Share to:

 

บางระจัน (นวนิยาย)

บางระจัน
ผู้ประพันธ์ไม้ เมืองเดิม
ประเทศไทย
ภาษาไทย
หัวเรื่องนวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์

บางระจัน เป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นโดยไม้ เมืองเดิม แต่งราว พ.ศ. 2480–85 อันเป็นยุคที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้นโยบายสร้างชาติ ถือเป็นวรรณกรรมที่นำเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันมาแต่งในรูปแบบนวนิยายเป็นเรื่องแรก[1] เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน[2]

นวนิยาย บางระจัน ฉบับนี้ได้รับนำไปสร้างเป็นละครและภาพยนตร์หลายครั้ง แม้กระทั่งละครโทรทัศน์เรื่อง บางระจัน ชุดใหม่ล่าสุด (2558) ก็ยังคงดำเนินตามเค้าโครงเรื่องบางระจัน ของไม้ เมืองเดิม นี้

เนื้อหา

บางระจัน เป็นเรื่องของนายทหารกองทหารม้าหนุ่มชื่อทัพ หลังจากแพ้สงครามพม่าที่ยุทธการอ่าวหว้าขาว และไม่ยอมไปรายงานตัวต่อนายทัพ เพราะกลัวจะถูกประหารชีวิต จึงได้รวบรวมกำลังเป็นกองโจรทหารม้าบ้านคำหยาดคอยปล้นกองทัพพม่า และช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกทหารพม่ารังแก ในขณะที่สังข์เป็นทหารหลวง ในคราวแรกเป็นศัตรูกันแต่ภายหลังได้เป็นมิตรกัน และชักชวนกันไปบางระจันเพื่อทำศึกกับพม่า ทำสงครามกับพม่า 7 ครั้ง แต่ครั้งที่ 8 ไม่สามารถต้านทานกำลังของพม่าได้ ทุกคนในค่ายบางระจันถูกฆ่าตายทั้งหมด

ตัวละครเอกในเรื่องนี้ ได้แก่ ทัพและสังข์ นางเอกคือ แฟง ทั้งสามตัวละครนี้เป็นตัวละครที่ ไม้ เมืองเดิม สมมุติขึ้น ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับเนื้อหาเกี่ยวกับความรักที่เกิดขึ้นระหว่างรบนั้นที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ ส่วนตัวละครที่มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ ได้แก่ นายแท่น นายดอก นายโชติ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น ฯลฯ แต่ตัวละครเหล่านี้ไม้ เมืองเดิม ไม่ค่อยให้ปรากฏบทบาท นอกจากนายแท่นถูกปืนพม่า และนายทองเหม็นที่ขี่ควายออกตะลุยรบด้วยความโกรธแค้น

ไม้ เมืองเดิม คงจะได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงเสียกรุงครั้งที่สองมากมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ใช้พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลักในการสร้างเหตุการณ์ในนวนิยาย[3] บ้างก็ว่า บางระจัน คงตีความมาจากนวนิยาย สามทหารเสือ ของอาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา[4]

อ้างอิง

  1. "บางระจัน กับประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม สู่บทบาท "นายทองเหม็น" และอีกหลายนาม". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. "รายชื่อหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ประเภทบันเทิงคดี (FICTION)". มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.
  3. อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์. "บางระจัน". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  4. อาทรี วณิชตระกูล. "วีรกรรมชาวบ้านบางระจัน: ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมและอุดมการณ์" (PDF). วารสารดนตรีและการแสดง: 138.
Kembali kehalaman sebelumnya