Share to:

 

ตารางธาตุ

ตารางธาตุ (อังกฤษ: Periodic table) คือ การจัดเรียงธาตุเคมีในรูปแบบของตารางตามเลขอะตอม การจัดเรียงอิเล็กตรอน และสมบัติทางเคมีที่ซ้ำกัน โดยจะใช้แนวโน้มพิริออดิกเป็นโครงสร้างพื้นฐานของตาราง แนวนอนทั้ง 7 ของตารางเรียกว่า "คาบ" โดยปกติโลหะอยู่ฝั่งซ้ายและอโลหะอยู่ฝั่งขวา ส่วนแถวแนวตั้งเรียกว่า "หมู่" ประกอบด้วยธาตุที่มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกัน มี 6 หมู่ที่ได้รับการตั้งชื่อที่ยอมรับกันทั่วไปและเลขหมู่ เช่น ธาตุหมู่ 17 มีชื่อว่า แฮโลเจน และธาตุหมู่ 18 มีชื่อว่า แก๊สมีสกุล ตารางธาตุยังมีอาณาเขตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างง่าย 4 รูปที่เรียกว่า "บล็อก" ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเติมออร์บิทัลเชิงอะตอมที่แตกต่างกัน

ธาตุทุกตัวนับตั้งแต่มีเลขอะตอมเท่ากับ 1 (ไฮโดรเจน) จนถึง 118 (ออกาเนสซอน) ได้รับการค้นพบหรือสังเคราะห์ขึ้นมาแล้ว ทำให้ตารางธาตุในปัจจุบันมีครบทั้ง 7 คาบ[1][2] ธาตุ 94 ตัวแรกพบได้ในธรรมชาติ แม้ว่าบางตัวอาจมีปริมาณน้อยและมีการสังเคราะห์ธาตุเหล่านั้นขึ้นก่อนที่จะพบในธรรมชาติก็ตาม [n 1] ส่วนธาตุที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 95 ถึง 118 สังเคราะห์ขึ้นทั้งสิ้นในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หรือในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์[3] สำหรับธาตุที่มีเลขอะตอมสูงกว่านี้ ในปัจจุบันนักเคมีก็กำลังพยายามสร้างขึ้นมา ธาตุเหล่านี้จะเริ่มที่คาบ 8 และมีงานทฤษฎีต่าง ๆ ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับธาตุในตำแหน่งเหล่านั้น นิวไคลด์กัมมันตรังสีสังเคราะห์จำนวนมากของธาตุที่พบได้ในธรรมชาติก็สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการด้วยเช่นกัน

การจัดเรียงตารางธาตุสามารถใช้อธิบายความสัมพันธ์ของสมบัติธาตุต่าง ๆ และยังใช้ทำนายสมบัติทางเคมีและพฤติกรรมของธาตุที่ยังไม่ได้ค้นพบหรือสังเคราะห์ใหม่ ดมีตรี เมนเดเลเยฟ นักเคมีชาวรัสเซีย ตีพิมพ์ตารางธาตุในลักษณะแบบนี้เป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2412 จัดโดยเรียงตามสมบัติทางเคมีของธาตุที่มีในขณะนั้น และเมนเดเลเยฟยังสามารถทำนายธาตุที่ยังไม่ค้นพบที่คาดว่าสามารถเติมเต็มช่องว่างในตารางธาตุได้ การทำนายของเขาส่วนใหญ่พิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง แนวคิดของเมนเดเลเยฟก็ค่อย ๆ ขยายเพิ่มขึ้นและปรับปรุงด้วยการค้นพบหรือการสังเคราะห์ธาตุใหม่ ๆ และการพัฒนาแบบจำลองทางทฤษฎีใหม่ ๆ ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของธาตุเคมี ตารางธาตุในปัจจุบันให้กรอบความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ปฏิกิริยาเคมี และนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางในการศึกษาวิชาเคมี ฟิสิกส์นิวเคลียร์ หรือวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ

ภาพรวม

หมู่ 1 2   3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18
ไฮโดรเจน,
โลหะ­แอลคาไล
โลหะแอลคาไลน์เอิร์ท หมู่โบรอน หมู่คาร์บอน นิกโท­เจน แคลโค­เจน แฮโลเจน แก๊สมีสกุล
คาบ
1
ไฮโดร­เจน1H1.0080 ฮี­เลียม2He4.0026
2 ลิ­เทียม3Li6.94 เบริล­เลียม4Be9.0122 โบรอน5B10.81 คาร์บอน6C12.011 ไนโตร­เจน7N14.007 ออกซิ­เจน8O15.999 ฟลูออ­รีน9F18.998 นีออน10Ne20.180
3 โซ­เดียม11Na22.990 แมกนี­เซียม12Mg24.305 อะลูมิ­เนียม13Al26.982 ซิลิ­คอน14Si28.085 ฟอส­ฟอรัส15P30.974 กำมะ­ถัน16S32.06 คลอรีน17Cl35.45 อาร์กอน18Ar39.95
4 โพแทส­เซียม19K39.098 แคล­เซียม20Ca40.078 สแกน­เดียม21Sc44.956 ไทเท­เนียม22Ti47.867 วาเน­เดียม23V50.942 โคร­เมียม24Cr51.996 แมงกา­นีส25Mn54.938 เหล็ก26Fe55.845 โคบอลต์27Co58.933 นิกเกิล28Ni58.693 ทองแดง29Cu63.546 สังกะสี30Zn65.38 แกลเลียม31Ga69.723 เจอร์เม­เนียม32Ge72.630 สารหนู33As74.922 ซีลี­เนียม34Se78.971 โบรมีน35Br79.904 คริปทอน36Kr83.798
5 รูบิ­เดียม37Rb85.468 สตรอน­เชียม38Sr87.62 อิต­เทรียม39Y88.906 เซอร์โค­เนียม40Zr91.224 ไนโอ­เบียม41Nb92.906 โมลิบ­ดีนัม42Mo95.95 เทคนี­เชียม43Tc​[97] รูที­เนียม44Ru101.07 โร­เดียม45Rh102.91 แพลเล­เดียม46Pd106.42 เงิน47Ag107.87 แคด­เมียม48Cd112.41 อิน­เดียม49In114.82 ดีบุก50Sn118.71 พลวง51Sb121.76 เทลลู­เรียม52Te127.60 ไอโอ­ดีน53I126.90 ซีนอน54Xe131.29
6 ซี­เซียม55Cs132.91 แบ­เรียม56Ba137.33 1 asterisk ลูที­เชียม71Lu174.97 แฮฟ­เนียม72Hf178.49 แทนทา­ลัม73Ta180.95 ทัง­สเตน74W183.84 รี­เนียม75Re186.21 ออส­เมียม76Os190.23 อิริ­เดียม77Ir192.22 แพล­ทินัม78Pt195.08 ทองคำ79Au196.97 ปรอท80Hg200.59 แทล­เลียม81Tl204.38 ตะกั่ว82Pb207.2 บิสมัท83Bi208.98 พอโล­เนียม84Po​[209] แอส­ทาทีน85At​[210] เรดอน86Rn​[222]
7 แฟรน­เซียม87Fr​[223] เรเดียม88Ra​[226] 1 asterisk ลอว์เรน­เซียม103Lr​[266] รัทเทอร์­ฟอร์เดียม104Rf​[267] ดุบ­เนียม105Db​[268] ซีบอร์­เกียม106Sg​[269] โบห์­เรียม107Bh​[270] ฮัส­เซียม108Hs​[269] ไมต์­เนเรียม109Mt​[278] ดาร์ม­สตัดเทียม110Ds​[281] เรินต์­เกเนียม111Rg​[282] โคเปอร์­นิเซียม112Cn​[285] นิโฮ­เนียม113Nh​[286] ฟลิโร­เวียม114Fl​[289] มอสโก­เวียม115Mc​[290] ลิเวอร์­มอเรียม116Lv​[293] เทนเนส­ซีน117Ts​[294] โอกา­เนสซอน118Og​[294]
1 asterisk แลน­ทานัม57La138.91 ซี­เรียม58Ce140.12 เพรซีโอ­ดิเมียม59Pr140.91 นีโอ­ดิเมียม60Nd144.24 โพรมี­เทียม61Pm​[145] ซาแม­เรียม62Sm150.36 ยูโร­เพียม63Eu151.96 แกโด­ลิเนียม64Gd157.25 เทอร์­เบียม65Tb158.93 ดิสโพร­เซียม66Dy162.50 โฮล­เมียม67Ho164.93 เออร์­เบียม68Er167.26 ทู­เลียม69Tm168.93 อิตเทอร์­เบียม70Yb173.05  
1 asterisk แอกทิ­เนียม89Ac​[227] ทอ­เรียม90Th232.04 โพรแทก­ทิเนียม91Pa231.04 ยูเร­เนียม92U238.03 เนปทู­เนียม93Np​[237] พลูโท­เนียม94Pu​[244] อะเมริ­เซียม95Am​[243] คูเรียม96Cm​[247] เบอร์คี­เลียม97Bk​[247] แคลิฟอร์­เนียม98Cf​[251] ไอน์สไต­เนียม99Es​[252] เฟอร์­เมียม100Fm​[257] เมนเด­ลีเวียม101Md​[258] โนเบ­เลียม102No​[259]

ตารางธาตุทุกรูปแบบจะประกอบไปด้วยธาตุเคมีเท่านั้น ไม่มีสารผสม สารประกอบ หรืออนุภาคมูลฐาน[n 2] อยู่ในตารางธาตุด้วย ธาตุเคมีแต่ละตัวจะประกอบไปด้วยเลขอะตอม ซึ่งจะบ่งบอกจำนวนโปรตอนในนิวเคลียสของธาตุนั้น ๆ ธาตุส่วนใหญ่จะมีจำนวนนิวตรอนแตกต่างกัน ท่ามกลางอะตอมที่แตกต่างกัน ซึ่งจะอยู่ในรูปของไอโซโทป เช่น คาร์บอน มีไอโซโทปที่ปรากฏในธรรมชาติ 3 ไอโซโทป โดยไอโซโทปของคาร์บอนส่วนใหญ่ที่ปรากฏในธรรมชาติจะประกอบไปด้วยโปรตอน 6 ตัวและนิวตรอน 6 ตัว แต่มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีนิวตรอน 7 ตัว และมีโอกาสนิดเดียวที่จะพบคาร์บอนที่มีนิวตรอน 8 ตัว ไอโซโทปแต่ละไอโซโทปจะไม่ถูกแยกออกจากกันในตารางธาตุ พวกมันถูกจัดให้เป็นธาตุเดียวกันไปเลย ธาตุที่ไม่มีไอโซโทปที่เสถียรจะสามารถหามวลอะตอมได้จากไอโซโทปที่เสถียรที่สุดของมัน โดยมวลอะตอมที่เสถียรที่สุดดังกล่าวจะแสดงในวงเล็บ[6]

ในตารางธาตุมาตรฐาน ธาตุจะถูกเรียงตามเลขอะตอม (จำนวนโปรตอนในนิวเคลียสของอะตอม) ที่เพิ่มขึ้น คาบใหม่จะมีได้ก็ต่อเมื่อวงอิเล็กตรอนใหม่มีอิเล็กตรอนอยู่ในวงอย่างน้อยหนึ่งตัว หมู่จะกำหนดตามการจัดเรียงอิเล็กตรอนของอะตอม ธาตุที่มีจำนวนอิเล็กตรอนเดียวกันในวงอิเล็กตรอนชั้นนอกสุดจะถูกจัดให้อยู่ในหมู่เดียวกัน (เช่น ออกซิเจน กับซีลีเนียม อยู่ในหมู่เดียวกันเพราะว่าพวกมันมีอิเล็กตรอน 4 ตัวในวงอิเล็กตรอนชั้นนอกสุดเหมือนกัน) โดยทั่วไป ธาตุที่สมบัติทางเคมีคล้ายกันจะถูกจัดในหมู่เดียวกัน ถึงแม้จะเป็นในบล็อก-f ก็ตาม และธาตุบางตัวในบล็อก-d มีธาตุที่มีสมบัติเหมือนกันในคาบเดียวกันเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะทำนายสมบัติทางเคมีของธาตุเหล่านั้น ถ้ารู้ว่าธาตุรอบ ๆ นั้นมีคุณสมบัติอย่างไร[7]

จนถึง พ.ศ. 2559 ตารางธาตุมีธาตุที่ได้รับการยืนยันแล้ว 118 ตัว ตั้งแต่ธาตุที่ 1 (ไฮโดรเจน) ถึงธาตุที่ 118 (ออกาเนสซอน)[8]

ธาตุทั้งหมด 98 พบได้ในธรรมชาติ อีก 16 ธาตุที่เหลือ นับตั้งแต่ ธาตุที่ 99 (ไอน์สไตเนียม) จนถึงธาตุที่ 118 (ออกาเนสซอน) ถูกสังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ในบรรดาธาตุ 98 ตัวที่พบในธรรมชาตินี้ มีธาตุ 84 ตัวที่เป็นธาตุเกิดพร้อมโลก และที่เหลืออีก 14 ธาตุปรากฏในโซ่ของการสลายตัวของธาตุเกิดพร้อมโลกเหล่านั้น[3] ยังไม่มีใครพบธาตุที่หนักกว่าไอน์สไตเนียม (ธาตุที่ 99) ในรูปธาตุบริสุทธิ์ ในปริมาณที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเลย[9]

การแบ่งตารางธาตุ

การจัดวางตารางธาตุ
ตารางธาตุโดยบล็อก-f แยกออกจากตารางธาตุหลัก
ตารางธาตุโดยบล็อก-f แยกออกจากตารางธาตุหลัก
ตารางธาตุโดยบล็อก-f รวมกับตารางธาตุหลัก
ตารางธาตุโดยบล็อก-f รวมกับตารางธาตุหลัก
แลนทาไนด์และแอกทิไนด์แยกออกจากตารางธาตุหลัก (ซ้ายมือ) และอยู่ในตารางธาตุหลัก (ขวามือ)

ในการนำเสนอตารางธาตุผ่านทางกราฟิกนั้น ตารางธาตุหลักจะมี 18 หมู่ และมีหมู่แลนทาไนด์และแอกทิไนด์แยกออกมาอยู่ด้านล่างของตารางธาตุหลัก[10] ซึ่งจะเป็นช่องว่างในตารางธาตุระหว่างแบเรียม กับแฮฟเนียม และระหว่างเรเดียม กับรัทเทอร์ฟอร์เดียม ตามลำดับ โดยธาตุเหล่านี้จะมีเลขอะตอมระหว่าง "51 – 71" และตารางธาตุอีกลักษณะหนึ่ง คือตารางธาตุ 32 หมู่ ซึ่งจะนำหมู่แลนทาไนด์และแอกทิไนด์เข้ามาอยู่ในตารางธาตุหลักด้วย โดยจะอยู่ในคาบที่ 6 กับคาบที่ 7

ถึงอย่างนั้น มีการสร้างตารางธาตุรูปแบบอื่น ๆ ขึ้นมา โดยยึดพื้นฐานของสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีของธาตุด้วย

การจัดเรียงธาตุในตารางธาตุ

หมู่

หมู่ เป็นแถวแนวตั้งในตารางธาตุ หมู่ยังถูกใช้เพื่อตรวจสอบแนวโน้มของธาตุ ซึ่งเห็นชัดได้กว่าคาบหรือบล็อก ทฤษฎีควอนตัมของอะตอมได้อธิบายว่าธาตุในหมู่เดียวกันมีสมบัติทางเคมีเหมือนกัน เนื่องจากมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนที่เหมือนกันในวงวาเลนซ์ของมัน[11] ดังนั้นธาตุในหมู่เดียวกันมักจะมีสมบัติทางเคมีที่ชัดเจนขึ้นเมื่อเลขอะตอมมากขึ้น[12] ถึงอย่างนั้น บางส่วนของตารางธาตุก็ไม่ได้เป็นไปตามนี้ เช่นธาตุในบล็อก-d หรือบล็อก-f[13][14][15]

ภายใต้การตั้งชื่ออย่างเป็นทางการหมู่ที่มีเลข 1 ถึง 18 จากฝั่งซ้ายสุด (โลหะแอลคาไล) มายังฝั่งขวาสุด (แก๊สมีสกุล) [16] ก่อนหน้านั้นพวกมันรู้จักในรูปแบบของเลขโรมัน ในสหรัฐอเมริกา เลขโรมันเหล่านี้ตามด้วยอักษร "A" เมื่อหมู่นั้นอยู่ในบล็อก-s หรือ p และตามด้วยอักษร "B" เมื่อหมู่นั้นอยู่ในบล็อก-d เลขโรมันใช้เพื่อต่อท้ายเลขตัวสุดท้ายที่บอกหมู่ (เช่น ธาตุหมู่ 4 เป็น IVB และธาตุหมู่ 14 เป็น IVA) ในยุโรป การแบ่งในลักษณะนี้มีขึ้นเหมือนกัน ยกเว้นหมู่ที่ใช้อักษร "A" จะใช้เมื่อเป็นหมู่ที่ 10 ลงมา และ "B" จะใช้เมื่อเป็นหมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 10 ขึ้นไป นอกจากนี้หมู่ที่ 8 9 และ 10 เป็นหมู่ที่มีขนาดใหญ่กว่าหมู่อื่น ๆ 3 เท่า โดยทั้งหมดมีชื่อหมู่ว่า VIII แต่ใน พ.ศ. 2531 ระบบการตั้งชื่อใหม่ของไอยูแพกก็เกิดขึ้นและการตั้งชื่อหมู่แบบเก่าก็ถูกยกเลิกไป[17]

ธาตุในหมู่เดียวกันจะมีความคล้ายคลึงกันในรัศมีอะตอม พลังงานไอออไนเซชัน และอิเล็กโทรเนกาติวิตี จากธาตุบนสุดของหมู่ลงมาถึงธาตุล่างสุดของหมู่ รัศมีอะตอมจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีระดับพลังงานและวาเลนซ์อิเล็กตรอนที่เพิ่มขึ้น โดยมันจะอยู่ห่างจากนิวเคลียสเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ในส่วนของพลังงานไอออไนเซชัน ธาตุในหมู่เดียวกันจะมีพลังงานไอออไนเซชันที่คล้ายกัน แต่ธาตุในคาบเดียวกันจากซ้ายไปขวาจะมีพลังงานไอออไนเซชันเพิ่มขึ้น เนื่องจากมันง่ายที่จะดึงอิเล็กตรอนออกไป เนื่องจากอะตอมไม่มีพันธะระหว่างอิเล็กตรอนที่แน่นหนา เช่นเดียวกันอิเล็กโทรเนกาติวิตีจะเพิ่มขึ้นจากบนลงล่าง เนื่องจากธาตุที่อยู่ล่างกว่ามีระยะห่างระหว่างนิวเคลียสกับวาเลนซ์อิเล็กตรอนมากกว่าธาตุที่อยู่ด้านบน[18] แต่ก็ยังมีข้อยกเว้น เช่น ในหมู่ 11 สัมพรรคภาพอิเล็กตรอนจะมีการเพิ่มขึ้นจากล่างขึ้นบน[19]

คาบ

คาบ เป็นแถวในแนวนอนของตารางธาตุ ถึงแม้ว่าหมู่จะบอกแนวโน้มของธาตุเคมีที่สำคัญ แต่ก็ยังมีบางที่ที่แนวโน้มตามคาบจะสำคัญกว่า เช่น บล็อก-f ที่ซึ่งแลนทาไนด์และแอกทิไนด์มีสมบัติทางเคมีเพิ่มขึ้นจากซ้ายไปขวา[20]

ธาตุในคาบเดียวกันจะมีความคล้ายคลึงกันในรัศมีอะตอม พลังงานไอออไนเซชัน สัมพรรคภาพอิเล็กตรอน และอิเล็กโทรเนกาติวิตี จากซ้ายไปขวา ส่วนใหญ่รัศมีอะตอมของธาตุจะค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากธาตุที่อยู่ถัดไปมีจำนวนโปรตอนและอิเล็กตรอนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้อิเล็กตรอนอยู่ใกล้นิวเคลียสมากขึ้น[21] และผลจากการที่รัศมีอะตอมลดลง ทำให้พลังงานไอออไนเซชันเพิ่มขึ้น จากซ้ายไปขวา เนื่องจากอะตอมของธาตุนั้นมีพันธะระหว่างอิเล็กตรอนที่แน่นขึ้น ทำให้ต้องใช้พลังงานที่มากขึ้นในการดึงอิเล็กตรอนออก ส่วนอิเล็กโทรเนกาติวิตีจะเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกันกับพลังงานไอออไนเซชัน เพราะมีแรงดึงของนิวเคลียสที่กระทำต่ออิเล็กตรอนมากขึ้น[18] ส่วนสัมพรรคภาพอิเล็กตรอน ธาตุโลหะ (ฝั่งซ้ายในตารางธาตุ) โดยส่วนใหญ่จะมีสัมพรรคภาพอิเล็กตรอนน้อยกว่าธาตุอโลหะ (ฝั่งขวาในตารางธาตุ) ยกเว้นแก๊สมีสกุลซึ่งไม่มีสัมพรรคภาพอิเล็กตรอน[22]

บล็อก

จากซ้ายไปขวา: บล็อก-s บล็อก-f บล็อก-d และบล็อก-p ในตารางธาตุ

บล็อก เป็นบริเวณพิเศษในตารางธาตุ ซึ่งจะบ่งบอกว่าอิเล็กตรอนในวงอิเล็กตรอนแต่ละวงเต็มหรือไม่ ในแต่ละบล็อกจะตั้งชื่อตามวงย่อยที่อิเล็กตรอน "ตัวสุดท้าย" สามารถเข้าไปอยู่ได้[23][n 3]บล็อก-s เป็นบล็อกที่อยู่ทางซ้ายมือสุดในตารางธาตุ บล็อกนี้ประกอบไปด้วยธาตุในหมู่ 1 (โลหะแอลคาไล) และหมู่ 2 (โลหะแอลคาไลน์เอิร์ท) รวมถึงไฮโดรเจน และฮีเลียม บล็อก-p เป็นบล็อกที่อยู่ทางขวาสุดของตารางธาตุ ประกอบไปด้วยธาตุใน 6 หมู่สุดท้าย ตั้งแต่หมู่ที่ 13 ถึง หมู่ที่ 18 ในไอยูแพก (3B ถึง 8A ในสหรัฐอเมริกา) และยังมีธาตุกึ่งโลหะทั้งหมดในบล็อกนี้ด้วย บล็อก-d เป็นบล็อกที่ประกอบไปด้วยธาตุในหมู่ 3 ถึง หมู่ที่ 12 (3B ถึง 2B ในสหรัฐอเมริกา) ธาตุในบล็อกนี้เป็นธาตุโลหะแทรนซิชันทั้งหมด บล็อก-f เป็นบล็อกที่ไม่มีเลขหมู่ และอยู่ด้านล่างของตารางธาตุ ในบล็อกนี้ประกอบไปด้วยธาตุในแลนทาไนด์และแอกทิไนด์[24]

ความเป็นโลหะ

  โลหะ   กึ่งโลหะ   อโลหะ และ   ธาตุที่ไม่มีกลุ่มตามสมบัติทางเคมี ในตารางธาตุ

ตามสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของมัน เรายังสามารถแบ่งธาตุออกได้เป็นสามส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ โลหะ กึ่งโลหะ และอโลหะ ธาตุโลหะส่วนใหญ่จะสะท้อนแสง อยู่ในรูปอัลลอย และยังสามารถทำปฏิกิริยากับธาตุอโลหะ (ยกเว้น แก๊สมีสกุล) ได้สารประกอบไอออนิกในรูปของเกลือ ส่วนธาตุอโลหะส่วนใหญ่จะเป็นแก๊สซึ่งไม่มีสีหรือมีสี อโลหะที่ทำปฏิกิริยากับอโลหะด้วยกันจะทำให้เกิดสารประกอบที่มีพันธะโควาเลนต์ ระหว่างธาตุโลหะกับธาตุอโลหะ คือธาตุกึ่งโลหะ ซึ่งจะมีสมบัติของธาตุโลหะและอโลหะผสมกัน[25]

โลหะและอโลหะยังสามารถแบ่งย่อยออกไปอีกตามความเป็นโลหะ จากซ้ายไปขวาในตารางธาตุ โลหะยังแบ่งย่อยไปเป็นโลหะแอลคาไลที่มีความว่องไวในการทำปฏิกิริยาสูง โลหะแอลคาไลน์-เอิร์ทที่มีความว่องไวในการทำปฏิกิริยารองลงมา แลนทาไนด์และแอกทิไนด์ โลหะแทรนซิชัน และจบที่โลหะหลังแทรนซิชันซึ่งมีความเป็นโลหะน้อยที่สุดในบรรดาโลหะด้วยกัน ส่วนอโลหะแบ่งออกเป็นอโลหะหลายวาเลนซ์ ซึ่งจะอยู่ใกล้กับตำแหน่งของธาตุกึ่งโลหะ มีสมบัติบางประการที่คล้ายกับโลหะ และอโลหะวาเลนซ์เดียว ซึ่งเป็นอโลหะหลัก และแก๊สมีสกุล ซึ่งเป็นธาตุที่เสถียรแล้ว และในโลหะแทรนซิชันยังมีการแบ่งออกไปอีก เช่น โลหะมีสกุลและ โลหะทนไฟ และธาตุย่อยในโลหะเหล่านี้ (ในตัวอย่าง) เป็นที่รู้จักแล้ว[26] และยังมีการกล่าวถึงเป็นครั้งคราว[27]

แนวโน้มพิริออดิก

การจัดเรียงอิเล็กตรอน

การจัดเรียงอิเล็กตรอนตามกฎของแมนเดลัง

การจัดเรียงอิเล็กตรอนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถจัดธาตุในตารางธาตุได้ เพราะจากซ้ายไปขวาตามคาบ อิเล็กตรอนจะเพิ่มขึ้น อิเล็กตรอนจะเข้าไปอยู่ในวงอิเล็กตรอน (วงที่ 1 วงที่ 2 และอื่น ๆ) แต่ละวงก็ประกอบไปด้วยวงย่อยหนึ่งวงหรือมากกว่านั้น (มีชื่อว่า s p d f และ g) เมื่อเลขอะตอมของธาตุมากขึ้น อิเล็กตรอนจะเข้าไปอยู่ในวงย่อยตามกฎของแมนเดลัง เช่นการจัดเรียงอิเล็กตรอนของนีออน คือ 1s2 2s2 2p6 ด้วยเลขอะตอมเท่ากับ 10 นีออนมีอิเล็กตรอน 2 ตัวในวงอิเล็กตรอนแรก และมีอิเล็กตรอนอีก 8 ตัวในวงอิเล็กตรอนที่สอง โดยแบ่งเป็นในวงย่อย s 2 ตัวและในวงย่อย p 6 ตัว ในส่วนของตารางธาตุ เมื่ออิเล็กตรอนตัวหนึ่งไม่สามารถไปอยู่ในวงอิเล็กตรอนที่สองได้แล้ว มันก็จะเข้าไปอยู่ในวงอิเล็กตรอนใหม่ และธาตุนั้นก็จะถูกจัดให้อยู่ในคาบถัดไป ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้เป็นธาตุไฮโดรเจน และธาตุในหมู่โลหะแอลคาไล[28][29]

รัศมีอะตอม

กราฟแสดงรัศมีอะตอมของแต่ละธาตุเรียงตามเลขอะตอม[n 4]

รัศมีอะตอมของธาตุแต่ละตัวมีความแตกต่างในการทำนายและอธิบายในตารางธาตุ ยกตัวอย่างเช่น รัศมีอะตอมทั่วไปลดลงไปตามหมู่ของตารางธาตุจากโลหะแอลคาไลถึงแก๊สมีสกุล และจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากแก๊สมีสกุลมายังโลหะแอลคาไลในจุดเริ่มต้นของคาบถัดไป แนวโน้มเหล่านี้ของรัศมีอะตอม (และสมบัติทางเคมีและทางกายภาพของธาตุอื่น ๆ) สามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีวงอิเล็กตรอนของอะตอม พวกมันมีหลักฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาทฤษฎีควอนตัม[30]

อิเล็กตรอนในวงย่อย 4f ซึ่งจะถูกเติมเต็มตั้งแต่ซีเรียม (ธาตุที่ 58) ถึงอิตเตอร์เบียม (ธาตุที่ 70) เนื่องด้วยอิเล็กตรอนเพิ่มขึ้นแค่ในวงเดียว จึงทำให้ขนาดอะตอมของธาตุในแลนทาไนด์มีขนาดที่ไม่แตกต่างกัน และอาจจะเหมือนกับธาตุตัวถัด ๆ ไป ด้วยเหตุนี้ทำให้แฮฟเนียมมีรัศมีอะตอม (และสมบัติทางเคมีอื่น ๆ) เหมือนกับเซอร์โคเนียม และแทนทาลัม มีรัศมีอะตอมใกล้เคียงกับไนโอเบียม ลักษณะแบบนี้รู้จักกันในชื่อการหดตัวของแลนทาไนด์ และผลจากการหดตัวของแลนทาไนด์นี้ ยังเห็นได้ชัดไปจนถึงแพลตทินัม (ธาตุที่ 78) และการหดตัวที่คล้าย ๆ กัน คือการหดตัวของบล็อก-d ซึ่งมีผลกับธาตุที่อยู่ระหว่างบล็อก-d และบล็อก-p มันเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่าการหดตัวของแลนทาไนด์ แต่เกิดจากสาเหตุเดียวกัน[31]

พลังงานไอออไนเซชัน

พลังงานไอออไนเซชัน: แต่ละคาบ โลหะแอลคาไลจะมีพลังงานน้อยที่สุด และแก๊สมีสกุลจะมีพลังงานมากที่สุด

พลังงานไอออไนเซชันลำดับที่ 1 เป็นพลังงานที่ใช้ดึงอิเล็กตรอนตัวแรกออกจากอะตอม พลังงานไอออไนเซชันลำดับที่สอง เป็นพลังงานที่ใช้ดึงอิเล็กตรอนตัวที่สองออกจากอะตอม ซึ่งจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เช่น แมงกานีส มีพลังงานไอออไนเซชันลำดับที่ 1 คือ 738 กิโลจูล/โมล และลำดับที่สอง คือ 1450 กิโลจูล/โมล อิเล็กตรอนที่อยู่ใกล้อะตอมจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานมากในการดึงมันออกจากอะตอม พลังงานไอออไนเซชันจะมีการเพิ่มขึ้นจากซ้ายไปขวาของตารางธาตุ[32]

พลังงานไอออไนเซชันจะมีมากที่สุดเมื่อต้องการดึงอิเล็กตรอนออกจากธาตุในหมู่แก๊สมีสกุล (ซึ่งมีอิเล็กตรอนครบตามจำนวนที่มีได้สูงสุด) ยกตัวอย่างแมกนีเซียมอีกครั้ง แมกนีเซียมจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานไอออไนเซชันสองลำดับแรก เพื่อดึงอิเล็กตรอนออกให้มันมีโครงสร้างคล้ายแก๊สมีสกุล และ 2p มันจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานไอออไนเซชันลำดับที่สามสูงกว่า 7730 กิโลจูล/โมล ในการดึงอิเล็กตรอนตัวที่สามออกจากวงย่อย 2p ของการจัดเรียงอิเล็กตรอนที่คล้ายนีออนของ Mg2+ ความแตกต่างนี้ยังมีในอะตอมของแถวที่สามตัวอื่น ๆ อีกด้วย[32]

อิเล็กโทรเนกาติวิตี

กราฟที่แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของอิเล็กโทรเนกาติวิตีโดยเรียงตามคาบและหมู่

อิเล็กโทรเนกาติวิตีเป็นแรงดึงดูดของอะตอมที่ใช้ดึงอิเล็กตรอนเข้ามา[33] อิเล็กโทรเนกาติวิตีของอะตอมอะตอมหนึ่ง เป็นผลมาจากเลขอะตอมที่เพิ่มขึ้น และระยะห่างจากนิวเคลียสถึงวาเลนซ์อิเล็กตรอน ยิ่งมีอิเล็กโทรเนกาติวิตีมากเท่าไร ความสามารถที่จะดึงดูดอิเล็กตรอนก็มากขึ้นเท่านั้น แนวคิดถูกเสนอครั้งแรกโดยไลนัส พอลลิง ใน พ.ศ. 2475[34] โดยทั่วไป อิเล็กโทรเนกาติวิตีจะเพิ่มขึ้นจากซ้ายไปขวาตามคาบ และลดลงจากบนลงล่างตามหมู่ เพราะเหตุนี้ ฟลูออรีนจึงเป็นธาตุที่มีอิเล็กโทรเนกาติวิตีสูงที่สุด และซีเซียมมีอิเล็กโทรเนกาติวิตีน้อยที่สุด อย่างน้อยธาตุเหล่านั้นก็ยังมีข้อมูลที่สามารถใช้ยืนยันได้[19]

แต่ถึงกระนั้นธาตุบางตัวยังไม่เป็นไปตามกฎนี้ แกลเลียมและเจอร์เมเนียมมีอิเล็กโทรเนกาติวิตีมากกว่าอะลูมิเนียมและซิลิกอน เนื่องด้วยผลกระทบจากการหดตัวของบล็อก-d ธาตุในคาบที่ 4 ในส่วนของโลหะแทรนซิชัน มีรัศมีอะตอมที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะว่าอิเล็กตรอนในวงย่อย 3d ไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนิวเคลียร์ของธาตุ และขนาดอะตอมที่เล็กลงยังทำให้มีอิเล็กโทรเนกาติวิตีสูงขึ้นอีกด้วย[19][35]

สัมพรรคภาพอิเล็กตรอน

การจัดเรียงสัมพรรคภาพอิเล็กตรอนตามเลขอะตอม[36] โดยทั่วไปค่าจะเพิ่มขึ้นไปตามคาบ จนกระทั่งค่าจะมีมากที่สุดเมื่อเป็นแฮโลเจน ก่อนที่จะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเป็นแก๊สมีสกุล ตัวอย่างเช่น ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นโลหะแอลคาไลและธาตุหมู่ 11 ซึ่งต้องการอิเล็กตรอนตัวเดียวเพื่อเติมเต็มวงย่อย s[37]

สัมพรรคภาพอิเล็กตรอนเป็นพลังงานที่คายออกมาหรือดูดกลืน เมื่อเพิ่มอิเล็กตรอนให้แก่อะตอมไปเป็นไอออนประจุลบ ธาตุส่วนใหญ่คายพลังงานความร้อนเมื่อรับอิเล็กตรอน โดยทั่วไป อโลหะจะมีสัมพรรคภาพอิเล็กตรอนมากกว่าโลหะ คลอรีน มีแนวโน้มในการเกิดไอออนประจุลบสูงที่สุด สัมพรรคภาพอิเล็กตรอนของแก๊สมีสกุลยังไม่สามารถหาค่าได้ ดังนั้น พวกมันอาจจะไม่มีประจุลบ[38]

สัมพรรคภาพอิเล็กตรอนทั่วไปจะเพิ่มขึ้นตามคาบ ซึ่งเป็นผลมาจากการเติมเต็มวงเวเลนซ์ของอะตอม อะตอมของธาตุหมู่ 17จะคายพลังงานออกมามากกว่าอะตอมของธาตุในหมู่ 1 ในการดึงดูดอิเล็กตรอน เนื่องด้วยความง่ายในการเติมเต็มวงวาเลนซ์และความเสถียร[38]

ในหมู่ของธาตุ สัมพรรคภาพอิเล็กตรอนคาดว่าจะลดลงจากบนลงล่าง เนื่องด้วยอิเล็กตรอนตัวใหม่จะต้องเข้าไปในออร์บิทัลที่อยู่ห่างจากนิวเคลียสมากขึ้น ด้วยความที่อิเล็กตรอนเชื่อมของนิวเคลียสน้อยอยู่แล้ว จึงทำให้มันปล่อยพลังงานไม่มาก ถึงกระนั้น ในหมู่ของธาตุ ธาตุสามตัวแรกจะผิดปกติ ธาตุที่หนักกว่าจะมีสัมพรรคภาพอิเล็กตรอนมากกว่าธาตุที่เบากว่า และในวงย่อย d และ f สัมพรรคภาพอิเล็กตรอนจะไม่ได้ลดลงตามหมู่ไปเสียทั้งหมด ดังนั้นการที่สัมพรรคภาพลดลงตามหมู่จากบนลงล่างนี้ จะเกิดขึ้นได้ในอะตอมของธาตุหมู่ 1 เท่านั้น[39]

คุณสมบัติเชิงโลหะ

เมื่อค่าพลังงานไอออไนเซชัน อิเล็กโทรเนกาติวิตี และสัมพรรคภาพอิเล็กตรอนต่ำลง ธาตุนั้นจะแสดงคุณสมบัติเชิงโลหะมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม คุณสมบัติเชิงอโลหะเพิ่มขึ้นเมื่อค่าเหล่านี้เพิ่มขึ้น[40] สำหรับแนวโน้มพิริออดิกของสมบัติทั้งสามค่า จะลดลงเรื่อย ๆ ตามคาบเมื่อพิจารณาคุณสมบัติเชิงโลหะ มีบางส่วนที่ผิดปกติ เนื่องจากอิเล็กตรอนในบล็อก d และ f และผลกระทบสัมพัทธภาพ[41] และคุณสมบัติเชิงโลหะจะเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาจากบนลงล่างในหมู่เดียวกัน ดังนั้น ธาตุที่มีคุณสมบัติเชิงโลหะมากที่สุด (เช่น ซีเซียม แฟรนเซียม) พบได้ที่มุมซ้ายล่างสุดของตารางธาตุ และธาตุที่มีคุณสมบัติเชิงอโลหะมากที่สุด (เช่น ออกซิเจน ฟลูออรีน คลอรีน) พบได้ที่มุมขวาบนสุดของตารางธาตุ แนวโน้มของโลหะทั้งในแนวตั้งและแนวนอนช่วยอธิบายถึงเส้นขั้นบันไดที่แบ่งโลหะกับอโลหะ ซึ่งพบในตารางธาตุบางรูปแบบ และการจัดให้ธาตุที่อยู่ชิดเส้นแบ่งนั้นเป็นกึ่งโลหะ[42][43]

กลุ่มเชื่อม

จากซ้ายไปขวาผ่านบล็อกทั้งสี่ในตารางธาตุรูปแบบยาว 32 หมู่ เป็นกลุ่มของธาตุที่เชื่อมกัน อยู่ที่ตำแหน่งระหว่างบล็อก[44] ธาตุในกลุ่มเหล่านี้จะแสดงสมบัติเป็นกึ่งหรือผสมกับธาตุกลุ่มข้างเคียง เหมือนกับกึ่งโลหะ ธาตุหมู่ 3 อันได้แก่ สแกนเดียม อิตเทรียม แลนทานัม และแอกทิไนด์ มีพฤติกรรมทางเคมีคล้ายกับโลหะแอลคาไลน์เอิร์ท[45] หรือโลหะบล็อก s[46][47] แต่ก็มีสมบัติทางกายภาพบางประการที่เหมือนกับโลหะแทรนซิชันบล็อก d[48] ลูทีเชียมและลอว์เรนเชียมที่อยู่ปลายสุดของบล็อก f อาจเป็นกลุ่มเชื่อมอีกกลุ่มหนึ่ง ลูทีเชียมมีพฤติกรรมทางเคมีเป็นแลนทาไนด์ แต่มีสมบัติทางกายภาพผสมกันระหว่างแลนทาไนด์และโลหะแทรนซิชัน[49][50] ลอว์เรนเชียมก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับลูทีเชียม[n 5] โลหะผลิตเหรียญในหมู่ 11 (ทองแดง เงิน และทองคำ) ก็มีสมบัติทางเคมีคล้ายโลหะแทรนซิชันและโลหะหมู่หลัก[53] โลหะระเหยง่ายในหมู่ 12 (สังกะสี แคดเมียม และปรอท) บางครั้งก็ถูกพิจารณาให้เป็นกลุ่มเชื่อมระหว่างบล็อก d และบล็อก p หมู่ 13[54][55] แก๊สมีสกุลในหมู่ 18 เชื่อมระหว่างฮาโลเจนหมู่ 17 และโลหะแอลคาไลหมู่ 1[44]

ประวัติของตารางธาตุ

ความพยายามในการวางระบบครั้งแรก

ตารางธาตุนี้แสดงการค้นพบธาตุเคมีโดยเรียงตามวันที่ค้นพบ

ใน พ.ศ. 2332 อองตวน ลาวัวซิเอ ตีพิมพ์รายชื่อธาตุเคมี 33 ตัว เขาแบ่งเป็นแก๊ส โลหะ อโลหะ และเอิร์ท[56] นักเคมีใช้เวลาข้ามศตวรรษเพื่อค้นหาวิธีที่จะจัดระบบของธาตุเหล่านี้ ใน พ.ศ. 2372 โยฮันน์ ว็อล์ฟกัง เดอเบอไรเนอร์ สังเกตว่าธาตุจำนวนมากนั้นสามารถจัดลงในไตรแอดส์ โดยอยู่บนพื้นฐานของสมบัติทางเคมีของมันได้ เช่น ลิเทียม โซเดียม และโพแทสเซียม พวกมันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากเป็นโลหะที่อ่อน และไวต่อการเกิดปฏิกิริยา เดอเบอไรเนอร์ยังสังเกตอีกว่ามวลอะตอมของธาตุตัวที่สองในไตรแอดส์ของเขานั้น เป็นค่าเฉลี่ยของมวลอะตอมธาตุที่หนึ่งและธาตุที่สาม ซึ่งรู้จักกันในภายหลังว่า กฎไตรแอดส์[57] นักเคมีชาวเยอรมัน เลโอโปลด์ กเมลิน ทำงานด้วยระบบไตรแอดส์นี้ และใน พ.ศ. 2386 เขาก็ค้นพบ ไตรแอดส์สิบตัว โดยมี 3 กลุ่มที่มี 4 ธาตุและอีก 1 กลุ่มที่มี 5 ธาตุ ฌอง-บัฟติส ดูมัส ตีพิมพ์ผลงานเมื่อ พ.ศ. 2400 ซึ่งบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มของโลหะบางกลุ่ม ถึงแม้ว่านักเคมีบางคนจะสามารถบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มธาตุขนาดเล็กได้แล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทำให้มันครอบคลุมทั้งหมด[58]

ใน พ.ศ. 2401 นักเคมีชาวเยอรมัน ออกุสต์ คีคูเล สังเกตว่าคาร์บอนส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปของอะตอมสี่ตัวทำพันธะต่อกัน เช่น มีเทน ซึ่งมีอะตอมคาร์บอน 1 ตัวและอะตอมของไฮโดรเจน 4 ตัว แนวคิดในลักษณะนี้ภายหลังรู้จักกันว่าเป็นเวเลนซ์ ซึ่งระบุไว้ว่าพันธะของธาตุต่างชนิดกันก็มีจำนวนอะตอมต่างกันด้วย[59]

ใน พ.ศ. 2405 นักธรณีวิทยาชาวฝรั่งเศส อเล็กซานเดอร์-เอมิล เบอกูเยร์ เดอ ชานกูร์ตัว ตีพิมพ์ตารางธาตุฉบับแรก ซึ่งเขาเรียกมันว่าเทลลูริก เฮลิกซ์ หรือสครู เขาเป็นคนแรกที่ทราบถึงความเป็นลำดับคาบของธาตุเคมี โดยการนำธาตุมาจัดเรียงเป็นวงก้นหอย หรือเป็นทรงกระบอกโดยเรียงตามมวลอะตอมที่เพิ่มขึ้น เดอ ชานกูร์ตัว แสดงให้เห็นว่าธาตุที่สมบัติทางเคมีเหมือนกันจะอยู่ใกล้กัน ตารางของเขายังมีไอออนและสารประกอบบางชนิดรวมอยู่ด้วย แผ่นกระดาษของเขามักจะถูกใช้ในทางธรณีวิทยามากกว่าทางเคมี และไม่รวมแผนภาพ และเป็นผลทำให้ได้รับความสนใจน้อยจนถึงผลงานของดมีตรี เมนเดเลเยฟ[60]

ใน พ.ศ. 2407 นักเคมีชาวเยอรมัน ยูลิอุส โลทาร์ ไมเออร์ ได้ตีพิมพ์ตารางธาตุซึ่งประกอบไปด้วยธาตุ 44 ตัวโดยเรียงตามความเป็นวาเลนซ์ ตารางของเขาแสดงให้เห็นว่าธาตุที่มีสมบัติทางเคมีเหมือนกันนั้น บ่อครั้งที่จะมีความเป็นวาเลนซ์ที่เหมือนกันด้วย ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน นักเคมีชาวอังกฤษ วิลเลียม โอดลิง ตีพิมพ์การจัดเรียงธาตุ 57 ตัว โดยเรียงบนพื้นฐานของมวลอะตอม ด้วยความที่ไม่ปกติและยังมีช่องว่าง เขาทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับธาตุเป็นลำดับการเกิดคาบของมวลอะตอม และเขายังบันทึกไว้ว่า "มันมักจะได้รับการจัดกลุ่ม" [61] โอดลิงได้พูดถึงเกี่ยวกับความคิดในเรื่องของกฎพิริออดิก แต่เขาก็ไม่ได้สนใจมัน[62] ต่อมาเขาก็ได้นำเสนอ (ใน พ.ศ. 2413) การจัดหมวดหมู่บนพื้นฐานของความเป็นวาเลนซ์[63]

ตารางธาตุของนิวแลนส์ ที่เขาเสนอให้สมาคมเคมีพิจารณา ซึ่งตารางธาตุนี้อยู่บนพื้นฐานของกฎออกเทฟส์

นักเคมีชาวอังกฤษ จอห์น นิวแลนส์ ได้ตีพิมพ์ผลงานของเขาในช่วง พ.ศ. 2406 – พ.ศ. 2409 ซึ่งมีหมายเหตุไว้ว่าเขาจัดธาตุตามมวลอะตอมที่เพิ่มขึ้น แล้วเขาก็พบว่าธาตุทุก ๆ 8 ตัวจะมีสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีเหมือนกัน เขาคิดว่ามันเหมือนกับอ็อกเทฟในดนตรี[64][65] เขาจึงตั้งกฎขึ้นมา ซึ่งเรียกกันว่า กฎออกเทฟส์ ถึงอย่างนั้นสมาคมเคมีก็ปฏิเสธที่จะยอมรับงานของนิวแลนส์ เนื่องจากนิวแลนส์ได้ผลักดันธาตุให้เข้ากับกฎออกเทฟส์และไม่เว้นช่องว่างไว้ให้ธาตุที่ยังไม่ค้นพบ เช่น เจอร์เมเนียม[66] สมาคมเคมีรับทราบเพียงแค่การค้นพบของเขา จนกระทั่ง เมนเดเลเยฟตีพิมพ์ตารางธาตุของเขาออกมา[67]

ใน พ.ศ. 2410 นักเคมีชาวเดนมาร์ก กุสตาวุส ฮินริชส์ ได้ตีพิมพ์ตารางธาตุในลักษณะก้นหอยออกมาโดยจัดตามสเปกตรัมและมวลของอะตอม ผลงานของเขาได้รับยกย่องว่าเป็นผลงานที่พิสดาร โอ้อวด และซับซ้อน นี่เองที่อาจทำให้ไม่เป็นที่จดจำและเป็นที่ยอมรับ[68][69]

ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟ

ดมีตรี เมนเดเลเยฟ
ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟ

นักเคมีชาวรัสเซีย ดมีตรี เมนเดเลเยฟ และนักเคมีชาวเยอรมัน ยูลิอุส โลทาร์ ไมเออร์ ได้ตีพิมพ์ตารางธาตุใน พ.ศ. 2412 และ พ.ศ. 2413 ตามลำดับ[70] ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟเป็นการตีพิมพ์ครั้งแรกของเขา ส่วนของไมเออร์เป็นการเพิ่มเติมจากตารางธาตุเก่าของเขา ที่เคยตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2407[71] ตารางธาตุของทั้งสองสร้างขึ้นโดยจัดธาตุไว้เป็นคาบและหมู่โดยเรียงตามมวลอะตอม และจะเริ่มแถวใหม่เมื่อธาตุมีสมบัติทางเคมีที่เหมือนกัน[72]

สาเหตุที่ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟได้รับการยอมรับมีอยู่สองประการ คือ หนึ่ง ตารางธาตุของเขามีช่องว่างไว้เพื่อให้ธาตุที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ[73] เมนเดเลเยฟไม่ได้เป็นนักเคมีคนแรกที่ทำแบบนี้ แต่เขาเป็นคนแรกที่ได้รับการยอมรับในการใช้แนวโน้มในตารางธาตุ เพื่อทำนายสมบัติทางเคมีของธาตุที่ยังไม่ได้ค้นพบเหล่านั้น เช่น แกลเลียม และเจอร์เมเนียม[74] และเหตุผลที่สองคือบางครั้งเขาไม่ได้เรียงตามมวลอะตอมโดยทั้งหมด เขาสลับตำแหน่งธาตุบางตัว เช่น เทลลูเรียมและไอโอดีน โดยเขาให้เหตุผลว่าเพื่อให้ง่ายต่อการจัดธาตุลงไปในหมู่ของธาตุ กับการพัฒนาทฤษฎีโครงสร้างอะตอม ทำให้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เมนเดเลเยฟ ไม่ได้ตั้งใจที่จะระบุไปว่า เขาจัดเรียงธาตุตามมวลอะตอมที่เพิ่มขึ้น หรือโครงสร้างนิวเคลียร์[75]

ความสำคัญของเลขอะตอมในการเป็นองค์ประกอบของตารางธาตุยังคงไม่ได้รับการยอมรับจนกระทั่งสมบัติของโปรตอนและนิวตรอนกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟก็ยังคงใช้มวลอะตอมแทนที่จะเป็นเลขอะตอม ซึ่งในเวลานั้นข้อมูลเกี่ยวกับมวลอะตอมมีความแม่นยำสูงสุด มวลอะตอมสามารถอธิบายถึงสมบัติทางเคมีของธาตุที่ยังไม่ค้นพบได้อย่างแม่นยำกว่าวิธีอื่น ๆ ที่รู้จักกันในเวลานั้น และวิธีนี้ก็ยังคงใช้ในการทำนายสมบัติของธาตุเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นใหม่จนกระทั่งปัจจุบัน[76]

ตารางธาตุรุ่นที่สองและการพัฒนาหลังจากนั้น

ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟในปี พ.ศ. 2414 ซึ่งประกอบไปด้วยหมู่ของธาตุ 8 หมู่ ขีดหมายถึงธาตุที่ยังไม่ถูกค้นพบในเวลานั้น
ตารางธาตุในรูปแบบ 8 คอลัมน์ ซึ่งอัปเดตโดยมีธาตุที่ถูกค้นพบทั้งหมดจนกระทั่ง พ.ศ. 2557

ใน พ.ศ. 2414 เมนเดเลเยฟตีพิมพ์ตารางธาตุในรูปแบบใหม่ซึ่งประกอบไปด้วยหมู่ที่มีธาตุที่คล้ายกันซึ่งจะถูกจัดในคอลัมน์มากกว่าที่จะถูกจัดในแถว และคอลัมน์เหล่านี้ก็เรียงลำดับไว้ว่า I ถึง VIII ซึ่งตรงกันกับสถานะออกซิเดชันของธาตุ เขายังลงรายละเอียดเกี่ยวกับการทำนายสมบัติของธาตุที่ยังไม่ค้นพบด้วย และเขายังระบุไว้ว่าพวกมันไม่มีในตารางธาตุ แต่ควรจะมีอยู่จริง[77] ช่องว่างเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเติมเต็มโดยนักเคมีที่ค้นพบธาตุในธรรมชาติเพิ่มเติม[78] บ่อยครั้งที่มีการยืนยันว่าธาตุสุดท้ายที่จะถูกค้นพบในธรรมชาติคือ แฟรนเซียม (เอคา-ซีเซียมที่เมนเดเลเยฟทำนายไว้) ที่ถูกค้นพบใน พ.ศ. 2482[79] แต่พลูโทเนียมที่สังเคราะห์ขึ้นใน พ.ศ. 2485 ได้รับการยืนยันว่าพบในธรรมชาติอยู่ปริมาณเล็กน้อยใน ปี พ.ศ. 2514[80]

ตารางธาตุที่ได้รับความนิยมที่สุด[81] หรือรู้จักกันว่าเป็นตารางธาตุมาตรฐาน สร้างขึ้นโดยฮอเรซ กรอฟส์ เดมิง ใน พ.ศ. 2466 เดมิงได้ตีพิมพ์ตารางธาตุในรูปแบบสั้น (รูปแบบเมนเดเลเยฟ) และรูปแบบปานกลาง (18 คอลัมน์)[82] ในปี พ.ศ. 2467 เมิร์คและคอมปานีได้จัดเตรียมเอกสารของตารางธาตุ 18 แถวของเดมิงไว้ใช้สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1930 ตารางธาตุของเดมิงได้ปรากฏบนหนังสือคู่มือและสารานุกรมเคมี และมันก็ยังถูกแจกจ่ายเป็นเวลาหลายปีโดยบริษัทวิทยาศาสตร์ซาร์เจนท์-เวลช์[83][84][85]

ด้วยการพัฒนากลศาสตร์ควอนตัม และทฤษฎีของการจัดเรียงอิเล็กตรอนภายในอะตอม พบว่าอิเล็กตรอนจะเพิ่มขึ้นตามคาบ (แถวแนวนอน) ในตารางธาตุเพื่อเติมเต็มวงอิเล็กตรอน อะตอมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีวงย่อยมากขึ้น และทำให้ตารางธาตุจะมีคาบที่ยาวขึ้นไปด้วย[86]

เกลนน์ ที. ซีบอร์ก ผู้ที่เสนอแนะให้ตารางธาตุมีบล็อก-f แถวใหม่ ซึ่งจะเป็นธาตุแอกทิไนด์

ใน พ.ศ. 2488 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เกลนน์ ซีบอร์ก ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่าธาตุแอกทิไนด์จะเหมือนกับแลนทาไนด์ซึ่งอิเล็กตรอนจะเข้าไปอยู่ในวงย่อย f ก่อนหน้านั้นแอกทิไนด์เชื่อกันว่าเป็นบล็อก-d แถวที่ 4 เพื่อนร่วมงานของซีบอร์กได้แนะนำให้เขาปิดบังข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออาชีพของเขา ซีบอร์กไม่สนใจคำแนะนำของเพื่อนร่วมงาน และตีพิมพ์ข้อเสนอแนะของเขาลงไป ในภายหลังนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆได้ตรวจสอบข้อเสนอแนะนี้ และพบว่ามีความถูกต้อง และทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี พ.ศ. 2494 สำหรับการทำงานของเขาที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์ธาตุแอกทิไนด์[87][88]

ถึงแม้ว่าธาตุหลังยูเรเนียมบางตัวจะปรากฏในธรรมชาติ[3] แต่พวกมันทั้งหมดก็ถูกค้นพบในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์มาก่อน ซึ่งการผลิตพวกมันทำให้ตารางธาตุขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการสังเคราะห์เนปทูเนียมขึ้นมาเป็นธาตุแรก ซึ่งสังเคราะห์ในปี พ.ศ. 2482[89] เนื่องด้วยธาตุส่วนใหญ่หลังยูเรเนียมไปแล้วนั้น มีความไม่เสถียรสูงมาก และสลายตัวอย่างรวดเร็ว พวกมันจึงกลายเป็นความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์ที่จะตรวจจับและระบุลักษณะขณะที่มันถูกผลิตขึ้นแล้ว พวกมันยังมีการถกเถียงในเรื่องของความถูกต้องของการค้นพบธาตุ ซึ่งบางครั้งก็ยังขาดการตรวจสอบความสำคัญและการตั้งชื่อที่ถูกต้อง ซึ่งธาตุที่ได้รับการยืนยันและได้รับการตั้งชื่อล่าสุดคือ ฟลีโรเวียม (ธาตุที่ 114) และลิเวอร์มอเรียม (ธาตุที่ 116) ทั้งคู่ถูกตั้งชื่อในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555[90] ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2553 ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ในดุบนา ประเทศรัสเซีย ได้สังเคราะห์อะตอมของเทนเนสซีน (ธาตุที่ 117) 6 อะตอม ซึ่งทำให้มันกลายเป็นธาตุล่าสุดที่คาดว่าจะถูกค้นพบ[91] ปัจจุบัน ธาตุที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 118 คือ Og ออกาเนสซอนยังรู้จักกันในชื่อว่า เอคา-เรดอน หรือ ธาตุ 118 และบนตารางธาตุ มันถูกจัดให้อยู่ในบล็อก-p และเป็นธาตุตัวสุดท้ายบนคาบที่ 7 ปัจจุบัน ออกาเนสซอนเป็นธาตุสังเคราะห์เพียงตัวเดียวของธาตุหมู่ 18 มันยังเป็นธาตุที่มีเลขอะตอมและมวลอะตอมมากที่สุดเท่าที่ค้นพบในปัจจุบัน

ตารางธาตุรูปแบบอื่น

ตารางธาตุแบบยาว

ตารางธาตุฉบับ 32 หมู่

ตารางธาตุสมัยใหม่ในบางครั้งอาจจะมีการนำแลนทาไนด์และแอกทิไนด์มาต่อกันเป็นตารางเดียว แทรกระหว่างบล็อก s และบล็อก d ซึ่งเรียกกันว่าเป็นตารางธาตุแบบยาว 32 หมู่ เพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของเลขอะตอมที่เพิ่มขึ้น[92] ความสัมพันธ์ระหว่างบล็อก f กับบล็อกอื่นของตารางก็ยังให้เห็นชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย[93] เจนเซนสนับสนุนให้ใช้ตารางธาตุแบบยาวนี้ บนพื้นฐานของความคิดนักเรียนที่อาจคิดว่าแลนทาไนด์และแอกทิไนด์เป็นธาตุที่ไม่สำคัญและไม่น่าสนใจ[94] แม้ว่าตารางธาตุแบบยาวจะมีประโยชน์หลายประการ บรรณาธิการหลายคนก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้ตารางธาตุแบบยาว เพราะมันจะกินเนื้อที่บนหน้าหนังสือมากเกินไป[95] และยังมีความคุ้นชินกับตารางธาตุที่แนะนำโดยนักเคมี (เช่นที่แนะนำโดยซีบอร์ก)[96]

ตารางธาตุที่เปลี่ยนโครงสร้าง

ภายในระยะเวลา 100 ปีหลังจากที่ตารางธาตุของเมนเดเลเยฟถูกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2412 เอ็ดเวิร์ด จี. มาซูร์ ได้รวบรวมตารางธาตุที่มีโครงสร้างแตกต่างไปจากเดิมประมาณ 700 กว่าชนิด และได้รับการตีพิมพ์แล้ว[97][98][99] เช่นเดียวกับตารางธาตุในรูปแบบช่องสี่เหลี่ยมก็มีการดัดแปลงโครงสร้างเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น[n 6] โครงสร้างวงกลม, ลูกบาศก์ ทรงกระบอก โครงสร้างคล้ายอาคาร ทรงเกลียว เลมนีสเกต[100] ปริซึมทรงแปดเหลี่ยม พีระมิด แบบแยกออกจากกัน ทรงกลม เกลียว และรูปสามเหลี่ยม ส่วนใหญ่แล้วตารางธาตุในโครงสร้างแบบอื่น ๆ นั้น สร้างขึ้นเพื่อเน้นหรือให้ความสำคัญกับสมบัติทางเคมีหรือกายภาพของธาตุ ซึ่งไม่มีในตารางธาตุปกติ[99]

ตารางธาตุรูปแบบเกลียวของทีโอดอร์ เบนฟีย์

ตารางธาตุโครงสร้างอื่นที่ได้รับความนิยม[101]คือ ตารางธาตุของทืโอดอร์ เบนฟีย์ เขาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 ธาตุถูกจัดเรียงในเกลียวที่ต่อเนื่องกัน โดยมีไฮโดรเจนอยู่ตรงกลางและมีโลหะแทรนซิชัน แลนทาไนด์ และแอกทิไนด์ ยื่นออกมาคล้ายกับคาบสมุทร[102]

ตารางธาตุส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น 2 มิติ[3] ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีตารางธาตุที่เป็น 3 มิติ และเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2405 (ก่อนที่เมนเดเลเยฟจะตีพิมพ์ตารางธาตุของเขาในปี พ.ศ. 2412) ตัวอย่างตารางธาตุ 3 มิติที่พบเห็นได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น การจำแนกธาตุของคูร์ทีนส์ (พ.ศ. 2468)[103] ระบบลามีนาของวริงลีย์ (พ.ศ. 2492)[104] ตารางธาตุทรงเกลียวของกีเกอเร (พ.ศ. 2508)[105] และต้นไม้พีรีออดิกของดูโฟร์ (พ.ศ. 2539)[106] ได้รับการบรรยายว่าเป็นตารางธาตุ 4 มิติ (มิติเชิงพื้นที่ 3 มิติและมิติเชิงสีอีก 1 มิติ)[107]

คำถามเปิดและการโต้แย้ง

ธาตุที่ไม่ทราบสมบัติทางเคมี

ถึงแม้ว่าธาตุทุกตัวจนถึงออกาเนสซอนจะถูกค้นพบแล้ว แต่ธาตุที่มีเลขอะตอมมากกว่าฮัสเซียม (ธาตุที่ 108) มีเพียงแค่โคเปอร์นิเซียม (ธาตุที่ 112) และฟลีโรเวียม (ธาตุที่ 114) เท่านั้นที่ทราบสมบัติทางเคมีแล้ว ส่วนธาตุอื่น ๆ ที่มีเลขอะตอมมากกว่าฮัสเซียมนั้น สมบัติทางเคมีของมันเป็นเพียงแค่การทำนายโดยการประมาณค่าหรือพิจารณาความสัมพันธ์ทางเคมี เช่น ทำนายว่าฟลีโรเวียมจะมีสมบัติที่คล้ายคลึงกับธาตุในหมู่แก๊สมีสกุล แม้ว่าปัจจุบันมันจะจัดให้อยู่ในหมู่คาร์บอนก็ตาม[108] การทดลองส่วนใหญ่ได้บ่งชี้เช่นนั้น ถึงอย่างนั้น ฟลีโรเวียมแสดงความประพฤติทางเคมีเหมือนกับตะกั่ว ตามตำแหน่งของธาตุที่คาดไว้[109]

การขยายตารางธาตุ

ไม่มีความแน่ชัดว่าธาตุใหม่ที่จะถูกค้นพบต่อไปนี้จะต้องไปอยู่ในคาบที่ 8 หรือต้องการการปรับเปลี่ยนรูปแบบตารางธาตุ ซีบอร์กคาดว่าคาบที่ 8 นี้จะเป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ มันจะประกอบไปด้วยธาตุในบล็อก-s 2 ตัว คือธาตุที่ 119 และ 120 หลังจากนั้นจะเป็นบล็อก-g สำหรับธาตุตัวถัดไปอีก 18 ตัว และที่เหลืออีก 30 ตัวจะถูกจัดให้อยู่ในบล็อก-f -d และ -p ตามลำดับ[110] ล่าสุด นักฟิสิกส์หลายคนเช่น เป็กกา ปืกเกอ เชื่อว่าธาตุใหม่ที่จะถูกค้นพบนั้นจะไม่เป็นไปตามกฎของแมนเดลัง ซึ่งเป็นการทำนายว่าจะมีวงอิเล็กตรอนเท่าใด และจะทำให้ตารางธาตุปัจจุบันมีหน้าตาเปลี่ยนไปด้วย ปัจจุบันมีแบบจำลองสมมติฐานหลายแบบออกมาสำหรับตำแหน่งธาตุที่มีเลขอะตอมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 172 โดยธาตุที่ 172 นี้ เชื่อกันว่าจะเป็นธาตุอโลหะมีสกุลตัวต่อไปจากออกาเนสซอน ซึ่งแบบจำลองเหล่านี้จะต้องพิจารณาว่าเป็นเพียงทฤษฎี เนื่องจากยังไม่มีการคำนวณใด ๆ สำหรับธาตุที่พ้นจากธาตุ 122[111]

ธาตุที่มีเลขอะตอมมากที่สุด

ตัวเลขของจำนวนธาตุที่เป็นไปได้ยังไม่มีใครทราบ มีข้อคิดเห็นที่เก่าที่สุดสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งเสนอโดย เอเลียต อดัมส์ ในปี พ.ศ. 2454 และอยู่บนพื้นฐานของการจัดเรียงธาตุในแถวแนวนอนของตารางธาตุ เขาเชื่อว่าธาตุที่มีมวลอะตอมมากกว่า 256± (ซึ่งเทียบเท่ากับมวลอะตอมระหว่างธาตุที่ 99 และ 100 ในปัจจุบัน) จะไม่ปรากฏขึ้น[112] ธาตุที่มีมวลอะตอมสูงกว่านี้ คาดว่าจะไปสิ้นสุดไม่ไกลหลังจากหมู่เกาะแห่งความเสถียรภาพ[113] ซึ่งทำนายกันว่าจะมีศูนย์กลางประมาณธาตุที่ 126 และเป็นส่วนขยายของตารางธาตุและตารางนิวไคลด์จะถูกจำกัดโดยดริปไลน์ (Drip line) ของโปรตอนและนิวตรอน[114] มีการทำนายอื่น ๆ อีกมากมายที่นำเสนอเกี่ยวกับจุดสิ้นสุดของตารางธาตุ รวมทั้งตารางธาตุจะสิ้นสุดที่ธาตุ 128 ซึ่งเสนอโดยจอห์น เอมสลีย์[3] สิ้นสุดที่ธาตุ 137 โดยริชาร์ด ไฟน์แมน[115] และสิ้นสุดที่ธาตุ 155 โดยอัลเบิร์ต คาซาน[3][n 7]

แบบจำลองของบอร์

แบบจำลองของบอร์จะมีความยากลำบากในการอธิบายถึงอะตอมของธาตุที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 137 ขึ้นไป ธาตุใด ๆ ก็ตามที่มีเลขอะตอมมากกว่า 137 มันจะต้องการอิเล็กตรอนในวงย่อย 1s เพื่อที่จะให้เดินทางได้เร็วกว่าแสง[116] ดังนั้นแบบจำลองของบอร์จึงไม่ได้ถูกใช้เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของธาตุเหล่านั้น

สมการแสดงความสัมพันธ์ของดิแรก

สมการแสดงความสัมพันธ์ของดิแรกจะมีปัญหาเมื่อธาตุนั้นมีโปรตอนมากกว่า 137 ตัว สำหรับธาตุเหล่านั้น ฟังก์ชันคลื่นของสถานะพื้นของดิแรกจะเกิดการแกว่งมากกว่าที่จะยึดกันไว้ และจะไม่มีช่องว่างระหว่างพลังงานบวกและลบของสเปกตรัม ซึ่งมีในปฏิทรรศน์ของไคลน์[117] การคำนวณที่แม่นยำขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบของการจำกัดขนาดของนิวเคลียส แสดงให้เห็นว่าพลังงานที่ทำให้นิวเคลียสอยู่รวมกัน จะมีค่าเกินขีดจำกัดสำหรับธาตุที่มีโปรตอนมากกว่า 137 ตัว สำหรับธาตุที่หนักกว่านั้น ถ้าวงอิเล็กตรอนชั้นในสุด (1s) ไม่ถูกเติมเต็ม จะทำให้สนามไฟฟ้าของนิวเคลียสจะดึงอิเล็กตรอนออกจากสุญญากาศ ส่งผลให้อะตอมนั้นเกิดการปล่อยโพซิตรอนออกมาโดยธรรมชาติ[118] ถึงอย่างนั้น ผลกระทบนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าวงอิเล็กตรอนชั้นในสุดได้รับการเติมเต็มแล้ว ดังนั้นธาตุที่ 137 จึงไม่จำเป็นว่าจะเป็นที่สิ้นสุดของตารางธาตุ[119]

ตำแหน่งของไฮโดรเจนและฮีเลียม

บ่อยครั้งที่ไฮโดรเจนและฮีเลียมถูกวางในตำแหน่งที่แตกต่างกัน แทนที่จะวางใกล้กัน เนื่องด้วยการจัดเรียงอิเล็กตรอน ไฮโดรเจนส่วนใหญ่จะถูกจัดให้อยู่บนลิเทียม โดยพิจารณาจากการจัดเรียงอิเล็กตรอน แต่บางครั้งมันก็จะถูกจัดให้อยู่เหนือฟลูออรีน[120]หรือคาร์บอน[120] เนื่องจากไฮโดรเจนแสดงพฤติกรรมที่มีความคล้ายคลึงกับธาตุเหล่านั้น บางครั้งไฮโดรเจนอาจจะถูกจัดให้อยู่เดี่ยว ๆ ซึ่งหมายความว่าไฮโดรเจนไม่มีสมบัติเหมือนกับธาตุในหมู่ใด ๆ เลย[121] ฮีเลียม ส่วนใหญ่แล้วจะถูกจัดให้อยู่เหนือนีออน เพราะมีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกันมาก ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะถูกจัดให้อยู่เหนือเบริลเลียมเนื่องด้วยการจัดเรียงอิเล็กตรอน (ฮีเลียม: 1s2 เบริลเลียม: [He] 2s2)[23]

หมู่ของโลหะแทรนซิชัน

นิยามของโลหะแทรนซิชันโดยไอยูแพกนั้น คือธาตุที่อิเล็กตรอนนั้นจะเข้าไปอยู่ในวงย่อย d หรือจะเป็นประจุบวกเพื่อเติมเต็มวงย่อย d[122] จากคำนิยามนี้ ทำให้ธาตุในหมู่ 3–11 เป็นโลหะแทรนซิชัน คำนิยามของไอยูแพกทำให้ธาตุในหมู่ 12 ซึ่งประกอบด้วยสังกะสี แคดเมียม และปรอท ออกจากการเป็นโลหะแทรนซิชันไป

นักเคมีบางคนอธิบายว่า "ธาตุบล็อก-d" และ "โลหะแทรนซิชัน" สามารถสลับกันได้ ซึ่งทำให้หมู่ที่ 3–12 กลายเป็นโลหะแทรนซิชัน ในกรณีนี้ธาตุหมู่ 12 จะถือว่าเป็นกรณีพิเศษของโลหะแทรนซิชัน เพราะธาตุหมู่ 12 ไม่ได้ใช้อิเล็กตรอนในวงย่อย d ในการทำพันธะกับธาตุอื่น แต่การค้นพบล่าสุด พบว่าปรอทสามารถใช้อิเล็กรอนในวงย่อย d ในการสร้างพันธะกับฟลูออรีน เป็นเมอร์คิวรี(IV) ฟลูออไรด์ (HgF4) ทำให้มีนักเคมีบางคนเสนอว่าปรอทควรจะถูกจัดให้เป็นโลหะแทรนซิชัน[123] ส่วนนักเคมีคนอื่น ๆ เช่น เจนเซน[97] แย้งว่าการเกิดของ HgF4 สามารถเกิดได้ในภาวะที่ผิดปกติอย่างมากเท่านั้น ดังนั้นปรอทจึงไม่ถูกจัดให้เป็นโลหะแทรนซิชัน โดยการพิจารณาความหมายโดยสามัญ[97]

แต่ก็ยังมีนักเคมีบางคนที่ไม่รวมธาตุหมู่ 3 ในกลุ่มโลหะแทรนซิชัน โดยคำนิยามของโลหะแทรนซิชัน พวกเขาทำบนพื้นฐานที่ว่าธาตุในหมู่ 3 ไม่มีไอออนใด ๆ ที่สามารถไปเติมเต็มวงย่อย d ได้ และไม่แสดงสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับโลหะแทรนซิชันเลย[124] ในกรณีนี้ธาตุหมู่ 4–11 จะถูกจัดให้เป็นโลหะแทรนซิชัน[125] แม้ว่าธาตุหมู่ 3 มีสมบัติทางเคมีเหมือนโลหะแทรนซิชันบางประการ แต่ก็ยังมีสมบัติทางกายภาพที่เหมือนกันด้วย (การมีอยู่ของ d อิเล็กตรอน)[48]

ธาตุคาบ 6 และ 7 ในหมู่ที่ 3

ถึงแม้ว่าสแกนเดียมและอิตเทรียมจะเป็นธาตุหมู่ 3 สองตัวแรกตลอด ตัวตนของธาตุอีกสองตัวยังไม่ได้ถูกยืนยัน พวกมันอาจจะเป็นแลนทานัมกับแอกทิเนียมหรือลูทีเชียมกับลอว์เรนเชียม ถึงแม้มันยังมีข้อโต้แย้งทางเคมีและกายภาพที่สนับสนุนการจัดโดยนำลูทีเชียมและลอว์เรนเชียมเป็นธาตุหมู่ 3 แต่ก็ไม่ควรที่จะเชื่อถือนัก[126] คำนิยามปัจจุบันของคำว่า "แลนทาไนด์" ของไอยูแพก รวมธาตุ 15 ตัว ซึ่งมีทั้งแลนทานัมและลูทีเชียม และ "โลหะแทรนซิชัน"[122] อาจจะเป็นแลนทานัมหรือแอกทิเนียมก็ได้ หรือแม้กระทั่งลูทีเชียม แต่ไม่ใช่ลอว์เรนเชียม เนื่องจากหลักการออฟบาวไม่มีความถูกต้องแล้ว โดยทั่วไป อิเล็กตรอนของลอว์เรนเชียมตัวที่ 103 จะต้องเข้าไปอยู่ในวงย่อย d แต่การวิจัยทางกลศาสตร์ควอนตัมชี้ให้เห็นว่าลอว์เรนเชียมมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนเป็น [Rn] 5f14 7s2 7p1[n 8] เนื่องด้วยผลกระทบจากความสัมพันธ์ระหว่างธาตุเคมี[127][128] ไอยูแพกจึงยังไม่ได้แนะนำรูปแบบที่เจาะจง สำหรับธาตุในบล็อก-f และยังคงเป็นข้อโต้แย้งต่อไป

แลนทานัมและแอกทิเนียม


La และ Ac อยู่ใต้ Y

แลนทานัมและแอกทิเนียมมักจะถูกจัดให้เป็นธาตุหมู่ 3[129][n 9] โดยมีการเสนอตำแหน่งของธาตุทั้งสองนี้ครั้งแรกในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1940 ด้วยการปรากฏตัวของตารางธาตุที่จัดเรียงตามการจัดเรียงอิเล็กตรอนของธาตุเคมีและความคิดในการแยกแยะอิเล็กตรอน การจัดเรียงอิเล็กตรอนของซีเซียม แบเรียม และแลนทานัม คือ [Xe]6s1 [Xe]6s2 และ [Xe]5d16s2 ดังนั้นแลนทานัมจึงมีอิเล็กตรอนในชั้น 5d แยกออกมาและทำให้แลนทานัมกลายเป็น "ธาตุหมู่ 3 และธาตุตัวแรกในบล็อก d ของคาบ 6"[130] กลุ่มของธาตุที่จัดเรียงอิเล็กตรอนคล้าย ๆ กันพบได้ในหมู่ 3: สแกนเดียม [Ar]3d14s2 อิตเทรียม [Kr]4d15s2 และแลนทานัม [Xe]5d16s2 อิตเทอร์เบียมและลูทีเชียม ซึ่งอยู่ในคาบ 6 เหมือนกัน มีการจัดเรียงอิเล็กตรอนเป็น [Xe]4f135d16s2 และ [Xe]4f145d16s2 ตามลำดับ "ส่งผลให้เกิดอิเล็กตรอนชั้น 4f แยกออกมาในลูทีเชียม และทำให้มันเป็นธาตุสุดท้ายของบล็อก f ของคาบ 6"[130] ภายหลัง มีงานวิจัยจากการวิเคราะห์สเปกตรัม พบว่าการจัดเรียงอิเล็กตรอนที่แท้จริงของอิตเทอร์เบียมเป็น [Xe]4f146s2 หมายความว่าทั้งอิตเทอร์เบียมและลูทีเชียม ต่างมี 14 อิเล็กตรอนในบล็อก f "ส่งผลให้เกิดอิเล็กตรอน d แยกออกมาแทนที่จะเป็น f สำหรับลูทีเชียม" และทำให้ลูทีเชียมกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งใต้อิตเทรียมเช่นเดียวกันกับ [Xe]5d16s2 แลนทานัม แต่แลนทานัมได้เปรียบจากตำแหน่ง เนื่องจากอิเล็กตรอน 5d1 ปรากฏตัวครั้งแรกในการจัดเรียงนี้ ขณะที่มันปรากฏเป็นครั้งที่สามสำหรับลูทีเชียม นอกจากนี้อิเล็กตรอน 5d1 ยังปรากฏบ้างเป็นครั้งที่สองในธาตุแกโดลิเนียมด้วยเช่นกัน[131]

ในทางพฤติกรรมเคมี[132] ธาตุหมู่สามจะมีแนวโน้มคุณสมบัติต่าง ๆ ลดลงไปในแต่ละคาบ ไม่ว่าจะเป็นจุดหลอมเหลว อิเล็กโทรเนกาติวิตี หรือรัศมีไอออน[133][134] สแกนเดียม อิตเทรียม แลนทานัม และแอกทิเนียมคล้ายคลึงกันกับธาตุหมู่ 1-2 ที่อยู่ข้างเคียง ในรูปแบบนี้ จำนวน f อิเล็กตรอนของไอออนที่พบได้บ่อยสุดของธาตุบล็อก f จะสอดคล้องกับตำแหน่งในบล็อก f[135] ตัวอย่างเช่น จำนวน f อิเล็กตรอนของธาตุบล็อก f สามตัวแรก คือ Ce 1 Pr 2 Nd 3[136]

ลูทีเชียมและลอว์เรนเชียม


Lu และ Lr อยู่ใต้ Y

ในรูปแบบนี้ ลูทีเชียมและลอว์เรนเชียมเป็นธาตุหมู่ 3[n 10] วิธีการแรก ๆ ที่แยกสแกนเดียม อิตเทรียม และลูทีเชียม คือ การพิจารณาว่าธาตุเหล่านี้ปรากฏตัวอยู่ด้วยกัน เรียกว่า "หมู่อิตเทรียม" ขณะที่แลนทานัมและแอกทิไนด์ ปรากฏตัวอยู่ด้วยกันใน "หมู่ซีเรียม"[130] ดังนั้น ลูทีเชียมจึงถูกจัดให้อยู่ในหมู่ 3 แทนที่แลนทานัมโดยนักเคมีบางคนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 และ 1930[n 11] นักฟิสิกส์หลายคนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 นิยมนำลูทีเชียมจัดเป็นธาตุหมู่ 3 เมื่อมีการเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพกับแลนทานัมแล้ว การจัดเรียงเช่นนี้ โดยนำแลนทานัมไปไว้เป็นธาตุตัวแรกของบล็อก f กลายเป็นข้อถกเถียงในหมู่นักเขียนบางส่วน เพราะแลนทานัมขาด f อิเล็กตรอน แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า เป็น "ข้อกังวลที่ไม่ถูกต้อง" ตัวอย่างเช่น ทอเรียม เป็นธาตุในบล็อก f แต่ไม่มี f อิเล็กตรอน[137] สำหรับลอว์เรนเชียม การจัดเรียงอิเล็กตรอนในอะตอมสถานะแก๊สถูกยืนยันในปี พ.ศ. 2558 เป็น [Rn]5f147s27p1 การจัดเรียงอิเล็กตรอนนี้แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติอีกประการ คือ ไม่ว่าลอว์เรนเชียมจะอยู่ตำแหน่งไหนในบล็อก f หรือ บล็อก d แต่ตัวธาตุมี p อิเล็กตรอนตัวแรก ซึ่งตำแหน่งธาตุที่จะมี p อิเล็กตรอนตัวแรกได้ถูกจัดไว้ให้กับนิโฮเนียม ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนเป็น [Rn]5f146d107s27p1[138][n 12]

สแกนเดียม อิตเทรียม และ ลูทีเชียม (และลอว์เรนเชียมที่เป็นไปได้) มีพฤติกรรมคล้ายไตรวาเลนต์ของโลหะหมู่ 1 และ 2[140] ในทางตรงกันข้าม ธาตุจะมีแนวโน้มคุณสมบัติต่าง ๆ ลดลงไปในแต่ละคาบ ไม่ว่าจะเป็นจุดหลอมเหลว อิเล็กโทรเนกาติวิตี หรือรัศมีไอออน คล้ายคลึงกับธาตุในหมู่ 4–8[130] ในรูปแบบนี้ จำนวน f อิเล็กตรอนของอะตอมธาตุบล็อก f ในสถานะแก๊ส โดยปกติจะสอดคล้องกับตำแหน่งในบล็อก f ตัวอย่างเช่น จำนวน f อิเล็กตรอนของธาตุบล็อก f ห้าตัวแรก คือ La 0 Ce 1 Pr 3 Nd 4 และ Pm 5[130]

แลนทาไนด์และแอกทิไนด์


เครื่องหมายอยู่ใต้ Y

นักเขียนจำนวนหนึ่งวางตำแหน่งธาตุแลนทาไนด์และแอกทิไนด์ทั้ง 30 ธาตุไว้ในตำแหน่งทั้งสองใต้อิตเทรียม ในรูปแบบนี้ ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงใน Red Book ปี พ.ศ. 2549 ว่าเป็นรูปแบบที่ยอมรับจากไอยูแพกในปี พ.ศ. 2549 (ในภายหลังก็ปรากฏรูปแบบอื่นอีกมากมาย และมีอัปเดตล่าสุดในวันที่ 1 ธ.ค. 2561)[141][n 13] โดยให้ความสำคัญถึงความเหมือนของธาตุทั้ง 15 ตัวในแลนทาไนด์ (La ถึง Lu) อาจจะเพื่อหลีกเลี่ยงความกำกวมว่าธาตุใดควรจะเป็นธาตุหมู่ 3 ใต้อิตเทรียม กับบล็อก f ที่กว้าง 15 ช่อง (ขณะที่ธาตุบล็อก f สามารถมีได้แค่ 14 ตัวไม่ว่าจะอยู่ในแถวใด)[n 14]

ตารางธาตุในรูปแบบที่เหมาะสม

มีตารางธาตุหลายรูปแบบที่ถูกเสนอว่าควรจะเป็นตารางธาตุที่มีรูปแบบเหมาะสม คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าตารางธาตุนั้นบอกรายละเอียดเกี่ยวกับธาตุได้พอดีและอยู่บนพื้นฐานของความจริงหรือไม่ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตการณ์ของมนุษย์ ตารางธาตุที่เหมาะสมนั้นจะต้องอธิบายได้ว่าไฮโดรเจนและฮีเลียมควรจะอยู่ที่ไหน และธาตุหมู่ 3 จะมีอะไรบ้าง คำตอบดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงด้วยเช่นกัน ถ้ามีความจริงนั้นอยู่แล้ว มันอาจจะยังไม่ถูกค้นพบ ในกรณีที่ไม่มีคำตอบ การนำตารางธาตุหลายรูปแบบมารวมกัน ก็สามารถทำให้ตารางธาตุสมบูรณ์แบบขึ้นได้ และมีการเน้นแง่มุมที่แตกต่างกันของสมบัติทางเคมีและความสัมพันธ์ระหว่างธาตุ ความแพร่หลายของตารางธาตุในรูปแบบมาตรฐาน หรือรูปแบบยาว อาจจะเป็นตารางธาตุที่ดีแล้ว มีความสมดุลของเอกลักษณ์ในแง่ของโครงสร้างและขนาด การเรียงธาตุตามสมบัติของอะตอมและแนวโน้มพีรีออดิก[62][143]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "Chemistry: Four elements added to periodic table". BBC News. 4 มกราคม 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มกราคม 2016.
  2. St. Fleur, Nicholas (1 ธันวาคม 2016). "Four New Names Officially Added to the Periodic Table of Elements". New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 สิงหาคม 2017.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Emsley, John (2011). Nature's Building Blocks: An A-Z Guide to the Elements (New ed.). New York, NY: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-960563-7.
  4. Meija, Juris; และคณะ (2016). "Atomic weights of the elements 2013 (IUPAC Technical Report)". Pure and Applied Chemistry. 88 (3): 265–91. doi:10.1515/pac-2015-0305.
  5. Prohaska, Thomas; Irrgeher, Johanna; Benefield, Jacqueline; และคณะ (2022-05-04). "Standard atomic weights of the elements 2021 (IUPAC Technical Report)". Pure and Applied Chemistry (ภาษาอังกฤษ). doi:10.1515/pac-2019-0603. ISSN 1365-3075.
  6. Greenwood, pp. 24–27
  7. Gray, p. 6
  8. "IUPAC Announces the Names of the Elements 113, 115, 117, and 118". IUPAC. 2016-11-30. สืบค้นเมื่อ 2016-11-30.
  9. Haire, Richard G. (2006). "Fermium, Mendelevium, Nobelium and Lawrencium". ใน Morss; Edelstein, Norman M.; Fuger, Jean (บ.ก.). The Chemistry of the Actinide and Transactinide Elements (3rd ed.). Dordrecht, The Netherlands: Springer Science+Business Media. ISBN 1-4020-3555-1.
  10. Gray, p. 11
  11. Scerri 2007, p. 24
  12. Messler, R. W. (2010). The essence of materials for engineers. Sudbury, MA: Jones & Bartlett Publishers. p. 32. ISBN 0-7637-7833-8.
  13. Bagnall, K. W. (1967). "Recent advances in actinide and lanthanide chemistry". ใน Fields, P.R.; Moeller, T. (บ.ก.). Advances in chemistry, Lanthanide/Actinide chemistry. Advances in Chemistry. Vol. 71. American Chemical Society. pp. 1–12. doi:10.1021/ba-1967-0071. ISBN 0-8412-0072-6. ISSN 0065-2393.{{cite book}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  14. Day, M. C., Jr.; Selbin, J. (1969). Theoretical inorganic chemistry (2nd ed.). New York: Nostrand-Rienhold Book Corporation. p. 103. ISBN 0-7637-7833-8.
  15. Holman, J.; Hill, G. C. (2000). Chemistry in context (5th ed.). Walton-on-Thames: Nelson Thornes. p. 40. ISBN 0-17-448276-0.
  16. Leigh, G. J. (1990). Nomenclature of Inorganic Chemistry: Recommendations 1990. Blackwell Science. ISBN 0-632-02494-1.
  17. Fluck, E. (1988). "New Notations in the Periodic Table" (PDF). Pure Appl. Chem. IUPAC. 60 (3): 431–436. doi:10.1351/pac198860030431. สืบค้นเมื่อ 24 March 2012.
  18. 18.0 18.1 Moore, p. 111
  19. 19.0 19.1 19.2 Greenwood, p. 30
  20. Stoker, Stephen H. (2007). General, organic, and biological chemistry. New York: Houghton Mifflin. p. 68. ISBN 978-0-618-73063-6. OCLC 52445586.
  21. Mascetta, Joseph (2003). Chemistry The Easy Way (4th ed.). New York: Hauppauge. p. 50. ISBN 978-0-7641-1978-1. OCLC 52047235.
  22. Kotz, John; Treichel, Paul; Townsend, John (2009). Chemistry and Chemical Reactivity, Volume 2 (7th ed.). Belmont: Thomson Brooks/Cole. p. 324. ISBN 978-0-495-38712-1. OCLC 220756597.
  23. 23.0 23.1 Gray, p. 12
  24. Jones, Chris (2002). d- and f-block chemistry. New York: J. Wiley & Sons. p. 2. ISBN 978-0-471-22476-1. OCLC 300468713.
  25. Silberberg, M. S. (2006). Chemistry: The molecular nature of matter and change (4th ed.). New York: McGraw-Hill. p. 536. ISBN 0-07-111658-3.
  26. Manson, S. S.; Halford, G. R. (2006). Fatigue and durability of structural materials. Materials Park, Ohio: ASM International. p. 376. ISBN 0-87170-825-6.
  27. Bullinger, Hans-Jörg (2009). Technology guide: Principles, applications, trends. Berlin: Springer-Verlag. p. 8. ISBN 978-3-540-88545-0.
  28. Myers, R. (2003). The basics of chemistry. Westport, CT: Greenwood Publishing Group. pp. 61–67. ISBN 0-313-31664-3.
  29. Chang, Raymond (2002). Chemistry (7 ed.). New York: McGraw-Hill. pp. 289–310, 340–42. ISBN 0-07-112072-6.
  30. Greenwood, p. 27
  31. Jolly, W. L. (1991). Modern Inorganic Chemistry (2nd ed.). McGraw-Hill. p. 22. ISBN 978-0-07-112651-9.
  32. 32.0 32.1 Greenwood, p. 28
  33. IUPAC, Compendium of Chemical Terminology, 2nd ed. (the "Gold Book") (1997). Online corrected version:  (2006-) "Electronegativity".
  34. Pauling, L. (1932). "The Nature of the Chemical Bond. IV. The Energy of Single Bonds and the Relative Electronegativity of Atoms". Journal of the American Chemical Society. 54 (9): 3570–3582. doi:10.1021/ja01348a011.
  35. Allred, A. L. (1960). "Electronegativity values from thermochemical data". Journal of Inorganic and Nuclear Chemistry. Northwestern University. 17 (3–4): 215–221. doi:10.1016/0022-1902(61)80142-5. สืบค้นเมื่อ 11 June 2012.
  36. Huheey, Keiter & Keiter, p. 42
  37. Siekierski, Slawomir; Burgess, John (2002). Concise chemistry of the elements. Chichester: Horwood Publishing. pp. 35‒36. ISBN 1-898563-71-3.
  38. 38.0 38.1 Chang, pp. 307–309
  39. Huheey, Keiter & Keiter, pp. 42, 880–81
  40. Yoder, C. H.; Suydam, F. H.; Snavely, F. A. (1975). Chemistry (2nd ed.). Harcourt Brace Jovanovich. p. 58. ISBN 978-0-15-506465-2.
  41. Huheey, Keiter & Keiter, pp. 880–85
  42. Sacks, O. (2009). Uncle Tungsten: Memories of a chemical boyhood. New York: Alfred A. Knopf. pp. 191, 194. ISBN 978-0-375-70404-8.
  43. Gray, p. 9
  44. 44.0 44.1 MacKay, K. M.; MacKay, R. A.; Henderson, W. (2002). Introduction to Modern Inorganic Chemistry (6th ed.). Cheltenham: Nelson Thornes. pp. 194–196. ISBN 978-0-7487-6420-4.
  45. Remy, H. (1956). Kleinberg, J. (บ.ก.). Treatise on Inorganic Chemistry. Vol. 2. Amsterdam: Elsevier. p. 30.
  46. Phillips, C. S. G.; Williams, R. J. P. (1966). Inorganic Chemistry. Oxford: Clarendon Press. pp. 4–5.
  47. King, R. B. (1995). Inorganic chemistry of main group elements. New York: Wiley-VCH. p. 289.
  48. 48.0 48.1 Greenwood & Earnshaw, p. 947
  49. Spedding, F. H.; Beadry, B. J. (1968). "Lutetium". ใน Hampel, C. A. (บ.ก.). The Encyclopedia of the Chemical Elements. Reinhold Book Corporation. pp. 374–378.
  50. Settouti, N.; Aourag, H. (2014). "A Study of the Physical and Mechanical Properties of Lutetium Compared with Those of Transition Metals: A Data Mining Approach". JOM. 67 (1): 87–93. Bibcode:2015JOM....67a..87S. doi:10.1007/s11837-014-1247-x.
  51. 51.0 51.1 Silva, Robert J. (2011). "Chapter 13. Fermium, Mendelevium, Nobelium, and Lawrencium". ใน Morss, Lester R.; Edelstein, Norman M.; Fuger, Jean (บ.ก.). The Chemistry of the Actinide and Transactinide Elements. Netherlands: Springer. pp. 1621–1651. doi:10.1007/978-94-007-0211-0_13. ISBN 978-94-007-0210-3.
  52. Sato, T. K.; Asai, M.; Borschevsky, A.; Stora, T.; Sato, N.; Kaneya, Y.; Tsukada, K.; Düllman, Ch. E.; Eberhardt, K.; Eliav, E.; Ichikawa, S.; Kaldor, U.; Kratz, J. V.; Miyashita, S.; Nagame, Y.; Ooe, K.; Osa, A.; Renisch, D.; Runke, J.; Schädel, M.; Thörle-Pospiech, P.; Toyoshima, A.; Trautmann, N. (9 April 2015). "Measurement of the first ionization potential of lawrencium, element 103" (PDF). Nature. 520 (7546): 209–211. Bibcode:2015Natur.520..209S. doi:10.1038/nature14342. PMID 25855457.
  53. Steele, D. The Chemistry of the Metallic Elements. Oxford: Pergamon Press. p. 67.
  54. Greenwood, N. N.; Earnshaw, A. Chemistry of the Elements (2nd ed.). Oxford: Elsevier Science Ltd. p. 1206. ISBN 978-0-7506-3365-9.
  55. MacKay, K. M.; MacKay, R. A.; Henderson, W. (2002). Introduction to Modern Inorganic Chemistry (6th ed.). Cheltenham: Nelson Thornes. pp. 194–196, 385. ISBN 978-0-7487-6420-4.
  56. Siegfried, Robert (2002). From elements to atoms a history of chemical composition. Philadelphia, Pennsylvania: Library of Congress Cataloging-in-Publication Data. p. 92. ISBN 0-87169-924-9.
  57. Horvitz, Leslie (2002). Eureka!: Scientific Breakthroughs That Changed The World. New York: John Wiley. p. 43. ISBN 978-0-471-23341-1. OCLC 50766822.
  58. Ball, p.100
  59. van Spronsen, J. W. (1969). The periodic system of chemical elements. Amsterdam: Elsevier. p. 19. ISBN 0-444-40776-6.
  60. "Alexandre-Emile Bélguier de Chancourtois (1820-1886)" (ภาษาฝรั่งเศส). Annales des Mines history page. สืบค้นเมื่อ 18 September 2014.
  61. Odling, W. (2002). "On the proportional numbers of the elements". Quarterly Journal of Science. 1: 642–648 (643).
  62. 62.0 62.1 Scerri, Eric R. (2011). The periodic table: A very short introduction. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-958249-5.
  63. Kaji, M. (2004). "Discovery of the periodic law: Mendeleev and other researchers on element classification in the 1860s". ใน Rouvray, D. H.; King, R. Bruce (บ.ก.). The periodic table: Into the 21st Century. Research Studies Press. pp. 91–122 (95). ISBN 0-86380-292-3.
  64. Newlands, John A. R. (20 August 1864). "On Relations Among the Equivalents". Chemical News. 10: 94–95.
  65. Newlands, John A. R. (18 August 1865). "On the Law of Octaves". Chemical News. 12: 83.
  66. Scerri 2007, p. 306
  67. Brock, W. H.; Knight, D. M. (1965). "The Atomic Debates: 'Memorable and Interesting Evenings in the Life of the Chemical Society'". Isis. The University of Chicago Press. 56 (1): 5–25. doi:10.1086/349922.
  68. Scerri 2007, pp. 87, 92
  69. Kauffman, George B. (March 1969). "American forerunners of the periodic law". Journal of Chemical Education. 46 (3): 128–135 (132). Bibcode:1969JChEd..46..128K. doi:10.1021/ed046p128.
  70. Mendelejew, Dimitri (1869). "Über die Beziehungen der Eigenschaften zu den Atomgewichten der Elemente". Zeitschrift für Chemie (ภาษาเยอรมัน): 405–406.
  71. Venable, pp. 96–97; 100–102
  72. Ball, pp. 100–102
  73. Pullman, Bernard (1998). The Atom in the History of Human Thought. Translated by Axel Reisinger. Oxford University Press. p. 227. ISBN 0-19-515040-6.
  74. Ball, p. 105
  75. Atkins, P. W. (1995). The Periodic Kingdom. HarperCollins Publishers, Inc. p. 87. ISBN 0-465-07265-8.
  76. Samanta, C.; Chowdhury, P. Roy; Basu, D.N. (2007). "Predictions of alpha decay half lives of heavy and superheavy elements". Nucl. Phys. A. 789: 142–154. arXiv:nucl-th/0703086. Bibcode:2007NuPhA.789..142S. doi:10.1016/j.nuclphysa.2007.04.001.
  77. Scerri 2007, p. 112
  78. Kaji, Masanori (2002). "D.I. Mendeleev's Concept of Chemical Elements and the Principle of Chemistry" (PDF). Bull. Hist. Chem. Tokyo Institute of Technology. 27 (1): 4–16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-07-06. สืบค้นเมื่อ 11 June 2012.
  79. Adloff, Jean-Pierre; Kaufman, George B. (25 September 2005). "Francium (Atomic Number 87), the Last Discovered Natural Element". The Chemical Educator. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-04. สืบค้นเมื่อ 26 March 2007.
  80. Hoffman, D. C.; Lawrence, F. O.; Mewherter, J. L.; Rourke, F. M. (1971). "Detection of Plutonium-244 in Nature". Nature. 234 (5325): 132–134. Bibcode:1971Natur.234..132H. doi:10.1038/234132a0.
  81. Gray, p.  12
  82. Deming, Horace G (1923). General chemistry: An elementary survey. New York: J. Wiley & Sons. pp. 160, 165.
  83. Abraham, M; Coshow, D; Fix, W. Periodicity:A source book module, version 1.0 (PDF). New York: Chemsource, Inc. p. 3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-14. สืบค้นเมื่อ 2015-04-17.
  84. Emsley, J (7 March 1985). "Mendeleyev's dream table". New Scientist: 32–36(36).
  85. Fluck, E (1988). "New notations in the period table". Pure & Applied Chemistry. 60 (3): 431–436 (432). doi:10.1351/pac198860030431.
  86. Ball, p. 111
  87. Scerri 2007, pp. 270‒71
  88. Masterton, William L.; Hurley, Cecile N.; Neth, Edward J. Chemistry: Principles and reactions (7th ed.). Belmont, CA: Brooks/Cole Cengage Learning. p. 173. ISBN 1-111-42710-0.
  89. Ball, p. 123
  90. Barber, Robert C.; Karol, Paul J; Nakahara, Hiromichi; Vardaci, Emanuele; Vogt, Erich W. (2011). "Discovery of the elements with atomic numbers greater than or equal to 113 (IUPAC Technical Report)". Pure Appl. Chem. 83 (7): 1485. doi:10.1351/PAC-REP-10-05-01.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  91. Эксперимент по синтезу 117-го элемента получает продолжение [Experiment on sythesis of the 117th element is to be continued] (ภาษารัสเซีย). JINR. 2012.
  92. Scerri, Eric (2013). "Element 61—Promethium". A Tale of 7 Elements. New York: Oxford University Press (USA). pp. 175–194 (190). ISBN 978-0-19-539131-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กันยายน 2017. ... no interruptions in the sequence of increasing atomic numbers ...
  93. Newell, S. B. (1980). Chemistry: An introduction. Boston: Little, Brown and Company. p. 196. ISBN 978-0-316-60455-0. สืบค้นเมื่อ 27 August 2016.
  94. Jensen, W. B. (1982). "Classification, Symmetry and the Periodic Table". Computers & Mathematics with Applications. 12B (1/2): 487–510 (498). doi:10.1016/0898-1221(86)90167-7.
  95. Leach, M. R. (2012). "Concerning electronegativity as a basic elemental property and why the periodic table is usually represented in its medium form". Foundations of Chemistry. 15 (1): 13–29. doi:10.1007/s10698-012-9151-3.
  96. Thyssen, P.; Binnemans, K. (2011). Gschneidner Jr., K. A.; Bünzli, J-C.G; Vecharsky, Bünzli (บ.ก.). Accommodation of the Rare Earths in the Periodic Table: A Historical Analysis. Handbook on the Physics and Chemistry of Rare Earths. Vol. 41. Amsterdam: Elsevier. p. 76. ISBN 978-0-444-53590-0.
  97. 97.0 97.1 97.2 Jensen, William B. (1986). "CLASSIFICATION, SYMMETRY AND THE PERIODIC TABLE" (PDF). Comp. & Maths. With Appls. 12B (I/2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-01-31. สืบค้นเมื่อ 18 January 2017.
  98. Finding Aid to Edward G. Mazurs Collection of Periodic Systems Images. Science History Institute. Click on 'Finding Aid' to go to full finding aid.
  99. 99.0 99.1 Scerri 2007, p. 20
  100. "Weird Words of Science: Lemniscate Elemental Landscapes". Fields of Science. fieldofscience.com. 22 มีนาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2016.
  101. Emsely, J; Sharp, R (21 June 2010). "The periodic table: Top of the charts". The Independent.
  102. Seaborg, Glenn (1964). "Plutonium: The Ornery Element". Chemistry. 37 (6): 14.
  103. Mark R. Leach. "1925 Courtines' Periodic Classification". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-16. สืบค้นเมื่อ 16 October 2012.
  104. Mark R. Leach. "1949 Wringley's Lamina System". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-12-03. สืบค้นเมื่อ 16 October 2012.
  105. Mazurs, E.G. (1974). Graphical Representations of the Periodic System During One Hundred Years. Alabama: University of Alabama Press. p. 111. ISBN 978-0-8173-3200-6.
  106. Mark R. Leach. "1996 Dufour's Periodic Tree". สืบค้นเมื่อ 16 October 2012.
  107. Bradley, David (20 July 2011). "At last, a definitive periodic table?". ChemViews Magazine. doi:10.1002/chemv.201000107.
  108. Schändel, Matthias (2003). The Chemistry of Superheavy Elements. Dordrecht: Kluwer Academic Publishers. p. 277. ISBN 1-4020-1250-0.
  109. Scerri 2011, pp. 142–143
  110. Frazier, K. (1978). "Superheavy Elements". Science News. 113 (15): 236–238. doi:10.2307/3963006. JSTOR 3963006.
  111. Pyykkö, Pekka (2011). "A suggested periodic table up to Z ≤ 172, based on Dirac–Fock calculations on atoms and ions". Physical Chemistry Chemical Physics. 13 (1): 161–168. Bibcode:2011PCCP...13..161P. doi:10.1039/c0cp01575j. PMID 20967377.
  112. Elliot, Q. A. (1911). "A modification of the periodic table". Journal of the American Chemical Society. 33 (5): 684–688 (688). doi:10.1021/ja02218a004.
  113. Glenn Seaborg (c. 2006). "transuranium element (chemical element)". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 16 March 2010.
  114. Cwiok, S.; Heenen, P.-H.; Nazarewicz, W. (2005). "Shape coexistence and triaxiality in the superheavy nuclei". Nature. 433 (7027): 705–9. Bibcode:2005Natur.433..705C. doi:10.1038/nature03336. PMID 15716943.
  115. Column: The crucible Ball, Philip in Chemistry World, Royal Society of Chemistry, Nov. 2010
  116. Eisberg, R.; Resnick, R. (1985). Quantum Physics of Atoms, Molecules, Solids, Nuclei and Particles. Wiley.
  117. Bjorken, J. D.; Drell, S. D. (1964). Relativistic Quantum Mechanics. McGraw-Hill.
  118. Greiner, W.; Schramm, S. (2008). "American Journal of Physics". 76: 509. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help), and references therein.
  119. Ball, Philip (November 2010). "Would Element 137 Really Spell the End of the Periodic Table? Philip Ball Examines the Evidence". Royal Society of Chemistry. สืบค้นเมื่อ 30 September 2012.
  120. 120.0 120.1 Cronyn, Marshall W. (August 2003). "The Proper Place for Hydrogen in the Periodic Table". Journal of Chemical Education. 80 (8): 947–951. Bibcode:2003JChEd..80..947C. doi:10.1021/ed080p947.
  121. Gray, p. 14
  122. 122.0 122.1 IUPAC, Compendium of Chemical Terminology, 2nd ed. (the "Gold Book") (1997). Online corrected version:  (2006-) "transition element".
  123. Xuefang Wang; Lester Andrews; Sebastian Riedel; Martin Kaupp (2007). "Mercury Is a Transition Metal: The First Experimental Evidence for HgF4". Angew. Chem. Int. Ed. 46 (44): 8371–8375. doi:10.1002/anie.200703710. PMID 17899620.
  124. Rayner-Canham, G; Overton, T. Descriptive inorganic chemistry (4th ed.). New York: W H Freeman. pp. 484–485. ISBN 0-7167-8963-9.
  125. Rayner-Canham, G; Overton, T. Descriptive inorganic chemistry (4th ed.). New York: W H Freeman. pp. 484–485. ISBN 0-7167-8963-9.
  126. Scerri, E. (2012). "Mendeleev's Periodic Table Is Finally Completed and What To Do about Group 3?". Chemistry International. 34 (4).
  127. Eliav, E.; Kaldor, U.; Ishikawa, Y. (1995). "Transition energies of ytterbium, lutetium, and lawrencium by the relativistic coupled-cluster method". Phys. Rev. A. 52: 291–296. Bibcode:1995PhRvA..52..291E. doi:10.1103/PhysRevA.52.291.
  128. Zou, Yu; Froese, Fischer C.; Uiterwaal, C.; Wanner, J.; Kompa, K.-L. (2002). "Resonance Transition Energies and Oscillator Strengths in Lutetium and Lawrencium". Phys. Rev. Lett. 88 (18): 183001. Bibcode:2002PhRvL..88b3001M. doi:10.1103/PhysRevLett.88.023001. PMID 12005680.
  129. Emsley, J. (2011). Nature's Building Blocks (new ed.). Oxford: Oxford University. p. 651. ISBN 978-0-19-960563-7.
  130. 130.0 130.1 130.2 130.3 130.4 William B. Jensen (1982). "The Positions of Lanthanum (Actinium) and Lutetium (Lawrencium) in the Periodic Table". J. Chem. Educ. 59 (8): 634–636. Bibcode:1982JChEd..59..634J. doi:10.1021/ed059p634.
  131. Trifonov, D. N. (1970). Rare-earth elements and their position in the periodic system (translated from Russian). New Delhi: Indian National Scientific Documentation Centre. pp. 201–202.
  132. Greenwood, N. N.; Harrington, T. J. (1973). The chemistry of the transition elements. Oxford: Clarendon Press. p. 50. ISBN 978-0-19-855435-6.
  133. Aylward, G.; Findlay, T. (2008). SI chemical data (6th ed.). Milton, Queensland: John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-81638-7.
  134. Wiberg, N. (2001). Inorganic Chemistry. San Diego: Academic Press. p. 119. ISBN 978-0-12-352651-9.
  135. Wulfsberg, G. (2006). "Periodic table: Trends in the properties of the elements". Encyclopedia of Inorganic Chemistry. New York: John Wiley & Sons. p. 3. ISBN 978-0-470-86210-0.
  136. 136.0 136.1 Cotton, S. (2007). Lanthanide and Actinide Chemistry. Chichester: John Wiley & Sons. p. 150. ISBN 978-0-470-01006-8.
  137. Scerri, E. (15 กันยายน 2015). "Five ideas in chemical education that must die – Group three". Education in Chemistry. Royal Society of Chemistry. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 ธันวาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2015. It is high time that the idea of group 3 consisting of Sc, Y, La and Ac is abandoned
  138. Jensen, W. B. (2015). "Some Comments on the Position of Lawrencium in the Periodic Table" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 December 2015. สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2015.
  139. Xu, W-H.; Pyykkö, P. (2016). "Is the chemistry of lawrencium peculiar?". Physical Chemistry Chemical Physics. 18 (26): 17351–17355. Bibcode:2016PCCP...1817351X. doi:10.1039/C6CP02706G. PMID 27314425.
  140. King, R. B. (1995). Inorganic Chemistry of Main Group Elements. New York: Wiley-VCH. p. 289. ISBN 978-1-56081-679-9.
  141. Connelly, N. G.; Damhus, T.; Hartshorn, R. M.; Hutton, A. T. (2005). Nomenclature of Inorganic Chemistry: IUPAC Recommendations 2005 (PDF). RSC Publishing. p. vii. ISBN 978-0-85404-438-2. Lesser omissions include ... the several different outdated versions of the periodic table. (That on the inside front cover is the current IUPAC-agreed version.)
  142. Leigh, G. J. (2009). "Periodic Tables and IUPAC". Chemistry International. 31 (1). สืบค้นเมื่อ 27 November 2018.
  143. Francl, Michelle (May 2009). "Table manners" (PDF). Nature Chemistry. 1 (2): 97–98. Bibcode:2009NatCh...1...97F. doi:10.1038/nchem.183. PMID 21378810.

เชิงอรรถ

  1. ธาตุที่สังเคราะห์ขึ้นก่อนที่จะพบในธรรมชาติภายหลัง ได้แก่ เทคนีเชียม (Z=43), โพรมีเทียม (61), แอสทาทีน (85), เนปทูเนียม (93), พลูโทเนียม (94), อะเมริเซียม (95), คูเรียม (96), เบอร์คีเลียม (97) และแคลิฟอร์เนียม (98)
  2. ตารางธาตุบางตารางจะมีธาตุที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 0 ถึงแม้ว่ามันจะไม่จำเป็นที่จะต้องมีก็ตาม
  3. แต่มีบางกรณีที่ไม่เป็นไปตามนี้ เช่น ในวงย่อยของบล็อก-d อิเล็กตรอนจะเต็มได้เมื่อถึงหมู่ 11 แทนที่จะเป็นหมู่ 12
  4. แก๊สมีสกุล, แอสทาทีน แฟรนเซียม และทุกธาตุที่หนักกว่าอะเมริเซียม ยังไม่มีข้อมูลสำหรับเรื่องนี้
  5. ขณะที่ Lr ถูกคิดว่ามีอิเล็กตรอน p แทนที่จะเป็น d ในการจัดเรียงอิเล็กตรอนที่สถานะพื้น ก็ยังถูกพิจารณาให้เป็นโลหะระเหยง่ายที่สามารถสร้างไอออน +1 ในสารละลายเหมือนกับแทลเลียม แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่ามีสมบัติดังกล่าวปรากฏออกมา แม้ว่าจะมีการทดลองที่พยายามจะพิสูจน์อยู่[51] ลอว์เรนเชียมถูกคาดว่าจะมี d อิเล็กตรอนในการจัดเรียงอิเล็กตรอนของมัน[51] และนี่อาจจะเป็นกรณีทั่วไปของโลหะลอว์เรนเชียม แต่ลอว์เรนเชียมในสถานะแก๊สถูกคาดว่าจะมี p อิเล็กตรอน[52]
  6. ดูที่ ฐานข้อมูลตารางธาตุ สำหรับประเภทของตารางธาตุที่เด่นชัด
  7. Karol (2002, p. 63) เขียนไว้ว่าผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงจะทำให้มีธาตุที่มีเลขอะตอมสูงมาก ๆ และจะกลายเป็นนิวไคลด์ที่มีมวลมาก ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีขึ้นบนดาวนิวตรอน (เลขอะตอมอาจจะมีมากถึง 1021) และอาจจะถูกจัดว่าเป็นธาตุที่หนักที่สุดในเอกภพ ดูเพิ่มที่: Karol P. J. (2002). "The Mendeleev–Seaborg periodic table: Through Z = 1138 and beyond". Journal of Chemical Education 79 (1): 60–63.
  8. ถ้าพวกเขาเชื่อในหลักการออฟบาว การจัดเรียงอิเล็กตรอนของลอว์เรนเชียมจะเป็นดังนี้ [Rn] 5f14 6d1 7s2 แทนที่อิเล็กตรอนจะไปอยู่ในวงย่อย p มันไปอยู่ในวงย่อย d แทน
  9. ตัวอย่างสำหรับตารางธาตุรูปแบบนี้ดูที่ Atkins et al. (2006). Shriver & Atkins Inorganic Chemistry (4th ed.). Oxford: Oxford University Press • Myers et al. (2004). Holt Chemistry. Orlando: Holt, Rinehart & Winston • Chang R. (2000). Essential Chemistry (2nd ed.). Boston: McGraw-Hill
  10. ตัวอย่างสำหรับของตารางธาตุหมู่ 3 ที่มีธาตุหมู่ 3 เป็น Sc-Y-Lu-Lr ดูที่ Rayner-Canham G. & Overton T. (2013). Descriptive Inorganic Chemistry (6th ed.). New York: W. H. Freeman and Company • Brown et al. (2009). Chemistry: The Central Science (11th ed.). Upper Saddle River, New Jersey: Pearson Education • Moore et al. (1978). Chemistry. Tokyo: McGraw-Hill Kogakusha
  11. ปรากฏการณ์ขอแงการแยกหมู่ที่แตกต่างกัน เกิดขึ้นจากความเป็นเบสที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับรัศมีที่เพิ่มขึ้น และไม่ได้ทำให้เป็นเหตุผลมูลฐานที่แสดงว่า Lu อยู่ใต้ Y แทนที่จะเป็น La ดังนั้น ท่ามกลางโลหะแอลคาไลน์เอิร์ท Mg (เป็นเบสน้อยกว่า) จัดอยู่ใน "กลุ่มละลายน้ำได้" และ Ca, Sr and Ba (เป็นเบสมากกว่า) ปรากฏใน "กลุ่มแอมโมเนียมคาร์บอเนต" แต่อย่างไรก็ตาม Mg, Ca, Sr และ Ba ถูกรวมกลุ่มในหมู่ 2 ของตารางธาตุ ดูที่: Moeller et al. (1989). Chemistry with Inorganic Qualitative Analysis (3rd ed.). SanDiego: Harcourt Brace Jovanovich, pp. 955–956, 958.
  12. แม้ว่าโลหะลอว์เรนเชียมมี p อิเล็กตรอน การศึกษาแบบจำลองอย่างง่ายพบว่ามันจะมีพฤติกรรมคล้ายกับแลนทาไนด์ [139] เหมือนกับธาตุตัวหลัง ๆ ของแอกทิไนด์[136]
  13. อย่างไรก็ตาม สมาชิกจากไอยูแพกกล่าวว่า "ไอยูแพกจะไม่รับรองตารางธาตุรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นเฉพาะเจาะจง และตารางธาตุที่ได้รับการรับรองจากไอยูแพกนั้นไม่มีอยู่จริง แม้ว่าสมาชิกของไอยูแพกจะมีการตีพิมพ์ไดอะแกรมที่มีหัวข้อว่า “ตารางธาตุของไอยูแพก". ถึงกระนั้น รูปแบบที่ไอยูแพกได้แนะนำไว้เกี่ยวกับตารางธาตุกล่าวถึงแค่การใส่เลขหมู่ 1–18"[142]
  14. สำหรับตัวอย่างของตารางธาตุที่มีธาตุหมู่ 3 เป็น Ln and An ดูที่ Housecroft C. E. & Sharpe A. G. (2008). Inorganic Chemistry (3rd ed.). Harlow: Pearson Education • Halliday et al. (2005). Fundamentals of Physics (7th ed.). Hoboken, NewJersey: John Wiley & Sons • Nebergall et al. (1980). General Chemistry (6th ed.). Lexington: D. C. Heath and Company

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่ม

  • Calvo, Miguel (2019). Construyendo la Tabla Periódica. Zaragoza, Spain: Prames. p. 407. ISBN 978-84-8321-908-9.
  • Emsley, J. (2011). "The Periodic Table". Nature's Building Blocks: An A–Z Guide to the Elements (New ed.). Oxford: Oxford University Press. pp. 634–651. ISBN 978-0-19-960563-7.
  • Fontani, Marco; Costa, Mariagrazia; Orna, Mary Virginia (2007). The Lost Elements: The Periodic Table's Shadow Side. Oxford: Oxford University Press. p. 508. ISBN 978-0-19-938334-4.
  • Mazurs, E. G. (1974). Graphical Representations of the Periodic System During One Hundred Years. Alabama: University of Alabama Press. ISBN 978-0-19-960563-7.
  • Rouvray, D.H.; King, R. B., บ.ก. (2004). The Periodic Table: Into the 21st Century. Proceedings of the 2nd International Conference on the Periodic Table, part 1, Kananaskis Guest Ranch, Alberta, 14–20 July 2003. Baldock, Hertfordshire: Research Studies Press. ISBN 978-0-86380-292-8.
  • Rouvray, D.H.; King, R. B., บ.ก. (2006). The Mathematics of the Periodic Table. Proceedings of the 2nd International Conference on the Periodic Table, part 2, Kananaskis Guest Ranch, Alberta, 14–20 July 2003. New York: Nova Science. ISBN 978-1-59454-259-6.
  • Scerri, E (n.d.). "Books on the Elements and the Periodic Table" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 August 2020. สืบค้นเมื่อ 9 July 2018.
  • Scerri, E.; Restrepo, G, บ.ก. (2018). Mendeleev to Oganesson: A Multidisciplinary Perspective on the Periodic Table. Proceedings of the 3rd International Conference on the Periodic Table, Cuzco, Peru 14–16 August 2012. Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-86380-292-8.
  • van Spronsen, J. W. (1969). The Periodic System of Chemical Elements: A History of the First Hundred Years. Amsterdam: Elsevier. ISBN 978-0-444-40776-4.
  • Verde, M., บ.ก. (1971). Atti del convegno Mendeleeviano: Periodicità e simmetrie nella struttura elementare della materia [Proceedings of the Mendeleevian conference: Periodicity and symmetry in the elementary structure of matter]. 1st International Conference on the Periodic Table, Torino-Roma, 15–21 September 1969. Torino: Accademia delle Scienze di Torino.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya