เหตุโจรกรรมร้านทองในจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2563
เหตุโจรกรรมร้านทองในจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2563 เป็นเหตุการณ์โจรกรรมร้านทองออโรร่าภายในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลพบุรี จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลาประมาณ 20.47 นาฬิกา ได้เกิดเหตุคนร้ายโจรกรรมทองภายในร้านทองออโรร่าและใช้ปืนพกกราดยิงใส่คนภายในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลพบุรี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บ 4 ราย[3] ก่อนขี่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าหลบหนีไป[4] ต่อมาในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุ คือ ประสิทธิชัย เขาแก้ว อายุ 38 ปี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนวัดโพธิ์ชัยในจังหวัดสิงห์บุรี[5] ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพาษาประหารชีวิตประสิทธิชัย[6] และศาลอุทธรณ์กับศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต[7][8] เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของรัชกาลที่ 10 ทำให้เขาจะได้รับการลดโทษจากประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต[9] การก่อเหตุในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีคนร้ายสวมเสื้อยืดแขนยาวสีดำ สวมกางเกงลายพราง สวมรองเท้าคอมแบต สวมหมวกไอ้โม่ง และสะพายกระเป๋าเป้สีแดง จอดจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าบริเวณประตูด้านข้างของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลพบุรี[10] แล้วเดินเข้าไปในห้าง โดยเดินไปที่ร้านทองออโรร่า ระหว่างนั้นคนร้ายได้เห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งอยู่ที่หน้าร้านทองออโรร่าจึงพยายามใช้ปืนพกติดท่อเก็บเสียงเล็งที่ศีรษะของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่กระสุนพลาดไปโดนหัวไหล่ หลังจากนั้นคนร้ายได้ใช้ปืนพกยิงใส่คนที่กำลังเลือกซื้อทอง 3 คน[11] แล้วยิงใส่พนักงานร้านทองออโรร่า 3 คน ซึ่งกระสุนถูกพนักงานได้รับบาดเจ็บ 2 คน ส่วนพนักงานอีกคนหลบไปที่ด้านหลังของร้าน จากนั้นคนร้ายได้กระโดดขึ้นไปบนตู้ทอง แล้วใช้ปืนพกยิงนางสาวธิดารัตน์ ทองทิพย์ อายุ 31 ปี พนักงานร้านทองออโรร่าที่ได้รับบาดเจ็บเข้าที่หน้าจนเสียชีวิตแล้วกวาดทองน้ำหนัก 28 บาทซึ่งมีมูลค่ารวม 672,000 บาท หลังจากนั้นคนร้ายได้ยิงเพื่อเปิดทางแต่กระสุนได้กระดอนกับพื้นแล้วเข้าที่ศีรษะของเด็กชายภานุวิทธญ์ วงษ์อยู่ อายุ 2 ขวบ ขณะกำลังเดินไปกินเลี้ยงปีใหม่กับพ่อแม่จนได้รับบาดเจ็บสาหัส[12] ระหว่างที่คนร้ายได้พยายามหลบหนีจากที่เกิดเหตุ นายธีรฉัตร นิ่มมา อายุ 33 ปี ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายในห้างได้พยายามปิดประตู แต่ถูกคนร้ายใช้ปืนพกยิงเข้าที่มือทำให้ต้องหนีเข้าไปในร้านเคเอฟซี แต่ถูกคนร้ายยิงซ้ำเข้าที่ใบหน้าจนเสียชีวิตภายในร้าน[13][14][15][16] หลังจากนั้นคนร้ายได้กระแทกประตูอัตโมมัติจนเปิดประตูได้ ก่อนจะขี่รถจักรยานยนต์หลบหนี แต่มีพลเมืองดีคนหนึ่งพยายามจะถีบรถของคนร้ายเพื่อประวิงเวลาแต่ถูกคนร้ายยิงสวน หลังจากนั้นคนร้ายได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป[17][18] ภายหลังจากเกิดเหตุได้มีพลเมืองดีเข้าช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ[19] หลังจากนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ต่อมาเด็กชายภานุวิทธญ์ วงษ์อยู่ อายุ 2 ขวบ ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์นี้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลเมืองนารายณ์[20][21] การสืบสวนในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563 พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดาซึ่งเป็นบัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เดินทางมาติดตามคดีและประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนที่สถานีตำรวจท่องเที่ยว 2 ในจังหวัดลพบุรีเพื่อติดตามหาคนร้ายในวันต่อมาวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563 ในช่วงเวลา 18.00 น. พลตำรวจเอกสุชาติ ธีระสวัสดิ์ ได้ระบุและตรวจสอบกระสุนปืนที่พบในที่เกิดเหตุจำนวณ13นัดและตั้งข้อสังเกตว่าคนร้ายเชี่ยวชาญอาวุธปืน ในช่วงเวลา 19.00 น.พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดาได้ระบุสั้นๆก่อนจะเดินทางกลับว่า"คดีมีความคืบหน้าไปมากตำรวจได้รับภาพกล้องหน้ารถจากประชาชนจำนวนมากซึ่งต้องวิเคราะห์และพิสูจน์เพื่อทำให้เกิดความชัดเจน" ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 ในช่วงเช้ามืดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นเป้าหมาย 10 จุดในจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรีเพื่อหาหลักฐานในการจับกุม[22] ในช่วงเวลา 20.00 น.พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดาได้แถลงการภายหลังการประชุมเป็นเวลา1ชั่วโมงครึ่งโดยยืนยันคดีมีความคืบหน้าพอสมควรและการตรวจค้นเมื่อช่วงเช้ามืดทำให้ได้หลักฐานบางส่วนแต่ไม่สามารถเปิดเผยมากและผู้ต้องสงสัยไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้วแต่น่าจะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณชายแดนแล้ว[23] ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ของกองพิสูจน์หลักฐานได้นำรองเท้าผ้าใบที่ใกล้เคียงกับรองเท้าของคนร้ายไปเทียบกับผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวมาจากจังหวัดหนองคาย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการโจรกรรมหรือไม่แต่ก็มีรายงานว่าผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวถูกสอบปากคำจนเกิดความเครียด[24][25] การจับกุมก่อนการจับกุมประมาณ 1 สัปดาห์เจ้าหน้าที่ได้รับเบาะแสจากพลเมืองดีว่าประสิทธิชัย เขาแก้วเป็นผู้ต้องสงสัยมากที่สุด ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่นำตรวจสอบรายชื่อผู้ครอบครองอาวุธปืนยี่ห้อเดียวกับที่คนร้ายใช้ก็พบว่าพ่อของประสิทธิ์ชัยซึ่งเป็นตำรวจนอกราชการ เป็นผู้ครอบครองปืนและได้เชื่อมโยงหลักฐานต่าง ๆ ว่าประสิทธิ์ชัยเป็นคนร้าย พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดาได้ให้พนักงานสอบสวนของกองปราบไปรวบรวมหลักฐานเพื่อขอหมายจับจากศาลอาญาโดยไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลไปและศาลอาญาได้ออกหมายจับประสิทธิชัยเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563 หลังศาลออกหมายจับพลตำรวจโทจิรภพ ภูริเดชได้สั่งการให้พลตำรวจโทวิจักขณ์ ตารมย์นำเจ้าหน้าที่ชุดหนุมานกองปราบไปตามแกะรอยประสิทธิ์ชัยจนทราบที่พักของประสิทธิชัยและทราบว่าประสิทธิชัยจะขับรถไปสอนหนังสือที่โรงเรียนวัดโพธิ์ชัยในช่วงเช้าของวันที่ 22 มกราคม เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ชุดหนุมานกองปราบพร้อมกับอาวุธครบมือได้เฝ้าสังเกตกาณ์ประสิทธิ์ชัยก่อนจะเห็นประสิทธิ์ชัยขับรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูสีดำ ซีรีส์ 5 เจ้าหน้าที่จึงสะกดรอยตามรถของประสิทธิชัยจนถึงบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 311 ที่ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีแล้วแสดงตัวจับกุมซึ่งประสิทธิชัยไม่ได้ขัดขืนและพบกระสุนปืนขนาด 9 มิลลิเมตรในรถยนต์[26][27] ผู้ก่อเหตุ
นายประสิทธิชัย เขาแก้ว (เกิด 26 ธันวาคม พ.ศ. 2524) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เข้ารับราชการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ได้รับบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วยที่โรงเรียนวัดใดใหญ่ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และได้รับการย้ายการดำรงตำแหน่งครูที่โรงเรียนเมืองใหม่ (ชลอราษฎร์รังสฤษฏ์) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นครูวิชาพลศึกษาในฐานะครูชำนาญการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เขาได้รับการดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโพธิ์ชัยแต่ยังไม่ได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างเต็มตัวเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการกำหนดหลักเกณฑ์การดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนใหม่ว่า "จะต้องมีผลงานและต้องประเมินผลงานก่อน"[30][31][32]ซึ่งประสิทธิชัยมีนิสัยชอบยิงปืน[33] และเขาเคยพาภรรยาไปดูทอง ที่ร้านทองออโร่ร่าภายในห้างสรรพสินค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ลพบุรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยมีธิดารัตน์ ทองทิพย์ เป็นพนักงานขาย[34] คำสารภาพหลังการจับกุมเขาได้สารภาพว่านำทอง ไปทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานบางระจันในจังหวัดสิงห์บุรี[35] แต่เจ้าหน้าที่ค้นหาก็ไม่พบ ต่อมาในเวลา21.00น.ภรรยาของประสิทธ์ชัยที่ตำรวจได้เชิญมาสอบสวนได้สารภาพว่าทอง ที่ขโมยมาอยู่ที่บ้านพัก[36] หลังการตรวจพบเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พบทอง ที่ขโมยมาซ่อนอยู่ในหลังคาโรงรถในบ้านของพ่อแม่ของประสิทธิชัย[37] และประสิทธิชัยได้สารภาพว่าภายหลังก่อเหตุประสิทธิชัยได้มีความเครียด แต่ต่อมา 3 ถึง 4 วันประสิทธิชัยก็ไม่เครียดเนื่องจากจะไปมอบตัวที่สถานีตำรวจท่องเที่ยวลพบุรีภายใน 1–2 วันนี้[38] เพราะรู้สึกว่าหลบหนีก็ไม่รอดและไม่เชื่อว่าตำรวจจะจับกุมประสิทธิชัยไม่ได้เนื่องจากหลักฐานต่าง ๆ เช่นรถและกล้องวงจรปิด ส่วนสาเหตุที่เลือกเวลา 20.47 น.เป็นเวลาก่อเหตุเพราะเป็นเวลาเลิกงานของประสิทธิชัยและในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น.ของวันเกิดเหตุประสิทธิชัยได้บอกกับพ่อตาและแม่ยายว่าจะไปทำธุระ[39] ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แถลงข่าวนำของกลางที่ยึดมาจากประสิทธิชัยมาจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซักถามประสิทธิชัยซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองปราบปรามผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ซึ่งถือว่าเป็นการโฟนอินผู้ต้องหาเป็นครั้งแรกในประวัติศาตร์ไทย[40]ประสิทธ์ชัยได้ระบุแรงจูงใจว่าเกิดจากปัญหาส่วนตัวและปัญหาการเงินของประสิทธิชัยและไม่ได้เป็นไปตามบางข่าวหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ว่าประสิทธิชัยต้องการฆ่าตัวตายโดยการวิสามัญฆาตกรรม เมื่อสื่อมวลชนถามเขาว่า ถ้าต้องการทองทำไมถึงต้องยิงคน ประสิทธิ์ชัยได้ตอบว่า "เป็นการยิงเพื่อขู่หรือยิงเพื่อเปิดทาง" โดยประสิทธิชัยยิงที่ตู้กระจก 2 นัด และไม่คิดว่ากระสุนจะไปถูกพนักงานในร้านทองและอ้างว่าตอนอยู่บนตู้กระจกถุงมือติดไกปืนจึงพยายามดึงถุงมือออกทำให้ปืนลั่นใส่พนักงานจนเสียชีวิต[41] ส่วนการยิงเด็กชายภานุวิทธญ์ ประสิทธิชัยอ้างว่าไม่เห็นภานุวิทธญ์ และประสิทธิชัยยิงพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อเปิดทาง ประสิทธิชัยได้บอกว่า "ผมคิดว่ากระสุนแฉลบไปถูกเด็กและผมไม่ตั้งใจยิงภานุวิทธญ์ และอยากกล่าวเสียใจญาติของผู้เสียชีวิตและทุกคนที่ผมยิง" และเขายังยอมรับอีกว่าการก่อเหตุครั้งนี้ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า 2–3 วันและยืนยันว่าก่อเหตุคนเดียวและไม่ได้ปรึกษาใครและย้ำว่า "ผมสำนึกผิด" เมื่อสื่อมวลชนถามเขาว่า หลังก่อเหตุแล้วทำไมถึงใช้ชีวิตอย่างสุขสบายตามข่าว ประสิทธิชัยได้พูดติดขัดเล็กน้อยว่า "เอ่อ...ผมพยายามทำตัวให้ปกติ ไม่คิดจะหลบหนีและไม่คิดอะไรกับการก่อเหตุและเสียใจกับการกระทำทุกครั้งที่เห็นข่าว" ซึ่งการโฟนอินของประสิทธิชัยใช้เวลาทั้งหมด 12 นาทีเนื่องจากประสิทธิชัยแจ้งพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดาซึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า "ผมขออนุญาตตอบคำถามเท่านี้" จำนวน 2 ครั้งหลังจากนั้นสัญญาณโทรศัพท์ของฝ่ายประสิทธิชัยดับลง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยืนยันว่าจะไม่มีนำประสิทธิชัยไปทำแผนประกอบการรับสารภาพและจะยื่นเรื่องต่อศาลอาญารัชดาที่ถนนรัชดาภิเษกเพื่อขออนุมัติในการฝากขังประสิทธิชัยในช่วงเย็นวันนี้[42][43][44] เมื่อเวลา 15.20 น.เจ้าหน้าที่ชุดหนุมานกองปราบได้ควบคุมตัวประสิทธิชัยมายังศาลอาญารัชดาเพื่อนำมาฝากขังเป็นผัดแรก ซึ่งระหว่างการควบคุมตัวประสิทธิชัยได้มีคนตะโกนว่า"ขอให้โดนประหารชีวิต" ต่อมาในเวลา 16.10 น.เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวประสิทธิชัยไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ กฤช กระแสร์ทิพย์ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้เปิดเผยว่าจะให้นักจิตวิทยาประเมินสภาพจิตใจของประสิทธิชัย หากประสิทธิชัยมีความเครียดสูงมากนักจิตวิทยาจะให้กินยาคลายเครียด ส่วนมาตรการป้องกันความปลอดภัย โดยหลังจากนั้นจะนำตัวประสิทธิชัยไปคุมขังภายในแดนที่ 1 โดยให้ผู้ต้องขังพี่เลี้ยงจำนวน 2 คนดูแลประสิทธิชัยอย่างใกล้ชิด[45] การพิจารณาคดีและคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ศาลอาญารัชดาได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตประสิทธิชัยและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายจำนวณ 10 คนด้วยเงินตั้งแต่ 9 หมื่นบาทถึง 2.2 ล้านบาทพร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งศาลได้พิเคราะห์ว่าประสิทธิชัยมีความผิดจริงและคำสารภาพของประสิทธิชัยไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีและคำสารภาพของประสิทธิชัยเกิดจากประสิทธิชัยจำนนต่อหลักฐานและประสิทธิชัยไม่ได้มามอบตัว หลังฟังคำพิพาษาประสิทธิชัยนัยน์ตาแดงและได้ก้มกราบพร้อมกับพูดขอโทษผู้เสียหายและพูดกับนักข่าวว่า "รู้สึกเสียใจและพร้อมรับโทษที่ได้รับ"[46][47] ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ศาลอาญารัชดาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ผ่านการประชุมทางไกลด้วยวีดิทัศน์ให้ประหารชีวิตประสิทธิชัยและให้ชำระดอกเบี้ยอัตราใหม่ร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564 จนกว่าจะชำระค่าสินไหมทดแทนจนครบ โดยชี้ว่าการอุทธรณ์ขอลดโทษของประสิทธิชัย อีกทั้งประสิทธิชัยยังพยายามบรรเทาผลร้ายโดยการมอบเงินเยียวยาผู้เสียหายแต่ก็ฟังไม่ขึ้นและพฤติการณ์ของประสิทธิชัยเป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้ายซึ่งขัดต่อหลักความสงบและไร้มนุษยธรรม [48][49]ต่อมาประสิทธิชัยได้ยื่นฎีกาเพื่อขอให้ลดโทษ ซึ่งศาลอาญารัชดาได้นัดอ่านคำพิพากษาของคดีประสิทธิชัยไว้วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2566 และในช่วงเช้าของวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2566 ศาลได้เบิกตัวประสิทธิชัยมาจากเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งก่อนอ่านคำพิพากษาประสิทธิชัยได้มีโอกาสพูดคุยกับบิดมารดาสั้นๆ ซึ่งประสิทธิชัยบ่นว่า"แว่นสายตาที่ใช้อยู่ สภาพไม่ทนทานอยากเปลี่ยนแว่นใหม่" โดยผู้สื่อข่าวได้ถามประสิทธิชัยว่าในเรือนจำได้ทำอะไรบ้าง ประสิทธิชัยตอบว่า"สอนหนังสือให้เด็กครับ"[50] เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลฎีกาได้พิพากษายืนประหารชีวิตประสิทธิชัยตามศาลชั้นต้นเเละศาลอุทรณ์ โดยชี้ว่าฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นเพราะพฤติการณ์ของประสิทธิชัยเป็นการกระทำอย่างอุกอาจในห้างสรรพสินค้าอันเป็นที่สาธารณะ กระทำต่อผู้บริสุทธิ์มีคนตายบาดเจ็บหลายคน รวมถึงคนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย อันเป็นพฤติการณ์อุกอาจโหดเหี้ยมอันตรายร้ายแรงผิดมนุษย์ จำเลยเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ควรมีจิตสำนึกที่ดี ให้สมกับมีอาชีพเป็นครู ควรประพฤติตัวให้เป็นเยี่ยงอย่าง กลับกระทำอย่างอุกฉกรรจ์ ซึ่งเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิตประสิทธิชัยส่งผลให้คดีของประสิทธิชัยถือเป็นที่สิ้นสุด[51][52][53][54][55] วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งตามมาตรา 17 ของพระราชกฤษฎีการะบุว่านักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหาร ให้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่งผลให้ประสิทธ์ชัย และนักโทษประหารเด็ดขาดทุกคนซึ่งรวมถึงบรรยิน ตั้งภากรณ์ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมอำพรางชูวงศ์ แซ่ตั้ง และอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ,วิชัย พุ่มเรือง คนขับรถยนต์ให้นายกเทศบาลตำบลคลองหาด ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรมนางสายันต์ จันทา หรือเจ๊สายันต์ และนายพิพัฒน์ ตั้งพงศ์ทอง หรือเฮียกวง เศรษฐีตลาดโรงเกลือ[56] ,ยุทธ เบ็ญจชาติ , นายสามารถ แสงสิน และนายภาณุเมศวร์ มีลา ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมสุภัคสรณ์ หรือหญิง พลไธสง สาวทอม แล้วนำศพไปโบกปูนฝังที่รีสอร์ทในจังหวัดกาญจนบุรี[57] ,ศุภชัย ภาโส หรือผู้กองเหน่ง ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมจุฑาภรณ์ อุ่นอ่อน หรือ ผอ.อ้อย แล้วนำศพไปอำพรางบริเวณสามเหลี่ยมมรกต[58] จะได้รับการลดโทษจากประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ[59] ปฏิกิริยานางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้พร้อมทั้งกำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีให้เร็วที่สุด[60] สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แถลงถึงเหตุการณ์นี้ว่า "ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ คนที่เสียชีวิตเป็นคนสำคัญของครอบครัว ในประเทศของเราไม่เคยมีเรื่องโหดเหี้ยมและก้าวร้าวรุนแรงขนาดนี้ โดยปกติที่มีการปล้นฆ่าจะมีการขู่เจ้าทรัพย์ให้หลบหนีและไว้ชีวิตแต่ในเหตุการณ์นี้ไม่ว่าใครที่อยู่ในเส้นทางที่คนร้ายเดินผ่าน เขายิงทุกคนถือเป็นการกระทำที่ทารุณและโหดร้ายยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานและสนับสนุนประหารชีวิตกับคนร้ายโดยไม่มีการลดโทษและพร้อมมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหาย"[61][62] สิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครของพรรคพลังประชารัฐและประธานอนุกรรมาธิการศึกษากระบวนการยุติธรรม ได้แสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียหายและขอให้ตำรวจติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีให้เร็วที่สุดพร้อมกับเสนอให้การพิจารณาบทลงโทษจำแนกออกมาโดยไม่รวมกับผู้ต้องหาคดีทั่วไปเนื่องจากมีพฤติกรรมโหดเหี้ยมและการควบคุมตัวภายในเรือนจำต้องเฝ้าระวังตัวป็นพิเศษโดยอย่าให้เกิดเหตุเหมือนกรณีของสมคิด พุ่มพวง ที่ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง 5 ศพใน พ.ศ. 2548 ซึ่งได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตแต่ได้รับการลดโทษและถูกปล่อยตัวออกก่อนจะก่อเหตุฆาตกรรมครั้งใหม่ และมีความคิดเห็นว่า “ผมเห็นว่าคดีปล้นฆ่าที่ลพบุรีได้ทองไป 28 บาท ฆ่าคนไปสามศพและบาดเจ็บสาหัสสี่รายซึ่งผู้ก่อเหตุไร้จิตสำนึกเลวร้ายกว่าคดีคิดหกศพ ถ้าคนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่จะเป็นภัยต่อสังคมและหากมีการวิสามัญฆาตกรรมผมก็เชื่อว่าสังคมจะไม่ติดใจการทำหน้าที่ของตำรวจ แต่ก็แน่นอนว่าการไล่ล่าจับกุมหรือหากมีเหตุที่ต้องนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดและต้องการให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เร่งรัดการรื้อระบบพักโทษและลดโทษให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”[63] หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเร่งให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้พร้อมกับกำชับให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดลพบุรีดูแลทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน[64] อ้างอิง
|