Share to:

 

ศาสนาในประเทศเกาหลีใต้

โบสถ์คริสต์อยู่เบื้องหลังวัดพุทธนิกายชินกักแห่งหนึ่งในเมืองอันซัน จังหวัดคย็องกี
ซัมซ็องกุง ศาสนสถานแห่งหนึ่งของลัทธิชินโด
วัดแฮอินซา วัดพุทธของนิกายโช-กเย

ศาสนาในประเทศเกาหลีใต้ (สำมะโน พ.ศ. 2558)[1][2]

  พุทธ (15.5%)
  อื่น ๆ (0.8%)

ศาสนาในประเทศเกาหลีใต้ จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากร พ.ศ. 2558 พบว่าประชากรส่วนใหญ่ระบุตัวตนว่าไม่นับถือศาสนาหรือนับถือลัทธิชินโดร้อยละ 56.9 ขณะที่ประชากรที่นับถือศาสนาส่วนใหญ่ระบุตัวตนว่านับถือศาสนาคริสต์ (แบ่งเป็นโปรเตสแตนต์ร้อยละ 19.7 และโรมันคาทอลิกร้อยละ 7.9) และนับถือศาสนาพุทธแบบเกาหลีร้อยละ 15.5 ที่เหลือร้อยละ 0.8 นับถือศาสนาอื่น ๆ เช่น ลัทธิว็อนบุล ลัทธิขงจื๊อ ลัทธิช็อนโด ลัทธิแทซ็อนจินรีโฮ ลัทธิแทจง ลัทธิชึงซัน และศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์[1]

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ส่งอิทธิพลยิ่งตั้งแต่ยุคก่อน ส่วนศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19 และมีศาสนิกชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเกิดขึ้นจากพลวัตทางสังคมของเกาหลีใต้ในศตวรรษที่ผ่านมา[3] แต่อิทธิพลของลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธยังมีอยู่มาก กล่าวกันว่าอิทธิพลของขงจื๊อมีลักษณะบังคับ แต่ศาสนาพุทธจะมีท่าทีที่ผ่อนคลายกว่า[4] ทว่าหลัง พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา พบว่ามีผู้นับถือศาสนาลดลง ศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างลัทธิชินโดได้รับความนิยมและผู้ที่นับถือลัทธิดังกล่าวถูกนับเป็นประชากรไม่มีศาสนา จากการสำรวจใน พ.ศ. 2555 พบว่ามีประชากรที่ไม่นับถือศาสนาร้อยละ 15 ระบุว่าไม่เชื่อในพระเจ้า[5] และการสำรวจสำมะโนครัวประชากร พ.ศ. 2558 พบว่ากลุ่มเยาวชนอายุ 20 ปี ไม่นับถือศาสนามากถึงร้อยละ 65[6]

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ประชากรส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชนและผู้ที่นับถือศาสนาพื้นเมือง (คือลัทธิชินโด) ซึ่งศาสนาหลังนี้ไม่เคยได้รับการยอมรับในฐานะวัฒนธรรมของชาติดังศาสนาพื้นบ้านจีนและลัทธิชินโตของญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ศาสนาคริสต์จึงใช้จุดอ่อนของลัทธิชินโดในการเผยแผ่ศาสนา[7] ประชากรยังประกอบพิธีบูชาบรรพบุรุษซึ่งเป็นคติลัทธิขงจื๊อ[3] ในอดีตลัทธิขงจื๊อเป็นทั้งศาสนาและปรัชญาการปกครอง จักรพรรดิและชนชั้นสูงจึงให้การอุปถัมภ์โอบอุ้มเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่ศาสนาพุทธแบบเกาหลีเป็นศาสนาที่หยั่งรากและรุ่งโรจน์ในคาบสมุทรเกาหลีมานาน แต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20 ศาสนาพุทธก็สูญไปจากสถาบันศาสนาของเกาหลีนานถึง 500 ปีเพราะถูกราชวงศ์โชซ็อนปราบปราม[3][8] ศาสนาคริสต์เข้าสู่คาบสมุทรเกาหลีตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 พวกเขาทำการก่อตั้งโรงเรียนโดยใช้การเรียนรู้แบบ ซอฮัก เพื่อสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนา หลังการล่มสลายของราชวงศ์โชซ็อนช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาชาวเกาหลีส่วนใหญ่หันไปนับถือศาสนาคริสต์ เพราะกษัตริย์และชนชั้นสูงมองว่าการปกครองแบบตะวันตกเป็นการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย และให้การยอมรับการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์[9] ในยุคอาณานิคมญี่ปุ่นช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 การระบุตัวตนว่าเป็นคริสต์ศาสนิกชนและลัทธิชาตินิยมเกาหลีหนักข้อขึ้น[10] หลังรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามที่จะผสานลัทธิชินโดกับลัทธิชินโตเพื่อกลืนวัฒนธรรมเกาหลี

หลังการแบ่งคาบสมุทรเกาหลีออกเป็นสองประเทศ รัฐทางเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนรัฐทางใต้ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ คริสต์ศาสนิกชนเกาหลีกว่าครึ่งจากเกาหลีเหนือ[11] อพยพลงเกาหลีใต้[12] ประมาณการผู้อพยพลงใต้นี้อาจมากกว่าหนึ่งล้านคน[13] หลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายอุปถัมภ์ลัทธิชินโด ในเวลาเดียวกันศาสนาคริสต์มีความเข็มแข็งขึ้น และศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง[14] นักวิชาการระบุว่าสำมะโนครัวเกาหลีใต้ไม่นับผู้ที่นับถือลัทธิชินโดในบัญชี และผู้ที่นับถือศาสนาพื้นเมืองมักถูกดูถูกดูแคลน[15] โดยสถิติที่รวบรวมโดย ARDA[16] ให้ข้อมูลว่าใน พ.ศ. 2553 ชาวเกาหลีใต้นับถือศาสนาพื้นเมืองร้อยละ 14.7 นับถือศาสนาเกิดใหม่ร้อยละ 14.2 และนับถือลัทธิขงจื๊อร้อยละ 10.9[17]

มีผู้สังเกตการลดลงของผู้นับถือศาสนาพุทธและผู้ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกในสำมะโนครัวประชากรเมื่อ พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2558 โดยการสำรวจใน พ.ศ. 2548 สำรวจจากประชากรทั้งหมดผ่านแผ่นพับแจกจ่ายไปยังทุก ๆ ครอบครัว ขณะที่การสำรวจสำมะโนครัวประชากร พ.ศ. 2558 ดำเนินการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ และมีประชากรถูกสำรวจอย่างจำกัดเพียงร้อยละ 20 จากประชากรทั้งหมดของเกาหลีใต้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันจากการสำรวจนี้ เพราะประชากรที่อาศัยอยู่ชนบทซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธและโรมันคาทอลิกซึ่งไม่คุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ต การสำรวจนี้จึงเอื้อประโยชน์แก่ชาวเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์ซึ่งเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายกว่า ชุมชนพุทธและคริสตังต่างวิพากษ์วิจารณ์การสำรวจสำมะโนครัวประชากรใน พ.ศ. 2558 นี้[6]

ประชากรศาสตร์

ผู้นับถือศาสนาแบ่งตามปี (พ.ศ. 2493-2558)

ปี ศาสนาพุทธ คาทอลิก โปรเตสแตนต์ อื่น ๆ ไม่นับถือ
ร้อยละ ประชากร ร้อยละ ประชากร ร้อยละ ประชากร ร้อยละ ประชากร ร้อยละ ประชากร
2493[18] 1 3
2503[18] 3 2 5
2513[18] 15 3 7
2528[19] 20 8,059,624 คน 5 1,865,397 คน 16 6,489,282 คน 2 788,993 คน 57 23,216,356 คน
2538[20] 23 10,321,012 คน 7 2,950,730 คน 20 8,760,336 คน 1 565,746 คน 49 21,953,315 คน
2548[21] 23 10,726,463 คน 11 5,146,147 คน 18 8,616,438 คน 1 481,718 คน 46 21,865,160 คน
2558[1] 15.5 7,619,332 คน 7.9 3,890,311 คน 19.7 9,675,761 คน 0.8 368,270 คน 56.1 27,498,715 คน
"—" ไม่มีข้อมูล
ศาสนาอื่น ๆ เช่น ลัทธิว็อนบุล, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิช็อนโด, ลัทธิแทซ็อนจินรีโฮ, ลัทธิแทจง และลัทธิชึงซัน

ผู้นับถือศาสนาแบ่งตามอายุ (พ.ศ. 2558)

อายุ[1] ศาสนาพุทธ คาทอลิก โปรเตสแตนต์ อื่น ๆ ไม่นับถือ
20-29 ปี 10% 7% 18% 1% 65%
30-39 ปี 12% 8% 19% 1% 62%
40-49 ปี 16% 7% 20% 1% 57%
50-59 ปี 22% 9% 19% 1% 49%
60-69 ปี 26% 10% 21% 1% 42%
70-79 ปี 27% 10% 21% 1% 41%
80-85 ปี 24% 10% 22% 2% 42%
มากกว่า 85 ปี 21% 11% 23% 2% 43%
ศาสนาอื่น ๆ เช่น ลัทธิว็อนบุล, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิช็อนโด, ลัทธิแทซ็อนจินรีโฮ, ลัทธิแทจง และลัทธิชึงซัน

ผู้นับถือศาสนาแบ่งตามเพศ (พ.ศ. 2558)

เพศ[1] ศาสนาพุทธ คาทอลิก โปรเตสแตนต์ อื่น ๆ ไม่นับถือ
ชาย 14% 7% 18% 1% 61%
หญิง 17% 9% 22% 1% 52%
ศาสนาอื่น ๆ เช่น ลัทธิว็อนบุล, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิช็อนโด, ลัทธิแทซ็อนจินรีโฮ, ลัทธิแทจง และลัทธิชึงซัน

ผู้นับถือศาสนาแบ่งตามจังหวัด

ผู้นับถือศาสนาแบ่งตามจังหวัด (พ.ศ. 2548)[22]
จังหวัด พุทธแบบเกาหลี โปรเตสแตนต์ คาทอลิก ไม่นับถือหรืออื่น ๆ
โซล 16.8% 22.8% 14.2% 46.2%
ควังจู 14.4% 19.7% 13% 52.9%
แทกู 33.4% 10.4% 9.8% 46.4%
แทจ็อน 21.8% 20.5% 10.7% 47%
ปูซาน 39.2% 10.4% 7.4% 43%
อินช็อน 13.8% 22.4% 13.7% 50.1%
จังหวัดคังว็อน 23% 15.6% 9.1% 52.3%
จังหวัดคย็องกี 16.8% 21.9% 12.4% 51.1%
จังหวัดคย็องซังเหนือ 33.9% 11.5% 7.1% 47.5%
จังหวัดคย็องซังใต้ 40% 8.8% 6% 45.2%
จังหวัดช็อลลาเหนือ 12.8% 26.3% 11.4% 49.5%
จังหวัดช็อลลาใต้ 16.1% 21.8% 8.7% 53.4%
จังหวัดชุงช็องเหนือ 23.8% 15.1% 9.9% 51.2%
จังหวัดชุงช็องใต้ 20.5% 19.6% 9.1% 50.8%
จังหวัดเชจู 32.7% 10.3% 7.2% 49.8%
ผู้นับถือศาสนาแบ่งตามจังหวัด (พ.ศ. 2558)[23]
จังหวัด พุทธแบบเกาหลี โปรเตสแตนต์ คาทอลิก ไม่นับถือหรืออื่น ๆ
โซล 10.8% 24.2% 10.7% 53.6%
ควังจู 9.5% 20.0% 8.6% 61.1%
แทกู 23.8% 12.0% 7.7% 55.8%
แทจ็อน 14.0% 21.8% 7.4% 56.2%
ปูซาน 28.5% 12.1% 5.4% 53.1%
อินช็อน 8.8% 23.1% 9.5% 57.9%
อุลซัน 29.8% 10.9% 4.2% 54.5%
จังหวัดคังว็อน 16.4% 17.5% 6.7% 58.7%
จังหวัดคย็องกี 10.7% 23.0% 9.0% 56.7%
จังหวัดคย็องซังเหนือ 25.3% 13.3% 5.2% 55.4%
จังหวัดคย็องซังใต้ 29.4% 10.5% 4.2% 55.1%
จังหวัดช็อลลาเหนือ 8.6% 26.9% 7.6% 55.0%
จังหวัดช็อลลาใต้ 10.9% 23.2% 5.6% 59.3%
จังหวัดชุงช็องเหนือ 16.4% 15.8% 7.4% 60.0%
จังหวัดชุงช็องใต้ 13.8% 20.7% 6.2% 58.7%
จังหวัดเชจู 23.4% 10.0% 7.9% 58.0%

ประวัติ

ก่อน พ.ศ. 2488

พระศรีอริยเมตไตรย

เดิมชาวเกาหลีนับถือศาสนาพื้นเมืองคือลัทธิมูหรือชินโด ต่อมารัฐโคกูรยอรับศาสนาพุทธจากรัฐฉินเมื่อ พ.ศ. 915 และพัฒนาจนมีรูปแบบเป็นของตนเอง ในช่วงเวลานั้นคาบสมุทรเกาหลีแบ่งออกเป็นสามอาณาจักร คือ โคกูรยอทางเหนือ แพ็กเจทางตะวันตกเฉียงใต้ และชิลลาทางตะวันออกเฉียงใต้ ศาสนาพุทธแพร่หลายไปยังรัฐชิลลาในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และเพียงระยะเวลาไม่นาน ศาสนาพุทธได้รับการยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติใน พ.ศ. 1095[24] ศาสนาพุทธเป็นที่นิยมมากในชิลลาและแพร่หลายไปยังรัฐแพ็กเจ (รัฐทั้งสองตั้งอยู่ในเขตประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน) ขณะที่รัฐโคกูรยอยังนิยมนับถือศาสนาพื้นเมืองอยู่อย่างเหนียวแน่น ซึ่งศาสนาพุทธมีคำสอนเชิงจิตวิญญาณ คือ เชื่อเรื่องนิพพาน และโลกหน้า ขณะที่ลัทธิขงจื๊อมีคำสอนเชิงจริยศาสตร์และการปกครอง คือมุ่งเน้นเรื่องการสร้างสังคมที่สงบสุขตามบทบาทและหน้าที่ของตนเอง สองศาสนานี้จึงไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกันและไม่มีปัญหากระทบกระทั่งกัน[25] กระทั่ง พ.ศ. 1461 มีการรวบรวมรัฐทั้งสามก่อตั้งเป็นรัฐโครยอ ศาสนาพุทธก็ยิ่งโดดเด่นและพระสงฆ์เริ่มมีอำนาจทางการเมือง[26]

เมื่อถึงยุคราชวงศ์โชซ็อนเรืองอำนาจช่วงปลายศตวรรษที่ 14 พวกเขานับถือลัทธิขงจื๊อใหม่อย่างเคร่งครัด จึงมีการลดอำนาจและปราบปรามทั้งศาสนาพุทธ[27][28] และลัทธิชินโด[8] ความเสื่อมของศาสนาพุทธนี้ไม่ได้เกิดจากตัวคำสอนหากแต่เกิดจากนโยบายการปกครอง[25] อารามในพุทธศาสนาหลายแห่งถูกทำลาย จากที่เคยมีอยู่หลายร้อยแห่ง หลงเหลืออารามเพียงสามสิบหกแห่ง ศาสนาพุทธถูกกำจัดออกจากตัวเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ ภิกษุและภิกษุณีล้วนถูกกีดกันและผลักดันไปยังพื้นที่ภูเขาอันห่างไกล[28] นโยบายกีดกันนี้กินเวลาจนถึงศตวรรษที่ 19[29]

ปลายศตวรรษที่ 19 โชซ็อนมีสถานะทางการเมืองและวัฒนธรรมย่ำแย่[30] กลุ่มปัญญาชนจึงมองหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อกอบกู้วิกฤติชาติ[30] ในช่วงเวลานี้พวกเขาได้ติดต่อมิชชันนารีตะวันตกให้ช่วยเสนอวิธีแก้ปัญหาให้ชาวเกาหลี[30] เดิมเกาหลีมีชุมชนชาวคริสต์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และ พ.ศ. 2423 รัฐบาลอนุญาตให้มิชชันนารีจำนวนมากเผยแผ่ศาสนาในประเทศอย่างเสรี[31] มิชชันนารีเหล่านี้ก่อตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล และโรงพิมพ์[32] เหล่าพระราชวงศ์เองก็ให้การสนับสนุนศาสนาคริสต์เสียด้วย[33]

ในยุคเกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น มีการเชื่อมโยงระหว่างศาสนาคริสต์กับลัทธิชาตินิยมเกาหลีอย่างเหนียวแน่น[10] หลังรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามกลืนลัทธิชินโดรวมเข้ากับชินโตรัฐ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาของชินโต[10] ในเวลาเดียวกันก็เกิดขบวนการศาสนาจำนวนมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดจากความพยายามที่จะปฏิรูปศาสนาพื้นเมืองเกาหลี โดยเฉพาะลัทธิช็อนโดซึ่งเฟื่องฟูมาก[34]

พ.ศ. 2488—ปัจจุบัน

โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในหมู่บ้านประวัติศาสตร์ฮาฮเวและยังดง

หลังการแบ่งคาบสมุทรเกาหลีออกเป็นสองประเทศ รัฐทางเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนรัฐทางใต้ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ คริสต์ศาสนิกชนเกาหลีกว่าครึ่งจากเกาหลีเหนืออพยพลงเกาหลีใต้[12] ประมาณการผู้อพยพลงใต้นี้อาจมากกว่าหนึ่งล้านคน ส่วนผู้ที่นับถือลัทธิช็อนโดยังกระจุกตัวอยู่ในเกาหลีเหนือหลังการแยกดินแดน[34] ขณะที่เกาหลีใต้มีผู้นับถือลัทธิช็อนโดเพียงไม่กี่พันคน ในรัฐบาลประธานาธิบดีพัก ช็อง-ฮีซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน[35] เกิดขบวนการที่เรียกว่า "ขบวนการโค่นล้มการบูชาเทพเจ้า" มีการห้ามมิให้ผู้คนนับถือศาสนาพื้นเมืองและกวาดล้างศาลเจ้าแบบดั้งเดิมทั้งหมดรวมทั้งศาลขงจื๊อ[36]

จากพลวัตทางสังคม[3] ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและศาสนาคริสต์มีการเติบโตสูง[37] ดังจะพบว่าวัดพุทธจากเดิมมี 2,306 วัด เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มขึ้นเป็น 11,561 วัด ใน พ.ศ. 2540, โบสถ์โปรเตสแตนต์จากเดิม 6,785 แห่ง เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มขึ้นเป็น 58,046 แห่ง ใน พ.ศ. 2540, โบสถ์คาทอลิกจากเดิมมี 313 แห่ง เมื่อ พ.ศ. 2508 เพิ่มขึ้นเป็น 1,366 ใน พ.ศ. 2548, วัดของลัทธิว็อนบุลจากเดิมมี 131 วัด เมื่อ พ.ศ. 2512 เพิ่มขึ้นเป็น 418 ใน พ.ศ. 2540[38] และวัดของลัทธิแทซ็อนจินรีโฮจากเดิมมี 700 วัด เมื่อ พ.ศ. 2526 เพิ่มขึ้นเป็น 1,600 วัด ใน พ.ศ. 2537[39] จากสถิติสำมะโนครัวประชากรพบว่าประชาชนระบุว่าเป็นพุทธศาสนิกชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มเป็นร้อยละ 22.8 เมื่อ พ.ศ. 2548[3] และศาสนาคริสต์เติบโตขึ้นจากร้อยละ 5 เมื่อ พ.ศ. 2505 เพิ่มเป็นร้อยละ 29.2 เมื่อ พ.ศ. 2548[3] แต่หลังจากปี พ.ศ. 2548 จนถึง 2558 เป็นต้นมาพบว่าศาสนิกชนของทั้งสองศาสนาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่ลดลงอย่างฮวบฮาบเหลือเพียงร้อยละ 15.5 และผู้นับถือศาสนาคริสต์ลดลงเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 27.6[40]

โปรเตสแตนต์โจมตีศาสนาดั้งเดิม

ช่วงยุค ค.ศ. 1980 จนถึง 1990 มีศาสนิกชนนิกายโปรเตสแตนต์ที่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาพุทธและศาสนาพื้นเมืองของเกาหลี มีการลอบวางเพลิงวัด ตัดเศียรพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ ใช้สีแดงทาเป็นรูปไม้กางเขนลงพระพุทธรูปหรือรูปเคารพในศาสนาอื่น ๆ[41] การกระทำบางอย่างได้รับการสนับสนุนจากศิษยาภิบาลของโบสถ์[41]

ศาสนาหลัก

ศาสนาพุทธ

ภายในวิหารวัดแทฮึงซา
พระสงฆ์เข้าร่วมขบวนแห่ดวงประทีปในเทศกาลวันประสูติของพระพุทธเจ้า
คิม ยุน-อกขณะเลี้ยงเพลสามเณรจากนิกายโช-กเยที่เชิงวาแด
เทมเพิลสเตย์ เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในวัดพุทธของเกาหลีใต้

ศาสนาพุทธ (불교, 佛敎) เข้าสู่ดินแดนเกาหลีตั้งแต่ยุคสามอาณาจักร หรือราวคริสต์ศตวรรษที่ 4[24] แพร่หลายจากอินเดียผ่านจีนก่อนเข้าถึงคาบสมุทรเกาหลี เป็นนิกายมหายานซึ่งได้รับอิทธิพลจากความเชื่อพื้นเมืองและระบบเทววิทยาต่าง ๆ เข้าไว้ มีลักษณะพิเศษคือเป็นปรัชญาเพื่อการหลุดพ้น เลี่ยงการเกิดใหม่ในวัฏสงสารเพื่อมุ่งสู่นิพพาน[42] จากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์ ศาสนาพุทธมีความรุ่งเรืองมาก มีการส่งพระภิกษุเกาหลีจาริกไปจีนและอินเดียเพื่อศึกษาพระไตรปิฎก[43] ครั้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 มีพระสงฆ์และศิลปินจากเกาหลีอพยพไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในญี่ปุ่น[44] ถือเป็นศาสนาที่ทรงอิทธิพลและมีความโดดเด่นมาตั้งแต่ยุครัฐเหนือใต้ และในสมัยรัฐโครยอให้การสนับสนุนศาสนาพุทธเต็มที่ แต่ก็อุปถัมภ์ลัทธิขงจื๊อไปด้วย เพราะพระสงฆ์เข้าเป็นนักการเมืองและขุนนาง และมีจำนวนหนึ่งก่อการฉ้อราษฎร์บังหลวง[44] แม้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองไปด้วยศาสนสถาน พระพุทธรูป ศิลปะ และจิตรกรรม มีการแกะแม่พิมพ์พระไตรปิฎกด้วยไม้จำนวน 80,000 แผ่น เพื่ออาศัยพุทธานุภาพขับไล่อิทธิพลมองโกลออกไป ปัจจุบันพระไตรปิฎกฉบับเกาหลีนี้ประดิษฐานไว้ ณ วัดแฮอินซา[45] แต่ศาสนาพุทธก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศเสื่อมโทรม เพราะพระสงฆ์มีอำนาจราชศักดิ์มากเกินไป ทำให้เกิดความขัดแย้งหลายฝ่าย ทั้งระหว่างขุนนางฝ่ายนักรบกับขุนนางฝ่ายนักปราชญ์ และระหว่างขุนนางพุทธกับขุนนางขงจื๊อ ทำให้อาณาจักรอ่อนแอลงมาก จนถูกมองโกลรุกรานและปกครองเกาหลีอยู่เกือบศตวรรษ[45] ครั้นเข้าสู่ยุครัฐโชซ็อน มีการยกย่องลัทธิขงจื๊อใหม่เป็นศาสนาประจำชาติ เป็นหลักชี้นำของรัฐ และเป็นความถูกต้องแห่งศีลธรรมจรรยาของราชวงศ์[44] มีการริบทรัพย์สินของวัดพุทธที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคโครยอเป็นของรัฐ[46] ศาสนาพุทธถูกปราบปรามนานถึง 500 ปี[27][28] แม้จะมีความพยายามในการฟื้นฟูศาสนาพุทธขึ้นมาอยู่เนือง ๆ แต่ก็ถูกเหล่านักปราชญ์และขุนนางที่นับถือลัทธิขงจื๊อต่อต้านอยู่เสมอ จนถึงยุคปลายของราชวงศ์โชซ็อน[44] ครั้นเมื่อคาบสมุทรเกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น คณะสงฆ์ในเกาหลีบางกลุ่มเริ่มรับแนวปฏิบัติของคณะสงฆ์ญี่ปุ่นเรื่องการมีภรรยาและบุตร[47] และถูกรัฐบาลญี่ปุ่นควบคุมอย่างหนักด้วยการจัดระเบียบบริหารวัดขึ้นใหม่[48]

หลังประเทศเกาหลีใต้ได้รับเอกราชแล้ว ศาสนาพุทธก็ยังถูกนโยบายของประธานาธิบดีบั่นทอนอยู่เนือง ๆ เช่น กรณีที่ประธานาธิบดีช็อน ดู-ฮวัน ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชน มีนโยบายต่อต้านศาสนาพุทธ และพยายามจำกัดกิจกรรมของศาสนาพุทธ[48] วัดเก่าแก่หลายแห่งถูกปรับปรุงให้เป็นรีสอร์ตสำหรับนักท่องเที่ยว วัดถูกจำกัดอิสระเพราะตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ[48] ทำให้พุทธศาสนิกชนคณะโช-กเยวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวมาก ทำให้เกิดเหตุ "การเบียดเบียนคย็องซิน" ขึ้นเมื่อวันที่ 27-31 ตุลาคม พ.ศ. 2523 รัฐบาลมีคำสั่งให้โจมตีวัดสำคัญทั่วประเทศ รวมถึงวัดโชกเยซา อันเป็นสำนักงานใหญ่คณะโช-กเย โดยอ้างว่าเป็นการ "ชำระล้างพุทธศาสนา"[48][49] พระภิกษุจำนวน 55 รูปถูกจับกุม และภิกษุหลายรูปถูกกุมขังและทรมานร่างกาย หนึ่งในนั้นคือเจ้าอาวาสวัดนักซันซาซึ่งมรณภาพหลังถูกทารุณกรรม[49] พระภิกษุทั้งหมดไม่ได้ถูกตั้งข้อหา และถูกส่งไปในค่ายปรับทัศนคติ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชุมชนชาวพุทธจึงถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลดูแลอย่างเข้มงวด หลายคนถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือสนับสนุนคอมมิวนิสต์[48] และในรัฐบาลของประธานาธิบดีอี มย็อง-บัก ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชนเพรสไบทีเรียน มีสัดส่วนรัฐมนตรีที่นับถือศาสนาคริสต์ถึง 12 คน ขณะที่รัฐมนตรีที่นับถือศาสนาพุทธกลับมีเพียงคนเดียว[50] พุทธศาสนิกชนมองว่าประธานาธิบดีอีมีอคติต่อศาสนาพุทธ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเองก็แสดงกิริยาก้าวร้าวต่อชาวพุทธ รวมทั้งมีเรื่องร้องเรียนทำนองนี้อีกหลายประการ[51] ซึ่งเวลาต่อมาอีได้กล่าวขอโทษเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อพุทธศาสนิกชน[52]

ศาสนาพุทธมีนิกายหลักคือนิกายซ็อน (, ) แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นสองกลุ่มหลักได้แก่ คณะโช-กเย (조계종, 曹溪宗) และคณะแทโก (태고종, 太古宗)[53] คณะสงฆ์แรกคือนิกายที่พระสงฆ์ครองพรหมจรรย์ มีศูนย์กลางที่วัดโชกเยซาในกรุงโซล และมีวัดในสังกัดที่มีชื่อเสียง เช่น วัดพุลกุกซา และวัดโพโมซา ส่วนคณะแทโกเป็นคณะสงฆ์ที่อนุญาตให้พระสงฆ์สามารถมีครอบครัวได้ ตามอย่างพระสงฆ์ญี่ปุ่นในยุคอาณานิคม[44] หลังประเทศเกาหลีใต้ได้รับอิสรภาพ เกิดการต่อสู้กันระหว่างคณะโช-กเยและแทโกเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินของวัด ซึ่งโช-กเยชนะคดีในเวลาต่อมา[44] ส่วนคณะชินกัก เป็นกลุ่มที่สืบมาจากนิกายวัชรยานที่อนุญาตให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้[54] อีกคณะหนึ่งคือ คณะช็อนแท สืบมาแต่นิกายเทียนไถจากประเทศจีน นับถือสัทธรรมปุณฑรีกสูตรว่าเป็นคำสอนสูงสุดของพุทธศาสนา และพระสงฆ์ยังถือพรตครองเพศพรหมจรรย์[53] นอกจากนี้ยังมีลัทธิอิงศาสนาพุทธคือ ลัทธิว็อนบุล (원불교, 圓佛敎) ถือเป็นศาสนาพุทธสมัยใหม่ เชื่อว่าการการรู้แจ้งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน มีพระคัมภีร์และวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้คนทุกชนชั้นเข้าถึงพระธรรม[55]

วัดพุทธแบ่งตามนิกาย
(พ.ศ. 2548)[56][57]
คณะ/สำนัก จำนวนวัด
โช-กเย (조계종/曹溪宗) 735 (81%)
ช็อนแท (천태종/天台宗) 144 (16%)
แทโก (태고종/太古宗) 102 (11%)
บ็อบฮวา (법화종/法華宗) 22 (2%)
ซ็อนฮัก-ว็อน (선학원/禪學院) 16 (2%)
ว็อนฮโย (원효종/元曉宗) 5 (1%)
อื่น ๆ 27 (3%)

หลังพระสงฆ์ปลีกตนเองในวัดตามป่าเขาและอารามยาวนานกว่าห้าศตวรรษ ปัจจุบันศาสนาพุทธในเกาหลีใต้มีการฟื้นฟูขึ้นใหม่เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ มีการจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นตามหัวเมืองใหญ่เพื่อเผยแผ่ศาสนา[44] รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนเสรีภาพทางเพศ[58] จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากร พ.ศ. 2548 พบว่าประชากรเกาหลีใต้ราวหนึ่งในสี่นับถือศาสนาพุทธ[59] แต่การนับจำนวนพุทธศาสนิกชนนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ในการระบุตัวตนชัดเจนอย่างคริสต์ศาสนิกชน เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นดั่งปรัชญาและปูมหลังทางวัฒนธรรมเกาหลีไปแล้ว จึงคาดว่าจำนวนพุทธศาสนิกชนน่าจะมีมากกว่าการสำรวจนี้[60] เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีเหนือที่ระบุว่ามีพุทธศาสนิกชนเพียงร้อยละ 4.5 แต่ประชากรเกาหลีเหนือมากกว่าร้อยละ 70 ปฏิบัติตนตามปรัชญาและธรรมเนียมชาวพุทธ[61][62]

ศาสนาคริสต์

อาสนวิหารช็อนดงในเมืองช็อนจู
นักพรตหญิงขณะฟังการบรรยาย

ศาสนาคริสต์ (기독교, 基督敎) เข้าถึงดินแดนเกาหลีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2334 หรือสิบปีหลังการกลับมาของอี ซึง-ฮุน ชาวเกาหลีคนแรกที่ผ่านการบัพติศมาที่ปักกิ่ง ประเทศจีน[63] งานเขียนของมัตเตโอ ริชชี มิชชันนารีเยสุอิตซึ่งอาศัยอยู่ในราชสำนักปักกิ่งถูกนำไปสู่เกาหลีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แล้ว นักวิชาการขงจื๊อที่เรียกว่า ซิลฮัก (실학, 實學 แปลว่า "การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ") สนใจในหลักคำสอนคาทอลิก และเป็นผู้เผยแผ่ความเชื่ออย่างคาทอลิกอย่างแพร่หลายในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18[64] ปัจจุบันมีการเผยแผ่หลากหลายนิกายมาก เช่น โรมันคาทอลิก (천주교, 天主敎), เพรสไบทีเรียน (장로교), เมทอดิสต์ (감리교), แบปทิสต์ (침례교) และนิกายย่อยอีกจำนวนมาก[65]

แนวคิดอย่างตะวันตกและศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในเกาหลีถูกนำเสนอในชื่อ ซอฮัก (서학, 西學 แปลว่า "การเรียนรู้อย่างตะวันตก") จากการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2344 พบว่าครึ่งหนึ่งของครอบครัวที่เปลี่ยนไปเข้ารีตนิกายคาทอลิกมีความเชื่อมโยงกับซอฮัก[66] ผู้เข้ารีตส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะร่วมพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษของลัทธิขงจื๊อ จากนั้นรัฐบาลโชซ็อนจึงประกาศห้ามเผยแผ่ศาสนาคริสต์ คริสต์ศตวรรษที่ 19 คริสต์ศาสนิกชนจำนวนมากถูกประหาร แต่กฎหมายนี้ไม่ได้บังคับใช้อย่างเข้มงวดนัก คริสต์ศาสนิกชนเกาหลีส่วนใหญ่จึงกระจุกตัวอยู่ทางตอนเหนือของคาบสมุทร ซึ่งอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อไม่เข้มข้นเท่าภาคใต้[11] โดยนิกายโรมันคาทอลิกเคยรุ่งเรืองมากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึง 1980[67] หลังจากนั้นนิกายโปรเตสแตนต์ที่ได้เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังบาทหลวงคาทอลิกสามารถทำให้ชาวเกาหลีกลับใจไปนับถือศาสนาคริสต์ได้จำนวนมาก มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์เกาหลีที่กำลังอ่อนแอ[33] ในช่วงเวลานั้นเกาหลีไม่มีศาสนาประจำชาติอย่างจีนและญี่ปุ่น จึงเป็นช่องทางให้มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้อย่างอิสระ[7] มิชชันนารีเมทอดิสต์และเพรสไบทีเรียนประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาอย่างงดงาม พวกเขาก่อตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการรังสรรค์ความเจริญให้กับเกาหลี[32]

ก่อน พ.ศ. 2491 เปียงยางถือเป็นศูนย์กลางของชาวคริสต์ หนึ่งในหกของประชากรราว 300,000 คน คือผู้เข้ารีตศาสนาคริสต์ หลังการก่อตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ คริสต์ศาสนิกชนกว่าหนึ่งล้านคนอพยพไปยังเกาหลีใต้เพื่อหนีนโยบายกดขี่ศาสนาของเกาหลีเหนือ[12] จากความเสื่อมโทรมของศาสนาพุทธที่ถูกปราบปรามถึง 500 ปี ศาสนาคริสต์ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีการศึกษา สมาชิกของคริสตจักรมีผู้บทบาทเรียกร้องการปกครองตนเองในช่วงอาณานิคม และการเชื่อมโยงศาสนาคริสต์กับลัทธิชาตินิยมเกาหลี[33] ทำให้ศาสนาคริสต์ทั้งโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากตามหัวเมืองใหญ่ภาคตะวันตกของประเทศ เช่น โซล อินช็อน พื้นที่แถบคย็องกีและโฮนัม[65]

คริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกยังคงประกอบพิธีเชซา (제사, 祭祀) ซึ่งเป็นพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ พวกเขานำพิธีกรรมนี้มาผสานกับศาสนาใหม่ที่พวกตนนับถือได้ง่ายดายเมื่อเปรียบเทียบกับคริสต์ศาสนิกชนจีนหรือญี่ปุ่น แม้จะเป็นธรรมเนียมขงจื๊อ แต่คริสตังเกาหลีและชาวพุทธเกาหลียังคงกระทำเรื่อยมาอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แม้สมเด็จพระสันตะปาปาจะเคยสั่งห้ามการผสานความเชื่อก็ตาม[68] ซึ่งหากเป็นชาวโปรเตสแตนต์หรือออร์ทอดอกซ์จะเลิกประเพณีนี้อย่างสิ้นเชิง[65]

คริสต์ศาสนิกชนโปรเตสแตนต์เคร่งศาสนามักออกมาโจมตีการผสานความเชื่อ การประกอบพิธีกรรมขงจื๊อ หรือการบูชาบรรพบุรุษที่ปฏิบัติโดยศาสนิกชนของตนเองและผู้ที่นับถือศาสนาอื่น[68][69][70][71][72][60] ซึ่งโดยมากชาวโปรเตสแตนต์จะทิ้งประเพณีดั้งเดิมของเกาหลีนี้ไป[73][65] ทั้งนี้นิกายโปรเตสแตนต์มีประวัติการโจมตีศาสนาพุทธและศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมอื่น ๆ ในเกาหลี ด้วยการลอบวางเพลิง และการทำลายศาสนสถานหรือรูปเคารพ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมจากคริสตจักร[41]

ศาสนาพื้นเมือง

ลัทธิมูหรือชิน

จักรวาลวิทยาชาวบ้านเกาหลี
พิธีกรรมบูชาวายุเทพบนเกาะเชจู

ลัทธิมู (เกาหลี: 무교 แปลว่า "ลัทธิเชมัน")[74] หรือ ลัทธิชิน (신교 แปลว่า "ลัทธิเทพเจ้า") บ้างเรียก ชินโด (신도 แปลว่า "วิถีแห่งเทพ")[75][76] เป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของชาวเกาหลี[77] ทั้งสองชื่อนี้แม้จะสื่อถึงลัทธิเชมันแบบเกาหลี[77] แต่อี ช็อง-ย็อง อธิบายว่า "ชินโด" เป็นประเพณีของคนทรง และ "มู" เป็นรูปแบบหนึ่งของ "ชินโด"[78] และลัทธิพื้นบ้านนี้ไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นศาสนาประจำชาติอย่างลัทธิวูของจีน และลัทธิชินโตของญี่ปุ่น[7]

ความเชื่อหลักคือต้องนับถือ ฮานึลลิม หรือ ฮวันอิน ว่าเป็น "ผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง"[79] และ "ของเทพเจ้าทั้งหมดในธรรมชาติ"[78] มีตำนานมาว่าเหล่ามูดังคือสืบสันดานลงมาจากราชาสวรรค์ พระโอรสของพระชนนี [แห่งราชาสวรรค์] การสืบทอดการเป็นคนทรงจะส่งผ่านทางสายผู้หญิง[80] ส่วนตำนานอื่น ๆ มักเชื่อมโยงความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับเรื่องทันกุน พระโอรสของราชาสวรรค์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งชาติเกาหลี[81] นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามีจิตวิญญาณสิงสถิตอยู่ในสิ่งที่เคลื่อนไหวได้และเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่หลังการเข้ามาของศาสนาที่มีความซับซ้อนกว่า เช่น ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ และศาสนาพุทธ ศาสนาพื้นบ้านนี้ก็ไม่ได้จางหายไปไหน หากแต่ผสมกลมกลืนไปกับศาสนานั้น ๆ เกิดเป็นองค์ประกอบความเชื่อที่หลากหลาย[42] สำหรับคนเกาหลียุคก่อนจะมองว่าความเชื่อนี้เป็นศาสนาแห่งความกลัวและการเชื่อถือโชคลาง แต่คนยุคปัจจุบันจะมองว่าเป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ใช้เครื่องดนตรี การร่ายรำ และเครื่องเซ่นไหว้ผี เป็นสีสันหรือศิลปะของเกาหลี[42]

ชาวเกาหลีเรียกคนทรงเพศหญิงว่า "มู" (, ) หรือ "มูดัง" (무당, 巫堂) หากเป็นคนทรงเพศชายจะเรียกว่า "พักซู" หรือจะเรียกชื่ออื่นก็ได้ เช่น "ดันก็อล" (당골)[77] โดยคนทรงในภาษาเกาหลีหรือเรียกว่า "มู" นั้น ตรงกับคำจีนว่า "วู" (จีน: ; พินอิน: ) ใช้เรียกคนทรงได้ไม่จำแนกเพศ[78] โดยมูดังทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างวิญญาณ, เทพเจ้า และมนุษย์ ผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า "กุต" (เกาหลี굿) เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์[82]

ยุคปลายราชวงศ์โชซ็อน มิชชันนารีโปรเตสแตนต์มีอิทธิพลสูงมาก และเริ่มทำลายล้างศาสนาพื้นบ้านด้วยการรณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ[83] เนื้อหาบ่งถึงความพยายามในการถอนรากถอนโคนความเชื่อพื้นเมืองให้สิ้น[83] ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 เกิดขบวนการทำลายล้างลัทธิชินโด เกิดการทำลายมรดกทางวัฒนธรรมศาสนาพื้นบ้านเกาหลี เช่น ศาสนสถาน ศาลเจ้า ศาลเพียงตา หรือรูปเคารพจำนวนมาก[36] โดยเฉพาะในรัฐบาลพัก ช็อง-ฮี[35][84][85] แต่ความเชื่อในลัทธิพื้นเมืองนี้ยังคงแทรกยาดำและอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน[86][87]

ลัทธิช็อนโด

ศาสนสถานของลัทธิช็อนโดในโซล

ลัทธิช็อนโด (천도교, 天道教 แปลว่า "วิถีแห่งสวรรค์") เป็นลัทธิที่มีพื้นฐานมาจากลัทธิขงจื๊อกับลัทธิชินอันเป็นศาสนาพื้นเมืองเดิมของเกาหลีด้วยแนวคิดแบบ ทงฮัก (동학, 東學 แปลว่า "การเรียนรู้อย่างตะวันออก") เพื่อให้ต่างจาก ซอฮัก ของคาทอลิก[88] ก่อตั้งโดยชเว เจ-อู (최제우, 崔濟愚) ชนชั้นสูง[89] เมื่อ พ.ศ. 2403 เพื่อต่อต้านศาสนาของพวกต่างด้าว ซึ่งหมายรวมไปถึงศาสนาพุทธและคริสต์[90] โดยชเว เจ-อูอ้างว่าตนหายจากอาการเจ็บป่วยก็ด้วยอำนาจของ ซังเจ หรือ ฮานึลลิม เทพเจ้าสวรรค์ตามความเชื่อลัทธิพื้นบ้านเกาหลี[90] จนลัทธินี้มีอิทธิพลแพร่หลายไปทั่ว แต่กระนั้นช็อนโดยังดัดแปลงองค์ประกอบทางประเพณีของลัทธิเต๋าและพุทธมาปรับใช้เป็นของตนด้วย[91] สุดท้ายชเวถูกรัฐบาลโชซ็อนประหารชีวิตใน พ.ศ. 2407[90]

ครั้น พ.ศ. 2437 ขบวนการของลัทธินี้เติบโตขึ้นและเกิดการปฏิวัติชาวนาและมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่น[88] หลังการแบ่งประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ใน พ.ศ. 2488 ศาสนิกชนของช็อนโดส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือ[34] ในประเทศเกาหลีใต้ประวัติของขบวนการทงฮักและลัทธิช็อนโดไม่ใคร่เป็นที่ปรากฏนัก[92] ผิดกับเกาหลีเหนือที่มองการก่อกบฏทงฮักในทัศนคติเชิงบวก[92]

ศาสนาอื่น ๆ

พิธีกรรมเผากระดาษบูชาบรรพบุรุษช่วงฤดูใบไม้ร่วงบนเกาะเชจู

ลัทธิขงจื๊อ

ลัทธิขงจื๊อ (유교) เข้ามายังดินแดนเกาหลีมาตั้งแต่ยุคสามอาณาจักร มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขงจื๊อในรัฐโคกูรยอและแพ็กเจเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 4 ส่วนรัฐชิลลาถือว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ลัทธิขงจื๊อคือรูปแบบโครงสร้างและปรัชญาของรัฐ และคงใช้เรื่อยมาจนถึงยุครัฐโครยอ แต่ศาสนาพุทธนั้นดูจะโดดเด่นมากกว่า[93]

ครั้นมีการสถาปนารัฐโชซ็อน ซึ่งนับถือลัทธิขงจื๊อใหม่ มีการปราบปรามอิทธิพลของศาสนาพุทธ[93] ลัทธิขงจื๊อในเกาหลีมีการพัฒนาตามอิทธิพลท้องถิ่นจนมีรูปแบบเป็นของตนเอง[94][95] ทั้งยังนำลัทธิขงจื๊อเข้าไปสู่ระบบการศึกษา พิธีกรรม ระเบียบข้าราชการ และส่งเสริมการศึกษาวรรณคดีขงจื๊อ รวมทั้งปลูกฝังคุณค่าตามอุดมคติขงจื๊อแก่คนเกาหลีอย่างลึกซึ้ง[93] ลัทธิขงจื๊อล่มสลายไปพร้อม ๆ กับราชวงศ์โชซ็อน และทุกวันนี้มีประชาชนเกาหลีใต้น้อยมากที่ยังระบุตัวตนว่านับถือลัทธิขงจื๊อ กระนั้นอิทธิพลทางจริยธรรมของขงจื๊อยังปรากฏชัดเจนในวัฒนธรรมเกาหลี รวมทั้งยังคงมีการจัดพิธีกรรมทางศาสนาของขงจื๊อเป็นประจำในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปีตามศาลขงจื๊อทั่วประเทศ[96][97]

ศาสนาอิสลาม

ชาวมุสลิมในเกาหลีช่วงอีดิลฟิฏร์ พ.ศ. 2561

ศาสนาอิสลาม (이슬람교) เข้ามายังดินแดนเกาหลีมาตั้งแต่ยุคสามอาณาจักรผ่านการค้ากับจีน ตรงกับคริสต์ศตวรรษ 7[98] มีการก่อตั้งชุมชนมุสลิมในรัฐชิลลา[99] แต่ระยะหลังลูกหลานตัดขาดจากโลกมุสลิมจึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธหรือลัทธิชินโด[100]

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีชาวเกาหลีที่อพยพไปแมนจูเรียในยุคอาณานิคมของจักรวรรดิญี่ปุ่น พวกเขาเข้ารีตศาสนาอิสลาม[88] หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองพวกเขาจำนวนหนึ่งเดินทางกลับประเทศเกาหลีใต้แต่ยังไม่มีศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรม ต่อมาเมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามเกาหลี มีทหารตุรกีที่เข้ามาพร้อมกับกองกำลังของสหประชาชาติได้อนุญาตให้ชาวเกาหลีกลุ่มนี้ร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2498[88] หลังจากนั้นจึงมีการเลือกตั้งอิหม่ามชาวเกาหลีเป็นครั้งแรก สมาคมอิสลามเกาหลีขยายตัวและจัดระเบียบองค์กรเป็นสมาพันธ์มุสลิมเกาหลีใน พ.ศ. 2510 และมีการก่อสร้างมัสยิดกลางในโซลเมื่อ พ.ศ. 2519[88] ปัจจุบันมีชาวมุสลิมในประเทศเกาหลีใต้ราว 100,000 คน จำนวนนี้เป็นคนต่างด้าวมากถึงร้อยละ 70-80[101]

ลัทธิชินโต

ศาลเจ้าไดเด็ง ในเมืองแทจ็อน

ลัทธิชินโต (신토) ได้รับการเผยแผ่ในดินแดนเกาหลีในช่วงตกเป็นอาณานิคมของญีปุ่น (พ.ศ. 2453-2488) ชาวเกาหลีถูกมองว่าเป็นพลเมืองญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์ โดยญี่ปุ่นมีความพยายามในการหลอมรวมลัทธิชินโดของเกาหลีเข้ากับลัทธิชินโตของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับศาสนาพุทธในเกาหลีซึ่งถูกหลอมรวมเข้ากับศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่น จนเกิดสังฆเภท พระสงฆ์แตกออกเป็นสองคณะ คือพระสงฆ์ที่ถือพรตพรหมจรรย์ กับพระสงฆ์ที่มีครอบครัวได้แบบญี่ปุ่น[44] มีการสร้างศาลเจ้าญี่ปุ่นขึ้นทั่วคาบสมุทรเกาหลี[102] รวมทั้งมีการบูชาเทพเจ้าระดับสูงและองค์จักรพรรดิญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ชาวเกาหลีจำนวนมากจึงเปลี่ยนไปเข้ารีตศาสนาคริสต์ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และสนับสนุนเอกราชของเกาหลี[103] มีการบังคับนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าสักการะศาลเจ้าชินโต หากนักศึกษาปฏิเสธมหาวิทยาลัยนั้นอาจถูกปิด[104] นอกจากนี้ยังมีการบีบบังคับให้คริสต์ศาสนิกชนเข้าเยี่ยมชมศาลเจ้า และมีทหารญี่ปุ่นใช้ดาบปลายปืนบีบบังคับให้สมาชิกโบสถ์เพรสไบทีเรียนเข้าร่วมสักการะศาลเจ้าชินโตด้วย[105]

หลังญี่ปุ่นพ่ายสงครามโลกครั้งที่สอง นักบวชชินโตเดินทางกลับญี่ปุ่น ศาลเจ้าทั้งหลายในคาบสมุทรเป็นเป้าหมายของการดูหมิ่น หลายแห่งถูกทำลายทิ้งจากกระแสความเกลียดชัง บ้างก็นำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ แทน เช่น พิพิธภัณฑ์ เป็นอาทิ[106]

ศาสนาซิกข์

ศาสนาซิกข์ (시크교) เพิ่งเข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อ 50 ปีก่อน มีการก่อสร้างคุรุทวาราแห่งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544[107] มีชาวซิกข์ในเกาหลีใต้ราว 550 คน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ พวกเขาได้รับอนุญาตให้รับสัญชาติเกาหลีใต้[108]

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "성, 연령 및 종교별 인구 - 시군구" [Population by Gender, Age, and Religion - City/Country]. Korean Statistical Information Service (ภาษาเกาหลี). 2015. สืบค้นเมื่อ 2018-03-17.
  2. Quinn, Joseph Peter (2019). "South Korea". ใน Demy, Timothy J.; Shaw, Jeffrey M. (บ.ก.). Religion and Contemporary Politics: A Global Encyclopedia. ABC-CLIO. p. 365. ISBN 978-1-4408-3933-7. สืบค้นเมื่อ 3 June 2020.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Pyong Gap Min, 2014.
  4. ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 131
  5. WIN-Gallup International: "Global Index of Religiosity and Atheism 2012" เก็บถาวร 21 ตุลาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. 6.0 6.1 Kim Han-soo, Shon Jin-seok. 신자 수, 개신교 1위… "종교 없다" 56%. The Chosunilbo, 20/12/2016. Retrieved 02/07/2017.
  7. 7.0 7.1 7.2 Ogata, Mamoru Billy (1984). A Comparative Study of Church Growth in Korea and Japan: With Special Application to Japan. Fuller Theological Seminary. p. 32 ff.
  8. 8.0 8.1 Joon-sik Choi, 2006. p. 15
  9. Grayson, 2002. pp. 155-187
  10. 10.0 10.1 10.2 Grayson, 2002. pp. 158-161
  11. 11.0 11.1 Grayson, 2002. p. 158, p. 162
  12. 12.0 12.1 12.2 Grayson, 2002. p. 163
  13. Lankov, Andrei. The Real North Korea: Life and Politics in the Failed Stalinist Utopia. Oxford University Press, 2014. ISBN 0199390037. p. 9.
  14. Kendall, 2010. pp. 4-17
  15. Baker, 2008. pp. 4-5
  16. "Quality Data on Religion". The Association of Religion Data Archives. สืบค้นเมื่อ 28 January 2016.
  17. "The Republic of South Korea: Religious Adherents, 2010 (World Christian Database)". Association of Religion Data Archives. สืบค้นเมื่อ 27 January 2016.
  18. 18.0 18.1 18.2 Pollack, Detlef; Rosta, Gergely (2018). Religion and Modernity: An International Comparison. Oxford University Press. p. 340. ISBN 978-0198801665.
  19. "시도/연령/성별 종교인구" [Population by Cities, Age, Gender, Religion]. Korean Statistical Information Service (ภาษาเกาหลี). 1985. สืบค้นเมื่อ 2018-03-17.
  20. "행정구역/성/연령별 종교인구" [Population of Religions by Region, Gender, Age]. Korean Statistical Information Service (ภาษาเกาหลี). 1995. สืบค้นเมื่อ 2018-03-17.
  21. "성/연령/종교별 인구 - 시군구" [Population by Gender, Age, and Religion - City/Country]. Korean Statistical Information Service (ภาษาเกาหลี). 2005. สืบค้นเมื่อ 2018-03-17.
  22. "2005 Census of South Korea - Religion Results by Province". sisapress.com.
  23. "대한민국/종교". 나무위키 (ภาษาเกาหลี). 2022-09-27. สืบค้นเมื่อ 9 October 2022.
  24. 24.0 24.1 Asia For Educators: Korea, 300 to 600 CE. Columbia University, 2009.
  25. 25.0 25.1 ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์ (12 ตุลาคม 2565). "ผิดไหม ที่ไร้ศาสนา?". ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่). สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. Vermeersch, Sem. (2008). The Power of the Buddhas: the Politics of Buddhism during the Koryŏ Dynasty (918-1392). p. 3
  27. 27.0 27.1 Grayson, 2002. pp. 120-138
  28. 28.0 28.1 28.2 Tudor, 2012.
  29. Grayson, 2002. p. 137
  30. 30.0 30.1 30.2 Grayson, 2002. p. 155
  31. Grayson, 2002. p. 157
  32. 32.0 32.1 Grayson, 2002. pp. 157-158
  33. 33.0 33.1 33.2 Grayson, 2002. p. 158
  34. 34.0 34.1 34.2 Carl Young. Into the Sunset: Ch’ŏndogyo in North Korea, 1945–1950. On: Journal of Korean Religions, Volume 4, Number 2, October 2013. pp. 51-66 / 10.1353/jkr.2013.0010
  35. 35.0 35.1 Joon-sik Choi, 2006. p. 17
  36. 36.0 36.1 Kendall, 2010. p. 10
  37. Baker, 2008. p. 4
  38. Baker, 2008. p. 3
  39. Baker, 2003. p. 5
  40. South Korea National Statistical Office's 19th Population and Housing Census (2015): "Religion organizations' statistics". Retrieved December 20, 2016
  41. 41.0 41.1 41.2 Buswell, Lee. 2007. p. 375
  42. 42.0 42.1 42.2 ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 150-151
  43. ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 20
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 44.5 44.6 44.7 ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 152-153
  45. 45.0 45.1 ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 22
  46. ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 23
  47. Sorensen, Henrik Hjort (1992). Ole Bruun; Arne Kalland; Henrik Hjort Sorensen (บ.ก.). Asian perceptions of nature. Nordic Institute of Asian Studies. ISBN 978-87-87062-12-1.
  48. 48.0 48.1 48.2 48.3 48.4 Harris, Ian (2001). Buddhism and politics in twentieth-century Asia. Continuum International Publishing Group. ISBN 978-0-8264-5178-1.
  49. 49.0 49.1 Park, Jin Y. (1 February 2010). Makers of modern Korean Buddhism. SUNY Press. ISBN 978-1-4384-2921-2.
  50. "Buddhists set to protest against Lee's religious bias". HANKYOREH. August 22, 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 4, 2018. สืบค้นเมื่อ August 25, 2008.
  51. "South Korea Buddhists March Against Christian President, Alleging Religious Discrimination". Fox News. August 27, 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-01. สืบค้นเมื่อ 2008-12-22.
  52. "ปธน.เกาหลีใต้ขอโทษชาวพุทธหลังถูกกล่าวหามีอคติทางศาสนา". ผู้จัดการออนไลน์. 9 กันยายน 2551. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  53. 53.0 53.1 Korean Buddhism has its own unique characteristics different from other countries, koreapost.com, Jun 16, 2019.
  54. Kim Du-hyeon (March 3, 2014). "Surprising World of Korean Buddhism". The Dongguk Post.
  55. Pye, Michael (2002). "Won Buddhism as a Korean New Religion". Numen. 49 (2): 113–141. doi:10.1163/156852702760186745. JSTOR 3270479.
  56. 안동근현대사 [Andong National: Modern and Contemporary history] (PDF). andong.go.kr (ภาษาเกาหลี). 15 December 2010. p. 228. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 10 December 2014. 문화관광부의 2005년 5월 자료에 따르면 우리나라에는 907개의 사찰이 있는데, 이를 종단별로 보면, 대한불교조계종 735개소(81%), 한국불교태 고종 102개소(11%), 대한불교법화종 22개소(2%), 선학원 16개소(2%), 대한불교원효종 5개소(1%), 기타 27개소(3%) 순이다.
  57. At Korean Wikipedia
  58. "LGBT กว่า 8 หมื่นแห่ร่วมขบวน Gay Pride ใหญ่สุดในเกาหลีใต้". ประชาไท. 27 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  59. According to figures compiled by the South Korean National Statistical Office."인구,가구/시도별 종교인구/시도별 종교인구 (2005년 인구총조사)". NSO online KOSIS database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 8, 2006. สืบค้นเมื่อ August 23, 2006.
  60. 60.0 60.1 Kedar, Nath Tiwari (1997). Comparative Religion. Motilal Banarsidass. ISBN 81-208-0293-4.
  61. Religious Intelligence UK Report
  62. [1] North Korea, about.com
  63. Choi Suk-woo. Korean Catholicism Yesterday and Today. On: Korean Journal XXIV, 8, August 1984. pp. 5-6
  64. Kim Han-sik. The Influence of Christianity. In: Korean Journal XXIII, 12, December 1983. pp. 5-7
  65. 65.0 65.1 65.2 65.3 Kwon, Okyun (2003). Buddhist and protestant Korean immigrants: religious beliefs and socioeconomic aspects of life. LFB Scholarly Publishing LLC. pp. 137–138. ISBN 978-1-931202-65-7.
  66. Kim Ok-hy. Women in the History of Catholicism in Korea. In: Korean Journal XXIV, 8, August 1984. p. 30
  67. 가톨릭신문. "[80년대 한국 가톨릭의 결산] 2. 한국교회와 교세". www.catholictimes.org (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ 2021-03-12.
  68. 68.0 68.1 Park, Chang-Won (10 June 2010). Cultural Blending in Korean Death Rites. Continuum International Publishing Group. pp. 12–13. ISBN 978-1-4411-1749-6.
  69. Minamiki, George (1985). The Chinese rites controversy: from its beginning to modern times. Loyola University Press. ISBN 978-0-8294-0457-9. สืบค้นเมื่อ 20 February 2013.
  70. Mantienne, pp. 177-82.
  71. Mantienne, Frédéric 1999 Monseigneur Pigneau de Béhaine, Editions Eglises d'Asie, 128 Rue du Bac, Paris, ISSN 1275-6865 ISBN 2-914402-20-1, pp. 177–82.
  72. Launay, Marcel; Moussay, Gérard (24 January 2008). Les Missions étrangères: Trois siècles et demi d'histoire et d'aventure en Asie. Librairie Académique Perrin. pp. 77–83. ISBN 978-2-262-02571-7. สืบค้นเมื่อ 20 February 2013.
  73. Suh, Sharon A. (2004), Being Buddhist in a Christian World: Gender and Community in a Korean American Temple, University of Washington Press, p. 49, ISBN 0-295-98378-7
  74. Used in: Chang Soo-kyung, Kim Tae-gon. Korean Shamanism – Muism. Jimoondang, 1998.
  75. Lee Chi-ran, p. 13
  76. Used in: Margaret Stutley. Shamanism: A Concise Introduction. Routledge, 2003.
  77. 77.0 77.1 77.2 Jung Young Lee, 1981. p. 4
  78. 78.0 78.1 78.2 Jung Young Lee, 1981. p. 5
  79. Jung Young Lee, 1981. p. 18
  80. Jung Young Lee, 1981. pp. 5-12
  81. Jung Young Lee, 1981. p. 13
  82. Joon-sik Choi, 2006. p. 21
  83. 83.0 83.1 Kendall, 2010. pp. 4-7
  84. "ERROR".
  85. "ERROR". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-31. สืบค้นเมื่อ 2021-08-22.
  86. Joon-sik Choi, 2006. pp. 17-18-19
  87. Sang-Hun, Choe (6 July 2007). "In the age of the Internet, Korean shamans regain popularity". The New York Times.
  88. 88.0 88.1 88.2 88.3 88.4 ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 158
  89. Lee, 1996. p. 109
  90. 90.0 90.1 90.2 Lee, 1996. p. 105
  91. 韓國 近代宗敎의 三敎融合과 生命·靈性 – 원불교사상연구원 เก็บถาวร 25 ธันวาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  92. 92.0 92.1 Lee, 1996. p. 110
  93. 93.0 93.1 93.2 ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี, หน้า 153-155
  94. Baker, Donald. "The Transformation of Confucianism in 20th-century Korea: How it has lost most of its metaphysical underpinnings and survives today primarily as ethical rhetoric and heritage rituals" 한국학연구원 학술대회. p 107
  95. Koh, Byong-ik. "Confucianism in Contemporary Korea," In Confucian Traditions in East Asian Modernity, edited by Tu Wei-ming, (Harvard University Press, 1996) p 192
  96. Byung-ju, An. "Sunggyun-gwan, Sanctuary of Confucianism in Korea". Korana. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-22.
  97. "Munmyo Shrine". Parandeul.
  98. Grayson, James Huntley (2002). Korea: A Religious History. Routledge. p. 195. ISBN 0-7007-1605-X.
  99. Lee (1991) reviews the writings of more than 15 Arabic geographers on Silla, which most refer to as al-sila or al-shila.
  100. Islamic Korea - Pravda.Ru เก็บถาวร 2009-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  101. Won-sup, Yoon. "Muslim Community Gets New Recognition". islamkorea.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 13, 2017. สืบค้นเมื่อ June 13, 2017.
  102. Yi, Yong-sik (2010). Shaman Ritual Music in Korea. University of Minnesota. ISBN 1931897107. p. 11
  103. Korean Social Sciences Journal, 24 (1997). Korean Social Science Research Council. pp. 33-53
  104. Kim, Sung-Gun (1 June 1997). "The Shinto Shrine Issue in Korean Christianity under Japanese Colonialism". Journal of Church and State. 39 (3): 503–521. doi:10.1093/jcs/39.3.503.
  105. Nakajima, Michio (2010). "Shinto Deities That Crossed the Sea: Japan's" Overseas Shrines," 1868 to 1945". Japanese Journal of Religious Studies. 37 (1): 21–46. JSTOR 27822898. สืบค้นเมื่อ 31 January 2016.
  106. Henry, Todd (2014). Assimilating Seoul: Japanese Rule and the Politics of Public Space in Colonial Korea, 1910–1945. University of California Press. ISBN 9780520958418.
  107. Singh, Lakhvinder (August 13, 2020). "Multicultural Korea: Sikhism in Korea". Korea IT Times. สืบค้นเมื่อ February 26, 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  108. Ahuja, Sanjeev K. (August 10, 2020). "Proud Moments: Sikhs in Korea now can acquire citizenship while keeping their articles of faith intact". Asian Community News. สืบค้นเมื่อ February 26, 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
บรรณานุกรม
  • ความจริงเกี่ยวกับเกาหลี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540. 180 หน้า. ISBN 89-7375-075-5-03910 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: length
  • Daniel Tudor. Korea: The Impossible Country. Tuttle Publishing, 2012. ISBN 0804842523
  • Donald L. Baker. Korean Spirituality. University of Hawaii Press, 2008. ISBN 0824832574
  • Donald L. Baker. Modernization and Monotheism: How Urbanization and Westernization Have Transformed the Religious Landscape of Korea. University of British Columbia. Published in: Sang-Oak Lee, Gregory K. Iverson, Pathways into Korean Language and Culture: Essays in Honor of Young-key Kim-Renaud. Pajigong Press, Seoul, 2003. pp. 471–507
  • James H. Grayson. Korea - A Religious History. Routledge, 2002. ISBN 070071605X
  • Joon-sik Choi. Folk-Religion: The Customs in Korea. Ewha Womans University Press, 2006. ISBN 8973006282
  • Jung Young Lee. Korean Shamanistic Rituals. Mouton De Gruyter, 1981. ISBN 9027933782
  • Laurel Kendall. Shamans, Nostalgias, and the IMF: South Korean Popular Religion in Motion. University of Hawaii Press, 2010. ISBN 0824833988
  • Lee Chi-ran. Chief Director, Haedong Younghan Academy. The Emergence of National Religions in Korea.
  • Pyong Gap Min, Development of Protestantism in South Korea: Positive and Negative Elements. On: Asian American Theological Forum (AATF) 2014, VOL. 1 NO. 3, ISSN 2374-8133
  • Robert E. Buswell, Timothy S. Lee. Christianity in Korea. University of Hawaii Press, 2007. ISBN 082483206X
  • Sang Taek Lee. Religion and Social Formation in Korea: Minjung and Millenarianism. Walter de Gruyter & Co, 1996. ISBN 3110147971
  • Sorensen, Clark W. University of Washington. The Political Message of Folklore in South Korea's Student Demonstrations of the Eighties: An Approach to the Analysis of Political Theater. Paper presented at the conference "Fifty Years of Korean Independence", sponsored by the Korean Political Science Association, Seoul, Korea, July 1995.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya