สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนางเรือล่ม (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423) มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 เป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทิวงคตด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย ระหว่างการตามเสด็จฯพระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] พระองค์ทรงเป็นพระมาตุจฉาฝ่ายพระชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชประวัติพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ 3 ในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก เวลา 5 โมงเช้า 40 นาที ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 โดยได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชหัตเลขามีดังนี้[3] "ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามบุตรีหญิงซึ่งประสูติแต่เปี่ยมเป็นมารดา ในวันเสาร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก โทศก นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า สุนันทากุมารีรัตน์" ซึ่งคำว่า “สุนันทา” นั้น เป็นนามของพระมเหสี 1 ใน 4 พระองค์ของพระอินทร์ นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษาบาลีซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า “พระองค์เจ้าองค์นี้ ทรงนามว่า “สุนันทากุมารีรัตน์” อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากความทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทวดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้นให้พ้นภัยจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ” [4]
พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ในพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีไปถึงพระองค์เจ้าปัทมราชนั้นมีตอนหนึ่งว่า "ปีนี้กระหม่อมฉันมีบุตรชายอีก 2 คน บุตรหญิง 1 บุตรชาย 2 คนนั้น คนหนึ่งชื่อเจริญรุ่งราษี เป็นน้องมารดาเดียวกับชายทองกองทองแถม ออกเมื่อเดือน 4 อีกคนหนึ่งชื่อสวัสดิประวัติ ออกเมื่อเดือน 10 มารดาชื่อหุ่น มิใช่เมขลา เสด็จไม่ทรงรู้จักดอก ด้วยเป็นคนใหม่ หญิงคนหนึ่งนั้นชื่อ สุนันทากุมารีรัตน์ เป็นน้องมารดาเดียวกับชายอุณากรรณ และชายเทวัญอุทัยวงศ์ ออกเมื่อเดือน 12" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานทรัพย์สิน และพระบรมราโชวาทให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ดังต่อไปนี้[5] …ผู้พระบิดาของพระองค์ เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์บุตรี จะขอสั่งสอนผู้บุตรไว้ว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เอ๋ย พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวผูกติดกับหนังสือนี้ "มีตราของพ่อผูกปิดไว้เป็นสำคัญเท่านี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตใหญ่ อายุได้ 16 ปีแล้ว จงคิดอ่านเอาเป็นทุนทำมาหากินแลเลี้ยงตัวต่อไป แลใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งให้มากนักหนา" "อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้ เป็นเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน เอาแต่กำไรใช้สอย เจ้าจงอย่าเล่นเบี้ย เล่นโด เล่นหวยเลยเป็นอันขาด แลอย่าทำสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินทองง่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง จงคิดอ่านทำมาหากิน ตริตรองให้ดี อย่าให้นักเลงคนโกงมักหลอกลวงได้จะเสียทรัพย์ด้วย อายเขาด้วย" "เมื่อสืบไปภายหน้า นานกว่าจะสิ้นอายุตัวเจ้า ตัวเจ้าจะตกเป็นข้าแผ่นดินใดใดเท่าใด ก็จงอุตสาหตั้งใจทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านแชเชือนแลเป็นอย่างอื่นๆ บรรดาที่ไม่ควรเจ้าอย่าทำ อย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วย ว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้เป็นกำลังตั้งเป็นทุน เอากำไรใช้การบุญ แลอุดหนุนตัวทำราชการแผ่นดินเทอญ" "ถ้าทรัพย์เท่านี้พ่อให้ไว้ ไปขัดขวางฤๅร่อยหรอไปด้วยเหตุมีผู้ข่มเหงผิดๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าจงเอาหนังสือคำสั่งของพ่อนี้ กับคำประกาศที่ให้ไว้ด้วยนั้น ให้เจ้านายแลท่านผู้ใหญ่ข้างในข้างหน้าดูด้วยกันให้หลายแห่งปฤกษาหารือ อ้อนวอนขอความกรุณาเมตตา แลสติปัญญาท่านทั้งปวงให้อนุเคราะห์โดยสมควรเถิด เล่าความเล่าเหตุที่เป็นอย่างไรนั้น ให้ท่านทั้งปวงฟังโดยจริงๆ พูดจาให้เรียบร้อยเบาๆ อย่าทำให้ท่านที่เป็นใหญ่ในแผ่นดินขัดเคืองกริ้วกราดชิงชังได้ จงระวังความผิดให้มาก" "อย่างตามใจมารดาแลคนรักมาก ทรัพย์นี้ของพ่อให้เจ้าดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าแลคนอื่นเข้าทุนด้วย จงคิดถึงพ่อคนเดียวให้มาก เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาทจึงจัดแจงให้ไว้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแก่เจ้าก่อน ถ้าอายุถึง 16 ปีแล้วสั่งให้ใคร พ่อจะให้ผู้นั้นถ้ายังไม่ถึงกำหนดฤๅไม่ได้สั่ง พ่อขอเอาคืน จะทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตและอำนาจไปนาน ทำมาหาได้ ก็จะเพิ่มเติมให้อีก แล้วจะแก้หางว่าง" พระบรมราโชวาทนี้ พิมพ์ด้วยแผ่นหิน พระราชทานพร้อมกับเงิน 100 ชั่ง[6] พระนางเธอในรัชกาลที่ 5ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 8 ปี[7] จึงเปลี่ยนพระฐานันดรศักดิ์จาก “พระเจ้าลูกเธอ” เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และได้ถวายตัวรับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าเมื่อพระชนมายุประมาณ 15 – 16 พรรษา ในเวลาไล่เลี่ยกับพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี[8] ทั้งสี่พระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระนางเธอ[9] พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระอัครมเหสี" และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่นๆ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงรับราชการรับใช้สนองพระเดชพระคุณชิดใกล้เป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จและรับใช้ใกล้ชิดดั่งเป็นปิยมหาราชินีเสมอ นอกจากทรงมีพระรูปโฉมงดงามแล้ว ก็ยังทรงมีพระสติปัญญาฉลาดล้ำ ทรงมีพระอัธยาศัยจริงจังเด็ดขาด ปฏิบัติข้อราชการและรับสั่งด้วยความเฉียบคมชัดเจนเสมอเป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ข้าหลวงชาววังทั่วไปซึ่งเล่าขานกันว่าพระอุปนิสัยรับสั่งเฉียบคมนี้ทรงมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก[10] ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของพระองค์ โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มีพระตำหนิเด่นชัด คือ มีติ่งที่พระกรรณข้างขวามาแต่แรกประสูติ จึงพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี[1] ในการประสูติพระราชธิดาครั้งนี้ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ดังต่อไปนี้[11] "…เวลา 5 ทุ่ม 11 นาที กับ 25 วินาที พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดอยู่ประมาณ 15 นาทีจึงออก เราอยู่ที่วังสมเด็จกรมพระ สมเด็จกรมพระกับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้น มีติ่งที่ริมพระกรรณข้างขวาหน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ 3 กระเบียดน้อย เมื่อเรากลับออกมากับสมเด็จกระนั้น ฝนตกเวลา 7 ทุ่ม 45 มินิต ถึงบ้าน" และเนื่องในการประสูติคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า[11] "เราถวายสายนาฬิกาเพชรทรงซื้อราคา 15 ชั่ง พระราชทานพระองค์เจ้าสุนันทาประสูติ กับรับสั่งให้เติมแหวนที่ทรงซื้อเงินพระคลังข้างที่อีก 2 วง ที่ราคาวงละ 19 ชั่ง รวม 38 ชั่ง ขายเงินงวดตามธรรมเนียม" ทิวงคตเมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพระสุบิน (ฝัน) ความว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์พระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ จนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกันทั้งสองพระองค์ พระองค์ได้เล่าความในพระสุบินให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี และเจ้านายที่ใกล้ชิดฟัง แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์[10] ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่าง ๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ประทับบนเรือเก๋งกุดันโดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้วจึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์” [10] หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้นนำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชของกรมหลวงวรศักดาพิศาล ซึ่งจูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”[4] อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก”[4] ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่น ๆ ดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็ทิวงคตพร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์ 5 เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม” เหตุเรือพระประเทียบล่มนี้ ในกาลต่อมากลายเป็นที่เล่าขานกันทั่วไปว่าพระยามหามนตรีได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมนเทียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ในความเป็นจริงแม้กฎมนเทียรบาลกรุงศรีอยุธยาจะมีบทบัญญัติกล่าวไว้เช่นนั้น แต่ในสมัยนั้นก็มิได้ยึดถือเป็นข้อปฏิบัติกันแล้ว และพระยามหามนตรีก็ได้ดำน้ำลงไปพาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ออกจากเก๋งเรือที่จม แต่มิทันการจะช่วยรักษาพระชนม์ชีพ[12][13] พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวชภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันทิวงคต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศทองใหญ่ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ให้ทรงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ซึ่งถือเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เป็นอย่างยิ่ง[14] หลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424 ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน[15] การเฉลิมพระนามาภิไธยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์นั้นทำให้เกิดปัญหาในการออกพระนามในประกาศทางราชการ เนื่องจากยังไม่มีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์แห่งพระมเหสีอย่างเป็นทางการแต่ประการใด ดังนั้น จึงมีการออกพระนามเป็นลำดับ ดังนี้[1] เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2423 นั้น กรมหมื่นนเรศรเข้าไปเฝ้ากราบบังคมทูลด้วยพระนามพระองค์เจ้าสุนันทา ว่า สมเด็จกรมพระฯ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระบำราบปรปักษ์) จะทรงออกตราเกณฑ์ไม้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ “สมเด็จพระนางเจ้า อย่างสมเด็จพระนางโสมนัส” ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2423 มีรับสั่งให้กรมหมื่นนเรศรไปทูลสมเด็จกรมพระว่า พระนามนั้นให้ใช้แต่ “สมเด็จพระนางเธอ” เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้านั้นไว้ใช้สำหรับการแปลเป็นคำอังกฤษว่า ควีน ดังนั้น จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์ และใช้ภาษาอังกฤษว่า Princess ส่วนสมเด็จพระนางเจ้านั้นให้ใช้กับคำว่า Queen ในภาษาอังกฤษ โดยให้ใช้เป็นสมเด็จพระนางเจ้าตามด้วยชื่อ และต่อท้ายด้วยพระราชเทวี ต่อมาในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2423 ให้เปลี่ยนพระนามเป็นจาก “สมเด็จพระนางเธอ” เป็น "สมเด็จพระนางเจ้า" (Queen) สุนันทากุมารีรัตน์ หลังจากนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระราชกรณียกิจจากเอกสารต่างประเทศได้บันทึกไว้ว่าพระองค์ตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วฉะฉาน และทรงกล้าเข้าสังคมซึ่งแตกต่างจากบุคลิกลักษณะของฝ่ายในโดยมาก ในสมัยก่อน ทำให้ทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการต้อนรับขับสู้ชาวต่างประเทศเมื่อทรงออกมหาสมาคม ขณะดำรงตำแหน่ง พระนางเธอ หรือ Queen อย่างสมพระเกียรติ[16] ดังจะเห็นได้จากบันทึกของนายพลยูลิสซีส เอส. แกรนต์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่ได้เดินทางเข้ามาในปี พ.ศ. 2422 มีความว่า "เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้น ภรรยาของข้าพเจ้าก็ได้รับการต้อนรับและสนทนาวิสาสะอย่างอบอุ่นเป็นกันเองจากพระราชินี"[17] พระราชมรดกหลังจากสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการแบ่งพระราชทรัพย์มรดกของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในพระบรมโกศ ให้แก่บรรดาพระญาติ (ของพระนางเอง) โดยพระองค์พระราชทานเครื่องยศสำหรับผู้หญิงให้แก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย พระราชธิดาในพระองค์และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี (พระยศขณะนั้น) ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ดังนั้นทูลกระหม่อมหญิงพาหุรัดฯ จึงเป็นพระนัดดาอันสนิทในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในพระบรมโกศที่ได้ทรงเลี้ยงดูกันมา ซึ่งมีรายการดังต่อไปนี้
แต่หีบหลังประดับเพชรมีตลับสามใบเถานั้น ทรงมอบให้แก่พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ส่วนสิ่งของอื่น ๆ นั้น พระองค์ทรงแบ่งออกพระราชทานให้แก่พระเชษฐา พระขนิษฐา พระอนุชา และพระนัดดาของพระนาง ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี, พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ, พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ส่วนของที่พระองค์ทรงให้คืนพระคลัง ได้แก่ กล่องจุลจอมเกล้า 1 ใบ และหีบกะไหล่โปร่ง 1 ใบ[1] พระราชานุสรณ์พระราชานุสาวรีย์หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จทิวงคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้สร้างพระราชานุสรณ์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯเคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ[10][18] ได้แก่
โรงเรียนสุนันทาลัยนอกจากพระราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระนางแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกใหญ่ 2 ตึกบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลปากคลองตลาด ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ได้แก่ "LOYAL SEMINARY" สุนันทาลัยที่แม่น้ำ และสุนันทาลัยฝั่งใต้ (ปัจจุบัน ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นห้องประชุมอาคารสว่างวัฒนา) เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับสตรีและเป็นการอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งพระนางสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นพิเศษ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อันเป็นพระมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ในการก่อสร้าง[19] ในปี พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาก่อฤกษ์อาคารพร้อมทั้งพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนสุนันทาลัย" และเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2435[20] ปัจจุบัน บริเวณโรงเรียนสุนันทาลัยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินี วังสวนสุนันทาวังสวนสุนันทา เป็นเขตพระราชฐานภายในบริเวณของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนพระอิริยาบถแทนการเสด็จประพาสหัวเมือง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สวนนี้มีลักษณะเป็นสวนป่า[21] จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่ดีและหาได้ยากนานาชนิดมาปลูกไว้ในสวนแห่งนี้ด้วย ที่มาของชื่อสวนแห่งนี้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีชื่อว่า "สุนันทาอุทยาน"[22] และพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระมเหสีซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นเพื่อเตรียมไว้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน แต่เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างจึงยังไม่แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จึงโปรดให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ[23] ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อนุสรณ์สถานสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวัดเกาะพญาเจ่ง ซึ่งเป็นสถานที่เรือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ล่มบริเวณหน้าวัด เป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานทรงกลมสูงมีซุ้มโค้งตามทิศทั้งสี่ ภายในฐานเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศรีอาริย์สี่องค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้งสี่ และด้านหน้าพระเจดีย์มีคำจารึกพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[24][25] ศาลพระนางเรือล่มศาลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ศาลพระนางเรือล่ม" ตั้งอยู่ที่วัดกู้ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นในบริเวณที่เชื่อกันว่ากู้เรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ตัวศาลนั้นจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน[26] เหรียญที่ระลึกเหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ วัดกู่เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดกู่ เป็นเหรียญที่ระลึกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคล สร้างขึ้นที่วัดกู้ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญทองแดง แบบยาว ขอบเหลี่ยม ด้านหน้ามีพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีแบบเต็มพระองค์ ตรงด้านล่างมีข้อความจารึกว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" ด้านหลังเป็นรูปยันต์สามยอด มีข้อความจารึกว่า "วัดกู่"[27] เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ วัดนิเวศธรรมประวัติเหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดนิเวศธรรมประวัติ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก 118 ปีการทิวงคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สร้างขึ้นที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร[28] ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญทองแดง แบบเหรียญกลม ขอบมน ด้านหน้าเป็นพระรูปพระพักตร์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ด้านหลังเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีจารึกปีพ.ศ. 2423 - 2437 บริเวณขอบมีข้อความจารึกว่า "วัดนิเวศธรรมประวัติ ที่รฤกเสด็จทิวงคตครบ ๑๑๘ ปี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม)"[29] เหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯเหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สร้างขึ้นที่ วัดพระพุทธฉาย[30] อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญกลม ขอบมน ด้านหน้าเป็นพระรูปพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ข้อความด้านบนจารึกว่า "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ข้อความด้านล่างจารึกว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี" ด้านหลังเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยืนบนนาค บริเวณด้านล่างเหรียญมีข้อความว่า "วัดพระฉาย จ.สระบุรี"[30] พระเกียรติยศ
พระอิสริยยศ
ภายหลังทิวงคต
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พงศาวลี
อ้างอิง
ดูเพิ่มแหล่งข้อมูลอื่น
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี |