำนัลจำนวนมากมามอบให้เมิ่ง ถัวเพื่อประจบสอพลอ เมื่อเมิ่ง ถัวพบกับเตียวเหยียงในภายหลังจึงได้นำของกำนัลส่วนหนึ่งที่ได้รับมามอบให้แก่เตียวเหยียง เตียวเหยียงมีความยินดีภายหลังจึงได้ช่วยให้เมิ่ง ถัวได้ขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการ (刺史 ชื่อฉื่อ) มณฑลเลียงจิ๋ว (涼州 เหลียงโจว) [12] ปี ค.ศ. 185 เกิดเหตุเพลิงไหม้ทางส่วนทิศใต้ของพระราชวัง สิบเสียงสีทูลแนะนำพระเจ้าเลนเต้ให้เก็บภาษีสิบเฉียน (錢; หน่วยน้ำหนัก) ต่อหนึ่งหมู่ (畝; หน่วยพื้นที่) ของทุกที่นาเพื่อรวบรวมเป็นทุนสำหรับก่อสร้างพระราชวังใหม่ พระเจ้าเลนเต้จึงมีพระราชโองการให้ขุนนางในเมืองไท่เหยฺวียน (太原) โฮตั๋ง (河東 เหอตง) และเต๊กโตเสีย (狄道 ตี๋เต้า) ให้ขนไม้และหินมีลวดลายเข้ามายังเมืองลกเอี๋ยง (ราชธานี) เพื่อเป็นวัสดุก่อสร้าง เมื่อวัสดุถูกจัดส่งมาถึงพระราชวัง เหล่าขันทีได้ต่อว่าคนงานที่ส่งวัสดุด้อยคุณภาพมาให้และยืนยันที่จะจ่ายด้วยราคาที่ต่ำเพียงหนึ่งในสิบของราคาตลาด จากนั้นจึงนำวัสดุเหล่านั้นมาขายให้กับขันทีคนอื่นซึ่งต่างก็ปฏิเสธที่จะซื้อ เวลาผ่านไปนานเข้า กองไม้ที่สะสมไว้ก็เริ่มผุพัง งานก่อสร้างจึงล่าช้าไปเป็นเวลาหลายปี ขุนนางท้องถิ่นบางคนจึงเรียกเก็บภาษีหนักขึ้นและบังคับราษฎรให้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อให้พระเจ้าเลนเต้ทรงโปรด ทำให้ราษฎรต่างไม่พอใจเป็นอันมาก[13] พระเจ้าเลนเต้มักตรัสว่า "ขันทีจาง (เตียวเหยียง) เป็นบิดาของเรา ขันทีเจ้า (เตียวต๋ง) เป็นมารดาของเรา"[14][5] ด้วยความที่เหล่าขันทีเป็นที่ไว้วางพระทัยและได้รับการยกย่องจากพระเจ้าเลนเต้เป็นอย่างสูง เหล่าขันทีจึงประพฤติผิดจากกฎหมายบ้านเมืองและใช้อำนาจในทางมิชอบ ถึงขนาดสร้างคฤหาสน์ส่วนตนอย่างฟุ่มเพือยโดยมีลักษณะเฉกเช่นพระราชวังหลวง ครั้งหนึ่งพระเจ้าเลนเต้เสด็จเยี่ยมหอสูงหย่งอันโหฺว (永安侯臺 หย่งอันโหฺวไถ) เหล่าขันทีต่างกังวลว่าพระองค์จะทอดพระเนตรเห็นคฤหาสน์ของพวกตนและรู้สึกผิดสังเกต จึงทูลพระเจ้าเลนเต้ว่า "พระองค์มิควรเสด็จขึ้นที่สูง หาไม่แล้วราษฎรจะแตกตื่น" พระเจ้าเลนเต้ทรงเชื่อและยกเลิกการเสด็จเยี่ยมหอสูงทั้งปวง [15] ปี ค.ศ. 186 พระเจ้าเลนเต้ทรงมอบหมายขันทีซ่งเตี่ยน (宋典) และปี้หลัน (畢嵐) ร่วมกับขุนนางคนอื่น ๆ ให้กำกับดูแลการก่อสร้างครั้งใหม่ อันได้แก่โถงพระโรงใหม่หนึ่งแห่ง รูปหล่อสำริดใหญ่สี่รูปหล่อ ระฆังสำริดใหญ่สี่ใบและรูปปั้นสัตว์พ่นน้ำได้ พระองค์ยังมีพระราชโองการให้สร้างเหรียญเงินและให้หมุนเวียนโดยกว้างขวาง หลายคนต่างเห็นว่านี่เป็นการแสดงถึงความสุรุ่ยสุร่ายของพระเจ้าเลนเต้และส่อเค้าว่าท้ายที่สุดแล้วเหรียญเงินเหล่านี้จะกระจัดกระจายไปทุกแห่งหน ซึ่งเกิดเป็นความจริงขึ้นมาเมื่อเกิดเหตุความวุ่นวายในเมืองลกเอี๋ยงหลังการสวรรคตของพระเจ้าเลนเต้ [16] พระเจ้าเลนเต้ทรงแต่งตั้งให้เตียวต๋งเป็น "ขุนพลรถรบ" (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) แต่หลังจากนั้นหนึ่งร้อยวันก็ทรงปลดเตียวต๋งจากตำแหน่ง [17] การล่มสลายของกลุ่มขันที
เมื่อพระเจ้าเลนเต้ทรงประชวรหนักในปี ค.ศ. 189 ได้ทรงฝากฝังหองจูเหียบ (劉協 หลิว เสีย) พระราชโอรสองค์รองซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุแปดพรรษาไว้กับขันทีคนสนิทชื่อเกียนสิด (蹇碩 เจี่ยน ชั่ว) เมื่อพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกียนสิดคิดการจะยกหองจูเหียบขึ้นสืบราชบัลลังก์แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ หองจูเปียน (劉辯 หลิว เปี้ยน) พระราชโอรสองค์โตในพระเจ้าเลนเต้พระชนมายุสิบสามพรรษาขึ้นครองราชย์แทนในพระนามว่าพระเจ้าเช่าตี้ (漢少帝 ฮั่นเช่าตี้) สมเด็จพระพันปีหลวงโฮเฮา (พระราชมารดาของพระเจ้าเช่าตี้) และผู้บัญชาการทหารสูงสุดโฮจิ๋น (พี่ชายของโฮเฮา) ได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์ [20][21] ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 189 หลังจากเกียนสิดได้ทราบว่าโฮจิ๋นและผู้ใต้บังคับบัญชาวางแผนจะกำจัดตน จึงพยายามชักชวนขันทีด้วยกันให้ร่วมแผนในการกำจัดโฮจิ๋น แต่ขันทีกุยเสง (郭勝 กัวเซิ่ง) ซึ่งเป็นคนสนิทของนางโฮเฮาได้หว่านล้อมให้ขันทีเหล่านั้นให้ปฏิเสธไม่ร่วมแผนกับเกียนสิด หลังจากนั้นโฮจิ๋นจับตัวเกียนสิดได้แล้วนำตัวไปประหารชีวิต แล้วโฮจิ๋นก็ได้เข้าควบคุมหน่วยทหารที่เคยอยู่ใต้บัญชาของเกียนสิด [22] ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 189 อ้วนเสี้ยวเสนอกับโฮจิ๋นให้กำจัดกลุ่มขันทีแล้วรวบอำนาจ นางโฮเฮาไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ ฝ่ายเหล่าขันทีได้ติดสินบนนางบูยงกุ๋น (舞陽君 อู่หยางจฺวิน) มารดาของนางโฮเฮา และโฮเบี้ยว (何苗 เหอเหมียว) น้องชายของนางโฮเฮาเพื่อให้ทั้งสองช่วยปกป้องพวกตน ทั้งนางบูยงกุ๋นและโฮเบี้ยวจึงต่อต้านแผนการของโฮจิ๋นเช่นกันโดยอ้างว่าพวกตนเป็นหนี้บุญคุณพวกขันทีเป็นอย่างมาก (เพราะที่นางโฮเฮาได้เป็นพระสนมในพระเจ้าเลนเต้ก็ด้วยการช่วยเหลือของเหล่าขันที)[23] หลังจากนั้น โฮจิ๋นรับฟังอีกคำแนะนำของอ้วนเสี้ยวที่ให้โฮจิ๋นลอบเรียกขุนศึกหรือขุนนางฝ่ายทหารจากหัวเมืองต่างๆ (ได้แก่ ตั๋งโต๊ะ อองของ เตียวโป้ และเต๊งหงวน) ให้นำกำลังเข้าประชิดราชธานีลกเอี๋ยงแล้วเรียกร้องให้นำตัวเหล่าขันทีไปประหารชีวิต หมายจะกดดันนางโฮเฮาให้ดำเนินการจัดการกับเหล่าขันที ตอนแรกนางโฮเฮาปฏิเสธที่ทำร้ายเหล่าขันที แต่เมื่อกำลังของตั๋งโต๊ะเข้ามาใกล้เมืองลกเอี๋ยง นางโฮเฮาจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เหล่าขันทีออกจากพระราชวังกลับไปยังเขตศักดินาของตน [24] น้องสาวของนางโฮเฮาแต่งงานกับบุตรบุญธรรมของเตียวเหยียง เตียวเหยียงจึงทูลขอร้องนางโฮเฮาให้ทรงช่วยเหลือ นางโฮเฮาจึงทรงแจ้งนางบูยงกุ๋นผู้เป็นมารดาผู้ซึ่งก็ขอร้องนางโฮเฮาเช่นเดียวกัน นางโฮเฮาจึงยอมผ่อนปรนและเรียกเหล่าขันทีกลับเข้ามาในพระราชวัง [25] ในเดือนแปดของปี ค.ศ. 189 เหล่าขันทีวางแผนจะลอบสังหารโฮจิ๋น จึงออกพระราชเสาวนีย์ในพระนามของนางโฮเฮาเรียกให้โฮจิ๋นเข้าวังเพื่อเข้าเฝ้านางโฮเฮา โฮจิ๋นหลงกลจึงสิ้นชีพด้วยน้ำมือของเหล่าขันทีผู้ซึ่งประกาศว่าโฮจิ๋นมีความผิดฐานคิดการกบฏ[26] หลังจากโฮจิ๋นเสียชีวิต เง่าของ (吳匡 อู๋ คฺวาง) และจาง จาง (張璋) ผู้ใต้บังคับบัญชาของโฮจิ๋น พร้อมด้วยอ้วนเสี้ยว โจโฉ และคนอื่น ๆ ได้นำกำลังบุกเข้าไปในพระราชวังและสังหารเหล่าขันทีเพื่อแก้แค้นให้โฮจิ๋น โดยทำการสังหารใครก็ตามที่ดูคล้ายขันทีโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ชายวัยหนุ่มบางคนที่ไม่มีหนวดเคราจึงจำใจต้องถอดกางเกงตัวเองต่อหน้าทหารเพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ใช่ขันที ในระหว่างการโจมตีนั้น เหล่าขันทีเข้าควบคุมตัวนางโฮเฮา พระเจ้าเช่าตี้ (หองจูเปียน) และตันลิวอ๋อง (หองจูเหียบ) เป็นตัวประกันและพยายามหนีออกจากพระรางวัง โลติดได้เข้าขวางขันทีต๋วนกุย (段珪 ตฺว้าน กุย) ช่วยเหลือนางโฮเฮาจากขันทีต๋วนกุยไว้ได้ [27] โฮเบี้ยวผู้เป็นใจด้วยเหล่าขันทีถูกสังหารโดยเง่าของและตั๋งบุ่น (董旻 ต่งหมิน) น้องชายของตั๋งโต๊ะ ในการโจมตีครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตกว่าสองพันคน[19] เตียวเหยียงและขันทีคนอื่น ๆ อีกสิบคนคุมตัวพระเจ้าเช่าตี้และตันลิวอ๋องไปยังริมแม่น้ำ กำลังทหารหลวงนำโดยโลติดและบินของ (閔貢 หมิ่นก้ง) เร่งตามมาจวนจะถึงตัว เตียวเหยียงจึงหันไปทูลพระเช่าตี้ทั้งน้ำตาว่า "พวกข้าพระองค์จะถูกกำจัดและความวุ่นวายจักเกิดขึ้นในแผ่นดิน ขอพระองค์โปรดถนอมพระวรกายด้วย" จากนั้นเตียวเหยียงจึงโดดลงแม่น้ำจมน้ำตาย [28][29] ในนิยายสามก๊กสิบเสียงสีปรากฏเป็นกลุ่มตัวละครในช่วงต้นของนวนิยายจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ซึ่งมีเค้าโครงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีนปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกไปสู่การสิ้นสุดของราชวงศ์และนำไปสู่ยุคสามก๊ก ขันที่ในกลุ่มสิบเสียงสีที่ปรากฏชื่อในวรรรกรรมสามก๊ก ได้แก่:[1]
ขันทีห้าคนในจำนวนสิบคนนี้ ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสิบเสียงสี เทียควงเป็นตัวละครสมมติ (ในบันทึกประวัติศาสตร์มีขันทีชื่อเฉิง หฺวาง (程璜) [มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 126–189] ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ ชื่อตัวเขียนด้วยอักษร 璜 คล้ายกับ 曠 ที่เป็นชื่อตัวของเทียควง) ฮองสีและเกียนสิดมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ปรากฏชื่อในกลุ่มสิบเสียงสีตามที่ระบุไว้ในโฮ่วฮั่นชู (จดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง) เหาลำและเทาเจียดเสียชีวิตในปี ค.ศ. 172 และ ค.ศ. 181 ตามลำดับ จึงไม่ปรากฏในเหตุการณ์ตามที่ระบุในวรรณกรรมสามก๊ก ในวัฒนธรรมสมัยนิยมสิบเสียงสีปรากฏในวิดีโอเกมส์ซีรีส์ ไดนาสตีวอริเออร์ ของค่ายเกมโคอี โดยเฉพาะใน ไดนาสตีวอริเออร์ 4: Xtreme Legends (โหมดเนื้อเรื่องของตั๋งโต๊ะ), ไดนาสตีวอริเออร์ 5: Xtreme Legends และ ไดนาสตีวอริเออร์ 8: Xtreme Legends (โหมดเนื้อเรื่องของลิโป้) ดูเพิ่มอ้างอิง
|