การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2567
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2567 เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 60 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะถูกจัดขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567[1] การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการจัดสรรคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ตามการสำมะโนประชากรเมื่อ พ.ศ. 2563 โจ ไบเดิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เคยประกาศเจตนารมณ์ในการลงสมัครเป็นสมัยที่ 2[2] แต่ได้ถอนตัวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 เนื่องจากปัญหาทางสุขภาพประกอบกับกระแสความนิยมที่ลดลง และสนับสนุนให้กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามพรรคเดโมแครตแทน[3] โดยนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีถอนตัวจากการชิงตำแหน่งในสมัยที่ 2 นับตั้งแต่การถอนตัวของลินดอน บี. จอห์นสันในปี 2511 ส่วนดอนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ก็ลงสมัครเช่นกัน หลังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563[4] ที่ประชุมใหญ่พรรครีพับลิกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 รับรองทรัมป์ให้ลงชิงตำแหน่งในนามพรรค[5] โดยหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่สองต่อจาก โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ที่ดำรงตำแหน่งสองสมัยแบบไม่ต่อเนื่องกัน ในสหรัฐ การเลือกตั้งทั่วไปจะถูกจัดขึ้นหลังจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำการประชุมลับและเลือกผู้สมัครรอบแรกเพื่อเสนอชื่อเป็นประธานาธิบดี การเลือกตั้งมีกำหนดจัดขึ้นในวันเดียวกับการเลือกตั้งวุฒิสภา, การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น พ.ศ. 2567 ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้จะเข้าสาบานตนในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568 ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 ศาลสูงสุดแห่งรัฐโคโลราโด และ เลขาธิการแห่งรัฐเมน มีมติตัดสิทธิทรัมป์จากการลงสมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น โดยวินิจฉัยว่าทรัมป์ขาดคุณสมบัติในการรับตำแหน่งในรัฐบาลกลางสหรัฐ จากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อความไม่สงบ รวมถึงการขัดขวางกระบวนการรับรองไบเดนซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 นำสู่เหตุจลาจลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 คำตัดสินดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์[6][7] เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ทรัมป์รอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารขณะปราศรัยหาเสียง ณ เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย การเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกภายหลังศาลสูงสุดหรือศาลฎีกา พิพากษายกเลิกคำตัดสินคดี Roe v Wade ที่เคยพิพากษาเมื่อ พ.ศ. 2516 ว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ ขบวนการเรียกร้องสิทธิการทำแท้ง, การประกันสุขภาพ,[8] การศึกษา,[9] เศรษฐกิจ,[10] นโยบายด้านการต่างประเทศ,[11] นโยบายด้านผู้ลี้ภัยและการข้ามชายแดน, สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ,[12] และ ประชาธิปไตย[13] ล้วนแต่ได้รับการคาดหมายให้เป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงครั้งนี้[14] การเลือกตั้งกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริการะบุไว้ว่า บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้นั้น จะต้องเป็นพลเมืองโดยกำเนิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และเป็นผู้พำนักในสหรัฐมาอย่างน้อย 14 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม นั่นคือ ในขั้นแรก ประชาชนจะเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในคณะผู้เลือกตั้ง จากนั้น คณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้จะเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรง[15] ผู้สมัครประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 270 เสียง จึงจะถือว่าชนะการเลือกตั้ง หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนครบ 270 เสียง จะมีการเลือกประธานาธิบดีในรัฐสภาแทน โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะทำการเลือกประธานาธิบดีจากผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 3 คน ส่วนวุฒิสภาจะทำหน้าที่เลือกรองประธานาธิบดีจากผู้สมัครที่ได้รับคะแนนรวมสูงสุด 2 คน การเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งวุฒิสภา รวมทั้งการเลือกตั้งระดับรัฐและระดับท้องถิ่น การแทรกแซงการเลือกตั้งดอนัลด์ ทรัมป์ประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2563 ซึ่งตนแพ้นายโจ ไบเดิน โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง และยังคงปฏิเสธการยอมรับผลการเลือกตั้งถึงปัจจุบัน[16][17] ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแสดงข้อกังวลว่า เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งปฏิเสธผลการเลือกตั้งในครั้งที่แล้ว อาจพยายามขัดขวางกระบวนการลงคะแนน หรือปฏิเสธการยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้[18] การสำรวจความคิดเห็นก่อนการเลือกตั้งชี้ให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อสถานะความเป็นประชาธิปไตยของชาวอเมริกัน[19] กลุ่มเสรีนิยม (ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต) มีความเชื่อว่าพรรคอนุรักษนิยม และกลุ่มอนุรักษนิยมมีแนวโน้มคุกคามการเลือกตั้งด้วยวิธีแบบเผด็จการ รวมถึงความพยายามที่จะพลิกผลการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2563[20] ในขณะที่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามขัดขวางการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของทรัมป์ด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการกล่าวโทษ และการฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐในข้อหาต่าง ๆ[21] แผนที่การเลือกตั้งในการเลือกตั้งนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา การแข่งขันในรัฐส่วนใหญ่ไม่สูสีเท่าที่ควร เนื่องจากความชัดเจนในทัศนคติของประชากร และสภาพสังคม โดยรัฐทางภูมิภาคตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เช่น เท็กซัส, ลุยเซียนา, เคนทักกี, เนแบรสกา และ โอคลาโฮมา ล้วนแต่มีความเป็นอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ในขณะที่รัฐขนาดใหญ่ทางภูมิภาคตะวันออกและตะวันตก มีแนวโน้มความเป็นเสรีนิยมสูง เช่น แคลิฟอร์เนีย, นิวยอร์ก และ แมสซาชูเซตส์ จากการมีผู้อพยพพลัดถิ่น และคนรุ่นใหม่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีหลายรัฐที่คะแนนนิยมของผู้สมัครและผลคะแนนค่อนข้างสูสี เช่น มิชิแกน, เพนซิลวาเนีย, จอร์เจีย, เนวาดา, แอริโซนา, โอไฮโอ และ วิสคอนซิน รัฐเหล่านี้ล้วนได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดผลการเลือกตั้ง[22] รัฐนอร์ทแคโรไลนา ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิสำคัญ เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งก่อนที่เป็นไปอย่างสูสีซึ่งทรัมป์เอาชนะไบเดินไปด้วยความห่างเพียง 1.34%[23] ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า รัฐสำคัญอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไอโอวา และ ฟลอริดา มีแนวโน้มสูงที่จะสนับสนุนพรรครีพับลิกัน ในขณะที่รัฐโคโลราโด, นิวเม็กซิโก และเวอร์จิเนีย สนับสนุนพรรคเดโมแครต[24][25] นับเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ที่พรรคเดโมแครตสามารถรักษาฐานเสียงได้ดีในกลุ่มประชากรผิวสี, ผู้อพยพเข้าเมือง และพลเมืองอเมริกันที่สืบเชื้อสายจากภูมิภาคอื่น ๆ เช่น อเมริกาใต้, แอฟริกัน และเอเชีย (โดยเฉพาะจีน อินเดีย และ ชาวมุสลิม) รวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นนักศึกษา, ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก, ประชากรวัยทำงานที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง และประชากรในเขตเมือง[26] ในขณะที่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ก็คือประชากรผิวขาว, ผู้มีรายได้สูง รวมถึงในเขตชนบท และ ผู้สูงอายุ[27] นอกจากนี้ ชนชั้นกลางมีแนวโน้มสนับสนุนพรรครีพับลิกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ความนิยมดังกล่าวได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ อันเนื่องมาจากการถือกำเนิดขึ้นของกลุ่มขบวนการการเมืองใหม่ในชื่อ "Tea Party" หรือ “กลุ่มน้ำชา” ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมเชิงเสรีนิยม แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่ดินแดนของสหรัฐยังอยู่ใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักรเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว การเติบโตของกลุ่มดังกล่าวนับว่าเป็นผลดีต่อผู้สมัครจากเดโมแครต เช่น ฮิลลารี คลินตัน และประธานาธิบดีคนล่าสุดอย่างไบเดิน โดยคะแนนนิยมของทรัมป์ในย่านชานเมืองน้อยลงจากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันคนอื่น ๆ การหาเสียงประเด็นสำคัญการเรียกร้องประชาธิปไตยการเลือกตั้งครั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดินถูกคาดหวังให้ตีกรอบและกำหนดแนวทางการเลือกตั้งว่าเป็น "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งคล้ายกับการวางกรอบภูมิรัฐศาสตร์ร่วมสมัย โดยเปรียบเสมือนการต่อสู้ระหว่างขั้วประชาธิปไตยและเผด็จการ ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ไบเดินกล่าวสุนทรพจน์สำคัญหลายครั้งเพื่ออ้างถึงหลักประชาธิปไตยในประเทศ และเปรียบเทียบการเลือกตั้งว่าเป็น "การต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณของพลเมืองอเมริกัน และประเทศชาติ" ถือเป็นข้อความสำคัญในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2563 และใช้เป็นประโยคประจำตัวในการกล่าวสุนทรพจน์ของเขานับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา[28] ในทางกลับกัน การรณรงค์หาเสียงของทรัมป์นับตั้งแต่ปี 2559 ถูกวิจารณ์เชิงลบโดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและนโยบายที่สุดโต่ง[29] ทรัมป์ปฏิเสธการยอมรับผลการเลือกตั้งปี 2563 และมีการเสนอข่าวว่าเขาพยายามทุกวิถีทางเพื่อ "พลิกผลการเลือกตั้ง" รวมถึงกระแสที่ว่าเขาต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ รวมถึงการใช้กระทรวงยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางกฎหมายเพื่อพลิกผลการเลือกตั้ง คำกล่าวอ้างของทรัมป์กรณีการโกงเลือกตั้งปี 2563 ก่อให้เกิดข้อกังวลต่อสถานะความเป็นประชาธิปไตยในประเทศ[30][31] ประชาธิปไตยมีแนวโน้มจะเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงรวมถึงการดีเบตในปี 2567 ผลสำรวจโดย AP-NORC ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม 2566 ระบุว่า 62% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความเห็นว่าสถานะความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐยังไม่แน่นอน โดยขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งปี 2567 เศรษฐกิจผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในประเด็นหลักในการหาเสียงครั้งนี้ การระบาดทั่วของโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะยังไม่คลี่คลายลงในปี 2567[32] ช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงเริ่มต้นในปี 2564 ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมถึงโรคระบาดและวิกฤตห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต่อมาทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเป็นผลจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย พ.ศ. 2565[33][34] นับตั้งแต่ปี 2564 ผลสำรวจแสดงถึงความคิดเห็นในเชิงลบที่มีต่อความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไบเดิน[35] ประชากรหญิงจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา เนื่องจากต้องลาออกจากงานเพื่อดูแลบุตร[36] รัฐบาลกลางมีมาตรการเยียวยาปัญหาดังกล่าวด้วยการเสนอมาตรการดูแลเด็ก รวมถึงการขยายเครดิตภาษีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ American Rescue Plan โดยเป็นมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง แต่มาตรการดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดก่อนการเลือกตั้งปี 2567[37] ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ทรัมป์และไบเดินลงนามในกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ[38][39][40] การศึกษาในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ไบเดินมีนโยบายผ่อนปรนการชำระเงินกู้ให้แก่นักศึกษาเป็นจำนวนเงิน 1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[41] ความช่วยเหลือดังกล่าวยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ในเดือนสิงหาคมปี 2565 ไบเดินประกาศว่าเขาจะลงนามในคำสั่งที่จะยกหนี้ให้แก่นักศึกษาจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงหนี้จากการกู้เงินจำนวนรวม 10,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่เป็นโสดซึ่งมีรายได้น้อยกว่า 125,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือคู่สมรสที่มีรายได้น้อยกว่า 250,000 ดอลลาร์ และ 20,000 ดอลลาร์สำหรับผู้ที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง (Pell Grant) ที่มอบให้กับนักเรียนที่ต้องการใช้จ่ายเงินเพื่อเข้าเรียนในวิทยาลัย[42][43] อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวถูกยกเลิกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 จากคำตัดสินของศาลฎีกาในคดี Biden v. Nebraska ซึ่งถูกท้าทายโดยผู้แทนจากหลายรัฐ[44][45] นโยบายดังกล่าวถูกวิจารณ์จากสมาชิกพรรครีพับลิกันส่วนมาก เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายรายมองว่านโยบายทางการศึกษาจะนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งถัดไป รัฐหลายแห่งในสหรัฐออกกฎหมายปกป้องการวิจารณ์เชื้อชาติ ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับเสรีภาพทางความคิดกรณีความแตกต่างทางเชื้อชาติมากขึ้น ผู้สนับสนุนกฎหมายดังกล่าวมีความเห็นว่าการสนทนาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปในสถานศึกษา[46][47] นโยบายการต่างประเทศเหตุการณ์สำคัญในปัจจุบันอย่างสงครามอิสราเอล–ฮะมาส พ.ศ. 2566 และ การรุกรานยูเครน มีแนวโน้มเป็นประเด็นหลักในการเลือกตั้ง สหรัฐให้ความช่วยเหลือทางการทหารและมนุษยธรรมแก่ยูเครนอย่างเปิดเผยตลอดช่วงการรุกรานโดยรัสเซีย[48][49] นักการเมืองจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันจำนวนมากสนับสนุนแผนนี้ โดยอ้างว่าสหรัฐมีบทบาทสำคัญใน "การปกป้องประชาธิปไตยและต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย"[50] ในขณะที่ผู้แทนจากรีพับลิกันบางราย เช่น ทรัมป์ และ เดอซานติสมองว่าการแทรกแซงดังกล่าวและการแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับรัสเซียไม่ควรเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญของสหรัฐ และแผนดังกล่าวควรมีข้อจำกัดมากขึ้น[51] วิเวก รามสวามี จากพรรครีพับลิกันแสดงจุดยืนต่อต้านการให้ความช่วยเหลือยูเครน และควรยอมรับการรุกรานของรัสเซีย[52] ในช่วงสงครามอิสราเอล-ฮะมาส ไบเดินได้ให้การสนับสนุนทางทหารต่ออิสราเอลอย่าง "เปิดเผย" และประณามการกระทำของฮะมาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ ว่าเป็นการก่อการร้าย[53] ไบเดินร้องขอต่อที่ประชุมในสภาคองเกรสให้ช่วยเหลืออิสราเอลเป็นจำนวนเงิน 10.6 พันล้านดอลลาร์[54] การสนับสนุนดังกล่าวทำให้ไบเดินถูกวิจารณ์โดยผู้นำกลุ่มมุสลิมหัวก้าวหน้าหลายราย โดยพวกเขาขู่ว่าจะไม่ลงคะแนนให้ไบเดิน[55] ในขณะที่ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนอิสราเอล และควบคุมอำนาจของอิหร่าน ในขณะเดียวกันก็วิจารณ์นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู และยกย่องกลุ่มฮิซบุลลอฮ์[56] การประกันสุขภาพในวาระดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ยกเลิกรัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เสียได้ หรือที่รู้จักในชื่อ โอบามาแคร์ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นนโยบายด้านสุขภาพและยารักษาโรค รวมถึงการตั้งคำถามในกรณีที่สหรัฐควรเปลี่ยนมาใช้ระบบการรักษาพยาบาลแบบสากล รวมถึงแนวโน้มการกลับมาระบาดของโควิด-19 จะเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงครั้งนี้เช่นกัน[57] สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักการเมืองสายอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งในสภานิติบัญญัติได้ออกร่างกฎหมายที่จำกัดสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะคนข้ามเพศ ไบเดินรับรองกฎหมายการสมรสของเพศเดียวกัน และสนับสนุนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ เขาได้รับรองพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งขยายพระราชบัญญัติสิทธิพลเมือง พ.ศ. 2507 เพื่อให้การคุ้มครองบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศในบริบทต่าง ๆ เช่น ในสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย และการดูแลสุขภาพ ต่อมา ในปี 2566 ไบเดินมีคำสั่งให้รัฐบาลกลางวางแผนเชิงกลยุทธ์แก่รัฐต่าง ๆ เกี่ยวกับวิธีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการรักษาพยาบาล และการป้องกันการฆ่าตัวตายสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในระหว่างการหาเสียงของทรัมป์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 เขากล่าวว่าหากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง เขาจะเสนอกฎหมายในนามรัฐบาลกลางเพื่อให้การรับรองบุคคลเพียงสองเพศเท่านั้น และยังกล่าวว่าการเป็นคนข้ามเพศถือเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นโดย "กลุ่มซ้ายจัด" ในขณะเดียวกัน อดีตผู้สมัครอย่างรอน เดอซานติส ลงนามในกฎหมายหลายฉบับในฐานะผู้ว่าการรัฐฟลอริดา เพื่อต่อต้านความคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติสิทธิผู้ปกครองในด้านการศึกษาแห่งฟลอริดา ซึ่งนักวิจารณ์เรียกกันว่ากฎหมาย "ห้ามพูดคำว่าเกย์" ซึ่งห้ามไม่ให้มีการพูดถึงรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศในที่สาธารณะในสถานศึกษาในรัฐฟลอริดา[58] ความมั่นคงชายแดน และการอพยพเข้าเมืองผลสำรวจแสดงให้เห็นว่านโยบายด้านชายแดนและการอพยพเข้าเมือง เป็นประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสนใจ[59] ช่วงระหว่างปี 2566 และ 2567 มีรายงานว่าจำนวนผู้อพยพเข้าเมืองผ่านชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก[60] เพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มจำนวนของผู้อพยพ รัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกัน เช่น เท็กซัส และฟลอริดา ได้ส่งตัวผู้อพยพไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ ซึ่งถูกควบคุมโดยพรรคเดโมแครต เช่น นิวยอร์ก และชิคาโก[61] ดอนัลด์ ทรัมป์ ประกาศอย่างชัดเจนว่าหากเขาได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง เขาจะเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการการตรวจคนเข้าเมือง และปราบปรามผู้อพยพข้ามชายแดน รวมถึงการเพิ่มจำนวนทหารเพื่อรักษาความเรียบร้อยบริเวณชายแดน และมอบหมายให้รัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นจำกัดจำนวนผู้อพยพ รวมถึงการเพิ่มงบประมาณด้านศุลกากรและการตระเวนชายแดน และการสร้างกำแพงในภูมิภาคตอนใต้ของประเทศ ในขณะที่ฝ่ายบริหารของไบเดินมีนโยบายคุ้มครองผู้อพยพจากประเทศอื่นโดยเฉพาะเม็กซิโกและประเทศใกลเคียง เช่น เวเนซูเอลา และ คิวบา รวมถึงประเทศที่ตั้งอยู่ไกลออกไปอย่างยูเครนซึ่งได้รับผลกระทบจากการรุกรานโดยรัสเซีย ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567 ไบเดินและผู้แทนของรัฐสภาบรรลุข้อตกลงร่วมกัน เกี่ยวกับร่างกฎหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดน แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านโดยทรัมป์ ไบเดินตอบโต้พรรครีพับลิกันว่าเขาสามารถรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนได้ โดยไม่ต้องพึ่งการอนุมัติจากสภาคองเกรส ผู้สมัครอิสระอย่าง โรเบิร์ต เอฟ.เคนเนดี จูเนียร์ ให้การสนับสนุนมาตรการการเพิ่มความปลอดภัยทางชายแดนโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบ หรือการดำเนินการโดยรัฐบาลกลาง[62] ผู้สมัครพรรคเดโมแครต
ในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566 โจ ไบเดิน ประกาศลงสมัครเลือกตั้งเป็นครั้งที่สอง โดยรองประธานาธิบดีอย่าง กมลา แฮร์ริส จะยังเป็นตัวแทนลงแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งอีกครั้ง[69][70] ส่งผลให้พรรครีพับลิกันวิจารณ์แฮร์ริสในประเด็นต่าง ๆ รุนแรงขึ้น[71] นับตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา คะแนนนิยมของไบเดินต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวอเมริกันจำนวนมากวิจารณ์ถึงความล้มเหลวของไบเดินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้จะมีอัตราจ้างงานสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเคยมีการคาดเดาว่าเขาอาจตัดสินใจไม่ลงสมัครเป็นครั้งที่สอง[72] สมาชิกพรรค และนักการเมืองที่มีชื่อเสียงจากเดโมแครตหลายคน เช่น แคโรลีน บี. มาโลนีย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึง ทิม ไรอัน สมาชิกจากรัฐโอไฮโอ ตอบสนองต่อข้อกังวลดังกล่าว และพยายามโน้มน้าวให้ไบเดินล้มเลิกความตั้งใจในการลงสมัคร[73][74][75] ไบเดินยังได้รับการวิจารณ์ในกรณีอายุและสุขภาพของเขา โดยหากเขาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ เขาจะมีอายุครบ 82 ปี และจะมีครบ 86 ปีเมื่อดำรงตำแหน่งครบวาระ[76] จากผลสำรวจโดยเอ็นบีซี ระบุว่า ชาวอเมริกันกว่า 70% ซึ่งในที่นี้รวมถึง 51% ที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต มีความเห็นว่าไบเดินไม่ควรลงสมัครในครั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับอายุของเขา[77] มาเรียนน์ วิลเลียมสัน นักเขียนชื่อดังจากรัฐเท็กซัส ประกาศลงสมัครในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 ไม่นานก่อนการประกาศของไบเดิน ต่อมา ในเดือนเมษายน โรเบิร์ต เอฟ.เคนเนดี จูเนียร์ หลานชายของอดีตประธานาธิบดีชื่อดัง จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศลงชิงตำแหน่ง[78][79][80] อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการวิจารณ์ในกรณีรณรงค์ต่อต้านการฉีดวัคซีน ต่อมาในเดือนตุลาคม เขาถอนตัวจากการสมัครในฐานะพรรคเดโมแครต และหันไปลงสมัครในนามอิสระ พรรครีพับลิกัน
ดอนัลด์ ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งในปี 2563 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ที่มีสิทธิลงสมัครในวาระที่สองแบบไม่ต่อเนื่องกัน และหากชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ต่อจาก โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ในปี 2434 ที่ดำรงตำแหน่งสองวาระแบบไม่ต่อเนื่องกัน[88] ทรัมป์เปิดตัวแคมเปญอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565[89] เขาประกาศว่าหากเขาชนะการหยั่งเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรค เขาจะไม่เสนอชื่อ ไมก์ เพนซ์ เป็นรองประธานาธิบดีอีก ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดนับตั้งแต่สิ้นสุดการเลือกตั้งปี 2563 ทรัมป์ตกเป็นประเด็นทางสังคมอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เมื่อเขาถูกกกล่าวหาว่าจ่ายเงินปิดปาก สตอร์มมี แดเนียลส์ นักแสดงหนังผู้ใหญ่ เพื่อให้เธอปกปิดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอและทรัมป์[90] เขาถูกฟ้องร้องอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ในข้อหาการจัดการเอกสารราชการอย่างลับ ๆ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงแห่งชาติ ทรัมป์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา[91][92] ศาลสูงสุดแห่งรัฐโคโลราโด วินิจฉัยว่าทรัมป์ขาดคุณสมบัติในการรับตำแหน่งในรัฐบาลกลางสหรัฐ ในความผิดฐานปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนก่อความไม่สงบ รวมถึงการขัดขวางกระบวนการรับรองนายไบเดินภายหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ตามด้วยเหตุจลาจลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์ เขาได้รับคะแนนนิยมและเสียงตอบรับอย่างดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และมีคะแนนนิยมสูงกว่าทรัมป์ในช่วงปลายปี[93][94][95] ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เดอซานติส เผยแพร่บทสนทนาระหว่างเขาและอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง ซีอีโอ และหัวหน้าวิศวกร ของสเปซเอ็กซ์ ใจความว่า "ความเสื่อมถอยของสหรัฐมิใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่เป็นทางเลือก...ผมลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อเป็นผู้นำในการนำความยิ่งใหญ่คืนสู่ประเทศอีกครั้ง"[96] เขาให้สัมภาษณ์กับรายการทอล์กโชว์ชื่อดังอย่าง Fox & Friends ว่าจะทำลายกลุ่มคนฝ่ายซ้ายในสหรัฐ[97] อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ชี้ให้เห็นว่าทรัมป์กลับมามีคะแนนนิยมเหนือผู้สมัครคนอื่น[98] นิกกี เฮลีย์ อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และ ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา ถือเป็นผู้สมัครที่มีคะแนนนิมยมเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566[99] ต่อมา ในเดือนมกราคมปี 2567 เดอซานติสประกาศถอนตัว และหันไปให้การสนับสนุนทรัมป์แทน อ้างอิง
|