Share to:

 

หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์

หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์
หม่อมเจ้า ชั้น 4
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
ดำรงตำแหน่งพ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2517
ก่อนหน้าหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ถัดไปแสวง สดประเสริฐ
ประสูติ28 ธันวาคม พ.ศ. 2453
วังท่าพระ
สิ้นชีพิตักษัย28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 (85 ปี)
พระบุตรหม่อมราชวงศ์ดวงใจ ชุมพล
หม่อมราชวงศ์เอมจิตร จิตรพงศ์
ราชสกุลจิตรพงศ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
พระมารดาหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์

ศาสตราจารย์ พันเอก หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ (28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539) เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์

ประวัติ

หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ เมื่อแรกประสูติ พระบิดาประทานพระนามลำลองว่า 'ไส' ด้วยเป็นพระโอรสองค์ที่ 4 จึงประทานพระนามตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ต่อมาจึงประทานพระนามอย่างทางการว่า "ยาใจ" มีโสทรภคินีและโสทรภราดา 5 องค์ ได้แก่[1]

ปฐมวัย

หม่อมเจ้ายาใจโปรดการวาดภาพมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเคยนำกำหนดการทำขวัญเดือนหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ โสทรขนิษฐา ซึ่งพระยาโหราธิบดีได้คำนวณหาฤกษ์ไว้นั้นไปเขียนภาพครุฑตามแบบตราที่ปรากฏอยู่บนซองจดหมายราชการ เมื่อเยาว์ชันษานั้น หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ให้ลูก ๆ เล่นกันที่เฉลียงบนตำหนัก ไม่ให้ไปไกลตา แต่อนุญาตให้ไปดูช้างที่ยืนโรงอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ บางคราวก็เลยไปดูจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นสิ่งที่หม่อมเจ้ายาใจโปรดมาก พอกลับมาก็ทรงนำชอล์กเขียนภาพยักษ์ไว้ที่บานประตูห้องบ้าง เวลาบรรทมเล่นก็เขียนภาพที่ฝาห้องจนเต็มผนัง

หม่อมเจ้ายาใจประชวรบ่อยเมื่อเยาว์ชันษา หม่อมราชวงศ์โตผู้เป็นมารดาประคับประคองมาก รวมไปถึงหม่อมเจ้าแดง งอนรถ และหม่อมวัน งอนรถ ณ อยุธยา อัยกาและอัยยิกาฝ่ายมารดาด้วย หม่อมวันนั้นถึงกับเดินทางมาจากวังล่างที่ปากคลองตลาด มาช่วยเลี้ยงหลานชายคนโต หม่อมเจ้าแดงก็พลอยดีหทัย เมื่อหลาน ๆ ไปเฝ้าก็ให้ทำร้านสูง ๆ ตั้งอ่างใบโตใส่น้ำต่อท่อเป็นฝักบัวให้หลาน ๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน หม่อมเจ้ายาใจเองทรงซุกซน ทรงเคยแอบนำบุหรี่ไทยที่อัยกาทรงมาสูบจนเมากลิ้งไป ซึ่งยาสูบนี้เอง เป็นภัยต่อท่านจนตลอดชนม์ชีพ

การศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส จนสอบได้ชั้นที่ 2 แล้วจึงกลับเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกรุงปารีส จนได้รับปริญญาด้านออกแบบศิลปอุตสาหกรรม

การทรงงาน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเห็นว่าเลี้ยงดูประคับประคองมากเกินไป ประจวบกับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงจัดระเบียบโรงเรียนนายร้อยเสียใหม่ ทรงรับนักเรียนไปฝึกหัดแต่ยังเด็กด้วย จึงทรงพาพระโอรสไปสมัครเป็นนักเรียนนายร้อย เช่นเดียวกับพระอนุวงศ์ที่เยาว์ชันษาอีกหลายองค์ ในเวลาหยุดเทอม พระบิดาก็ทรงฝากให้ไปประทับกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ที่อำเภอศรีราชา บางคราวก็ขอประทานฝากไปประทับกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ที่หัวหิน ด้วยหัวหินนั้นมีอากาศดี และเมื่อไปประทับที่หัวหินนั้นทำให้ได้รู้จักผู้มีความสามารถ หม่อมเจ้ายาใจจึงแข็งแรงดีและทรงมีประสบการณ์ดีขึ้นมาก ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยหลายปีจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงลาออก และเสด็จไปศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศสโดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรเป็นผู้ดูแล ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมแวไซล์ โรงเรียนเตรียมอุดม (ในกรุงปารีส) และมหาวิทยาลัยกรุงปารีสตามลำดับ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาออกแบบศิลปอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยกรุงปารีส เมื่อพ.ศ. 2475 และเสด็จกลับมายังประเทศไทยในอีกสามปีถัดมา หม่อมเจ้ายาใจทรงปฏิบัติหน้าที่พระโอรสองค์ใหญ่เป็นอย่างดี ทรงงานในกรมศิลปากรโดยที่ยังมิได้บรรจุเป็นข้าราชการในปีนั้น ซึ่งพระบิดาประทานพระโอวาทไว้ว่า "เกิดมาเป็นพระราชวงศ์ต้องทำราชการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินและชาติบ้านเมือง อันมีบุญคุณแก่พ่อมาก พ่อแก่แล้วทำราชการไม่ไหว ขอให้รับราชการแทนตัวพ่อ ถึงจะยากลำบากก็ขอให้อดทนรับราชการสืบทอดต่อไป ได้เงินเดือนเท่าไรก็ใช้ให้พอ อย่าบ่น อย่าว่า และอย่าลาออก" หม่อมเจ้ายาใจก็ทรงทำตามพระโอวาท รับราชการในกรมศิลปากรจนเกษียณอายุ ทรงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และทรงดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อชันษามากขึ้น ก็ยังทรงงานต่างๆ จนทรงทำมิได้แล้วจึงงดไว้ เมื่อหม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์เข้าไปรับราชการแทนองค์แล้วจึงทรงออกจากราชการ

หม่อมเจ้ายาใจทรงเป็นหนึ่งในผู้มีความรู้ในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างดียิ่ง ทรงเคยรับหน้าที่ในการบูรณะปราสาทขอมหลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง รวมทั้งเป็นผู้ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีด้วย

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ได้รับการทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เสกสมรส

หม่อมเจ้ายาใจเสกสมรสกับหม่อมจักลิน จิตรพงศ์ ณ อยุธยา (ดูบัว) ราว พ.ศ. 2475 -2476 ณ ประเทศฝรั่งเศส มีธิดา 2 คน ได้แก่

สิ้นชีพิตักษัย

เมื่อ พ.ศ. 2539 หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ประชวรด้วยพระโรคปอดอักเสบ และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สิริชันษา 85 ปี นับป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีกองค์หนึ่ง ดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพว่า "มีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง บางทีข้าพเจ้าก็เผลอคิดไปว่าจะไปทูลถามที่วังคลองเตย แล้วก็นึกออกว่าท่านไม่อยู่แล้ว ก็ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ"

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แหล่งข้อมูลอื่น

  • สิทธิธรรม โรหิตะสุข. “สถาปนิกเลือดน้ำเงินกับศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย: แนวคิดและบทบาทของสถาปนิกชั้นหม่อมเจ้าในช่วง พ.ศ. 2475-2505.” ใน ถนอม ชาภักดี และคนอื่นๆ (บก.), เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 11 เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์. น. 22-37. กรุงเทพฯ: มีดี กราฟิก, 2560.

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๖๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘, ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๗, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา[ลิงก์เสีย], เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๘๔, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ เก็บถาวร 2022-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๓๙ ง หน้า ๓๐๓๙, ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๒๒ ง หน้า ๗๒๕, ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๘


ก่อนหน้า หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ถัดไป
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่ 6
(พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2517)
แสวง สดประเสริฐ
Kembali kehalaman sebelumnya