พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ (23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 — 29 ตุลาคม พ.ศ. 2404) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี เป็นต้นราชสกุล อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา พระองค์เป็นเจ้าฟ้าวังหน้าพระองค์ที่สองต่อจากสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร และเป็นเจ้าฟ้าวังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์จักรี
พระประวัติ
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 12 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี เมื่อแรกประสูติมีฐานันดรศักดิ์เป็น พระองค์เจ้า ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระองค์เจ้าอิศราพงศ์ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงษ์ เกวลวงษวิสุทธิ์ สุรสีหุตมศักดิ์ อภิลักษณ์ปวโรภยชาติ บริสัษยนารถนราธิบดี[1] เมื่อปี พ.ศ. 2394 ถือเป็นเจ้าฟ้าวังหน้าพระองค์ที่สองต่อจากสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร ซึ่งเจ้าฟ้าอิศราพงศ์เป็นเจ้าฟ้าวังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์จักรี[2] และทรงเป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่เป็นพระราชนัดดาของทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลานปู่) และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (หลานตา)
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2404 พระชันษา 40 ปี[3] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายถึงพระอาการประชวรของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ในพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราช ความว่า "...เจ้าฟ้าอิศราพงศ์เมื่อณวันจันทร์แรมสองค่ำเดือนสิบเอ็ด ได้ไปตามกระหม่อมฉันทอดกระฐินวัดบวรนิเวศ ที่แก้มของเธอข้างขวาเปนเมล็ดขึ้นมาแต่เมื่อไรไม่ทราบ เธอสำคัญว่าเปนสิว เธอบีบดังอาการเธอบีบสิว ก็ให้ปวดอักเสบบวมตั้งแต่หน้าตลอดลงมาถึงหน้าท้อง กรมนรานุชิตเสดจไปประทานยารักษา ครั้นอาการไม่ถอย ใช้ยาหมอบ้าง พระสงฆ์บ้าง กินแลทาแก้ไขไปหลายหมอ ที่บวมนั้นค่อยย่อมลง ครั้นณวันอาทิตย์แรมแปดค่ำเดือนสิบเอ็ดเวลากลางคืน พิศม์วรรณโรคนั้นกลับเข้าทำข้างใน ให้จุกเสียดบิ์ดอุจจาระปัสสาวะ มาจนวันอังคารแรมสิบค่ำเดือนสิบเอ็ดเวลาสี่โมงเช้าก็สิ้นชีวิตร กระหม่อมฉันได้ขึ้นไปอาบน้ำศพแล้วได้รับประทานจัดไว้ศพในโกษฐ์ตั้งไว้ที่บ้านของเธอ..."[4] พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุผ้าขาว วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404[5]
พระโอรสธิดา
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ มีพระโอรสธิดารวม 26 องค์ มีรายพระนามดังต่อไปนี้
- หม่อมเจ้าหญิงตะเภา
- หม่อมเจ้าหญิงจ้อย (สิ้นชีพิตักษัย 11 สิงหาคม พ.ศ. 2440 พระราชทานเพลิง ณ วัดชนะสงคราม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2453)
- หม่อมเจ้าหญิงแดง
- หม่อมเจ้าหญิงจริต
- หม่อมเจ้าชายกบ (สิ้นชีพิตักษัย 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2443)[6]
- หม่อมเจ้าหญิงอึ่ง
- หม่อมเจ้าหญิงดำ
- หม่อมเจ้าหญิงปุก เป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร ได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าอรรคนารี
- หม่อมเจ้าหญิงนกกระจาบ
- หม่อมเจ้าหญิงเล็ก
- หม่อมเจ้าชายทั่ง (พ.ศ. 2381 — 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ ปี พ.ศ. 2465)
- หม่อมเจ้าชายถึก
- หม่อมเจ้าชายเข็ม (พ.ศ. 2387 — 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2431) มีโอรส คือ
- พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (หม่อมราชวงศ์ประยูร อิศรศักดิ์)
- หม่อมนิวัทธอิศรวงศ์ (หม่อมราชวงศ์พยอม อิศรศักดิ์)
- หม่อมเจ้าชายพุก
- หม่อมเจ้าชายหอบ (พระราชทานเพลิง ณ วัดดุสิดาราม พ.ศ. 2411)
- หม่อมเจ้าชายตุ้ย
- หม่อมเจ้าชายเปียก (พ.ศ. 2390 — 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 พระราชทานเพลิง ณ วัดสังเวชวิศยาราม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2435) มีโอรส คือ
- หม่อมอนุวงศ์วรพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์สำเริง อิศรศักดิ์)
- หม่อมเจ้าหญิงปนปรุง บางแห่งว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงปุ้ย (พ.ศ. 2391 — 23 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2460)
- หม่อมเจ้าชายโศภณ
- หม่อมเจ้าหญิงกาษร (25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2401 — 27 ตุลาคม พ.ศ. 2467 พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ พ.ศ. 2468)
- หม่อมเจ้าชายราเชนทร์ (พ.ศ. 2402 — 7 มกราคม พ.ศ. 2470)
- หม่อมเจ้าชายบันลังก์ (พ.ศ. 2402 – 18 มีนาคม พ.ศ. 2428 พระราชทานเพลิง ณ วัดสังเวชวิศยาราม เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2434)
- หม่อมเจ้าชายต่อม
- หม่อมเจ้าหญิงเลื่อน[7] (พ.ศ. 2404 — 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428)
- หม่อมเจ้าหญิงเจียน (พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2458)
- หม่อมเจ้าหญิงแฉ่ง (พระราชทานเพลิงพร้อมหม่อมเจ้าหญิงเจียน)
พระอิสริยยศ
ธรรมเนียมพระยศของ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ |
---|
การทูล | ใต้ฝ่าพระบาท |
---|
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
---|
การขานรับ | พ่ะย่ะค่ะ/เพคะ |
---|
- 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 — พ.ศ. 2367 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศราพงศ์
- พ.ศ. 2367 — พ.ศ. 2394 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอิศราพงศ์ [8][9]
- พ.ศ. 2394 — 29 ตุลาคม พ.ศ. 2404 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์
- สมัยรัชกาลที่ 5 : พระเจ้าบวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์
- สมัยรัชกาลที่ 6 : พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์
พงศาวลี
พงศาวลีของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์
|
|
อ้างอิง
|
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | | |
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | |
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ | |
---|
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ | |
---|
* กรมพระราชวังบวรสถานมงคล X ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ |