ไข้หวัดใหญ่สเปน
การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ ค.ศ. 1918 (มกราคม ค.ศ. 1918 – ธันวาคม ค.ศ. 1920 หรือคำรู้จักว่าไข้หวัดใหญ่สเปน) เป็นการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากผิดปกติ โดยเป็นโรคระบาดทั่วครั้งแรกจากสองครั้งที่เกี่ยวข้องกับไวรัสไข้หวัดใหญ่เอช1เอ็น1[2] มีผู้ได้รับผลกระทบ 500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งรวมหมู่เกาะแปซิฟิกห่างไกลและอาร์กติก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 ล้านคน ทำให้เป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ[1][3][4][5] การระบาดของไข้หวัดใหญ่ส่วนมากทำให้เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่อ่อนแออยู่แล้วเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น ในทางตรงข้าม การระบาดทั่ว ค.ศ. 1918 จะทำให้ผู้ใหญ่ตอนต้นที่เดิมสุขภาพดีเสียชีวิตมาก การวิจัยสมัยใหม่โดยใช้ไวรัสที่นำมาจากศพของผู้เสียชีวิตที่ถูกแช่แข็ง สรุปว่าไวรัสทำให้เสียชีวิตได้จากไซโทไคน์สตอร์ม (คือ ปฏิกิริยามากเกินของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย) ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของผู้ใหญ่ตอนต้นทำร้ายร่างกาย ขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าของเด็กและผู้ใหญ่วัยกลางคนทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าในกลุ่มเหล่านี้[6] ข้อมูลประวัติศาสตร์และวิทยาการระบาดไม่เพียงพอระบุแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของการระบาดทั่วนี้[1] การระบาดนี้เกี่ยวพันในการระบาดของเอ็นเซฟาไลติส ลีทาร์จิกา (encephalitis lethargica) ในคริสต์ทศวรรษ 1920[7] นิรุกติศาสตร์ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีชื่อไข้หวัดใหญ่สเปน แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และการระบาดวิทยาไม่สามารถระบุแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของไข้หวัดใหญ่สเปนได้[1] ที่มาของชื่อ "ไข้ใหญ่หวัดสเปน" เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดจากฝรั่งเศสไปยังสเปนในเดือนพฤศจิกายน 1918[8][9] ในเวลานั้นสเปนไม่ได้เข้าร่วมสงครามยังคงเป็นกลางไว้ และไม่เคยมีการตรวจพิจารณาสื่อในช่วงสงคราม[10][11] หนังสือพิมพ์จึงมีอิสระที่จะรายงานผลกระทบของโรคระบาด เช่น กษัตริย์อัลฟองโซที่สิบสามป่วยหนัก และเรื่องราวการระบาดอย่างกว้างขวาง ข่าวเหล่านี้สร้างความความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสเปนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดผลกระทบอย่างรุนแรง[12] เกือบหนึ่งศตวรรษหลังจากไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดในปี 1918–1920 องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์ หน่วยงานระดับชาติ และสื่อต่าง ๆ ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีในการตั้งชื่อโรคติดเชื้อในมนุษย์ชนิดใหม่ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อประเทศชาติ เศรษฐกิจ และผู้คน[13][14] คำศัพท์สมัยใหม่ที่ใช้เรียกไวรัสนี้ ได้แก่ "การระบาดทั่วของโรคไข้หวัดใหญ่ปี 1918 (1918 influenza pandemic, 1918 flu pandemic)" หรือในรูปแบบต่าง ๆ[15][16][17] ประวัติสมมติฐานเกี่ยวกับแหล่งที่มาสหราชอาณาจักรทฤษฎีของนักวิจัยหลายคนเชื่อว่ากองทหารสหราชอาณาจักรและโรงพยาบาลสนามในเมืองเอตาปล์ (Étaples) ในฝรั่งเศสเป็นจุดกำเนิดของไข้หวัดใหญ่สเปน ทีมนักวิจัยอังกฤษนำโดยจอห์น ออกซ์ฟอร์ด (John Oxford) นักวิทยาไวรัสได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1999[18] ในปลายปี ค.ศ. 1917 นักพยาธิวิทยากองทัพรายงานว่ามีโรคใหม่ที่มีอัตราการตายสูงซึ่งต่อมาพวกเขาได้ยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ค่ายและโรงพยาบาลที่แออัดเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการแพร่กระจายของไวรัสระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีด้วยเคมีและจากการโจมตีอื่นๆในสงครามนับพันราย และมีทหารกว่า 100,000 คนผ่านค่ายทุกวัน นอกจากนี้ ยังเป็นบ้านของหมูและสัตว์ปีกซึ่งถูกซื้อเข้ามาเป็นประจำเพื่อเป็นเสบียงอาหารจากหมู่บ้านโดยรอบ ออกซ์ฟอร์ดและทีมของเขาตั้งสมมติฐานว่าไวรัสมีต้นกำเนิดจากนก เกิดการกลายพันธุ์และแพร่ไปยังสุกรที่อาศัยอยู่ใกล้กัน[19][20] รายงานที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 ในวารสารสมาคมการแพทย์จีน (Chinese Medical Association) พบหลักฐานว่า 1918 ไวรัส มีการแพร่กระจายในกองทัพยุโรปเป็นเวลาหลายเดือนและอาจเป็นปีก่อนที่จะมีการระบาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1918[21] ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2018 การศึกษาสไลด์เนื้อเยื่อและรายงานทางการแพทย์ที่นำโดยศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ ไมเคิล โวโรเบย์ (Michael Worobey) พบว่ามีหลักฐานการเกิดโรคจากแคนซัส เนื่องจากมีผู้ป่วยและมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในนิวยอร์กซิตี้ในช่วงเวลาเดียวกัน จากการศึกษาผ่านวงศ์วานวิวัฒนาการยังพบหลักฐานว่าเชื้อไวรัสน่าจะมีต้นกำเนิดในอเมริกาเหนือแม้ว่าจะไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้ ฮีแมกกูตินิน ไกลโคโปรตีน (haemagglutinin glycoproteins) ของไวรัสแสดงว่ามันเกิดและอยู่ไกลไปก่อนปี ค.ศ. 1918 และการศึกษาอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่าการรวมตัวของยีนส์ของไวรัส H1N1 มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นราว ๆ ปี ค.ศ. 1915[22] ประเทศจีนหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคของโลกที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี ค.ศ. 1918 คือสาธารณรัฐจีน ซึ่งอาจจะมีไข้หวัดใหญ่ฤดูเล็กน้อยในปี ค.ศ. 1918 (แม้ว่าจะมีการโต้แย้งเนื่องจากขาดข้อมูลในช่วงยุคสมัยขุนศึกของจีน) ในการศึกษาหลายชิ้นมีเอกสารที่แสดงว่ามีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในจีนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก[23][24]<[25] สิ่งนี้นำไปสู่การคาดการณ์ว่าไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปี ค.ศ. 1918 มีต้นกำเนิดในประเทศจีน[25][24][26][27] โดยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ฤดูที่น้อยและอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่ในประเทศจีนที่ต่ำในปี ค.ศ. 1918 อาจจะอธิบายได้ว่าประชากรชาวจีนมีระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่แล้ว[28][25][24] ในปี ค.ศ. 1993 โคลด แฮนนาว (Claude Hannoun) ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ 1918 สถาบันปาสเตอร์ ยืนยันว่าไวรัสรูปแรกน่าจะมาจากประเทศจีนจากนั้นก็กลายพันธุ์ในสหรัฐอเมริกาใกล้กับบอสตันและจากที่นั่นแพร่กระจายไปยังแบร็สต์ ฝรั่งเศส สมรภูมิยุโรป และทั่วโลกโดยมีทหารและลูกเรือฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้แพร่[29] ในปี ค.ศ. 2014 นักประวัติศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยเมมโมเรียลแห่งนิวฟันด์แลนด์ (Memorial University of Newfoundland) ในเซนต์จอนส์ มาร์ค ฮัมฟรีส์ (Mark Humphries) โต้แย้งว่าการระดมกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวจีนราว 96,000 คน เพื่อทำงานเบื้องหลังแนวรบอังกฤษและฝรั่งเศสอาจเป็นแหล่งที่มาของการระบาด ตามข้อสรุปของเขาในบันทึกที่เพิ่งเปิดเผย เขาพบหลักฐานจดหมายเหตุที่แสดงว่าโรคทางเดินหายใจเกิดขึ้นในภาคเหนือของจีนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ถูกระบุในปีถัดไปโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สเปน[30][31] รายงานที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2016 ในวารสารสมาคมการแพทย์จีน (Chinese Medical Association) ไม่พบหลักฐานว่าเชื้อ 1918 ไวรัสถูกนำเข้าสู่ยุโรปผ่านทหารและคนงานจีนและคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบหลักฐานการหมุนเวียนของไวรัสในยุโรปก่อนการระบาดแทน[21] การศึกษาปี ค.ศ. 2016 ชี้ให้เห็นว่าอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่ที่พบในคนงานจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุโรปต่ำ (ประมาณ 1/1000) หมายความว่าการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนในปี ค.ศ. 1918 นั้นไม่ได้เกิดจากคนงานเหล่านั้น[21] การศึกษาในปี ค.ศ. 2018 ของสไลด์เนื้อเยื่อและรายงานทางการแพทย์นำโดยศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ ไมเคิล โวโรเบย์ (Michael Worobey) พบหลักฐานแย้งที่ว่าโรคนี้แพร่กระจายโดยคนงานชาวจีน โดยสังเกตว่าคนงานที่เข้าสู่ยุโรปผ่านเส้นทางอื่น ๆ ไม่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรค ทำให้พวกเขาไม่ใช่เจ้าบ้าน (host) ต้นกำเนิด[22] อื่นๆแฮนนาวพิจารณาสมมติฐานทางเลือกของแหล่งกำเนิด เช่น สเปน, แคนซัส, และแบร็สต์ ซึ่งอาจเป็นไปได้หรือไม่ก็ได้[29] นักวิทยาศาสตร์นโยบาย แอนดรู ไพรซ์ - สมิธ (Andrew Price-Smith) เผยแพร่ข้อมูลจาก หอจดหมายเหตุของออสเตรียที่แสดงว่าไข้หวัดใหญ่เริ่มในประเทศออสเตรียเมื่อต้นปี ค.ศ. 1917[32] การระบาดเมื่อผู้ติดเชื้อจามหรือไออนุภาคไวรัสมากกว่าครึ่งล้านอนุภาคสามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลที่อยู่ใกล้เคียง[33] ค่ายทหารที่หนาแน่นและการเคลื่อนย้ายทหารจำนวนมากในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการระบาดและเพิ่มอัตราการตาย สงครามได้เพิ่มความร้ายแรงของพลังทำลายของไวรัส มีการคาดการณ์ว่าระบบภูมิคุ้มกันโรคของทหารอ่อนแอลงเนื่องจากการขาดสารอาหาร ความเครียดจากการต่อสู้ และการโจมตีทางเคมี[34][35] ปัจจัยหลักในการเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกนี้คือการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ระบบการขนส่งสมัยใหม่ทำให้ทหาร กะลาสีและพลเรือนเดินทางได้ง่ายขึ้นและแพร่กระจายโรคได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน[36] อีกประการหนึ่ง คือการโกหกและการปฏิเสธจากรัฐบาลทำให้ประชากรไม่พร้อมที่จะรับมือกับการระบาด[37] ในสหรัฐอเมริกา โรคนี้ถูกเฝ้าระวังเป็นครั้งแรกในแฮสเค็ลล์เคาท์ตี รัฐแคนซัส ในเดือนมกราคมปี 1918 กระตุ้นให้แพทย์ท้องถิ่นลอร์ลิ่ง มายเนอร์ (Loring Miner) ส่งคำเตือนไปยังวารสารวิชาการด้านการบริการสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา วันที่ 4 มีนาคม 1918 อัลเบิร์ต กิตเชล (Albert Gitchell) หน่วยปรุงอาหาร จากแฮสเค็ลล์เคาท์ตี ถูกรายงานว่าป่วยที่ฟอร์ทไรลีย์ ซึ่งในเวลานั้น อยู่ระหว่างการฝึกของทหารอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้เขาเป็นเหยื่อรายแรกที่มีการบันทึกไว้ของไข้หวัดใหญ่[38][39][40] ในวันเดียวกันนั้น ทหาร 522 นายในค่ายถูกรายงานว่าป่วย[41]เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1918 ไวรัสได้มาถึงควีนส์ นครนิวยอร์ก[36] ความล้มเหลวในการใช้มาตรการป้องกันในเดือนมีนาคม/เมษายนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในภายหลัง[4] ในเดือนสิงหาคมปี 1918 สายพันธุ์ที่ดุร้ายยิ่งปรากฏขึ้นพร้อมกันในแบร็สต์ ประเทศฝรั่งเศส ในฟรีทาวน์ เซียร์ราลีโอน และในสหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายนที่ อู่ต่อเรือบอสตันและค่ายดีเวนส์ (Camp Devens) (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นฟอร์ตดีเวนส์ (Fort Devens)) ประมาณ 30 ไมล์ทางตะวันตกของบอสตัน ในไม่ช้า หน่วยทหารอื่นๆก็เริ่มเจ็บป่วยเช่นเดียวกับกองทหารที่ถูกส่งไปยังยุโรป[42] อีกเรื่องที่แปลกคือ เกิดการระบาดอย่างรวดเร็วในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง (ในซีกโลกเหนือ) ซึ่งโดยปกติแล้วไข้หวัดใหญ่มักจะระบาดในฤดูหนาว[43] อัตราการตายทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปนประมาณ 500 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณหนึ่งในสามของประชากรโลก[1] ในการประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ไข้หวัดใหญ่สเปนได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในโรคระบาดร้ายแรงที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดในประวัติศาสตร์[46][47] การประมาณการในปี 1991 ระบุว่าไวรัสฆ่าคนไประหว่าง 25 และ 39 ล้านคน[3] การประมาณการปี 2005 ระบุจำนวนผู้เสียชีวิตที่ 50 ล้านคน (ประมาณน้อยกว่า 3% ของประชากรโลก) และอาจสูงถึง 100 ล้านคน (มากกว่า 5%)[48][5] อย่างไรก็ตาม มีการประเมินใหม่ในปี 2018 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนประมาณ 17 ล้านคน[49] แม้ว่าจะมีการโต้แย้งกันก็ตาม[50] ในเวลานั้นมีประชากรโลกประมาณ 1.8 ถึง 1.9 พันล้านคน[51] ประมาณการเหล่านี้ มีความสอดคล้องกันคืออยู่ระหว่าง 1 และ 6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้คร่าชีวิตผู้คนใน 24 สัปดาห์ได้มากกว่า HIV/AIDS ในระยะเวลา 24 ปี[6] อย่างไรก็ตาม อัตราการตายต่อจำนวนประชากรยังน้อยกว่ากาฬมรณะซึ่งระบาดเป็นเวลาหลายร้อยปี[52] โรคนี้คร่าชีวิตผู้คนไปทั่วโลก มีผู้คนราว 12-17 ล้านคนเสียชีวิตในอินเดียซึ่งประมาณ 5% ของประชากร[53] หรือเสียชีวิตอย่างน้อย 12 ล้านคน[54] ยอดผู้เสียชีวิตในเขตปกครองโดยตรงในอินเดียของอังกฤษประมาณ 13.88 ล้านคน[55] การประมาณการยอดผู้เสียชีวิตในประเทศจีนมีความหลากหลาย[56][3] เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพสู่ศูนย์กลางในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเป็นสมัยขุนศึก การประเมินยอดผู้เสียชีวิตครั้งแรกของจีนเกิดขึ้นในปี 1991 โดยแพตเตอร์สัน (Patterson) และไพล์ (Pyle) ซึ่งคาดว่า ในประเทศจีนจะมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 5 - 9 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปี 1991 ภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์และติเตียนจากการศึกษาในภายหลังเนื่องจากวิธีการศึกษามีข้อบกพร่อง และการศึกษาครั้งใหม่ที่ได้ตีพิมพ์ ประเมินอัตราการตายที่เกิดขึ้นในประเทศจีนต่ำกว่ามาก[23][57][58] ตัวอย่างเช่น อีจิมะ (Iijima) ในปี 1998 ประมาณการยอดผู้เสียชีวิตในประเทศจีนอยู่ระหว่าง 1 ถึง 1.28 ล้านคนจากข้อมูลที่มีอยู่ในเมืองท่าเรือของจีน[59] ตามบันทึกของวาตารุ อีจิมะ (Wataru Iijima)
การประมาณการยอดผู้เสียชีวิตที่ต่ำของจีนนั้นขึ้นอยู่บนพื้นฐานอัตราการตายที่ต่ำที่พบในเมืองท่าของจีน (ตัวอย่างเช่น ฮ่องกง) และจากการสันนิษฐานว่าการติดต่อสื่อสารที่ไม่ดี ช่วยป้องกันไม่ให้ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายเข้าไปแผ่นดินใหญ่ของจีน[56] อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์และรายงานที่ทำการไปรษณีย์ร่วมสมัย รวมถึงรายงานจากแพทย์สอนศาสนา แสดงว่าไข้หวัดใหญ่ได้แทรกซึมเข้าไปภายในประเทศจีน และระบาดหนักในบางพื้นที่ในชนบทของจีน[61] ในญี่ปุ่น มีผู้ป่วย 23 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 390,000 คนตามรายงาน[62] ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย) ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิต 1.5 ล้านคน จากพลเมือง 30 ล้านคน[63] ในตาฮีตี มีประชากรเสียชีวิต 13% ใน 1 เดือน เช่นเดียวกับ ในซามัว 22% ของประชากร 38,000 คนเสียชีวิตในสองเดือน[64] ในนิวซีแลนด์ ไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิตประชากรปาเกฮา (คนขาว) ไปประมาณ 6,400 คนและชาวมาวรี 2,500 คนในหกสัปดาห์ ซึ่งชาวมาวรีมีอัตราการตายเป็นแปดเท่าของชาวปาเกฮา[65][66] ในอิหร่านมีอัตราการตายสูงมาก: ตามการประมาณการมีผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 902,400 ถึง 2,431,000 คน หรือ 8% ถึง 22% ของประชากรทั้งหมด[67] ในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 28% ของประชากร 105 ล้านคนติดเชื้อและ 500,000 ถึง 850,000 คนเสียชีวิต (0.48 ถึง 0.81 เปอร์เซ็นต์ของประชากร)[68] เผ่าชนพื้นเมืองอเมริกันได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ ในพื้นที่สี่มุม (Four Corners) ชนพื้นเมืองอเมริกันมีผู้เสียชีวิตที่บันทึกไว้ 3,293 คน[69] ทั้งชุมชนหมู่บ้านชาวเอสกิโมและชนพื้นเมืองอะแลสกาในดินแดนอะแลสกาได้ล่มจมตายจากไป[70] ในแคนาดาเสียชีวิต 50,000 คน[71] ในบราซิลมีผู้เสียชีวิต 300,000 คนรวมถึงประธานาธิบดี ร็อดริกส์ อัลเวส (Rodrigues Alves)[72] ในสหราชอาณาจักรมีผู้เสียชีวิต 250,000 คน ในฝรั่งเศสมีมากกว่า 400,000 คน[73] ในกานา การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 100,000 คน[74] ตาฟารี มาคอนเนน (สมเด็จพระจักรพรรดิเฮลี เซลาสซี แห่งเอธิโอเปีย) เป็นหนึ่งในชาวเอธิโอเปียคนแรกที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่รอดชีวิตมาได้[75][76] แต่พลเมืองของเขาหลายรายไม่รอด ประมาณการผู้เสียชีวิตในเมืองหลวง อาดดิสอาบาบา อยู่ระหว่าง 5,000 ถึง 10,000 หรือสูงกว่า[77] ในบริติชโซมาลิแลนด์ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งประเมินว่า 7% ของประชากรพื้นเมืองเสียชีวิต[78] ในประเทศไทย การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนคาดว่าเกิดจากทหารอาสาที่เดินทางจากยุโรปกลับมาประเทศไทย[79] โดยเริ่มขึ้นในปลายปี 1918 ที่ภาคใต้ จากข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กรกฎาคม 2462 เล่มที่ 36 หน้า 1193 พบว่ามีผู้ป่วยถึง 2,317,662 คน หรือ 27% ของจำนวนประชากร และเสียชีวิต 80,223 คน[80][81] รวมถึง เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถที่ทรงประชวรจนทิวงคตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือปวดบวม ในปี 1920 ซึ่งคาดว่าเกิดจากไข้หวัดใหญ่สเปน[79] ยอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากนี้ เป็นผลมาจากอัตราการติดเชื้อที่สูงถึง 50% และความรุนแรงของอาการ ซึ่งคาดว่าเกิดจากพายุไซโตไคน์[3] อาการของโรคในปี 1918 นั้นผิดปกติ อาการแรกเริ่มทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาดเป็น ไข้เด็งกี, อหิวาตกโรค, หรือ ไข้รากสาดน้อย ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งเขียนว่า "หนึ่งในอาการที่เด่นชัดของภาวะแทรกซ้อนคือเลือดออกจากเยื่อเมือก โดยเฉพาะจากจมูก กระเพาะอาหาร และลำไส้ การมีเลือดออกจากหูและจุดเลือดออกในผิวหนังก็เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน"[48] สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเกิดจากปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย[82][83][84] ซึ่งเป็นการติดเชื้อทุติยภูมิร่วมกับไข้หวัดใหญ่ ไวรัสยังฆ่าคนโดยตรงโดยทำให้เกิดอาการตกเลือดและอาการบวมน้ำในปอด[84] รูปแบบของการเสียชีวิตในภาวะระบาดทั่ว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ในปี 1918–1919 99% ของการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี และเกือบครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตเป็นผู้มีอายุ 20 ถึง 40 ปี ซึ่งคาดว่าผู้สูงอายุอาจมีการป้องกันกันบางส่วนที่เกิดจากการสัมผัสกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 1889–1890 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย"[85] ในปี 1920 ในอัตราการตายในหมู่คนที่อายุต่ำกว่า 65 ปีได้ลดลงจากหกเท่าเหลือครึ่งหนึ่งของอัตราการตายของคนที่อายุมากกว่า 65 ปี แต่ 92% ของการเสียชีวิตยังคงเกิดขึ้นในคนที่อายุต่ำกว่า 65 ปี[86] นี่เป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มักเป็นอันตรายถึงคนที่อ่อนแอ เช่น ทารกที่มีอายุต่ำกว่าสองปี คนชราที่อายุมากกว่า 70 ปี และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตามข้อมูลของนักประวัติศาสตร์ จอห์น เอ็ม. แบร์รี (John M. Barry) กลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะเสียชีวิตคือหญิงตั้งครรภ์ เขารายงานว่าในการศึกษาสิบสามชิ้นของผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาในช่วงของการระบาดมีอัตราการตายอยู่ระหว่าง 23% ถึง 71%[87] หญิงตั้งครรภ์ที่รอดชีวิตเมื่อคลอดบุตร หนึ่งในสี่ (26%) จะสูญเสียบุตรไป[88] จากการวิเคราะห์สมัยใหม่แสดงให้เห็นว่าไวรัสมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เพราะมันก่อให้เกิดพายุไซโตไคน์ (ปฏิกิริยารุนแรงเกินไปของระบบภูมิคุ้มกัน) ซึ่งจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของคนหนุ่มสาว[89] นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ทำการกู้คืนไวรัสจากร่างของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกแช่แข็งไว้แล้วนำเอาสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์ของสัตว์ สัตว์เหล่านี้ประสบกับความทุกข์ทรมานจากการหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตด้วยพายุไซโตไคน์ มีการตั้งสมมุติฐานว่าปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่รุนแรงของคนหนุ่มสาวได้เป็นตัวการในการทำลายร่างกาย ในขณะที่ในเด็กและผู้ใหญ่วัยกลางคนมีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่อ่อนกว่า ส่งผลให้เสียชีวิตน้อยกว่าในกลุ่มเหล่านั้น[6][90] ในกรณีที่อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว การเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากโรคปอดบวม โดยมีอาการปอดแข็งตัวร่วมกับการติดเชื้อไวรัส ในกรณีที่อาการป่วยค่อยเป็นค่อยไปจะเป็นปอดอักเสบจากแบคทีเรียทุติยภูมิและอาจกระทบถึงระบบประสาทซึ่งนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตในบางกรณี การเสียชีวิตบางส่วนเกิดจากการขาดสารอาหาร
การตายระลอกสองการระบาดทั่วระลอกที่สองในปี 1918 นั้นร้ายแรงและมีผู้เสียชีวิตมากยิ่งกว่าครั้งแรก การระบาดรอบแรกนั้นคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้ที่ยังเด็ก ผู้มีสุขภาพแข็งแรงหายป่วยได้ง่าย เดือนสิงหาคม เมื่อการระบาดระลอกที่สองเริ่มขึ้นในฝรั่งเศส เซียร์ราลีโอน และสหรัฐอเมริกา[91] ไวรัสได้กลายพันธุ์ในสายพันธุ์ที่อันตรายกว่าเดิมมาก ตุลาคม 1918 เป็นเดือนที่มีอัตราการตายสูงที่สุดของการระบาด[92] ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[93] ในการดำรงชีวิตของพลเรือน การคัดเลือกโดยธรรมชาติสนับสนุนไวรัสสายพันธุ์อ่อน ผู้ที่ป่วยหนักพักรักษาตัวอยู่บ้าน ไวรัสสายพันธุ์อ่อนก็ดำรงวงจรชีวิต และแพร่กระจายสายพันธุ์อ่อนต่อไป ในสนามเพลาะ การคัดเลือกโดยธรรมชาติกลับตรงกันข้าม ทหารที่มีไวรัสสายพันธุ์อ่อนอยู่ในที่ที่พวกเขาอยู่ ในขณะที่ผู้ป่วยหนักถูกส่งตัวโดยรถไฟที่มีคนหนาแน่นไปโรงพยาบาลสนามที่มีผู้คนหนาแน่น และกระจายเชื้อไวรัสร้ายแรงออกไป การระบาดระลอกสองเริ่มขึ้น และไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ดังนั้น ผลที่สุดก็คือ ในช่วงการระบาดทั่ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความสนใจเมื่อไวรัสมาถึงสถานที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ทางสังคม (มองหาไวรัสสายพันธุ์ร้ายแรง)[94] ความจริงที่ว่าคนส่วนใหญ่ที่หายจากการติดเชื้อจากการระบาดรอบแรกได้มีภูมิคุ้มกัน แสดงให้เห็นว่ามันจะต้องเป็นไข้หวัดสายพันธุ์เดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในโคเปนเฮเกนซึ่งมีอัตราการตายรวมกันเพียง 0.29% (0.02% ในรอบแรกและ 0.27% ในรอบที่สอง) เพราะได้รับเชื้อจากการระบาดรอบแรกที่อันตรายน้อยกว่า[95] สำหรับอัตราการตายของประชากรในการระบาดรอบที่สองที่มากกว่านั้น เกิดจากกลุ่มเสี่ยง เช่น ทหารในสนามเพลาะ[96] ระลอกที่สามปี 1919 และระลอกที่สี่ปี 1920ในเดือนมกราคม 1919 ไข้หวัดใหญ่สเปนระลอกที่สามได้ระบาดที่ออสเตรเลีย จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาจนถึงเดือนมิถุนายนปี 1919[97][98][99] ประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ สเปน, เซอร์เบีย, เม็กซิโก และบริเตนใหญ่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน[100] แม้การระบาดระลอกสามจะรุนแรงน้อยกว่าระลอกที่สอง แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตมากกว่าระลอกแรก ในฤดูใบไม้ผลิปี 1920 มีการระบาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นเป็นระลอกที่สี่[101] ในพื้นที่โดดเดี่ยวประกอบด้วย มหานครนิวยอร์ก [102] สหราชอาณาจักร, ออสเตรีย, สแกนดิเนเวีย และบางเกาะในหมู่เกาะอเมริกาใต้[103] มีอัตราการตายต่ำมาก ชุมชนที่ถูกทำลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยแอสไพรินเป็นพิษในปี 2009 ในบทความที่ตีพิมพ์ใน Clinical Infectious Diseases (วารสารโรคติดเชื้อทางคลินิก) คาเรน สตาร์โค (Karen Starko) เสนอว่าแอสไพรินเป็นพิษมีส่วนสำคัญต่อการเสียชีวิต บนพื้นฐานจากรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในช่วงเวลา "death spike" ครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม 1918 ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากแพทย์ทหารของกองทัพสหรัฐและ Journal of the American Medical Association แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินปริมาณมากขนาด 8 ถึง 31 กรัมต่อวันเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ยาปริมาณนี้ทำให้ผู้ป่วย 33% เกิดอาหารหายใจเร็วกว่าปกติ และผู้ป่วย 3% เกิดอาการปอดบวมน้ำ[104] สตาร์โกยังตั้งข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตจำนวนมากในช่วงแรกแสดงให้เห็นว่าปอดมีน้ำหรือมีน้ำเลือดซึมซ่าน ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในช่วงปลายแสดงอาการปอดอักเสบจากแบคทีเรีย เธอกล่าวว่าเหตุการณ์แอสไพรินเป็นพิษเป็นเพราะ "พายุมหาประลัย" ของเหตุการณ์สิทธิบัตรยาแอสไพรินของไบเออร์หมดอายุ หลายบริษัทรีบวิ่งเข้าไปทำกำไรและเพิ่มอุปทาน ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกับเหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่สเปน และอาการของแอสไพรินเป็นพิษยังไม่เป็นที่รู้จักในเวลานั้น[104] สมมติฐานอัตราการตายทั่วโลกที่สูงนั้นเกิดจากแอสไพรินเป็นพิษนี้ถูกตั้งคำถามในจดหมายถึงวารสารที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน 2010 โดย แอนดรูว์ นอยเมอร์ (Andrew Noymer) และ เดซี่ แคาร์รออน (Daisy Carreon) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ และ นีล จอห์นสัน (Niall Johnson) คณะกรรมาธิการความปลอดภัยและคุณภาพการดูแลสุขภาพออสเตรเลีย พวกเขาตั้งคำถามถึงทฤษฎีการใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางของแอสไพริน เนื่องจากอัตราการตายสูงในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ที่มีแอสไพรินน้อยหรือไม่มีการเข้าถึงเลย เมื่อเทียบกับอัตราการตายในบางสถานที่ที่แอสไพรินมีมากมาย[105] พวกเขาสรุปว่า "การตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับซาลิไซลิก (แอสไพริน) เป็นพิษ เป็นเรื่องยากที่จะสนับสนุนซึ่งคำอธิบายปฐมภูมิสำหรับความรุนแรงที่ผิดปกติของการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918–1919"[105] สตาร์โกตอบโต้โดยกล่าวว่ามีหลักฐานโดยเรื่องเล่าของการใช้แอสไพรินในประเทศอินเดีย และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ถ้าการใช้แอสไพรินเกินกำหนดไม่ได้มีส่วนทำให้อัตราการตายในอินเดียสูง แต่มันคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอัตราการตายที่สูง ในพื้นที่ที่ปัจจัยรุนแรงอื่นๆที่มีอยู่ในอินเดียมีบทบาทน้อย[106] จุดสิ้นสุดของการระบาดหลังจากการระบาดรุนแรงรอบที่สองในช่วงปลายปี 1918 ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างฉับพลัน แทบจะไม่ผู้ป่วยเลยหลังจากผ่านจุดระบาดสูงสุดในคลื่นลูกที่สอง[6] ตัวอย่างเช่นในฟิลาเดลเฟีย มีผู้เสียชีวิต 4,597 รายเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ในวันที่ 16 ตุลาคม แต่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนไข้หวัดใหญ่กลับหายตัวไปจากเมืองอย่างไร้ร่องรอย คำอธิบายหนึ่งสำหรับการลดลงอย่างรวดเร็วของโรคนี้คือ แพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันและรักษาโรคปอดบวมที่พัฒนาขึ้นหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม จอห์น แบร์รี่ (John Barry) ระบุไว้ในหนังสือ The Great Influenza: The Epic Story of the Deadliest Plague In History ของเขาว่า นักวิจัยไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนคำอธิบายนี้[89] ยังมีบางกรณีที่ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตในมีนาคม 1919 ผู้เล่นคนหนึ่งในการแข่งขันรอบรองชนะเลิศถ้วยสแตนลีย์ 1919 ได้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สเปน อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเชื้อ 1918 ไวรัส ได้กลายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีความร้ายแรงน้อยลง นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปกับไวรัสไข้หวัดใหญ่กล่าวคือ มีแนวโน้มว่าไวรัสก่อโรคจะมีความร้ายแรงน้อยลงตามกาลเวลา เนื่องจากโฮสต์ของสายพันธุ์ที่อันตรายกว่ามีแนวโน้มที่จะตายจากไปจนหมด[89] ผลกระทบระยะยาวจากการศึกษาปี 2006 ใน Journal of Political Economy (วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง) พบว่า "เด็กในครรภ์ระหว่างการระบาดทั่วจะมีความสำเร็จทางการศึกษาลดลง, อัตราความพิการทางร่างกายเพิ่มขึ้น, รายได้ลดลง, สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ตกต่ำ, และได้รับเงินโอนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นอื่น"[107] จากการศึกษาปี 2018 พบว่าการระบาดใหญ่ลดความสำเร็จทางการศึกษาในประชากร[108] ไข้หวัดใหญ่มีความเชื่อมโยงกับการระบาดของสมองอักเสบแบบไม่เคลื่อนไหวในคริสต์ทศวรรษที่ 1920[7] อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ไข้หวัดใหญ่สเปน
|