ดูไบ
ดูไบ (อาหรับ: دبيّ, Dubayy; อังกฤษ: Dubai) เป็นนครใหญ่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 2 ล้านคน เมืองดูไบถือได้ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งบนโลก และมีอัตราการเจริญเติบโตของเมืองสูงมาก ชื่อในช่วงทศวรรษที่ 1820 ดูไบถูกกล่าวถึงในชื่อ อัลวาเซิล ตามนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ อย่างไรก็ตาม มีบางบันทึกที่อ้างถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือชื่อของรัฐที่ผู้คนท้องถิ่นบอกต่อ ๆ กันมาตามคติชน ที่มาของคำว่าดูไบ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่ามาจากภาษาเปอร์เซีย แต่บ้างก็เชื่อว่ามาจากภาษาอาหรับที่เป็นรากศัพท์ของคำ ตามที่เฟเดล แฮนด์ฮัล นักวิจัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คำว่า ดูไบ (Dubai) น่าจะมาจากคำว่า Daba (ดาบา) (ดัดแปลงมาจากคำว่า Yadub) ซึ่งมีความหมายว่าการคืบคลาน ซึ่งอาจมาจากการไหลของน้ำในคลองดูไบ (Dubai Creek) ที่อยู่ภายในแผ่นดิน ประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 1833 ชนเผ่าบานียาส ประมาณ 800 คน นำโดยตระกูลมักตูม ซึ่งยังเป็นผู้ปกครองรัฐอยู่ในปัจจุบัน ได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งบริเวณปากอ่าว ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นท่าเรือที่อุดมสมบูรณ์จึง ทำให้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าทางทะเล รวมทั้งการทำประมงและการทำฟาร์มไข่มุก หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 20 ดูไบก็กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการส่งออกที่สำคัญ โดยมีซุก (ชื่อเรียกของตลาดบริเวณตะวันออกกลาง) ขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าเดียรา (Deira) การค้าขายในดูไบประสบความสำเร็จมาก สามารถดึงดูดให้พ่อค้าชาวอิหร่าน และอินเดียมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้าขายในรัฐได้ แต่ขณะที่การค้าขายเจริญมากขึ้น ฐานะทางการปกครองของดูไบก็ยังคงเป็นแค่รัฐในอารักขาของอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งบนพื้นที่ทางตอนเหนือของชายฝั่งของคาบสมุทรอาหรับ ดังนั้นภายหลังจากที่อังกฤษได้ถอนตัวออกจากการปกครอง ในปี ค.ศ. 1971 ดูไบพร้อมด้วยอีกหลายรัฐ ได้ร่วมกันก่อตั้งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และถัดจากนั้นในช่วงยุค 1980-1990 ดูไบได้ลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ดูไบเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ โดยในปี ค.ศ. 2000 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าในดูไบมีจำนวน 3 แสนคน[4] ภูมิศาสตร์เมืองดูไบตั้งอยู่บนชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย ทางตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 16 เมตร รัฐดูไบติดต่อกับรัฐอาบูดาบีทางทิศใต้ ติดกับรัฐชัรญะฮ์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศโอมานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และยังมีแผ่นดินส่วนแยกติดกับเมืองฮัตตา ซึ่งมีประเทศโอมานและรัฐอื่น ๆ ได้แก่ รัฐอัจญ์มาน (ทิศตะวันตก) รัฐเราะซุลคัยมะฮ์ (ทิศเหนือ) และอ่าวเปอร์เซียทางทิศตะวันตก ดูไบตั้งอยู่ที่ 25°16′11″N 55°18′34″E / 25.2697°N 55.3095°E และมีพื้นที่ครอบคลุม 4,114 ตารางกิโลเมตร (1,588 ตารางไมล์) ดูไบตั้งอยู่ภายในทะเลทรายอาหรับ อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดูไบก็แตกต่างจากส่วนอื่น ๆ ทางใต้ของประเทศ เนื่องจากมีภูมิทัศน์เป็นทะเลทรายสวยงามมีลวดลาย ในขณะที่ทางตอนใต้ของประเทศเป็นทะเลทรายกรวด[5] ทรายประกอบด้วยเศษเปลือกหอย และเศษปะการัง สีขาวเรียบเนียน ทางตะวันออกของเมืองมีพื้นที่ราบเกลือ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ซับกาห์ (sabkha) ทอดจากทางเหนือไปใต้ตามสันทราย ไกลออกไปอีกทางตะวันออกมีสันทรายที่ใหญ่ขึ้นและมีสีแดงประกอบด้วยสารเหล็กออกไซด์[6] ทะเลทรายก็ยังแผ่ออกไปยังภูเขาฮาจาร์ตะวันตก ซึ่งมีความยาวไปตามอาณาเขตของดูไบ โอมานและเมืองฮัตตา แนวเขาฮาจาร์ตะวันตกจะมีอากาศแห้ง พื้นผิวขรุขระ ซึ่งภูเขาบางลูกมีความสูงประมาณ 1,300 เมตร ดูไบไม่มีแม่น้ำหรือโอเอซิสตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ดูไบก็ยังมีคลองดูไบ ขุดลอกโดยเรือ ซึ่งลึกพอที่เรือขนาดใหญ่จะสามารถแล่นผ่านได้ตลอดเส้นทาง ดูไบมีหุบเขาและบ่อน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ประปรายแถวภูเขาฮาจาร์ตะวันตก ส่วนทะเลทรายกว้างใหญ่ปกคลุมทางตอนใต้ของดูไบ และใต้ลงไปอีกก็จะเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่เรียกว่า ดิเอ็มทีควาร์เตอร์ (The Empty Quarter) ส่วนด้านวิทยาแผ่นดินไหว มีรอยเลื่อนที่ใกล้ที่สุดชื่อ รอยเลื่อนซาร์กอส (Zargos Fault) ตั้งอยู่ห่าง 120 กิโลเมตรจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอัตราการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนนั้นในดูไบมีความเสี่ยงไม่สูง[7] และผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดคลื่นสึนามิในพื้นที่ เพราะอ่าวเปอร์เซียมีความลึกไม่มากพอที่จะทำให้เกิดคลื่นขึ้นได้[7] ทะเลทรายที่ล้อมรอบดูไบมีหญ้าป่าและมีต้นอินทผลัมซาอุ (date palm) ขึ้นอยู่บ้าง มีต้นไฮยาซินธ์มากในบริเวณที่ราบซับกาห์ทางตะวันออกของเมือง มีต้นอาเคเชียและต้นกาห์ฟ (ghaf) ขึ้นในบริเวณภูเขาฮาจาร์ตะวันตก ส่วนพืชพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น อินทผลัมซาอุ และสะเดา ส่วนสัตว์พื้นเมืองของดูไบมักอาศัยอยู่ในทะเลทราย เช่น นกบัสตาร์ด ไฮยีนา คาราคัล สุนัขจิ้งจอกทะเลทราย เหยี่ยว และ โอริกซ์อาระเบีย ดูไบยังเป็นสถานที่แห่งหนึ่งของสัตว์อพยพจากทางยุโรป เอเชีย และแอฟริกาเมื่อถึงฤดูหนาว ซึ่งในจำนวนนี้มีนกมากกว่า 320 สายพันธุ์ และดูไบยังมีแหล่งน้ำที่มีปลาอาศัยอยู่กว่า 300 สายพันธุ์ เช่น ปลาตุ๊กแก (hammour) คลองดูไบ ทอดตัวผ่านเมืองจากทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่ตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนตะวันออกของเมืองพัฒนามาจากเดียร่า มีรัฐชัรญะฮ์ติดต่อทางตะวันออกและเมืองอัลอเวียร์ติดทางทิศใต้ ดูไบมีท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเดียร่า ในขณะที่มีปาล์มเดียร่าตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเดียร่าในอ่าวเปอร์เซีย อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จำนวนมากก่อสร้างขึ้นรวมเป็นกลุ่มทางตะวันตกของคลองดูไบบนแถบชายหาดจูเมร่าห์ ซึ่งท่าเรือราชิด ท่าเรือเจเบลอาลี บูร์จอัลอาหรับ เกาะปาล์มจูเมร่าห์ และสถานที่อื่น ๆ เช่นบิสสิเนสเบย์ ก็ตั้งอยู่ที่นี่เช่นเดียวกัน มีถนนหลัก 5 สายที่ผ่านดูไบ ได้แก่ ถนน E 11 (ถนนชิค ซาเยด), E 311 (ถนนเอมิเรตส์), E 44 (ทางหลวงดูไบ-ฮัตตา), E 77 (ถนนดูไบ-อัลฮาบับ) และ E 66 (ถนนอัดเมตา) เชื่อมโยงเมืองดูไบกับเมืองอื่นๆ และเอมิเรตส์ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสำคัญเชื่อมโยงสถานที่ต่าง ๆ ภายในเมือง เช่น D 89 (ถนนอัลมักทัม), D 85 (ถนนบานิยาส), D 75 (ถนนชิค ราชิด), D 73 (ถนนอัลดียาฟา), D 94 (ถนนจูเมราห์) และ D 92 (ถนนคาลีจ) ส่วนทางตะวันออกและตะวันตกของเมืองเชื่อมโดยสะพานอัลมักทัม สะพานอัลการ์ฮัด อุโมงค์อัลชินดากาห์ ทางตัดบิสสิเนสเบย์ และ สะพานโฟลททิง ภูมิอากาศดูไบเป็นเมืองที่มีอากาศแห้งแล้ง ในฤดูร้อนจะมีอุณหภูมิสูงมาก ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 42 องศาเซลเซียส และตอนกลางคืนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 23 องศาเซลเซียส และตอนกลางคืนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงที่สุดที่เคยวัดได้ในดูไบคือ 47.3 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้คือ 7 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนมีค่อนข้างน้อย ประมาณ 150 มิลลิเมตร (6 นิ้ว) ต่อปี ซึ่งจะมีมากในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม อย่างไรก็ตาม ฝนตกหนักที่สุดเคยเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988 มีปริมาณน้ำฝนถึง 150.2 มิลลิเมตรภายใน 24 ชั่วโมง[8] ปริมาณความชื้นในดูไบมีค่าประมาณ 60% และจะสูงกว่านี้ในช่วงเดือนที่มีอากาศเย็น
เมืองพี่น้องดูไบมีเมืองพี่น้องทั้งหมด 31 แห่ง ส่วนใหญ่จะมีการทำข้อตกลงหลังปี ค.ศ. 2002[10] สถานที่ท่องเที่ยว
ดูเพิ่มเชิงอรรถ
อ้างอิง
|