ตารางธาตุ (ขยาย)ตารางธาตุขยาย (อังกฤษ: Extended Periodic Table) เป็นการทำนายตำแหน่งของธาตุหลังจากออกาเนสซอน ซึ่งเป็นธาตุสุดท้ายในคาบที่ 7 ปัจจุบันธาตุในคาบที่ 7 ถูกค้นพบหมดแล้ว ถ้ามีธาตุที่มีเลขอะตอมมากกว่าถูกค้นพบ มันก็จะย้ายไปสู่คาบที่ 8 และนักวิทยาศาสตร์ได้ทำนายว่าธาตุในคาบที่ 8 อย่างน้อย 18 ตัวจะต้องอยู่ในบล็อก-g ซึ่งบล็อก-g มีการกล่าวถึงครั้งแรกโดย เกลนน์ ที. ซีบอร์ก ใน ค.ศ. 1969[1][2] นักวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่าธาตุในบริเวณนี้จะไม่ถูกสังเคราะห์หรือค้นพบในธรรมชาติ[3] ธาตุแรกในบล็อก-g จะมีเลขอะตอมเท่ากับ 121 และมีชื่อตามระบบการตั้งชื่อธาตุว่า อูนไบอันเนียม ธาตุในบริเวณนี้ดูเหมือนว่าจะมีความไม่เสถียรสูงมาก ทำให้พร้อมที่จะสลายตัวตลอดเวลา เนื่องด้วยครึ่งชีวิตที่สั้นมาก มีการทำนายว่าธาตุลำดับที่ 126 จะยังคงอยู่ในเกาะแห่งความเสถียรภาพ แต่ธาตุหลังจากนั้นยังเป็นที่สงสัยว่ามีอีกกี่ตัวที่ยังคงเป็นไปได้ทางฟิสิกส์ ซึ่งทำนายกันว่าอาจจะถึงสิ้นสุดคาบ 8 หรือ คาบ 9 ประวัติยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าธาตุหลังจากออกาเนสซอนจะมีมากเท่าไร เกลนน์ ที. ซีบอร์ก เชื่อว่าธาตุที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 130 จะเป็นธาตุสุดท้าย[4] ถึงกระนั้น วอลเตอร์ เกรน์เนอร์ได้คาดว่าธาตุที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 130 จะยังไม่ใช่ธาตุสุดท้ายในตารางธาตุ[5]
ธาตุที่ยังไม่ถูกค้นพบและเป็นเพียงการทำนายนี้ถูกตั้งชื่อโดยระบบการตั้งชื่อธาตุของสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ (IUPAC) แต่มักจะไม่ถูกเรียก เช่นธาตุอูนเฮกซ์ควอเดียม เป็นชื่อที่ได้จากระบบการตั้งชื่อ แต่นักวิทยาศาสตร์จะเรียกมันว่า ธาตุที่ 164 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ระบบการตั้งชื่อได้รับรองแค่ธาตุอูนอูนเอนเนียม อูนไบนิลเลียม อูนไบเบียม อูนไบควอเดียม อูนไบเฮกเซียม และอูนไบเซปเทียมเท่านั้น (เลขอะตอม = 119 120 122 124 126 127) อ้างอิง
|