Share to:

 

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ขยายประมาณ 100,000 เท่า
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
อาการไข้, น้ำมูกไหล, เจ็บคอ, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, ไอ, จาม, รู้สึกล้า[1]
การตั้งต้น1 ถึง 4 วันหลังได้รับเชื้อ[1]
ระยะดำเนินโรค~1 สัปดาห์[1]
สาเหตุไวรัสไข้หวัดใหญ่[2]
การป้องกันการล้างมือ, หน้ากากอนามัย, วัคซีนไข้หวัดใหญ่[1][3]
ยายาต้านไวรัสอย่างโอเซลทามิเวียร์[1]
ความชุก3–5 ล้านครั้งต่อปี[1]
การเสียชีวิตจากการหายใจอาจสูงถึง 650,000 คนต่อปี[4][1]

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่[1] อาการอาจมีได้ตั้งแต่เบาถึงรุนแรง[5] อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ จามและรู้สึกเหนื่อย[1] ตรงแบบอาการเหล่านี้เริ่มสองวันหลังสัมผัสไวรัสและส่วนใหญ่กินเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์[1] ทว่า อาการไออาจกินเวลานานเกินสองสัปดาห์ได้[1] ในเด็ก อาจมีอาการท้องร่วงและอาเจียนด้วย แต่พบน้อยในผู้ใหญ่[6] อาการท้องร่วงและอาเจียนจะพบได้ไม่บ่อยเท่าที่พบในโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ซึ่งบางครั้งถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่า "หวัดลงกระเพาะ" หรือ "หวัด 24 ชั่วโมง" แต่ที่จริงแล้วเป็นคนละโรคกันกับไข้หวัดใหญ่[6] ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจได้แก่ ปอดบวมไวรัส, ปอดบวมแบคทีเรียทุติยภูมิ, โพรงอากาศติดเชื้อ, และการทรุดของปัญหาสุขภาพเดิมอย่างโรคหืดหรือภาวะหัวใจวาย[2][5]

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีผลต่อมนุษย์มีสามชนิด ได้แก่ ชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี[2][7] นอกจากนี้ยังมีไข้หวัดใหญ่ชนิดดี ซึ่งยังไม่ทราบว่าทำให้เกิดติดเชื้อในมนุษย์หรือไม่ แต่เชื่อกันว่ามีโอกาสเป็นไปได้[7][8] ปกติ ไวรัสมีการแพร่ทางอากาศระหว่างการไอหรือจาม[1] เชื่อกันว่าส่วนใหญ่เกิดในระยะห่างค่อนข้างใกล้[9] นอกจากนี้ยังสามารถแพร่ได้โดยการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนไวรัสแล้วนำมาสัมผัสปากหรือตา[5][9] บุคคลอาจติดต่อโรคแก่ผู้อื่นได้ทั้งก่อนและระหว่างที่แสดงอาการ[5] สามารถยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้โดยการทดสอบลำคอ เสมหะ หรือจมูกเพื่อหาเชื้อไวรัส[2] มีการทดสอบให้ผลเร็วหลายชนิด แต่บุคคลยังอาจมีโรคอยู่ได้แม้ผลออกมาเป็นลบ[2] ปฏิกิริยาลูกโซ่พอลีเมอเรสชนิดตรวจจับอาร์เอ็นเอของไวรัสมีความแม่นยำกว่า[2]

การล้างมือบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไวรัส[3] การสวมผ้าปิดจมูกก็มีประโยชน์[3] องค์การอนามัยโลกแนะนำการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง[1] ปกติวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันไข้หวัดใหญ่สามหรือสี่ชนิด[1] ปกติผู้ได้รับวัคซีนไม่ค่อยมีผลเสีย[1] วัคซีนเพื่อผลิตขึ้นสำหรับหนึ่งปีอาจไม่มีประโยชน์ในปีถัดไป เพราะไวรัสวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว[1] ยาต้านไวรัสอย่างตัวยับยั้งนิวรามินิเดส โอเซลทามิเวียร์ เป็นต้น มีการใช้รักษาไข้หวัดใหญ่[1] ดูแล้วยาต้านไวรัสในผู้สุขภาพดีมีประโยชน์ไม่มากกว่าความเสี่ยง[10] ไม่พบประโยชน์ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น[10][11]

ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกในการระบาดทั่วประจำปี ส่งผลให้มีผู้ป่วยรุนแรง 3 ถึง 5 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตประมาณ 290,000 ถึง 650,000 คน[1][4] เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนประมาณ 20% และผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีน 10% มีการติดเชื้อทุกปี[12] ในซีกโลกเหนือและใต้ของโลก เกิดการระบาดส่วนใหญ่ในฤดูหนาว ส่วนรอบเส้นศูนย์สูตรอาจเกิดการระบาดได้ตลอดปี[1] ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตได้แก่ เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น[1] การระบาดใหญ่ที่เรียกโรคระบาดทั่วนั้นพบน้อยกว่า[2] ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สามครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 (ผู้เสียชีวิต ~50 ล้านคน), ไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 1957 (ผู้เสียชีวิต 2 ล้านคน), และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงในปี 1968 (ผู้เสียชีวิต 1 ล้านคน)[13] องค์การอนามัยโลกประกาศการระบาดของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ/เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ใหม่เป็นโรคระบาดทั่วในเดือนมิถุนายน 2009[14] ไข้หวัดใหญ่ยังอาจติดในสัตว์อื่น ได้แก่ หมู ม้าและนกได้[15]

อาการและอาการแสดง

อาการที่ไวสำหรับการวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่[16]
อาการ: ความไว ความจำเพาะ
ไข้ 68–86% 25–73%
ไอ 84–98% 7–29%
คัดจมูก 68–91% 19–41%
* สิ่งตรวจพบทั้งสามอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้ มีความไวน้อยกว่าในผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป
อาการของไข้หวัดใหญ่[17] ไข้และไอเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด[16]

ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 33% ไม่มีอาการ[18]

อาการของไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มได้เฉียบพลันหนึ่งถึงสองวันหลังติดเชื้อ ปกติอาการแรก ได้แก่ หนาวสั่นและปวดตามตัว แต่ไข้ก็พบได้บ่อยในช่วงแรก โดยมีอุณหภูมิกายในช่วงตั้งแต่ 38 to 39 °ซ[19] หลายคนป่วยจนนอนซมหลายวัน โดยมีอาการเจ็บปวดทั่วกาย ซึ่งปวดที่หลังและขามากกว่าที่อื่น[20]

อาการของไข้หวัดใหญ่

การแยกระหว่างโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ในระยะแรกของการติดเชื้อทั้งสองทำได้ยาก[25] อาการของไข้หวัดใหญ่เป็นอาการของโรคหวัด รวมกับปอดบวม ปวดตามตัว ปวดศีรษะ และล้า ปกติท้องร่วงไม่ใช่อาการของไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่[16] แต่พบในผู้ป่วย "ไข้หวัดนก" เอช5เอ็น1 ได้บ้าง[26] และอาจเป็นอาการในเด็ก[22] อาการซึ่งพบในไข้หวัดใหญ่ที่น่าเชื่อถือมากที่สุดแสดงในตารางด้านขวามือ[16]

อาการไข้และไอร่วมกันพบว่าเป็นตัวพยากรณ์ที่ดีที่สุด ความแม่นยำของการวินิจฉัยเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิกายเกิน 38°ซ[25] การศึกษาวิเคราะห์การตัดสินใจสองการศึกษา[27][28] เสนอว่าระหว่างการระบาดท้องถิ่น ความชุกของโรคจะมีเกิน 70%[28] แม้ไม่มีการระบาดในท้องถิ่น การวินิจฉัยอาจสมเหตุผลในผู้สูงอายุระหว่างฤดูไข้หวัดใหญ่ เพราะมีความชุกเกิน 15%[28]

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) มีบทสรุปการทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยอยู่[29] ข้อมูลของ CDC ระบุว่า การทดสอบวินิจฉัยอย่างรวดเร็วมีความไว 50–75% และความจำเพาะ 90–95% เมื่อเทียบกับการเพาะเชื้อไวรัส[30]

บางทีไข้หวัดใหญ่สามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงรวมทั้งปอดบวมไวรัสปฐมภูมิหรือปอดบวมแบคทีเรียทุติยภูมิได้[31][32] อาการเด่นชัดได้แก่ หายใจลำบาก นอกจากนี้ หากเด็ก (และผู้ใหญ่บางคน) ดูเหมือนดีขึ้นแล้วกลับมามีไข้สูงใหม่ เป็นสัญญาณอันตรายเพราะการเกิดโรคกลับนี้อาจเป็นปอดบวมแบคทีเรีย[33]

ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดอาการไม่ปกติได้ อย่างสับสนในผู้สูงอายุและกลุ่มอาการคล้ายภาวะพิษเหตุติดเชื้อในเยาวชน[34] สมองอักเสบเนื่องจากไข้หวัดใหญ่หาได้ยากแต่ใช่ว่าไม่เคยมีรายงาน

อาการแสดงเตือนฉุกเฉิน

  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • เวียนศีรษะ
  • สับสน
  • อาเจียนรุนแรง
  • อาการไข้หวัดใหญ่ที่ดีขึ้นแล้วแต่โรคกลับพร้อมมีไข้สูงและไอรุนแรง (อาจเป็นปอดบวมแบคทีเรีย)
  • เขียวคล้ำ
  • ไข้สูงออกผื่น
  • ดื่มของเหลวไม่ได้

อาการแสดงของภาวะขาดน้ำ

  • (ในทารก) ผ้าอ้อมเปียกน้อยกว่าปกติมาก[35]
  • กลั้นอาเจียนไม่อยู่
  • (ในทารก) ร้องไห้ไม่มีน้ำตาหยด

วิทยาไวรัส

ชนิดของไวรัส

โครงสร้างของวิริออนไข้หวัดใหญ่ โปรตีนฮีแม็กกลูตินิน (HA) และนิวรามินิเดส(NA) แสดงอยู่บนผิวอนุภาค อาร์เอ็นเอของไวรัสซึ่งประกอบขึ้นเป็นจีโนมแสดงเป็นขดสีแดงในอนุภาคและเกาะกับไรโบนิวเคลียร์โปรตีน (RNP)

ในการจำแนกไวรัส ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส ซึ่งประกอบด้วยสี่ในเจ็ดสกุลของวงศ์ Orthomyxoviridae[36]

  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส เอ
  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส บี
  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส ซี
  • อินฟลูเอ็นซาไวรัส ดี

ไวรัสเหล่านี้เกี่ยวข้องห่าง ๆ กับฮิวแมนพาราอินฟลูเอ็นซาไวรัส ซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสในวงศ์ paramyxovirus ซึ่งเป็นสาเหตุทั่วไปของการติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็ก อย่างกล่องเสียงอักเสบอุดกั้น[37] แต่ยังสามารถก่อโรคที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่ได้[38]

ไวรัสไข้หวัดใหญ่วงศ์ที่สี่มีการระบุในปี 2016 คือ ไข้หวัดใหญ่ ดี[39][40][41][42][43][44][45] สปีชีส์ชนิดสำหรับวงศ์นี้ได้แก่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ดี ซึ่งมีการแยกครั้งแรกในปี 2011[8]

อินฟลูเอ็นซาไวรัส เอ

สกุลนี้มีหนึ่งชนิด คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ นกน้ำตามธรรมชาติเป็นตัวถูกเบียนตามธรรมชาติสำหรับไข้หวัดใหญ่เอหลายสายพันธุ์ บางโอกาส มีการแพร่เชื้อไวรัสสู่สัตว์ชนิดอื่นแล้วอาจทำให้เกิดการระบาดที่สูญเสียใหญ่หลวงในสัตว์ปีกเลี้ยง หรือทำให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์[46] ไวรัสชนิดเอเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ที่มีศักยภาพก่อโรคสูงสุด และก่อให้เกิดโรครุนแรงที่สุด ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอสามารถแบ่งย่อยเป็นซีไรไทป์โดยยึดการตอบสนองของแอนติบอดีต่อไวรัสเหล่านี้[47] ซีไรไทป์ที่มีการยืนยันในมนุษย์ เรียงลำดับตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดทั่วที่ทราบ ได้แก่

  • เอช1เอ็น1 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 และไข้หวัดใหญ่หมูในปี 2009
  • เอช2เอ็น2 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 1957
  • เอช3เอ็น2 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงในปี 1968
  • เอช5เอ็น1 ซึ่งก่อไข้หวัดใหญ่นกในปี 2004
  • เอช7เอ็น7 ซึ่งมีศักยภาพรับจากสัตว์ผิดธรรมดา[48]
  • เอช1เอ็น2 พบประจำในมนุษย์ หมูและนก
  • เอช9เอ็น2
  • เอช7เอ็น2
  • เอช7เอ็น3
  • เอช10เอ็น7
  • เอช7เอ็น9 ในปี 2018 จัดว่ามีศักยภาพเกิดการระบาดทั่วสูงสุดในหมู่ชนิดย่อยเอ[49]
  • เอช6เอ็น1 ซึ่งติดเชื้อในมนุษย์คนเดียวเท่านั้น และรักษาหาย[50]

อินฟลูเอ็นซาไวรัส บี

การตั้งชื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (สำหรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ฝูเจี้ยน)

สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่บี ไข้หวัดใหญ่บีติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์เกือบทั้งหมด[47] และพบน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่เอ สัตว์อื่นที่ทราบว่าไวต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่บี ได้แก่ แมวน้ำ[51] และเฟอร์เร็ต[52] ไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้กลายพันธุ์ช้ากว่าชนิดเอ 2–3 เท่า[53] ฉะนั้นจึงมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยกว่ และซีโรไทป์เดียวเท่านั้น[47] ผลจากการขาดความหลากหลายของแอนติเจนนี้ ทำให้ปกติมีการได้รับภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่บีระดับหนึ่งตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ดี ไข้หวัดใหญ่บียังกลายพันธุ์มากพอทำให้ภูมิคุ้มกันที่อยู่นานยังเกิดขึ้นไม่ได้[54] อัตราการเปลี่ยนแอนติเจนที่ดลลงนี้ กอปรกับตัวถูกเบียนที่จำกัดกว่า (ซึ่งขัดขวางการเลื่อนแอนติเจนข้ามชนิด) ทำให้ไม่เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่บี[55]

อินฟลูเอ็นซาไวรัส ซี

สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ซี ซึ่งติดเชื้อมนุษย์ หมาและหมู บางครั้งก่อการเจ็บป่วยรุนแรงและการระบาดท้องถิ่น[56][57] อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ซีพบน้อยกว่าชนิดอื่นและปกติก่อโรคไม่รุนแรงในเด็กเท่านั้น[58][59]

อินฟลูเอ็นซาไวรัส ดี

สกุลนี้มีชนิดเดียว คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ดี ซึ่งติดเชื้อหมูและปศุสัตว์ ไวรัสมีศักยภาพติดเชื้อในมนุษย์ แม้ยังไม่พบผู้ป่วยในขณะนี้[8] ไม่พบว่าไวรัสนี้เป็นตัวการของการระบาดใหญ่ครั้งใด

โครงสร้าง คุณสมบัติและการตั้งชื่อชนิดย่อย

อินฟลูเอ็นซาไวรัสเอ บี ซีและดีมีโครงสร้างโดยรวมคล้ายกันมาก[8][60][61] อนุภาคไวรัส (หรือเรียก วิริออน) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80–120 นาโนเมตรซึ่งวิริออนเล็กสุดมีรูปทรงเป็นวงรี[62] ความยาวของแต่ละอนุภาคแปรผันกันมาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีหลายรูป และสามารถใหญ่กว่านี้ได้หลายสิบไมโครเมตร ทำให้เกิดวิริออนเส้นใย[63] อย่างไรก็ตาม แม้มีรูปทรงหลากหลาย แต่อนุภาคไวรัสของไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งหมดมีไกลโคโปรตีนสองชนิดหลัก[64] ทั้งหมดนี้ประกอบด้วยเปลือกหุ้มไวรัส (envelope) ประกอบด้วยไกลโคโปรตีนสองชนิดหลัก ห่อรอบแก่นกลาง แก่นกลางบรรจุจีโนม อาร์เอ็นเอของไวรัส และโปรตีนของไวรัสชนิดอื่นที่ห่อหุ้มและปกป้องอาร์เอ็นเอนี้ อาร์เอ็นเอมีแนวโน้มเป็นเกลียวเดี่ยว แต่ในกรณีพิเศษจะเพิ่มเป็นเกลียวคู่[65] จีโนมของอินฟลูเอ็นซาไวรัสไม่ใช้กรดนิวคลินิกชิ้นเดียว แต่มีอาร์เอ็นเอชนิดขั้วลบเป็นท่อนเจ็ดหรือแปดชิ้น อาร์เอ็นเอแต่ละชิ้นที่บรรจุยีนหนึ่งหรือสองยีน ซึ่งมีรหัสสำหรับผลิตภัณฑ์ยีน (โปรตีน)[64] ตัวอย่างเช่น จีโนมไข้หวัดใหญ่เอมี 11 ยีนบนอาร์เอ็นเอ 8 ชิ้น, ซึ่งเข้ารหัสโปรตีน 11 ชนิด ได้แก่ ฮีแม็กกลูตินิน (HA), นิวรามินิเดส (NA), นิวคลีโอโปรตีน (NP), เอ็ม1 (โปรตีนเมทริกซ์ 1), เอ็ม2, เอ็นเอส1 (โปรตีน 1 ที่ไม่ใช่โครงสร้าง), เอ็นเอส2 (อีกชื่อหนึ่งคือ โปรตีนส่งออกนิวเคลียส (nuclear export protein)), พีเอ, พีบี1 (โพลีเมอเรสพื้นฐาน 1), พีบี1-เอฟ2 และพีบี2[66]

ฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin, HA) และนิวรามินิเดส (neuraminidase, NA) เป็นไกลโคโปรตีนขนาดใหญ่สองชนิดที่อยู่นอกอนุภาคไวรัส HA เป็นเล็กตินที่อำนวยการยึดของไวรัสกับเซลล์เป้าหมายและการส่งจีโนมไวรัสเข้าสู่เซลล์เป้าหมาย ขณะที่ NA เกี่ยวข้องกับการปล่อยไวรัสลูกหลานจากเซลล์ที่ติดเชื้อ[67] โดยการตัดน้ำตาลที่ยึดอนุภาคไวรัสที่เจริญเต็มที่[68] ฉะนั้นโปรตีนสองชนิดนี้จึงเป็นเป้าหมายสำหรับยาต้านไวรัส[69] ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแอนติเจนซึ่งสามารถผลิตแอนติบอดีได้ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เอมีการจำแนกเป็นชนิดย่อยตามการตอบสนองของแอนติบอดีต่อ HA และ NA ซึ่ง HA และ NA ต่างชนิดก่อเป็นรากฐานเลข H และ N ที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น เอช5เอ็น1[70] มีชนิดย่อยเอช 18 ชนิด และเอ็น 11 ชนิดเท่าที่ทราบ แต่มีเฉพาะเอช 1, 2 และ 3 และเอ็น 1 และ 2 เท่านั้นที่พบในมนุษย์โดยทั่วไป[71][72]

การถ่ายแบบ

การบุกรุกเซลล์ตัวถูกเบียนและการถ่ายแบบโดยไวรัสไข้หวัดใหญ่ ขั้นตอนในกระบวนการนี้มีอภิปรายในเนื้อหา

ไวรัสสามารถถ่ายแบบเฉพาะในเซลล์มีชีวิตเท่านั้น[73] การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และการถ่ายแบบเป็นกระบวนการหลายขั้นตอน ขั้นแรก ไวรัสต้องผูกยึดกับและเข้าสู่เซลล์ เมื่อส่งจีโนมไปยังจุดที่มันสามารถผลิตสำเนาใหม่ของโปรตีนไวรัสและอาร์เอ็นเอ การประกอบองค์ประกอบเหล่านี้เป็นอนุภาคไวรัสใหม่ และขั้นสุดท้าย ออกจากเซลล์ตัวถูกเบียน[64]

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ยึดผ่านฮีแม็กกลูตินินเข้าสู่น้ำตาลกรดไซอะลิกบนผิวเซลล์เยื่อบุ ตรงแบบในจมูก ลำคอและปอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และลำไส้ของนก (ขั้นที่ 1 ในภาพการติดเชื้อ)[74] หลังฮีแม็กกลูตินินถูกโปรตีเอสตัด เซลล์นำไวรัสเข้ามาโดยวิธีเอ็นโดไซโทซิส[75]

รายละเอียดในเซลล์กำลังหาคำอธิบายอยู่ ทราบกันว่าวิริออนเบนเข้าสู่ศูนย์กลางการจัดระเบียบไมโครทิวบูล มีอันตรกิริยากับเอ็นโดโซมที่เป็นกรด และสุดท้ายเข้าสู่เอ็นโดดซมเป้าหมายเพื่อการปลดปล่อยจีโนม[76]

เมื่ออยู่ในเซลล์ ภาวะเป็นกรดในเอนโดโซมทำให้เกิดเหตุการณ์สองอย่าง หนึ่ง ส่วนของโปรตีนฮีแม็กกลูตินินผสมกับเปลือกหุ้มไวรัสกับเยื่อของแวคิวโอล แล้วช่องไอออนเอ็ม2 ทำให้โปรตอนเคลื่อนผ่านเปลือกหุ้มไวรัสแล้วทำให้แก่นของไวรัสเป็นกรด ซึ่งทำให้แก่นแยกส่วนและปล่อยอาร์เอ็นเอของไวรัสและโปรตีนแก่น[64] โมเลกุลอาร์เอ็นเอของไวรัส โปรตีนส่วนประกอบ แล้วจะมีการปล่อยอาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA-dependent RNA polymerase) เข้าสู่ไซโตพลาสซึม (ระยะที่ 2)[77] ยาอะแมนตาดีนขัดขวางช่องไอออนเอ็ม2 ซึ่งป้องกันการติดเชื้อ[78]

โปรตีนแก่นและอาร์เอ็นเอของไวรัสก่อคอมเพล็กซ์ซึ่งมีการขนส่งเข้าสู่นิวเคลียสของเซลล์ โดยอาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสเริ่มถอดรหัสอาร์เอ็นเอคู่สมชนิดขั้วบวก (ระยะที่ 3เอ และ 3บี)[79] อาร์เอ็นเอของไวรัสมีการส่งออกสู่ไซโทพลาสซึมและแปลรหัส (ระยะที่ 4) หรือยังอยู่ในนิวเคลียสต่อไป โปรตีนของไวรัสที่สังเคราะห์ใหม่มีการหลั่งผ่านกอลไจแอปพาราตัสสู่ผิวเซลล์ (ในกรณีของนิวรามินิเดสและฮีแม็กกลูตินิน คือ ระยะที่ 5บี) หรือขนส่งกลับเข้าสู่นิวเคลียสเพื่อยึดอาร์เอ็นเอของไวรัสและก่ออนุภาคจีโนมของไวรัสใหม่ รวมทั้งสลายอาร์เอ็นเอนำรหัสของเซลล์ และใช้นิวคลีโอไทด์ที่ปล่อยออกมาเพื่อการสังเคราะห์อาร์เอ็นเอของไวรัส และยังยับยั้งการแปลรหัสอาร์เอ็นเอนำสารของเซลล์ตัวถูกเบียน[80]

อาร์เอ็นเอของไวรัสชนิดขั้วลบซึ่งก่อเป็นจีโนมของไวรัสในอนาคต อาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส และโปรตีนอื่นของไวรัสประกอบเข้าเป็นวิริออน โมเลกุลฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสกระจุกเข้าสู่รอยโป่งในเยื่อหุ้มเซลล์ อาร์เอ็นเอของไวรัสและโปรตีนแก่นไวรัสออกจากนิวเคลียสแล้วเข้าสู่รอยโป่งของเยื่อนี้ (ระยะที่ 6) ไวรัสที่เจริญเต็มที่ผุดออกจากเซลล์ในเยื่อฟอสโฟลิพิดทรงกลมของตัวถูกเบียน ทำให้ได้ฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสในโค้ดเยื่อนี้ (ระยะที่ 7)[81] เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ไวรัสยึดกับเซลล์ผ่านฮีแม็กกลูตินิน ไวรัสที่เจริญเต็มที่แล้วแยกออกเมื่อนิวรามินิเดสตัดส่วนตกค้างกรดไซอะลิกออกจากเซลล์ตัวถูกเบียน[74] หลังปล่อยไวรัสไข้หวัดใหญ่ใหม่แล้ว เซลล์ตัวถูกเบียนจะตาย

เนื่องจากไม่มีเอ็นไซม์ตรวจอาร์เอ็นเอ อาร์เอ็นเอดีเพนเดนต์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรสซึ่งคัดลอกจีโนมของไวรัสจึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดเกือบทุก ๆ 10,000 นิวคลีโอไทด์ ซึ่งประมาณความยาวของอาร์เอ็นเอของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ฉะนั้น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งผลิตใหม่ส่วนใหญ่จึงเป็นสิ่งกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนแอนติเจน (antigenic drift) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงช้า ๆ ในแอนติเจนบนผิวไวรัสตามเวลา[82] การแบ่งจีโนมออกเป็นอาร์เอ็นเอของไวรัสส่วนต่าง ๆ แปดส่วนทำให้มีการผสมหรือการรวมกันใหม่ของอาร์เอ็นเอไวรัสหากมีไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อในเซลล์มากกว่าหนึ่งชนิด การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสอย่างรวดเร็วอันเป็นผลลัพธ์นี้ทำให้เกิดการเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงฉับพลันขนาดใหญ่ทำให้ไวรัสติดเชื้อชนิดตัวถูกเบียนใหม่ และเอาชนะภูมิคุ้มกันคุ้มครองอย่างรวดเร็ว[70] ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการเกิดการระบาดทั่ว ดังที่อภิปรายด้านล่างในส่วนวิทยาการระบาด

กลไก

การแพร่เชื้อ

เมื่อผู้ติดเชื้อจามหรือไอ อนุภาคไวรัสกว่าครึ่งล้านอนุภาคสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อยู่ใกล้[83] ในผู้ใหญ่สุขภาพดี การกระจายไวรัส (shedding) ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในช่วงนี้บุคคลสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เพิ่มขึ้นอย่างมากครึ่งถึงหนึ่งวันหลังติดเชื้อ โดยสูงสุดในวันที่ 2 และคงอยู่เป็นระยะเวลารวมเฉลี่ย 5 วัน แต่สามารถอยู่ได้นานสุด 9 วัน[84] ในผู้ที่เกิดอาการจากการติดเชื้อทดลอง (เฉพาะ 67% ของบุคคลที่ติดเชื้อในการทดลองสุขภาพดี) อาการและการกระจายไวรัสมีรูปแบบคล้ายกัน แต่การกระจายไวรัสเกิดก่อนการป่วยหนึ่งวัน[84] เด็กติดต่อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มากและกระจายไวรัสตั้งแต่ก่อนเกิดอาการจนถึงสองสัปดาห์หลังติดเชื้อ[85] ในผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การกระจายไวรัสสามารถเกิดต่อเนื่องได้นานกว่าสองสัปดาห์[86]

ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้สามวิธีหลัก[87][88] ได้แก่ 1) ด้วยการสัมผัสโดยตรง คือ บุคคลที่มีเชื่อจามเอามูกเข้าสู่ตา จมูกหรือปากของอีกบุคคลหนึ่งโดยตรง 2) ทางจากอากาศ คือ บุคคลสูดดมละอองฝอยที่เกิดจากบุคคลที่ติดเชื้อไอ จามหรือถ่มน้ำลาย และ 3) ผ่านการแพร่เชื้อมือสู่ตา มือสู่จมูกหรือมือสู่ปาก ไม่ว่าจากผิวที่ปนเปื้อนหรือจากการสัมผัสระหว่างบุคคลโดยตรง เช่น การสัมผัสมือ ความสำคัญโดยสัมพัทธ์ของการแพร่เชื้อสามวิธีนี้ไม่ชัดเจน และทั้งหมดมีส่วนทำให้ไวรัสแพร่[9] ในทางจากอากาศ ละอองเสมหะที่เล็กพอให้บุคคลสูดเข้าไปได้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ถึง 5 ไมโครเมตร และการสูดดมละอองเสมหะเดียวก็อาจเพียงพอทำให้ติดเชื้อได้[87] แม้การจามครั้งเดียวอาจปล่อยละอองเสมหะได้ถึง 40,000 ละออง[89] แต่ส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และถูกพัดพาไปจากอากาศ[87] ระยะเวลาที่ไข้หวัดใหญ่อยู่รอดในละอองเสมหะจากอากาศได้รับอิทธิพลจากระดับความชื้นและรังสียูวี โดยความชื้นต่ำและการขาดแสงอาทิตย์ในฤดูหนาวช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น[87]

ขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่นอกร่างกาย มันสามารถแพร่เชื้อผ่านผิวปนเปื้อนได้ เช่น ธนบัตร[90] ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ และสิ่งของในครัวเรือนอื่น[20] ระยะเวลาที่ไวรัสคงอยู่บนผิวแปรผันได้ โดยไวรัสจะอยู่รอดหนึ่งถึงสองวันบนพื้นผิวแข็งไม่พรุน เช่น พลาสติกหรือโลหะ, ประมาณสิบห้านาทีบนกระดาษทิชชูแห้ง และเพียงห้านาทีบนผิวหนัง[91] อย่างไรก็ดี หากไวรัสอยู่ในมูก จะสามารถป้องกันไวรัสได้นานขึ้น (นานถึง 17 วันบนธนบัตร)[87][90] ไข้หวัดใหญ่นกสามารถมีชีวิตได้ไม่มีกำหนดเมื่อถูกแช่แข็ง[92] ไวรัสจะถูกลดฤทธิ์เมื่อได้รับความร้อนถึง 56 °ซ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 นาที เช่นเดียวกับกรด (ที่ pH <2)[92]

พยาธิสรีรวิทยา

ตำแหน่งการติดเชื้อ (แสดงด้วยสีแดง) ของ เอช1เอ็น1 ตามฤดูกาล กับ เอช5เอ็น1 "ไข้หวัดนก" ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อโอกาสถึงตายและความสามารถในการลุกลาม

กลไกที่ทำให้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่ออาการในมนุษย์นั้นมีการศึกษาอย่างเข้มข้น กลไกหนึ่งเชื่อว่าเป็นการยับยั้งฮอร์โมนแอดรีโนคอร์ติโคโทรปิก (ACTH) ส่งผลให้ระดับคอร์ติซอล (cortisol) ลดลง[93] หากทราบว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์หนึ่งมียีนใดจะสามารถช่วยทำนายได้ว่าเชื้อติดมนุษย์ได้ดีเพียงใด และการติดเชื้อจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด (กล่าวคือ พยากรณ์พยาธิสรีรวิทยาของสายพันธุ์นั้น)[57][94]

ตัวอย่างเช่น ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่บุกรุกเซลล์ คือ การแยกโปรตีนฮีแม็กกลูตินิน (hemagglutinin) ของไวรัสโดยโปรตีเอส (protease) ของมนุษย์ที่มีอยู่หลายตัว[75] ในไวรัสที่ไม่รุนแรง โครงสร้างของฮีแม็กกลูตินินทำให้โปรตีเอสเฉพาะที่พบในลำคอและปอดเท่านั้นที่สามารถแยกมันได้ ฉะนั้นไวรัสจึงไม่สามารถติดเชื้อในเนื้อเยื่ออื่น ทว่าในสายพันธุ์ที่รุนแรง อย่างเอช5เอ็น1 โปรตีเอสหลายชนิดสามารถแยกฮีแม็กกลูตินินได้ ทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วร่าง[94]

โปรตีนฮีแม็กกลูตินินของไวรัสเป็นตัวตัดสินว่าสายพันธุ์นั้นสามารถติดในสัตว์ชนิดใดได้บ้าง และสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่นั้นจะติดทางเดินหายใจของมนุษย์ที่ใดบ้าง[95] สายพันธุ์ที่แพร่เชื้อง่ายระหว่างบุคคลมีโปรตีนฮีแม็กกลูตินินซึ่งยึดกับทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ในจมูก ลำคอและปาก ในทางตรงข้าม สายพันธุ์เอช5เอ็น1 ที่มีอัตราเสียชีวิตสูง ยึดกับตัวรับที่ส่วนใหญ่พบในปอด[96] ตำแหน่งติดเชื้อที่แตกต่างกันนี้เป็นสาเหตุที่สายพันธุ์เอช5เอ็น1 ก่อให้เกิดปอดบวมไวรัสรุนแรง แต่ติดต่อระหว่างบุคคลที่ไอและจามได้ยาก[97][98]

อาการทั่วไปของไข้หวัดใหญ่อย่างไข้ ปวดศีรษะ และล้าเป็นผลของไซโตไคน์ (cytokine) และคีโมไคน์ (chemokine) ที่กระตุ้นการอักเสบ (อย่างอินเตอร์เฟอร์รอน (interferon) และทิวเมอร์เนโครซิสแฟกเตอร์ (tumor necrosis factor)) ปริมาณมากที่ผลิตจากเซลล์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่[25][99] ในทางตรงข้ามกับไรโนไวรัสซึ่งก่อโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ก่อความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ ฉะนั้นอาการจะไม่ได้เกิดจากการตอบสนองของการอักเสบ[100] การตอบสนองภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่นี้อาจก่อให้เกิดพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) ที่ถึงแก่ชีวิตได้ มีการเสนอว่าผลดังกล่าวเป็นสาเหตุของยอดผู้เสียชีวิตสูงผิดปกติของทั้งไข้หวัดใหญ่นกเอช5เอ็น1[101] และสายพันธุ์โรคระบาดทั่วปี 1918[102][103] ทว่า อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือไซโตไคน์ปริมาณมากนี้เป็นเพียงผลของระดับการถ่ายแบบของไวรัสระดับมหาศาลที่ผลิตจากสายพันธุ์เหล่านี้ และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ได้ส่งผลต่อโรคด้วยตัวมันเอง[104] ดูเหมือนว่าไข้หวัดใหญ่กระตุ้นกระบวนการตายของเซลล์ที่มีคำสั่ง (อะพอพโทซิส)[105]

การป้องกัน

การควบคุมการติดเชื้อ

การลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพสมเหตุสมผล ได้แก่ นิสัยสุขภาพและสุขอนามัยส่วนบุคคลดี เช่น ไม่สัมผัสตา จมูกหรือปากตัวเอง[106], ล้างมือบ่อย ๆ (ด้วยน้ำกับสบู่ หรือด้วยเจลถูมือที่มีแอลกอฮอล)[107], เลี่ยงการสัมผัสหรือการอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย, แม้การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยอาจช่วยลดโอกาสติดเชื้อลงบ้าง[108][109] แต่ประสิทธิภาพการลดการติดเชื้ออาจไม่เท่าการสวมหน้ากากโดยตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งสามารถทำควบคู่กันไปได้, ลดการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงในการสัมผัสไข้หวัดใหญ่และเป็นความเสี่ยงของอาการที่รุนแรงกว่า[110][111]

การลดการแพร่เชื้อเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมโรค ผู้ป่วยควรหยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ, แนะนำไม่ให้ถ่มน้ำลาย[112], ล้างมือเป็นประจำเพื่อลดการแพร่เชื้อผ่านพื้นผิวของสิ่งของสาธารณะเช่นลูกบิดประตู, สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสที่อยู่ในน้ำมูกและน้ำลาย หากจำเป็นต้องออกมาพื้นที่ชุมชนหรือต้องการลดการแพร่เชื้อภายในบ้าน

เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ทางการสัมผัสผิวที่ปนเปื้อน การทำความสะอาดผิวจึงอาจช่วยลดการติดเชื้อลงบ้าง[113] แอลกอฮอลเป็นสารชำระล้างที่มีประสิทธิภาพต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนสารประกอบควอเตอนารีแอมโมเนียมสามารถใช้ร่วมกับแอลกอฮอลเพื่อให้ฤทธิ์ชำระล้างอยู่นานขึ้น[114] ในโรงพยาบาล สารประกอบควอเตอนารีแอมโมเนียมและสารฟอกใช้เพื่อชำระล้างห้องหรืออุปกรณ์ที่ผู้มีอาการไข้หวัดใหญ่ใช้[114] ที่บ้าน สามารถชำระล้างอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยสารฟอกคลอรีนเจือจาง[115]

ยุทธศาสตร์การรักษาระยะห่างทางสังคมที่ใช้ระหว่างการระบาดทั่วในอดีต เช่น การปิดโรงเรียน โบสภ์และโรงละคร ชะลอการแพร่ของไวรัส แต่มีผลไม่มากนักต่ออัตราตายโดยรวม[116][117] ยังไม่แน่ชัดว่าหากลดการประชุมในที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ปิดโรงเรียนและที่ทำงาน จะลดการแพร่เชื้อเพราะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจเพียงย้ายจากพื้นที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง มาตรการดังนี้ยังบังคับใช้ได้ยากและอาจไม่ได้รับความนิยมด้วย[112] เมื่อคนจำนวนน้อยติดเชื้อ การแยกผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ[112]

การฉีดวัคซีน

ขณะกำลังให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐแนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ป่วยเรื้อรังอย่างโรคหืด เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น[118][119] ในผู้ใหญ่สุขภาพดี วัคซีนมีประสิทธิภาพพอประมาณในการลดปริมาณอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในประชากร[120] ในเด็กสุขภาพดีอายุเกิน 2 ปี วัคซีนลดโอกาสได้รับไข้หวัดใหญ่ลงสองในสาม แต่ยังไม่มีการศึกษาดีนักในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี[121] การฉีดวัคซีนลดการกำเริบในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง[122] แต่ยังไม่ชัดเจนว่าช่วยลดการกำเริบของโรคหืดด้วยหรือไม่[123] หลักฐานสนับสนุนอัตราป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ต่ำกว่าในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหลายกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ มะเร็ง และผู้หลังปลูกถ่ายอวัยวะ[124] ในผู้ป่วยฉีดวัคซีนความเสี่ยงสูงอาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ[125] การกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีผลต่อผลการรักษาผู้ป่วยหรือไม่นั้นยังเป็นที่พิพาทอยู่ โดยบทปฏิทรรศน์บ้างไม่พบหลักฐานเพียงพอ[126][127] และบ้างพบหลักฐานเบื้องต้น[128][129]

เนื่องจากอัตรากลายพันธุ์ของไวรัสมีสูง วัคซีนไข้หวัดใหญ่เฉพาะปกติจึงให้การป้องกันโรคได้ไม่กี่ปีเท่านั้น ทุกปีองค์การอนามัยโลกพยากรณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ใดน่าจะไหลเวียนในปีหน้ามากที่สุด ทำให้บริษัทเภสัชภัณฑ์พัฒนาวัคซีนที่จะให้ภูมิคุ้มกันดีที่สุดต่อสายพันธุ์เหล่านี้[130] มีการเปลี่ยนสูตรวัคซีนแต่ละฤดูสำหรับสายพันธุ์จำเพาะบางสายพันธุ์ แต่ไม่รวมสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในโลกระหว่างฤดูนั้น ผู้ผลิตใช้เวลาหกเดือนสร้างสูตรและผลิตวัคซีนหลายล้านขนาดที่จำเป็นในการรับมือกับสายพันธุ์ที่โดดเด่นอยู่ในขณะนั้น[131] นอกจากนี้การติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีนและการเจ็บป่วยจากสายพันธุ์ที่วัคซีนควรป้องกันก็เป็นไปได้ เพราะวัคซีนใช้เวลาออกฤทธิ์สองสัปดาห์[132]

วัคซีนสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองราวกับว่าร่างกายกำลังมีการติดเชื้อจริง และอาจมีอาการติดเชื้อทั่วไปได้ (ซึ่งอาการหลายอย่างของโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ก็เป็นอาการติดเชื้อทั่วไป) แม้อาการเหล่านี้ปกติไม่รุนแรงหรือไม่กินเวลานานเท่าไข้หวัดใหญ่ ผลไม่พึงประสงค์ที่อันตรายที่สุด ได้แก่ ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงต่อสารไวรัสเอง หรือส่วนตกค้างของไข่ไก่ที่ใช้เพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ปฏิกิริยานี้พบยากยิ่ง[133]

บทปฏิทรรศน์ปี 2018 ของคอคแครนว่าด้วยเด็กที่มีสุขภาพโดยรวมดีพบว่าการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นดูเหมือนลดความเสี่ยงการติดไข้หวัดใหญ่สำหรับฤดูกาลนั้นจาก 18% เหลือ 4% วัคซีนชนิดเชื้อตายดูเหมือนลดอัตราการติดไข้หวัดใหญ่สำหรับฤดูกาลนั้นจาก 30% เหลือ 11% ไม่มีข้อมูลเพียงพอดึงข้อสรุปแน่ชัดเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างปอดบวมหรือการให้เข้าโรงพยาบาล[134]

สำหรับผู้ใหญ่สุขภาพดี บทปฏิทรรศน์คอคแครนปี 2018 แสดงว่าวัคซีนลดอุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ห้องปฏิบัติการยืนยันจาก 2.3% เหลือ 0.9% ซึ่งคิดเป็นการลดความเสี่ยงประมาณ 60% อย่างไรกฌดี สำหรับการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งนิยามว่ามีอาการเดียวกันคือ ไอ ไข้ ปวดศีรษะ คัดจมูกและเจ็บปวดตามตัว วัคซีนลดความเสี่ยงจาก 21.5% เหลือ 18.1% ซึ่งคิดเป็นการลดความเสี่ยงลงเล็กน้อย 16% ข้อแตกต่างอาจอธิบายได้ดีที่สุดจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่ก่ออาการเดียวกันหรือคล้ายกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่[121]

ต้นทุน-ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีการประเมินอย่างกว้างขวางสำหรับกลุ่มและกรณีต่าง ๆ[135] โดยทั่วไปพบว่าเป็นการรักษาที่คุ้มทุน โดยเฉพาะในเด็ก[136] และผู้สูงอายุ[137] อย่างไรก็ตาม ผลของการประเมินการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทางเศรษฐกิจพบว่าขึ้นอยู่กับข้อสันนิษฐานสำคัญ[138][139]

การวินิจฉัย

ภาพรังสีเอ็กซ์ของผู้ป่วยเอข1เอ็น1 ยืนยันแล้ว อายุ 29 ปี

มีการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับไข้หวัดใหญ่อยู่จำนวนหนึ่ง วิธีหนึ่งเรียกว่า การสอบปริมาณโมเลกุลอย่างเร็ว (Rapid Molecular Assay) ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่าง (มูก) โดยใช้สิ่งป้ายกวาดจมูกหรือสิ่งป้ายกวาดคอหอยส่วนจมูก[140] ควรทดสอบภายใน 3–4 วันหลังเริ่มมีอาการ เพราะการกระจายของไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนจะยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นหลังจากนั้น[34]

การรักษา

แนะนำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ เลี่ยงการใช้แอลกอฮอลและยาสูบ และถ้าจำเป็น ใช้ยาอย่างอะเซตามีโนเฟน (พาราเซตามอล) เพื่อลดไข้และบรรเทาปวดกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ป่วยเลี่งยการสัมผัสใกล้ชิดบุคคลอื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ[141][142] เด็กและวัยรุ่นที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้) ควรเลี่ยงการใช้แอสไพรินระหว่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้หวัดใหญ่ชนิดบี) เพราะอาจนำไปสู่กลุ่มอาการเรย์ เป็นโรคของตับที่หายากแต่อาจถึงแก่ชีวิตได้[143] ด้วยเหตุที่ไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัส ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผลต่อการติดเชื้อ ยกเว้นจ่ายให้สำหรับการติดเชื้อขั้นตามอ่ยางปอดบวมแบคทีเรีย ยาต้านไวรัสอาจมีประโยชน์หากให้เร็ว (ภายใน 48 ชั่วโมงหลังอาการแรก) แต่ไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์มีการดื้อยาต้านไวรัสมาตรฐาน และมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของการวิจัย[144] ปัจเจกบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรพบแพทย์เพื่อขอรับยาต้านไวรัส ผู้มีอาการเตือนฉุกเฉินควรติดต่อห้องฉุกเฉินทันที[145]

ยาต้านไวรัส

มีการใช้ยาต้านไวรัสสองประเภทกับไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ สารยับยั้งนิวรามินิเดส (โอเซลทามิเวียร์, ซานามิเวียร์, ลานินามิเวียร์ และ เปรามิเวียร์ ) และตัวยับยั้งโปรตีนเอ็ม2 (อนุพันธ์ของอะดาแมนเทน)

สารยับยั้งนิวรามินิเดส

ประโยชน์โดยรวมของสารยับยั้งนิวรามินิเดสในผู้มีสุขภาพดีดูแล้วไม่มากกว่าความเสี่ยง[10] และดูแล้วไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ ในผู้มีปัญหาสุขภาพอื่น[10] ในผู้ที่เชื่อว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ยาดังกล่าวลดระยะเวลาที่มีอาการน้อยกว่าหนึ่งวันเล็กน้อย แต่ดูไม่มีผลต่อความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน อย่างความจำเป็นต้องรับรักษาในโรงพยาบาลหรือโรคปอดบวม[11] การดื้อสารยับยั้งนิวรามินิเดสที่พบมากขึ้นทุกทีทำให้นักวิจัยแสวงยาต้านไวรัสทางเลือกที่มีกลไกการออกฤทธิ์อื่น[146]

สารยับยั้งเอ็ม2

ยาต้านไวรัสอะแมนตาดีนและไรแมนตาดีนยับยั้งการสร้างช่องไอออนของไวรัส (โปรตีนเอ็ม2) จึงยับยั้งการถ่ายแบบของไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ[78] ยาเหล่านี้บางครั้งมีผลต่อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ หากได้รับตั้งแต่การติดเชื้อระยะแรก แต่ไม่เป็นผลกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดบี ซึ่งไม่มีเป้าหมายของยาเอ็ม2[147] การดื้อยาอะแมนตาดีนและไรแมนตาดีนที่วัดได้ในบุคคลแยกชาวอเมริกันซึ่งเป็นเอช3เอ็น2 เพิ่มเป็น 91% ในปี 2005[148] การดื้อยาระดับสูงนี้อาจเนื่องจากอะแมนตาดีนหาซื้อเป็นยาบรรเทาหวัดซื้อเองได้และหาได้ง่ายในประเทศอย่างจีนและรัสเซีย[149] และการใช้เพื่อป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกฟาร์ม[150][151] ซีดีซีไม่แนะนำให้ใช้สารยับยั้งเอ็ม2 ระหว่างฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ 2005–06 เนื่องจากมีการดื้อยาในระดับสูง[152]

พยากรณ์โรค

ผลของไข้หวัดใหญ่รุนแรงกว่าและอยู่ได้นานกว่าโรคหวัด คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์ แต่บางคนอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้ (เช่น ปอดบวม) ฉะนั้น ไข้หวัดใหญ่อาจถึงตายได้ในผู้อ่อนแอ เด็กและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยเรื้อรัง[70] ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีขั้นรุนแรงหรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ (ซึ่งทางการแพทย์ให้กดระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย) ผู้ประสบโรครุนแรงบางอย่าง[153] หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูงเช่นกัน[154]

ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้ปัญหาสุขภาพทรุดลงได้ ผู้ประสบภาวะมีอากาศในเนื้อเยื่อ, หลอดลมอักเสบเรื้อรังหรือโรคหืดอาจมีอาการหายใจลำบากระหว่างป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหัวใจล้มเหลว[155] การสูบบุหรี่เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่สัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงมากขึ้นและเพิ่มอัตราการตายจากไข้หวัดใหญ่[156]

องค์การอนามัยโลกมีข้อมูลว่า "ทุกฤดูหนาวมีบุคคลติดไข้หวัดใหญ่หลายสิบล้านคน ส่วนใหญ่ป่วยและหยุดทำงานหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น แต่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย เราทราบว่ายอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ในหลักแสนคนต่อปี แต่กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้ว จำนวนดังกล่าวยังไม่แน่นอนเนื่องจากทางการแพทย์ปกติไม่ได้ยืนยันว่าแท้จริงแล้วเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ หรือเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่"[157] แม้แต่บุคคลสุขภาพดีก็สามารถป่วยได้ และปัญหารุนแรงจากไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดได้ทุกวัย บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ เด็กอ่อนและคนทุกวัยที่มีภาวะทางการแพทย์เรื้อรังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการไข้หวัดใหญ่มากกว่า เช่น ปอดบวม, โรคหลอดลมอักเสบ, การติดเชื้อไซนัส และที่หู[158]

ในบางกรณี การตอบสนองภูมิต้านตนเองเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจมีผลต่อการพัฒนากลุ่มอาการกิลแลง–บาร์เร[159] อย่างไรก็ดี เนื่องจากการติดเชื้ออีกหลายอย่างสามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ ไข้หวัดใหญ่จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญเฉพาะระหว่างการระบาดเท่านั้น[159][160] กลุ่มอาการนี้เชื่อว่าเป็นผลข้างเคียงพบได้น้อยของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ บทปฏิทรรศน์หนึ่งระบุว่าอุบัติการณ์มีประมาณหนึ่งต่อวัคซีนหนึ่งล้านขนาด[161] การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เองเพิ่มทั้งความเสี่ยงเสียชีวิต (ถึง 1 ใน 10,000) และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เรถึงระดับสูงกว่าระดับความเกี่ยวข้องของวัคซีนที่สงสัยสูงสุดมาก (ประมาณ 10 เท่าของการประมาณล่าสุด)[162][163]

ข้อมูลของ cdc.gov ระบุว่า "เด็กทุกวัยที่มีภาวะทางประสาทวิทยามีโอกาสป่วยมากเทียบกับเด็กอื่นถ้าได้รับไข้หวัดใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจแตกต่างกันและสำหรับเด็กบางคนอาจรวมปอดบวมและถึงเสียชีวิตได้"[164]

เอ็มอาร์ไอแสดงสมองอักเสบจากไข้หวัดใหญ่

ภาวะทางประสาทวิทยารวมถึง

  • ความผิดปกติของสมองและไขสันหลัง
  • อัมพาตสมองใหญ่
  • โรคลมชัก
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ความพิการทางปัญญา
  • พัฒนาการล่าช้าระดับปานกลางถึงรุนแรง
  • โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน
  • การบาดเจ็บของไขสันหลัง

ภาวะเหล่านี้สามารถขัดขวางการไอ การกลืน การทำให้ทางเดินหายใจโล่ง และในกรณีเลวร้ายที่สุด การหายใจ ฉะนั้นจึงทำให้อาการของไข้หวัดใหญ่เลวลง[164]

ระบาดวิทยา

การผันแปรตามฤดูกาล

พื้นที่เสี่ยงตามฤดูกาลสำหรับไข้หวัดใหญ่: พฤศจิกายน–เมษายน (สีน้ำเงิน), เมษายน–พฤศจิกายน (แดง) และตลอดปี (สีเหลือง)

ไข้หวัดใหญ่มีความชุกสูงสุดในฤดูหนาว และเนื่องจากซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ตรงกับฤดูหนาวต่างเวลากัน ปีหนึ่งจึงมีฤดูไข้หวัดใหญ่สองฤดู เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลก (ซึ่งมีศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติสนับสนุน) ออกคำแนะนำสำหรับสูตรวัคซีนสองคำแนะนำแยกกันทุกปี คือให้ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้[130]

ปริศนาที่มีมานานมีอยู่ว่าเหตุใดการระบาดของไข้หวัดใหญ่จึงเกิดตามฤดูกาลไม่ใช่เกิดเท่ากันตลอดปี มีคำอธิบายทีเป็นไปได้อย่างหนึ่งว่าบุคคลอยู่ในอาคารมากขึ้นระหว่างฤดูหนาว จึงอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นบ่อยครั้งขึ้น และส่งเสริมการแพร่เชื้อจากบุคคลสู่บุคคล การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากฤดูวันหยุดฤดูหนาวในซีกโลกเหนือก็อาจมีบทบาท[165] อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่อุณหภูมิเย็นนำไปสู่อากาศแห้ง ซึ่งอาจทำให้อนุภาคเมือกเสียน้ำ อนุภาคแห้งเบากว่าและสามารถอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานานขึ้น ไวรัสยังอยู่รอดนานกว่าบนพื้นผิวที่อุณหภูมิเย็นกว่าและการแพร่เชื้อด้วยละอองฝอยของไวรัสเกิดสูงสุดในสิ่งแวดล้อมเย็น (ต่ำกว่า 5 °ซ) ซึ่งมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ[166] ความชื้นในอากาศต่ำกว่าในฤดูหนาวดูเป็นสาเหตุหลักของการแพร่เชื้อของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในเขตอบอุ่น[167][168]

การเปลี่ยนแปลงอัตราการติดเชื้อตามฤดูกาลยังพบในเขตร้อนด้วย และในบางประเทศมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดระหว่างฤดูฝนเป็นหลัก[169] การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในอัตราการสัมผัสจากภาคเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในโรควัยเด็กอย่างอื่น เช่น โรคหัดและโรคไอกรน อาจมีบทบาทในโรคไข้หวัดใหญ่เช่นกัน ผลตามฤดูกาลเล็กน้อยเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วอาจมีการเสริมจากการพ้องแบบพลวัตกับวัฏจักรโรคจากภายใน[170] เอช5เอ็น1 ก็แสดงความผันแปรตามฤดูกาลทั้งในมนุษย์และสัตว์ปีก[171]

สมมติฐานอีกอย่างหนึ่งเพื่ออธิบายความผันแปรตามฤดูกาลในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือผลของระดับวิตามินดีที่มีต่อภูมิคุ้มกันต่อไวรัส[172] โรเจอร์ เอ็ดการ์ โฮป-ซิมป์สันเป็นผู้เสนอความคิดนี้ครั้งแรกในปี 1965[173] เขาเสนอว่าสาเหตุของการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ระหว่างฤดูหนาวอาจเชื่อมโยงกับการขึ้นลงตามฤดูกาลของวิตามินดี ซึ่งมีการผลิตในผิวหนังภายใต้อิทธิพลของการแผ่รังสียูวี ซึ่งสามารถอธิบายว่าเหตุใดไข้หวัดใหญ่เกิดในฤดูหนาวเป็นหลัก และระหว่างฤดูฝนในเขตร้อน เมื่อบุคคลอยู่ในอาคาร ไม่ได้รับแสงอาทิตย์และทำให้ระดับวิตามินดีลดลง

การระบาดและการแพร่กระจายของโรคระบาดทั่ว

ด้วยเหตุว่าไข้หวัดใหญ่เกิดจากไวรัสหลายชนิดและหลายสายพันธุ์ ในปีหนึ่ง ๆ บางสายพันธุ์จึงอาจตายไป ส่วนบางสายพันธุ์อาจก่อให้เกิดการระบาด และบางสายพันธุ์ยังสามารถก่อให้เกิดการระบาดทั่ว ตรงแบบ ในฤดูกาลไข้หวัดใหญ่สองฤดูกาลตามปกติในหนึ่งปี มีผู้ป่วยรุนแรงระหว่าง 3 ถึง 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 500,000 คนทั่วโลก[174] ซึ่งบางบทนิยามเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำปี[175] แม้อุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่สามารถผันแปรได้มากระหว่างปี แต่มีผู้เสียชีวิตประมาณ 36,000 คนและการรับเข้าโรงพยาบาลกว่า 200,000 ครั้งที่สัมพันธ์โดยตรงกับไข้หวัดใหญ่ทุกปีในสหรัฐ[176][177] วิธีการหนึ่งในการคำนวณอัตราตายของไข้หวัดใหญ่ได้ผลว่ามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยต่อปี 41,400 คนในสหรัฐระหว่างปี 1979 ถึง 2001[178] การคำนวณอีกวิธีหนึ่งที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ใช้ในปี 2010 รายงานพิสัยตั้งแต่ประมาณ 3,300 คนถึง 49,000 คนต่อปี[179]

เกิดการระบาดทั่วประมาณสามครั้งต่อศตวรรษ ซึ่งติดต่อประชากรของโลกเป็นจำนวนมาก และฆ่ามนุษย์หลายสิบล้านคน การศึกษาหนึ่งประมาณว่าถ้าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีศักยภาพก่อโรคคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ 1918 ปรากฏในปัจจุบัน จะทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50 ถึง 80 ล้านคน[180]

การเลื่อนหรือการรวมกันใหม่ของแอนติเจนสามารถส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ใหม่และก่อโรคอย่างสูงของไข้หวัดใหญ่มนุษย์

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ใหม่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยการกลายพันธุ์หรือการเข้าชุดยีนใหม่ (reassortment)[47] การกลายพันธุ์สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแอนติเจนฮีแม็กกลูตินินและนิวรามินิเดสบนผิวของไวรัส สิ่งนี้เรียกการเบี่ยงเบนแอนติเจน (antigenic drift) ซึ่งสร้างสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ จนสายพันธุหนึ่งวิวัฒนาการจนติดเชื้อบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม สายพันธุ์ใหม่นี้จะแทนที่สายพันธุ์เก่าเมื่อสายพันธุ์นั้นกวาดผ่านประชากรมนุษย์ ซึ่งมักก่อให้เกิดการระบาด[181] อย่างไรก็ดี เนื่องจากสายพันธุ์ที่ผลิตจากการเลื่อนจะยังคล้ายกับสายพันธุ์เก่ากว่าอย่างสมเหตุผล บางคนจึงมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น ในทางตรงข้าม เมื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการรวมกันใหม่ จะได้แอนติเจนใหม่ทั้งหมด ตัวอย่างเช่นเมื่อมีการรวมกันใหม่ระหว่างสายพันธุ์นกและสายพันธุ์มนุษย์ สิ่งนี้เรียก การเลื่อนแอนติเจน (antigenic shift) หากไวรัสไข้หวัดใหญ่มนุษย์ผลิตแอนติเจนใหม่ทั้งหมด ทุกคนจะไวรับ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะแพร่กระจายอย่างควบคุมไม่ได้ ก่อให้เกิดการระบาดทั่ว[182] ในทางตรงข้ามกับแบบจำลองการระบาดทั่วที่อาศัยการเบี่ยงเบนและการเลื่อนแอนติเจน มีการเสนออีกแนวทางหนึ่งซึ่งการระบาดทั่วเป็นคาบนั้นเกิดจากอันตรกิริยาระหว่างสายพันธุ์ไวรัสบางชุดที่ประชากรมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงชุดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง[183]

เวลาชั่วรุ่นสำหรับไข้หวัดใหญ่ (เวลาตั้งแต่การติดเชื้อสองครั้ง)สั้นมาก (2 วัน) จึงอธิบายว่าเหตุใดการระบาดของไข้หวัดใหญ่จึงเริ่มต้นและสิ้นสุดในเวลาสั้น ๆ ไม่กี่เดือน[184]

จากมุมมองของสาธารณสุข การระบาดของไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและควบคุมยากมาก สายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดเชื้อมาก และปัจเจกบุคคลที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อให้แก่ปัจเจกบุคคลอีกหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น (จำนวนการสืบพันธุ์พื้นฐานสำหรับไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1.4) อย่างไรก็ดี เวลาชั่วรุ่นสำหรับไข้หวัดใหญ่สั้นมาก หรือเวลาตั้งแต่บุคคลติดเชื้อจนถึงเมื่อเขาแพร่เชื้อให้แก่บุคคลถัดไป กินเวลาเพียง 2 วัน เวลาชั่วรุ่นที่สั้นนี้หมายความว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปกติสูงสุดที่เวลา 2 เดือนและหมดไปหลัง 3 เดือน จึงต้องรีบตัดสินใจแทรกแซงในการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้น และฉะนั้นการตัดสินใจจึงมักตั้งอยู่บนข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ อีกปัญหาหนึ่งคือปัจเจกบุคคลสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ ซึ่งหมายความว่าการกักกันบุคคลหลังมีอาการป่วยไม่ใช่การแทรกแซงทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ[184] สำหรับบุคคลทั่วไป การกระจายไวรัสมักสูงสุดในวันที่ 2 แต่อาการจะสูงสุดในวันที่ 3[18]

ประวัติศาสตร์

ศัพทมูลวิทยา

คำว่า ไข้หวัดใหญ่ (influenza) มาจากภาษาอิตาลีหมายถึง "อิทธิพล" (influence) และหมายถึงสาเหตุของโรค ซึ่งเดิมทีเชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลทางโหราศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย มีการนำมาใช้ในภาษาอังกฤษในกลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระหว่างการระบาดทั่วทวีปยุโรป[185] คำโบราณสำหรับไข้หวัดใหญ่เช่น epidemic catarrh, la grippe[186] การป่วยเหงื่อออก (sweating sickness) และ ไข้สเปน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสายพันธุ์การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918)[187]

การระบาดทั่ว

กราฟแสดงการเสียชีวิตต่อ 100,000 ประชากรในแต่ละกลุ่มอายุในสหรัฐระหว่างปี 1911–1917 (เส้นประ) และปีระบาดทั่ว 1918 (เส้นทึบ)[188] แสดงข้อแตกต่างระหว่างการกระจายของอายุเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ระหว่างการระบาดปี 1918 และการระบาดปกติ
กล้องและจอถ่ายภาพความร้อน ซึ่งถ่ายจากอาคารสนามบินในประเทศกรีซระหว่างการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 2009 การถ่ายภาพความร้อนตรวจจับอุณหภูมิกายที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นอาการแสดงหนึ่งของไข้หวัดใหญ่หมู

ฮิปพอคราทีสอธิบายอาการของไข้หวัดใหญ่มนุษย์อย่างชัดเจนเมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อน[189][190] แม้ว่าไวรัสดังกล่าวดูเหมือนก่อให้เกิดการระบาดตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ข้อมูลประวัติศาสตร์ของไข้หวัดใหญ่ตีความได้ยาก เพราะอาการสามารถคล้ายกับโรคทางเดินหายใจอื่นได้[191][192] โรคนี้อาจแพร่กระจายจากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาตั้งแต่การทำให้ทวีปอเมริกาเป็นอาณานิคมของยุโรป เนื่องจากประชากรพื้นเมืองเกือบทั้งหมดของแอนทิลลิสเสียชีวิตจากการระบาดที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปี 1493 หลังคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินทางถึง[193][194]

บันทึกที่น่าเชื่อครั้งแรกของไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วคือการระบาดในปี 1580 ซึ่งเริ่มต้นในประเทศรัสเซียแล้วกระจายไปทวีปยุโรปผ่านทวีปแอฟริกา ในกรุงโรม มีผู้เสียชีวิตกว่า 8,000 คน และประชากรในนครของสเปนหลายแห่งเสียชีวิตเกือบทั้งหมด การระบาดทั่วดำเนินไปเป็นระยะตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยมีการระบาดทั่วปี 1830–1833 ที่กว้างขวางเป็นพิเศษ ซึ่งติดเชื้อประชากรที่สัมผัสประมาณหนึ่งในสี่[192]

การระบาดครั้งที่มีชื่อเสียงที่สุดและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918 (ไข้หวัดใหญ่สเปน) (ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ประเภทย่อยเอช1เอ็น1) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1918 ถึง 1919 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามียอดผู้เสียชีวิตเท่าใด แต่ค่าประมาณอยู่ระหว่าง 50 ถึง 100 ล้านคน[188][195][196] มีการอธิบายการระบาดทั่วนี้ว่าเป็น "ภัยพิบัติทางการแพทย์ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์" และอาจฆ่าคนได้มากเท่าแบล็กเดท[192] ยอดผู้เสียชีวิตสูงขนาดนี้เกิดจากอัตราการติดเชื้อที่สูงอย่างยิ่งมากถึง 50% และอาการรุนแรงสุดขั้ว ที่ไวรับต่อพายุไซโทไคน์[196] อาการในปี 1918 ผิดปกติเสียจนทีแรกไข้หวัดใหญ่วินิจฉัยผิดเป็นไข้เด็งกี อหิวาตกโรคหรือไทฟอยด์ ผู้สังเกตคนหนึ่งเขียนว่า "ภาวะแทรกซ้อนที่เตะตาที่สุดอย่างหนึ่งคือเลือดออกจากเยื่อเมือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจมูก กระเพาะอาหารและลำไส้ เลือดออกจากหูและจุดเลือดออกในผิวหนังก็พบได้"[195] การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากปอดบวมแบคทีเรีย ซึ่งเป็นการติดเชื้อทุติยภูมิที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ แต่ไวรัสยังฆ่ามนุษย์โดยตรงได้ โดยทำให้เกิดเลือดออกปริมาณมากและอาการบวมน้ำในปอด[197]

การระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ปี 1918 เป็นการระบาดทั่วโลกอย่างแท้จริง โดยแพร่กระจายไปถึงอาร์กติกและหมู่เกาะแปซิฟิกอันห่างไกล ครั้งนั้นโรคทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตระหว่าง 2 ถึง 20% ตรงข้ามกับอัตราตายของไข้หวัดใหญ่ระบาดตามปกติ 0.1%[188][195] ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของการระบาดนี้คือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยการเสียชีวิตจากการะบาดของไข้หวัดใหญ่ 99% เกิดในบุคคลอายุต่ำกว่า 65 ปี และกว่าครึ่งเป็นผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี[198] นับเป็นสิ่งผิดปกติเพราะปกติไข้หวัดใหญ่มีอัตราตายสูงสุดในเด็กอ่อน (อายุต่ำกว่า 2 ปี) และผู้สูงอายุมาก (อายุเกิน 70 ปี) ไม่ทราบอัตราตายของการระบาดปี 1918–1919 แน่ชัด แต่ประเมินว่ามีประชากรโลกเสียชีวิตะระหว่าง 2.5% ถึง 5% ของประชากรโลก ใน 25 สัปดาห์แรก มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ล้านคน ในทางตรงกันข้าม เอชไอวี/เอดส์มีผู้เสียชีวิต 25 ล้านใน 25 ปีแรก[188]

การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเวลาต่อมาไม่มีผลทำลายล้างขนาดนั้นแล้ว ซึ่งรวมไข้หวัดใหญ่เอเชียปี 1957 (ชนิดเอ สายพันธุ์เอช2เอ็น2) และไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงปี 1968 (ชนิดเอ สายพันธุ์เอช3เอ็น2) แต่แม้การระบาดขนาดย่อมกว่านี้ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคนได้ ในการระบาดทั่วต่อมา มียาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อทุติยภูมิ และอาจช่วยลดอัตราตายเมื่อเทียบกับไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918[188]

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดหลักในมนุษย์ สี่เหลี่ยมทับแสดงการปรากฏสายพันธุ์ใหม่ ทำให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ซ้ำ ๆ เส้นประแสดงการระบุสายพันธุ์ที่ไม่แน่ชัด[199]

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดแรกที่แยกได้มาจากสัตว์ปีก เมื่อในปี 1901 เชื้อก่อโรคชื่อ "กาฬโรคสัตว์ปีก" ผ่านตัวกรองเชมเบอร์แลน ซึ่งมีรูเล็กจนแบคทีเรียผ่านไม่ได้[200] มีการค้นพบสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ คือไวรัสวงศ์ Orthomyxoviridae ครั้งแรกในหมูโดยริชาร์ด โชปในปี 1931[201] ไม่นานมีการแยกไวรัสจากมนุษย์โดยกลุ่มที่มีแพทริก เลดลอว์เป็นหัวห้นา ณ สภาวิจัยการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรในปี 1933[202] อย่างไรก็ตาม กว่าจะเข้าใจสภาพไม่ใช่เซลล์ของไวรัสก็ล่วงมาจนเวนเดล สแตนลีย์ทำให้ไวรัสโมเซกยาสูบเป็นผลึกในปี 1935

ก้าวสำคัญก้าวแรกในการป้องกันไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนาวัคซีนชนิดไวรัสตายในปี 1944 โดยทอมัส ฟรานซิส จูเนียร์ ซึ่งต่อยอดจากงานของแฟรงก์ แม็กฟาร์ลีน เบอร์เน็ตชาวออสเตรเลีย ผู้แสดงว่าไวรัสเสียศักยภาพก่อโรคเมื่อเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ที่ปฏิสนธิแล้ว[203] การประยุกต์ใช้การสังเกตนี้โดยฟรานซิสทำให้กลุ่มนักวิจัยของเขาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรกด้วยการสนับสนุนของกองทัพสหรัฐ[204] กองทัพเข้าร่วมการวิจัยนี้เพราะประสบการณ์ไข้หวัดใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกำลังพลหลายพันนายเสียชีวิตจากไวรัสในเวลาไม่กี่เดือน[195] เมื่อเทียบกับวัคซีนแล้ว การพัฒนายาต้านไข้หวัดใหญ่ช้ากว่า โดยมีการจดสิทธิบัตรอะแมนตาดีนในปี 1966 และอีกเกือบสามสิบปีต่อมา กำลังมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ (ตัวยับยั้งนิวรามินิเดส)[205]

ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วที่สำคัญ ๆ ยุคปัจจุบัน[206][207]
ชื่อ ปี ประชากรโลก ชนิดย่อย Reproduction number[208] คนติด (คนโดยประมาณ) คนตายทั่วโลก (คน) อัตราป่วยตาย ระดับความรุนแรง
ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว
ค.ศ. 1889-1890[209]
1889-1890 1,530 ล้าน น่าจะ H3N8 หรือ H2N2 2.10 (IQR, 1.9-2.4)[209] 20-60%[209] (300-900 ล้าน) 1 ล้าน 0.10-0.28%[209] 2
ไข้หวัดใหญ่สเปน[210] 1918-20 1,800 ล้าน H1N1 1.80 (IQR, 1.47-2.27) 33% (500 ล้าน)[211] หรือ >56% (>1 พันล้าน)[212] 17[213] - 100[214][215] ล้าน 2-3%,[212] หรือ ~4% หรือ ~10%[216] 5
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย 1957-58 2,900 ล้าน H2N2 1.65 (IQR, 1.53-1.70) >17% (>500 ล้าน)[212] 1-4 ล้าน[212] <0.2%[212] 2
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง 1968-69 3,530 ล้าน H3N2 1.80 (IQR, 1.56-1.85) >14% (>500 ล้าน)[212] 1-4 ล้าน[212] <0.2%[212] 2
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009[217][218] 2009-10 6,850 ล้าน H1N1/09 1.46 (IQR, 1.30-1.70) 11-21% (700-1,400 ล้าน)[219] 151,700 - 575,400[220] 0.03%[221] 1
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล[t 1] ทุกปี 7,750 ล้าน A/H3N2, A/H1N1, B, ... 1.28 (IQR, 1.19-1.37) 5-15% (340-1,000 ล้าน)[222]3-11% หรือ 5-20%[223][224](240-1,600 ล้าน) 290,000 - 650,000/ปี[225] <0.1%[226] 1
หมายเหตุ
  1. อาจไม่ใช่การระบาดทั่ว แต่แสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบ

สังคมและวัฒนธรรม

ไข้หวัดใหญ่มีราคาโดยตรงเนื่องจากการเสียผลิตภาพและการรักษาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนราคาโดยอ้อมของมาตรการป้องกัน ในสหรัฐ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีประเมินว่าส่งผลให้มีราคาทางเศรษฐกิจต่อปีเฉลี่ยกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาทางการแพทย์ดดยตรงกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี[227] มีการประเมินว่าการระบาดทั่วในอนาคตอาจทำให้ราคาโดยตรงและโดยอ้อมสูงถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ[228] อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดทั่วในอดีตอย่างเข้มข้น และผู้ประพันธ์บางคนเสนอว่าไข้หวัดใหญ่สเปนอาจมีผลกระทบระยะยาวเป็นบวกต่อการเติบโตของรายได้ต่อหัว แม้มีการลดลงของประชากรทำงานและผลภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงระยะสั้น[229] การศึกษาอื่นพยายามทำนายราคาของการระบาดทั่วที่รุนแรงเท่ากับไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งคนงาน 30% ป่วย และเสียชีวิต 2.5% อัตราป่วย 30% และการเจ็บป่วยนานสามสัปดาห์จะลดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 5% ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอาจมาจากการรักษษทางการแพทย์ประชากร 18 ถึง 45 ล้านคน จะคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นประมาณ 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[230]

มูลค่าป้องกันยังสูงด้วย รัฐบาลทั่วโลกใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเตรียมการและวางแผนการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่นกเอช5เอ็น1 โดยค่าใช้จ่ายที่สัมพันธ์กับการซื้อยาและวัคซีนตลอดจนการพัฒนาการฝึกภัยพิบัติและยุทธศาสตร์สำหรับการควบคุมชายแดนปรับปรุง[231] เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2005 ประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เปิดยุทธศาสตร์แห่งชาติสำหรับพิทักษ์อันตรายของไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่ว[228] ซึ่งสนับสนุนโดยคำร้องต่อรัฐสภาเป็นเงิน 7.1 พันล้านดอลลาร์เพื่อเริ่มต้นนำแผนไปปฏิบัติ[232] ในระดับสากล วันที่ 18 มกราคม 2006 ชาติผู้บริจาคให้คำมั่นว่าจะใช้เงิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่นกในการประชุมจำนำระหว่างประเทศว่าด้วยไข้หวัดใหญ่นกและมนุษย์ที่จัดในประเทศจีน[233]

ในการประเมินผลการระบาดทั่วของเอช1เอ็น1 ปี 2009 ในบางประเทศซีกโลกใต้ ข้อมูลชี้ว่าทุกประเทศมีผลจำกัดด้วยเวลา และ/หรือ การแยกทางภูมิศาสตร์ ผลทางสังคมและเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวลดลงชั่วคราวอันเนื่องจากความกลัวโรคเอช1เอ็น1 ปี 2009 ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าการระบาดทั่วของเอช1เอ็น1 ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว[234]

การวิจัย

นักวิจัยกำลังตรวจสอบการสร้างใหม่ของไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 ที่เพาะในห้องปฏิบัติการในสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยชีวภาพระดับ 3

การวิจัยเรื่องไข้หวัดใหญ่รวมการศึกษาวิทยาไวรัสโมเลกุล พยาธิกำเนิด การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของตัวถูกเบียน จีโนมิกส์ไวรัส และวิทยาการระบาด การศึกษาเหล่านี้ช่วยพัฒนามาตรการตอบโต้ไข้หวัดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ดีขึ้นช่วยพัฒนาวัคซีน และภาพรายละเอียดวิธีที่ไข้หวัดใหญ่บุกรุกเซลล์ช่วยพัฒนายาต้านไวรัส โครงการวิจัยพื้นฐานหนึ่ง ได้แก่ โครงการเรียงลำดับจีโนมไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสร้างคลังลำดับไข้หวัดใหญ่ คลังนี้ช่วยทำให้ปัจจัยที่ทำให้สายพันธุ์ไวรัสหนึ่งมีอัตราตายมากกว่าสายพันธุ์อื่นกระจ่างมากขึ้น ยีนใดมีผลต่อการก่อกำเนิดภูมิคุ้มกันมากที่สุด และไวรัสวิวัฒนาการอย่างไรตามเวลา[235]

การวิจัยวัคซีนใหม่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะวัคซีนปัจจุบันผลิตได้ช้ามากและมีราคาแพง และจำเป็นต้องมีการปรับสูตรใหม่ทุกปี การเรียงลำดับจีโนมไข้หวัดใหญ่และเทคโนโลยีดีเอ็นเอสายผสมอาจเร่งการก่อกำเนิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ทดแทนแอนติเจนใหม่เข้าสู่สายพันธุ์วัคซีนที่พัฒนาก่อนหน้านี้[236] นอกจากนี้ ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพาะไวรัสในการเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งจะให้ผลมากกว่า ราคาถูกกว่า มีคุณภาพดีกว่า และมีสมรรถนะมากขึ้น[237] การวิจัยเรื่องวัคซีนไข้หวัดใหญ่เอสากล ซึ่งมุ่งเป้าโดเมนภายนอกของโปรตีนเอ็ม2 ข้ามเยื่อของไวรัส (M2e) อยู่ระหว่างดำเนินการที่มหาวิทยาลัยเกนต์โดยวัลเทอร์ เฟียส์, ซาเวียร์ เซเลนส์และคณะ[238][239][240] และปัจจุบันสิ้นสุดการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว มีความสำเร็จในการวิจัยบ้างต่อ "วัคซีนไข้หวัดใหญ่สากล" ซึ่งผลิตแอนติบอดีต่อโปรตีนที่อยู่บนโค้ตไวรัสซึ่งกลายพันธุ์ช้ากว่า ฉะนั้นวัคซีนเข็มเดียวสามารถให้การป้องกันที่อยู่นานขึ้น[241][242][243]

ปัจจุบันกำลังมีการสอบสวนยาชีวภาพ (biologic) วัคซีนรักษาและยาชีวภาพภูมิคุ้มกัน (immunobiologic) สำหรับรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสจำนวนหนึ่ง ชีววิทยาการรักษาออกแบบมาให้ปลุกฤทธิ์การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือแอนติเจน ตรงแบบยาชีวภาพไม่มุ่งเป้าวิถีเมแทบอลิซึมอย่างยาต้านไวรัส แต่กระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันอย่างเม็ดเลือดขาว แมโครเฟจและ/หรือ เซลล์นำเสนอแอนติเจน (antigen presenting cell) ในความพยายามผลักดันการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อผลมีพิษต่อเซลล์ต่อไวรัส แบบจำลองไข้หวัดใหญ่ อย่างไข้หวัดใหญ่หนู เป็นแบบจำลองที่สะดวกเพื่อทดสอบผลของยาชีวภาพเพื่อป้องกันและรักษาโรค ตัวอย่างเช่น ยาปรับภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวที-เซลล์ (Lymphocyte T-Cell Immune Modulator) ยับยั้งการเจริญของไวรัสในแบบจำลองหนูของไข้หวัดใหญ่[244]

สัตว์อื่น

ไข้หวัดใหญ่ยังมีการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด และการถ่ายโอนสายพันธุ์ไวรัสระหว่างสัตว์ชนิดต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เชื่อว่านกเป็นสัตว์เก็บเชื้อหลักของไวรัสไข้หวัดใหญ่[245] มีการระบุฮีม็กกลูตินินสิบหกแบบ และนิวรามินิเดสเก้าแบบ พบทุกชนิดย่อย (เอช_เอ็น_) ในนก แต่หลายชนิดย่อยพบประจำในมนุษย์ หมา ม้าและหมู อูฐบางส่วน เฟอร์เร็ต แมว แมวน้ำ มิงก์และวาฬยังแสดงหลักฐานของการติดเชื้อหรือการสัมผัสไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้านี้ด้วย[54] ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่าง ๆ บางทีได้ชื่อตามชนิดของสัตว์ที่พบประจำหรือมีการปรับตัว ชนิดหลักที่ได้ชื่อตามธรรมเนียมนี้ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่นก ไข้หวัดใหญ่มนุษย์ ไข้หวัดใหญ่หมู ไข้หวัดใหญ่ม้าและไข้หวัดใหญ่หมา (ปกติไข้หวัดใหญ่แมวหมายถึงเยื่อจมูกและท่อลมอักเสบจากไวรัสในแมว หรือคาลิซิไวรัสแมว และไม่ใช่การติดเชื้อจากไวรัสไข้หวัดใหญ่) ในหมู ม้าและหมา อาการของไข้หวัดใหญ่คล้ายกับมนุษย์ คือมีไอ ไข้และเบื่ออาหาร[54] ความถี่ของโรคสัตว์ยังมีการศึกษาไม่ดีเท่าการติดเชื้อในมนุษย์ แต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในแมวน้ำตามท่าเรือทำให้มีแมวน้ำตายประมาณ 500 ตัวนอกชายฝั่งนิวอิงแลนด์ในปี 1979–1980[246] อย่างไรก็ดี การระบาดในหมูพบทั่วไปและไม่ก่อให้เกิดการตายรุนแรง ยังมีการวัคซีนเพื่อป้องกันสัตว์ปีกจากไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก วัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิภาพต่อไวรัสหลายสายพันธุ์ และใช้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ป้องกัน หรือรวมกับการฆ่าสัตว์ (culling) เพื่อพยายามกำจัดการระบาด[247]

ไข้หวัดใหญ่นก

อาการไข้หวัดใหญ่ในนกมีหลากหลายและอาจไม่จำเพาะ[248] อาการตามหลังการติดเชื้อด้วยไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกที่มีความสามารถก่อโรคต่ำอาจไม่รุนแรงอย่างขนฟู ผลิตไข่ลดลงเล็กน้อย หรือน้ำหนักลดร่วมกับโรคทางเดินหายใจเล็กน้อย[249] เนื่องจากอาการเบา ๆ เหล่านี้อาจทำให้การวินิจฉัยในสนามทำได้ยาก การติดตามการระบาดของไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกจึงต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการซึ่งตัวอย่างจากนกที่ติดเชื้อ บางสายพันธุ์อย่างเอช9เอ็น2 ในเอเชียมีศักยภาพก่อโรคสูงต่อสัตว์ปีก และอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงและการตายสูง[250] ในรูปที่ก่อโรคสูงสุด ไข้หวัดใหญ่ในไก่และไก่งวงทำให้มีอาการรุนแรงที่ปรากฏเฉียบพลันและอัตราตายเกือบ 100% ภายในสองวัน[251] เมื่อไวรัสแพร่อย่างรวดเร็วในภาวะแออัดที่พบในการทำฟาร์มไก่และไก่งวงแบบเข้มข้น การระบาดเหล่านี้ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อเกษตรกรสัตว์ปีก

สายพันธุ์ก่อโรคสูงและปรับตัวในสัตว์ปีกเอช5เอ็น1 (เรียก HPAI A(H5N1) ย่อมาจาก "ไวรัสไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกก่อโรคสูงชนิดเอ ชนิดย่อยเอช5เอ็น1") ก่อโรคไข้หวัดใหญ่เอช5เอ็น1 หรือเรียกทั่วไปว่า "ไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก" หรือลำลองว่า "ไข้หวัดนก" พบประจำถิ่นในประชากรนกหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์ HPAI A(H5N1) เชื้อสายเอเชียนี้กระจายไปทั่วโลก เป็นโรคระบาดในสัตว์และโรคระบาดทั่วในสัตว์ ทำให้มีนกตายหลายสิบล้านตัว และทำให้เกิดการฆ่านกอื่นหลายร้อยล้านตัวเพื่อพยายามควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส การพาดพิงในสื่อถึง "ไข้หวัดนก" ส่วนมากและการพาดพิงส่วนใหญ่ถึงเอช5เอ็น1 ก็เกี่ยวกับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ[252][253]

ปัจจุบัน HPAI A(H5N1) เป็นโรคสัตว์ปีกและไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ของ HPAI A(H5N1) อย่างมีประสิทธิภาพ ในผู้ป่วยเกือบทั้งหมดล้วนมีการสัมผัสทางกายอย่างมากต่อนกที่ป่วย[254] ในอนาคต เอช5เอ็น1 อาจกลายพันธุ์หรือรวมกันใหม่เป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ การเปลี่ยนแปลงแน่ชัดที่จำเป็นต่อการเกิดเหตุการณ์ดังนี้ยังไม่เข้าใจดีนัก[255] อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราตายสูงและศักยภาพก่อโรคของเอช5เอ็น1 การมีการระบาด และตัวถูกเบียนเก็บเชื้อชีวภาพที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ไวรัสเอช5เอ็น1 จึงเป็นภัยคุกคามโรคระบาดทั่วระหว่างฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ปี 2006–07 และมีการระดมเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐและใช้จ่ายเพื่อวิจัยเอช5เอ็น1 และการเตรียมการสำหรับการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น[231]

ผู้ตรวจชาวจีนบนเครื่องบินกำลังตรวจสอบผู้โดยสารหาไข้ ซึ่งเป็นอาการทั่วไปของไข้หวัดใหญ่หมู

ในเดือนมีนาคม 2013 รัฐบาลจีนรายงานการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เอช7เอ็น9 ในมนุษย์ 3 ราย ในจำนวนนี้สองคนเสียชีวิตและคนที่สามป่วยวิกฤต แม้ไม่เชื่อว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่กระจายอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างมนุษย์ด้วยกัน[256][257] เมื่อถึงกลางเดือนเมษายน มีบุคคลอย่างน้อย 82 คนป่วยจากเอช7เอ็น9 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 17 คน ผู้ป่วยเหล่านี้ได้แก่กลุ่มครอบครัวขนาดเล็กสามกลุ่มในเซี่ยงไฮ้และหนึ่งกลุ่มระหว่างเด็กหญิงและชายที่เป็นเพื่อนบ้านกันในกรุงปักกิ่ง ทำให้มีข้อสงสัยความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ องค์การอนามัยโลกชี้ว่ากลุ่มหนึ่งมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยืนยันทางห้องปฏิบัติการสองคน และชี้ว่าไวรัสบางชนิดสามารถก่อให้เกิดการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ภายใต้ภาวะการสัมผัสใกล้ชิด แต่ไม่แพร่เชื้อมากพอก่อให้เกิดการระบาดในชุมชนขนาดใหญ่[258][259]

ไข้หวัดใหญ่หมู

ในหมู ไข้หวัดใหญ่หมูก่ออาการไข้ เซื่องซึม จาม ไอ หายใจลำบากและเบื่ออาหาร[260] ในบางกรณีการติดเชื้อสามารถทำให้แท้งได้ แม้อัตราตายตามปกติต่ำ แต่ไวรัสสามารถทำให้น้ำหนักลดและเติบโตไม่ดีได้ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกร[260] หมูที่ติดเชื้ออาจมีน้ำหนักตัวลดลงมากถึง 12 ปอนด์ในระยะเวลา 3 ถึง 4 สัปดาห์[260] การแพร่เชื้อโดยตรงของไวรัสไข้หวัดใหญ่จากหมูสู่มนุษย์เป็นไปได้บางครั้ง (เรียกว่าไข้หวัดใหญ่หมูรับจากสัตว์) ทั้งหมดแล้ว ทราบกันว่าเกิดผู้ป่วยมนุษย์ 50 คนนับแต่มีการระบุไวรัสในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 6 คน[261]

ในปี 2009 สายพันธุ์ไวรัสเอช1เอ็น1 ที่มีกำเนิดจากหมูที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "ไข้หวัดใหญ่หมู" นั้นก่อให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ไม่มีหลักฐานว่าไวรัสพบเฉพาะในหมู หรือเป็นการแพร่เชื้อจากหมูสู่มนุษย์ แต่ไวรัสนั้นแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์[262][263] สายพันธุนี้เป็นการรวมกันใหม่ของเอช1เอ็น1 ที่ปกติพบแยกกัน ในมนุษย์ นกและหมู[264]

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 "Influenza (Seasonal)". World Health Organization (WHO). 6 November 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 November 2019. สืบค้นเมื่อ 30 November 2019.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Longo DL (2012). "Chapter 187: Influenza". Harrison's principles of internal medicine (18th ed.). New York: McGraw-Hill. ISBN 978-0-07-174889-6.
  3. 3.0 3.1 3.2 Jefferson T, Del Mar CB, Dooley L, และคณะ (2011). "Physical interventions to interrupt or reduce the spread of respiratory viruses" (PDF). Cochrane Database Syst Rev (7): CD006207. doi:10.1002/14651858.CD006207.pub4. PMID 21735402.
  4. 4.0 4.1 "Up to 650 000 people die of respiratory diseases linked to seasonal flu each year". World Health Organization (WHO) (Press release). 14 December 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2019. สืบค้นเมื่อ 24 September 2019.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "Key Facts about Influenza (Flu) & Flu Vaccine". cdc.gov. 9 September 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 December 2014. สืบค้นเมื่อ 26 November 2014.
  6. 6.0 6.1 Duben-Engelkirk, Paul G.; Engelkirk, Janet (2011). Burton's microbiology for the health sciences (9th ed.). Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins. p. 314. ISBN 978-1-60547-673-5.
  7. 7.0 7.1 "Types of Influenza Viruses Seasonal Influenza (Flu)". CDC (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 27 September 2017. สืบค้นเมื่อ 28 September 2018.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Shuo Su; Xinliang Fu; Gairu Li; Fiona Kerlin; Michael Veit (25 August 2017). "Novel Influenza D virus: Epidemiology, pathology, evolution and biological characteristics". Virulence. 8 (8): 1580–91. doi:10.1080/21505594.2017.1365216. ISSN 2150-5594. PMC 5810478. PMID 28812422.
  9. 9.0 9.1 9.2 Brankston G, Gitterman L, Hirji Z, Lemieux C, Gardam M (April 2007). "Transmission of influenza A in human beings". Lancet Infect Dis. 7 (4): 257–65. doi:10.1016/S1473-3099(07)70029-4. PMID 17376383.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Michiels B, Van Puyenbroeck K, Verhoeven V, Vermeire E, Coenen S (2013). "The value of neuraminidase inhibitors for the prevention and treatment of seasonal influenza: a systematic review of systematic reviews". PLOS One. 8 (4): e60348. Bibcode:2013PLoSO...860348M. doi:10.1371/journal.pone.0060348. PMC 3614893. PMID 23565231.
  11. 11.0 11.1 Ebell MH, Call M, Shinholser J (April 2013). "Effectiveness of oseltamivir in adults: a meta-analysis of published and unpublished clinical trials". Family Practice. 30 (2): 125–33. doi:10.1093/fampra/cms059. PMID 22997224.
  12. Somes MP, Turner RM, Dwyer LJ, Newall AT (May 2018). "Estimating the annual attack rate of seasonal influenza among unvaccinated individuals: A systematic review and meta-analysis". Vaccine. 36 (23): 3199–3207. doi:10.1016/j.vaccine.2018.04.063. PMID 29716771.
  13. "Ten things you need to know about pandemic influenza". World Health Organization. 14 October 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 October 2009. สืบค้นเมื่อ 26 September 2009.
  14. Chan, Margaret (11 June 2009). "World now at the start of 2009 influenza pandemic". World Health Organization. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2009. สืบค้นเมื่อ 12 June 2009.
  15. Palmer SR (2011). Oxford textbook of zoonoses : biology, clinical practice, and public health control (2. ed.). Oxford u.a.: Oxford Univ. Press. p. 332. ISBN 978-0-19-857002-8.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 Call S, Vollenweider M, Hornung C, Simel D, McKinney W (2005). "Does this patient have influenza?". JAMA. 293 (8): 987–97. doi:10.1001/jama.293.8.987. PMID 15728170.
  17. Centers for Disease Control and Prevention > Influenza Symptoms เก็บถาวร 1 พฤษภาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 28 April 2009.
  18. 18.0 18.1 Time Lines of Infection and Disease in Human Influenza: A Review of Volunteer Challenge Studies เก็บถาวร 13 มิถุนายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, American Journal of Epidemiology, Carrat, Vergu, Ferguson, et al., 167 (7): 775–85, 2008. "... In almost all studies, participants were individually confined for 1 week ..." See especially Figure 5 which shows that virus shedding tends to peak on day 2 whereas symptoms tend to peak on day 3.
  19. Suzuki E, Ichihara K, Johnson AM (January 2007). "Natural course of fever during influenza virus infection in children". Clin Pediatr (Phila). 46 (1): 76–79. doi:10.1177/0009922806289588. PMID 17164515.
  20. 20.0 20.1 "Influenza: Viral Infections: Merck Manual Home Edition". Merck. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2008. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
  21. Silva ME, Cherry JD, Wilton RJ, Ghafouri NM, Bruckner DA, Miller MJ (August 1999). "Acute fever and petechial rash associated with influenza A virus infection". Clinical Infectious Diseases. 29 (2): 453–54. doi:10.1086/520240. PMID 10476766.
  22. 22.0 22.1 Richards S (2005). "Flu blues". Nurs Stand. 20 (8): 26–27. doi:10.7748/ns.20.8.26.s29. PMID 16295596.
  23. Heikkinen T (July 2006). "Influenza in children". Acta Paediatr. 95 (7): 778–84. doi:10.1080/08035250600612272. PMID 16801171.
  24. Kerr AA, McQuillin J, Downham MA, Gardner PS (1975). "Gastric 'flu influenza B causing abdominal symptoms in children". Lancet. 1 (7902): 291–95. doi:10.1016/S0140-6736(75)91205-2. PMID 46444.
  25. 25.0 25.1 25.2 Eccles, R (2005). "Understanding the symptoms of the common cold and influenza". Lancet Infect Dis. 5 (11): 718–25. doi:10.1016/S1473-3099(05)70270-X. PMID 16253889.
  26. Hui DS (March 2008). "Review of clinical symptoms and spectrum in humans with influenza A/H5N1 infection". Respirology. 13 (Suppl 1): S10–13. doi:10.1111/j.1440-1843.2008.01247.x. PMID 18366521.
  27. Smith K, Roberts M (2002). "Cost-effectiveness of newer treatment strategies for influenza". Am J Med. 113 (4): 300–07. CiteSeerX 10.1.1.575.2366. doi:10.1016/S0002-9343(02)01222-6. PMID 12361816.
  28. 28.0 28.1 28.2 Rothberg M, Bellantonio S, Rose D (2 September 2003). "Management of influenza in adults older than 65 years of age: cost-effectiveness of rapid testing and antiviral therapy". Annals of Internal Medicine. 139 (5 Pt 1): 321–29. doi:10.7326/0003-4819-139-5_part_1-200309020-00007. PMID 12965940.
  29. Centers for Disease Control and Prevention. Lab Diagnosis of Influenza. เก็บถาวร 22 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 1 May 2009
  30. "Rapid Diagnostic Testing for Influenza: Information for Clinical Laboratory Directors". Centers for Disease Control and Prevention. 13 ตุลาคม 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016.
  31. Hospitalized Patients with 2009 H1N1 Influenza in the United States, April–June 2009 เก็บถาวร 7 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New England Journal of Medicine, Jain, Kamimoto, et al., 12 November 2009.
  32. Transcript of virtual press conference with Gregory Hartl, Spokesperson for H1N1, and Dr Nikki Shindo, Medical Officer, Global Influenza Programme, World Health Organization เก็บถาวร 22 ธันวาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 12 November 2009.
  33. Report Finds Swine Flu Has Killed 36 Children เก็บถาวร 7 มีนาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New York Times, DENISE GRADY, 3 September 2009.
  34. 34.0 34.1 "Guide for considering influenza testing when influenza viruses are circulating in the community | Seasonal Influenza (Flu) | CDC". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 20 February 2018. สืบค้นเมื่อ 30 March 2018.
  35. "The Flu: What To Do If You Get Sick". Centers for Disease Control and Prevention (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 9 March 2018. สืบค้นเมื่อ 29 March 2018.
  36. Kawaoka Y, บ.ก. (2006). Influenza Virology: Current Topics. Caister Academic Press. ISBN 978-1-904455-06-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2008.
  37. Vainionpää R, Hyypiä T (April 1994). "Biology of parainfluenza viruses". Clin. Microbiol. Rev. 7 (2): 265–75. doi:10.1128/CMR.7.2.265. PMC 358320. PMID 8055470.
  38. Hall CB (June 2001). "Respiratory syncytial virus and parainfluenza virus". N. Engl. J. Med. 344 (25): 1917–28. doi:10.1056/NEJM200106213442507. PMID 11419430.
  39. Hause BM, Collin EA, Liu R, Huang B, Sheng Z, Lu W, Wang D, Nelson EA, Li F (2014). "Characterization of a novel influenza virus in cattle and swine: proposal for a new genus in the Orthomyxoviridae family". mBio. 5 (2): e00031–14. doi:10.1128/mBio.00031-14. PMC 3958797. PMID 24595369.
  40. Collin EA, Sheng Z, Lang Y, Ma W, Hause BM, Li F (2015). "Cocirculation of two distinct genetic and antigenic lineages of proposed influenza D virus in cattle". J Virol. 89 (2): 1036–42. doi:10.1128/JVI.02718-14. PMC 4300623. PMID 25355894.
  41. Ducatez MF, Pelletier C, Meyer G (2015). "Influenza D virus in cattle, France, 2011–2014". Emerg Infect Dis. 21 (2): 368–71. doi:10.3201/eid2102.141449. PMC 4313661. PMID 25628038.
  42. Song H, Qi J, Khedri Z, Diaz S, Yu H, Chen X, Varki A, Shi Y, Gao GF (2016). "An open receptor-binding cavity of hemagglutinin-esterase-fusion glycoprotein from newly-identified Influenza D Virus: Basis for its broad cell tropism". PLoS Pathog. 12 (1): e1005411. doi:10.1371/journal.ppat.1005411. PMC 4729479. PMID 26816272.
  43. Sheng Z, Ran Z, Wang D, Hoppe AD, Simonson R, Chakravarty S, Hause BM, Li F (2014). "Genomic and evolutionary characterization of a novel influenza-C-like virus from swine". Arch Virol. 159 (2): 249–55. doi:10.1007/s00705-013-1815-3. PMC 5714291. PMID 23942954.
  44. Quast M, Sreenivasan C, Sexton G, Nedland H, Singrey A, Fawcett L, Miller G, Lauer D, Voss S, Pollock S, Cunha CW, Christopher-Hennings J, Nelson E, Li F (2015). "Serological evidence for the presence of influenza D virus in small ruminants". Vet Microbiol. 180 (3–4): 281–85. doi:10.1016/j.vetmic.2015.09.005. PMC 4618254. PMID 26414999.
  45. Smith DB, Gaunt ER, Digard P, Templeton K, Simmonds P (2016). "Detection of influenza C virus but not influenza D virus in Scottish respiratory samples". J Clin Virol. 74: 50–53. doi:10.1016/j.jcv.2015.11.036. PMC 4710576. PMID 26655269.
  46. Klenk H, Matrosovich M, Stech J (2008). "Avian Influenza: Molecular Mechanisms of Pathogenesis and Host Range". Animal Viruses: Molecular Biology. Caister Academic Press. ISBN 978-1-904455-22-6.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 Hay AJ, Gregory V, Douglas AR, Lin YP (December 2001). "The evolution of human influenza viruses". Philosophical Transactions of the Royal Society of London. Series B, Biological Sciences. 356 (1416): 1861–70. doi:10.1098/rstb.2001.0999. PMC 1088562. PMID 11779385.
  48. Fouchier RA, Schneeberger PM, Rozendaal FW, Broekman JM, Kemink SA, Munster V, และคณะ (กุมภาพันธ์ 2004). "Avian influenza A virus (H7N7) associated with human conjunctivitis and a fatal case of acute respiratory distress syndrome". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 101 (5): 1356–61. Bibcode:2004PNAS..101.1356F. doi:10.1073/pnas.0308352100. PMC 337057. PMID 14745020.
  49. "Avian Influenza A (H7N9) Virus | Avian Influenza (Flu)". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 24 February 2017.
  50. Yuan J, Zhang L, Kan X, Jiang L, Yang J, Guo Z, Ren Q (November 2013). "Origin and Molecular Characteristics of a Novel 2013 Avian Influenza A(H6N1) Virus Causing Human Infection in Taiwan". Clinical Infectious Diseases. 57 (9): 1367–68. doi:10.1093/cid/cit479. ISSN 1537-6591. PMID 23881153.
  51. Osterhaus AD, Rimmelzwaan GF, Martina BE, Bestebroer TM, Fouchier RA (May 2000). "Influenza B virus in seals". Science. 288 (5468): 1051–53. Bibcode:2000Sci...288.1051O. doi:10.1126/science.288.5468.1051. PMID 10807575.
  52. Jakeman KJ, Tisdale M, Russell S, Leone A, Sweet C (August 1994). "Efficacy of 2'-deoxy-2'-fluororibosides against influenza A and B viruses in ferrets". Antimicrobial Agents and Chemotherapy. 38 (8): 1864–67. doi:10.1128/aac.38.8.1864. PMC 284652. PMID 7986023.
  53. Nobusawa E, Sato K (April 2006). "Comparison of the mutation rates of human influenza A and B viruses". Journal of Virology. 80 (7): 3675–78. doi:10.1128/JVI.80.7.3675-3678.2006. PMC 1440390. PMID 16537638.
  54. 54.0 54.1 54.2 Webster RG, Bean WJ, Gorman OT, Chambers TM, Kawaoka Y (March 1992). "Evolution and ecology of influenza A viruses". Microbiological Reviews. 56 (1): 152–79. PMC 372859. PMID 1579108.
  55. Zambon MC (พฤศจิกายน 1999). "Epidemiology and pathogenesis of influenza" (PDF). The Journal of Antimicrobial Chemotherapy. 44 (Suppl B, 90002): 3–9. doi:10.1093/jac/44.suppl_2.3. PMID 10877456. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม 2013.
  56. Matsuzaki Y, Sugawara K, Mizuta K, Tsuchiya E, Muraki Y, Hongo S, Suzuki H, Nakamura K (February 2002). "Antigenic and genetic characterization of influenza C viruses which caused two outbreaks in Yamagata City, Japan, in 1996 and 1998". Journal of Clinical Microbiology. 40 (2): 422–29. doi:10.1128/JCM.40.2.422-429.2002. PMC 153379. PMID 11825952.
  57. 57.0 57.1 Taubenberger JK, Morens DM (2008). "The pathology of influenza virus infections". Annual Review of Pathology. 3: 499–522. doi:10.1146/annurev.pathmechdis.3.121806.154316. PMC 2504709. PMID 18039138.
  58. Matsuzaki Y, Katsushima N, Nagai Y, Shoji M, Itagaki T, Sakamoto M, Kitaoka S, Mizuta K, Nishimura H (May 2006). "Clinical features of influenza C virus infection in children". The Journal of Infectious Diseases. 193 (9): 1229–35. doi:10.1086/502973. PMID 16586359.
  59. Katagiri S, Ohizumi A, Homma M (July 1983). "An outbreak of type C influenza in a children's home". The Journal of Infectious Diseases. 148 (1): 51–56. doi:10.1093/infdis/148.1.51. PMID 6309999.
  60. International Committee on Taxonomy of Viruses descriptions of:Orthomyxoviridae, Influenzavirus B and Influenzavirus C
  61. Nakatsu S, Murakami S, Shindo K, Horimoto T, Sagara H, Noda T, Kawaoka Y (March 2018). "Influenza C and D Viruses Package Eight Organized Ribonucleoprotein Complexes". Journal of Virology. 92 (6): e02084–17. doi:10.1128/jvi.02084-17. PMC 5827381. PMID 29321324.
  62. Sugita Y, Noda T, Sagara H, Kawaoka Y (November 2011). "Ultracentrifugation deforms unfixed influenza A virions". The Journal of General Virology. 92 (Pt 11): 2485–93. doi:10.1099/vir.0.036715-0. PMC 3352361. PMID 21795472.
  63. Dadonaite B, Vijayakrishnan S, Fodor E, Bhella D, Hutchinson EC (August 2016). "Filamentous influenza viruses". The Journal of General Virology. 97 (8): 1755–64. doi:10.1099/jgv.0.000535. PMC 5935222. PMID 27365089.
  64. 64.0 64.1 64.2 64.3 Bouvier NM, Palese P (September 2008). "The biology of influenza viruses". Vaccine. 26 (Suppl 4): D49–53. doi:10.1016/j.vaccine.2008.07.039. PMC 3074182. PMID 19230160.
  65. Lamb RA, Choppin PW (1983). "The gene structure and replication of influenza virus". Annu. Rev. Biochem. 52: 467–506. doi:10.1146/annurev.bi.52.070183.002343. PMID 6351727.
  66. Ghedin E, Sengamalay NA, Shumway M, Zaborsky J, Feldblyum T, Subbu V, และคณะ (October 2005). "Large-scale sequencing of human influenza reveals the dynamic nature of viral genome evolution". Nature. 437 (7062): 1162–66. Bibcode:2005Natur.437.1162G. doi:10.1038/nature04239. PMID 16208317.
  67. Suzuki Y (March 2005). "Sialobiology of influenza: molecular mechanism of host range variation of influenza viruses". Biological & Pharmaceutical Bulletin. 28 (3): 399–408. doi:10.1248/bpb.28.399. PMID 15744059.
  68. Suzuki Y (March 2005). "Sialobiology of influenza: molecular mechanism of host range variation of influenza viruses". Biological & Pharmaceutical Bulletin. 28 (3): 399–408. doi:10.1248/bpb.28.399. PMID 15744059.
  69. Wilson JC, von Itzstein M (July 2003). "Recent strategies in the search for new anti-influenza therapies". Current Drug Targets. 4 (5): 389–408. doi:10.2174/1389450033491019. PMID 12816348.
  70. 70.0 70.1 70.2 Hilleman MR (August 2002). "Realities and enigmas of human viral influenza: pathogenesis, epidemiology and control". Vaccine. 20 (25–26): 3068–87. doi:10.1016/s0264-410x(02)00254-2. PMID 12163258.
  71. Tong S, Zhu X, Li Y, Shi M, Zhang J, Bourgeois M, และคณะ (10 October 2013). "New world bats harbor diverse influenza A viruses". PLoS Pathogens. 9 (10): e1003657. doi:10.1371/journal.ppat.1003657. PMC 3794996. PMID 24130481.
  72. Tong S, Li Y, Rivailler P, Conrardy C, Castillo DA, Chen LM, และคณะ (March 2012). "A distinct lineage of influenza A virus from bats". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 109 (11): 4269–74. Bibcode:2012PNAS..109.4269T. doi:10.1073/pnas.1116200109. PMC 3306675. PMID 22371588.
  73. Smith AE, Helenius A (April 2004). "How viruses enter animal cells". Science. 304 (5668): 237–42. Bibcode:2004Sci...304..237S. doi:10.1126/science.1094823. PMID 15073366.
  74. 74.0 74.1 Wagner R, Matrosovich M, Klenk HD (May–June 2002). "Functional balance between haemagglutinin and neuraminidase in influenza virus infections". Reviews in Medical Virology. 12 (3): 159–66. doi:10.1002/rmv.352. PMID 11987141.
  75. 75.0 75.1 Steinhauer DA (May 1999). "Role of hemagglutinin cleavage for the pathogenicity of influenza virus". Virology. 258 (1): 1–20. doi:10.1006/viro.1999.9716. PMID 10329563.
  76. Liu SL, Zhang ZL, Tian ZQ, Zhao HS, Liu H, Sun EZ, Xiao GF, Zhang W, Wang HZ, Pang DW (2011) Effectively and efficiently dissecting the infection of influenza virus by quantum dot-based single-particle tracking. ACS Nano
  77. Lakadamyali M, Rust MJ, Babcock HP, Zhuang X (August 2003). "Visualizing infection of individual influenza viruses". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 100 (16): 9280–85. Bibcode:2003PNAS..100.9280L. doi:10.1073/pnas.0832269100. PMC 170909. PMID 12883000.
  78. 78.0 78.1 Pinto LH, Lamb RA (April 2006). "The M2 proton channels of influenza A and B viruses". The Journal of Biological Chemistry. 281 (14): 8997–9000. doi:10.1074/jbc.R500020200. PMID 16407184.
  79. Cros JF, Palese P (September 2003). "Trafficking of viral genomic RNA into and out of the nucleus: influenza, Thogoto and Borna disease viruses". Virus Research. 95 (1–2): 3–12. doi:10.1016/S0168-1702(03)00159-X. PMID 12921991.
  80. Kash JC, Goodman AG, Korth MJ, Katze MG (July 2006). "Hijacking of the host-cell response and translational control during influenza virus infection". Virus Research. 119 (1): 111–20. doi:10.1016/j.virusres.2005.10.013. PMID 16630668.
  81. Nayak DP, Hui EK, Barman S (December 2004). "Assembly and budding of influenza virus". Virus Research. 106 (2): 147–65. doi:10.1016/j.virusres.2004.08.012. PMID 15567494.
  82. Drake JW (May 1993). "Rates of spontaneous mutation among RNA viruses". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 90 (9): 4171–75. Bibcode:1993PNAS...90.4171D. doi:10.1073/pnas.90.9.4171. PMC 46468. PMID 8387212.
  83. Sherman IW (2007). Twelve diseases that changed our world. Washington, DC: ASM Press. p. 161. ISBN 978-1-55581-466-3.
  84. 84.0 84.1 Carrat F, Vergu E, Ferguson NM, Lemaitre M, Cauchemez S, Leach S, Valleron AJ (April 2008). "Time lines of infection and disease in human influenza: a review of volunteer challenge studies". American Journal of Epidemiology. 167 (7): 775–85. doi:10.1093/aje/kwm375. PMID 18230677.
  85. Mitamura K, Sugaya N (June 2006). "[Diagnosis and Treatment of influenza—clinical investigation on viral shedding in children with influenza]". Uirusu. 56 (1): 109–16. doi:10.2222/jsv.56.109. PMID 17038819.
  86. Gooskens J, Jonges M, Claas EC, Meijer A, Kroes AC (May 2009). "Prolonged influenza virus infection during lymphocytopenia and frequent detection of drug-resistant viruses". The Journal of Infectious Diseases. 199 (10): 1435–41. doi:10.1086/598684. PMID 19392620.
  87. 87.0 87.1 87.2 87.3 87.4 Weber TP, Stilianakis NI (November 2008). "Inactivation of influenza A viruses in the environment and modes of transmission: a critical review". The Journal of Infection. 57 (5): 361–73. doi:10.1016/j.jinf.2008.08.013. PMID 18848358.
  88. Hall CB (สิงหาคม 2007). "The spread of influenza and other respiratory viruses: complexities and conjectures" (PDF). Clinical Infectious Diseases. 45 (3): 353–59. doi:10.1086/519433. PMID 17599315. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2016.
  89. Cole EC, Cook CE (August 1998). "Characterization of infectious aerosols in health care facilities: an aid to effective engineering controls and preventive strategies". American Journal of Infection Control. 26 (4): 453–64. doi:10.1016/S0196-6553(98)70046-X. PMID 9721404.
  90. 90.0 90.1 Thomas Y, Vogel G, Wunderli W, Suter P, Witschi M, Koch D, Tapparel C, Kaiser L (May 2008). "Survival of influenza virus on banknotes". Applied and Environmental Microbiology. 74 (10): 3002–07. doi:10.1128/AEM.00076-08. PMC 2394922. PMID 18359825.
  91. Bean B, Moore BM, Sterner B, Peterson LR, Gerding DN, Balfour HH (July 1982). "Survival of influenza viruses on environmental surfaces". The Journal of Infectious Diseases. 146 (1): 47–51. doi:10.1093/infdis/146.1.47. PMID 6282993.
  92. 92.0 92.1 "Influenza Factsheet" (PDF). Center for Food Security and Public Health, Iowa State University. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 March 2009. p. 7
  93. Jefferies WM, Turner JC, Lobo M, Gwaltney JM (1998). "Low plasma levels of adrenocorticotropic hormone in patients with acute influenza" (PDF). Clin Infect Dis. 26 (3): 708–10. doi:10.1086/514594. PMID 9524849. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 January 2016.
  94. 94.0 94.1 Korteweg C, Gu J (May 2008). "Pathology, molecular biology, and pathogenesis of avian influenza A (H5N1) infection in humans". The American Journal of Pathology. 172 (5): 1155–70. doi:10.2353/ajpath.2008.070791. PMC 2329826. PMID 18403604.
  95. Nicholls JM, Chan RW, Russell RJ, Air GM, Peiris JS (April 2008). "Evolving complexities of influenza virus and its receptors". Trends in Microbiology. 16 (4): 149–57. doi:10.1016/j.tim.2008.01.008. PMID 18375125.
  96. van Riel D, Munster VJ, de Wit E, Rimmelzwaan GF, Fouchier RA, Osterhaus AD, Kuiken T (April 2006). "H5N1 Virus Attachment to Lower Respiratory Tract". Science. 312 (5772): 399. doi:10.1126/science.1125548. PMID 16556800.
  97. Shinya K, Ebina M, Yamada S, Ono M, Kasai N, Kawaoka Y (March 2006). "Avian flu: influenza virus receptors in the human airway". Nature. 440 (7083): 435–6. Bibcode:2006Natur.440..435S. doi:10.1038/440435a. PMID 16554799.
  98. van Riel D, Munster VJ, de Wit E, Rimmelzwaan GF, Fouchier RA, Osterhaus AD, Kuiken T (October 2007). "Human and avian influenza viruses target different cells in the lower respiratory tract of humans and other mammals". The American Journal of Pathology. 171 (4): 1215–23. doi:10.2353/ajpath.2007.070248. PMC 1988871. PMID 17717141.
  99. Schmitz N, Kurrer M, Bachmann MF, Kopf M (May 2005). "Interleukin-1 is responsible for acute lung immunopathology but increases survival of respiratory influenza virus infection". Journal of Virology. 79 (10): 6441–8. doi:10.1128/JVI.79.10.6441-6448.2005. PMC 1091664. PMID 15858027.
  100. Winther B, Gwaltney JM, Mygind N, Hendley JO (1998). "Viral-induced rhinitis". American Journal of Rhinology. 12 (1): 17–20. doi:10.2500/105065898782102954. PMID 9513654.
  101. Cheung CY, Poon LL, Lau AS, Luk W, Lau YL, Shortridge KF, Gordon S, Guan Y, Peiris JS (December 2002). "Induction of proinflammatory cytokines in human macrophages by influenza A (H5N1) viruses: a mechanism for the unusual severity of human disease?". Lancet. 360 (9348): 1831–37. doi:10.1016/S0140-6736(02)11772-7. PMID 12480361.
  102. Kobasa D, Jones SM, Shinya K, Kash JC, Copps J, Ebihara H, Hatta Y, Kim JH, Halfmann P, Hatta M, Feldmann F, Alimonti JB, Fernando L, Li Y, Katze MG, Feldmann H, Kawaoka Y (January 2007). "Aberrant innate immune response in lethal infection of macaques with the 1918 influenza virus". Nature. 445 (7125): 319–23. Bibcode:2007Natur.445..319K. doi:10.1038/nature05495. PMID 17230189.
  103. Kash JC, Tumpey TM, Proll SC, Carter V, Perwitasari O, Thomas MJ, และคณะ (October 2006). "Genomic analysis of increased host immune and cell death responses induced by 1918 influenza virus". Nature. 443 (7111): 578–81. Bibcode:2006Natur.443..578K. doi:10.1038/nature05181. PMC 2615558. PMID 17006449.
  104. Beigel J, Bray M (April 2008). "Current and future antiviral therapy of severe seasonal and avian influenza". Antiviral Research. 78 (1): 91–102. doi:10.1016/j.antiviral.2008.01.003. PMC 2346583. PMID 18328578.
  105. Spiro, Stephen G.; Silvestri, Gerard A.; Agustí, Alvar (2012). Clinical Respiratory Medicine (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. p. 311. ISBN 978-1-4557-2329-4.
  106. Centers for Disease Control and Prevention: "QUESTIONS & ANSWERS: Novel H1N1 Flu (Swine Flu) and You" เก็บถาวร 4 มีนาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 15 December 2009.
  107. Grayson ML, Melvani S, Druce J, Barr IG, Ballard SA, Johnson PD, Mastorakos T, Birch C (February 2009). "Efficacy of soap and water and alcohol-based hand-rub preparations against live H1N1 influenza virus on the hands of human volunteers". Clinical Infectious Diseases. 48 (3): 285–91. doi:10.1086/595845. PMID 19115974.
  108. MacIntyre CR, Cauchemez S, Dwyer DE, Seale H, Cheung P, Browne G, Fasher M, Wood J, Gao Z, Booy R, Ferguson N (กุมภาพันธ์ 2009). "Face mask use and control of respiratory virus transmission in households". Emerging Infectious Diseases. 15 (2): 233–41. doi:10.3201/eid1502.081167. PMC 2662657. PMID 19193267.
  109. Bridges CB, Kuehnert MJ, Hall CB (October 2003). "Transmission of influenza: implications for control in health care settings". Clinical Infectious Diseases. 37 (8): 1094–101. doi:10.1086/378292. PMID 14523774.
  110. Murin S, Bilello KS (October 2005). "Respiratory tract infections: another reason not to smoke". Cleveland Clinic Journal of Medicine. 72 (10): 916–20. doi:10.3949/ccjm.72.10.916. PMID 16231688.
  111. Kark JD, Lebiush M, Rannon L (October 1982). "Cigarette smoking as a risk factor for epidemic a(h1n1) influenza in young men". The New England Journal of Medicine. 307 (17): 1042–46. doi:10.1056/NEJM198210213071702. PMID 7121513.
  112. 112.0 112.1 112.2 Aledort JE, Lurie N, Wasserman J, Bozzette SA (August 2007). "Non-pharmaceutical public health interventions for pandemic influenza: an evaluation of the evidence base". BMC Public Health. 7: 208. doi:10.1186/1471-2458-7-208. PMC 2040158. PMID 17697389.
  113. Hota B (October 2004). "Contamination, disinfection, and cross-colonization: are hospital surfaces reservoirs for nosocomial infection?". Clinical Infectious Diseases. 39 (8): 1182–89. doi:10.1086/424667. PMID 15486843.
  114. 114.0 114.1 McDonnell G, Russell AD (มกราคม 1999). "Antiseptics and disinfectants: activity, action, and resistance" (PDF). Clinical Microbiology Reviews. 12 (1): 147–79. doi:10.1128/CMR.12.1.147. PMC 88911. PMID 9880479. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กรกฎาคม 2011.
  115. "Chlorine Bleach: Helping to Manage the Flu Risk". Water Quality & Health Council. April 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2009. สืบค้นเมื่อ 12 May 2009.
  116. Hatchett RJ, Mecher CE, Lipsitch M (พฤษภาคม 2007). "Public health interventions and epidemic intensity during the 1918 influenza pandemic". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 104 (18): 7582–87. Bibcode:2007PNAS..104.7582H. doi:10.1073/pnas.0610941104. PMC 1849867. PMID 17416679.
  117. Bootsma MC, Ferguson NM (พฤษภาคม 2007). "The effect of public health measures on the 1918 influenza pandemic in U.S. cities". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 104 (18): 7588–93. Bibcode:2007PNAS..104.7588B. doi:10.1073/pnas.0611071104. PMC 1849868. PMID 17416677.
  118. "Vaccine use". World Health Organization. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 December 2012. สืบค้นเมื่อ 6 December 2012.
  119. Smith NM, Bresee JS, Shay DK, Uyeki TM, Cox NJ, Strikas RA (กรกฎาคม 2006). "Prevention and Control of Influenza: recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP)" (PDF). MMWR. Recommendations and Reports. 55 (RR-10): 1–42. PMID 16874296. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2011.
  120. Demicheli V, Jefferson T, Ferroni E, Rivetti A, Di Pietrantonj C (2018). "Vaccines for preventing influenza in healthy adults". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2: CD001269. doi:10.1002/14651858.CD001269.pub6. PMID 29388196.
  121. 121.0 121.1 Jefferson T, Rivetti A, Di Pietrantonj C, Demicheli V (2018). "Vaccines for preventing influenza in healthy children". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2: CD004879. doi:10.1002/14651858.CD004879.pub5. PMID 29388195.
  122. Kopsaftis Z, Wood-Baker R, Poole P (2018). "Influenza vaccine for chronic obstructive pulmonary disease (COPD)". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2: CD002733. doi:10.1002/14651858.CD002733.pub3. PMID 29943802.
  123. Cates CJ, Rowe BH (February 2013). "Vaccines for preventing influenza in people with asthma". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2 (2): CD000364. doi:10.1002/14651858.CD000364.pub4. PMID 23450529.
  124. Beck CR, McKenzie BC, Hashim AB, Harris RC, Nguyen-Van-Tam JS (October 2012). "Influenza vaccination for immunocompromised patients: systematic review and meta-analysis by etiology". The Journal of Infectious Diseases. 206 (8): 1250–59. doi:10.1093/infdis/jis487. PMID 22904335.
  125. Udell JA, Zawi R, Bhatt DL, Keshtkar-Jahromi M, Gaughran F, Phrommintikul A, Ciszewski A, Vakili H, Hoffman EB, Farkouh ME, Cannon CP (October 2013). "Association between influenza vaccination and cardiovascular outcomes in high-risk patients: a meta-analysis". JAMA. 310 (16): 1711–20. doi:10.1001/jama.2013.279206. PMID 24150467.
  126. Abramson ZH (2012). "What, in Fact, Is the Evidence That Vaccinating Healthcare Workers against Seasonal Influenza Protects Their Patients? A Critical Review". International Journal of Family Medicine. 2012: 205464. doi:10.1155/2012/205464. PMC 3502850. PMID 23209901.
  127. Thomas RE, Jefferson T, Lasserson TJ (2018). "Influenza vaccination for healthcare workers who care for people aged 60 or older living in long-term care institutions". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2 (6): CD005187. doi:10.1002/14651858.CD005187.pub5. PMID 27251461.
  128. Ahmed F, Lindley MC, Allred N, Weinbaum CM, Grohskopf L (January 2014). "Effect of influenza vaccination of healthcare personnel on morbidity and mortality among patients: systematic review and grading of evidence". Clinical Infectious Diseases. 58 (1): 50–57. doi:10.1093/cid/cit580. PMID 24046301.
  129. Dolan GP, Harris RC, Clarkson M, Sokal R, Morgan G, Mukaigawara M, Horiuchi H, Hale R, Stormont L, Béchard-Evans L, Chao YS, Eremin S, Martins S, Tam J, Peñalver J, Zanuzadana A, Nguyen-Van-Tam JS (September 2013). "Vaccination of healthcare workers to protect patients at increased risk of acute respiratory disease: summary of a systematic review". Influenza and Other Respiratory Viruses. 7 (Suppl 2): 93–96. doi:10.1111/irv.12087. PMC 5909400. PMID 24034492.
  130. 130.0 130.1 "Recommended composition of influenza virus vaccines for use in the 2006–2007 influenza season" (PDF). WHO Report. 14 February 2006. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2016. สืบค้นเมื่อ 28 December 2016.
  131. Holmes EC, Ghedin E, Miller N, Taylor J, Bao Y, St George K, Grenfell BT, Salzberg SL, Fraser CM, Lipman DJ, Taubenberger JK (September 2005). "Whole-genome analysis of human influenza A virus reveals multiple persistent lineages and reassortment among recent H3N2 viruses". PLoS Biology. 3 (9): e300. doi:10.1371/journal.pbio.0030300. PMC 1180517. PMID 16026181.
  132. Key Facts about Influenza (Flu) Vaccine เก็บถาวร 30 มิถุนายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication. Published 17 October 2006. Retrieved 18 October 2006.
  133. Questions & Answers: Flu Shot เก็บถาวร 19 ตุลาคม 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication updated 24 July 2006. Retrieved 19 October 2006.
  134. Questions & Answers: Flu Shot เก็บถาวร 1 ตุลาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication updated 24 July 2006. Retrieved 19 October 2006.
  135. Jit M, Newall AT, Beutels P (April 2013). "Key issues for estimating the impact and cost-effectiveness of seasonal influenza vaccination strategies". Human Vaccines & Immunotherapeutics. 9 (4): 834–40. doi:10.4161/hv.23637. PMC 3903903. PMID 23357859.
  136. Newall AT, Jit M, Beutels P (August 2012). "Economic evaluations of childhood influenza vaccination: a critical review". PharmacoEconomics. 30 (8): 647–60. doi:10.2165/11599130-000000000-00000. PMID 22788257.
  137. Postma MJ, Baltussen RP, Palache AM, Wilschut JC (April 2006). "Further evidence for favorable cost-effectiveness of elderly influenza vaccination". Expert Review of Pharmacoeconomics & Outcomes Research. 6 (2): 215–27. doi:10.1586/14737167.6.2.215. PMID 20528557.
  138. Newall AT, Dehollain JP, Creighton P, Beutels P, Wood JG (August 2013). "Understanding the cost-effectiveness of influenza vaccination in children: methodological choices and seasonal variability". PharmacoEconomics. 31 (8): 693–702. doi:10.1007/s40273-013-0060-7. PMID 23645539.
  139. Newall AT, Kelly H, Harsley S, Scuffham PA (1 June 2009). "Cost effectiveness of influenza vaccination in older adults: a critical review of economic evaluations for the 50- to 64-year age group". PharmacoEconomics. 27 (6): 439–50. doi:10.2165/00019053-200927060-00001. PMID 19640008.
  140. "Influenza Virus Testing Methods | Seasonal Influenza (Flu) | CDC". www.cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 26 March 2018. สืบค้นเมื่อ 30 March 2018.
  141. "Wash your hands often and right way". Centers for Disease Control and Prevention (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 5 January 2018. สืบค้นเมื่อ 29 March 2018.
  142. "Flu: MedlinePlus Medical Encyclopedia". U.S. National Library of Medicine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 February 2010. สืบค้นเมื่อ 7 February 2010.
  143. Glasgow JF, Middleton B (พฤศจิกายน 2001). "Reye syndrome—insights on causation and prognosis" (PDF). Archives of Disease in Childhood. 85 (5): 351–53. doi:10.1136/adc.85.5.351. PMC 1718987. PMID 11668090. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2011.
  144. Hurt AC, Ho HT, Barr I (October 2006). "Resistance to anti-influenza drugs: adamantanes and neuraminidase inhibitors". Expert Review of Anti-Infective Therapy. 4 (5): 795–805. doi:10.1586/14787210.4.5.795. PMID 17140356.
  145. "The Flu: What To Do If You Get Sick". Centers for Disease Control and Prevention (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 9 March 2018. สืบค้นเมื่อ 29 March 2018.
  146. Moscona, Anne (5 March 2009). "Global Transmission of Oseltamivir-Resistant Influenza". New England Journal of Medicine. 360 (10): 953–56. doi:10.1056/NEJMp0900648. ISSN 0028-4793. PMID 19258250.
  147. Stephenson I, Nicholson KG (กรกฎาคม 1999). "Chemotherapeutic control of influenza" (PDF). The Journal of Antimicrobial Chemotherapy. 44 (1): 6–10. doi:10.1093/jac/44.1.6. PMID 10459804. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2016.
  148. Centers for Disease Control Prevention (CDC) (มกราคม 2006). "High levels of adamantane resistance among influenza A (H3N2) viruses and interim guidelines for use of antiviral agents—United States, 2005–06 influenza season" (PDF). MMWR. Morbidity and Mortality Weekly Report. 55 (2): 44–46. PMID 16424859. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2011.
  149. Bright RA, Medina MJ, Xu X, Perez-Oronoz G, Wallis TR, Davis XM, Povinelli L, Cox NJ, Klimov AI (October 2005). "Incidence of adamantane resistance among influenza A (H3N2) viruses isolated worldwide from 1994 to 2005: a cause for concern". Lancet. 366 (9492): 1175–81. doi:10.1016/S0140-6736(05)67338-2. PMID 16198766.
  150. Ilyushina NA, Govorkova EA, Webster RG (ตุลาคม 2005). "Detection of amantadine-resistant variants among avian influenza viruses isolated in North America and Asia" (PDF). Virology. 341 (1): 102–06. doi:10.1016/j.virol.2005.07.003. PMID 16081121. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011.
  151. Parry J (July 2005). "Use of antiviral drug in poultry is blamed for drug resistant strains of avian flu". BMJ. 331 (7507): 10. doi:10.1136/bmj.331.7507.10. PMC 558527. PMID 15994677.
  152. "CDC Recommends against the Use of Amantadine and Rimantadine for the Treatment or Prophylaxis of Influenza in the United States during the 2005–06 Influenza Season". Centers for Disease Control and Prevention. 14 January 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2017. สืบค้นเมื่อ 28 December 2016.
  153. Hayden FG (March 1997). "Prevention and treatment of influenza in immunocompromised patients". Am. J. Med. 102 (3A): 55–60, discussion 75–76. doi:10.1016/S0002-9343(97)80013-7. PMID 10868144.
  154. Whitley RJ, Monto AS (2006). "Prevention and treatment of influenza in high-risk groups: children, pregnant women, immunocompromised hosts, and nursing home residents" (PDF). J Infect Dis. 194 (S2): S133–38. doi:10.1086/507548. PMID 17163386. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 January 2016.
  155. Angelo SJ, Marshall PS, Chrissoheris MP, Chaves AM (April 2004). "Clinical characteristics associated with poor outcome in patients acutely infected with Influenza A". Conn Med. 68 (4): 199–205. PMID 15095826.
  156. Murin S, Bilello K (2005). "Respiratory tract infections: another reason not to smoke". Cleve Clin J Med. 72 (10): 916–20. doi:10.3949/ccjm.72.10.916. PMID 16231688.
  157. Sandman PM, Lanard J (2005). "Bird Flu: Communicating the Risk" (PDF). Perspectives in Health Magazine. 10 (2): 1–6. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มกราคม 2012.
  158. People at High Risk of Developing Flu–Related Complications เก็บถาวร 10 กรกฎาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CDC publication. Published 26 August 2016. Retrieved 20 March 2017.
  159. 159.0 159.1 Sivadon-Tardy V, Orlikowski D, Porcher R, Sharshar T, Durand MC, Enouf V, Rozenberg F, Caudie C, Annane D, van der Werf S, Lebon P, Raphaël JC, Gaillard JL, Gault E (January 2009). "Guillain-Barré syndrome and influenza virus infection". Clinical Infectious Diseases. 48 (1): 48–56. doi:10.1086/594124. PMID 19025491.
  160. Jacobs BC, Rothbarth PH, van der Meché FG, Herbrink P, Schmitz PI, de Klerk MA, van Doorn PA (October 1998). "The spectrum of antecedent infections in Guillain-Barré syndrome: a case-control study". Neurology. 51 (4): 1110–15. doi:10.1212/wnl.51.4.1110. PMID 9781538.
  161. Vellozzi C, Burwen DR, Dobardzic A, Ball R, Walton K, Haber P (March 2009). "Safety of trivalent inactivated influenza vaccines in adults: background for pandemic influenza vaccine safety monitoring". Vaccine. 27 (15): 2114–20. doi:10.1016/j.vaccine.2009.01.125. PMID 19356614.
  162. Stowe J, Andrews N, Wise L, Miller E (February 2009). "Investigation of the temporal association of Guillain-Barre syndrome with influenza vaccine and influenzalike illness using the United Kingdom General Practice Research Database" (PDF). American Journal of Epidemiology. 169 (3): 382–88. doi:10.1093/aje/kwn310. PMID 19033158.
  163. Sivadon-Tardy V, Orlikowski D, Porcher R, Sharshar T, Durand MC, Enouf V, Rozenberg F, Caudie C, Annane D, van der Werf S, Lebon P, Raphaël JC, Gaillard JL, Gault E (January 2009). "Guillain-Barré syndrome and influenza virus infection" (PDF). Clinical Infectious Diseases. 48 (1): 48–56. doi:10.1086/594124. PMID 19025491.
  164. 164.0 164.1 "Children with Neurologic Conditions & Influenza (Flu)". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 5 February 2019. สืบค้นเมื่อ 10 July 2019. Children of any age with neurologic conditions are more likely than other children to become very sick if they get flu. Flu complications may vary and for some children, can include pneumonia and even death.
  165. Weather and the Flu Season เก็บถาวร 15 พฤศจิกายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน NPR Day to Day, 17 December 2003. Retrieved, 19 October 2006
  166. Lowen AC, Mubareka S, Steel J, Palese P (ตุลาคม 2007). "Influenza virus transmission is dependent on relative humidity and temperature". PLoS Pathogens. 3 (10): 1470–76. doi:10.1371/journal.ppat.0030151. PMC 2034399. PMID 17953482.
  167. Shaman J, Kohn M (March 2009). "Absolute humidity modulates influenza survival, transmission, and seasonality". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 106 (9): 3243–8. Bibcode:2009PNAS..106.3243S. doi:10.1073/pnas.0806852106. PMC 2651255. PMID 19204283.
  168. Shaman J, Pitzer VE, Viboud C, Grenfell BT, Lipsitch M (February 2010). Ferguson NM (บ.ก.). "Absolute humidity and the seasonal onset of influenza in the continental United States". PLoS Biology. 8 (2): e1000316. doi:10.1371/journal.pbio.1000316. PMC 2826374. PMID 20186267.
  169. Shek LP, Lee BW (June 2003). "Epidemiology and seasonality of respiratory tract virus infections in the tropics". Paediatric Respiratory Reviews. 4 (2): 105–11. doi:10.1016/S1526-0542(03)00024-1. PMID 12758047.
  170. Dushoff J, Plotkin JB, Levin SA, Earn DJ (November 2004). "Dynamical resonance can account for seasonality of influenza epidemics". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 101 (48): 16915–16. Bibcode:2004PNAS..10116915D. doi:10.1073/pnas.0407293101. PMC 534740. PMID 15557003.
  171. "WHO Confirmed Human Cases of H5N1". WHO Epidemic and Pandemic Alert and Response (EPR). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2016. สืบค้นเมื่อ 28 December 2016.
  172. Cannell JJ, Vieth R, Umhau JC, Holick MF, Grant WB, Madronich S, Garland CF, Giovannucci E (December 2006). "Epidemic influenza and vitamin D". Epidemiology and Infection. 134 (6): 1129–40. doi:10.1017/S0950268806007175. PMC 2870528. PMID 16959053.
  173. Hope-Simpson RE (January 1965). "The Nature of Herpes Zoster: A Long-term Study and a New Hypothesis". Proceedings of the Royal Society of Medicine. 58: 9–20. PMC 1898279. PMID 14267505.
  174. Lozano R, Naghavi M, Foreman K, Lim S, Shibuya K, Aboyans V, และคณะ (December 2012). "Global and regional mortality from 235 causes of death for 20 age groups in 1990 and 2010: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010". Lancet. 380 (9859): 2095–128. doi:10.1016/S0140-6736(12)61728-0. hdl:10536/DRO/DU:30050819. PMID 23245604.
  175. Influenza เก็บถาวร 19 ตุลาคม 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน WHO Fact sheet No. 211 revised March 2003. Retrieved 22 October 2006.
  176. Thompson WW, Shay DK, Weintraub E, Brammer L, Cox N, Anderson LJ, Fukuda K (มกราคม 2003). "Mortality associated with influenza and respiratory syncytial virus in the United States". JAMA. 289 (2): 179–86. doi:10.1001/jama.289.2.179. PMID 12517228.
  177. Thompson WW, Shay DK, Weintraub E, Brammer L, Bridges CB, Cox NJ, Fukuda K (September 2004). "Influenza-associated hospitalizations in the United States". JAMA. 292 (11): 1333–40. doi:10.1001/jama.292.11.1333. PMID 15367555.
  178. Dushoff J, Plotkin JB, Viboud C, Earn DJ, Simonsen L (มกราคม 2006). "Mortality due to influenza in the United States—an annualized regression approach using multiple-cause mortality data". American Journal of Epidemiology. 163 (2): 181–87. doi:10.1093/aje/kwj024. PMID 16319291. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009. The regression model attributes an annual average of 41,400 (95% confidence interval: 27,100, 55,700) deaths to influenza over the period 1979–2001
  179. Julie Steenhuysen (26 August 2010). "CDC backs away from decades-old flu death estimate". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 August 2010. สืบค้นเมื่อ 13 September 2010. Instead of the estimated 36,000 annual flu deaths in the United States ... the actual number in the past 30 years has ranged from a low of about 3,300 deaths to a high of nearly 49,000, the CDC said on Thursday
  180. Murray CJ, Lopez AD, Chin B, Feehan D, Hill KH (December 2006). "Estimation of potential global pandemic influenza mortality on the basis of vital registry data from the 1918–20 pandemic: a quantitative analysis". Lancet. 368 (9554): 2211–18. doi:10.1016/S0140-6736(06)69895-4. PMID 17189032.
  181. Wolf YI, Viboud C, Holmes EC, Koonin EV, Lipman DJ (October 2006). "Long intervals of stasis punctuated by bursts of positive selection in the seasonal evolution of influenza A virus". Biology Direct. 1 (1): 34. doi:10.1186/1745-6150-1-34. PMC 1647279. PMID 17067369.
  182. Parrish CR, Kawaoka Y (2005). "The origins of new pandemic viruses: the acquisition of new host ranges by canine parvovirus and influenza A viruses". Annual Review of Microbiology. 59: 553–86. doi:10.1146/annurev.micro.59.030804.121059. PMID 16153179.
  183. Recker M, Pybus OG, Nee S, Gupta S (May 2007). "The generation of influenza outbreaks by a network of host immune responses against a limited set of antigenic types". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 104 (18): 7711–6. Bibcode:2007PNAS..104.7711R. doi:10.1073/pnas.0702154104. PMC 1855915. PMID 17460037.
  184. 184.0 184.1 Ferguson NM, Cummings DA, Cauchemez S, Fraser C, Riley S, Meeyai A, Iamsirithaworn S, Burke DS (September 2005). "Strategies for containing an emerging influenza pandemic in Southeast Asia". Nature. 437 (7056): 209–14. Bibcode:2005Natur.437..209F. doi:10.1038/nature04017. PMID 16079797.
  185. Influenza, The Oxford English Dictionary, second edition.
  186. Potter CW (October 2001). "A history of influenza". Journal of Applied Microbiology. 91 (4): 572–79. doi:10.1046/j.1365-2672.2001.01492.x. PMID 11576290.
  187. Calisher CH (August 2009). "Swine flu". Croatian Medical Journal. 50 (4): 412–15. doi:10.3325/cmj.2009.50.412. PMC 2728380. PMID 19673043.
  188. 188.0 188.1 188.2 188.3 188.4 Taubenberger JK, Morens DM (January 2006). "1918 Influenza: the mother of all pandemics". Emerging Infectious Diseases. 12 (1): 15–22. doi:10.3201/eid1201.050979. PMC 3291398. PMID 16494711.
  189. Martin PM, Martin-Granel E (มิถุนายน 2006). "2,500-year evolution of the term epidemic". Emerging Infectious Diseases. 12 (6): 976–80. doi:10.3201/eid1206.051263. PMC 3373038. PMID 16707055.
  190. Hippocrates. "Of the Epidemics, c. 400 BCE". Adams, Francis (transl.). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2006. สืบค้นเมื่อ 18 October 2006.
  191. Beveridge WI (1991). "The chronicle of influenza epidemics". History and Philosophy of the Life Sciences. 13 (2): 223–34. PMID 1724803.
  192. 192.0 192.1 192.2 Potter CW (October 2001). "A History of Influenza". Journal of Applied Microbiology. 91 (4): 572–79. doi:10.1046/j.1365-2672.2001.01492.x. PMID 11576290.
  193. Guerra F (1988). "The earliest American epidemic. The influenza of 1493". Social Science History. 12 (3): 305–25. doi:10.2307/1171451. JSTOR 1171451. PMID 11618144.
  194. Guerra F (1993). "The European-American exchange". History and Philosophy of the Life Sciences. 15 (3): 313–27. PMID 7529930.
  195. 195.0 195.1 195.2 195.3 Knobler S, Mack A, Mahmoud A, Lemon S (บ.ก.). "1: The Story of Influenza". The Threat of Pandemic Influenza: Are We Ready? Workshop Summary (2005). Washington, DC: The National Academies Press. pp. 60–61.
  196. 196.0 196.1 Patterson KD, Pyle GF (Spring 1991). "The geography and mortality of the 1918 influenza pandemic". Bulletin of the History of Medicine. 65 (1): 4–21. PMID 2021692.
  197. Taubenberger JK, Reid AH, Janczewski TA, Fanning TG (December 2001). "Integrating historical, clinical and molecular genetic data in order to explain the origin and virulence of the 1918 Spanish influenza virus". Philosophical Transactions of the Royal Society of London. Series B, Biological Sciences. 356 (1416): 1829–39. doi:10.1098/rstb.2001.1020. PMC 1088558. PMID 11779381.
  198. Simonsen L, Clarke MJ, Schonberger LB, Arden NH, Cox NJ, Fukuda K (July 1998). "Pandemic versus epidemic influenza mortality: a pattern of changing age distribution". The Journal of Infectious Diseases. 178 (1): 53–60. doi:10.1086/515616. PMID 9652423.
  199. Palese P (December 2004). "Influenza: old and new threats". Nature Medicine. 10 (12 Suppl): S82–87. doi:10.1038/nm1141. PMID 15577936.
  200. Heinen PP (15 September 2003). "Swine influenza: a zoonosis". Veterinary Sciences Tomorrow. ISSN 1569-0830. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 February 2007. สืบค้นเมื่อ 28 December 2016.
  201. Shimizu K (October 1997). "[History of influenza epidemics and discovery of influenza virus]". Nihon Rinsho. Japanese Journal of Clinical Medicine. 55 (10): 2505–11. PMID 9360364.
  202. Smith W, Andrewes CH, Laidlaw PP (1933). "A virus obtained from influenza patients". Lancet. 2 (5732): 66–68. doi:10.1016/S0140-6736(00)78541-2.
  203. "Sir Frank Macfarlane Burnet: Biography" เก็บถาวร 25 กันยายน 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Nobel Foundation. Retrieved 22 October 2006.
  204. Kendall, H (2006). "Vaccine Innovation: Lessons from World War II". Journal of Public Health Policy. 27 (1): 38–57. doi:10.1057/palgrave.jphp.3200064. PMID 16681187.
  205. Lynch JP, Walsh EE (April 2007). "Influenza: evolving strategies in treatment and prevention". Seminars in Respiratory and Critical Care Medicine. 28 (2): 144–58. doi:10.1055/s-2007-976487. PMID 17458769.
  206. Hilleman, MR (August 2002). "Realities and enigmas of human viral influenza: pathogenesis, epidemiology and control". Vaccine. 20 (25–26): 3068–87. doi:10.1016/S0264-410X(02)00254-2. PMID 12163258.
  207. Potter, CW (October 2001). "A history of influenza". Journal of Applied Microbiology. 91 (4): 572–9. doi:10.1046/j.1365-2672.2001.01492.x. PMID 11576290.
  208. Biggerstaff, M; Cauchemez, S; Reed, C; Gambhir, M; Finelli, L (September 2014). "Estimates of the reproduction number for seasonal, pandemic, and zoonotic influenza: a systematic review of the literature". BMC Infectious Diseases. 14 (1): 480. doi:10.1186/1471-2334-14-480. PMC 4169819. PMID 25186370.
  209. 209.0 209.1 209.2 209.3 Valleron, AJ; Cori, A; Valtat, S; Meurisse, S; Carrat, F; Boëlle, PY (May 2010). "Transmissibility and geographic spread of the 1889 influenza pandemic". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 107 (19): 8778–81. Bibcode:2010PNAS..107.8778V. doi:10.1073/pnas.1000886107. PMC 2889325. PMID 20421481.
  210. Mills, CE; Robins, JM; Lipsitch, M (December 2004). "Transmissibility of 1918 pandemic influenza". Nature. 432 (7019): 904–6. Bibcode:2004Natur.432..904M. doi:10.1038/nature03063. PMC 7095078. PMID 15602562.
  211. Taubenberger, JK; Morens, DM (January 2006). "1918 Influenza: the mother of all pandemics". Emerging Infectious Diseases. 12 (1): 15–22. doi:10.3201/eid1201.050979. PMC 3291398. PMID 16494711.
  212. 212.0 212.1 212.2 212.3 212.4 212.5 212.6 212.7 "Report of the Review Committee on the Functioning of the International Health Regulations (2005) in relation to Pandemic (H1N1) 2009" (PDF). 2011-05-05. p. 37. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-14. สืบค้นเมื่อ 2015-03-01.
  213. Spreeuwenberg, P; Kroneman, M; Paget, J (December 2018). "Reassessing the Global Mortality Burden of the 1918 Influenza Pandemic". American Journal of Epidemiology. 187 (12): 2561–2567. doi:10.1093/aje/kwy191. PMID 30202996.
  214. Morens, DM; Fauci, AS (April 2007). "The 1918 influenza pandemic: insights for the 21st century". The Journal of Infectious Diseases. 195 (7): 1018–28. doi:10.1086/511989. PMID 17330793.
  215. Johnson, NP; Mueller, J (2002). "Updating the accounts: global mortality of the 1918-1920 "Spanish" influenza pandemic". Bulletin of the History of Medicine. 76 (1): 105–15. doi:10.1353/bhm.2002.0022. PMID 11875246.
  216. Lin II, Rong-Gong; Karlamangla, Soumya (2020-03-06). "Why the coronavirus outbreak isn't likely to be a repeat of the 1918 Spanish flu". Los Angeles Times.
  217. Donaldson, LJ; Rutter, PD; Ellis, BM; Greaves, FE; Mytton, OT; Pebody, RG; Yardley, IE (December 2009). "Mortality from pandemic A/H1N1 2009 influenza in England: public health surveillance study". BMJ. 339: b5213. doi:10.1136/bmj.b5213. PMC 2791802. PMID 20007665.
  218. "First Global Estimates of 2009 H1N1 Pandemic Mortality Released by CDC-Led Collaboration". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 2012-06-25. สืบค้นเมื่อ 2012-07-07.
  219. Kelly, H; Peck, HA; Laurie, KL; Wu, P; Nishiura, H; Cowling, BJ (2011-08-05). "The age-specific cumulative incidence of infection with pandemic influenza H1N1 2009 was similar in various countries prior to vaccination". PLOS One. 6 (8): e21828. Bibcode:2011PLoSO...621828K. doi:10.1371/journal.pone.0021828. PMC 3151238. PMID 21850217.
  220. Dawood, FS; Iuliano, AD; Reed, C; Meltzer, MI; Shay, DK; Cheng, PY; และคณะ (September 2012). "Estimated global mortality associated with the first 12 months of 2009 pandemic influenza A H1N1 virus circulation: a modelling study". The Lancet. Infectious Diseases. 12 (9): 687–95. doi:10.1016/S1473-3099(12)70121-4. PMID 22738893.
  221. Triggle, Nick (2009-12-10). "Swine flu less lethal than feared". BBC News. BBC News Online. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-13. สืบค้นเมื่อ 2009-12-10.
  222. "WHO Europe - Influenza". World Health Organization (WHO). June 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-17. สืบค้นเมื่อ 2009-06-12.
  223. CDC (28 ตุลาคม 2019). "Key Facts About Influenza (Flu)". cdc.gov (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). citing Tokars, Olsen& Reed (2018). สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2020.
  224. Tokars, JI; Olsen, SJ; Reed, C (May 2018). "Seasonal Incidence of Symptomatic Influenza in the United States". Clinical Infectious Diseases. 66 (10): 1511–1518. doi:10.1093/cid/cix1060. PMC 5934309. PMID 29206909.
  225. "Influenza: Fact sheet". World Health Organization (WHO). 2018-11-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-17. สืบค้นเมื่อ 2020-01-25.
  226. "H1N1 fatality rates comparable to seasonal flu". The Malaysian Insider. Washington, D.C., USA. Reuters. 2009-09-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-20. สืบค้นเมื่อ 2009-09-26.
  227. Putri WC, Muscatello DJ, Stockwell MS, Newall AT (June 2018). "Economic burden of seasonal influenza in the United States". Vaccine. 36 (27): 3960–66. doi:10.1016/j.vaccine.2018.05.057. PMID 29801998.
  228. 228.0 228.1 "Statement from President George W. Bush on Influenza". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 January 2009. สืบค้นเมื่อ 26 October 2006.
  229. Brainerd, E. and M. Siegler (2003), "The Economic Effects of the 1918 Influenza Epidemic", CEPR Discussion Paper, no. 3791.
  230. Poland GA (March 2006). "Vaccines against avian influenza—a race against time". The New England Journal of Medicine. 354 (13): 1411–13. doi:10.1056/NEJMe068047. PMID 16571885.
  231. 231.0 231.1 Rosenthal E, Bradsher K (16 มีนาคม 2006). "Is Business Ready for a Flu Pandemic?". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 17 เมษายน 2006.
  232. Bush Outlines $7 Billion Pandemic Flu Preparedness Plan US Mission to the EU. Retrieved 12 December 2009.
  233. Donor Nations Pledge $1.85 Billion to Combat Bird Flu เก็บถาวร 18 ตุลาคม 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Newswire Retrieved 26 October 2006.
  234. "Assessment of the 2009 Influenza A (H1N1) Outbreak on Selected Countries in the Southern Hemisphere". 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 September 2009. สืบค้นเมื่อ 21 September 2009.
  235. Influenza A Virus Genome Project เก็บถาวร 22 พฤษภาคม 2006 ที่ archive.today at The Institute of Genomic Research. Retrieved 19 October 2006
  236. Subbarao K, Katz J (2004). Influenza vaccines generated by reverse genetics. Curr Top Microbiol Immunol. Current Topics in Microbiology and Immunology. Vol. 283. pp. 313–42. doi:10.1007/978-3-662-06099-5_9. ISBN 978-3-642-07375-5. PMID 15298174.
  237. Bardiya N, Bae J (2005). "Influenza vaccines: recent advances in production technologies". Appl Microbiol Biotechnol. 67 (3): 299–305. doi:10.1007/s00253-004-1874-1. PMID 15660212.
  238. Neirynck S, Deroo T, Saelens X, Vanlandschoot P, Jou WM, Fiers W (October 1999). "A universal influenza A vaccine based on the extracellular domain of the M2 protein". Nat. Med. 5 (10): 1157–63. doi:10.1038/13484. PMID 10502819.
  239. Fiers W, Neirynck S, Deroo T, Saelens X, Jou WM (December 2001). "Soluble recombinant influenza vaccines". Philosophical Transactions of the Royal Society B. 356 (1416): 1961–63. doi:10.1098/rstb.2001.0980. PMC 1088575. PMID 11779398.
  240. Fiers W, De Filette M, Birkett A, Neirynck S, Min Jou W (July 2004). "A "universal" human influenza A vaccine". Virus Res. 103 (1–2): 173–76. doi:10.1016/j.virusres.2004.02.030. PMID 15163506.
  241. Petsch B, Schnee M, Vogel AB, และคณะ (November 2012). "Protective efficacy of in vitro synthesized, specific mRNA vaccines against influenza A virus infection". Nat. Biotechnol. 30 (12): 1210–16. doi:10.1038/nbt.2436. PMID 23159882.
  242. Stephen Adams (8 กรกฎาคม 2011). "Universal flu vaccine a step closer". The Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011.
  243. Ekiert DC, Friesen RH, Bhabha G, Kwaks T, Jongeneelen M, Yu W, และคณะ (August 2011). "A highly conserved neutralizing epitope on group 2 influenza A viruses". Science. 333 (6044): 843–50. Bibcode:2011Sci...333..843E. doi:10.1126/science.1204839. PMC 3210727. PMID 21737702.
  244. Gingerich, DA (2008). "Lymphocyte T-Cell Immunomodulator: Review of the ImmunoPharmacology of a new Veterinary Biologic" (PDF). Journal of Applied Research in Veterinary Medicine. 6 (2): 61–68. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 13 July 2011. สืบค้นเมื่อ 5 December 2010.
  245. Gorman OT, Bean WJ, Kawaoka Y, Webster RG (April 1990). "Evolution of the nucleoprotein gene of influenza A virus". Journal of Virology. 64 (4): 1487–97. PMC 249282. PMID 2319644.
  246. Hinshaw VS, Bean WJ, Webster RG, Rehg JE, Fiorelli P, Early G, Geraci JR, St Aubin DJ (September 1984). "Are seals frequently infected with avian influenza viruses?". Journal of Virology. 51 (3): 863–65. PMC 255856. PMID 6471169.
  247. Capua I, Alexander DJ (June 2006). "The challenge of avian influenza to the veterinary community". Avian Pathology. 35 (3): 189–205. doi:10.1080/03079450600717174. PMID 16753610.
  248. Elbers A, Koch G, Bouma A (2005). "Performance of clinical signs in poultry for the detection of outbreaks during the avian influenza A (H7N7) epidemic in The Netherlands in 2003". Avian Pathol. 34 (3): 181–87. doi:10.1080/03079450500096497. PMID 16191700.
  249. Capua I, Mutinelli F (2001). "Low pathogenicity (LPAI) and highly pathogenic (HPAI) avian influenza in turkeys and chicken". A Colour Atlas and Text on Avian Influenza. Bologna: Papi Editore. pp. 13–20. ISBN 978-88-88369-00-6. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 มกราคม 2016.
  250. Bano S, Naeem K, Malik S (2003). "Evaluation of pathogenic potential of avian influenza virus serotype H9N2 in chickens". Avian Dis. 47 (3 Suppl): 817–22. doi:10.1637/0005-2086-47.s3.817. PMID 14575070.
  251. Swayne D, Suarez D (2000). "Highly pathogenic avian influenza". Rev Sci Tech. 19 (2): 463–82. doi:10.20506/rst.19.2.1230. PMID 10935274.
  252. Li KS, Guan Y, Wang J, Smith GJ, Xu KM, Duan L, และคณะ (July 2004). "Genesis of a highly pathogenic and potentially pandemic H5N1 influenza virus in eastern Asia". Nature. 430 (6996): 209–13. Bibcode:2004Natur.430..209L. doi:10.1038/nature02746. PMID 15241415.
  253. Li KS, Guan Y, Wang J, Smith GJ, Xu KM, Duan L, และคณะ (2005). Knobler SL, Mack A, Mahmoud A, Lemon SM (บ.ก.). Today's Pandemic Threat: Genesis of a Highly Pathogenic and Potentially Pandemic H5N1 Influenza Virus in Eastern Asia. The Threat of Pandemic Influenza: Are We Ready? Workshop Summary. The National Academies Press. pp. 116–30. doi:10.17226/11150. ISBN 978-0-309-09504-4. PMID 20669448. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 สิงหาคม 2012.
  254. Liu J (2006). "Avian influenza—a pandemic waiting to happen?" (PDF). J Microbiol Immunol Infect. 39 (1): 4–10. PMID 16440117. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2016.
  255. Salomon R, Webster RG (February 2009). "The influenza virus enigma". Cell. 136 (3): 402–10. doi:10.1016/j.cell.2009.01.029. PMC 2971533. PMID 19203576.
  256. 2 Men in China Die of Lesser-Known Strain of Bird Flu เก็บถาวร 27 มิถุนายน 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New York Times, DAVID BARBOZA, 31 March 2013.
  257. H7N9 avian influenza human infections in China เก็บถาวร 29 กรกฎาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, World Health Organization, 1 April 2013. "... So far no further cases have been identified among the 88 identified contacts under follow up."
  258. Deadly Bird Flu Spreading in China, Unclear How เก็บถาวร 5 พฤศจิกายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ABC News, Katie Moisse, 18 April 2013.
  259. Background and summary of human infection with influenza A(H7N9) virus – as of 5 April 2013 เก็บถาวร 27 เมษายน 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, World Health Organization.
  260. 260.0 260.1 260.2 Kothalawala H, Toussaint MJ, Gruys E (June 2006). "An overview of swine influenza". Vet Q. 28 (2): 46–53. doi:10.1080/01652176.2006.9695207. PMID 16841566.
  261. Myers KP, Olsen CW, Gray GC (April 2007). "Cases of swine influenza in humans: a review of the literature". Clin. Infect. Dis. 44 (8): 1084–88. doi:10.1086/512813. PMC 1973337. PMID 17366454.
  262. Maria Zampaglione (29 April 2009). "Press Release: A/H1N1 influenza like human illness in Mexico and the USA: OIE statement". World Organisation for Animal Health. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 April 2009. สืบค้นเมื่อ 29 April 2009.
  263. Grady, Denise (1 พฤษภาคม 2009). "W.H.O. Gives Swine Flu a Less Loaded, More Scientific Name". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2010.
  264. McNeil Jr, Donald G (1 พฤษภาคม 2009). "Virus's Tangled Genes Straddle Continents, Raising a Mystery About Its Origins". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2010.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก
Kembali kehalaman sebelumnya