ดอนัลด์ ทรัมป์
ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์ (อังกฤษ: Donald John Trump;[a] เกิด 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946) เป็นนักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงทางสื่อ และนักธุรกิจชาวอเมริกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021[1] และเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ซึ่งจะดำรงตำแหน่งสมัยที่สองในปี 2025 ถึง 2029[2] ในฐานะสมาชิกพรรคริพับลิกัน ทรัมป์ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเดอะทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ และเป็นผู้ก่อตั้งทรัมป์เอนเตอร์เทนเมนต์ รีสอร์ตที่มีกิจการกาสิโนและโรงแรมทั่วโลก[3] และด้วยการใช้ชีวิตที่หรูหรา[4] และการพูดจาที่โผงผางทำให้เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการจับตามองจากสื่อมากที่สุดในโลก[5] ทรัมป์เกิดและเติบโตในนครนิวยอร์ก เป็นบุตรของเฟร็ด ทรัมป์ เศรษฐีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนครนิวยอร์ก เขาได้รับอิทธิพลจากพ่อของเขาในการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์[6] และเมื่อจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในปี 1968 ทรัมป์ได้เข้าร่วมบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชันของผู้เป็นพ่อ เริ่มงานโดยการปรับปรุงโรงแรมคอมมอดอร์ เขายังคงดำเนินงานทรัมป์ทาวเวอร์ในนิวยอร์ก และหลายโครงการที่พักอยู่อาศัย ต่อมาทรัมป์ขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมการบิน[7] และธุรกิจกาสิโนแอตแลนติกซิตี รวมถึงการซื้อทัชมาฮาลกาสิโนแต่ก็ประสบภาวะล้มละลาย ในปลายทศวรรษ 1990 หลังจากฟื้นด้านธุรกิจและชื่อเสียง ในปี 2001 เขาสร้างทรัมป์เวิลด์ทาวเวอร์ อาคารที่พักอาศัยซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ[8] เขายังเริ่มสร้างทรัมป์เพลซกลุ่มอาคารหลายหลังริมแม่น้ำฮัดสัน ทรัมป์ยังเป็นเจ้าของพื้นที่การค้าในทรัมป์อินเตอร์แนชชันแนลโฮเตลแอนด์ทาวเวอร์ และพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ในแมนแฮตตันหลายล้านตารางฟุต[9] ทรัมป์ยังเป็นเจ้าของกิจการการประกวดนางงามจักรวาล และเป็นผู้อำนวยการสร้างและดำเนินรายการเรียลลิตีโชว์ The Apprentice ระหว่างปี 2004 ถึง 2015 ธุรกิจของเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีทางกฎหมายมากกว่า 4,000 ครั้ง รวมถึงการถูกฟ้องล้มละลายหกครั้ง ทรัมป์ยึดอาชีพทางธุรกิจรวมทั้งงานบันเทิงหลายปีก่อนจะประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณะในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 โดยชนะฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ด้วยวัย 70 ปี ทรัมป์จึงเป็นบุคคลอายุมากที่สุดในขณะนั้น และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากทั่วประเทศ ทรัมป์กล่าวข้อความเท็จหรือชักจูงให้เข้าใจผิดหลายครั้งทั้งก่อนดำรงตำแหน่งและในตำแหน่งซึ่งมีผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงบันทึกไว้ และสื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างกว้างขวางว่าไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองสหรัฐ ความเห็นและการกระทำหลายอย่างของเขามีลักษณะแบบนิยมเชื้อชาติอันเป็นชนวนให้เกิดการประท้วง และนำสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองและลัทธิบูชาบุคคลอย่างกว้างขวาง[10][11][12] แนวนโยบายของทรัมป์เน้นการเจราความสัมพันธ์สหรัฐ–จีนและความตกลงการค้าเสรีใหม่ เช่น นาฟตาและความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การบังคับใช้กฎหมายการเข้าเมืองอย่างแข็งขัน การสร้างกำแพงใหม่ตามชายแดนสหรัฐ–เม็กซิโก จุดยืนอื่นของเขาได้แก่การมุ่งอิสระทางพลังงานขณะที่ค้านข้อบังคับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่น เช่น แผนพลังงานสะอาดและความตกลงปารีส, ปฏิรูปกิจการทหารผ่านศึก, การแทนที่รัฐบัญญัติคุ้มครองผู้ป่วยและการบริบาลที่เสียได้, การยกเลิกมาตรฐานการศึกษาคอมมอนคอร์, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การลดความยุ่งยากของประมวลรัษฎากร (ประมวลกฎหมายภาษี) ขณะที่ลดภาษีแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และกำหนดภาษีนำเข้าต่อบริษัทที่จ้างงานนอกประเทศทำให้เกิดสงครามการค้ากับจีน ทรัมป์ส่งเสริมแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่แทรกแซงเสียส่วนใหญ่ และเพิ่มรายจ่ายทางด้านกลาโหม รวมทั้ง "การตรวจสอบภูมิหลังเต็มที่" ของผู้อพยพเข้าเมืองชาวมุสลิมเพื่อป้องกันการก่อการร้ายอิสลามในประเทศ และรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล รวมถึงการถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย เขาพบ คิม จ็อง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือสามครั้ง แต่การเจรจาเรื่องลดอาวุธนิวเคลียร์ล้มเหลว นักวิชาการและนักวิจารณ์อธิบายจุดยืนของทรัมป์ว่าเป็นประชานิยม ลัทธิคุ้มครองและชาตินิยม เขาได้รับการวิจารณ์ในกรณีการรับมือการระบาดของโควิด-19 ล่าช้า ภายหลังทรัมป์ปลดเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอในปี 2017 กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งโรเบิร์ต มอลเลอร์เป็นที่ปรึกษาพิเศษในการสืบสวน และหาความเชื่อมโยงระหว่างการรณรงค์หาเสียงของทรัมป์และรัฐบาลรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐของรัสเซียปี 2016 ผลการสอบสวนระบุว่าทรัมป์และคณะรณรงค์หาเสียงของเขาส่งเสริมการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งนั้น แต่ไม่พบหลักฐานเพียงพอตั้งข้อหาสมคบคิดหรือร่วมมือกับรัสเซีย มอลเลอร์ยังสอบสวนทรัมป์ฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรายงานของเขาสรุปโดยไม่ได้ฟ้องคดีอาญาอุกฉกรรจ์หรือว่าเขาพ้นจากความรับผิดในข้อหานั้น หลังทรัมป์ร้องขอให้ยูเครนสอบสวนโจ ไบเดิน คู่แข่งทางการเมืองของเขา สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนพิจารณาและลงมติให้ถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2019 ฐานละเมิดอำนาจและขัดขวางรัฐสภา แต่วุฒิสภาลงคะแนนเสียงว่าทรัมป์ไม่มีความผิดทั้งสองข้อหาในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ต่อมา ใน ค.ศ. 2021 เขาถูกยื่นถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง จากการปลุกระดมกลุ่มผู้สนับสนุนในเหตุการณ์จลาจล ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่ถูกยื่นถอดถอนโดยสภาผู้แทนราษฎรสองครั้ง ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งให้แก่ไบเดินใน ค.ศ. 2020 แต่ปฏิเสธการยอมรับผลเลือกตั้ง และเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่[13] หลังพ้นจากตำแหน่ง เขายังมีบทบาททางการเมืองในพรรค และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 เขาประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2024[14] ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 คณะกรรมการสอบสวนเหตุจลาจลวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ตั้งข้อหาทางอาญาต่อทรัมป์ ฐานมีส่วนร่วมในความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2020 รวมทั้งสนันสนุนการก่อจลาจล และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 คณะลูกขุนใหญ่แห่งแมนแฮตตันได้ตั้งข้อหาต่อทรัมป์ในความผิดฐานปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจมากถึง 34 กระทง รวมถึงความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศและหมิ่นประมาทอดีตคอลัมนิสต์ชาวอเมริกันใน ค.ศ. 2024 ส่งผลให้เขาเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาทางอาญา[15][16] ทรัมป์ได้รับการจัดอันดับโดยนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มให้เป็นหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐที่แย่ที่สุด[17][18] เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ทรัมป์รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารในขณะหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่ผู้ก่อเหตุได้ถูกวิสามัญ[19] ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 เหนือกมลา แฮร์ริส และเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่สองที่ชนะการเลือกตั้งสองสมัยแบบไม่ต่อเนื่องกันต่อจากโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ค.ศ. 1892 และด้วยวัย 78 ในวันที่ชนะเลือกตั้ง เขาจึงกลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุด ประวัติและชีวิตช่วงต้นทรัมป์เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ทีควีนส์, รัฐนิวยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่สี่จากทั้งหมดจำนวนห้าคน พ่อของทรัมป์ชื่อ เฟเดอริก คริส เฟรด ทรัมป์ (1905 -1999) และแม่ แมรี่ แอนนี่ ทรัมป์ (1912 - 2000)[20][21] ทรัมป์ยังมีพี่น้องทางสายเลือด แมรี แอนนี , เฟรด จูเนียร์ , แอลิซาเบธ และ โรเบิร์ต เฟรด จูเนียร์ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตเสียชีวิตปี 1981 จากแอลกอฮอลล์ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่านั้นเป็นสาเหตุทำให้เลิกแอลกอฮอลล์รวมทั้งบุหรี่ด้วย[22] ทรัมป์ไม่ชอบการจับมือ เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องมีการจับมือ ทรัมป์จะใช้การดึงเอาตัวของฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามาใกล้กับตัวเขา บรรพบุรุษทรัมป์มีบิดาที่มีเชื้อสายเยอรมัน และมารดาเชื้อสายสก็อตแลนด์ แม่ของทรัมป์และรวมทั้งปู่ย่าตายายเกิดในยุโรป ปู่ยาตายายของทรัมป์เป็นผู้อพยพมายังคาลล์ชตัดท์, เยอรมนี และพ่อของทรัมป์ที่เป็นนักอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์กเกิดในควีนส์[23][24] ส่วนแม่ของทรัมป์อพยพเข้านิวยอร์กในวันเกิดของเธอจากเกาะเลวิส สกอตแลนด์ [25] เฟรดและแมรีพบกันในนิวยอร์ก ทั้งคู่ตกลงแต่งงานกันในปี 1936 และอพยพครอบครัวไปยังควีนส์[25][26] จอห์น เค ทรัมป์ ลุงของทรัมป์ เป็นอาจารย์ในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ระหว่างปี ค.ศ. 1936 ถึง ค.ศ. 1973 ลุงของทรัมป์มีส่วนคิดค้นเรดาร์ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และคิดค้นเครื่องเอ็กซเรย์เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในปี 1943 สำนักงานสอบสวนกลางมีคำสั่งให้จอห์น ทรัมป์ ตรวจสอบกระดาษและอุปกรณ์ของนิโคลา เทสลา เมื่อครั้งที่นิโคลาเสียชีวิตในห้องของเขาที่โรงแรมนิวยอร์กเกอร์[27] เฟดริก ทรัมป์ ปู่ของทรัมป์ เปิดร้านอาหารในซีแอตเทิลและครอนไลค์ (แคนาดา)[28]ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มนับถือนิกายลูเทอแรน แต่พ่อแม่ของทรัมป์นับถือนิกายคริสตจักรปฏิรูป[29] ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มสะกดชื่อสกุลว่า Drumpf แต่ถูกเปลี่ยนเป็น Trumps ในช่วงสงครามสามสิบปี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17[30] ทรัมป์กล่าวเขารู้สึกภูมิใจสำหรับการมีเชื้อสายจากเยอรมัน และเคยเป็นผู้นำขบวนพาเหรดออร์เคสตราปี 1999 German-American Steuben Parade นครนิวยอร์ก[31] การศึกษาทรัมป์จบการศึกษาโรงเรียน The Kew-Forest School ในวัย 13 เขาสมัครโรงเรียนนายร้อยนิวยอร์ก[32] ที่คอร์นวอลล์ รัฐนิวยอร์ก ทรัมป์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดัมในเดอะบร็องซ์ เป็นเวลาสองปี หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 1964 ทรัมป์ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นแห่งแรก ๆ ในสหรัฐอเมริกา[33][34] ขณะนั้น เขาทำงานในบริษัทของครอบครัว Elizabeth Trump & Son โดยชื่อบริษัทตั้งจากชื่อย่าของทรัมป์ เขาจบการศึกษาจากฟิลาเดลเฟียในพฤษภาคม 1968 ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตด้านเศรษฐกิจ[34][35][36] ทรัมป์ไม่ได้เกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม[37] เขาได้รับการผ่อนผันเกณท์ทหาร 4 ครั้ง[38] ในปี 1966 เขาได้รับการตรวจสอบทางการแพทย์ซึ่งมีความสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถบรรจุเป็นทหารเกณฑ์ ปี 1968 ได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการท้องถิ่นซึ่งมีมติให้ผ่อนผัน ในตุลาคม 1968[39] ในบทสัมภาษณ์ชีวประวัติของทรัมป์ ปี 2015 เขาให้เหตุผลว่าที่เขาได้ใบผ่อนผันจากแพทย์เนื่องจากเขามีอาการปวดส้นเท้า[39].[40] สุขภาพทรัมป์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และบุหรี่รวมทั้งสิ่งเสพติดทุกประเภท เขามีพฤติกรรมการนอนหลับที่น้อยมากในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยเขาจะนอนเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น[41] โดยให้เหตุผลว่าการนอนมากเกินไปทำให้เสียเวลาและโอกาสในการทำเรื่องสำคัญในชีวิตและเขาไม่ค่อยออกกำลังกายเท่าไรนักเนื่องจากคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ในระหว่างการหาเสียงในปี 2015 แพท์ประจำตัวของทรัมป์อย่าง แฮโรลด์ บอร์นสไตน์ ระบุว่าทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีที่มีสุขภาพแข็งแรงที่สุดเท่าที่สหรัฐเคยมีมา[42] ครอบครัวและชีวิตสมรสดอนัลด์ ทรัมป์ สมรสกับอีวานา เซลนิชโควา นางแบบชาวเช็กเกียในปี 1977[43] ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่ ดอนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์, อิวานกา ทรัมป์, และ อีริก ทรัมป์ ซึ่งต่อมาลูกทั้ง 3 คนก็ได้มรดกจากผู้เป็นพ่อด้วยตำแหน่งรองประธานบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชันที่ซึ่งทรัมป์เป็นประธานบริหารมาอย่างยาวนาน ทรัมป์และอีวานาหย่าขาดในปี 1990 และต่อมาในปี 1993 ทรัมป์ได้สมรสครั้งที่สองกับมาร์ลา เมเปิลส์ และมีบุตร 1 คนคือ ทิฟฟานี ซึ่งตั้งชื่อตามร้านเพชรชื่อดังอย่างทิฟฟานีแอนด์โค ก่อนที่ทั้งสองจะแยกกันอยู่ในปี 1997 และหย่าขาดในปี 1999 ทรัมป์หมั้นกับเมลาเนีย คเนาส์ นางแบบชาวสโลเวเนียในปี 2004 และเข้าพิธีสมรสในปี 2005 ก่อนที่เมลาเนียจะได้รับสัญชาติอเมริกันในปี 2006 และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นเอง เมลาเนียได้ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า บาร์รอน ทรัมป์[44] ซึ่งตั้งชื่อตามนามปากกาของทรัมป์ เมลาเนียได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2017 ภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์[45] การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก (ค.ศ. 2017–2021)แม้โพลแทบทุกสำนักต่างรายงานตรงกันว่า ทรัมป์มีแนวโน้มสูงที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยโพลต่างระบุว่าตั้งแต่เริ่มต้นการหาเสียงช่วงต้นปีจนกระทั่งถึงการเสร็จสิ้นการดีเบตทั้งสามครั้งกับฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ทรัมป์มีคะแนนตามหลังคลินตัน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์สามารถชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" [46] ส่งผลให้ในวัย 70 ปี ทรัมป์เป็นบุคคลอายุมากที่สุด และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากทั่วประเทศด้วยคะแนนเสียง 63 ล้านเสียง[47] และเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีไม่กี่คนที่แพ้คะแนนมหาชนแต่สามารถชนะด้วย Electoral vote (คะแนน 304 - 227) โดย ไมค์ เพนซ์ ก็ได้ก้าวขึ้นรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ในส่วนของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น พรรคริพับลิกันชนะได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 51 ต่อ 47 เสียง ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่า ริพับลีกันครองเสียงข้างมากด้วยคะแนน 232 ต่อ 175 เสียง นโยบาย100 วันแรกทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐออกจาก TPP (ข้อตกลงการค้าในภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด โดยทรัมป์ต้องการให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับใครในการพัฒนาเศรษฐกิจ[48] และให้คำมั่นจะสร้างงานให้ชาวอเมริกันอย่างมั่นคงอีกครั้ง เขายืนยันว่าตัวเลขประชาชนผู้ตกงานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในสหรัฐจะต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีหลักการคือทำเพื่ออเมริกาให้กลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง ทรัมป์และทีมงานจะปรับแก้กฎหมายและสร้างงานให้แก่อเมริกันชนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก, รถยนต์ ไปจนถึงยารักษาโรค เป็นต้น ทรัมป์ต้องการให้เกิดกระบวนการผลิตและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นแก่คนอเมริกัน นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้เพิ่มงบประมาณทางการทหารมากขึ้นถึง 10% จากรัฐบาลโอบามา[49] ต่อมาเมื่อ วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2017 ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ประกาศว่าทรัมป์จะบริจาคเงินเดือนทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรกกว่า 78,333 ดอลลาร์ให้กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติเพื่อพัฒนาในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ในด้านการต่างประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ออกมาเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่แข็งกร้าวมากขึ้น ภายหลังจากเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ รวมทั้งทำการออกคำสั่งยิงจรวดโจมตีฐานทัพอากาศในเมืองฮอมของซีเรีย เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีโจมตีเขตพลเรือน เศรษฐกิจและสังคมทรัมป์ประกาศอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้งว่าเขาจะปฏิรูปนโยบายต่าง ๆ ที่บารัค โอบามาทำไว้ และบริหารประเทศภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" ซึ่งเป็นนโยบายที่ โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 40 เคยใช้หาเสียง[50] ตลอดระยะเวลา 4 ปีในการดำรงตำแหน่ง เขาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านเศรษฐกิจมาก[51] โดยมีการปรับภาษีให้เท่าเทียมกัน และมีการลดหย่อนภาษีลงอย่างทั่วถึง โดยรวมถึงการลดค่าใช่จ่ายในการเลี้ยงบุตรและค่ารักษาพยาบาลทั่วไปอีกด้วย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนคนว่างงานลงให้มากที่สุด นอกจากนี้ทรัมป์ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นประธานาธิบดีที่ให้ความใส่ใจกับนโยบายด้านการควบคุมผู้อพยพเข้าประเทศมากที่สุดคนหนึ่ง[52][53][54] เขาต้องการผลักดันกฎหมายแรงงานให้ชาวอเมริกันมีสิทธิ์มากกว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ ซึ่งจุดนี้จะเป็นการรับประกันเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวอเมริกันได้ รวมถึงการประกันรายได้การมีงานที่ดีรองรับโดยคำถึงถึงสิทธิ์ของคนอเมริกันเป็นอันดับแรก และเขาได้มีการเพิ่มมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการก่อการร้าย โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดจำนวนผู้อพยพจากพรมแดนเม็กซิโกและแถบละตินอเมริกาลงให้มากที่สุด[55] เขาและภรรยามีการลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหลายครั้งในหลายรัฐ และแสดงจุดยืนในการเสริมสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมอาวุธปืนโดยทั่วไป[56] แม้ว่ามุมมองของเขาจะเปลี่ยนไปบ้างหลังจากเกิดเหตุกราดยิงกันหลายครั้งในระหว่างดำรงตำแหน่ง[57] ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะเสนอกฎหมายเพื่อลดความรุนแรงในการใช้ปืน แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิกในเดือนพฤศจิกายนปี 2019 ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้กัญชา โดยเพิกถอนนโยบายของโอบามาในยุคที่ให้ความคุ้มครองสำหรับรัฐทีอนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยกำหนดโทษถึงประหารชีวิต ทรัมป์อนุมัติการให้มีการประหารชีวิตโดยรัฐบาลกลางครั้งแรกในรอบหลายปี ภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์ รัฐบาลกลางประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดรวม 13 ราย มากที่สุดในรอบ 56 ปี ในปี 2017 ทรัมป์กล่าวว่าเขาสนับสนุนการใช้วิธีการทรมานด้วยการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ภายหลังนโยบายดังกล่าวได้ถูกคัดค้านโดยเจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใน ค.ศ. 2018 ทรัมป์ปฏิเสธการลงนามในร่างกฎหมายการจัดสรรใด ๆ จากสภาคองเกรส หากแต่จะจัดสรรเงินจำนวน 5.6 พันล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนากำแพงชายแดน ส่งผลให้รัฐบาลกลางปิดตัวลงบางส่วนเป็นเวลากว่า 35 วัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 ถึงมกราคม 2019 ถือเป็นการปิดตัวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ[58] พนักงานรัฐประมาณ 800,000 รายถูกเลิกจ้างหรือต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน[59] ทรัมป์และสภาคองเกรสยุติการปิดระบบด้วยการอนุมัติเงินทุนชั่วคราวเพื่อชดเชยการจ่ายเงินล่าช้าแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ[60] การปิดระบบส่งผลให้เศรษฐกิจสูญเสียประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์[61] ตามข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวโทษทรัมป์ที่เป็นต้นเหตุของการปิดระบบ และคะแนนนิยมของทรัมป์ลดลงอย่างมากจากเหตุการณ์ดังกล่าว[62] รัฐบาลทรัมป์ได้รับเสียงชื่นชมในการขจัดปัญหาการว่างงาน พบว่ามีอัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยจำนวนหลายล้านราย[63] ประกันสุขภาพและการศึกษาเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่สุดของทรัมป์อีกประการหนึ่งตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงคือการยกเลิกประกันสุขภาพโอบามา แคร์ ของโอบามา[64] เนื่องจากเขาเล็งเห็นว่ามันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆกับประชาชนในระดับกลางและระดับล่าง[65] ทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระในการเสียภาษีฟุ่มเฟือยที่มากขึ้นอีกด้วย เขาได้มีนโยบายในการเปลี่ยนไปใช้ระบบการซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ถูกลงและยังครอบคลุมสิทธิการรักษาเมื่อเดินทางข้ามรัฐได้อีกด้วย ในส่วนของนโยบายด้านการศึกษา ทรัมป์ได้เล็งเห็นว่าเด็กคืออนาคตของชาติและต้องการสร้างความมั่นใจแก่ชาวโลกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เขามีการผลักดันการพัฒนาด้านการศึกษาทางสายอาชีพมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและจบมามีงานที่ดีทำและสามารถพึ่งพาตนเองได้[66] การต่างประเทศตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ สหรัฐได้ตั้งคำถามต่อความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายการค้าและการทหารซึ่งสอดคล้องของกับสโลแกน America First ที่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐเป็นอันดับหนึ่งซึ่งในบางครั้งได้เพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น เขาได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวในการกล้าที่จะเผชิญหน้ากับจีนและเกาหลีเหนือในฐานะประเทศคู่แข่งและผู้เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคง ทรัมป์เน้นการใช้นโยบายแบบเอกาภาคีนิยม หรือ "Unilateralism" คือให้อเมริกาลุยเดี่ยว ‘Go It Alone’ ไม่จำเป็นต้องอิงกับพันธมิตรชาติใดเป็นพิเศษซึ่งตรงข้ามกับไบเดินอย่างสิ้นเชิง[67] (เดโมแครตเน้นการใช้เครื่องมือพหุภาคีระหว่างประเทศและใช้พันธมิตรเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารงานด้านการต่างประเทศ) ยิ่งไปกว่านั้น ในสมัยที่โอบามาเป็นประธานาธิบดี และไบเดินเป็นรองประธานาธิบดี เขามีผลงานสำคัญด้านการต่างประเทศ คือการจัดทำข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2015 แต่ต่อมาภายหลังทรัมป์ได้ทำการฉีกข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตอิหร่านขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่ง[68] ในปี 2017 เมื่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทรัมป์ได้ยกระดับคำสั่งเตือนว่าเกาหลีเหนือจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กำลังทำ และเท่ากับเป็นการประกาศตัวเป็นศัตรูต่อสหรัฐและชาวโลก ในปลายปี 2017 ทรัมป์ประกาศว่าเขาต้องการให้เกาหลีเหนือ[69] "เลิกใช้นิวเคลียร์โดยสมบูรณ์" และติดต่อกับคิม จอง-อึนเพื่อยุติแผนการดังกล่าว ในห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดนี้ ทรัมป์และคิมได้แลกเปลี่ยนจดหมายกันอย่างน้อย 27 ฉบับซึ่งทั้งสองคนอธิบายถึงมิตรภาพส่วนตัวที่อบอุ่นและมีแนวโน้มทีจะดีขึ้น โดยคิมได้ยื่นข้อเสนอที่จะพบกับทรัมป์ 3 ครั้ง[70] ได้แก่: ที่สิงคโปร์ในปี 2018 ในฮานอยในปี 2019 และในเขตปลอดทหารเกาหลีภายในในปี 2019 โดยทรัมป์ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ได้พบกับผู้นำเกาหลีเหนือและได้เดินทางมาเกาหลีเหนือ[71] ทรัมป์ยังยกเลิกการคว่ำบาตรบางส่วนที่สหรัฐมีต่อเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือมิได้ยุติการพัฒนานิวเคลียร์แต่อย่างใด และการเจรจาในเดือนตุลาคม 2019 ก็ยุติลง ในขณะที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียไม่รุนแรงและตึงเครียดเท่าเกาหลีเหนือ ทรัมป์มักกล่าวชื่นชมและไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน[72] แต่ก็มีการต่อต้านการกระทำบางอย่างของรัฐบาลรัสเซียโดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ยกเลิกการคว่ำบาตรของสหรัฐที่บังคับใช้กับรัสเซียหลังจากการผนวกไครเมียในปี 2014 และทรัมป์ยังสนับสนุนให้รัสเซียกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกกลุ่ม 7[73] และภายหลังจากที่เขาได้พบกับปูตินในการประชุมสุดยอดผู้นำที่เฮลซิงกิเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกพรรคการเมืองทั้งทางฝั่งริพับลิกันและเดโมแครตในการปฏิเสธการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 แทนที่จะยอมรับการพิสูจน์เหตุการณ์ดังกล่าวของหน่วยข่าวกรองสหรัฐว่ารัสเซียได้ทำการแทรกแซงการเลือกตั้งดังกล่าวจริง รัฐบาลทรัมป์ให้การสนับสนุนการแทรกแซงของซาอุดีอาระเบียในสงครามกลางเมืองเยเมนอย่างเปิดเผย เขาลงนามในข้อตกลงมูลค่า 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อขายอาวุธให้แก่ซาอุดีอาระเบียใน ค.ศ. 2017[74] ภายหลังเหตุโจมตีโรงงานผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อ ค.ศ. 2019 สหรัฐ และซาอุดีอาระเบียร่วมกันประนามการกระทำดังกล่าวโดยเชื่อกันว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ทรัมป์อนุมัติการส่งกองกำลังสหรัฐเพิ่มเติมกว่า 3,000 นาย ซึ่งรวมถึงฝูงบินขับไล่ไปยังซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ในขณะที่ความสัมพันธ์กับอิหร่านเต็มไปด้วยความตึงเครียด ทรัมป์มีคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวจากแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม ข้อตกลงเพื่อสันติซึ่งยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต่ออิหร่านแลกกับข้อจำกัดในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทรัมป์และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐใช้ส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าวกดดันให้สหประชาชาติกลับมาพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอีกครั้ง นักวิเคราะห์ทางการเมืองแสดงทรรศนะว่าการถอนตัวของสหรัฐจากแผนดังกล่าว ส่งผลให้อิหร่านอ้างความชอบธรรมในการกลับมาพัฒนาโครงการอาุวธนิวเคลียร์อีกครั้ง[75] ทรัมป์มีบัญชาให้สหรัฐปฏิบัติการในเหตุโจมตีทางอากาศที่ท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด นำมาซึ่งการเสียชีวิตของนายพลกอเซม โซเลย์มอนี และและอะบู มะฮ์ดี อัลมุฮันดิสซึ่งสร้างความโกรธแค้นแก่รัฐบาลอิหร่าน หนึ่งสัปดาห์ต่อมา อิหร่านตอบโต้ด้วยการใช้ขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศสหรัฐสองแห่งในอิรัก ทหารหลายสิบรายได้รับบาดเจ็บสาหัส[76] ทรัมป์โจมตีจีนต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย โดยกล่าวว่าจีนเอาเปรียบสหรัฐทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม การเพิ่มจำนวนภาษีศุลกาการมหาศาลนำไปสู่สงครามการค้าจีน–สหรัฐ ได้รับการวิจารณ์ในวงกว้างว่าเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง[77] รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าสินค้าจากหัวเว่ยฐานให้การสนับสนุนอิหร่าน[78] รวมถึงเพิ่มข้อจำกัดทางการตรวจลงตราต่อนักวิชาการและนักศึกษาจีนจำนวนมาก[79] ทรัมป์ยังใช้วาจาโจมตีจีน พร้อมยกย่องสี จิ้นผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน[80] ซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจาสงครามการค้า หลังจากชื่นชมจีนในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรก ท่าทีของทรัมป์เปลี่ยนไป และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การรับมือดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ทรัมป์แสดงจุดยืนต่อต้านการลงโทษจีนสำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคซินเจียง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อการเจรจาการค้า[81] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 ฝ่ายบริหารของทรัมป์บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร และข้อจำกัดด้านการตรวจลงตราต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน เพื่อตอบสนองต่อการขยายค่ายกักกันที่ควบคุมชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์มากกว่าหนึ่งล้านคน รัฐบาลทรัมป์สนับสนุนเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล โดยรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และสนับสนุนอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงกอราน นำไปสู่การประณามจากนานาชาติรวมทั้งจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป และสันนิบาตอาหรับ[82] ในปี 2020 ทำเนียบขาวเป็นเจ้าภาพการลงนามข้อตกลงชื่อ Abraham Accords ระหว่างอิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทรัมป์มีคำสั่งให้โจมตีด้วยขีปนาวุธในพื้นที่ภูมิภาคอัสซาดในซีเรีย เพื่อตอบโต้การโจมตีเคมีที่คอนชัยคูน ค.ศ. 2020 และการโจมตีเคมีที่ดูมาในปีต่อมาตามลำดับ[83] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 ทรัมป์ประกาศว่า "เรามีชัยเหนือรัฐอิสลามแล้ว" ซึ่งขัดแย้งกับการประเมินของกระทรวงกลาโหม และมีคำสั่งถอนทหารออกจากซีเรีย[84] ในวันต่อมา พลเอกเจมส์ แมตทิส ประกาศลาออกเพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าว โดยกล่าวว่าการตัดสินใจของทรัมป์ว่าเป็นการละทิ้งพันธมิตรชาวเคิร์ดของสหรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับไอซิส (รัฐอิสลาม) ในเดือนตุลาคมปี 2019 หลังจากการหารือกับเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ทหารจากกองทัพบกสหรัฐในซีเรียตอนเหนือก็ถูกถอนออกจากพื้นที่ และตุรกีได้บุกโจมตีตอนเหนือซีเรียโดยโจมตีและขับไล่ชาวเคิร์ดที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ[85] ในเดือนนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 354–60 เสียง ประณามการที่ทรัมป์ถอนทหารสหรัฐออกจากซีเรียในฐาน "ละทิ้งพันธมิตรสหรัฐ และเป็นบ่อนทำลายการต่อสู้กับ ISIS และก่อให้เกิดหายนะด้านมนุษยธรรม" การจัดสรรบุคลากรฝ่ายบริหารในรัฐบาลทรัมป์มีอัตราการหมุนเวียนสูงโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงาน ณ ทำเนียบขาว ข้อมูลระบุว่ามีเจ้าหน้าที่กว่าร้อยละ 34 ลาออกหรือถูกไล่ออกเมื่อสิ้นสุดปีแรกในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 ผู้ช่วยอาวุโสของฝ่ายบริหารกว่าร้อย 61 ลาออกจากตำแหน่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ 141 คนจากฝ่ายบริหารทั่วไปซึ่งลาออกในปีที่แล้วซึ่งตัวเลขทั้งสองรายการถือเป็นสถิติสูงสุดของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงสองปีแรก ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งเพียง 25 วัน และเลขาธิการสื่อมวลชนอย่างฌอน สไปเซอร์ ทรัมป์เป็นที่วิจารณ์จากการดูหมิ่นและแสดงความเห็นต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ โดยใช้คำพูดเสียดสีรุนแรง เช่น ไร้ความสามารถและโง่[86] มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหรือผู้ช่วยประธานาธิบดีสี่รายในรัฐบาลทรัมป์ หัวหน้าคนแรกอย่าง ไรนซ์ พรีบัส ดำรงตำแหน่งเพียง 7 เดือนก่อนจะถูกแทนที่ด้วยพลเอก จอห์น เอฟ. เคลลี ซึ่งประกาศลาออกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 จากความไม่พอใจกรณีการถูกลดบทบาทและได้รับการดูหมิ่นจากทรัมป์[87] มิค มัลเวนีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) เข้ามารับตำแหน่งต่อ และถูกแทนที่โดยมาร์ก มีโดวส์ เดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ทรัมป์ยังสูญเสียสมาชิกคณะรัฐมนตรีเดิมไปถึง 3 รายจากทั้งหมด 15 คนภายในปีแรกของการรับตำแหน่ง[88] ทอม ไพรซ์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกบังคับให้ลาออกในเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 จากกรณีการใช้เครื่องบินส่วนตัว และเครื่องบินของกองทัพมากเกินความจำเป็น[89] ทรัมป์ยังมีการตอบสนองต่อการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสองในฝ่ายบริหารที่ล่าช้า โดยให้เหตุผลว่าหลายตำแหน่งไม่มีความจำเป็นต่อการบริหาร จากข้อมูลในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งย่อยในคณะรัฐมนตรีกว่า 100 ตำแหน่งยังไม่ได้รับการเสนอชื่อ นอกจากนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อในตำแหน่งระดับสูงเพียง 433 รายจากตำแหนงว่าง 706 ตำแหน่ง การรับมือกับไวรัสโคโรนาในเดือนธันวาคม 2019 ไวรัสโคโรนาได้แพร่ระบาดขึ้นในอู่ฮั่น และแพร่กระจายทั่วโลกภายในไม่กี่สัปดาห์[90] ผู้ติดเชื้อรายแรกได้รับการยืนยันในสหรัฐเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2020[91] การระบาดได้รับการประกาศทางการว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดย Alex Azar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการบริการมนุษย์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 ในเดือนต่อมา ทรัมป์กล่าวต่อสาธารณชนว่าการระบาดในสหรัฐร้ายแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่และอยู่ภายใต้การควบคุม ในขณะเดียวกันเขากลับกล่าวยอมรับสิ่งที่ตรงกันข้ามออกมาในการสนทนาส่วนตัวกับ บ็อบ วูดวาร์ด ในเดือนมีนาคม โดยทรัมป์บอกกับวูดวาร์ดว่าเขาจำเป็นต้องให้สัมภาษณ์ในเชิงบวกเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2020 การจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และไบออนเทคล็อตแรกได้เดินทางถึงสหรัฐ และถูกส่งไปยัง 50 รัฐทั่วประเทศ พ้นจากตำแหน่งดอนัลด์ ทรัมป์ ประสบกับความยากลำบากในการหาเสียงในการเลือกตั้งสมัยที่สอง[92] โพลทุกสำนักต่างรายงานว่าเขามีคะแนนตามหลังไบเดินมากถึง 10 จุด คะแนนความนิยมของเขายิ่งลดน้อยลงในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และความรุนแรงจากการประท้วงในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อดีตเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญของทำเนียบขาว และคณะรัฐมนตรีต่างทยอยออกมาพูดถึงทรัมป์ในแง่ลบ และสมาชิกพรรคแทบทุกคนต่างถอดใจว่าเขาจะแพ้การเลือกตั้ง ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมัยที่สอง (และคนแรกในรอบ 28 ปีต่อจากจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช)[93] แม้เขาจะสามารถรักษาฐานเสียงของตนเองไว้ได้ในหลายรัฐ[94] (โดยเฉพาะตอนกลางและทางเหนือของประเทศที่ประชากรมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม) แต่ก็เสียคะแนนให้แก่ไบเดินในหลายรัฐทางตะวันตกและตะวันออก[95] โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบว่า ทรัมป์ล้มเหลวในการรับมือโควิด-19[96] และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านสิทธิมนุษยชน และการเหยียดผิวจากกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์[97] รวมทั้งการประกาศสงครามการค้า, การตั้งกำแพงภาษีกับจีน และอีกหลายประเทศได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจลามไปทั้งโลก[98] ในขณะที่ประชาชนกว่า 74 ล้านเสียง ที่ยังคงเชื่อมั่นและเทคะแนนให้เขาเนื่องมาจากความมั่นใจในนโยบายทางเศรษฐกิจและการปราบปรามผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการแก้ปัญหาการว่างงาน รัฐจอร์เจียได้ประกาศนับคะแนนใหม่ในขณะที่ไบเดินมีคะแนนนำทรัมป์ 14,000 คะแนน ท้ายที่สุดไบเดินเอาชนะได้ในรัฐนี้ โดยในช่วงแรกของการนับคะแนนทั่วประเทศทรัมป์มีคะแนนนำไบเดิน แต่เมื่อนับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ คะแนนของไบเดินก็ตีตื้นขึ้นมาและเอาชนะไปได้หลายรัฐ[99] ไบเดินยังถือเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้รับคะแนนมหาชนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 81 ล้านเสียง[100] ทรัมป์ลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021 ดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง (ค.ศ. 2025–2029)การหาเสียงทรัมป์ประกาศลงสมัครเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 พร้อมกับจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเลือกตั้ง[101] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 ศาลสูงสดแห่งรัฐโคโลราโดได้ตัดสินให้ทรัมป์ถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคริพับลิกัน เนื่องจากการสนับสนุน และยุยงเหตุโจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ต่อมา ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2024 ศาลสูงสุดสหรัฐรับรองคุณสมบัติให้แก่ทรัมป์อีกครั้ง โดยตัดสินว่าศาลแห่งรัฐโคโลราโดขาดอำนาจในการบังคับใช้มาตรา 3 จากการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ซึ่งห้ามผู้ก่อความไม่สงบจากการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลกลาง[102] ทรัมป์มีการใช้วาทกรรมที่รุนแรงมากขึ้นในการหาเสียงครั้งนี้เทียบกับครั้งที่ผ่านมา[103][104] เขาวิจารณ์ความล้มเหลวในการบริหารของไบเดิน และมุ่งเป้าโจมตีผู้สมัครจากเดโมแครตซึ่งก็คือกมลา แฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดีคนปัจจุบันซึ่งมีส่วนทำให้การบริหารประเทศล้มเหลว ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะติดอาวุธให้แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและเอฟบีไอเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขา รวมถึงสนับสนุนการใช้กำลังทหารติดตามนักการเมืองจากพรรคเดโมแครตซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองตรงข้าม ทรัมป์ใช้ถ้อยคำต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองที่รุนแรง และลดทอนความเป็นมนุษย์มากกว่าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การยอมรับและสนับสนุนลัทธิหัวรุนแรงฝ่ายขวาจัดของเขา และการใช้วาทศิลป์ที่รุนแรงมากขึ้นต่อศัตรูทางการเมืองได้รับการอธิบายโดยนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการว่าเป็นประชานิยม และเผด็จการฟาสซิสต์ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในการหาเสียงของประธานาธิบดีคนใดมาก่อน[105] ทรัมป์แสดงเจตนาในการปฏิวัตินโยบายการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลของไบเดิน โดยใช้คำพูดเปรียบเปรยถึงผู้อพยพเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมในสหรัฐ ประชาชนและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งแสดงความกังวลต่ออายุที่มากขึ้นและปัญหาทางสุขภาพของทรัมป์ เขายังยืนกรานปฏิเสธการยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และยังเชื่อว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างเปิดเผย และจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ทรัมป์รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารในขณะหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่ผู้ก่อเหตุได้ถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ ประธานาธิบดีไบเดินออกมาประณามการกระทำดังกล่าว และกล่าวว่าสหรัฐไม่มีพื้นที่สำหรับความรุนแรงหรือการปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างด้วยกำลังและการประทุษร้าย[106] สองวันต่อมา ในการประชุมสามัญของริพับลิกัน พรรคมีมติเสนอชื่อทรัมป์พร้อมด้วยวุฒิสภาชิกอย่าง เจดี แวนซ์ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ทรัมป์กล่าวกับผู้ฟังในขณะหาเสียงถึงความพยายามลอบสังหารเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้ และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าพยายามขัดขวางความพยายามของเขา การชุมนุมครั้งนี้มีผู้มีชื่อเสียงได้รับเชิญหลายคน ซึ่งล้วนสะท้อนความรู้สึกที่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ในขณะที่การสืบสวนเรื่องภัยคุกคามต่อทรัมป์ยังคงดำเนินต่อไป[107] การหาเสียงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากอีลอน มัสก์ นักธุรกิจชื่อดัง โดยมัสก์มีชื่อเป็นผู้บริจาคให้แก่แคมเปญหาเสียงของทรัมป์สูงสุดเป็นอันดับสองเมื่อสิ้นปี 2023 มัสก์สนับสนุนแนวคิดของทรัมป์ในการบอกกับประชาชนว่าแดโมแครตคือภัยต่อความมั่นคงของชาติ[108][109] ทีมงานของทรัมป์เน้นลงพื้นที่ใน 7 รัฐสำคัฐซึ่งล้วนแต่เป็นรัฐสมรภูมิหรือรัฐที่มีแนวโน้มว่าผลการเลือกตั้งอาจผันผวน อันประกอบไปด้วย แอริโซนา, วิสคอสซิน, มิชิแกน, เพนซิลเวเนีย, เนวาดา, นอร์ทแคโรไลนา และฟลอริดา แม้โพลหลายสำนักจะรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่าทรัมป์มีคะแนนตามหลังในรัฐดังกล่าวเล็กน้อย ได้รับชัยชนะทรัมป์คว้าชัยเหนือกมลา แฮร์ริส ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่าทรัมป์เอาชนะได้ถึง 30 รัฐซึ่งรวมถึง 7 รัฐสมรภูมิสำคัญ[110] นอกจากนี้ เขายังรักษาฐานเสียงในรัฐอนุรักษ์นิยมได้ทุกรัฐในภูมิภาคตอนกลางและตอนเหนือ โดยได้รับชัยชนะขาดลอยในหลายรัฐ เช่น ไวโอมิง, ยูทาห์, โอคลาโฮมา, ลุยเซียนา และอาร์คันซอ เขายังได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์กซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของเดโมแคตรมาเกือบหนึ่งศตวรรษด้วยคะแนนเกือบ 5 ล้าน และ 3.5 ล้านคะแนนตามลำดับ ด้วยวัย 78 ปีในวันเลือกตั้ง เขาจึงเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทรัมป์ประกาศชัยชนะอย่างไม่เป็นทางการในช่วงดึกตามเวลาท้องถิ่น ณ เวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา โดยเจดี แวนซ์ จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 50 ทั้งคู่มีกำหนดเข้าพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025[111] ทรัมป์ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งสองสมัยแบบไม่ต่อเนื่องกัน นับตั้งแต่โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1892 เขายังกลายเป็นผู้สมัครคนแรกในรอบกว่า 20 ปีจากพรรครีพับลิกันที่ชนะคะแนนมหาชน (Popular Vote) ซึ่งเขาล้มเหลวมาสองครั้งก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2016 และ 2020 ในครั้งนี้เขาได้รับคะแนนมหาชนเกือบ 75 ล้านเสียง นโยบายทรัมป์ประกาศอย่างแข็งกร้าวตั้งแต่ก่อนหาเสียงว่าจะกลับมาฟื้นฟูประเทศภายใต้นโยบาย "Make America Great Again" อีกครั้ง โดยเฉพาะการปราบปราบผู้ลักลอบอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการตั้งกำแพงภาษีเพื่อลดการถูกเอาเปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมจากชาติมหาอำนาจด้วยกัน การต่างประเทศแม้จะยังไม่เข้าพิธีสาบานตนเพื่อดำรงตำแหน่งในสมัยที่สอง ทว่าในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ทรัมป์เริ่มต้นนโยบายต่างประเทศด้วยการแต่งตั้งทูตสหรัฐประจำประเทศอิสราเอล รวมทั้งแต่งตั้งสตีฟ วิตคอฟฟ์ ในฐานะผู้แทนพิเศษประจำภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อกำกับดูแลนโยบายตามบัญชาของประธานาธิบดี นอกจากนี้ บีบีซียังรายงานว่า ทรัมป์แต่งตั้งพีท เฮกเซธ และมาร์โก รูบิโอ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนต่อไปตามลำดับ[112][113] การจัดสรรบุคลากรเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 ทรัมป์แต่งตั้งอีลอน มัสก์ และวิเวก รามสวามี เข้ารับตำแหน่งผู้ดูแลกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาลซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ โดยเป็นหน่วยงานที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล[114] ต่อมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ทรัมป์เสนอชื่อโรเบิร์ต เอฟ.เคนเนดี จูเนียร์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ นำมาซึ่งกระแสวิจารณ์และการต่อต้านจากสมาชิกพรรคเนื่องจากจุดยืนการต่อต้านวัคซีนของนายโรเบิร์ต[115][116] นอกจากนี้ ทรัมป์ยังแต่งตั้งแคโรไลน์ เลวิตต์ ดำรงตำแหน่งโฆษกหญิงประจำทำเนียบขาว โดยเลวิตต์มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ช่วยรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ตั้งแต่การเลือกตั้งสมัยแรกในช่วง และเป็นอดีตผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของพรรคริพับลิกัน โดยเลวิตต์จะเป็นว่าที่โฆษกประจำทำเนียบขาวที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์[117] สื่อสังคมทรัมป์ถือเป็นหนึ่งในบุคคลระดับโลกที่มีชื่อเสียงในด้านการใช้โซเชียลมีเดีย[118] โดยเขามีผู้ติดตามจำนวนมากนับตั้งแต่สมัครบัญชีทวิตเตอร์ใน ค.ศ. 2009 และมีจำนวนผู้ติดตามสูงถึง 90 ล้านคนทั่วโลก โดยตลอดระยะเวลา 12 ปี เขาทำการโพสต์ในทวิตเตอร์ไปถึง 57,000 ครั้ง โดยเป็นการโพสต์ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง 25,000 ครั้ง[119] เขายังชื่นชอบการติดต่อสื่อสารผ่าน เฟซบุ๊ก โดยมักใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โจมตีคู่แข่งทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง เช่น บารัก โอบามา และโจ ไบเดิน รวมถึง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทรัมป์มาตลอดตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งในช่วงแรก[120] บัญชีเฟซบุ๊กของทรัมป์ถูกระงับในเดือนมกราคมปี 2021[121] งานอื่นใน ค.ศ. 2004 ทรัมป์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยทรัมป์ ณ เมืองนิวยอร์ก บริษัทที่ขายด้านอสังหาริมทรัพย์ในราคาสูงถึง 35,000 ดอลลาร์[122] อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Trump Entrepreneur Initiative ในปี 2010 เนื่องจากการใช้ชื่อ "University" โดยที่บริษัทดังกล่าวไม่มีสถานะเป็นสถานศึกษาถือว่าขัดต่อกฎหมายรัฐ นำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อบริษัทโดยรัฐนิวยอร์กในข้อหาการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณะและเข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค รวมถึงการฟ้องร้องโดยรัฐบาลกลางต่อทรัมป์และบริษัทในข้อหาให้ข้อมูลเท็จและสร้างความเข้าใจผิดแก่นักศึกษา ไม่นานหลังจากชนะเลือกตั้งใน ค.ศ. 2016 ทรัมป์ยอมจ่ายเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติการฟ้องร้องดังกล่าว ทรัมป์ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ ดอนัลด์ เจ. ทรัมป์ มูลนิธิเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1988[123] ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ถึง 2006 ทรัมป์บริจาคเงินให้กับมูลนิธิของเขาจำนวน 5.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากบริจาคเงินทั้งหมด 65,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2007-08 เขายุติการบริจาคเงินส่วนบุคคลใด ๆ ให้กับองค์กรการกุศลซึ่งได้รับเงินสนับสนุนหลายล้านดอลลาร์จากกองทุนอื่น ๆ ในปี 2016 หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่าองค์กรการกุศลดังกล่าวได้กระทำการละเมิดกฎหมายและจริยธรรมที่อาจเกิดขึ้นหลายประการ รวมถึงการถูกกล่าวหาว่าเป็นการจัดการตนเองและการหลีกเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ ในปี 2016 อัยการสูงสุดของนิวยอร์กได้ตัดสินให้มูลนิธิดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐ สำหรับการเรี่ยไรเงินบริจาคโดยไม่ผ่านการตรวจสอบภายนอกประจำปี และสั่งให้ยุติกิจกรรมระดมทุนในนิวยอร์กทันที ทีมงานของทรัมป์ประกาศยุติการเคลื่อนไหวของมูลนิธิในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2016[124] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 สำนักงานอัยการสูงสุดแห่งนิวยอร์กได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อมูลนิธิของทรัมป์ และบุตรทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว โดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 2.8 ล้านดอลลาร์และกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติม[125] มูลนิธิภายใต้ความดูแลของเขายุติบทบาทสิ้นเชิงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 รวมถึงยุติการเบิกจ่ายทรัพย์สินให้แก่องค์การการกุศลอื่น ๆ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ผู้พิพากษาแห่งรัฐนิวยอร์กมีคำสั่งให้ทรัมป์จ่ายเงินชดเชยจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ให้กับกลุ่มองค์กรการกุศลที่ใช้เงินของมูลนิธิในทางที่ผิด ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นเงินทุนในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา[126][127] ในช่วงทศวรรษ 1980 ธนาคารมากกว่า 70 แห่งให้เงินกู้ยืมแก่ทรัมป์เป็นจำนวนเงินสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์ หลังจากการล้มละลายของบริษัทของเขาในต้นทศวรรษ 1990 ธนาคารรายใหญ่ส่วนใหญ่ ยกเว้นดอยซ์แบงก์ปฏิเสธที่จะอนุมัติการกู้ยืมแก่เขา หลังเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ธนาคารได้ตัดสินใจที่จะไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเงินใด ๆ กับทรัมป์หรือบริษัทของเขาอีก[128] ยูเอสเอทูเดย์ รายงานว่าทรัมป์และธุรกิจของเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีทางกฎหมายของรัฐและรัฐบาลกลางมากกว่า 4,000 ครั้ง[129] ทรัมป์ยังมีส่วนร่วมในวงการมวยปล้ำของสหรัฐ โดยในปี 2013 ดับเบิลยูดับเบิลยูอี สมาคมมวยปล้ำชื่อดังได้บรรจุชื่อทรัมป์เข้าสู่หอเกียรติยศประจำปี 2013 ในหมวด Celebrity (ผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับการจดจำในการมีบทบาทและมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับสมาคม)[130] โดยในการแข่งขันเรสเซิลเมเนียครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2007 ทรัมป์ได้เป็นแขกรับเชิญในรายการ ณ เวลานั้น ทรัมป์มีสถานะเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์และนักธุรกิจ เขาได้รับบทบาทเป็นหุ้นส่วนของสมาคมก่อนจะแตกคอกับวินซ์ แม็คมาน ประธานบริหารสมาคม ทำให้ทั้งคู่มาเผชิญหน้ากันในครั้งนี้ โดยต่างฝ่ายต่างสนับสนุนนักมวยปล้ำฝั่งละ 1 คน ซึ่งทรัมป์อยู่ฝั่งของ บ็อบบี้ แลชลีย์ ส่วนแม็คมานเลือกอูมากา พร้อมกับเดิมพันว่าหากนักมวยปล้ำของใครแพ้ ฝั่งนั้นจะต้องโกนหัวต่อหน้าผู้ชมในสนาม ปรากฏว่า แลชลีย์ เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้สำเร็จ ทำให้ทรัมป์จัดการจับแม็คมานโกนหัวบนเวที ทรัมป์ยังเป็นที่จดจำในฐานะนักเขียนกำบัง โดยมีผลงานเขียนหนังสือ 19 เล่ม[131] เล่มแรกคือ Trump: The Art of the Deal (ค.ศ. 1987) มียอดขายอันดับหนึ่งโดยอันดับหนังสือขายดีเดอะนิวยอร์กไทมส์ แม้ทรัมป์จะได้รับเครดิตในฐานะผู้เขียนร่วม แต่เนื้อหาเกือบทั้งหมดนั้นเขียนโดยโทนี ชวาร์ตซ์ หนังสือเล่มนี้ทำให้ทรัมป์มีชื่อเสียงในฐานะ "สัญลักษณ์ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ"[132] ความสัมพันธ์กับสื่อทรัมป์มีชื่อเสียงในด้านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2016 เขามีความสัมพันธ์ในแง่ที่เรียกว่า "ทั้งรักทั้งเกลียด" (Love - Hate relationship) กับสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ[133] เขามักเรียกสื่อที่เขียนข่าวโจมตีเขาในแง่ลบว่าเป็นสื่อจอมลวงโลก (Fake News Media) และกล่าวว่าสื่อเหล่านี้เป็นศัตรูต่อประชาชนรวมทั้งประเทศชาติ ในฐานะประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยต่อสาธารณะชนอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการเพิกถอนหนังสือรับรองของนักข่าวที่เขามองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่สร้างสรรค์[134] ทีมกฎหมายของเขาทำการเพิกถอนบัตรประจำตัวของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว 2 คน ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว หลายต่อหลายครั้งที่ทรัมป์ถูกโจมตีว่ามักใช้วาจาข่มขู่ผู้สื่อข่าวหลายครั้ง ในช่วงต้นปี 2020 ทีมแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะวอชิงตันโพสต์ และ ซีเอ็นเอ็นในข้อหาหมิ่นประมาท ก่อนที่คดีดังกล่าวจะถูกยกฟ้อง ภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนจากผลสำรวจโดย "C-Span" ในปี 2021 นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มจัดอันดับให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่แย่ที่สุดเป็นอันดับสี่ในการเมืองสหรัฐ เขาได้รับคะแนนต่ำสุดในหัวข้อความเป็นผู้นำทั้งอำนาจทางศีลธรรมและทักษะการบริหาร ในขณะที่ผลสำรวจของสถาบันวิจัยวิทยาลัยเซียนาจัดอันดับให้ทรัมป์อยู่ในอันดับ 43 จากประธานาธิบดีจำนวน 45 คน รวมถึงได้รับการจัดอันดับในกลุ่มท้าย ๆ ในอีกหลายประเภท รวมถึงการจัดอันดับโดยสมาคมวิชาชีพนักรัฐศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับดังกล่าวได้รับการวิจารณ์ในด้านความเป็นกลาง ซึ่งคะแนนทั้งหมดอาจมาจากผลสำรวจจากประชาชนเพียงบางกลุ่มและไม่สามารถสะท้อนความนิยมในภาพรวมทั้งประเทศ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ไม่เคยได้รับคะแนนเสียงในการอนุมัติ (คะแนนความเชื่อถือในฐานะประธานาธิบดี) ถึงร้อยละ 50 ในการสำรวจความคิดเห็นของ Gallup ซึ่งมีขึ้นในปี 1938 คะแนนของเขาแสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างพรรคริพับลิกันที่สูงเป็นประวัติการณ์กว่าร้อยละ 88 และร้อยละ 7 ในบรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครตจนถึงเดือนกันยายน 2020[135] ภายหลังการดำรงตำแหน่งครบวาระ คะแนนนิยมของทรัมป์อยู่ระหว่าง 29 ถึง 34 เปอร์เซ็นต์ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีทุกคนนับตั้งแต่เริ่มระบบการเลือกตั้งสมัยใหม่ และมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ตลอดการดำรงตำแหน่งของเขา[136] อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่บ้างในประชากรหลายล้านคน จากผลสำรวจชาวอเมริกันในหัวข้อชายที่เป็นที่นิมยมที่สุดในสหรัฐพบว่า ทรัมป์มีคะแนนเป็นอันดับสองรองจากบารัก โอบามา ในปี 2017 และ 2018 และเป็นอันดับหนึ่งร่วมกับโอบามาในปีต่อมา ก่อนจะได้รับคะแนนอันดับหนึ่งในปี 2020[137][138] นับตั้งแต่ Gallup ทำผลสำรวจในปี 1948 ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่ได้คะแนนนิยมอันดับหนึ่งในปีแรกของการดำรงตำแหน่ง[139] จากผลสำรวจในอีก 134 ประเทศยังชี้ให้เห็นอีกว่าทรัมป์เป็นที่ยอมรับเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเท่านั้น โดยจำนวน 29 ประเทศระบุว่าเขาเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าโอบามา[140] คะแนนนิยมของเขายังลดลงอย่างมากในบรรดาประเทศพันธมิตรหลักของสหรัฐ และกลุ่มผู้นำของประเทศมหาอำนาจกลุ่ม 7 เมื่อเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า คะแนนนิยมของทรัมป์ตกต่ำและใกล้เคียงกับคะแนนในช่วงสองปีสุดท้ายของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในช่วงกลางปี 2020 จากผลสำรวจของสำนักวิจัยพิว พบว่าคะแนนความน่าเชื่อถือของเขาน้อยกว่าสี จิ้นผิง และ วลาดีมีร์ ปูติน[141] ทรัมป์เป็นที่วิจารณ์ถึงการกล่าวข้อความเท็จจำนวนมาก ทั้งก่อนและระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี[142] ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองของเขาอย่างหนึ่ง[143] คำให้การที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดการเข้าใจผิดของทรัมป์ได้รับการบันทึกไว้โดยผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายครั้ง (Fact-checking) ซึ่งรวมถึงสื่อหลักอย่างเดอะวอชิงตันโพสต์ ซึ่งรวบรวมคำกล่าวที่เป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดได้ 30,573 รายการตลอดระยะเวลาสี่ปีในตำแหน่งของเขา อัตราดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยมากถึง 6 รายการต่อวันในช่วงปีแรกของการดำรงตำแหน่ง และ 39 รายการต่อวันในปีสุดท้าย แม้ในบรรดาข้อความดังกล่าวอาจไม่ส่งผลกระทบใด ๆ เช่น การกล่าวอ้างว่ามีผู้สนับสนุนออกมาต้อนรับเขามากเป็นประวัติการณ์ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง แต่อีกหลายข้อความก็นำมาซึ่งความเสียหายในวงกว้าง เช่น การให้ข้อมูลเท็จกรณีการระบาดทั่วของโควิด-19 ซึ่งเขาถูกกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง[144] ทำให้การตอบสนองล่าช้าและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การโจมตีวิธีการลงคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์ในการเลือกตั้ง 2020 ส่งผลให้คะแนนนิยมของเขาต่ำลง สื่อแสดงความกังวลเพิ่มเติมว่าการใช้วาทกรรทของเขาอาจนำสู่ความขัดแย้งในวงกว้างและสร้างความเกลียดชังมากขึ้น ผู้ต้องหาจำนวนมากถูกสอบสวนหรือดำเนินคดีในข้อหากระทำความรุนแรงและปลุกปั่นอาชญากรรมในระหว่างการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ รวมถึงผู้เข้าร่วมเหตุการณ์โจมตีรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 โดยบางส่วนอ้างถึงวาทกรรมของทรัมป์ในการโต้แย้งว่าพวกเขาไม่สมควรถูกตำหนิหรือควรได้รับการลดโทษ การแสดงความเห็นหรือวาทกรรมในหลายบริบทของทรัมป์ถูกมองเป็นการเหยียดเชื้อชาติ[145][146] การศึกษาและการสำรวจหลายรายการพบว่าทัศนคติเหยียดเชื้อชาติดังกล่าว กระตุ้นให้ทรัมป์ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางการเมือง และมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจในการพิจารณาความจงรักภักดีของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทรัมป์[147] ในขณะที่อาการกลัวอิสลามและการเหยียดเชื้อชาติเป็นตัวบ่งชี้ทัศนคติของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างมีนัยสำคัญ[148] ในปี 1975 เขาได้ยุติคดีฟ้องร้องของกระทรวงยุติธรรม โดยกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยต่อผู้เช่าซึ่งเป็นประชากรผิวดำ นอกจากนี้ เขายังถูกกล่าวหาว่าเจตนาเหยียดเชื้อชาติโดยแสดงความเห็นว่ากลุ่มวัยรุ่นผิวดำ และวัยรุ่นชาวลาตินมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราสตรีผิวขาวในคดีนักวิ่งจ๊อกกิ้งที่เซ็นทรัลพาร์คเมื่อปี 1989 แม้ว่าพวกเขาจะพ้นผิดจากหลักฐานดีเอ็นเอในปี 2002 ก็ตาม ทรัพย์สินทรัมป์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยมากที่สุดของสหรัฐ[6] เขาเริ่มสร้างเนื่อสร้างตัวจากธุรกิจที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อ[149] และได้ขยายกิจการไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น กาสิโน โรงแรม ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม[150] อีกทั้งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชัน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา[6] ในปี 2018 เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานชีวประวัติและข้อมูลความร่ำรวยของทรัมป์ว่าทรัมป์มีความมั่งคั่งกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ทั้งนี้ ความมั่งคั่งของทรัมป์ยังคงมีความคลุมเคลือ โดยเขาเคยเคยเปิดเผยว่ามีทรัพย์สินมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์[151] ในขณะที่บลูมเบิร์กประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3 พันล้านดอลลาร์ และนิตยสารฟอร์จูนประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3.9 พันล้านดอลลาร์[152] อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทรัมป์เปิดเผยว่าธุรกิจของตนได้รับความเสียหายจากการล็อกดาวน์ โดยรายได้จากโรงแรมในเครือของทรัมป์ทั้งในวอชิงตันและลาสเวกัสลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง รวมถึงธุรกิจกีฬากอล์ฟ ทำให้รายได้โดยรวมของเขาลดลงจนเหลืออยู่ที่ประมาณ 273-308 ล้านดอลลาร์ ในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ลงรายละเอียดความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ในตอนที่ธุรกิจท่องเที่ยวมากมายได้รับผลกระทบ โดยสมัยที่เป็นผู้นำสหรัฐทรัมป์ได้ต่อต้านนโยบายที่จะชะลอการแพร่ระบาดผ่านการใส่หน้ากากอนามัยและยืนยันว่าสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างปลอดภัย ข้อมูลการเงินที่ครอบคลุมตลอดทั้งปี 2020 จนถึง 20 วันแรกของปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากโรงแรมทรัมป์ในวอชิงตัน ลดลงเหลือ 15.1 ล้านดอลลาร์จากเดิม 40.5 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อนหน้า[153] ขณะที่สาขาลาสเวกัส ยอดขายที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมลดลงเหลือ 9.2 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 23.3 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ กอล์ฟรีสอร์ตที่เมืองไมแอมี ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญอีกแห่งของทรัมป์ ก็มีรายได้ลดลงเหลือ 44 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 77 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า ขณะที่สนามกอล์ฟทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์ก็มีรายได้ลดลงประมาณ 2 ใน 3 ของที่เคยทำได้ในปีก่อนหน้า โดยข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก พบว่า ทรัพย์สินของทรัมป์ลดลงราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 21,525 ล้านบาท เหลือ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70,725 ล้านบาทหลังก้าวลงจากตำแหน่ง[6] วัฒนธรรมร่วมสมัยทรัมป์เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกที่ปรากฎตัวในสื่อล้อเลียนทางโทรทัศน์และเพลงจำนวนมาก ชื่อของเขาปรากฎในเนื้อเพลงหลายร้อยเพลงระหว่างปี 1989 ถึง 2015 แม้จะส่งผลในเชิงบวกต่อการทำธุรกิจของเขาในช่วงก่อนลงเล่นการเมือง ทว่าได้ส่งผลเชิงลบในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ[154] เชิงอรรถ
อ้างอิง
ข้อมูลอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|