Share to:

 

กองบิน 4 ตาคลี

กองบิน 4
กองทัพอากาศไทย
เอฟ-16บี บล็อก 20 เอ็มแอลยู ฝูงบิน 403 ณ ฐานบินโคราชระหว่างการฝึกโคปไทเกอร์ 2017
ประจำการกองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 (ขับไล่) (พ.ศ. 2461–2464)
กองบินใหญ่ที่ 1 (พ.ศ. 2464–2476)
กองบินน้อยที่ 1 (พ.ศ. 2476–2479)
กองบินน้อยที่ 4 (พ.ศ. 2479–2506)
กองบิน 4 (พ.ศ. 2506–ปัจจุบัน)
ประเทศ ไทย
เหล่าFlag of the กองทัพอากาศไทย กองทัพอากาศไทย
รูปแบบกองบิน
บทบาทกองบินขับไล่
ขึ้นกับส่วนกำลังรบ กองทัพอากาศไทย
กองบัญชาการฐานบินตาคลี, ตำบลตาคลี, อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
คำขวัญดินแดนแห่งชาวจงอาง
Land of the King Cobra
เพลงหน่วยมาร์ชกองบิน 4
สัญลักษณ์นำโชคงูเห่า
วันสถาปนา15 เมษายน พ.ศ. 2479; 88 ปีก่อน (2479-04-15)
เว็บไซต์wing4.rtaf.mi.th
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บัญชาการปัจจุบันนาวาอากาศเอก ชาคริต ศักดิ์ชัยศรี
เครื่องหมายสังกัด
ตราสัญลักษณ์กองบิน 4

กองบิน 4 (อังกฤษ: Wing 4 Royal Thai Air Force) เป็นกองบินขับไล่ อยู่ในส่วนกำลังรบและเป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพอากาศไทย[1] ประจำการอยู่ที่ฐานบินตาคลี ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2479[1]

ประวัติ

กองบิน 4 มีจุดกำเนิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2461 ได้มีการยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นมาเป็นกรมอากาศยานทหารบก แบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 ส่วน[2] ได้แก่

  1. กองบินทหารบก
  2. โรงเรียนการบินทหารบก
  3. โรงงานกรมอากาศยานทหารบก

ต่อมา ได้มีการขยายอัตรากำลังกองบินทหารบกออกมาเป็น 3 กองบินใหญ่[2] ได้แก่

  1. กองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 (ขับไล่) มีผู้บังคับบัญชา คือ ร้อยโท ชิดต รวดเร็ว
  2. กองบินใหญ่ทหารบกที่ 2 (ตรวจการณ์) มีผู้บังคับบัญชา คือ ร้อยเอก เหม ยศธร
  3. กองบินใหญ่ทหารบกที่ 3 (ทิ้งระเบิด) มีผู้บังคับบัญชา คือ พันตรี หลวงทะยานพิฆาต ซึ่งมีตำแหน่งผู้บังคับการกองบินทหารบกควบด้วย

จากการก่อตั้งข้างต้น จุดเริ่มต้นของกองบิน 4 ในปัจจุบันก็คือกองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 มีที่ตั้งอยู่ที่ฐานทัพอากาศดอนเมือง โดยกองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 มีที่ทำการอยู่ที่โรงเก็บหมายเลข 3[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ได้มีการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สำหรับการย้ายกองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 จากดอนเมืองไปตั้งที่ประจวบคีรีขันธ์ จึงมีบัญชาจากเจ้ากรมอากาศยานให้ ว่าที่ร้อยเอก ชิต รวดเร็ว ไปตรวจดูพื้นที่ในตำบลหนองอ้ายเมฆ ซึ่งอยู่ระหว่างคลองวาฬกับทางรถไฟสายใต้ และมีการเลือกสถานที่สำหรับการตั้งกองบินและดำเนินการถากถางในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2464 โดยทำข้อตกลงกับฝ่ายปกครองท้องถิ่น คือมหาอำมาตย์ตรีพระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราชนายก ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองอำมาตย์เอกหลวงภักดีดินแดนปลัดจังหวัด เป็นผู้อำนวยการ ปรับพื้นที่โดยใช้แรงงานนักโทษ 200 คนจากกองเรือนจำมณฑลราชบุรี ภายใต้การควบคุมของทหารจากกรมทหารบกราบที่ 14[2]

จากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2464 ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม (สำหรับทหารบก) ลงนามโดย พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) แก้ไขชื่อ กรมอากาศยานทหารบก เป็น กรมอากาศยาน และ กองบินใหญ่ทหารบก เป็น กองบินใหญ่ ทำให้กองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองบินใหญ่ที่ 1[2]

จากการสำรวจพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ในปี พ.ศ. 2463 พบว่าพื้นที่แรกที่ได้ดำเนินการสำรวจไม่เหมาะสมกับการตั้งกองบินใหญ่ที่ 1 แต่เหมาะกับการตั้งกองโรงเรียนการบินยิงปืน และมีพื้นที่เหมาะสมกว่าคือแหลมต่อจากเขาล้อมหมวกทางตะวันตก ระหว่างอ่าวมะนาวและอ่าวประจวบ จึงมีคำสั่งจากเจ้ากรมอากาศยานให้ ร้อยเอก ชิต รวดเร็ว และร้อยโท กาพย์ ทัตตานนท์ไปสำรวจพื้นที่ และทำแผนผังในการก่อตั้งกองโรงเรียนการบินยิงปืน และเสนอตามลำดับจนได้พระบรมราชานุญาตและประมูลจ้างช่างก่อสร้าง ได้ นายเหยี่ยว  ยี่ห้อฟุกกี่ เป็นผู้ชนะการประมูล เริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2464 และก่อสร้างจน​แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2465[2]

กองบินใหญ่ที่ 1 ได้เคลื่อนย้ายจากที่ตั้งคือฐานทัพอากาศดอนเมืองด้วยรถไฟ โดยร้อยเอกหลวงอมรศักดาวุธ (ชิต  รวดเร็ว) ได้พาข้าราชการในสังกัดไปทูลลาเจ้ากรมอากาศยาน คือ พันเอก พระยาเฉลิมอากาศ และเดินทางจากดอนเมืองไปพักแรมที่กรมทหารบกราบที่ 11 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2465 พักผ่อน 1 คืนและเดินทางด้วยรถไฟสายใต้ไปจนถึงที่ตั้งใหม่ของกองบิน ตำบลอ่าวมะนาว อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้รับการต้อนรับจากข้าราชการฝ่ายท้องถิ่นคือผู้ว่าราชการจังหวัด มหาอำมาตย์ตรี พระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราชนายก และเริ่มต้นทำการกองบินใหญ่ที่ 1 วันแรกในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2465[2]

จากแนวคิดก่อนหน้านี้ที่คิดว่าพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์เหมาะสมต่อการเป็นโรงเรียนการบินยิงปืนมากกว่า ทำให้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2467 ได้มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่เขาพระบาทน้อย จังหวัดลพบุรี โดยมีการส่งกำลังพลทั้งนายทหารและนายสิบไปควบคุมการก่อสร้าง และดำเนินการย้ายกองบินใหญ่ที่ 1 จากประจวบคีรีขันธ์ไปยังสนามบินเขาพระบาทน้อย ตำบลธรณี (โคกกระเทียม) อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งการย้ายมาทั้ง 2 ครั้ง คือจากดอนเมืองไปประจวบคีรีขันธ์ และจากประจวบคีรีขันธ์มาเขาพระบาทน้อย เป็นการย้ายมาแต่กำลังพลและอุปกรณ์ภาคพื้นดิน แต่ไม่ได้นำอากาศยานมาด้วย จึงได้มีการสั่งการให้นำเครื่องบินจากฐานทัพอากาศดอนเมืองมาประจำการที่สนามบินเขาพระบาทน้อย โดยมี ร้อยเอก กล่อม สุคนธสาร ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดพร้อมด้วยนักบินอีก 12 นาย บินนำเครื่องบิน SPAD (บ.ข.3), NIEUPORT DE LAGE (บ.ข.4)  และ BREGUET (บ.ท.๑) มาลงยังสนามบินเขาพระบาทน้อยโดยสวัสดิภาพ โดยมีเครื่องบินของ สิบโท หมึก เจริญลาภ เป็นเครื่องแรกที่บินมาถึง[2]

ในปี พ.ศ. 2476 ได้เปลี่ยนชื่อจาก กองบินใหญ่ที่ 1 เป็น กองบินน้อยที่ 1 และเปลี่ยนแปลงชื่ออีกครั้งเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2479 จากกองบินน้อยที่ 1 เป็น กองบินน้อยที่ 4 และบรรจุเครื่องบินในอัตราเพิ่มเติม คือ HAWK-2 (บ.ข.9) และ HAWK-3 (บ.ข.10)[2]

สงครามมหาเอเชียบูรพา

สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2484 โดยประเทศไทยถูกรุกรานโดยญี่ปุ่นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เพื่อใช้เป็นทางผ่านไปยังพม่าและมลายู ซึ่งมีกองทหารญี่ปุ่นบางส่วนวางกำลังอยู่ที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในช่วงนั้นเอง กองบินน้อยที่ 4 ได้นำอากาศยานขึ้นต่อสู้กับเครื่องบินญี่ปุ่นที่บุกรุกรานเข้ามา ส่งผลให้ เรืออากาศเอก ไชย สุนทรสิงค์ เรืออากาศเอก ชิน จิระมณีมัย และ เรืออากาศตรี สนิท โพธิเวชกุล เสียชีวิตขณะขึ้นบินต่อสู้การรบ[2]

หลังจากรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังเข้ามาในประเทศแล้ว ฝูงบินรบของญี่ปุ่นได้ขออนุญาตใช้งานสนามบินของกองบินน้อยที่ 2 ในลพบุรีเป็นฐานในการปฏิบัติการทางอากาศ แต่กองทัพอากาศไทยไม่เห็นด้วย แต่ให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดหาพื้นที่ในการสร้างสนามบินขึ้นมาใหม่ โดย พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ  ฤทธาคนี เสนาธิการทหารอากาศ สั่งการให้ เรืออากาศโท จรรย์ จุลชาต นักบินประจำหมวดบิน 2 ฝูงบินที่ 1 ของกอง​​บินน้อยที่ 2 ลพบุรี จัดชุดสำรวจพื้นที่ร่วมกับทหารของญี่ปุ่น สำรวจพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ และสนามบินหนองปลิง สนามบินตาคลี ในจังหวัดนครสวรรค์[2]

จากนั้นในปี พ.ศ. 2486 กองบินน้อยที่ 4 ได้บรรจุเครื่องบินเพิ่มเติม 1 ฝูงบิน คือ CURTISS HAWK 75N (บ.ข.11) ขณะเดียวกันทีมสำรวจร่วมกับทหารญี่ปุ่นได้เห็นควรที่จะสร้างสนามบินในพื้นที่ตาคลี ที่ถูกปล่อยร่าง ชุมชนหนาแน่นต่ำ และความเหมาะสมทางภูมิประเทศจึงตกลงที่จะสร้างสนามบินตาคลี โดยใช้เงินทุนร่วมกันทั้งของไทยและญี่ปุ่น[2]

สนามบินตาคลีเริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 โดยการออกแบบของฝ่ายญี่ปุ่น โดยมีการก่อสร้าง เส้นทางวิ่งขึ้น-ลง 2 เส้นทาง หอบังคับการบิน ลานจอดเครื่องบิน เส้นทางขับ โรงเก็บซ่อมเครื่องบิน คลังเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงสัมภาระ คลังน้ำมัน และคลังเก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้อื่น ๆ[2]

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม ทำให้พื้นที่ของสนามบินตาคลีตกเป็นของฝ่ายไทย ครอบครองโดยกองทัพอากาศ[2]

ย้ายสู่สนามบินตาคลี

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 กองทัพอากาศได้พิจารณาแล้วว่าพื้นที่สนามบินตาคลีมีความเหมาะสมด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่กึ่งกลางของประเทศ เหมาะกับการใช้กำลังทางอากาศ สามารถป้องกันทางลึกได้ดี และมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก จึงได้มอบหมายให้ เรืออากาศโท ประวงค์  เป้าทอง และ เรืออากาศโท ชื้น ทวีแสง ไปสำรวจพื้นที่สนามบินตาคลีที่ได้รับมอบจากญี่ปุ่นและซ่อมแซมคืนสภาพให้สามารถใช้งานได้[2]

ขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2494 กองบินน้อยที่ 4 ได้บรรจุเครื่องบิน Spitfire (บ.ข.14) เข้าประจำการจำนวน 1 ฝูงบิน โดยกองบินน้อยที่ 4 ได้เริ่มย้ายมาประจำการทีสนามบินตาคลีจากที่ตั้งเดิม ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มาที่ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และทำการย้ายจนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 โดยในเวลานั้นกองบินน้อยที่ 4 มีฝูงบินขับไล่ที่ 43 จำนวน 1 ฝูง จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถานปนาฝูงบิน 403 ในเวลาปัจจุบัน จากนั้น พ.ศ. 2497 กองบินน้อยที่ 4 ได้บรรจุเครื่องบิน F-8F BEARCAT (บ.ข.15) เข้าประจำการในฝูงบิน 43[2]

กองบินน้อยที่ 4 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่ง ทอดพระเนตรการดำเนินงานของกองบินน้อยที่ 4 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2498[2]

ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2504 กองบินน้อยที่ 4 รับโอนเครื่องบินจากกองบินน้อยที่ 1 ฝูงบิน 11 (ดอนเมือง) เป็นเครื่องบินแบบ F-84 G THUNDER JET (บ.ข.16) จำนวน 1 เครื่องเข้ามาประจำการในฝูงบิน 43 และวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 ได้บรรจุเครื่องบิน F-86 SABRE (บ.ข.17) จำนวน 8 เครื่อง เข้าประจำการในฝูงบิน 43[2]

จากนั้นในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2506 กองทัพอากาศได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ จากกองบินน้อยที่ 4 เป็น กองบิน 4 และใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน กองบิน 4 จึงถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนาหน่วยมาจนถึงปัจจุบัน[2]

สงครามเวียดนามและการต่อต้านคอมมิวนิสต์

ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามกับสหรัฐในปี พ.ศ. 2502 โดยให้ความช่วยเหลือในการให้พื้นที่วางกำลัง ซึ่งกองทัพสหรัฐได้ใช้สนามบินตาคลี หรือฐานบินตาคลีในการเป็นฐานปฏิบัติการที่สำคัญอีกแห่งในการปฏิบัติการ ซึ่งกองทัพอากาศสหรัฐได้เริ่มเข้ามาวางกำลังในชช่วงปี พ.ศ. 2507 โดยวางกำลังฝูงบินรบที่ 355 ที่ใช้งานเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-100, F-105 และ F-4 ก่อนจะถอนกำลังออกไปในปี พ.ศ. 2516 และกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2517 โดยวางกำลังฝูงบิน 366 ที่ใช้งานเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ F-4 และ F-111 กระทั่งสิ้นสุดสงครามเวียดนาม กองทัพอากาศสหรัฐจึงได้ถอนกำลังออกไปทั้งหมด[2]

ในช่วงวันที่ 18 - 30 เมษายน พ.ศ. 2507 ฐานบินตาคลีเป็นพื้นที่ฝึกซ้อมการรบร่วมรหัส แอร์บุญชู โดยฝ่ายไทยรับบทเป็นฝ่ายตั้งรับพร้อมกับชาติภาคี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมหน่วยทหารที่ทำการซ้อมรบที่ฐานบินตาคลี[2]

หลังจากเหตุการณ์เสียงปืนแตกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 กองบิน 4 จัดกำลังจากฝูงบิน 43 ปฏิบัติการตามแผนยุทธการ ทอ.ที่ 1/08 ของกองทัพอากาศจากฐานบินตาคลี ในการใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งสิ้นสุดการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2526[2]

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ได้เสด็จเยี่ยม กองบิน 4 และทรงประทานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ หน้าตักความกว้าง 5 นิ้ว และพระฉายาลักษณ์ ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ข้างวิหารเทพนิมิต ด้านละต้น และทรงประทานเหรียญเสมามหาราชแก่ผู้ที่มารับเสด็จทุก ๆ คน[2]

ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 กองบิน 4 ได้รับมอบเครื่องบินแบบ A-37B (บ.จ.6) รุ่นแรก จำนวน 17 เครื่องจากสหรัฐ เพื่อประจำการในฝูงบิน 43 โดยมีจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ทำพิธีคล้องพวงมาลัยและเจิมเครื่องบินในการรับเข้าประจำการ[2]

ในปี พ.ศ. 2520 ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ กองบิน 4 โดยมีการนำเครื่องบินแบบ AC-47 SPOOKY (บ.จล.2) เข้าประจำการในฝูงบิน 42 เป็นจำนวน 14 เครื่อง และในปีเดียวกันนี้ได้เปลี่ยนชื่อฝูงบินในกองบิน 4 จากฝูงบิน 42 และ 43 เป็นฝูงบิน 402 และ 403 จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2522 ได้มีการสั่งการให้ฝูงบิน 404 ย้ายเข้าไปประจำการกับฝูงบิน 402 และบรรจุเครื่องบินแบบ ARAVA Model 201 (บ.ตล.7) เข้าประจำการในฝูงบิน 404 จำนวน 3 เครื่อง[2]

ยุคเอฟ-5

กองบิน 4 ได้มีการนำบ.ข.18 ข/ค เอฟ-5 อี/เอฟ แบบที่นั่งเดี่ยวและสองที่นั่งเข้ามาประจำการในฝูงบิน 403 จำนวน 1 ฝูงบิน ได้รับเครื่องบินชุดสุดท้ายในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2524 และประกอบพิธีเข้าประจำการเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2524 โดย พลอากาศเอก พะเนียง กานตรัตน์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ทำการบินจากฐานทัพอากาศดอนเมืองมายังฐานบินตาคลี กองบิน 4[2]

ในปี พ.ศ. 2525 ฝูงบิน A-37B (บ.จ.6) ได้รับคำสั่งให้ย้ายจาก กองบิน 4 ไปประจำการที่กองบิน 21 ฝูงบิน 211 จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นกองทัพอากาศได้นำแนวคิดที่จะใช้เครื่องบินขนาดเล็กที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกลโดยไม่ต้องใช้นักบิน เพื่อลดความเสี่ยงของนักบินในการปฏิบัติการ ประกอบกับศักยภาพของระบบต่อต้านอากาศยานของข้าศึกที่สูงและแม่นยำมากขึ้น จึงมีการจัดซื้อเครื่อง RPV หรือชื่อว่า Remotely Piloted Vehicle จากบริษัท Developmental Sciences Incorporated สหรัฐอเมริกา เข้าประจำการในฝูงบิน 404 กองบิน 4 จำนวน 5 เครื่องเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ปฏิบัติการอยู่เป็นเวลา 8 ปีจนกระทั่งขาดอะไหล่ในการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินและปลดประจำการในที่สุด และในปี พ.ศ. 2525 เช่นกัน กองบิน 4 ได้บรรจุเครื่องบิน NOMAD (บ.จล.9) ประจำการที่ฝูงบิน 402 จำนวน 1 ฝูงบิน[2]

ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2527 กองบิน 4 ได้ดำเนินการย้ายฝูงบิน 402 พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่และครอบครัวไปยังฝูงบิน 461 กองบิน 46 พิษณุโลก พร้อมด้วยเครื่องบิน AC-47 SPOOKY (บ.จล.2) และ NOMAD (บ.จล.9) โดยครบัสของกองบิน 4 ครั้งละ 10 ถึง 15 ครอบครัว[2]

จากนั้นวันที่ 20 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 กองบิน 5 ได้รับเครื่องบิน FANTRAINER (บ.ฝ.18/ก) จากโรงเรียนการบิน ฐานบินกำแพงแสน เข้ามาประจำการที่ฝูงบิน 402 กองบิน 4 ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 กองบิน 4 ได้โอนย้ายเครื่องบิน ARAVA Model 201 (บ.ตล.7) จากฝูงบิน 404 ไปวางกำลังที่กองบิน 6 ฝูงบิน 605 ตามนโยบายปรับกำลังทางอากาศ[2]

กองบิน 4 ได้เปิดอัตราของฝูงบิน 401 เพื่อเตรียมพร้อมในการรับเครื่องบิน แอโร แอล-39 อัลบาทรอส (บ.ขฝ.1) และเริ่มประจำการตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2536 พร้อมกันกับ ฝูงบิน 101 และ ฝูงบิน 102 กองบิน 1 นครราชสีมา ปีต่อมา พ.ศ. 2537 กองทัพอากาศได้รับมอบและบรรจุเครื่องบิน แอล-39 อัลบาทรอส (บ.ขฝ.1) จำนวน 36 เครื่อง และรับมอบชุดสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เครื่องบินทั้งหมดถูกแบ่งเข้าประจำการในฝูงบิน 101 ฝูงบิน 102 กองบิน 1 ฝูงบิน 401 กองบิน 4 มีหน้าที่ในการโจมตีทางอากาศ การค้นหา และช่วยชีวิตในการรบ ต่อมาปรับกำลังของฝูงบิน 401 ขึ้นไปประจำการที่ กองบิน 41 เชียงใหม่ และมอบหมายให้ ฝูงบิน 101 มาประจำการแทนที่ ณ ฝูงบิน 401 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547[2]

ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2537 กองบิน 4 ได้รับโอนเครื่องบินแบบ เอสเอฟ-260 (บ.ฝ.15) มาจากฝูงบิน 604 กองบิน 4 จำนวน 7 เครื่อง มาประจำการที่ฝูงบิน 402 แทนที่เครื่องแบบ FANTRAINER ที่กำลังจะปลดประจำการ ขณะที่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2537 กองบิน 4 ได้โอนเครื่องบิน เอฟ-5 อี/เอฟ จากฝูงบิน 403 ไปประจำการที่ ฝูงบิน 211[2]

ยุคเอฟ-16

เมื่อวันที่ 7 พฤษจิกายน พ.ศ. 2538 กองบิน 4 ได้บรรจุเครื่องบินแบบ เอฟ-16 เอ/บี (บ.ข.19 ก) เข้าประจำการในฝูงบิน 403 จากนั้นในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2542 กองบิน 4 ได้รับมอบเครื่องบินแบบ MERLIN-IV A (บ.ตล.6), ARAVA Model 201 (บ.ตล.7) และ LEARJET 35A (บ.ตล.12) จากฝูงบิน 605 กองบิน 6 มาประจำการที่ฝูงบิน 402 และปลดประจำการเครื่องบินแบบ เอสเอฟ-260 (บ.ฝ.15)[2]

ในปี พ.ศ. 2551 กองทัพอากาศมีความต้องการอากาศยานไร้คนขับในการปฏิบัติการอีกครั้ง ในการตอบสนองการพัฒนาไปสู่ระบบเครือข่ายส่วนกลาง ได้มีการศึกษาและวิจัยอากาศยานไร้นักบินต้นแบบสนับสนุนภารกิจด้านข่าวกรอง การลาดตระเวนทางอากาศ และการเฝ้าตรวจ การติดเตามเป้าหมาย และได้บรรจุอากาศยานไร้นักบินต้นแบบในปี พ.ศ. 2554 ฝูงบิน 404 กองบิน 4 คือเครื่องบิน Aerostar B (บร.ต.1) จากนั้นได้พัฒนาเป็น Aerostar BP ในปี พ.ศ. 2558 และบรรจุเครื่องบิน RTAF U1 (บร.ตฝ.1) ในปี พ.ศ. 2563[2]

ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553 กองบิน 4 ได้บรรจุเครื่องบินแบบ DA42 MPP (บ.ตฝ.20) เข้าประจำการที่ ฝูงบิน 402 และมีการจัดหาเครื่องบินแบบ DA42 M-NG (บ.ตฝ.20 ก) บรรจุเข้าประจำการ ฝูงบิน 402 ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563[2]

ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 กองบิน 4 ได้บรรจุเครื่องบินแบบ P-180 AVANTI II EVO (บ.ตล.20) เข้าประจำการที่ ฝูงบิน 402 จากนั้นในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้ย้ายไปประจำการที่ ฝูงบิน 604 กองบิน 6 ดอนเมือง จากนั้น กองบิน 4 ได้บรรจุเครื่องบินแบบ T-50TH (บ.ขฝ.2) เข้าประจำการใน ฝูงบิน 401[2]

การจัดหน่วย

เอฟ-16 ฝูงบิน 403 ขณะกำลังฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ 2020

กองบิน 4 แบ่งส่วนการบริหารราชการภายใน[3] ดังนี้

กอง

  • กองบังคับการ
    • แผนกกำลังพล
    • แผนกการข่าว
    • แผนกยุทธการ
    • แผนกส่งกำลังบำรุง
    • แผนกกิจการพลเรือน
    • ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    • แผนกธุรการ
    • หมวดจัดหา
  • กองเทคนิค
    • แผนกช่างอากาศ
    • แผนกสื่อสารฯ
    • แผนกสรรพาวุธ
    • หมวดบริการเชื้อเพลิง

ฝูงบิน

แพนหางดิ่งของ ที-50ทีเอช รูปมังกร เป็นสัญลักษณ์และสัญญาณเรียกขานของฝูงบิน 401
  • ฝูงบิน 401 "Dragon"
  • ฝูงบิน 402 "Focus"
    • เครื่องบินตรวจการณ์และฝึกแบบที่ 20: ดีเอ42 เอ็มพีพี
    • เครื่องบินตรวจการณ์และฝึกแบบที่ 20 ก: ดีเอ42 เอ็ม-เอ็นจี
  • ฝูงบิน 403 "Cobra"
    • เครื่องบินขับไล่แบบที่ 19: เอฟ-16

แผนก

  • แผนกการเงิน
  • แผนกช่างโยธา
  • แผนกสวัสดิการ
  • แผนกสนับสนุนการบิน
  • แผนกขนส่ง
  • แผนกพลาธิการ
  • ฝ่ายคลังพัสดุรวมการ

อื่น ๆ

  • โรงพยาบาลกองบิน
  • กองพันทหารอากาศโยธิน
  • กองร้อยสารวัตรทหาร

อากาศยาน

อากาศยาน ผู้ผลิต บทบาท แบบ รุ่น ประจำการ หมายเหตุ
ฝูงบิน 401
อุตสาหกรรมอากาศยานเกาหลี  เกาหลีใต้ ลำเลียงทางยุทธวิธี T-50TH 14 [4]
ฝูงบิน 402
ไดมอนด์ แอร์คราฟท์ อินดัสตรีส์  ออสเตรีย ฝึกบินและลาดตระเวน DA42 MPP 11 [5][6]
ไดมอนด์ แอร์คราฟท์ อินดัสตรีส์  ออสเตรีย ฝึกบินและลาดตระเวน DA42 M-NG
ฝูงบิน 403
ล็อกฮีด มาร์ติน  สหรัฐอเมริกา ขับไล่/โจมตี F-16 eMLU 18 [7]

อดีตอากาศยาน

แอล-39 ขณะยังประจำการอยู่ในฝูงบิน 401

ที่ตั้ง

  • กองบิน 4 มีที่ตั้งอยู่ที่ฐานบินตาคลี โดยมีฝูงบินทั้งหมดประจำการอยู่ที่นี่เช่นเดียวกัน

ภารกิจ

กองบิน 4 มีภารกิจในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านของ กำลังพล อาวุธ ยุทโธปกรณ์ ให้มีความพร้อมรบ และการดำเนินการปฏิบัติการใช้กำลังทางอากาศ แบ่งขอบเขตของปฏิบัติการตามฝูงบินในสังกัดทั้ง 3 คือ[8]

การฝึกบินและการบินขับไล่ทางยุทธวิธีของฝูงบิน 401 การบินตรวจการณ์ทางอากาศด้วยการลาดตระเวนในความสูงปานกลาง สามารถปฏิบัติการได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน และมีความอ่อนตัว สามารถติดอุปกรณ์ตรวจการณ์ได้หลากหลายตามรูปแบบภารกิจของฝูงบิน 402 การบินในภารกิจขับไล่และโจมตีด้วยขีดความสามารถ Avionics ระบบอาวุธ และระบบป้องกันตนเอง พร้อมกับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเครื่องด้วยระบบดาตาลิงก์แบบ ลิงก์-16 ของฝูงบิน 403[8]

เพลงมาร์ช

กองบิน 4 เด่นผยองครองอากาศ
เก่งฉกาจ เกรียงไกร ไม่ย่อย่น
เขาตาคลี เป็นที่ตั้งกำบังตน
หมั่นฝึกฝนลับเขี้ยวให้แหลมคม
ชาติเรารักศักดิ์สีเทาเราถนอม
จะไม่ยอมให้ศัตรูมาขู่ข่ม
ใครรุกรานจะต้านต่อจนสิ้นลม
เอาร่างถมธรณินเพื่อถิ่นไทย

— ประพันธ์โดย พันจ่าอากาศเอก ช่วง สาลี, มาร์ชกองบิน 4, https://wing4.rtaf.mi.th/prawatikhwaamepnmaa

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 ประวัติหน่วยทหาร (ส่วนราชการในกองทัพอากาศ) (PDF). กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กองบัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-03-08. สืบค้นเมื่อ 2024-05-24.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 2.24 2.25 2.26 2.27 2.28 2.29 2.30 2.31 2.32 2.33 2.34 "ประวัติความเป็นมา | กองบิน ๔". กองบิน4 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  3. "โครงสร้างหน่วย | กองบิน ๔". กองบิน4 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. "บินรบเกาหลี F/A-50 โผล่แจม เป็นทางเลือกให้ ทอ. เสริมเขี้ยวเล็บ ฝูง 102". www.thairath.co.th. 2024-04-20.
  5. "กองทัพอากาศจัดซื้อ DA42MPP เพิ่มเติม 3 ลำ". thaiarmedforce. 2020-12-29.
  6. "ผอ.ทอ. สั่งสนับสนุน อากาศยาน ดับไฟป่า สำรวจจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ | Khaosod". LINE TODAY.
  7. "กองทัพอากาศไทย มีเครื่องบินรบกี่ลำ (ในปี 64-68)". thaiarmedforce. 2021-04-23.
  8. 8.0 8.1 "homepage | กองบิน ๔". กองบิน4 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya