ริชาร์ด นิกสัน
ริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน (อังกฤษ: Richard Milhous Nixon; 9 มกราคม ค.ศ. 1913 – 22 เมษายน ค.ศ. 1994) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 แห่งสหรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1969 จนถึง ค.ศ. 1974 สมาชิกของพรรครีพับลิกัน นิกสันเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 36 ตั้งแต่ ค.ศ. 1953 ถึง ค.ศ. 1961 ได้ก้าวขึ้นสู่การมีชื่อเสียงระดับประเทศในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ภายหลังจาก 5 ปีในทำเนียบขาวที่ได้แสดงให้เห็นข้อสรุปของการมีส่วนร่วมของสหรัฐในสงครามเวียดนาม การผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหภาพโซเวียตและจีน และก่อตั้งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม และเขาเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ลาออกจากตำแหน่ง นิกสันเกิดในครอบครัวยากจนในเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดุ๊กโรงเรียนมัธยมกฎหมายใน ค.ศ. 1937 และเดินทางกลับไปยังแคลิฟอร์เนียเพื่อฝึกฝนด้านกฎหมาย เขาและภรรยาที่ชื่อว่า แพต ได้ย้ายไปยังวอชิงตันใน ค.ศ. 1942 เพื่อทำงานให้กับรัฐบาลกลาง เขาได้รับการเข้าประจำการในกองทัพเรือสำรองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. 1946 การติดตามของเขาต่อกรณีฮิสส์ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเขาในฐานะผู้นำต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงระดับประเทศ ใน ค.ศ. 1950 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เขาเป็นเพื่อนร่วมงานของดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1952 ต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีมาเป็นเวลาแปดปี เขาได้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งไม่ประสบความสำเร็จใน ค.ศ. 1960 เกือบที่จะเอาชนะไปได้อย่างหวุดหวิดให้กับจอห์น เอฟ. เคนเนดี นิกสันก็ต้องพ่ายแพ้ในการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียให้กับแพต บราวน์ใน ค.ศ. 1962 ใน ค.ศ. 1968 เขาได้ลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งและได้ถูกรับเลือกตั้ง ได้เอาชนะฮิวเบิร์ต ฮัมเฟรย์และ George Wallace ในการปิดการเลือกตั้ง นิกสันได้ยุติการมีส่วนร่วมของอเมริกันในสงครามเวียดนามใน ค.ศ. 1973 เป็นอันสิ้นสุดของการเกณฑ์ทหารในปีเดียวกัน นิกสันเยือนประเทศจีนใน ค.ศ. 1972 จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ และการริเริ่มการทำสนธิสัญญาจรวดต่อต้านขีปนาวุธกับสหภาพโซเวียตในปีเดียวกัน การบริหารปกครองของเขาโดยทั่วไปได้ถ่ายโอนอำนาจจากการควบคุมของรัฐบาลกลางไปสู่การควบคุมของรัฐ เขาได้กำหนดค่าจ้างและควบคุมราคาเป็นเวลา 90 วัน บีบบังคับให้การขจัดการแบ่งแยกผิวในโรงเรียนรัฐทางใต้ ก่อตั้งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม และเริ่มต้นการทำสงครามกับมะเร็ง เขายังเป็นประธานสักขีพยานของการลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอวกาศอะพอลโล 11 ซึ่งเป็นสัญญาณสิ้นสุดลงของการแข่งขันบนดวงจันทร์ เขาได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในหนึ่งในการเลือกตั้งถล่มทลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาใน ค.ศ. 1972 เมื่อเขาเอาชนะจอร์จ แมคโกเวิร์น ในวาระตำแหน่งที่สองของเขา นิสันได้ออกคำสั่งให้การขนส่งทางอากาศเพื่อช่วยกู้คืนความสูญเสียของอิสราเอลในสงครามยมคิปปูร์ สงครามซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์น้ำมันที่บ้าน ในปลาย ค.ศ. 1973 คดีวอเตอร์เกตได้เกิดบานปลายมากขึ้น ทำให้นิกสันสูญเสียในการสนับสนุนทางการเมืองเป็นอย่างมาก ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 เขาได้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกือบที่จะถูกฟ้องร้องและถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง-ซึ่งเป็นเพียงครั้งเดียวที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะทำเช่นนี้ ภายหลังจากที่เขาลาออก เขาได้รับการอภัยโทษซึ่งเป็นที่โต้แย้งจากผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา เจอรัลด์ ฟอร์ด ในช่วงเวลา 20 ปีของการเกษียณอายุ นิกสันได้เขียนบันทึกความทรงจำและหนังสืออีก 9 เล่มและเดินทางไปเยือนต่างประเทศหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้ การฟื้นฟูภาพลักษณ์ของเขาทำให้กลายเป็นรัฐบุรุษระดับอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญระดับชั้นนำด้านต่างประเทศ เขาป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1994 และเสียชีวิตในอีก 4 วันต่อมา เมื่อมีอายุ 81 ปี ชีวิตในวัยเด็กและการศึกษาริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน เกิดเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1913 พ่อของเขาเป็นเจ้าของไร่มะนาวเทศเล็กๆที่เมืองยอร์บา ลินดา (Yorba Linda) รัฐแคลิฟอร์เนีย นิกสันเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยวิตทีเออ (Whittier College) และจบใน ค.ศ. 1934 หลังจากนั้นเขาจึงตัดสินใจเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) ทางด้านกฎหมาย ประวัติทางด้านการเมืองค.ศ. 1937 นิกสันเข้าทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการราคา (Office of Price Administration) ที่รัฐวอชิงตัน หลังจากทำงานได้ 5 ปีสงครามโลกครั้งที่สองก็เริ่มขึ้น นิกสันจึงถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเรือสหรัฐอเมริกาโดยได้ติดยศร้อยโทก่อนจะถูกส่งไปประจำการที่น่านน้ำแปซิฟิก ค.ศ. 1946 หลังจากสงครามโลกจบได้หนึ่งปีนิกสันลาออกจากกองทัพแล้วเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคริพับลิกัน ในช่วงระยะเวลานี้เขาได้เข้าร่วม House of Un-American Activities Committee (HUAC) เพื่อไล่ล่ากลุ่มคอมมิวนิสต์ที่อาศัยอยู่ในอเมริกา เมื่อกลุ่ม HUAC สามารถจับ อาเจอร์ ฮิส (Alger Hiss) แฮร์รี่ โกลด์ (Harry Gold) เดวิด กรีนด์กราส (David Greenglass) เอโธว์ โรเซนเบิร์ก (Ethel Rosenberg) และ จูเลียส โรเซนเบิร์ก (Julius Rosenberg) โดยกล่าวหาว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมในการสอดแนมให้กับสหภาพโซเวียต นิกสันจึงเริ่มเป็นจุดสนใจของสาธารณะมากขึ้น ค.ศ. 1952 ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ตัดสินใจลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 34 ฝ่ายพรรคพรรคริพับลิกันเลือกริชาร์ด นิกสันเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา หลังจากการหาเสียงที่ดุเดือดของพรรคริพับลิกันภายในเดือนพฤศจิกายนไอเซนฮาวร์และนิกสันได้รับชัยชนะเหนือพรรคพรรคเดโมแครตแบบถล่มถลายด้วยคะแนนโหวต 33,936,252 เสียงต่อ 27,314,922 เสียง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1953เมื่อ โจเซฟ แม็กคาร์ธี (Joseph McCarthy) วุฒิสมาชิกอเมริกันผู้เป็นตำนานในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และส.ว.พรรครีพับลิกันกล่าวหา โรเบิร์ต สตีเวนส์ เลขานุการกองทัพบกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์จึงโกรธมากและออกคำสั่งให้นิกสันหาทางกำจัดแม็กคาร์ธีเสีย แม็กคาร์ธีจึงถูกคณะกรรมการวุฒิสภาสอบสวนทางหน้าจอทีวี จนจับผิดได้ว่าการกล่าวหาและโจมตีผู้อื่นล้วนเป็นเรื่องหลอกลวงเหลวไหล ช่วงที่นิกสันเป็นรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เขาได้เดินทางไปสหภาพโซเวียตเพื่อเข้าพบนิกิตา ครุสชอฟผู้นำของโซเวียต โดยทั้งสองประเทศพยายามลดความตึงเครียดและความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ค.ศ. 1960 เขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคริพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่ 35 หากทว่าต้องพ่ายแพ้ให้กับจอห์น เอฟ. เคนเนดี ตัวแทนจากพรรคพรรคเดโมแครต (สหรัฐอเมริกา) นิกสันทำอาชีพทนายความอยู่พักหนึ่งก่อนจะตัดสินใจเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งใน ค.ศ. 1968 และครั้งนี้เขาได้ก็ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลนิกสันและการเยือนประเทศจีนในรัฐบาลนิกสันสหรัฐอเมริกาพยายามเป็นอย่างมากในการลดความตรึงเครียดกับสหภาพโซเวียตและจีน ช่วงนี้เป็นช่วงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต โดยทั้งสองประเทศพยายามปรับเปลี่ยนนโนบายการต่างประเทศที่มุ่งแข่งขันกันขยายอำนาจและแผ่อิทธิพลตลอดจนสะสมและสร้างอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรต่อกัน และร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้าและวัฒนธรรม บรรยากาศอันตึงเครียดของสงครามเย็น ในทวีปยุโรปและดินแดนส่วนอื่นๆของโลกจึงผ่อนคลายลงและในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 นิกสันได้ตัดสินใจเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเป็นวันแรก นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เยือนประเทศจีนในยุคคอมมิวนิสต์ โดยได้เข้าพบกับประธาน เหมา เจ๋อตง ผู้นำประเทศจีนในขณะนั้น และนี่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง สงครามเวียดนามและการถอนทัพปัญหาสำคัญที่เกิดขณะนิกสันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1969 คือ ปัญหาสงครามในเวียดนามที่ยังไม่มีการแก้ไข นิกสันจึงเลือกเลือกเฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อสงความเวียดนามไม่เป็นที่นิยมในประเทศอเมริกา เฮนรี คิสซินเจอร์จึงแนะนำนิกสันให้ถอนทหารอเมริกาออกจากเวียดนามทั้งหมด ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1972 เขาได้แอบไปเจรจาลับๆกับเวียดนามเหนือที่กรุงปารีสเพื่อหยุดสงครามแต่การจากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้ถึงสถานะของเวียดนามเหนือหลังการหยุดยิง เวียดนามใต้เองก็ไม่ยอมรับเงื่อนไขของเวียดนามเหนือ เมื่อการเจรจาชะงักลงในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1972 ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ได้สั่งให้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-52 ไปทิ้งระเบิดโจมตีเวียดนามเหนือที่ กรุงฮานอย (Hanoi) และให้วางทุ่นระเบิดปิดอ่าวเมืองท่าไฮฟอง (Haiphong) ปฏิบัติการครั้งนี้ถูกเรียกว่า Operation Linebacker II การโจมตีครั้งนี้ของสหรัฐอเมริกานับว่ารุนแรงที่สุดในสงครามเวียดนาม โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52 กว่า 500 ลำ ผลัดเปลี่ยนไปทิ้งระเบิดในช่วงวันที่ 18-30 ธันวาคม ระเบิดที่ทิ้งในเวียดนามมีน้ำหนักรวมมากกว่า 15,000 ตันต่อมาเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า "การทิ้งระเบิดปูพรมวันคริสต์มาส” (Christmas Bombing) หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวนิกสันมีการเจรจาสันติภาพในเวียดนามเกี่ยวกับสงครามในเวียดนามซึ่งตกลงเรียกร้องให้หยุดการต่อสู้และปลดปล่อยนักโทษสงครามทั้งหมด ข้อตกลงนี้ไม่สามารถยุติการต่อสู้เพื่อการดิ้นรนในเวียดนามใต้และเขมร แต่ก็เป็นการตัดกองทัพอเมริกันออกจากสงครามครั้งนี้โดยสิ้นเชิง คดีวอเตอร์เกตและการประกาศลาออกคดีวอเตอร์เกตเป็นที่สะเทือนศรัทธาชาวอเมริกันต่อประธานาธิบดีมากที่สุด เพราะมันทำลายภาพทุกอย่างสหรัฐพยายามสร้างขึ้นมา ตั้งแต่บทบาทตำรวจโลก แนวคิดที่ยึดมั่นในเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และระบบการปกครองแม่แบบของประเทศประชาธิปไตย ทั้งหมดที่ว่านี้กลายเป็นภาพจอมปลอมเมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันผู้ชื่อว่าทำประโยชน์ต่อชาติอเมริกามากที่สุดผู้หนึ่งแท้จริงคือคนที่ใช้วิธีสกปรกเพื่อให้ตนเองชนะเลือกตั้ง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น บิดเบือนซุกซ่อนข้อมูล และใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นเพื่อให้ตนเองพ้นผิด และเมื่อคดีแดงขึ้น คดีนี้จึงกลายเป็นแผลใจของชาวอเมริกันไปตลอด คดีวอเตอร์เกตมีจุดเริ่มต้นที่โรงแรมวอเตอร์เกตซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1972 ช่วงนั้นเป็นเวลากลางคืนและเจ้าหน้าที่โรงแรมได้สังเกตเห็นสิงผิดปกติในที่ทำการพรรคเดโมแครตจึงโทรเรียกตำรวจ ส่งผลสามารถจับกุมผู้ต้องหา 5 คนได้พร้อมของกลาง ผู้ต้องหาเหล่านี้ประกอบด้วยนายเบอร์นาร์ด บาร์เกอร์ (Bernard Barker) เวอร์จิลิโอ กอนซาเลซ (Virgilio Gonzalez) ยูจินิโอ มาร์ติเนซ (Eugenio Martínez) เจม แม็คคอร์ด (James W. McCord, Jr.) และแฟรงค์ สเตอร์กิส (Frank Sturgis) โดยก่อนหน้านี้กลุ่มคนร้ายเคยแอบเข้าในออฟฟิศแห่งนี้แล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนถูกจับ เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดต่อมาตำรวจจึงพบว่าบรรดาคนที่ถูกจับเหล่านี้ไม่ใช่โจรกระจอก เพราะแต่ละคนต่างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (ซีไอเอ) โดยชายทั้ง 5 ได้รับคำสั่งให้บุกเข้าไปขโมยข้อมูลที่พรรคเดโมแครตซึ่งเตรียมไว้เพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่แข่งกับริชาร์ด นิกสัน เจ้าของตำแหน่งเดิม ในตัวผู้ต้องหาคนหนึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว และในบัญชีของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง มีเงิน 25,000 เหรียญสหรัฐที่ขึ้นด้วยแคชเชียร์เช็คประทับตรา นอกจากนั้นเอฟบีไอยังเจอบันทึกมีชื่อย่อซึ่งอาจหมายถึงทำเนียบขาวก็ได้ เช่น W.House และ W.H (White House) ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐสภาสหรัฐจึงตัดสินใจตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีวอเตอร์เกตขึ้นจากการสอบสวนได้พบว่าในสมุดโน้ตของ เจม แม็คคอร์ด มีหมายเลขโทรศัพท์ของโฮเวิร์ด ฮันต์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่ง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมือง นอกจากนี้แม็ค คอร์ดยังสารภาพกับศาลด้วยว่าเขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอปลดเกษียณ ต่อมาแฟรงค์ วิลส์ ยามรักษาความปลอดภัยประจำส่วนที่เป็นสำนักงานของโรงแรมพบว่ามีเศษเทปติดอยู่ที่ประตูห้องใต้ดินของอาคารส่วนที่เปิดไปโรงรถซึ่งทำให้ประตูไม่ได้ล็อก ตอนแรกเขาคิดว่าคนทำความสะอาดอาจจะลืมไว้จึงดึงออกแต่เมื่อกลับมาดูอีกครั้งก็พบว่ามีเทปติดอยู่อีกวิลส์จึงติดต่อไปยังสำนักงานตำรวจวอชิงตัน ดี.ซี. แต่กระนั้นการสอบสวนของเอฟบีไอก็ไม่ได้ราบรื่นมากนักเพราะถูกซีไอเอคอยดึงเรื่องและขัดขวาง เหมือนกับว่าต้องการให้เอฟบีไอไขว้เขวและวางมือ ในช่วง ค.ศ. 1972 ความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับเอฟบีไอมีมากยิ่งขึ้นและดูเหมือนทุกอย่างจะมาถึงทางตันเสียแล้ว ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 38 ปรากฏว่า นิกสันชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1972 ด้วยคะแนนท่วมท้น ระหว่างนั้นเอง ดีพ โธรท (Deep Throat) ซึ่งเป็นนามแฝงของ มาร์ค เฟลท์ (Mark Felt) ก็ปรากฏตัวขึ้น ดีฟ โธรทอ้างตนว่าเป็นแหล่งข่าวลับที่พร้อมจะแฉคดีนี้ โดยเขาหวังว่าจะขยายความคดีวอเตอร์เกต เขาจะคอยชี้ให้ว่าข้อมูลชิ้นไหนสำคัญชิ้นไหนไม่เกี่ยว ทำให้ข่าวได้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ เป็นประจำ โดยมีนายบ็อบ วู้ดเวิร์ด (Bob Woodward) และนายคาร์ล เบิร์นสไตน์ (Carl Bernstein) สองนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ เป็นผู้เปิดโปงคดีวอเตอร์เกต การขุดคุ้ยและเปิดโปงเรื่องต่อเนื่องจากคดีวอเตอร์เกตของวู้ดเวิร์ดและเบิร์นสไตน์ดำเนินไปนานนับเดือนสร้างแรงกดดันต่อทำเนียบขาวขึ้นเรื่อยๆขณะที่ทางการก็โกรธเกรี้ยวต่อ ดีพ โธรท มากขึ้นรุนแรงขึ้นแต่ ดีพ โธรท ก็ยังเพิ่มระดับการช่วยเหลือไปถึงขั้นเริ่มให้ข้อมูลชี้นำและเบาะแสที่จะนำไปสู่การเผยความจริงว่ามีการรู้เห็นสมรู้ร่วมคิดกันปกปิดความลับในทำเนียบขาว แน่นอนถ้าคดีนี้เป็นเรื่องจริงนี้ถือว่าเป็นเรื่องสกปรกมากในเรื่องของผู้นำที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดและด้วยความกลัวนิกสันจึงบีบให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวต้องลาออกและไล่ที่ปรึกษาจอห์น ดีน (John Dean) ออก เพื่อตัดตอนคดี จอห์น ดีนจึงตัดสินใจขึ้นให้การต่อสภาคองเกรส (Congress) ว่าประธานาธิบดีนิกสันพยายามวิ่งเต้นบิดเบือนคดีและในทำเนียบขาวเองก็มีการติดตั้งเครื่องดักฟังอยู่ซึ่งข้อความต่างๆในนั้นคือหลักฐานที่จะมัดตัวนิกสันได้อย่างดี แต่เมื่อหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีวอเตอร์เกตเรียกขอเทปจากเครื่องดักฟังนี้นิกสันปฏิเสธโดยอ้างสิทธิพิเศษของผู้บริหารที่ไม่อาจเปิดเผยข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติส่งผลให้ประชาชนพากันส่งจดหมายกว่า 450,000 ฉบับมาต่อว่า วิทยาลัยกฎหมายกว่า 17 แห่งเรียกร้องให้นำนิกสันขึ้นพิจารณาคดีจนนิกสันต้องยินยอมส่งเทปบันทึกเสียงให้ฝ่ายสืบสวนไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเทปที่ส่งไปให้นั้นกลับมีช่วงว่างที่เสียงพูดหายไปเฉยๆถึง 18 นาทีครึ่งซึ่งนิกสันก็เอาตัวรอดด้วยการโยนความผิดให้โรสแมรี่ วู้ดส์ (Rose Mary Woods) เลขาส่วนตัวว่าเธอเผลอลบขณะที่วู้ดส์ปฏิเสธว่าเธอไม่ได้ทำและถ้าพลาดจริงก็ไม่มีทางเกิน 4-5 นาทีแน่ๆ จากนั้น หลักฐานต่างๆ ก็ทยอยเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนรัฐสภามีมติให้นำตัวนิกสันขึ้นพิจารณาคดีและเตรียมถอดถอนและก่อนที่กระบวนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ริชาร์ด นิกสัน ก็กลายเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาที่ต้องลงเอยด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้รับการยกเว้นโทษในเวลาต่อมาโดยประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ขณะที่คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 คนถูกตัดสินจำคุก ซึ่งมีตั้งแต่รอลงอาญา 1 เดือนจนถึงจำคุก 52 เดือน การเสียชีวิตวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ริชาร์ด นิกสันป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองและเสียชีวิตในวันที่ 22 ในเดือนเดียวกันด้วยวัย 81 ปี
|