Share to:

 

คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Faculty of Agriculture, Kasetsart University
คติพจน์เป็นองค์การที่เป็นเลิศด้านการเกษตรในเอเชีย และเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรเขตร้อน
สถาปนา2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486; 81 ปีก่อน (2486-02-02)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณบดีรศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย
ที่อยู่
50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
สี  สีเหลืองข้าวโพด[1]
เว็บไซต์www.agr.ku.ac.th

คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคณะเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในจัดการเรียนการสอนในด้านการเกษตรของประเทศไทย ภายหลังได้แยกการบริหารงานเพื่อความคล่องตัวเป็น 2 แห่ง คือ คณะเกษตร (ตั้งอยู่ ณ วิทยาเขตบางเขน) และ คณะเกษตร กำแพงแสน

ประวัติ

คณะเกษตร เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการโอนกิจการของกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากกรมเกษตร มาดำเนินการตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2486 เมื่อแรกก่อตั้งมีชื่อว่า "คณะเกษตรศาสตร์" ตามพระราชกฤษฎีกา จัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2486 โดยแบ่งกิจการออกเป็น 5 แผนก คือ แผนกวิชาเกษตรศาสตร์ แผนกวิชาสัตวบาล แผนกวิชาเคมี แผนกวิชากีฏวิทยาและโรคพืช และแผนกวิชาวิศวกรรมเกษตร[2]

หลังจากการจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์อย่างเป็นทางการ ได้มีการเปิดแผนกชีววิทยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แผนก และเปลี่ยนชื่อแผนกเคมีเป็นแผนกฟิสิกส์และเคมี ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2495 ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 คณะเกษตรศาสตร์ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท คือ หลักสูตรปริญญากสิกรรมและสัตวบาลมหาบัณฑิต สาขาวิชาเอกสัตวบาล ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก คณะเกษตรศาสตร์ เป็น "คณะกสิกรรมและสัตวบาล" และเพิ่มแผนกเคหเศรษฐศาสตร์ขึ้นอีก 1 แผนก และได้เปลี่ยนชื่อแผนกฟิสิกส์และเคมีเป็นแผนกเคมีตามเดิม

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2509 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัย ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2509 จึงได้เปลี่ยนชื่อคณะกสิกรรมและสัตวบาล เป็น "คณะเกษตร" และแบ่งส่วนราชการใหม่เป็น 8 ภาควิชา ดังนี้

  1. ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช
  2. ภาควิชาเกษตรกลวิธาน (เดิมชื่อแผนกวิชาเกษตรวิศวกรรม)
  3. ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ (เดิมชื่อแผนกวิชาเคหเศรษฐศาสตร์)
  4. ภาควิชาพืชศาสตร์ (เดิมชื่อแผนกวิชาเกษตรศาสตร์)
  5. ภาควิชาสัตวบาล
  6. ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร (เป็นแผนกวิชาใหม่)
  7. ภาควิชาเกษตรนิเทศ (เป็นแผนกวิชาใหม่)
  8. ภาควิชาปฐพีวิทยา (เป็นแผนกวิชาใหม่)

ต่อมาในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2518 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ได้แยกภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืชเป็นภาควิชากีฏวิทยา และภาควิชาโรคพืช และยุบเลิกภาควิชาพืชศาสตร์ โดยจัดตั้งเป็น 2 ภาควิชาใหม่ คือ ภาควิชาพืชไร่นา กับ ภาควิชาพืชสวน

คณะเกษตรได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรปริญญาเอกเป็นครั้งแรก ในปีการศึกษา พ.ศ. 2521 ใน สาขากีฏวิทยา และ สาขาปฐพีวิทยา เป็นต้นมา และต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ได้เริ่มดำเนินกิจกรรม การเรียนการสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็น วันเปิดเรียนภาคปลาย ปีการศึกษา 2521 โดยเริ่มให้นิสิตปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 และ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ไปเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน

ในปี พ.ศ. 2523 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ได้ย้ายภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร จากคณะเกษตรไปสังกัดคณะอุตสาหกรรมเกษตร โดยตั้งชื่อใหม่เป็น ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ต่อมา พ.ศ. 2527 มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยเรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2527 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 ได้กำหนดให้มีภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตรในคณะเกษตร ดังนั้นคณะเกษตรจึงมีภาควิชาทั้งหมด 9 ภาควิชา มาจนถึงปัจจุบัน

ปีการศึกษา 2528 คณะเกษตรได้มีนโยบายให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ไปศึกษา ณ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยไม่ต้องศึกษาวิชาพื้นฐานในชั้นเรียนปีที่ 1 และ 2 ณ วิทยาเขตบางเขน โดยเริ่มต้นศึกษา ณ วิทยาเขตกำแพงแสนในชั้นปีที่ 1

ปี พ.ศ. 2538 ได้ย้ายนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ไปเริ่มต้นการศึกษาในชั้นปีที่ 1 ณ วิทยาเขตกำแพงแสนได้สมบูรณ์

ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2546 มีประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้แยกคณะเกษตรเป็น 2 คณะคือ คณะเกษตร และ คณะเกษตร กำแพงแสน

หน่วยงาน

ภาควิชา สำนัก สถาบัน และศูนย์ ภายในคณะเกษตร

หน่วยงานภายในคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาควิชา หน่วยงานวิจัย พัฒนา และสนับสนุน

หลักสูตร

หลักสูตรคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ)

  • สาขาวิชาการจัดการศัตรูพืชและสัตว์
  • สาขาวิชาเกษตรเขตร้อน (ภาคปกติและหลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาเกษตรกลวิธาน
  • สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์
    • แขนงวิชาอาหารและโภชนาการ
    • แขนงวิชาศิลปสัมพันธ์
    • แขนงวิชาพัฒนาครอบครัวและเด็ก
    • แขนงวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • สาขาวิชาเคมีการเกษตร
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เกษตร
    • แขนงวิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร
    • แขนงวิชาวิทยาศาสตร์ด้านพืชไร่
    • แขนงวิชากีฏวิทยา
    • แขนงวิชาพืชสวน
    • แขนงวิชาโรคพืช
    • แขนงวิชาปฐพีวิทยา
  • สาขาวิชาสัตวศาสตร์อุตสาหกรรม

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม)

  • สาขาวิชาการสื่อสารเพื่อการพัฒนา (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชากีฏวิทยา
  • สาขาวิชาเกษตรเขตร้อน (ภาคปกติ ภาคพิเศษ และหลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาเกษตรยั่งยืน (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบเกษตร
  • สาขาวิชาปฐพีวิทยา
  • สาขาวิชาพลังงานชีวภาพ
  • สาขาวิชาพืชไร่
  • สาขาวิชาพืชสวน
  • สาขาวิชาโรคพืช
  • สาขาส่งเสริมและการจัดการนวัตกรรมเกษตร (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาสัตวศาสตร์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชากีฏวิทยา
  • สาขาวิชาเกษตรเขตร้อน (ภาคปกติและหลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาปฐพีวิทยา
  • สาขาวิชาพืชไร่
  • สาขาวิชาพืชสวน
  • สาขาวิชาโรคพืช
  • สาขาวิชาสัตวศาสตร์

ทำเนียบคณบดี

ทำเนียบคณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายพระนามและรายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พระช่วงเกษตรศิลปการ พ.ศ. 2488 - พ.ศ. 2491
2. หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี จันทรสถิตย์) พ.ศ. 2491 - พ.ศ. 2498
3. หลวงสมานวนกิจ พ.ศ. 2498 - พ.ศ. 2499
4. ศาสตราจารย์ จรัด สุนทรสิงห์ พ.ศ. 2499 - พ.ศ. 2509
5. ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด คติการ พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2511
6. หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2512
7. ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร พ.ศ. 2512 - พ.ศ. 2513
8. ศาสตราจารย์ ปวิณ ปุณศรี พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2517
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บรรเจิด บุญซึ่ง พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2521
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณ จันทนโอ พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2525
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสาน ยิ่งชล พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2529
12. รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ วังใน พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2537
13. ศาสตราจารย์ ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2541
14. ศาสตราจารย์ ดร.ศุภมาศ พนิชศักดิ์พัฒนา พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2545
15. ศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ สมมาตย์ พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2549
16. รองศาสตราจารย์ ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2556
17. รองศาสตราจารย์ ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2564
18. รองศาสตราจารย์ ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้าพระนามและนามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้าพระนามและนามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น[3]

อันดับและมาตรฐาน

ARWU Global Ranking of Academic Subjects
Global
ARWU Agricultural Sciences 401-500 (2020)[4]
401-500 (2019)[5]
301-400 (2018)[6]
301-400 (2017)[7]
QS World University Rankings by Subject
Global – Life sciences and medicine
QS Agriculture and Forestry 53 (2022)[8]
63 (2021)[9]
51-100 (2020)[10]
51-100 (2019)[11]
40 (2018)[12]
29 (2017)[13]
47 (2016)[14][15]
39 (2015)[16]
48 (2014)[17]
33 (2013)[18]
U.S. News & World Report
Global
USNWR Agricultural Sciences 171 (2021)[19]
161 (2020)
USNWR Plant and Animal Science 237 (2021)[20]
236 (2020)

ผลการจัดอันดับแยกตามสาขา ARWU Global Ranking of Academic Subjects [21]พบว่าคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกในกลุ่ม Life Sciences สาขา Agricultural Sciences อันดับที่ 301-400 ในปี 2017, อันดับที่ 301-400 ในปี 2018, อันดับที่ 401-500 ในปี 2019, และอันดับที่ 401-500 ในปี 2020

ผลการจัดอันดับแยกตามสาขา QS World University Rankings by Subject พบว่าในกลุ่ม Life sciences and medicine สาขา Agriculture and Forestry คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลก อันดับที่ 53 ในปี 2022, อันดับที่ 63 ในปี 2021, อันดับที่ 51-100 ในปี 2020, อันดับที่ 51-100 ในปี 2019, อันดับที่ 40 ในปี 2018, อันดับที่ 29 ในปี 2017, อันดับที่ 47 ในปี 2016, อันดับที่ 39 ในปี 2015, อันดับที่ 48 ในปี 2014, และอันดับที่ 33 ในปี 2013 ซึ่งผลการจัดอันดับในปี 2017 นับเป็นอันดับที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยไทยที่เคยได้รับการจัดอันดับจากสถาบันต่างประเทศ

นิตยสาร U.S. News & World Report ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกแยกตามสาขาพบว่าคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้ติดอันดับโลกในสาขา Agricultural Sciences และสาขา Plant and Animal Science

โดยในสาขา Agricultural Sciences ปี 2020 อยู่ในอันดับที่ 161 ของโลก, ปี 2021 อยู่ในอันดับที่ 171 ของโลก และในสาขา Plant and Animal Science ปี 2020 อยู่ในอันดับที่ 236 ของโลก, ปี 2021 อยู่ในอันดับที่ 237 ของโลก

บุคคลสำคัญของคณะฯ และ บุคคลที่มีชื่อเสียง

อัตลักษณ์

  • สีประจำคณะ : สีเหลืองข้าวโพด [22]

อ้างอิง

  1. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๖ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
  2. คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติคณะเกษตร เก็บถาวร 2018-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2018-07-29
  3. คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเนียบคณบดี เก็บถาวร 2018-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2018-07-29
  4. "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2020 - Agricultural Sciences - Kasetsart University". ShanghaiRanking Consultancy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  5. "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2019 - Agricultural Sciences - Kasetsart University". ShanghaiRanking Consultancy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  6. "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2018 - Agricultural Sciences - Kasetsart University". ShanghaiRanking Consultancy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  7. "ShanghaiRanking's Global Ranking of Academic Subjects 2017 - Agricultural Sciences - Kasetsart University". ShanghaiRanking Consultancy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 15 January 2021.
  8. "QS World University Rankings by Subject 2022 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 20 April 2022.
  9. "QS World University Rankings by Subject 2021 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 5 March 2021.
  10. "QS World University Rankings by Subject 2020 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  11. "QS World University Rankings by Subject 2019 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  12. "QS World University Rankings by Subject 2018 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  13. "QS World University Rankings by Subject 2017 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  14. "QS World University Rankings by Subject 2016 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  15. "QS World University Rankings by Subject 2016 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University" (PDF). Stang Mongkolsuk Library & Information Division. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  16. "QS World University Rankings by Subject 2015 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  17. "QS World University Rankings by Subject 2014 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  18. "QS World University Rankings by Subject 2013 - Agriculture & Forestry - Kasetsart University". QS Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2020-03-05.
  19. "Best Global Universities for Agricultural Sciences 2021 - Kasetsart University". U.S. News & World Report. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
  20. "Best Global Universities for Plant and Animal Science 2021 - Kasetsart University". U.S. News & World Report. สืบค้นเมื่อ 2020-11-09.
  21. ARWU Global Ranking of Academic Subject เก็บถาวร 2021-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-02-03
  22. ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๙ ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๑๓ มิ.ย. ๒๕๕๙ เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๓๔ ง หน้า ๖ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya