ชนะ คณะ มนะ
"ชนะ คณะ มนะ" (เบงกอล: জন গণ মন, Jôno Gôno Mono; แปลว่า "พระผู้เป็นนายเหนือจิตใจปวงชน") เป็นชื่อของเพลงชาติแห่งสาธารณรัฐอินเดีย บทเพลงนี้เขียนขึ้นด้วยภาษาเบงกอลสันสกฤตและประพันธ์ทำนองโดยรพินทรนาถ ฐากุร นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเบงกอล โดยบทที่นำมาใช้เป็นเพลงชาตินี้นำมาจากบทแรกของเพลงเดิมซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญแบบพฺราหฺมะ (ব্রাহ্ম, Brahmo) ของแคว้นเบงกอล มีเนื้อหาทั้งหมด 5 บท เพลงดังกล่าวได้มีการขับร้องอย่างเป็นทางการครั้งแรกในที่ประชุมคองเกรสแห่งชาติของอินเดีย (Indian National Congress) ที่เมืองกัลกัตตา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ภายหลังเพลง "ชนะ คณะ มนะ" ได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นเพลงชาติอินเดียอย่างเป็นทางการโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1950[6][7][8] [9][10][11][12] บทกวีต้นฉบับของรพินทรนาถ ฐากุร ได้ถูกแปลออกเป็นภาษาฮินดูสตานี (ฮินดี-อูร์ดู) โดย อะบิด อะลี บทเพลงต้นฉบับภาษาฮินดีของเพลงชนะ คณะ มนะ ซึ่งแปลโดยอะลี และอิงจากบทกวีของฐากุรนั้น มีความแตกต่างจากต้นฉบับเดิมอยู่บ้าง โดยเนื้อเพลงขึ้นต้นว่า "ศุภ สุข ไจน กี พรขา พรเส, ภารต ภาค ไห ชาคา..." การบรรเลงเพลงชาติอินเดียเต็มเพลงอย่างเป็นทางการใช้เวลา 52 วินาที ส่วนการบรรเลงแบบสังเขปในบางโอกาส ใช้เวลาบรรเลง 20 วินาที โดยตัดเอาโน้ตท่อนแรกและท่อนสุดท้ายมาบรรเลง[6] รพินทรนาถ ฐากุรได้เขียนบทแปลภาษาอังกฤษของเพลงนี้ด้วยตนเอง[13] โดยมีมากาเร็ต เคาซินส์ (ภรรยาของ เจมส์ เฮนรี เคาซินส์ กวีชาวไอริช ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีแบบยุโรป) ช่วยวางบทเพลงลงเป็นโน้ตดนตรีสากล ที่เมืองมฑนปัลเล รัฐอานธรประเทศ[14] ซึ่งต้องร้องอย่างช้าๆ ตามต้นฉบับเท่านั้นจึงจะถูกต้องต้องนามโน้ตเพลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขับร้องบทเพลงในฉบับที่เป็นเพลงชาติ มักจะบรรเลงโดยโน้ตเพลงที่ปรับใช้สำหรับวงออร์เคสตร้าและการขับร้องประสานเสียงโดยเฮอร์เบิร์ต เมอร์ริล นักประพันธ์ดนตรีชาวอังกฤษ ซึ่งดำเนินการภายใต้คำขอของชวาหระลาล เนห์รู บทเพลงอีกบทหนึ่งของฐากุร คือ อามาร์ โชนาร์ บังกลา ซึ่งเป็นบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นก่อนหน้าเพลงชนะ คณะ มนะ ต่อมาได้รับเลือกให้ใช้เป็นเพลงชาติบังกลาเทศในปี ค.ศ. 1972 บทร้องตัวบทของเพลงชนะ คณะ มนะ ถึงแม้จะเป็นภาษาเบงกอล แต่ก็มีลักษณะของภาษาสันสกฤตอยู่สูงมาก เนื่องจากประพันธ์ด้วยภาษาหนังสือ (ภาษาเขียน) ที่เรียกว่า "สาธุภาษา" เนื้อเพลงนั้นเกือบทั้งหมดเขียนด้วยคำนามซึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นคำกริยาได้ด้วยเช่นกัน คำนามที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นคำที่ใช้ในภาษาหลักๆ ที่ใช้ในประเทศอินเดีย ด้วยเหตุนี้ ตัวบทเพลงดั้งเดิมจึงสามารถเข้าใจได้ค่อนข้างชัดเจน และโดยข้อเท็จจริงแล้ว ยังคงเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยในหลายๆ ภาษาที่ใช้แตกต่างกันออกไปในอินเดีย ด้วยความที่คล้ายคลึงกับภาษาสันสกฤตมากเช่นนี้ เพลงนี้จึงเป็นที่ยอมรับได้ในตระกูลภาษาอินดิกสมัยใหม่หลายภาษา แต่การออกเสียงย่อมจะผิดแผกกันไปตามแต่ละภาษาทั่วประเทศอินเดีย เหตุผลเบื้องต้นนั้นคือ ตระกูลภาษาอินดิกส่วนมากใช้อักษรสระประกอบ (Abugida) ซึ่งพยัญชนะที่ไม่มีเครื่องหมายใดๆ กำกับจะถือว่ามีเสียงสระกำกับอยู่ในตัวด้วย แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะแตกต่างกันไปในระหว่างภาษาต่างๆ ของอินเดีย รูปอักษรที่ปรากฏเบื้องล่างต่อไปนี้สะท้อนถึงการออกเสียงตามภาษาเบงกอล ทั้งในรูปอักษรเบงกอลและอักษรโรมัน ข้อความต่อไปนี้เป็นบทร้องเพลงชาติฉบับที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลอินเดีย ในภาษาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการบางภาษา สำหรับคำแปลภาษาไทยที่ให้ไว้ในที่นี่เป็นคำแปลแบบวรรคต่อวรรค ซึ่งถอดความจากคำแปลภาษาอังกฤษของ Sitansu Sekhar Mittra [15] อีกชั้นหนึ่ง
คำแปลภาษาอังกฤษรพินทรนาถ ฐากุร ได้แปลเพลงนี้ออกเป็นภาษาอังกฤษด้วยตนเอง เมื่อ ค.ศ. 1919 ซึ่งรัฐบาลอินเดียยังคงเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน (แก้ไขในปี ค.ศ. 1950 โดยเปลี่ยนคำว่า Sindhu (สินธุ) เป็น Sindh (สินธ์) เนื่องจากแคว้นสินธุได้ตกเป็นของปากีสถานหลังจากการแบ่งแยกประเทศและได้เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดสินธ์) มีใจความดังนี้
ซึ่งถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า
การประพันธ์ดนตรีและแปลเป็นภาษาอังกฤษรพินทรนาถ ฐากุร แปลเพลง "ชนะ คณะ มนะ" จากภาษาเบงกอลเป็นภาษาอังกฤษ และปรับเนื้อร้องในเข้ากับดนตรีที่มฑนปัลเล[16] เมืองขนาดเล็กซึ่งตั้งอยู่ในเขตจิตตูระ (Chittoor district) รัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย ถึงแม้เพลงที่เป็นภาษาเบงกอลนี้จะได้เขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911 แต่คนส่วนมากไม่รู้จักเพลงนี้นอกจากผู้อ่านนิตยสาร "ตัตวะ โพธะ ประกาศิกะ" (Tatva Bodha Prakasika) ซึ่งมีฐากุรเป็นบรรณาธิการอยู่เท่านั้น ระหว่างปี ค.ศ. 1919 ฐากุรได้ตอบรับคำเชิญจากเพื่อนและกวีชาวไอริชชื่อ เจมส์ เอช. เคาซินส์ (James H. Cousins) ในการไปเยือนวิทยาลัยเทววิทยาเบแซนต์ (Besant Theosophical College) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองมฑนปัลเลเป็นเวลา 2-3 วัน โดยฝ่ายเคาซินส์เป็นเจ้าภาพ ในเย็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 เขาได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาที่มารวมตัวกัน และร้องเพลงชนะ คณะ มนะ ด้วยภาษาเบงกอล ตามคำขอของเคาซินส์ ผู้บริหารของวิทยาลัยดังกล่าวหลายคนรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งในอุดมคติอันสูงส่งของบทเพลงและการสรรเสริญพระเจ้า จึงได้เลือกเอาเพลงนี้เป็นเพลงสวดอธิษฐานพระเจ้าของวิทยาลัยนั้น หลายวันถัดมา ด้วยความหลงใหลในภูมิทัศน์ของหุบเขาเมืองมฑนปัลเล ฐากุรจึงได้เขียนคำแปลของเพลงดังกล่าว และวางบทเพลงลงเป็นโน้ตดนตรีซึ่งยังใช้สืบมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีมากาเร็ต เคาซินส์ (ภรรยาของ เจมส์ เฮนรี เคาซินส์ กวีชาวไอริช) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีแบบยุโรป ช่วยในการนี้ เพลงชนะ คณะ มนะ ได้แพร่หลายไปไกลเกินกว่าพรมแดนของอินเดียโดยบรรดานักศึกษาระดับวิทยาลัย และกลายเป็น "เพลงยามเช้าของอินเดีย" (The Morning Song of India)[13] และเพลงชาติอินเดียดามลำดับ ปัจจุบัน ต้นฉบับของบทแปลเพลงชนะ คณะ มนะ ภาคภาษาอังกฤษในชื่อ "The Morning Song of India" ได้จัดเก็บใส่กรอบรูปและจัดแสดงไว้ในหอสมุดวิทยาลัยเทววิทยาเมืองมฑนปัลเล[17] แนวปฏิบัติ
ชนะ คณะ มนะ ในโอกาสสำคัญรัฐบาลอินเดีย โดยกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และกีฬา เคยมอบหมายให้ เอ. อาร์. ระห์มาน นำเพลงนี้เรียบเรียงทำนองใหม่และจัดทำเป็นวิดีโอเพื่อฉลองเอกราชครบ 50 ปี ของอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2543 แต่ออกอากาศครั้งแรกทางโทรทัศน์อินเดียเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2542 โดยมีนักร้องที่มีชื่อเสียงของอินเดียร่วมในวิดีโอนี้จำนวน 35 คน ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ชนะ คณะ มนะ
|