Share to:

 

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
Yala Rajabhat University
ตราพระราชลัญจกร
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ชื่อย่อมรย. / YRU
คติพจน์พลังปัญญาพัฒนาชายแดนใต้
วิสัยทัศน์คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา15 มิถุนายน พ.ศ. 2547; 20 ปีก่อน (2547-06-15)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ493,733,500 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาฯรองศาสตราจารย์ ช่วงโชติ พันธุเวช
อธิการบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศิริชัย นามบุรี (รักษาราชการแทน)
อาจารย์304 คน (พ.ศ. 2566)[2]
บุคลากรทั้งหมด620 คน (พ.ศ. 2566)[2]
ผู้ศึกษา9,293 คน (พ.ศ. 2566)[2]
ที่ตั้ง
เลขที่ 133 ถนนเทศบาล 3 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา 95000
เพลงมาร์ชราชภัฏยะลา
ต้นไม้จันทน์กะพ้อ
สี████ สีชมพู สีเทา
พื้นที่บริการหลักจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (อังกฤษ: Yala Rajabhat University) ก่อตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ตั้งปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547[3]


[4]เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มุ่งสู่การเปลี่ยนเเปลงเป็น มหาวิทยาลัยยะลา ในอนาคตหากสภามหาวิทยาลัยมีมติออกจากระบบกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ เนื่องจากรัฐจัดสรรงบน้อยกว่ามหาวิทยาลัยกำกับรัฐ[มหาวิทยาลัยราชภัฏออกระบบ 1]

ประวัติมหาวิทยาลัย

ยุคโรงเรียนฝึกหัดครู (พ.ศ. 2477-2505)

  • 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 เริ่มก่อตั้งเป็นโรงเรียนอาชีพประจำจังหวัด ตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ที่หมู่บ้านมลายูบางกอก ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาเป็นผู้ตั้ง ใช้เงินศึกษาพลี (เงินศึกษาพลี เป็นเงินที่รัฐเก็บจากชายไทยอายุ 18–60 ปี เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการจัดการศึกษา)เป็นค่าก่อสร้างสถานที่เป็นเงิน 2,000 บาท ดำรงโรงเรียนตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาพุทธศักราช 2464 เปิดสอนในระดับสอนชั้นประถมปีที่ 4 และประโยคประถมบริบูรณ์ คือชั้นประถมปีที่ 6 ในสมัยนั้น
  • 17 พฤษภาคม 2478 ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ข้างวัดพุทธภูมิ คือ ส่วนของบริเวณที่เป็นโรงเรียนคณะราษฎรบำรุงจังหวัดยะลาในปัจจุบันนี้ การย้ายโรงเรียนครั้งนี้ ด้วยสาเหตุ คือ ที่ตั้งโรงเรียนเดิม คือที่มลายูบางกอกเป็นเนินสูง ไม่เหมาะแก่การฝึกหัดภาคปฏิบัติ คือการทำสวนปลูกผักในสมัยนั้น ซึ่งมีพระภูมิพิชัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
  • พ.ศ. 2477 จัดตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นต้นปีที่ 1-2
  • พ.ศ. 2478 จัดเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร 2 ชั้น คือ ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 นักเรียนสอบไล่ได้ ป.5 เป็นนักเรียนปีที่ 1 นักเรียนที่สอบไล่ได้ ป. 6 เป็นนักเรียนปีที่ 2 และมี ประถม เกษตรกรรมปีที่ 1,2 รวมอยู่ด้วย
  • 22 สิงหาคม 2480 ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่โรงเรียนอนุบาลซึ่งได้ปลูกสร้างสถานที่ขึ้นใหม่ (โรงเรียนอนุบาลสมัยนั้นอยู่บริเวณที่ตั้งของวิทยาลัยเทคนิคยะลาในปัจจุบัน)
  • วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2481 โอนชั้นประถมเกษตรกรรมไปขึ้นกับเทศบาลเมืองยะลายังคงเหลือแต่ชั้นฝึกหัดครู ปีการศึกษา 2482 ไม่มีนักศึกษามาสมัครเรียนเลย โรงเรียนต้องปิดตลอดปีการศึกษา 2482 วันที่ 17 พฤษภาคม 2483 เริ่มเปิดทำการสอนใหม่เป็นมัธยมพิเศษ เริ่มสอนปีที่ 1 แล้วปีต่อมาคือปี พ.ศ. 2484 ขยายถึงชั้นปีที่ 3
  • พ.ศ. 2486 เปลี่ยนเรียกชื่อ ม.1-2-3 พิเศษ เป็นชั้นฝึกหัดครูประชาบาล (ป.ป.)ปีที่ 1-2-3 วันที่ 15 ธันวาคม 2486 ย้ายโรงเรียนไปตั้งที่สะเตง ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเดิม โดยกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงคมนาคม โอนเงินชดใช้ 10,000 บาท ให้แก่แผนกมหาดไทย ทางแผนกมหาดไทยโอนกรรมสิทธิ์อาคารต่าง ๆ ให้แก่โรงเรียนฝึกหัดครู [5]คือ
  1. ที่ทำการอำเภอเมืองยะลา 1 หลัง
  2. ศาลากลางจังหวัด 1 หลัง (หอธรรมศักดิ์มนตรี)
  3. ที่ทำการแผนกศึกษาธิการ 1 หลัง
  4. สโมสรเสือป่า 1 หลัง
  5. จวนข้าหลวงประจำจังหวัด 1 หลัง
  6. ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข 1 หลัง
  • พ.ศ. 2493 เปิดชั้นฝึกหัดครูมูล รับนักเรียนที่สอบไล่ได้ ม.6 เข้าเรียนตามหลักสูตร 1 ปี และยุบเลิกชั้น ป.ป. ปีที่ 1
  • พ.ศ. 2494 เปิดชั้นฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดปีที่ 1 ยุบเลิกชั้น ป.ป. ปีที่ 2
  • พ.ศ. 2498 ยุบเลิกชั้นประถมประโยคครูมูล เปิดชั้นฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาปีที่ 1 ยุบเลิกชั้น ว. ปีที่ 1
  • พ.ศ. 2499 เปิดชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาปีที่ 2 ยุบเลิกชั้นประโยคครูมูลและเปิดสอนชั้นประกาศนียบัตรวิชาการเรื่อยมา
  • พ.ศ. 2504 โรงเรียนฝึกหัดครูยะลา ได้ย้ายมาจากศาลากลางเก่าที่สะเตง มาอยู่ที่ปัจจุบันได้ก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง หอนอน 1 หลัง และโรงอาหารชั่วคราว 1 หลัง และยังใช้สถานที่เดิมอยู่ด้วยเพราะสถานที่สร้างใหม่ไม่เพียงพอ ที่สถานที่ปัจจุบันนี้ ฯ พณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแผนผังของสถาบันราชภัฏไว้ไห้ ตั้งแต่เมื่อแรกที่ได้ที่ดินมาดำเนินการก่อสร้าง

ยุควิทยาลัยครู (พ.ศ. 2505-2538)

  • พ.ศ. 2505 กรมการฝึกหัดครู ประกาศยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูยะลาเป็นวิทยาลัยครูยะลาและในปีการศึกษา 2506 ได้เปิดชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงเป็นรุ่นแรก และขยายการเปิดสอนชั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ปกศ.)ชั้นสูง วิชาเอกต่าง ๆ
  • พ.ศ. 2509 วิทยาลัยครูยะลาได้รับเงินงบประมาณดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ ทำให้เป็นสถานศึกษาสมบูรณ์ มีอาคารสถานที่พร้อมทั้งอาคารเรียน หอนอนหญิง หอนอนชาย หอประชุม บ้านพักครู โรงครัว ตลอดจนการสาธารณูปโภคภายในวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2518 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอน 48 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 ฉบับพิเศษ เรื่อง "พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518" มีผลทำให้วิทยาลัยครูทั่วประเทศ สามารถเปิดสอนถึงระดับปริญญา วิทยาลัยครูภัฏยะลาได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีรุ่นแรก สาขาวิชาบังคับเอกภาษาอังกฤษและวิชาโทภาษาไทย และได้ทำการเปิดสอนมาตามลำดับ ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนหลายวิชาเอกและวิชาโท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ(ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2527 ในขณะนั้น
  • พ.ศ. 2528 ได้ขยายหลักสูตรเปิดสอนวิชาการในสาขาต่าง ๆ ตามความต้องการของท้องถิ่น เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาศิลปศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ วิชาเอกวารสารและการประชาสัมพันธ์ สาขาศิลปกรรมและศิลปประยุกต์ วิชาเอกออกแบบประยุกต์ศิลป หลักสูตรอนุปริญญาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ วิชาเอกการอาหาร
  • พ.ศ. 2529 ขยายหลักสูตรอนุปริญญาศิลปศาสตร์ เปิดสอนสาขาวิชาดนตรีและ ศิลปการแสดง วิชาเอกนาฎศิลป์และการศิลปการแสดง
  • พ.ศ. 2530 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาศิลปะศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน
  • พ.ศ. 2531 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชา การจัดการทั่วไป
  • พ.ศ. 2532 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (วท.บ) โปรแกรมวิชา สุขศึกษา
  • พ.ศ. 2534 เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (อ.วท.) โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์
  • พ.ศ. 2535 เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาสาขาวิทยาศาสตร์ (อ.วท.) โปรแกรมวิชาเคมีปฏิบัติ
  • พ.ศ. 2535 เปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญาสาขาศิลปศาสตร์ (อ.ศศ.) โปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ โปรแกรมวิชาธุรกิจการท่องเที่ยว

ยุคสถาบันราชภัฏยะลา (พ.ศ. 2538-2547)

  • 14 กุมภาพันธ์ 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามสถาบันว่า "สถาบันราชภัฏ" แทนวิทยาลัยครู จึงถือเอา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันราชภัฏ" สืบต่อมา โดยใน วันที่ 24 มกราคม 2538 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 4 ก. "พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ" พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูยะลา จึงมีนามใหม่ว่า "สถาบันราชภัฏยะลา" ซึ่งมีผลทำให้สถาบันสามารถเปิดสอนในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีได้
  • พ.ศ. 2538 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาการบริหารธุรกิจ
  • พ.ศ. 2539 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชา ศิลปกรรม
  • พ.ศ. 2540 เปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต)
  • พ.ศ. 2541 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชา รัฐประศาสนศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์
  • พ.ศ. 2542 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาภาษาไทยและเปิดสอนโครงการการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ศูนย์แม่ลาน รุ่นที่ 3
  • พ.ศ. 2543 เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 1
  • พ.ศ. 2544 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษาโครงการ การศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น(กศ.พท.) รุนที่ 4 และนักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 16 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2544
  • พ.ศ. 2545 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.พท. รุ่นที่ 5 นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 17 และนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 2
  • พ.ศ. 2546 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.พท. รุ่นที่ 6 นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 18 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2546
  • พ.ศ. 2547 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 19 รับนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 3 และเปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร มหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 1

ยุคมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (15 มิถุนายน 2547-ปัจจุบัน)

  • 15 มิถุนายน 2547 สถาบันราชภัฏยะลา (ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2537) ยกฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 โดยกำหนดปรัชญาและวัตถุประสงค์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 41 แห่ง ตามพระราชบัญญัติใน "มาตรา 7 ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ใ ห้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู"
  • พ.ศ. 2547 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 19 รับนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 3 และเปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร มหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 1
  • พ.ศ. 2548 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 20 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2548
  • พ.ศ. 2549 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 21 รับนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา รุ่นที่ 4 และนักศึกษาหลักสูตร ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 2
  • พ.ศ. 2550 รับนักศึกษาภาคปกติ นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 22 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2550
  • พ.ศ. 2551 รับนักศึกษาภาคปกติ เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2551 นักศึกษา กศ.บป. รุ่นที่ 23 เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2551
  • พ.ศ. 2552 รับนักศึกษาภาคปกติ เข้าศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2552 รับนักศึกษา นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา รุ่นที่ 3 และเปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
  • พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาภาคปกติและภาคพิเศษ ในระดับปริญญาตรี ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และระดับปริญญาโท รวมทั้งสิ้น 39 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี 26 หลักสูตร ปริญญาตรี 5 ปี 6 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร และปริญญาโท 5 หลักสูตร และมีจำนวนนักศึกษาทุกระดับทั้งภาคปกติและภาคพิเศษทั้งหมด 7,600 คน จำแนกเป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ 2,590 คน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 1,424 คน คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร 2,187 คน และคณะวิทยาการ จัดการ 1,399 คน [6]
  • พ.ศ. 2554 ทุกหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรใหม่หรือปรับปรุงหลักสูตรเดิมที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีในทุกหลักสูตรให้เข้าตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2552 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับใช้จัดการศึกษาในปีการศึกษา 2555 ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • พ.ศ. 2555 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรใหม่เพื่อรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2555 ในระดับปริญญาตรี จำนวน 26 หลักสูตร จากทั้ง 4 คณะ คือคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยแยกเป็น
-หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ได้แก่ สาขาเกษตรศาสตร์ จุลชีววิทยา ชีววิทยา เคมี วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร วิทยการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ
-หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ได้แก่ สาขาภาษาจีน ภาษาไทย ภาษามลายู การพัฒนาชุมชน ภาษาอังกฤษ
-หลักสูตรศิลปบัณฑิต (ศ.บ.) ได้แก่ สาขาออกแบบนวัตกรรมทัศนศิลป์
-หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) ได้แก่ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ การจัดการทั่วไป การตลาด การบัญชี
-หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา การศึกษาปฐมวัย
สำหรับในปีการศึกษา 2555 นี้ เป็นปีที่ สมศ. (สำนักประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก ) เข้าตรวจประเมินคุณภาพการจัดการศึกษามหาวิทยาลัยและหน่วยงานระดับคณะหรือเทียบเท่า รอบ 3 ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2555 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและหน่วยงานระดับคณะมีความพร้อมในการรับการตรวจประเมินครั้งนี้ โดยมีคณะกรรมตรวจประเมินจาก สมศ. จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ พล.ต.ต.ดร.เกียรติพงษ์ มีเพียร ประธานกรรมการ รองศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ ปานมณี กรรมการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุสรณ์ จิตมนัส กรรมการและเลขานุการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการเมินอย่างเป็นทางการ ภาพประกอบบรรยากาศขณะเข้าประเมินคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการ'เกษตร[ลิงก์เสีย]
  • พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดการเรียนการสอนเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อม เป็นหลักสูตรแรก โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิต เรืองแป้น เป็นประธานหลักสูตร (ในขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทตโนโลยีและการเกษตร) จัดการเรียนการสอนภายใต้การกำกับของภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ซึ่งมีอาจารย์แพรวศรี เดิมราช ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาในขณะนั้น โดยในรุ่นแรกรับนักศึกษาภาคปกติ จำนวน 5 คน และรับนักศึกษาภาคเสาร์-อาทิตย์ จำนวน 6 คน
  • พ.ศ. 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดงาน "90 ปี มรย.วิทยาลัยครูสู่ราชภัฏ คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี ของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมีประวัติความเป็นมา 4 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 โรงเรียนฝึกหัดครูยะลา (พ.ศ.2547-2505) ยุคที่ 2 วิทยาลัยครูยะลา (พ.ศ. 2505-2537) ยุคที่ 3 สถาบันราชภัฏยะลา (พ.ศ. 2538-2547) และยุคที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน) มีฐานะเป็นนิติบุคคลและครบรอบ 20 ปี ในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ในการจัดงานครั้งนี้ เริ่งจัดงานตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ ได้แก่
    • เย็นวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 งาน "ศิษย์เก่าสัมพันธ์ วิทยาลัยครุ-ราชภัฏ" จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครู-ราชภัฏยะลา ในงานเชิญศิษย์เก่าร่วมงานกว่า 1,000 คน งานนี้ได้เรียนเชิญอดีตอธิการบดี 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.วิชิต หลักทรัพย์ ผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ และ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ รวมทั้งรักษาราชการแทนอธิการบดีคนปัจจุบัน ผศ.ดร.ศิริชัย นามบุรี พร้อมทั้งเป็นครั้งแรกที่เรียนเชิญอดีตทั้งผู้บริหารส่วนราชการ คณาจารย์ผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการได้กลับมาร่วมงานและให้โอกาสบรรดาลูกศิษย์ได้จัดกิจกรรมแสดงมุทิตาจิตด้วยความรักเคารพและผูกพัน
    • เช้าวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 งานวิ่ง "เดินวิ่งชมเมือง เล่าเรื่องราชภัฏ" ระยะ 3.3 กม. และระยะ 6.5 กม. เส้นทางในเขตเทศบาลนครยะลา โดยมีศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ร่วมวิ่งครั้งนี้กว่า 4,000 คน ระหว่างเส้นทางวิ่ง มีนักศึกษาแต่ละหลักสูตรของมหาวิทยาลัยจัดซุ้มต้อนรับ ประชาสัมพันธ์หลักสูตร และให้กำลังใจนักวิ่งตลอดเส้นทาง สร้างความสุข สนุกสนาน
    • คืนวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 งานต้อนรับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่ง เพื่อร่วมประชุม "ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.)" ที่กำหนดให้มีการประชุมในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในที่ประชุม นับเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ทปอ.มรภ.
    • วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 พิธีเปิดงาน " 90 ปี มรย.วิทยาลัยครูสู่ราชภัฏ คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ กล่าวต้อนรับ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช นายากสภามหาวิทยาลัยฯ โดยในพิธีเปิดมีผู้มีเกียรติทั้งอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่ง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างประเทศ สมาคมศิษย์เก่าฯ ผู้นำนักศึกษ และตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 400 คน

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

ตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
  • สีประจำมหาวิทยาลัย สีชมพู – เทา โดยความหมายของสีต่างๆ ที่อยู่ในตรามหาวิทยาลัย มีความหมาย ดังนี้
    • สีชมพู เป็นสีของความรัก หมายถึง การรู้รัก – สามัคคีของคนในองค์กร
    • สีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึงความคิด การไตร่ตรอง การใช้เหตุผล

ดังนั้น สีชมพู – เทา จึงหมายถึง การมีความคิด รู้จักไตร่ตรอง และการอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคี นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่องค์กร

ต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย ต้นจันทน์กะพ้อและดอกจันทน์กะพ้อ ซึ่่งเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.) เปรียบได้กับบัณฑิตของมหาวิทยาลัยที่เป็นเมล็ดพันธ์แห่งความดีที่ทรงคุณค่า สง่างาม และแข็งแกร่ง บัณฑิตลูกจันทน์กะพ้อได้รับการบ่มเพาะให้ถึงพร้อมด้วยจริยธรรม วินัยในตนเอง มีความอดทน และสามารถปรับตัวได้ในทุกสถาณการณ์ เปี่ยมไปด้วยพลังที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่นยืนให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และประเทศชาติสืบต่อไป[7]

หน่วยงานภายใน

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๒๗, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. 2.0 2.1 2.2 รายงานประจำปี 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
  3. ไกรสร ศรีไตรรัตน์. ระบบ กลไกและยุทธศาสตร์ สู่มหาวิทยาลัยคุณภาพและทันสมัยภายใต้อุดมการณ์ราชภัฏ. ยะลา: เอกสารนำเสนอการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับกลาง ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา,2554.
  4. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. คู่มือนักศึกษา 2548. ยะลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา,หน้า 5.
  5. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. คู่มือนักศึกษา 2548. ยะลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา,หน้า 5.
  6. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา.รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในปีการศึกษา 2553. ยะลา: สำนักงานประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา,2553.
  7. "มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา : เกี่ยวกับเรา มรย". yru.ac.th.


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "มหาวิทยาลัยราชภัฏออกระบบ" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="มหาวิทยาลัยราชภัฏออกระบบ"/> ที่สอดคล้องกัน

Kembali kehalaman sebelumnya