Share to:

 

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
Film Archive (Public Organization)
ตราสัญลักษณ์

ที่ทำการประจำ
ภาพรวมหอ
ก่อตั้ง22 มิถุนายน พ.ศ. 2552; 15 ปีก่อน (2552-06-22)
หอก่อนหน้า
  • หอภาพยนตร์แห่งชาติ
ประเภทองค์การมหาชน
สำนักงานใหญ่เลขที่ 94 หมู่ที่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
บุคลากร75 คน (พ.ศ. 2564)[1]
งบประมาณต่อปี119,226,100 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
ฝ่ายบริหารหอ
  • ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, ผู้อำนวยการ
  • สัณห์ชัย โชติรสเศรณี, รองผู้อำนวยการ
  • ก้อง ฤทธิ์ดี, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดหอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
เว็บไซต์เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) (อังกฤษ: Film Archive (Public Organization)) เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคล้ายกับหอสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ แต่เป็นหอสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ ที่เก็บภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตลอดจนอะไรก็ตาม ที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ทั้งนี้เพื่อ อนุรักษ์ไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกทาง ศิลปวัฒนธรรมของชาติ และนำออกบริการ ให้ประชาชนได้ศึกษา ค้นคว้าและชื่นชม หรือใช้ประโยชน์อย่างสะดวกและกว้างขวาง

ภาพยนตร์ เป็นสื่อแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ และอาจยังให้เกิดปัญญาได้ ภาพยนตร์จึงอาจเปรียบดังศาสนา หอภาพยนตร์ก็คือ วัด ซึ่งมีโรงหนังเป็นโบสถ์ มีพิพิธภัณฑ์เป็นวิหาร หรือเจดีย์ มีห้องเย็นเก็บรักษาฟิล์มเป็นหอไตร มีศูนย์ให้บริการ ค้นคว้าเป็นศาลาการเปรียญ ตราใหม่ของหอภาพยนตร์ คือ ธรรมจักรภาพยนตร์ ซึ่งหมุนวนไปเพื่อเผยแผ่สัจธรรม สำหรับมวลมนุษย์

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)เป็นองค์การมหาชนของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2552 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552 มีภารกิจในการเก็บรวบรวมและการอนุรักษ์ฟิล์มหรือแถบแม่เหล็กบันทึกภาพ ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาค้นคว้า ศึกษา วิจัย และร่วมมือกับต่างประเทศในการเก็บรวบรวมและการอนุรักษ์ภาพยนตร์

ประวัติ

หอภาพยนตร์แห่งชาติ

งานหอภาพยนตร์แห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527[3] ที่หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า และในปี 2540 ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 5 จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2545 จึงได้โอนมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ให้โอนกรมศิลปากร มาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม[4]

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นการโอนกิจการในส่วนของงานหอภาพยนตร์แห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มาจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน [5] ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อเก็บรวบรวม อนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ ตลอดจนสนับสนุนการค้นคว้า ศึกษา วิจัย และร่วมมือกับต่างประเทศในการเก็บรวบรวมและอนุรักษ์ภาพยนตร์ ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ที่ 94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

รถจักรไอน้ำโมกุล C56 หมายเลข 738 (C56-47) (C5647) ตั้งอยู่ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), จังหวัดนครปฐม

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... และได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาโดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือให้เปลี่ยนชื่อหอภาพยนตร์กลับมาเป็นหอภาพยนตร์แห่งชาติเหมือนก่อนโอนมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม

กิจกรรมของหอภาพยนตร์

งานอนุรักษ์ภาพยนตร์

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ของประเทศไทยนั้น นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำหน้าที่เก็บรักษาและดูแลภาพยนตร์ของทั้งประเทศและมีหน้าที่ซับซ้อนทุกมิติของหอภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยหอภาพยนตร์ได้มี หน่วยกู้หนัง เป็นปฏิบัติการเชิงรุกของงานอนุรักษ์ เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วของ หอภาพยนตร์ ที่จะคอยสืบเสาะแสวงหาและไปให้ถึงฟิล์ม ภาพยนตร์ สื่อโสตทัศน์ และสิ่งเกี่ยวเนื่อง ที่ยังคงหลงเหลือ และตกค้างกระจายอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาอนุรักษ์ ให้ทันท่วงที เพราะมรดกภาพยนตร์เหล่านั้นอาจจะกำลังเสื่อมสภาพ หรือใกล้สูญสลายไปตามกาลเวลา เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลเก็บรักษาที่ถูกวิธี

ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี

ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี เป็นห้องสมุดที่เปิดให้บริการค้นคว้าหนังสือ วารสาร รูปถ่าย สิ่งพิมพ์โฆษณา งานวิจัย บทความวิชาการ และสื่อโสตทัศน์ที่เกี่ยวกับภาพยนตร์

พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดตั้ง พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย จัดแสดง 3 หัวเรื่อง คือ นิทรรศการ 100 ปี ภาพยนตร์ในประเทศไทย หอเกียรติยศ และนิทรรศการขบวนการผลิตภาพยนตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ที่ใช้ในการถ่ายทำ อุปกรณ์ประกอบฉาก โปสเตอร์ รูปถ่าย ฯลฯ

โรงภาพยนตร์

โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา เป็นโรงภาพยนตร์ชุมชนแห่งแรก ขนาด 121 ที่นั่ง จัดฉายภาพยนตร์ทั่งที่หอภาพยนตร์สะสมไว้และที่จัดหามาจากทั่วโลก และเป็นสถานที่จัดกรรมกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มีโปรแกรมฉายภาพยนตร์เป็นประจำทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

ลานดารา

เป็นลานสำหรับยกย่องให้เกียรติแก่ดาราภาพยนตร์ไทย โดยเชิญมาประทับรอยมือรอยเท้า สลักชื่อ และวันที่ บนลานดาราหน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ซึ่งลอกแบบมาจาก Chinese Theatres ฮอลลีวูด เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แฟนภาพยนตร์และผู้สนใจมารำลึก

โครงการโรงหนังโรงเรียน

หอภาพยนตร์ได้จัดให้โรงภาพยนตร์ศรีศาลายาเป็นโรงหนังสำหรับนักเรียนจากทุกโรงเรียนในนครปฐมนำนักเรียนมาชม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การชมภาพยนตร์ในฐานะเป็นมหรสพ สื่อสาร และงานศิลป์

สถานที่ใกล้เคียงกับหอภาพยนตร์

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. กระทรวงวัฒนธรรม, รายงานประจำปี 2564 กระทรวงวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๗๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. ประวัติ หอภาพยนตร์แห่งชาติ
  4. "พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-09-01.
  5. พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2552

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya