Share to:

 

เจียง เจ๋อหมิน

เจียง เจ๋อหมิน
江泽民
เจียงใน ค.ศ. 2002
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
24 มิถุนายน ค.ศ. 1989 – 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002
ก่อนหน้าจ้าว จื่อหยาง
ถัดไปหู จิ่นเทา
ประธานาธิบดีจีน
ดำรงตำแหน่ง
27 มีนาคม ค.ศ. 1993 – 15 มีนาคม ค.ศ. 2003
หัวหน้ารัฐบาล
รองประธานาธิบดี
ก่อนหน้าหยาง ช่างคุน
ถัดไปหู จิ่นเทา
ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
    • คณะกรรมการพรรค:
    9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 – 19 กันยายน ค.ศ. 2004
    • คณะกรรมการรัฐ:
    19 มีนาคม ค.ศ. 1990 – 8 มีนาคม ค.ศ. 2005
รอง
ดูรายชื่อ
ก่อนหน้าเติ้ง เสี่ยวผิง
ถัดไปหู จิ่นเทา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด17 สิงหาคม ค.ศ. 1926(1926-08-17)
หยางโจว มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิต30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022(2022-11-30) (96 ปี)
เขตจิ้งอาน เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน
คู่สมรสหวัง เย่ผิง (สมรส 1949)
ความสัมพันธ์เจียง เหมียนเหิง (บุตรชาย)
ศิษย์เก่า
อาชีพนักการเมือง
วิชาชีพวิศวกรไฟฟ้า
รางวัลรายการทั้งหมด
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ江泽民
อักษรจีนตัวเต็ม江澤民
การเป็นสมาชิกสถาบันกลาง
  • 1989–2002: คณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองชุดที่ 13, 14, 15
  • 1989–2005: คณะกรรมการการทหารส่วนกลางชุดที่ 13, 14, 15, 16
  • 1987–2002: กรมการเมืองชุดที่ 13, 14, 15
  • 1983–2002: คณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 12, 13, 14, 15
  • 1988–2008: สภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 7, 8, 9, 10, 11

ตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ
  • 1987–89: เลขาธิการคณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้
  • 1984–87: นายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้
  • 1983–85: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

ผู้นำสูงสุดของ
สาธารณรัฐประชาชนจีน

เจียง เจ๋อหมิน (จีน: 江泽民; พินอิน: Jiāng Zémín; 17 สิงหาคม ค.ศ. 1926 – 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022) เป็นนักการเมืองชาวจีนที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ถึง 2002 ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ถึง 2004 และประธานาธิบดีจีนตั้งแต่ ค.ศ. 1993 ถึง 2003 เจียงเป็นผู้นำสูงสุดคนที่สามของจีนตั้งแต่ ค.ศ. 1989 ถึง 2002 เขาเป็นผู้นำแกนหลักของผู้นำจีนรุ่นที่สาม หนึ่งในผู้นำแกนหลักทั้งสี่คนร่วมกับเหมา เจ๋อตง, เติ้ง เสี่ยวผิง และสี จิ้นผิง

เขาเกิดในหยางโจว มณฑลเจียงซู เจียงเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนขณะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 เขาได้รับการฝึกอบรมที่โรงงานสตาลินออโตโมบิลเวิกส์ในมอสโก ต่อมาใน ค.ศ. 1962 เขากลับมายังเซี่ยงไฮ้และดำรงตำแหน่งในสถาบันต่าง ๆ และในช่วง ค.ศ. 1970 ถึง 1972 เขาถูกส่งไปโรมาเนียในฐานะสมาชิกคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักรในประเทศนั้น หลัง ค.ศ. 1979 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสองคณะโดยรองนายกรัฐมนตรี กู่ มู่ เพื่อดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ในปี ค.ศ. 1982 เขาดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่และสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจียงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. 1985 ต่อมาถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ และเป็นสมาชิกกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 1987 เจียงขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่คาดคิดในฐานะตัวเลือกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้หลังเหตุการณ์การประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 โดยเข้ามาแทนที่จ้าว จื่อหยาง ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังถูกปลดจากตำแหน่งเพราะสนับสนุนขบวนการนักศึกษา เมื่ออิทธิพลของ "แปดผู้อาวุโส" ในการเมืองจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง[1] เจียงได้รวบรวมอำนาจของตนจนกลายเป็น "ผู้นำสูงสุด" ของประเทศในคริสต์ทศวรรษ 1990[a] ด้วยแรงผลักดันจากการเยือนภาคใต้ของเติ้ง เสี่ยวผิงใน ค.ศ. 1992 เจียงได้แนะนำคำว่า "เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม" อย่างเป็นทางการในการกล่าวปราศรัยในระหว่างการประชุมใหญ่ครั้งที่ 14 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จัดขึ้นในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการเร่งให้เกิดการ "ปฏิรูปและเปิดประเทศ" อย่างรวดเร็ว

ภายใต้การนำของเจียง จีนประสบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมากพร้อมกับการปฏิรูปตลาดอย่างต่อเนื่อง การส่งมอบฮ่องกงคืนจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1997 และมาเก๊าคืนจากโปรตุเกสใน ค.ศ. 1999 ตลอดจนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกใน ค.ศ. 2001 ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยของเขา ประเทศจีนยังได้เห็นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับโลกภายนอก ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงรักษาอำนาจควบคุมประเทศไว้อย่างเหนียวแน่น เจียงเผชิญกับการวิจารณ์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการปราบปรามขบวนการฝ่าหลุนกง ผลงานของเขาที่มีต่อหลักคำสอนของพรรค ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "สามตัวแทน" ได้ถูกบรรจุไว้ในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 2002 เจียงทยอยสละตำแหน่งผู้นำอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ค.ศ. 2002 ถึง 2004 โดยหู จิ่นเทา ได้เข้ามาสืบทอดตำแหน่งแทน แม้ทั้งเจียงและกลุ่มการเมืองของเขาจะยังคงมีอิทธิพลต่อพรรคและประเทศต่อไปอีกนาน ใน ค.ศ. 2022 เจียงถึงแก่อสัญกรรมในเซี่ยงไฮ้ด้วยวัย 96 ปี และได้รับการจัดรัฐพิธีศพ

ชีวิตช่วงต้น

ภาพถ่ายรับปริญญาของเจียง ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1947

เจียง เจ๋อหมิน เกิดที่เมืองหยางโจว มณฑลเจียงซู เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1926[2] บ้านเกิดบรรพบุรุษของเขาคือหมู่บ้านเจียงชุน (江村) ในอำเภอจิงเต๋อ มณฑลอานฮุย ที่นี่ยังเป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญในแวดวงวิชาการและปัญญาชนของจีนหลายคน[3] เจียงเติบโตขึ้นในช่วงที่ประเทศจีนตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เจียง ช่างชิง ลุงและพ่อบุญธรรมของเขา เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้กับญี่ปุ่นและได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติในสมัยเจียง เจ๋อหมิน[4]: 40  หลังการเสียชีวิตของช่างชิง เจ๋อหมินก็กลายมาเป็นทายาทชายของเขา[5]

เจียงเข้าศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงยัง ในหนานจิงที่ถูกญี่ปุ่นยึดครอง ก่อนจะย้ายไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียวทง (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง) เขาสำเร็จการศึกษาจากที่นั่นใน ค.ศ. 1947 ด้วยปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า[6] เจียงเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเขายังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย[7] หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เจียงได้รับการฝึกอบรมที่โรงงานสตาลินออโตโมบิลเวิกส์ในมอสโกในคริสต์ทศวรรษ 1950[8] นอกจากนี้เขายังทำงานให้กับโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกของฉางชุน[9] เมื่อเจียงมีส่วนร่วมในพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อย ๆ งานหลักของเขาก็เปลี่ยนจากงานทางเทคนิคด้านวิศวกรรมไปเป็นงานบริหารและการเมือง[4]: 140 

อาชีพช่วงต้น

เจียงใน ค.ศ. 1962

ใน ค.ศ. 1962 เขากลับไปยังเซี่ยงไฮ้และดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไฟฟ้าเซี่ยงไฮ้ ใน ค.ศ. 1966 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและรองเลขาธิการพรรคของสถาบันวิจัยวิศวกรรมความร้อนในอู่ฮั่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมจักรกลที่ 1 เมื่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเริ่มต้นขึ้นในปีเดียวกันนั้น เขาไม่ได้ประสบความทุกข์ยากมากนักในช่วงความวุ่นวาย แต่ถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันและถูกส่งตัวไปยังโรงเรียนแกนนำ 7 พฤษภาคม ใน ค.ศ. 1970 หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแกนนำ เขาก็ได้รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานความสัมพันธ์ต่างประเทศของกระทรวงฯ และถูกส่งไปประจำอยู่ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องจักรจำนวน 15 แห่งในประเทศนั้น หลังเสร็จสิ้นภารกิจใน ค.ศ. 1972 เขาได้เดินทางกลับประเทศจีน[10][11]

ใน ค.ศ. 1979 หลังความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเริ่มผ่อนคลายลง เติ้ง เสี่ยวผิงได้ตัดสินใจส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสี่ทันสมัยของเขา[12] คณะมนตรีรัฐกิจของจีนได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีขึ้นสองคณะเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ คณะกรรมการทั้งสองมีรองนายกรัฐมนตรีกู มู่ เป็นประธาน ซึ่งได้แต่งตั้งเจียงให้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการทั้งสอง เทียบเท่ากับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย[13] บทบาทของเจียงคือการทำให้แน่ใจว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้จะเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโดยไม่กลายเป็น "ช่องทาง" สำหรับอุดมการณ์ต่างชาติ[13] ใน ค.ศ. 1980 เจียงนำคณะผู้แทนเดินทางไปศึกษาดูงานเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 12 ประเทศ เมื่อกลับมา เขาเสนอรายงานฉบับหนึ่งที่มีแนวคิดใหม่ซึ่งแนะนำให้หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจลดหย่อนภาษีและให้เช่าที่ดิน รวมถึงเพิ่มอำนาจให้แก่กิจการร่วมค้าต่างชาติ[14] รายงานนี้ทำให้บรรดาผู้นำพรรคเกิดความ "แตกตื่นตกใจ" ในเบื้องต้น แต่การนำเสนอที่เน้นรูปธรรมและเชิงประจักษ์ของเขานั้นได้ดึงดูดความสนใจของเติ้ง เสี่ยวผิง ข้อเสนอของเขาได้รับการอนุมัติจากสภาประชาชนแห่งชาติ ทำให้เจียงเป็น "ผู้บุกเบิก" ในการนำทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิงไปปฏิบัติ[15]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1982 เขาถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการทั้งสองคณะ หลังถูกกดดันจากรองนายกรัฐมนตรีกู่และนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ หวัง เต้าหาน จ้าว จื่อหยาง "นักปฏิรูปผู้กระตือรือร้น" ได้แต่งตั้งเจียงให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการคนแรกและเลขาธิการพรรคประจำกระทรวงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่[16]

ในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1982 เจียงได้กลายเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายและเลือกสมาชิกกรมการเมือง[16]

เซี่ยงไฮ้

ใน ค.ศ. 1985 เกิดการปรับเปลี่ยนทางการเมืองขึ้นในเซี่ยงไฮ้ เลขาธิการพรรคเฉิน กั๋วต้ง และนายกเทศมนตรีหวัง เต้าหาน ถูกปลดจากตำแหน่งด้วยปัญหาเรื่องอายุ กลับกัน รุ่ย ซิ่งเหวินกลายเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ของเซี่ยงไฮ้ และเจียงก็กลายเป็นนายกเทศมนตรีคนใหม่ของเซี่ยงไฮ้ เจียงได้รับคำวิจารณ์ทั้งดีและไม่ดีเมื่อดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี นักวิจารณ์หลายคนมองว่าเขาเป็นเพียง "กระถางดอกไม้" ซึ่งเป็นคำภาษาจีนที่ใช้เปรยบุคคลที่ดูเหมือนจะมีประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน[17] หลายคนให้เครดิตการเติบโตของเซี่ยงไฮ้ในช่วงเวลานั้นแก่จู หรงจี[18] ในช่วงเวลานี้ เจียงเป็นผู้ที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้ง เสี่ยวผิง เพื่อพยายามระงับความไม่พอใจของนักศึกษาใน ค.ศ. 1986 เจียงได้กล่าวสุนทรพจน์เก็ตตีสเบิร์กเป็นภาษาอังกฤษต่อหน้ากลุ่มนักศึกษาผู้ประท้วง[19][20]

ในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1987 เจียงถูกเลื่อนตำแหน่งจากนายกเทศมนตรีเป็นเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ ตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดในเมืองและรายงานตรงต่อรัฐบาลกลาง[21] เขายังเข้าร่วมกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามธรรมเนียมสำหรับเลขาธิการพรรคของเมืองใหญ่[21]

การประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงแก่อสัญกรรม ซึ่งก่อนหน้านั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1987 เขาถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งและถูกกล่าวหาว่าสนับสนุน "การเปิดเสรีชนชั้นกระฎุมพี"[22] อสัญกรรมของเขากระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์การประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989[23] นำไปสู่วิกฤติทางอุดมการณ์ระหว่างกลุ่ม "เสรีนิยม" (ผู้สนับสนุนการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว) และ "อนุรักษ์นิยม" (ผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป)[24] หลังจากที่หนังสือพิมพ์ World Economic Herald ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้พยายามตีพิมพ์บทความสรรเสริญเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงของหูและยกย่องจุดยืนปฏิรูปของเขา เจียงก็เข้ามาควบคุมคณะบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้[25][26] เมื่อการประท้วงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พรรคคอมมิวนิสต์จึงประกาศกฎอัยการศึกและส่งกำลังทหารเข้ากรุงปักกิ่งในเดือนพฤษภาคม[27] ในเซี่ยงไฮ้ ผู้ประท้วง 100,000 คนเดินขบวนบนท้องถนน และนักศึกษา 450 คนอดอาหารประท้วง[28] หลังผ่านไปสามวัน เจียงได้พบปะกับกลุ่มบุคคลเหล่านั้นด้วยตนเองเพื่อยืนยันให้พวกเขาแน่ใจว่าพรรคมีเป้าหมายร่วมกัน และเพื่อสัญญาว่าจะมีการเจรจาหารือกันในอนาคต พร้อมกันนั้นเขายังส่งโทรเลขไปยังคณะกรรมาธิการกลางเพื่อสนับสนุนการประกาศกฎอัยการศึกอย่างแน่วแน่[27]

คำปราศรัยต่อสาธารณชนของเขาซึ่งวางแผนอย่างรอบคอบได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งนักศึกษาผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและผู้อาวุโสในพรรค[29] วันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดได้ตัดสินใจแต่งตั้งเจียงขึ้นเป็นเลขาธิการใหญ่คนใหม่แทนจ้าว จื่อหยาง[29] ผู้ซึ่งสนับสนุนผู้ประท้วง[30][31] เจียงได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครประนีประนอมแทนหลี่ รุ่ยหวน จากเทียนจิน นายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง ผู้อาวุโส หลี่ เซียนเนี่ยน เฉิน ยฺหวิน และผู้อาวุโสที่เกษียณอายุไปแล้วเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คนใหม่[32] ก่อนหน้านั้น เขาเคยถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่ไม่น่าจะได้รับเลือก[33]

ขึ้นสู่อำนาจ

เจียงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 4 ของคณะกรรมาธิการกลางจีนชุดที่ 13 ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1989 โดยมีฐานอำนาจภายในพรรคค่อนข้างเล็ก ดังนั้นจึงมีอำนาจจริงน้อยมาก[34][7] พันธมิตรที่น่าไว้วางใจที่สุดของเขาคือเหล่าผู้อาวุโสพรรคที่ทรงอิทธิพลอย่างเฉิน ยฺหวิน และหลี่ เซียนเนี่ยน เขาถูกเชื่อว่าเป็นเพียงตัวแทนชั่วคราวจนกว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจที่มั่นคงกว่าของเติ้งจะสามารถจัดตั้งขึ้นได้[35] และเชื่อกันว่าบุคคลสำคัญอื่น ๆ ทั้งในพรรคและกองทัพ เช่น ประธานาธิบดีหยาง ช่างคุน และหยาง ไป่ปิง น้องชายของเขากำลังวางแผนรัฐประหาร[36]

ในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่ หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใน เจียงได้วิจารณ์ช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า "หนักทางเศรษฐกิจ อ่อนทางการเมือง" และสนับสนุนให้เพิ่มการทำงานด้านความคิดทางการเมือง[37] แอนน์-แมรี เบรดี เขียนว่า "เจียง เจ๋อหมิน เป็นนักการเมืองผู้มีประสบการณ์และความเข้าใจในความสำคัญของงานด้านอุดมการณ์มาช้านาน การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสมัยใหม่ของการโฆษณาชวนเชื่อและงานด้านความคิดทางการเมืองในจีน" ไม่นานหลังจากนั้น กรมโฆษณาชวนเชื่อกลางได้รับทรัพยากรและอำนาจมากขึ้น "รวมถึงอำนาจในการแทรกแซงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาชวนเชื่อและกวาดล้างกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย"[37]

กรมการเมืองยังออกรายชื่อ "เจ็ดสิ่ง" ที่เกี่ยวข้องกับ "ประเด็นที่อยู่ในความกังวลของมวลชนทั่วโลก" โดยให้ความสำคัญกับการทุจริตภายในพรรคเป็นอันดับแรก[38] เจียงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 สืบทอดตำแหน่งจากเติ้ง[39] และประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1993[40] การแต่งตั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำสูงสุดของจีนจะดำรงตำแหน่งผู้นำพรรค ประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางพร้อมกัน[41]

ผู้นำประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีแรก เจียงต้องอาศัยการสนับสนุนจากเติ้ง เสี่ยวผิงเพื่อรักษาอำนาจไว้ [42] ซึ่งบังคับให้เจียงมี "จุดยืนชาตินิยมสุดโต่ง" ต่อไต้หวันและสหรัฐ[43] เจียงสนับสนุนคำเรียกร้องของเติ้งที่ต่อต้าน "การเปิดเสรีชนชั้นกระฎุมพี" แต่ในขณะที่เจียงถูกมองว่าเป็น "นักปฏิรูปผู้มีความคิดสร้างสรรค์"[44] เขาก็ [โน้มเอียง] ไปสู่มุมมองที่อนุรักษ์นิยมมากกว่าของผู้อาวุโสในพรรคและเพื่อนร่วมงานกรมการเมืองของเขา[45] เติ้งสนับสนุนการปฏิรูปมากกว่ามาก โดยกล่าวว่า "การเอนไปทางซ้ายนั้นเป็นอันตรายยิ่งกว่า" การเอนไปทางขวา[46]

ใน ค.ศ. 1992 เติ้งเริ่มวิจารณ์ความเป็นผู้นำของเจียง ระหว่างการเยือนภาคใต้ของเติ้ง เขาแนะอย่างเป็นนัยว่าอัตราการปฏิรูปยังไม่เร็วพอ[47] เจียงเริ่มระมัดระวังมากขึ้น และสนับสนุนการปฏิรูปของเติ้งอย่างเต็มที่[48] เจียงได้บัญญัติศัพท์ใหม่ว่า "เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม" เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมนิยมที่วางแผนโดยส่วนกลางของจีนให้กลายเป็นเศรษฐกิจตลาดที่รัฐบาลควบคุม[49] นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการตระหนักถึง "สังคมนิยมอัตลักษณ์จีน" ของเติ้ง[50] ในเวลาเดียวกัน เจียงยังยกระดับผู้สนับสนุนของเขาจากเซี่ยงไฮ้ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงในรัฐบาล หลังสามารถฟื้นความไว้วางใจของเติ้งกลับมาได้ เขายุบคณะกรรมการที่ปรึกษาส่วนกลางที่ล้าสมัยใน ค.ศ. 1992 ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยผู้อาวุโสพรรค

การพัฒนาเศรษฐกิจ

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 การปฏิรูปเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินโดยรองนายกรัฐมนตรีและต่อมาคือนายกรัฐมนตรีจู หรงจี พร้อมด้วยการสนับสนุนของเจียงเริ่มมีเสถียรภาพและประเทศก็อยู่ในวิถีการเติบโตที่สม่ำเสมอ ในเวลาเดียวกัน จีนต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมากมาย ในงานรัฐพิธีศพของเติ้งใน ค.ศ. 1997 เจียงได้กล่าวสดุดีรัฐบุรุษอาวุโส เจียงสืบทอดประเทศจีนที่เต็มไปด้วยการทุจริตทางการเมือง และเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่เติบโตเร็วเกินกว่าจะรักษาเสถียรภาพของทั้งประเทศได้ นโยบายของเติ้งที่ว่า "บางพื้นที่สามารถรวยได้ก่อนพื้นที่อื่น" ทำให้เกิดช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างภูมิภาคชายฝั่งและมณฑลภายใน

เจียงและจูเริ่มการปฏิรูปครั้งใหญ่ต่อรัฐวิสาหกิจ (SOE) ในช่วงดำรงตำแหน่ง ตามแนวคิดของ "จับใหญ่ ปล่อยเล็ก" อุตสาหกรรมหนักจำนวนหนึ่งถูกยกเลิกการควบคุม และรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหลายแห่งถูกปิดกิจการหรือแปรรูปเป็นเอกชน ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจเสียตำแหน่งงานมากถึง 40 ล้านตำแหน่งในช่วงแรก[51][52] เจียงยังควบคุมดูแลการทำลาย "ชามข้าวเหล็ก" ทำให้จีนสามารถเข้าร่วมองค์การการค้าโลกใน ค.ศ. 2001[53] ผลจากการปฏิรูปทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในพื้นที่เมืองบางแห่ง และตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนอย่างมาก ขนาดของการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เขตเมืองเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีการดำเนินการน้อยมากเพื่อแก้ไขช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างเมืองกับชนบทที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รายงานอย่างเป็นทางการระบุตัวเลขสัดส่วน GDP ของจีนที่ถูกย้ายและนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยเจ้าหน้าที่ทุจริตอยู่ที่ร้อยละ 10[54]

เป้าหมายยิ่งใหญ่ที่สุดของเจียงในด้านเศรษฐกิจคือ ความมั่นคง และเขาเชื่อว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพและอำนาจรวมศูนย์สูงจะเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่จำเป็น เขาจึงเลือกที่จะเลื่อนการปฏิรูปทางการเมืองออกไป ซึ่งในหลายแง่มุมของการปกครองกลับทำให้ปัญหาที่ดำเนินอยู่เลวร้ายลงไปอีก[55] เมื่อพื้นที่ชายฝั่งและเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับการพัฒนาเพียงพอแล้ว เจียงจึงพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางภูมิศาสตร์โดยส่งเสริมให้เมืองที่ร่ำรวยกว่า "ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี และการจัดการแก่เมืองที่ยากจนกว่าทางตะวันตก"[56] เจียงเสนอแผนพัฒนาภาคตะวันตกของจีน[57]: 401  การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น ทางรถไฟสายชิงไห่–ทิเบต และเขื่อนสามผา เริ่มขึ้นภายใต้การนำของเจียง[58]

เจียงริเริ่มนโยบาย "ไปสู่สากล" ใน ค.ศ. 1999 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาบริษัทชั้นนำของชาติ เพิ่มอุปสงค์จากต่างประเทศสำหรับสินค้าและบริการของจีน และรักษาความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากร[59]: 123  นโยบายนี้ทำให้การลงทุนและอิทธิพลของจีนขยายวงกว้างอย่างมากในกลุ่มประเทศโลกใต้ โดยเฉพาะในแอฟริกาและเอเชีย[59]: 124 

การต่างประเทศ

เจียงกับประธานาธิบดีบิล คลินตันใน ค.ศ. 1999
เจียงกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินในการประชุมเอเปคที่เซี่ยงไฮ้ (ค.ศ. 2001)

ภายใต้การนำของเจียง จีนยังคงดำเนินนโยบายการทูตเพื่อการพัฒนาซึ่งเป็นแนวทางที่เติ้ง เสี่ยวผิงริเริ่มขึ้น[60] พฤติกรรมระหว่างประเทศของจีนโดยทั่วไปอยู่ในเชิงปฏิบัติและสามารถคาดเดาได้[60] ในระหว่างที่เจียงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างจีนกับสหรัฐ[61] อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างประเทศของเจียงส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงรับและไม่มีการเผชิญหน้า นโยบายต่างประเทศภายใต้การนำของเจียงสืบทอดมาจากนโยบายของเติ้ง เสี่ยวผิง นั่นคือ เทากวางหย่างฮุ่ย หรือ "ซ่อนพรสวรรค์และคอยเวลา" ซึ่งเน้นการใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงความร่วมมือและเลี่ยงการโต้แย้ง[62]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1993 กองทัพเรือสหรัฐได้หยุดเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของจีนชื่อ หยินเหอ โดยมีข้อสงสัยที่ไม่ถูกต้องว่าเรือลำดังกล่าวอาจบรรทุกสารตั้งต้นอาวุธเคมีมุ่งหน้าไปยังอิหร่าน[63] แม้จีนจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่สหรัฐได้ตัดสัญญาณ GPS ของเรือ ทำให้เรือสูญเสียทิศทางและต้องทอดสมอบนทะเลหลวงเป็นเวลา 24 วันกระทั่งยอมให้ตรวจสอบ[63] ไม่พบสารตั้งต้นทางเคมีบนเรือ[63] จีนเรียกร้องขอคำขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่สหรัฐปฏิเสธที่จะขอโทษหรือจ่ายค่าชดเชย[63] แม้จะเผชิญกับความอับอายจากอุบัติการณ์หยินเหอ เจียงก็ยังคงแสดงท่าทีเป็นมิตรต่อสหรัฐและนำ "สูตรสิบหกอักษร" มาใช้กับการทำงานร่วมกับสหรัฐ ได้แก่ "เพิ่มความเชื่อมั่น ลดปัญหา ขยายความร่วมมือ และเลี่ยงการเผชิญหน้า"[63]

ใน ค.ศ. 1993 เจียงสั่งให้มีการทดสอบขีปนาวุธหลายครั้งในน่านน้ำรอบเกาะไต้หวันเพื่อประท้วงรัฐบาลสาธารณรัฐจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีหลี่ เติงฮุย ซึ่งถูกมองว่ากำลังเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศออกจากนโยบายจีนเดียว[64]: 224–225  สหรัฐส่งกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินสองกลุ่มไปยังบริเวณใกล้ไต้หวัน และจีนก็ลดระดับความตึงเครียดลง[64]: 225  ผลจากการตอบสนองของสหรัฐ ทำให้เจียงสั่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนเริ่มโครงการปฏิรูปกองทัพเป็นเวลา 10 ปี[64]: 225 

ใน ค.ศ. 1997 เจียงเดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ การเดินทางครั้งนี้ดึงดูดกลุ่มผู้ประท้วงหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ขบวนการเอกราชทิเบตไปจนถึงผู้สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในจีน เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีบางส่วนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่อาจหลบเลี่ยงคำถามเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพได้ ในการประชุมสุดยอดอย่างเป็นทางการกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน บรรยากาศเป็นไปอย่างผ่อนคลายเนื่องจากทั้งสองฝ่ายพยายามแสวงหาจุดร่วมกัน แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะเพิกเฉยต่อประเด็นที่ขัดแย้งกัน คลินตันเดินทางเยือนจีนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1998 และให้คำมั่นว่าจีนกับสหรัฐเป็นพันธมิตรในโลก ไม่ใช่ศัตรู[65]

หลังสหรัฐทิ้งระเบิดสถานทูตจีนในเบลเกรดใน ค.ศ. 1999 เจียงดูเหมือนจะแสดงท่าทีแข็งกร้าวในประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาแสดงท่าทีประท้วงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมใด ๆ[55] เจียงเห็นว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับจีนมีความสำคัญเกินกว่าจะถูกทำลายเพราะอารมณ์ชั่ววูบและได้พยายามบรรเทาความโกรธแค้นของประชาชนจีน[66]

อุบัติการณ์เกาะไหหลำเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เจียงเป็นประธานาธิบดี[67] วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2001 เครื่องบินสอดแนมอีพี-3 ของสหรัฐชนกับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นเฉิ่นหยาง เจ-8 ของจีนกลางอากาศเหนือทะเลจีนใต้[67] จีนเรียกร้องขอคำขอโทษอย่างเป็นทางการและยอมรับคำกล่าว "ขออภัยอย่างยิ่ง" ของคอลิน พอเวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐว่าเพียงพอแล้ว[67] แม้กระนั้น เหตุการณ์นี้ก็สร้างความรู้สึกเชิงลบต่อสหรัฐในหมู่ประชาชนจีนและทำให้ประชาชนมีความรู้สึกชาตินิยมมากขึ้น[67]

ในฐานะมิตรสหายส่วนตัวของฌ็อง เครเตียง อดีตนายกรัฐมนตรีแคนดา[68] เจียงได้เสริมสร้างสถานะทางเศรษฐกิจของจีนในระดับนานาชาติโดยพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่าง ๆ ที่การค้าส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในเขตเศรษฐกิจของสหรัฐ

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ภูมิหลังทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของเจียงทำให้เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และการศึกษาในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1989 เจียงได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาผลิตภาพทางสังคมในงานมอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ และยืนยันถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1994 เขาเสนอต่อการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 14 ให้ "ยกระดับวิทยาศาสตร์และการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ" และใน ค.ศ. 1996 เขาได้วางยุทธศาสตร์การ "สร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และการศึกษา" ในปีถัดมา คณะมนตรีรัฐกิจได้เปิดตัวโครงการนวัตกรรมความรู้ โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยี โครงการ 211 โครงการ 985 และอื่น ๆ[69]

วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1992 คณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเจียงได้อนุมัติโครงการอวกาศขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ นั่นคือโครงการอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน[70] ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ เขามักเดินทางไปยังเมืองอวกาศปักกิ่ง ศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉฺวียน และสถานที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งเพื่อตรวจสอบและพบปะบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการนี้ เขายังเข้าร่วมชมการปล่อยยานอวกาศเฉินโจว 3 ซึ่งเป็นยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ณ สถานที่จริง[71] หลังพัฒนามานานกว่าทศวรรษ จีนก็กลายเป็นประเทศที่สามของโลกต่อจากสหภาพโซเวียต/รัสเซีย และสหรัฐที่สามารถพัฒนาระบบการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศด้วยตนเองได้สำเร็จใน ค.ศ. 2003

การออกสื่อ

เจียง เจ๋อหมินกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาแห่งชาติเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 1995

หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้าและรายการซินเหวินเหลียนปัวของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) ที่ออกอากาศเวลา 19.00 น. ต่างนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเจียงเป็นข่าวหน้าหนึ่งหรือข่าวสำคัญ โดยสถานการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึง ค.ศ. 2006 เมื่อหู จิ่นเทาทำการปรับเปลี่ยนการบริหารสื่อ เจียงปรากฏตัวต่อหน้าสื่อตะวันตกอย่างไม่เป็นทางการและให้สัมภาษณ์กับไมก์ วอลเลซจากช่องซีบีเอสที่เป่ย์ไต้เหอใน ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เขามักใช้ภาษาต่างประเทศต่อหน้ากล้องบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษารัสเซียล้วนนานถึง 40 นาที[72] ในการพบปะกับชารอน เชิง นักข่าวฮ่องกงใน ค.ศ. 2000 เกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลกลางดูเหมือนจะใช้ "ราชโองการ" เพื่อสนับสนุนต่ง เจี้ยนหฺวาให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นสมัยที่สอง เจียงได้ตำหนินักข่าวฮ่องกงเป็นภาษาอังกฤษว่า "เรียบง่ายเกินไป บางครั้งก็ไร้เดียงสา"[73]

สามตัวแทน

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 เจียงได้นำเสนอทฤษฎีสามตัวแทน ซึ่งต่อมาถูกบรรจุไว้ในธรรมนูญพรรคและรัฐธรรมนูญในฐานะ "ความคิดสำคัญ" ตามรอยลัทธิมากซ์–เลนิน ความคิดของเหมา เจ๋อตง และทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง[74][57]: 474–475  ได้รับการกำหนดอย่างเป็นทางการว่าเป็นพัฒนาการล่าสุดของสังคมนิยมอัตลักษณ์จีนในสมัยของเจียง[75] สามตัวแทนให้เหตุผลสนับสนุนการรวมชนชั้นธุรกิจทุนนิยมใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรค และการเปลี่ยนอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนจากการปกป้องผลประโยชน์ของชาวนาและกรรมกรไปสู่การปกป้องผลประโยชน์ของ "ประชาชนส่วนใหญ่" ซึ่งเป็นสำนวนที่มุ่งเอาใจชนชั้นผู้ประกอบการที่กำลังเติบโต นักวิจารณ์อนุรักษ์นิยมภายในพรรค เช่น เติ้ง ลี่ฉฺวิน ฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง ได้ประณามสิ่งนี้ว่าเป็นการทรยศต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง[74]

ก่อนถ่ายโอนอำนาจแก่ผู้นำรุ่นต่อไป เจียงได้บรรจุทฤษฎีสามตัวแทนของตนเข้าไปในธรรมนูญของพรรค ร่วมกับลัทธิมากซ์–เลนิน ความคิดเหมา เจ๋อตง และทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิงในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 16 ใน ค.ศ. 2002[76]

การปราบปรามฝ่าหลุนกง

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 เจียงได้ก่อตั้งหน่วยงานนอกกฎหมายขึ้นมา หน่วยงานนี้มีชื่อว่าสำนักงาน 610 เพื่อปราบปรามฝ่าหลุนกง คุกและเลมิชระบุว่าเจียงเป็นกังวลว่าขบวนการทางศาสนาใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมนี้กำลัง "แทรกซึมเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและกลไกของรัฐอย่างเงียบ ๆ"[77] วันที่ 20 กรกฎาคม กองกำลังความมั่นคงได้จับกุมนักจัดกิจกรรมฝ่าหลุนกงหลายพันคนที่พวกเขาระบุว่าเป็นผู้นำ[78] การข่มเหงที่ตามมามีลักษณะเป็นการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการจำคุกโดยพลการและการบังคับปรับทัศนคติต่อนักจัดกิจกรรมฝ่าหลุนกง ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การเสียชีวิตจากการถูกทารุณกรรมระหว่างกักขัง[79][80][81]


ลงจากอำนาจ

เจียงและภริยากับจอร์จ ดับเบิลยู. บุชและภริยาในครอว์ฟอร์ด รัฐเท็กซัส 25 ตุลาคม ค.ศ. 2002

ก่อนการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 16 หู จิ่นเทาได้รับ "การสนับสนุนเกือบเป็นเอกฉันท์" ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนใหม่[82] เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของจีนในฐานะประเทศที่มีความมั่นคงและเป็นที่เคารพนับถือ เจียงและหูได้ให้ความสำคัญกับความสามัคคี โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นไปอย่างราบรื่นและกลมกลืน[83][84] เจียงลงจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคและออกจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง[85] ซึ่งมีอำนาจควบคุมกองทัพและนโยบายต่างประเทศของชาติ[86] เจียงจะยังคงให้คำปรึกษาหูจาก "หลังม่าน" และมีการตกลงอย่างเป็นทางการว่า เจียงจะได้รับการ "ปรึกษาหารือในทุกเรื่องที่สำคัญของรัฐ"[86] ทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจกันโดยปริยายว่าหูจะไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้นำ "แกนหลัก" ดังเช่นเจียง เติ้ง และเหมา[87]

ในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 16 สมาชิกใหม่ส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการสามัญนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เรียกว่า "กลุ่มเซี่ยงไฮ้" ของเจียง โดยบุคคลสำคัญที่สุดคือรองประธานาธิบดีเจิ้ง ชิ่งหง ผู้ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของเจียงมานานหลายปี และรองนายกรัฐมนตรีหฺวาง จฺวี๋ อดีตเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้[88]

หลังหูสืบทอดตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อจากเจียง เจียงก็ยังคง "[ครอบงำ] ชีวิตสาธารณะ" ต่อไปอีกหลายปี[89] เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ประกาศว่า "สมัยใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศจีนแล้ว แต่ไม่ใช่ยุคของรองประธานาธิบดีหู จิ่นเทา [...] หากแต่เป็นยุคใหม่ของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ผู้เพิ่งลาออกจากเลขาธิการพรรค"[85] ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตซาร์สใน ค.ศ. 2003 เจียงมีความเงียบอย่างเห็นได้ชัด ผู้สังเกตการณ์มีความเห็นต่างกันไปว่าสิ่งนี้บ่งบอกถึงอิทธิพลที่ลดลงของเขาหรือเป็นการแสดงความเคารพต่อหู[90] มีการโต้แย้งว่าการจัดการสถาบันที่เกิดจากการประชุมใหญ่ครั้งที่ 16 นั้นทำให้เจียงอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถใช้อิทธิพลได้มากนัก[91]

แม้ว่าเจียงจะเป็นประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯ ล้วนเป็นทหารอาชีพ หนังสือพิมพ์ "กองทัพปลดปล่อยประชาชนรายวัน" ซึ่งเชื่อว่าสะท้อนมุมมองของเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการฯ ได้ตีพิมพ์บทความในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2003 โดยอ้างคำพูดของผู้แทนทหารสองนายว่า "การมีศูนย์กลางเดียวเรียกว่า 'ความภักดี' ขณะที่การมีสองศูนย์กลางจะนำไปสู่ 'ปัญหา'" การกระทำนี้ถูกตีความว่าเป็นการวิจารณ์ความพยายามของเจียงในการใช้อำนาจร่วมกับหูตามแบบของเติ้ง เสี่ยวผิง[92]

วันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2004 หลังการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 4 ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 16 เจียงในวัย 78 ปีได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของพรรค ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของเขาในพรรค หกเดือนต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 เจียงได้ลาออกจากตำแหน่งสำคัญที่สุดตำแหน่งสุดท้ายของเขา นั่นคือ ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางของรัฐ ซึ่งถือเป็นการปิดฉากอาชีพทางการเมืองของเจียง[โปรดขยายความ] เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังมีการคาดการณ์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคกำลังกดดันให้เจียงลาออก ตามกำหนดเดิม วาระการดำรงตำแหน่งของเจียงจะสิ้นสุดใน ค.ศ. 2007 หูสืบทอดตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางจากเจียง แต่ในความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่เห็นได้ชัดของเจียงนั้น พลเอก สฺวี ไฉโฮ่ว ไม่ใช่เจิ้ง ชิ่งหง ได้รับแต่งตั้งให้สืบทอดตำแหน่งรองประธานจากหู ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น การเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดยุคสมัยของเจียงในจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งกินเวลาโดยประมาณระหว่าง ค.ศ. 1989 ถึง 2004[93]

ใน ค.ศ. 2008 เจียงได้ตีพิมพ์บทความวิชาการเกี่ยวกับทรัพยากรพลังงานสะอาดของจีนและอีกบทความหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน[94]: 100 

การปรากฏตัวอย่างเป็นทางการหลังเกษียณ

เจียงยังคงปรากฏตัวอย่างเป็นทางการต่อไปหลังจากสละตำแหน่งสุดท้ายใน ค.ศ. 2005 ตามลำดับความสำคัญที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวดของจีน ชื่อของเจียงจะปรากฏอยู่ถัดจากชื่อของหู จิ่นเทาเสมอ และอยู่ก่อนหน้าชื่อของสมาชิกคนอื่น ๆ ที่เหลือในคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง ใน ค.ศ. 2007 เจียงปรากฏตัวร่วมเวทีกับหู จิ่นเทาในงานฉลองครบรอบ 80 ปีการก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชน[95] และร่วมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การทหารแห่งการปฏิวัติของประชาชนจีนพร้อมด้วยหลี่ เผิง, จู หรงจี และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ[96] วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2008 เจียงปรากฏตัวในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง[97] เขายังยืนข้างหู จิ่นเทาในพิธีสวนสนามครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2009[98]

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 รายงานเท็จเกี่ยวกับการถึงแก่อสัญกรรมของเจียงเริ่มแพร่หลายในสื่อข่าวนอกจีนแผ่นดินใหญ่และบนอินเทอร์เน็ต[99][100] แม้ว่าเจียงอาจจะป่วยและกำลังเข้ารับการรักษา แต่ข่าวลือดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากแหล่งข่าวอย่างเป็นทางการ[101] วันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2011 เจียงปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขากล่าวคำไว้อาลัยก่อนกำหนดในปักกิ่งในงานรำลึก 100 ปีการปฏิวัติซินไฮ่[102] เจียงปรากฏตัวอีกครั้งในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 18 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 และเข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองครบรอบ 65 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 ในงานเลี้ยงเขาได้นั่งข้างสี จิ้นผิง ผู้ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อจากหู จิ่นเทา ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 เจียงเข้าร่วมพิธีสวนสนามฉลองครบรอบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นั่น เจียงได้นั่งข้างสี จิ้นผิงกับหู จิ่นเทาอีกครั้ง[103] เขาปรากฏตัวในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2017 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซี่ยงไฮ้[104]

หลังสี จิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 2012 ตำแหน่งของเจียงในลำดับความสำคัญก็ลดลง ขณะที่เขามักจะได้นั่งข้างสี จิ้นผิงในงานทางการ ชื่อของเขามักถูกกล่าวหลังจากสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง[105] เจียงปรากฏตัวอีกครั้งในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 19 ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2017[106] เขาปรากฏตัวในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ในพิธีศพของอดีตนายกรัฐมนตรีหลี่ เผิง[107][108][109] เขายังเข้าร่วมพิธีสวนสนามครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 ถือเป็นการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่อสัญกรรม[110] เขาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022[111]

ครอบครัวและชีวิตส่วนตัว

เจียงแต่งงานกับหวัง เย่ผิง ซึ่งเป็นชาวหยางโจวเช่นกันใน ค.ศ. 1949[112] เธอเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา เพราะแม่บุญธรรมของเจียงคือป้าของหวัง หวังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยการศึกษานานาชาติเซี่ยงไฮ้[113] พวกเขามีบุตรชายด้วยกันสองคนคือ เจียง เหมียนเหิง และเจียง เหมียนคัง[114] เจียง เหมียนเหิงกลายเป็นนักวิชาการและนักธุรกิจที่ทำงานในโครงการอวกาศของจีนและผู้ก่อตั้งบริษัท เกรซ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง คอร์ปอเรชั่น (Grace Semiconductor Manufacturing Corporation)[115]

เชื่อกันว่าเจียงมีมิตรภาพอันยาวนานกับนักร้องซ่ง จู่อิง, เฉิน จื้อลี่ และคนอื่น ๆ[116][117][118][119][120][121] หลังการขึ้นสู่อำนาจของสี จิ้นผิง ซ่งและผู้ภักดีต่อเจียงคนอื่น ๆ รวมถึงซ่ง จู่ยฺวี่ น้องชายของเธอตกอยู่ภายใต้การสอบสวนเรื่องการทุจริต[122][123]

เจียงมีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศหลายภาษา[124] รวมทั้งภาษาอังกฤษและรัสเซีย เขายังคงเป็นผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียวของจีนที่พูดภาษาอังกฤษได้[124] เขาสนุกกับการพูดคุยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับศิลปะและวรรณกรรมในภาษาแม่ของพวกเขา นอกเหนือจากการร้องเพลงต่างประเทศในภาษาต้นฉบับของพวกเขาด้วย ใน ค.ศ. 1987 เขาร้องเพลง When We Were Young และเต้นรำกับไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ นายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโกในขณะนั้น[125] เจียงยังเล่นอูกูเลเลในระหว่างการเยือนฮาวายใน ค.ศ. 1997 ด้วย[125]

อสัญกรรม

ธงชาติลดครึ่งเสา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเจียง เจ๋อหมิน
พิธีรำลึกถึงเจียงเจ๋อหมิน ณ มหาศาลาประชาชน

เจียงถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ขณะมีอายุได้ 96 ปี ในเซี่ยงไฮ้ สำนักข่าวซินหัว สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่าเขาอสัญกรรมในเวลา 12:13 น. จากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและอวัยวะหลายส่วนล้มเหลว[126][127] ในวันอสัญกรรม รัฐบาลได้ออกประกาศลดธงชาติครึ่งเสาในสถานที่สำคัญของปักกิ่งและสถานทูตในต่างประเทศ ชาวต่างชาติไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ[128]

ร่างของเจียงถูกฌาปนกิจที่สุสานปฏิวัติปาเป่าชานและเถ้ากระดูกของเขาถูกโปรยไว้ใกล้ปากแม่น้ำแยงซี[129]: 129 

มรดก

คำจารึกของเจียงที่แกะสลักบนหินในหยางโจว บ้านเกิดของเขา

นโยบายของหู จิ่นเทา ผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา และเวิน เจียเป่า ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นความพยายามแก้ไขความไม่สมดุลที่รับรู้ได้และเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไปสู่มุมมองการพัฒนาที่กว้างขึ้นซึ่งรวมถึงปัจจัยที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ เช่น สุขภาพและสิ่งแวดล้อม[130]

ในประเทศ มรดกและชื่อเสียงของเจียงนั้นผสมผสานกัน ขณะที่บางคนมองว่าช่วงเวลาที่มีเสถียรภาพและการเติบโตที่ค่อนข้างมากในคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นผลจากการดำรงตำแหน่งของเจียง[131] คนอื่น ๆ ก็โต้แย้งว่าเจียงไม่ได้ทำอะไรมากนักในการแก้ไขความไม่สมดุลของระบบและปัญหาสะสมที่เกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นเวลาหลายปี ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องเผชิญกับความท้าทายนับไม่ถ้วน ซึ่งบางอย่างอาจสายเกินกว่าจะแก้ไข[132]

ความจริงที่ว่าเจียงขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เทียนอันเหมินได้ส่งผลต่อการรับรู้เกี่ยวกับการปกครองของเขา ภายหลังการประท้วงที่เทียนอันเหมิน เจียงได้ให้การสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจอนุรักษ์นิยมของเฉิน ยฺหวิน ผู้อาวุโส แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปภักดีต่อแผนปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิง หลังจากเติ้งออก "เดินทางเยือนใต้" การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่ถูกมองว่าเป็นการใช้โอกาสทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้ภักดีต่อพรรคในเรื่องที่ว่าพรรคกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใดหรือพรรคมีความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงต่อสิ่งใดอีกด้วย[133] ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งระเบิดทั่วประเทศ แต่ยังนำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มผลประโยชน์พิเศษในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ และการใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากการกำกับดูแลที่สำคัญใด ๆ สิ่งนี้เปิดทางให้เกิดการกระจายผลแห่งการเติบโตที่ไม่เหมาะสม และทำให้เกิดวัฒนธรรมการทุจริตที่ขยายตัวในหมู่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่พรรค[132]

หยาง จี้เฉิง นักประวัติศาสตร์และอดีตนักข่าวซินหัว เขียนว่าเจียงอาจได้รับการประเมินทางประวัติศาสตร์ในเชิงบวกหากเขาไม่ตัดสินใจ "อยู่เกินเวลาต้อนรับ" โดยยังคงดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการการทหารส่วนกลางหลังจากที่หูเข้ารับตำแหน่งผู้นำพรรคอย่างเป็นทางการ ยิ่งไปกว่านั้น เจียงยังได้รับเครดิตสำหรับความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วง 13 ปี "ระหว่าง ค.ศ. 1989 ถึง 2002" ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ระลึกถึงความทรงจำที่เจียงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเท่านั้น แต่ยังละเลยรากฐานทางเศรษฐกิจที่เติ้งวางไว้ ซึ่งอำนาจของเขายังคงมีความสำคัญสูงสุดจนถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 นอกจากนี้ เจียงยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการยืนกรานของเขาในการเขียน "สามตัวแทน" ลงในธรรมนูญพรรคและรัฐธรรมนูญ (ดูด้านล่าง) ซึ่งหยางเรียกว่าความพยายามของเจียงในการ "ยกยอตนเอง" กล่าวคือ เขาเห็นตัวเองเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในแนวทางเดียวกันกับเติ้งและเหมา หยางโต้แย้งว่า "'สามตัวแทน' เป็นเพียงสามัญสำนึก ไม่ใช่กรอบทฤษฎีที่เหมาะสม มันเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองคนใดก็ตามจะบอกกับประชาชนเพื่อให้เหตุผลในการคงการปกครองของพรรครัฐบาลต่อไป"[134]

เจียงไม่ได้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และใน ค.ศ. 1997 เขาส่งมอบการบริหารเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศให้แก่นายกรัฐมนตรีจู หรงจี และเขายังคงดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ภายใต้การนำร่วมกันนี้ จีนแผ่นดินใหญ่สามารถรักษาอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวสูงที่สุดในเศรษฐกิจหลักของโลก สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วโลกด้วยความเร็วอันน่าทึ่ง สิ่งนี้ประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่โดยดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจตลาดต่อไป นอกจากนี้ เขายังช่วยเพิ่มสถานะในระดับนานาชาติของจีนด้วยการที่จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลกใน ค.ศ. 2001 และปักกิ่งได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2008[135]

บางคนยังเชื่อมโยงเจียงกับการทุจริตและการเล่นพรรคเล่นพวกที่แพร่หลายซึ่งกลายมาเป็นลักษณะเด่นของกลไกอำนาจคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่เจียงอยู่ในอำนาจ ในกองทัพ กล่าวกันว่ารองประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง 2 คนซึ่งดำรงตำแหน่งสูงสุดรองจากประธานหู จิ่นเทา คือสฺวี ไฉ่โฮ่ว และกัว ปั๋วสฺยง ขัดขวางการใช้อำนาจของหูในกองทัพ ทั้งสองถูกมองว่าเป็น "ตัวแทนของเจียงในกองทัพ" ท้ายที่สุด มีรายงานว่าทั้งสองรับสินบนเป็นจำนวนมากและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนโยบายปราบปรามการทุจริตภายใต้การนำของสี จิ้นผิง[136]

ในเวลาเดียวกัน นักเขียนชีวประวัติของเจียงหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลของเขามีลักษณะคล้ายกับการปกครองแบบคณาธิปไตยซึ่งตรงข้ามกับการปกครองแบบเผด็จการ[137] นโยบายหลายประการในสมัยของเขามักถูกกล่าวอ้างว่าเป็นผลงานของผู้นำคนอื่นในรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจู หรงจี เจียงยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำที่ใส่ใจในการขอความเห็นจากที่ปรึกษาคนสนิทของตน เจียงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง[138] แต่ในขณะเดียวกัน ชาวจีนหลายคนก็วิจารณ์ว่าเขาทำตัวปรองดองกับสหรัฐและรัสเซียมากเกินไป ปัญหาการรวมประเทศจีนระหว่างแผ่นดินใหญ่และไต้หวันเริ่มได้รับความสนใจในช่วงที่เจียงดำรงตำแหน่ง[139]

เครื่องอิสริยาภรณ์

ชื่อเครื่องอิสริยาภรณ์ ประเทศ วันที่รับ อ้างอิง
เครื่องอิสริยาภรณ์โฮเซ มาร์ติ  คิวบา 21 พฤศจิกายน 1993 [140]
เครื่องอิสริยาภรณ์ดาวกางเขนใต้ ชั้นประถมาภรณ์  บราซิล 23 พฤศจิกายน 1993 [141]
เครื่องอิสริยาภรณ์เจ้าชายยารอสเลาผู้รอบรู้ ชั้นที่ 1  ยูเครน 2 ธันวาคม 1995 [142]
เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งชาติมาลี ชั้นประถมาภรณ์  มาลี 17 พฤษภาคม 1996 [143]
เครื่องอิสริยาภรณ์ดาราผู้ยิ่งใหญ่แห่งจิบูตี  จิบูตี 18 สิงหาคม 1998 [144]
เครื่องอิสริยาภรณ์กู๊ดโฮป ชั้นประถมาภรณ์  แอฟริกาใต้ 5 พฤษภาคม 1999 [145]
เครื่องอิสริยาภรณ์อินทรีทอง  คาซัคสถาน 19 พฤศจิกายน 1999 [146]
เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณ ชั้นประถมาภรณ์  สาธารณรัฐคองโก 20 มีนาคม 2000 [147]
เหรียญ 'เบธเลเฮม 2000'  ปาเลสไตน์ 15 เมษายน 2000 [148]
เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งสาธารณรัฐตุรกี ชั้นที่ 1  ตุรกี 19 เมษายน 2000 [149]
เครื่องอิสริยาภรณ์ผู้ไถ่บาป ชั้นประถมาภรณ์  กรีซ 22 เมษายน 2000 [150]
เหรียญทองแห่งเอเธนส์  กรีซ 22 เมษายน 2000 [151]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎแห่งบรูไน  บรูไน 17 พฤศจิกายน 2000 [152]
เครื่องอิสริยาภรณ์ตาฮิตินุย ชั้นประถมาภรณ์  เฟรนช์พอลินีเชีย 3 เมษายน 2001 [153][154]
เครื่องอิสริยาภรณ์ผู้ปลดปล่อย ชั้นที่ 1  เวเนซุเอลา 17 เมษายน 2001 [155]
เหรียญแห่งพุชกิน  รัสเซีย 31 ตุลาคม 2007 [156]

หนังสือ

  • เจียง เจ๋อหมิน (2010). สรรนิพนธ์ของเจียง เจ๋อหมิน. Vol. I (1st ed.). ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ. ISBN 978-7-119-06025-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 December 2020. สืบค้นเมื่อ 7 May 2020.
  • — (2012). สรรนิพนธ์ของเจียง เจ๋อหมิน. Vol. II (1st ed.). ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ. ISBN 978-7-119-07383-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 December 2020. สืบค้นเมื่อ 7 May 2020.
  • — (2013). สรรนิพนธ์ของเจียง เจ๋อหมิน. Vol. III (1st ed.). ปักกิ่ง: สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ. ISBN 978-7-119-07978-3.

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. "ผู้นำสูงสุด" ไม่ใช่ตำแหน่งทางการ แต่เป็นคำที่สื่อมวลชนและนักวิชาการใช้เป็นครั้งคราวเพื่ออ้างถึงผู้นำทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนในช่วงเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ไม่มีฉันทามติว่าหู จิ่นเทาขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดเมื่อใด (2002–12) เนื่องจากเจียงดำรงตำแหน่งที่ทรงอำนาจที่สุดในกองทัพ (นั่นคือ ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง) และไม่ได้สละตำแหน่งทั้งหมดให้แก่ผู้สืบทอดจนกระทั่ง ค.ศ. 2005 ขณะที่หูดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ ค.ศ. 2002 และประธานาธิบดีจีนตั้งแต่ ค.ศ. 2003

อ้างอิง

  1. Holley, David (12 January 1992). "'Eight Elders' Wield Power Behind the Scenes in China". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  2. Thackeray, Frank W.; Findling, John E. (31 May 2012). Events That Formed the Modern World. ABC-CLIO. ISBN 978-1-59884-901-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2022. สืบค้นเมื่อ 1 June 2017 – โดยทาง Google Books.
  3. Li, Yiping; Lai, Kun; Feng, Xuegang (May 2007). "The Problem of ' Guanxi ' for Actualizing Community Tourism: A Case Study of Relationship Networking in China". Tourism Geographies. 9 (2): 117–119. doi:10.1080/14616680701278489. S2CID 153691620.
  4. 4.0 4.1 Hammond, Ken (2023). China's Revolution and the Quest for a Socialist Future. New York, NY: 1804 Books. ISBN 9781736850084.
  5. "The New Emperor". Asia NOW. 29 December 1995. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-30. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  6. McDonald, Joe (2022-11-30). "Former Chinese President Jiang Zemin Has Reportedly Died". Time (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 November 2022. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  7. 7.0 7.1 "Cengage Learning". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2018. สืบค้นเมื่อ 6 December 2013.
  8. Kuhn 2004, p. 66.
  9. Kuhn 2004, p. 609.
  10. Kuhn 2004, p. 82.
  11. Kuhn 2004, p. 84.
  12. Kuhn 2004, p. 101.
  13. 13.0 13.1 Kuhn 2004, p. 102.
  14. Kuhn 2004, p. 103.
  15. Kuhn 2004, p. 104.
  16. 16.0 16.1 Kuhn 2004, p. 105.
  17. "BBC: Profile: Jiang Zemin". BBC News. 19 September 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 May 2008. สืบค้นเมื่อ 7 March 2010.
  18. Holley, David (31 July 1993). "China Leans Heavily on Trouble-Shooter: Politics: Vice Premier Zhu Rongji's assignment is to cope with economic troubles, corruption, rural anger". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 July 2014. สืบค้นเมื่อ 5 December 2013.
  19. "Book: Real Story of Jiang Zemin: Introduction(4)". Chinaview.wordpress.com. 25 August 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 July 2011. สืบค้นเมื่อ 7 March 2010.
  20. Lee, Wei Ling (2015). A Hakka Woman's Singapore (ภาษาอังกฤษ) (1st ed.). Straits Times Press. p. 124. ISBN 978-981-4642-47-7.
  21. 21.0 21.1 Kuhn 2004, p. 138.
  22. Kuhn 2004, p. 133.
  23. Kuhn 2004, pp. 148–149.
  24. Kuhn 2004, p. 147, "In fact, no one of importance disagreed fundamentally with the necessity of Chapter 9 reform to spur economic development. The fault line between the so-called "liberals" and "conservatives" was the speed and style of the reforms. Still, the division was seismic, and the epicenter would soon be Tiananmen Square.".
  25. Wright, Kate (1990). "The Political Fortunes of Shanghai's 'World Economic Herald'". The Australian Journal of Chinese Affairs (23): 121–132. doi:10.2307/2158797. ISSN 0156-7365. JSTOR 2158797. S2CID 157680075.
  26. Kuhn 2004, pp. 133–134, 149.
  27. 27.0 27.1 Kuhn 2004, p. 161.
  28. Kuhn 2004, p. 160.
  29. 29.0 29.1 Kuhn 2004, p. 162.
  30. Pomfret, John. "In Posthumous Memoir, China's Zhao Ziyang Details Tiananmen Debate, Faults Party". The Washington Post. 15 May 2009. p.2.
  31. Philip P. Pan (2008). Out of Mao's shadow. Simon & Schuster. pp. 4–5. ISBN 978-1-4165-3705-2. OCLC 1150955831 – โดยทาง Internet Archive.
  32. Kuhn 2004, p. 163.
  33. "USATODAY.com – China completes military power transfer". USA Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 November 2012. สืบค้นเมื่อ 5 December 2013.
  34. Mackerras, Colin; McMillen, Donald H.; Watson, Andrew (16 December 2003). Dictionary of the Politics of the People's Republic of China (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 249. ISBN 978-1-134-53175-2.
  35. Kuhn 2004, p. 3.
  36. Kuhn 2004, p. 219.
  37. 37.0 37.1 Anne-Marie Brady, Marketing Dictatorship: Propaganda and Thought Work in Contemporary China, Rowman & Littlefield Publishers, Inc.
  38. Kuhn 2004, p. 181.
  39. "China's military leadership". Strategic Comments. 10 (7): 1–2. 1 September 2004. doi:10.1080/1356788041071. S2CID 219695239. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  40. Byrnes, Michael (29 March 1993). "Jiang Zemin Elected President of China". Australian Financial Review. สืบค้นเมื่อ 8 December 2022.
  41. "Jiang Zemin to Have Lower Rank in Communist Party". The Telegraph. Agence France-Presse. 24 January 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2018. สืบค้นเมื่อ 12 March 2018.
  42. Kuhn 2004, p. 220, "Though Jiang had spent the preceding two years diligently building his relations with the military, his position remained dependent on Deng.".
  43. Miller, Lyman (1 June 1996). "Overlapping Transitions in China's Leadership". SAIS Review. 16 (2): 21–42. doi:10.1353/sais.1996.0038. S2CID 153471937.
  44. Kuhn 2004, pp. 134, 180, "We must enhance socialist ideology while carrying out to the end the struggle against bourgeois liberalization.".
  45. Kuhn 2004, p. 214.
  46. Kuhn 2004, p. 213.
  47. Kuhn 2004, p. 212.
  48. Kuhn 2004, pp. 682.
  49. Kuhn 2004, pp. 216–222.
  50. Kuhn 2004, pp. 220–222.
  51. McDonald, Joe (30 November 2022). "Jiang Zemin, who guided China's economic rise, dies". AP News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  52. Tempest, Rone (13 September 1997). "China Gets Down to Business at Party Congress". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2022. สืบค้นเมื่อ 12 January 2020.
  53. Krishnan, Ananth (30 November 2022). "Jiang Zemin obituary | President who shepherded China's economic reforms, growth". The Hindu (ภาษาIndian English). สืบค้นเมื่อ 3 December 2022.
  54. Michael E. Porter. The Competitive Advantage of Nations (New York, NY: The Free Press, 1990), p. 546. เก็บถาวร 28 มิถุนายน 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  55. 55.0 55.1 "Profile: Jiang Zemin". BBC News. BBC. 23 October 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 November 2017. สืบค้นเมื่อ 21 July 2018.
  56. Kuhn 2004, p. 405.
  57. 57.0 57.1 Wu, Guoyou; Ding, Xuemei (2020). Zheng, Qian (บ.ก.). An Ideological History of the Communist Party of China. แปลโดย Sun, Li; Bryant, Shelly. Montreal, Quebec: Royal Collins Publishing Group. ISBN 978-1-4878-0392-6.
  58. Gittings, John (19 October 2000). "Big ideas drive China's quest for super status". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  59. 59.0 59.1 Garlick, Jeremy (2024). Advantage China: Agent of Change in an Era of Global Disruption. Bloomsbury Academic. ISBN 978-1-350-25231-8.
  60. 60.0 60.1 Zhao, Suisheng (2023). The dragon roars back : transformational leaders and dynamics of Chinese foreign policy. Stanford, California: Stanford University Press. p. 11. ISBN 978-1-5036-3415-2. OCLC 1332788951.
  61. Buckley, Chris; Wines, Michael (30 November 2022). "Jiang Zemin, Leader Who Guided China into Global Market, Dies at 96". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  62. Doshi, Rush. "Hu's to blame for China's foreign assertiveness?". Brookings (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-07-05.
  63. 63.0 63.1 63.2 63.3 63.4 Zhao, Suisheng (2023). The Dragon Roars Back: Transformational Leaders and Dynamics of Chinese Foreign Policy. Stanford University Press. p. 63. doi:10.1515/9781503634152. ISBN 978-1-5036-3415-2.
  64. 64.0 64.1 64.2 Lampton, David M. (2024). Living U.S.-China Relations: From Cold War to Cold War. Lanham, MD: Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-5381-8725-8.
  65. Kuhn 2004, p. 358.
  66. Zhao, Suisheng (2023). The Dragon Roars Back: Transformational Leaders and Dynamics and Chinese Foreign Policy. Stanford, California: Stanford University Press. pp. 63–64. doi:10.1515/9781503634152. ISBN 978-1-5036-3415-2.
  67. 67.0 67.1 67.2 67.3 Zhao, Suisheng (2023). The Dragon Roars Back: Transformational Leaders and Dynamics of Chinese Foreign Policy. Stanford, California: Stanford University Press. p. 64. doi:10.1515/9781503634152. ISBN 978-1-5036-3415-2.
  68. "NewsLibrary.com – newspaper archive, clipping service – newspapers and other news sources". Nl.newsbank.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2017. สืบค้นเมื่อ 14 November 2017.
  69. 许先春 (2002年12月). 江泽民科技思想研究 (第1版 ed.). 浙江科学技术出版社. pp. 2–8. ISBN 7-5341-2036-5. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  70. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ project921
  71. 中国空间技术研究院公众号 (2022-12-04). "江泽民同志永垂不朽|难忘那天,您注视着图板上的中国空间站". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-05. สืบค้นเมื่อ 2022-12-05. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |dead-url= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  72. Kuhn 2004, pp. 92–93, 371, 437.
  73. Landler, Mark (29 October 2000). "Leader of China Angrily Chastises Hong Kong Media". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 16 November 2023.
  74. 74.0 74.1 补牢意识形态 "大统战"修正三个代表?. Duowei News (ภาษาChinese (China)). 6 June 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2015. สืบค้นเมื่อ 22 June 2015.
  75. Dittmer, Lowell (2003). "Chinese Factional Politics Under Jiang Zemin". Journal of East Asian Studies. 3 (1): 97–128. doi:10.1017/S1598240800001132. ISSN 1598-2408. JSTOR 23417742. S2CID 155266344.
  76. Tomoyuki Kojima. China's Omnidirectional Diplomacy: Cooperation with all, Emphasis on Major Powers. Asia-Pacific Review, 1469–2937, Volume 8, Issue 2, 2001
  77. Sarah Cook and Leeshai Lemish, 'The 610 Office:Policing the Chinese Spirit' เก็บถาวร 27 มกราคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, China Brief, Volume 11 Issue 17 (9 November 2011).
  78. James Tong. Revenge of the Forbidden City: The suppression of the Falungong in China, 1999–2005. (New York, NY: Oxford University Press, 2009); ISBN 0-19-537728-1Link at Google Books
  79. Spiegel, Mickey (2002). Dangerous Meditation: China's Campaign Against Falungong. Human Rights Watch. ISBN 1-56432-269-6. สืบค้นเมื่อ 28 September 2007.
  80. Amnesty International "China: The crackdown on Falun Gong and other so-called 'heretical organization'" เก็บถาวร 18 พฤษภาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 23 March 2000
  81. Ian Denis Johnson, "Death Trap – How One Chinese City Resorted to Atrocities To Control Falun Dafa" เก็บถาวร 6 เมษายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Wall Street Journal, Pulitzer.org, 26 December 2000.
  82. Kuhn 2004, p. 483.
  83. Kuhn 2004, p. 496.
  84. Yongnian, Zheng; Fook, Lye Liang (1 September 2003). "Elite politics and the fourth generation of chinese leadership". Journal of Chinese Political Science (ภาษาอังกฤษ). 8 (1): 65–86. doi:10.1007/BF02876950. ISSN 1874-6357. S2CID 144696105.
  85. 85.0 85.1 Kuhn 2004, p. 521.
  86. 86.0 86.1 Kuhn 2004, p. 522.
  87. Kuhn 2004, p. 497.
  88. Lam, Willy Wo-Lap (17 December 2002). "Hu strikes back at Jiang". CNN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 November 2022. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  89. Kuhn 2004, p. 527.
  90. Kuhn 2004, p. 540.
  91. "Information Control and Self-Censorship in the PRC and the Spread of SARS – Congressional-Executive Commission on China". cecc.gov. 6 May 2003. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2022. สืบค้นเมื่อ 6 December 2013.
  92. James Mulvenon. "Reduced Budgets, the "Two Centers," and Other Mysteries of the 2003 National People's Congress" (PDF). Media.hoover.org. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 26 June 2008. สืบค้นเมื่อ 14 November 2017.
  93. Cabestan, Jean-Pierre (8 October 2009). "China's Foreign- and Security-policy Decision-making Processes under Hu Jintao" (PDF). Journal of Current Chinese Affairs. 38 (3): 63–97. doi:10.1177/186810260903800304. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 December 2013. สืบค้นเมื่อ 6 December 2013.
  94. Hu, Richard (2023). Reinventing the Chinese City. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-21101-7.
  95. China's leadership makes show of unity ahead of key Communist Party congress เก็บถาวร 13 ตุลาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน International Herald Tribune
  96. "Former Leaders Visit Exhibition Marking 70th Anniversary of Long March – china.org.cn". Xinhua News. 22 October 2006. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  97. "Jiang given place of honour to see culmination of his efforts". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 9 August 2008. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  98. "Communist China celebrates 60th anniversary with instruments of war and words of peace". Los Angeles Times. 2 October 2009. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  99. "Where is Jiang Zemin?". Financial Times. 1 July 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 July 2011. สืบค้นเมื่อ 6 July 2011.
  100. "Jiang's Rumours of Death Spread". Nihon Keizai Shimbun. 6 July 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 July 2011. สืบค้นเมื่อ 7 July 2011.
  101. "Is China's Ex-Leader Jiang Zemin Dead? Local Censors Don't Want Any Speculation". Time. 6 July 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2011. สืบค้นเมื่อ 6 July 2011.
  102. "Jiang Zemin Appears in Public Three Months After Media Reports of Death". Bloomberg L.P. 9 October 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2013. สืบค้นเมื่อ 8 March 2017.
  103. "Former Chinese president at war parade amid infighting rumours". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 3 September 2015. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  104. 一如猜测江泽民现身上海科大惟影响力存疑 (ภาษาChinese (China)). 29 May 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 June 2017. สืบค้นเมื่อ 30 May 2017.
  105. "China's former leader Jiang Zemin at military parade amid infighting rumours". The Straits Times. 3 September 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 September 2017. สืบค้นเมื่อ 14 November 2017.
  106. "19th Party Congress: Former president Jiang Zemin's appearance quashes death rumour". The Straits Times. 18 October 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2017. สืบค้นเมื่อ 14 November 2017.
  107. 【李鹏逝世】中共七常委出席李鹏告别式 江泽民现身[图] (ภาษาChinese (China)). 29 July 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2019. สืบค้นเมื่อ 29 July 2019.
  108. "Ex-president Jiang joins mourners at Tiananmen premier's funeral". 29 July 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2019. สืบค้นเมื่อ 29 July 2019.
  109. "92-year-old Jiang Zemin makes rare appearance at Li Peng funeral". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 July 2019. สืบค้นเมื่อ 30 July 2019.
  110. "China's Jiang confounded doubters, mended U.S. ties". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 30 November 2022. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  111. "Ex-leader removed from China party congress as Xi eyes more power". euronews (ภาษาอังกฤษ). 22 October 2022. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  112. The-Cambridge Handbook Contemporary China. Cambridge University Press. 2001. p. 326. ISBN 978-0-521-78674-4.
  113. "Jiang Zemin – General Secretary of the CPC Central Committee". People's Daily. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2011. สืบค้นเมื่อ 4 December 2010.
  114. Buckley, Chris; Wines, Michael (30 November 2022). "Jiang Zemin, Leader Who Guided China into Global Market, Dies at 96". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  115. "Fast-track success of Jiang Zemin's eldest son, Jiang Mianheng, questioned by Chinese academics for years". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 9 January 2015. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  116. Nathan, Andrew J.; Bruce, Gilley (2002). China's New Rulers: The Secret Files (PDF). New York: New York Review of Books. p. 164. ISBN 1-59017-046-6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 April 2017. สืบค้นเมื่อ 12 September 2018.
  117. "Singer who disappeared six years ago resurfaces married to China president's brother". The Telegraph. 16 October 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 April 2018. สืบค้นเมื่อ 19 April 2018.
  118. "Asia Sentinel". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 January 2010. สืบค้นเมื่อ 11 September 2018.
  119. Parry, Simon. "Sleeping with the enemy". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2014. สืบค้นเมื่อ 14 April 2014.
  120. Fan, Jiayang. "SINGING FOR CHINA: SONG ZUYING IN NEW YORK". The New Yorker. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2014. สืบค้นเมื่อ 14 April 2014.
  121. "Humble hometown hesitant to talk about Peng Liyuan, China's first lady". South China Morning Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 September 2018. สืบค้นเมื่อ 11 September 2018.
  122. DeAeth, Duncan (21 January 2018). "Chinese starlet Song Zuying, many others, under investigation for corruption by CCP". Taiwan News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2018. สืบค้นเมื่อ 14 August 2018.
  123. Nakazawa, Katsuji. "Downfall of a diva mirrors Beijing's backstage politics". The Nikkei. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 August 2018. สืบค้นเมื่อ 14 August 2018.
  124. 124.0 124.1 Kissinger, Henry (2001). "Chapter 17". On China. Penguin Press HC. ISBN 978-1-59420-271-1.
  125. 125.0 125.1 Marquis, Christopher; Qiao, Kunyuan (2022). Mao and Markets: The Communist Roots of Chinese Enterprise. New Haven: Yale University Press. p. 252. doi:10.2307/j.ctv3006z6k. ISBN 978-0-300-26883-6. JSTOR j.ctv3006z6k. OCLC 1348572572. S2CID 253067190.
  126. McDonell, Stephen; Wong, Tessa (30 November 2022). "Former Chinese leader Jiang Zemin dies aged 96". BBC News (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  127. "Jiang Zemin, Leader Who Guided China into Global Market, Dies at 96". The New York Times (ภาษาจีน). 30 November 2022. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  128. "China mourns former leader Jiang Zemin with bouquets, black front pages". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 1 December 2022. สืบค้นเมื่อ 1 December 2022.
  129. Chatwin, Jonathan (2024). The Southern Tour: Deng Xiaoping and the Fight for China's Future. Bloomsbury Academic. ISBN 9781350435711.
  130. Lam, Willy. Chinese Politics in the Hu Jintao era. pp. 44–46
  131. "Profile: Jiang Zemin". BBC News. BBC. 23 October 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 December 2017. สืบค้นเมื่อ 21 July 2018.
  132. 132.0 132.1 江泽民"太任性" 习近平再造中共. Duowei News (ภาษาChinese (China)). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 September 2015. สืบค้นเมื่อ 25 October 2015.
  133. Miles, James A. R. (1997). The Legacy of Tiananmen: China in Disarray. University of Michigan Press. p. 59. ISBN 978-0-472-08451-7.
  134. 杨继绳:江泽民三件蠢事声望大大下降. Duowei News (ภาษาChinese (China)). 20 June 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 June 2015. สืบค้นเมื่อ 22 June 2015.
  135. Chen, Stella; Huang, Cary; Mai, Jun (30 November 2022). "Jiang Zemin: the president who took China from Tiananmen pariah to rising power". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  136. "Hu Jintao's weak grip on China's army inspired Xi Jinping's military shake-up: sources". South China Morning Post. 11 March 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 November 2015. สืบค้นเมื่อ 25 October 2015.
  137. Kuhn, 2004; Lam, 1997
  138. "China under Jiang Zemin". Facts and Details. 1 October 1928. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 November 2010. สืบค้นเมื่อ 7 March 2010.
  139. Willy Wo-Lap Lam. "Smoke clears over China's U.S. strategy". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 December 2013. สืบค้นเมื่อ 6 December 2013.
  140. "前往巴西进行国事访问途中对古巴作短暂访问江泽民主席抵达哈瓦那卡斯特罗主席到机场迎接江主席在机场发表书面讲话". People's Daily (govopendata.com). 23 November 1993. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 August 2022. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  141. "江泽民主席抵巴西访问佛朗哥总统举行隆重欢迎仪式并向江主席授勋两国元首在亲切友好气氛中举行会谈". People's Daily (govopendata.com). 24 November 1993. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 August 2022. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  142. Voronin, Viktor. "The State Awards Of Ukraine: Diplomatic Dimension (The Nature And Content, Main Categories, Concepts, Methodology And Principles Of Reward System)". cyberleninka.ru. p. 39. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 August 2022. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  143. "圆满结束马里之行开始访问纳米比亚江主席抵达温得和克努乔马总统在机场主持隆重欢迎仪式离开马里时江泽民同科纳雷亲切话别". People's Daily (govopendata.com). 19 May 1996. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 August 2022. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  144. "江泽民会见吉布提总统 指出中国十分珍视同吉布提的传统友谊". zhouenlai.info. 19 August 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2022. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  145. "资料:江泽民与曼德拉会谈 愿与南非建伙伴关系". Sohu (People's Daily). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 August 2022. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  146. "江泽民主席与希腊总统斯特法诺普洛斯会谈". People's Daily. 21 April 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 July 2019. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  147. "在与刚果共和国总统萨苏会谈时谈台湾问题 江主席强调对话谈判要有个基础就是首先必须承认一个中国原则". People's Daily. 29 December 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 September 2004. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  148. "江泽民访巴勒斯坦受到热烈欢迎". People's Daily. 17 April 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 September 2004. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  149. "德米雷尔总统盛宴欢迎江主席 向江主席授予土耳其国家勋章". People's Daily (govopendata.com). 21 April 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2022. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  150. "江泽民主席与希腊总统斯特法诺普洛斯会谈". People's Daily. 21 April 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 March 2005. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  151. "江主席会见希腊议长". People's Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 May 2004. สืบค้นเมื่อ 11 July 2021.
  152. "江泽民主席与文莱苏丹会谈". People's Daily. 17 November 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2004. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  153. "[CCA 17] La France et l'Indo-Pacifique" (ภาษาฝรั่งเศส). Les Jeunes IHEDN. 1 June 2020. สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  154. "Ordre de Tahiti Nui – Liste des titulaires". france-phaleristique.com (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 30 November 2022.
  155. "Указ Президента Российской Федерации от 31 October 2007 г. № 1440". President of Russia. 31 October 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2019. สืบค้นเมื่อ 21 August 2022.
  156. "President Xi Jinping receives Order of the Golden Eagle Awarded by President of Kazakhstan Kassym-Jomart Tokayev". Ministry of Foreign Affairs of China. 15 September 2022. สืบค้นเมื่อ 15 September 2022.

บรรณานุกรม

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya