Share to:

 

ภาษามลายูบางกอก

ภาษามลายูบางกอก
بڠكوق ملايو
'نايو
ประเทศที่มีการพูดประเทศไทย
ภูมิภาคกรุงเทพมหานคร
ชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายมลายู
จำนวนผู้พูดประมาณ 5,000 คน  (2550)
ตระกูลภาษา
ระบบการเขียนอักษรไทย, อักษรยาวี
รหัสภาษา
ISO 639-3

ภาษามลายูบางกอก, ภาษามลายูกรุงเทพ (อักษรยาวี: بڠكوق ملايو; บาซอนายูบาเกาะ) บ้างเรียก มลายูบางบัวทอง เป็นภาษามลายูถิ่นที่ใช้พูดกันในชุมชนชาวไทยเชื้อสายมลายูที่พำนักบริเวณชานเมืองของกรุงเทพมหานคร บ้างก็เป็นคนที่อาศัยมาแต่เดิม บ้างก็เป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนขึ้นภาคกลางของไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษามลายูบางกอกไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรเชื้อสายมลายูในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี และมีจำนวนมากที่หันมาใช้ภาษาไทยมาตรฐาน

ประวัติ

มีประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อสายมลายูบริเวณภาคกลางของไทยมาช้านาน บ้างก็ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาซึ่งรับราชการเป็นขุนนางเดิม บ้างก็มาจากการค้าขาย ดังพบว่ามีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางสำหรับการติดต่อค้าขายกับประชาคมต่างประเทศ[1] ก่อนอพยพลงมาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างพร้อมกับมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ หลังกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตก[2][3] บางส่วนก็สืบสันดานมาแต่บรรพบุรุษเชลยที่ถูกกวาดต้อนจากหัวเมืองแขกอันได้แก่ ปัตตานี ไทรบุรี ยะหริ่ง กลันตัน และสตูล ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[3][4] รวมทั้งหมด 6 ครั้ง[5] และได้รับโปรดเกล้าให้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนทั้งในและรอบพระนคร ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มประชากรในพระนคร และลดกำลังพลของหัวเมืองแขกมิให้ก่อกบฏต่อสยามอีก[3] ทำให้ประชาคมมลายูกลายเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานครมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน[2] บางกลุ่มเช่นกลุ่มมุสลิมบ้านสมเด็จเป็นกลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองและขุนนาง มีการใช้ราชาศัพท์ และมักสมรสกับผู้มีฐานันดรสูงด้วยกัน แต่ในระยะหลัง หญิงมุสลิมในแถบนี้มักตกเป็นภรรยาของขุนนางที่ไม่ใช่มุสลิม[6] นอกจากนี้ชาวมลายูที่มาจากไทรบุรีและสตูลบางส่วนใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ ไม่ใช้ภาษามลายู[7]

ในกรุงเทพมหานคร มีกลุ่มชนเชื้อสายมลายู ทั้งกลุ่มแขกเก่า (คือกลุ่มที่อาศัยบริเวณภาคกลางมาแต่เดิม) กับกลุ่มแขกใหม่ที่โยกย้ายมาคราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งที่อพยพมาเพื่อค้าขายและถูกกวาดต้อนมา[5] อาศัยอยู่กระจายตัวตั้งแต่สี่แยกบ้านแขก ในฝั่งเขตธนบุรี ทุ่งครุ บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก เรื่อยไปจนถึงอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และยังมีคนเชื้อสายมลายูรอบ ๆ ปริมณฑลด้วย ดังพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครนายก จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดเพชรบุรี[2][8] ภายหลังได้มีการขยับขยายออกมาทางจังหวัดชลบุรี[3] ซึ่งชาวมลายูบางส่วนมีพัฒนาการด้านภาษา[5] หรือแม้แต่ด้านพิธีกรรมทางศาสนาบางประการต่างจากมาตุภูมิ และอนุชนส่วนใหญ่ถือตนว่าเป็นมุสลิมกรุงเทพฯ เสียมากกว่ามุสลิมเชื้อสายมลายู พวกเขาผสมกลมกลืนไปกับคนส่วนใหญ่ บางคนตักบาตรแก่พระสงฆ์ แต่จะเรียกว่า "ให้อาหารพระ" เป็นต้น[9]

สถานะปัจจุบัน

ผู้พูดภาษามลายูบางกอกมีอยู่ประมาณ 5,000 คน[ต้องการอ้างอิง] ส่วนมากจะมีอายุเกินกว่า 40 ปีเท่านั้นที่ยังพอพูดภาษามลายูได้ แต่ความสามารถในการใช้ภาษาแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาษาของพวกเขาเหล่านั้นมีความแตกต่างจากภาษามลายูปัตตานีบ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านเสียง ความหมาย และโครงสร้างประโยค ทั้งนี้เนื่องจากมีวิวัฒนาการทางภาษาที่แตกต่างกัน ชุมชนเชื้อสายมลายูหลายแห่งยุติการคุตบะห์หรือการบรรยายธรรมเป็นมลายู การศึกษากีตาบยาวี หรือแม้แต่การใช้ภาษามลายูสำหรับสื่อสารในชีวิตประจำวันเสียแล้ว[2][10]

ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานียังมีการใช้ภาษามลายูแบบปัตตานีในการสื่อสาร[11] โดยเฉพาะในอำเภอคลองหลวง[12] และพบในอำเภอลาดหลุมแก้ว[13] ส่วนในนนทบุรีท้องที่ที่ยังใช้ภาษามลายู ได้แก่ ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด และพบที่ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง[10] ส่วนในโรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ยังมีการเรียนการสอนด้วยภาษามลายูอยู่เพื่อสืบทอดภาษาสู่ชนรุ่นต่อไป[5]

ชนรุ่นหลังส่วนใหญ่หันมาใช้ภาษาไทยมากขึ้น แต่ยังคงศัพท์เฉพาะจำพวกคนและสิ่งของต่างจากภาษาไทยมาตรฐาน และคงสำเนียงถิ่นเข้าผสมกับภาษาไทย เช่นชุมชนเชื้อสายมลายูในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จะเรียกพ่อว่า ป๊ะ เป๊าะ เยาะห์ ป๋า ส่วนคำไทยอื่นจะมีเสียงแปร่ง เช่น เป็ด เป็น เป๊ด, ขยะ เป็น ขะยะ และ สะอาด เป็น ซะอั๊ด เป็นต้น[14]

ตัวอย่าง

ตัวอย่างคำในภาษามลายูบางกอก ในอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี[15]

มลายูบางกอก มลายูปัตตานี มลายูมาตรฐาน คำแปล
มาเกียง มาแก มากัน กิน
อีเกียง อีแก อีกัน ปลา
อาเญียง อาแย อายัม ไก่
ซมีเลียง ซิมิแล เซิมบีลัน เก้า
มาเลียง มาแล มาลัม กลางคืน
ออเรียง ออแฆ โอรัง คน
เซียง ซีแย เซียม สยาม
ดาออ ดอออ โดอา ดุอา (บทสวด)
กูบา กูบา เกอเบา ควาย
ตาเนาะฮ์ ตาเนาะฮ์ ตานะฮ์ ดิน
บารู บารู บารู ใหม่
นาซิ นาซิ นาซี ข้าว
อาญิง อาญิง อันจิง หมา
ฮาตู ฮาตู ฮันตู ผี
อะการะฮ์ ไอร์บาตู ไอซ์ น้ำแข็ง

อ้างอิง

  1. กัณหา แสงรายา (3 สิงหาคม 2554). "คำเรียก มลายู มลายูมุสลิม ไทย ไทยมุสลิม ไทยมลายู และ 'แขก' ในสังคมไทย (1)". สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "ค้นหารากเหง้า 'มลายูกรุงเทพ มุสลิมบางกอก' ผ่านมุมมองของ 'ศุกรีย์ สาเร็ม' เลขาฯ สโมสรมลายูแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา". ประชาไท. 16 มกราคม 2558. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "มุสลิมในประเทศไทย". กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา. 27 พฤศจิกายน 2554. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. ปราณี กล่ำส้ม. ย่านเก่าในกรุงเทพฯ [เล่ม 1]. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 88
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง (25 พฤษภาคม 2558). "มลายูบางกอก:ที่มา การกระจายตัว และวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง". วรสารเมืองโบราณ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-02. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. เสาวนีย์ จิตต์หมวด, ผศ. (2531). กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม (PDF). กรุงเทพฯ: กองทุนสง่ารุจิระอัมพร. p. 115.
  7. เสาวนีย์ จิตต์หมวด, ผศ. (2531). กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม (PDF). กรุงเทพฯ: กองทุนสง่ารุจิระอัมพร. p. 114.
  8. "Wed Guide: เรื่องความเป็นมาของศาสนาอิสลามในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-02. สืบค้นเมื่อ 2009-09-26.
  9. ประคอง นิมมานเหมินท์และอื่น ๆ. "คติความเชื่อและศาสนา" (PDF). คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 "ย้อนรอยมลายูบางกอก...ที่สุเหร่าแดง". วอยซ์ทีวี. 26 มีนาคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-12. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "ชุมชนมุสลิมปทุมฯ จัดงาน "มลายูปทุมธานี ไม่มีวันตาย"". สำนักข่าวอะลามี่. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "'ปทุมธานีโมเดล' การแก้ปัญหารุกริมคลอง". คมชัดลึก. 12 กรกฎาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "มลายูพลัดถิ่น : รายการทางนำชีวิต อิสลาม ชุด สลามประเทศไทย". ฮาลาลไลฟ์. 16 มิถุนายน 2559. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "ความรู้เรื่องชาวมุสลิมในจังหวัดปทุมธานี". เครือข่ายกาญจนภิเษก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-01. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. Umaiyah Haji Umar (2005). "Bang Bua Thong Dialect – A Lexicon Study". Journal of Language and Culture. 24 (2): 5–22. สืบค้นเมื่อ 28 September 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Umaiyah Haji Umar (2005), Bang Bua Thong Melayu Dialect - a Lexicon Study, Journal Language and Culture, Bangkok:The Research Institute for Languages and Cultures of Asia (RILCA), Mahidol University, online edition
Kembali kehalaman sebelumnya