Share to:

 

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
พระนางเธอ
ดำรงพระยศ27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
ประสูติ3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442
วังวรวรรณ จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 (62 ปี)
วังลักษมีวิลาศ จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พระสวามีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2465–2468)
ราชสกุลวรวรรณ
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
พระมารดาหม่อมหลวงตาด วรวรรณ
ศาสนาพุทธ
ลายพระอภิไธย

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ (3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504) พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณพิมล เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (ราชสกุลเดิม มนตรีกุล) ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะพระนางเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระขนิษฐาต่างพระมารดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

พระองค์เป็นผู้ริเริ่มรื้อฟื้น คณะละครปรีดาลัย ของพระบิดาขึ้นมาอีกครั้ง ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงลำพัง ทรงใช้เวลาที่มีอยู่ในการประพันธ์นวนิยาย ร้อยกรอง และบทละครจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ, วรรณพิมล และพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 สิริพระชันษา 62 ปี ซึ่งผู้ก่อคดีฆาตกรรมคืออดีตคนสวนที่พระองค์ไล่ออก และก่อคดีดังกล่าวด้วยประสงค์ในทรัพย์สินส่วนพระองค์

พระประวัติ

พระประวัติตอนต้น

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณประสูติเมื่อวันจันทร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน เอกศก จ.ศ. 1261 ตรงกับวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ณ วังวรวรรณ ตำบลแพร่งนรา จังหวัดพระนคร[1] พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด วรวรรณ (ราชสกุลเดิม มนตรีกุล) ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 มารดาของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์[2] มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า ท่านหญิงติ๋ว ทั้งนี้พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูและอบรมจากเจ้าจอมมารดาเขียน ผู้เป็นย่ามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ต่อมาได้เสด็จไปประทับอยู่กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี[3]

พระองค์ได้รับการศึกษาและมีวิถีชีวิตเยี่ยงสตรีสมัยใหม่ ทรงมีความคิดอ่านอิสระเสรี ซึ่งพระบิดาเป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้และความคิดที่กว้างไกลทันสมัย แม้กระทั่งการอบรมเลี้ยงดูพระโอรส-ธิดา ก็ทรงให้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่เข้มงวดดังการประพฤติปฏิบัติอย่างกุลสตรีโบราณ[4] ทำให้เหล่าพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์มีความคิดเห็นกว้างขวาง และกล้าที่จะแสดงออกในวัตรปฏิบัติผิดแผกแตกต่างไปสตรีส่วนใหญ่ในสมัยนั้นที่อยู่ในกรอบของม่านประเพณีโบราณ[5]

หม่อมเจ้าวรรณพิมลทรงเปิดพระองค์อยู่ในสังคมชั้นสูงที่มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคมและความบันเทิง ทำให้หลายคนต่างมองเห็นภาพความสนุกสดใสของบรรดาพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ไม่ยากนัก ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าไว้ใน เกิดวังปารุสก์ ตอนหนึ่งว่า "... ไม่มีผู้หญิงคนไทยครอบครัวใดที่จะช่างคุยสนุกสนานเท่าองค์หญิงตระกูลวรวรรณ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยรู้จักพบมา..."[5]

การหมั้นหมาย

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล ทรงเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ซึ่งนับเป็นงานชุมนุมของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาว[6] ในงานนี้บรรดาท่านหญิงทั้งหลายของราชสกุลวรวรรณจึงเสด็จมาในงานนี้ด้วยหลายองค์ซึ่งรวมไปถึงพระภคินีคือ หม่อมเจ้าวรรณวิมล[6] ซึ่งต่อมาได้ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก

ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 หลังจากที่ทรงพบปะกับเหล่าท่านหญิงจากตระกูลวรวรรณไม่กี่วัน[7] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้พระธิดาทั้งหลายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังนี้

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ

โดยพระนามพระราชทาน "ลักษมีลาวัณ" มีความหมายว่า งามดุจพระลักษมี[8] ในกาลต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในฐานะพระคู่หมั้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน[9] แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าก็ทรงคบหากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของพระวรกัญญาปทานอย่างเปิดเผย ทั้ง ๆ ที่อยู่ระหว่างที่ทรงหมั้นอยู่[10] และพบว่าทรงติดต่อกันทางจดหมายเพื่อระบายความทุกข์ส่วนพระองค์[11] และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณอยู่เสมอ เช่น[11]

รักสมรย้อนคนึงแสนซึ้งจิต ที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่
แม้มิมัวหลงเลยเชยอื่นไป ก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน

และ

นึกถึงเมื่อให้กล่องน้องยังห่าง ยังแรมร้างมิได้รักสมัครสม
ชอบกันฐานพี่น้องต้องอารมณ์ ตามนิยมเยี่ยงแยบแบบวงศ์วาร
โอ้งวยงงหลงงมชมที่ผิด จึงมิได้ใกล้ชิดยอดสงสาร
จนต้องแสนซึ้งค้อนร้อนรำคาญ ไร้สราญเหลือล้นจนวิญญา

และหลังจากการถอดถอนหมั้นเพียงไม่กี่เดือน[10] ก็ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464[12] ขณะพระชันษา 22 ปี และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส[13] กระนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ประทานกลอนเตือนพระสติ ความว่า[14]

แม้ลูกรักพ่อขอให้นึก
แต่รู้สึกเสงี่ยมองค์อย่าหลงเหิม
ถึงแม่ติ๋วลอยละลิ่วก็ติ๋วเดิม
เดชเฉลิมบุญเราเพราะเจ้าเอย

ทรงแยกกันอยู่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ

หลังจากการเฉลิมพระยศได้เพียงหนึ่งเดือนสิบเก้าวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอภิเษกสมรสกับพระสุจริตสุดา ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2464[10] และทรงตัดสินพระราชหฤทัย "แยกกันอยู่" กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณซึ่งยังมิได้อภิเษกสมรสกัน ต่อมาพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณก็ได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465[15] เสมือนรางวัลปลอบพระทัย[10]

การนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระบิดา ได้ประทานบทกลอนปลอบพระทัยพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ความว่า[14]

ลาภยศเหมือนบทละครเล่น สัตย์ธรรม์นั้นเป็นแก่นสาร
เมื่อเบียฬเพียรผดุงปรุงญาณ เบิกบานกรุณาอารีย์
พ่อชราไม่ช้าจะลาสูญ สุดนุกูลสมรักลักษมี
ฉลาดคนึงพึ่งองค์จงดี สมศักดิ์จักรีเกษมพร

หลังจากนั้นพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ก็ทรงพอพระทัยที่จะแยกพระตำหนักไปประทับอยู่ห่างจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ทรงประทับอยู่อย่างสันโดษ และเพื่อเลี่ยงความเงียบเหงาพระนางจึงทุ่มเทไปกับงานพระนิพนธ์ และการเขียนบทละครร้องและการรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา หลังสิ้นงานพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีเริ่มมีพระอาการประชวรบริเวณพระนาภี กลางดึกคืนนั้นพระนางเธอ ลักษมีลาวัณรีบเสด็จไปเข้าเฝ้ารอฟังพระอาการ โดยประทับบนพระเก้าอี้ใกล้ประตูห้องบรรทม และประทับในห้องนั้นอีกหลายวันต่อมาเพื่อติดตามพระอาการโดยตลอด[16] และหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับส่วนแบ่งจากพระราชมรดก ได้แก่ เพชร, ทอง, สังวาล, กระโถนทอง และพานทอง[17]

สิ้นพระชนม์

หนังสือพิมพ์รายงานข่าวการสิ้นพระชนม์

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 นายแสง หรือ เสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูกพระนางเธอ ลักษมีลาวัณไล่ออกไปเห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชรา และอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคาทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ

ซึ่งคนร้ายได้ลอบทำร้ายพระนางเธอด้วยย่องเข้ามาทางข้างหลังขณะทรงปลูกต้นมะละกอเล็ก ๆ ที่ข้างพระตำหนัก แล้วใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียร 3 ครั้ง จากนั้นใช้สันขวานทุบพระศออีก 1 ครั้งจนสิ้นพระชนม์ทันที โดยเมื่อตรวจสอบพระวรกายบริเวณพระอุระ (หน้าอก) พบบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม 4 แผล ที่พระศอ (คอ) อีกแผลหนึ่ง ที่พระเศียร (ศีรษะ) ด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล[18] ทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนัก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 800 เมตร เพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่ง และเงินพระราชสมบัติทั้งหมดไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ตู้เซฟที่เก็บฉลองพระองค์และเครื่องประดับของราชวงศ์จักรีมูลค่านับล้านบาทยังอยู่ในสภาพปกติ[18]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 15.30 น. ของวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 ว่าเธอไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย[18] พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ พบว่าเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ในห้องพระบรรทมถูกรื้อกระจาย และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถสิ้นพระชนม์มาไม่ต่ำกว่าสามวัน[18]

ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองได้รับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งในสามคือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปด้วยพระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า

พระจริยวัตร

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณทรงมีพระสิริโฉมงดงาม ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพรรณนาไว้ว่า[19]

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
รูปน้องประกอบเบญจาง คะลักษณะอย่าง
พิเศษพิสุทธิ์สตรี
ประภัสสรพรรณฉวี เกศางามมี
ละเลื่อมสลับแดงปน
เนตรแม้นดาราน่ายล ระยับอยู่บน
นภางคะเวหา

ส่วนพระกิริยาอัธยาศัย ก็งดงามนัก ดังพระราชนิพนธ์ ความว่า[19]

งามพร้อมจริตกริยา ไพเราะวาจา
จะตรัสก็หวานจับใจ
เย็นฉ่ำน้ำพระหฤทัย สุจริตผ่องใส
สอาดประเสริฐเลิศดี
รู้จักโอบอ้อมอารี เอาใจน้องพี่
แลญาติมิตรทั่วกัน
ปราศจากฤษยาอาธรรพ์ โทโสโมหัน
ก็รู้จักข่มเหือดหาย

แต่ภายหลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงปลีกพระองค์ประทับอยู่เพียงผู้เดียว แม้เจ้าพี่เจ้าน้องจะคอยมาสนใจความเป็นอยู่แต่พระองค์ก็มิได้นำพา โดยรับสั่งด้วยสำนวนติดพระโอษฐ์ว่า "I don't care" พระองค์มักมีปัญหากับเหล่าคนใช้และจบด้วยการไล่คนใช้ออก ท่ามกลางความเงียบเหงาพระองค์จึงทุ่มเทกับงานพระนิพนธ์มากขึ้น[20] และเมื่อยิ่งมีพระชันษาที่สูงขึ้นก็ทรงพอพระทัยในความวิเวกสันโดษ ทรงเก็บพระองค์ในพระตำหนักลักษมีวิลาศไม่มีพระประสงค์จะพบปะสังสรรค์กับผู้ใด[21]

ความสนพระทัย

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ทรงแยกจากเจ้าพี่เจ้าน้องอยู่ตามลำพัง ณ พระตำหนักในซอยพร้อมพงศ์ริมคลองแสนแสบ ทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ และทรงใช้เวลาว่างในการทรงพระนิพนธ์ร้อยกรอง บทละคร และนวนิยายไว้เป็นจำนวนมาก และทรงรับคณะละครปรีดาลัยไว้ในพระอุปถัมภ์ ทรงสร้างศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต, ทัต เอกทัต และจอก ดอกจันทน์

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงย้ายไปประทับที่ พระตำหนักลักษมีวิลาศ ถนนศรีอยุธยา และทรงพระนิพนธ์บทกวี และนวนิยาย เช่น ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก โชคเชื่อมชีวิต ภัยรักของจันจลา และเสื่อมเสียงสาป[22]

ผลงาน

ทรงร่วมแสดงละครเรื่อง โพงพาง

ด้านงานประพันธ์

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตเพียงลำพัง ต่อมาโดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่องโดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ และ วรรณพิมล โดยมีผลงานพระนิพนธ์ดังนี้

  1. ยั่วรัก
  2. ชีวิตหวาม
  3. เสื่อมเสียงสาป
  4. รักรังแก
  5. สนเท่ห์เสน่หา
  6. โชคเชื่อมชีวิต
  1. เรือนใจที่ไร้ค่า
  2. ภัยรักของจันจลา
  3. หาเหตุหึง (บทละคร)
  4. ปรีดาลัยออนพาเหรด (บทละคร)
  5. เบอร์หก (บทละคร)

ด้านศิลปะการแสดง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง การมหรสพต่าง ๆ หยุดชะงักลงมีแต่ความเงียบเหงา จึงทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา เรียกว่า ละครเฉลิมกรุง[23] ทรงสร้างมิติใหม่ให้วงการละครไทยด้วยการใช้วงดนตรีสากล กับนำท่าระบำฝรั่งผสมกับท่าระบำไทยครั้งแรก ดูงามแปลกตากว่าคณะอื่น แต่ยังคงใช้ผู้แสดงนำและส่วนใหญ่เป็นหญิง ทั้งนี้ทรงซักซ้อมนักแสดงด้วยพระองค์เอง ส่วนการแสดงระบำก็ทรงประดิษฐ์ท่าระบำบางชุดให้สอดคล้องกับเพลงสากลตั้งแต่ พ.ศ. 2477-89[24]

เรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมและยังกลับมาแสดงอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา เช่น ศรอนงค์ จากบทละครของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)[25][26] เป็นละครประทับใจผู้ชมที่มีทั้งเพลงร้องเพลงระบำเบิกโรงและระบำประกอบเรื่องที่มีทำนองแพรวพราวตระการตา บรรเลงด้วยวงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่อย่างอุปรากรตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงเรื่องแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 คือเรื่อง "พระอาลัสะนัม" ที่ศาลาเฉลิมกรุง ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ได้แสดงที่โรงมหรสพนาครเขษม ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้ร่วมกับบริษัทสหศินิมาจำกัดแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง และครั้งท้ายที่สุดที่ศาลาเฉลิมนครช่วงปี พ.ศ. 2488-89[27]

ปี พ.ศ.2488 ทรงเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์ สมาคมศิลปินแห่งประเทศไทย

นอกจากนั้นยังทรงจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรือไทย งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม จึงทรงยุบเลิกคณะละครเนื่องจากพระชันษาเริ่มเข้าสู่วัยชรา และทรงพักผ่อนอิริยาบถเสด็จประพาสยุโรป ละครปรีดาลัยจึงสิ้นสุดเพียงเท่านี้[24]

ผลงานเพลง

พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ทรงพระนิพนธ์ผลงานเพลงไว้เยอะพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จะแต่งให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ตัวอย่างเช่น

  • แนวหลัง
  • แอ่วซุ้ม

ฯลฯ

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะย่ะค่ะ/เพคะ
นายกองเอก
พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ
รับใช้กองเสือป่า
ประจำการพ.ศ. 2464–2468
ชั้นยศ นายกองเอก
หน่วย
  • กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์
  • กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์

พระอิสริยยศ

  • 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 — 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 : หม่อมเจ้าวรรณพิมล
  • 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 — 4 เมษายน พ.ศ. 2464 : หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ
  • 4 เมษายน พ.ศ. 2464 — 8 กันยายน พ.ศ. 2464 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ
  • 8 กันยายน พ.ศ. 2464 — 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ
  • 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 — 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 : พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระยศเสือป่า

  • 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 นายหมวดเอก - สังกัดกองร้อยหลวง กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์[33]
  • 2 มิถุนายน พ.ศ. 2464 นายกองเอก - สังกัดกองร้อยหลวง กรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์ และกองร้อยหลวง กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์[34]

สิ่งอันเนื่องด้วยพระนาม

  • วังลักษมีวิลาศ – เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ตั้งอยู่ถนนศรีอยุธยา หลังเจ้าของสิ้นพระชนม์ วังจึงถูกรื้อออก
  • พระที่นั่งลักษมีพิลาส – เป็นพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังพญาไท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส[35]

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. คีตา พญาไท (31 พฤษภาคม 2547). พระนางเธอ ลักษมีลาวัณ (1) เก็บถาวร 2004-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 17 กรกฎาคม 2556
  2. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. นิราศนราธิป เรียกดุษดีจารึก ไปแหลมมะลายู. พระนคร : อักษรนิติ. 2494 , ไม่มีเลขหน้า
  3. สมบัติ พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 191
  4. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 249
  5. 5.0 5.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 250
  6. 6.0 6.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 251
  7. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 252
  8. ไพกิจ คงเสรีภาพ (2553). พระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรี : การวิเคราะห์โครงสร้างและความหมาย (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 130.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี, เล่ม ๓๗, ตอน ๐ ก, ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๒๘๖
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556, หน้า 9
  11. 11.0 11.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 254
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาหม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณขึ้นเป็นพระองค์เจ้า, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ก, ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ก, ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๐๕
  14. 14.0 14.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 268
  15. พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณเป็นพระนางเธอ
  16. วรชาติ มีชูบท. "๑๖๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๘)". ฝากเรื่องราวไว้กับน้อง ๆ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-20. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "(พระมรดก) "เจ้าฟ้าหญิง 4 แผ่นดิน" สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ". ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. 24 สิงหาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 "คดีสะเทือนขวัญแห่งราชสำนัก ปลงพระชนม์มเหสี ร.6". คลิบแมส. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. 19.0 19.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 264-265
  20. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 270-271
  21. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 274
  22. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 194
  23. ขุนวิจิตรมาตรา. หลักหนังไทย. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). 2555, หน้า 206
  24. 24.0 24.1 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 196
  25. อารีย์ นักดนตรี. โลกมายาของอารีย์. กายมารุต. 2546, หน้า 215-217
  26. ขุนวิจิตรมาตรา. หลักหนังไทย. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). 2555, หน้า 190-191
  27. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, 2554, หน้า 195
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๘, ตอน ง, ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๖๐๔
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ง, ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๔๗๑
  30. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราวัลลภาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ง, ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๑๖๐๔
  31. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม ๓๘, ตอน ๐ ง, ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔, หน้า ๒๕
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ เก็บถาวร 2017-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนเล่ม 44 หน้า 2567 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2470
  33. "พระราชทานยศเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 37: หน้า 3793. 13 กุมภาพันธ์ 2461.
  34. "พระราชทานยศเสือป่า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 38: หน้า 579. 5 มิถุนายน 2464.
  35. "พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส". พระราชวังพญาไท. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

บรรณานุกรม

  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555
  • พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3
  • ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2545 หน้า 124-128

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya