Share to:

 

ค็อนราท อาเดอเนาเออร์

ค็อนราท อาเดอเนาเออร์
Konrad Adenauer
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตก
ดำรงตำแหน่ง
15 กันยายน 1949 – 16 ตุลาคม 1963
ประธานาธิบดี
ก่อนหน้าลุทซ์ กราฟ ชเวรีน ฟ็อน โครซิค
ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีไรช์
ถัดไปลูทวิช แอร์ฮาร์ท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
15 มีนาคม 1951 – 6 มิถุนายน 1955
หัวหน้ารัฐบาลตัวเอง
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปไฮน์ริช ฟ็อน เบร็นทาโน
หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน
ดำรงตำแหน่ง
1 มีนาคม 1946 – 23 มีนาคม 1966
ก่อนหน้าไม่มี (เป็นคนแรก)
ถัดไปลูทวิช แอร์ฮาร์ท
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 มกราคม 1876
โคโลญ จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต19 เมษายน ค.ศ. 1967(1967-04-19) (91 ปี)
บาทฮ็อนเน็ฟ, เยอรมันตะวันตก
ศาสนาโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน
คู่สมรสเอ็มมา ไวเออร์
เอากุสเทอ ซินเซอร์
ลายมือชื่อ

ค็อนราท แฮร์มัน โยเซ็ฟ อาเดอเนาเออร์ (เยอรมัน: Konrad Hermann Josef Adenauer) เป็นรัฐบุรุษชาวเยอรมัน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมนีตะวันตก ผู้สร้างชาติเยอรมนีตะวันตกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองที่มีชื่อว่าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน

ประวัติ

อาเดอเนาเออร์ในปี 1896

ค็อนราท อาเดอเนาเออร์ เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1876 ที่โคโลญ ราชอาณาจักรปรัสเซีย จักรวรรดิเยอรมัน[1] เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 5 คนของนายโยฮัน ค็อนราท อาเดอเนาเออร์ (Johann Konrad Adenauer) อาชีพนิติกร กับนางเฮเลเนอ ชาร์เฟินแบร์ค (Helene Scharfenberg)

ครอบครัวของอาเดอเนาเออร์เป็นครอบครัวที่เคร่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในวัยเด็กเขาเข้าเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนซังคท์อพ็อสเทิลน์ (St. Aposteln) ในโคโลญและจบการศึกษาในปี 1894 จากนั้นบิดาของเขาขอทุนการศึกษาจากมูลนิธิให้เขาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไฟรบวร์ค และตามด้วยมหาวิทยาลัยมิวนิก และมหาวิทยาลัยบ็อน ในสาขาวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เขาสำเร็จการศึกษาในปี 1897 และสอบได้เนติบัณฑิตหนึ่งในปีเดียวกัน และได้ทำงานฝึกหัดที่ศาลในโคโลญ จนกระทั่งในปี 1901 เขาสอบได้เนติบัณฑิตสอง (ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

งานการเมือง

นายกเทศมนตรีนครโคโลญ

ในปี 1909 ค็อนราท อาเดอเนาเออร์ ได้เป็นรองนายกเทศมนตรีนครโคโลญ และในปี 1917 ก็ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครโคโลญ ซึ่งในช่วงที่จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายในปี 1919 จากความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายกเทศมนตรีอาเดอเนาเออร์สามารถรักษาความเรียบร้อยภายในโคโลญ เขาเรียกร้องให้มีการยุบปรัสเซีย และให้สถาปนาอาณาเขตเดิมของปรัสเซียที่เรียกว่า "ไรน์ลันท์" ขึ้นเป็นรัฐปกครองตนเอง เพื่อที่จะป้องกันมิให้ไรน์ลันท์ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส[2] ข้อเสนอของอาเดอเนาเออร์ถูกคัดค้านอย่างหนักจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลปรัสเซีย

เมื่อร่างสนธิสัญญาแวร์ซาย ถูกนำเสนต่อรัฐบาลชั่วคราวของเยอรมนีในเดือนมิถุนายน 1919 อาเดอเนาเออร์นำเสนอต่อรัฐบาลกลางอีกครั้ง ให้มีการสถาปนาไรน์ลันท์เป็นรัฐปกครองตนเอง แต่แผนของเขาถูกคว่ำโดยรัฐบาลกลาง[3] ต่อมาในปี 1921 อาเดอเนาเออร์ได้ดำรงตำแหน่งเพิ่มเติมเป็นประธานสภารัฐปรัสเซีย (Preußischer Staatsrat)

การเมืองเยอรมนีในปี 1926 พรรคกลางเสนอให้อาเดอเนาเออร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ข้อเสนอดังกล่าวได้รับความสนใจ แต่เนื่องจากพรรคประชาชนเยอรมันยื่นเงื่อนไขว่าจะยอมร่วมรัฐบาล ก็ต่อเมื่อตกลงให้กุสทัฟ ชเตรเซอมัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไปเท่านั้น อาเดอเนาเออร์ไม่ชอบชเตรเซอมัน (ด้วยมองว่าเขามีความเป็นปรัสเซียเกินไป) จึงปฏิเสธเงื่อนไขดังกล่าว[4]

ยุคสมัยนาซี

ในขณะที่พรรคนาซีชนะการเลือกตั้งในหลายสนาม ตั้งแต่ระดับเทศบาล ระดับรัฐ จนถึงระดับชาติระหว่างปี 1930 ถึง 1932 อาเดอเนาเออร์ผู้ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับฮิตเลอร์ ก็ยังคงมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยเชื่อว่ามันจะทำให้เขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ต่างจากฮิตเลอร์ซึ่งมุ่งเน้นป้องกันประเทศจากลัทธิคอมมิวนิสต์ และท้ายที่สุด สถานการณ์การเมืองก็นำพาให้ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจในเดือนมกราคม 1933

สภานครโคโลญและสภารัฐปรัสเซียถูกยุบในวันที่ 4 เมษายน 1933 เขาถูกถอดจากตำแหน่งนายกเทศมนตรี ถูกยึดบ้าน บัญชีธนาคารถูกอายัด และไม่ได้รับบำนาญ ในจุดนี้อาเดอเนาเออร์ผู้ไม่มีเงิน ไม่มีงาน ไม่มีบ้าน[5] ตระหนักแล้วว่าเขาคิดผิดมาตลอดที่พยายามประนีประนอมกับพวกนาซี เขารู้สึกว่าครอบครัวของเขาไม่ปลอดภัย จึงไปขออาศัยอยู่ในอารามแห่งหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งนี้ อัลแบร์ท ชแปร์ สถาปนิกคนโปรดของฮิตเลอร์ มองว่าอาเดอเนาเออร์เป็นคนเก่งมากในด้านการโยธาและการวางแผนเมือง แต่ก็สรุปว่าอาเดอเนาเออร์มีมุมมองทางการเมืองที่ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในรัฐบาลฮิตเลอร์

อาเดอเนาเออร์เคยถูกคุมขังเป็นเวลาสองคืนในเหตุการณ์คืนมีดยาวเมื่อ 30 มิถุนายน 1934 หลังจากนั้น เขากลัวว่าจะถูกคุกคาม จึงเปลี่ยนที่อยู่บ่อยครั้งตามความอนุเคราะห์ของมิตรสหาย จนกระทั่งปี 1937 เขาเรียกร้องบำนาญสำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากนักกฎหมาย และได้รับชำระเงินค่าบ้านซึ่งถูกยึดเป็นของนครโคโลญ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีเงินประทังชีพและเก็บเนื้อเก็บตัวเป็นเวลาหลายปี

ภายหลังความพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์ในเดือนกรกฎาคม 1944 อาเดอเนาเออร์ถูกคุมขังอีกครั้งในฐานะผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง เขามีใบรับรองอาการป่วยโรคโลหิตจาง แต่ก็ยังถูกหาว่าแกล้งป่วยและส่งตัวเข้าค่ายกักกัน โชคดีที่มีนักคอมมิวนิสต์ชาวโคโลญซึ่งเป็นคาโพในค่ายกักกัน สังเกตเห็นชื่อของอาเดอเนาเออร์ในบัญชีนักโทษใหม่ จึงจัดแจงให้ส่งตัวอาเดอเนาเออร์เข้าโรงพยาบาลในโคโลญ ซึ่งที่นั่นเขาได้รับการเกื้อกูลอย่างดีโดยนายกเทศมนตรีฟริทซ์ ชลีบุช

ยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ไม่นานหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง กองกำลังสหรัฐในเยอรมนีแต่งตั้งเขาเป็นนายกเทศมนตรีนครโคโลญอีกครั้ง ซึ่งอยู่ในสภาพเสียหายหนักจากการถูกทิ้งระเบิดทางอากาศ ต่อมามีการส่งมอบพื้นที่ของโคโลญให้อยู่ในความควบคุมของกองกำลังบริติช อาเดอเนาเออร์ถูกปลดจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีในเดือนธันวาคม 1945 หลังจากนั้น การถูกปลดทำให้อาเดอเนาเออร์หันไปสู่การเมืองระดับชาติ เขาก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่าสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ซึ่งรวมชาวนิกายโปรเตสแตนต์และชาวนิกายโรมันคาทอลิกอยู่ในพรรคเดียว[6] อาเดอเนาเออร์มองว่า ถ้าหากพรรคของเขาที่มีแต่คาทอลิก ท้ายที่สุดการเมืองเยอรมนีก็จะถูกพรรคการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยครอบงำอีกครั้ง

อาเดอเนาเออร์มีภูมิหลังเป็นชาวไรน์ลันท์นิกายคาทอลิก ซึ่งมีความไม่พอใจในการปกครองโดยปรัสเซีย เขาเชื่อว่าลัทธิปรัสเซียนิยม (Prussianism) เป็นบ่อกำเนิดของระบอบชาติสังคมนิยม ดังนั้นลัทธิปรัสเซียนิยมต้องถูกขจัด ประเทศเยอรมนีจึงจะมีประชาธิปไตย เนื่องจากปรัสเซียในต้นศตวรรษที่ 19 มีสถานะเปรียบเหมือนพระเจ้า ซึ่งให้ความสำคัญต่อรัฐยิ่งกว่าสิทธิของบุคคล นอกจากนี้ เขายังคัดค้านแผนการที่จะกำหนดให้เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีในอนาคต[7]

ในเดือนมกราคม 1946 อาเดอเนาเออร์ประเดิมจัดการประชุมว่าที่พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนในฐานะประธานผู้ทรงวัยวุฒิ และได้รับการยอมรับไม่เป็นทางการจากที่ประชุมให้เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค อาเดอเนาเออร์มองว่าศึกที่สำคัญที่สุดหลังสงคราม คือการต่อสู้ระหว่างคริสเตียนกับลัทธิมาคส์ โดยเฉพาะคอมมิวนิสต์[8]

นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตก

แผ่นหาเสียงในปี 1949: "มีอาเดอเนาเออร์ ได้สันติ, ได้เสรีภาพ และได้รวมประเทศเยอรมนี, ดังนั้นเลือก CDU"

ในปี 1948 อาเดอเนาเออร์ก้าวขึ้นมาเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และหลังจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้ก็มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาสหพันธ์ (Bundestag) เป็นครั้งแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 1949 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการแข่งขันระหว่างนายอาเดอเนาเออร์ จากพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน กับนายควร์ท ชูมัคเคอร์ จากพรรคประชาธิปไตยคริสเตียน (SPD)

อาเดอเนาเออร์สนับสนุนการให้สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอยู่ใต้การควบคุมของสหรัฐและประเทศยุโรปตะวันตกเพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น และสนับสนุนการเข้าร่วมเนโท แม้ว่าการกระทำแบบนี้จะยังคงทำให้เยอรมนีแบ่งเป็นตะวันตก-ตะวันออก อีกด้านหนึ่ง ชูมัคเคอร์แม้ต่อต้านคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่ต้องการรวมประเทศเยอรมนีและต้องการให้เยอรมนีวางตัวเป็นกลางและคัดค้านการเข้าร่วมเนโท ท้ายที่สุด พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนได้รับผู้แทนจำนวน 139 คน (31% ของที่นั่งทั้งหมด) ตามด้วยพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนซึ่งได้ผู้แทนฯ 131 คน (29% ของที่นั่งทั้งหมด)

เทโอดอร์ ฮ็อยส์ จากพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ในขณะที่อาเดอเนาเออร์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 กันยายน 1949 ขณะนั้นเขามีอายุ 73 ปีและถูกมองว่าเป็นแค่นายกรัฐมนตรีแก้ขัด อย่างไรก็ตาม เขากลับได้รับเลือกติดต่อกันถึงสามสมัย ดำรงตำแหน่งติดต่อกันยาวนานถึงสิบสี่ปี อาเดอเนาเออร์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม 1963 ด้วยอายุมากและสุขภาพไม่ดี และอีกสี่ปีต่อมา อาเดอเนาเออร์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 เมษายน 1967 สิริอายุ 91 ปี[9] พิธีศพถูกจัดที่อาสนวิหารโคโลญ มีผู้นำสหรัฐและประเทศกลุ่มยุโรปเข้าร่วม

อ้างอิง

  1. [1]
  2. Epstein 1967, p. 539.
  3. Epstein 1967, pp. 540–541.
  4. Jenkins, Roy. Portraits and Miniatures, London: Bloomsbury Reader, 2012. pp. 81, 88
  5. Williams 2001, p. 212.
  6. Williams 2001, p. 307.
  7. Mitchell 2012, pp. 96–97.
  8. Mitchell 2012, p. 132.
  9. [2]
ก่อนหน้า ค็อนราท อาเดอเนาเออร์ ถัดไป
ลุทซ์ กราฟ ชเวรีน ฟ็อน โครซิค
(หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวนาซีเยอรมนี)
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตก
(1949–1963)
ลูทวิช แอร์ฮาร์ท
ไม่มี หัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน
(1950–1966)
ลูทวิช แอร์ฮาร์ท
เอลิซาเบธที่ 2 บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(1953)
จอห์น ดัลเลส
Kembali kehalaman sebelumnya