Share to:

 

ภาษามองโกเลีย

ภาษามองโกเลีย
Монгол (Mongol), ᠮᠣᠨᠭᠭᠣᠯ ᠬᠡᠯᠡ(Mongghol)
ประเทศที่มีการพูดจีน คีร์กีซสถาน มองโกเลีย และรัสเซีย
ภูมิภาคมองโกเลีย สาธารณรัฐบูเรียตียา (รัสเซีย) อิสซีก-คูล (คีร์กีซสถาน) มณฑลเหลียวหนิง มณฑลจี๋หลิน และมณฑลเฮย์หลงเจียง (จีน)
จำนวนผู้พูด5.7 ล้าน  (ไม่พบวันที่)
ตระกูลภาษา
ระบบการเขียนอักษรมองโกเลีย, อักษรซิริลลิก, อักษรพักปา, อักษรชญานวัชระทรงเหลี่ยม, อักษรสวยัมภู
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการมองโกเลีย เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน (จีน) และสาธารณรัฐบูเรียตียา (รัสเซีย)
รหัสภาษา
ISO 639-1mn
ISO 639-2mon
ISO 639-3มีหลากหลาย:
mon – Mongolian (generic)
khk – Halh Mongolian
mvf – Peripheral Mongolian

ภาษามองโกเลีย เป็นภาษาทางการของประเทศมองโกเลีย และเป็นภาษาหลักของชาวมองโกเลียส่วนใหญ่ ซึ่งผู้พูดส่วนใหญ่จะพูดสำเนียงฮัลฮ์ (Халх) เป็นมาตรฐานนอกจากนี้ ภาษามองโกเลียก็พูดในพื้นที่รอบนอกในบางมณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหพันธรัฐรัสเซีย ภาษามองโกเลีย เป็นภาษารูปคำติดต่อคล้ายภาษาตุรกีหรือภาษาฟินแลนด์ มีการเติมปัจจัยที่รากศัพท์ ภาษามองโกเลียมีเพียงสรรพนามบุรุษที่หนึ่งและสอง แต่ไม่มีบุรุษที่สาม แต่ใช้สรรพนามชี้เฉพาะ เช่น นี่ (энэ) นั่น (тэр) นี่ทั้งหลาย (эд нар) และนั่นทั้งหลาย (ted nar) แทน

การแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์

ภาษามองโกเลียเป็นภาษาประจำชาติของประเทศมองโกเลีย มีผู้พูดราว 2.5 ล้านคน และยังเป็นภาษาราชการในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในในประเทศจีนที่มีผู้พูดประมาณ 2.7 ล้านคนหรือมากกว่า ยึดสำเนียงชาฮาร์เป็นมาตรฐาน แต่จำนวนผู้พูดภาษานี้ที่แน่นอนในจีนประเมินได้ยาก นอกจากนี้แล้วมีผู้พูดภาษามองโกเลียสำเนียงต่างๆในมณฑลเหลียวหนิง มณฑลจี๋หลิน และมณฑลเฮย์หลงเจียงในบริเวณที่ติดต่อกับมองโกเลียในด้วย

การจัดจำแนกและสำเนียง

ภาษามองโกเลียจัดเป็นภาษาในกลุ่มภาษามองโกล ซึ่งสมาชิกในกลุ่มนี้รวมทั้งภาษามองโกลคามนิกันและภาษาดากูร์ ที่ใช้พูดทางตะวันออกของมองโกเลียและในซินเจียงอุยกูร์ ภาษาชิรายูกูร์ ภาษาบอนัน ภาษาต้งเซี่ยง ภาษามองเกอร์ และภาษากังเจีย ที่ใช้พูดในบริเวณชิงไห่และกานซู และอาจรวมถึงภาษาโมโฆลที่เป็นภาษาตายไปแล้วในอัฟกานิสถาน เส้นแบ่งระหว่างการเป็นสำเนียงและเป็นภาษาเอกเทศภายในกลุ่มภาษามองโกลยังเป็นที่โต้เถียงกัน

สำเนียงฮัลฮ์ถือเป็นสำเนียงมาตรฐานของภาษามองโกเลีย แต่การกำหนดสำเนียงย่อยยังมีความเห็นต่างกัน Sanžeev (1953) เสนอว่าภาษามองโกเลียมี 3 สำเนียงคือ ฮัลฮ์ ชาฮาร์ และออร์ดอส ส่วนบูร์ยัตและออยรัตเป็นภาษาเอกเทศ Luvsanvandan (1959) เสนอต่างไปว่าภาษามองโกเลียประกอบไปด้วยกลุ่มสำเนียงกลาง (ฮัลฮ์ ชาฮาร์ ออร์ดอส) กลุ่มสำเนียงตะวันออก (ฮาร์ชิน ฮอร์ชิน) กลุ่มสำเนียงตะวันตก (ออยรัต ฮัลมิก) และกลุ่มสำเนียงเหนือ (ภาษาบูร์ยัตทั้งสองสำเนียง) นักวิชาการตะวันตกบางกลุ่มแยกภาษาออร์ดอสออกมาเป็นภาษาเอกเทศ ในมองโกเลียใน แบ่งภาษามองโกเลียเป็น 3 สำเนียงคือ สำเนียงมองโกเลียใต้ สำเนียงออยรัต และสำเนียงบาร์ฆู-บูร์ยัต

คำยืม

ในสมัยโบราณ ภาษามองโกเลียมีคำยืมจากภาษาเตอร์กิกโบราณ ภาษาสันสกฤตผ่านทางภาษาอุยกูร์ ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ ภาษาทิเบต ภาษาตุงกูสิก และภาษาจีน คำยืมในยุคปัจจุบันมาจากภาษารัสเซีย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนโดยเฉพาะในมองโกเลียใน

ระบบการเขียน

การเขียนภาษามองโกเลียมีความหลากหลาย อักษรมองโกเลียที่พัฒนามาจากอักษรอุยกูร์พัฒนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อมา ระหว่าง พ.ศ. 2473 – 2475 มีการเขียนภาษามองโกเลียด้วยอักษรละตินเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้น ได้เปลี่ยนมาใช้อักษรซีริลลิก ในช่วง พ.ศ. 2531 – 2534 มีความพยายามฟื้นฟูอักษรมองโกเลียมาใช้อีกแต่ล้มเหลว ในมองโกเลียใน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภาษามองโกเลียเป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาจีนกลาง ใช้อักษรมองโกเลีย เคยใช้อักษรซีริลลิกก่อนจะเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต

ประวัติ

เอกสารเขียนด้วยอักษรพักส์-ปา
ตัวอย่างอักษรโซยอมโบแต่ละพยางค์

ภาษามองโกเลียโบราณเป็นชื่อที่ใช้เรียกภาษาที่เป็นบรรพบุรุษของภาษามองโกเลีย เอกสารภาษามองโกเลียพบครั้งแรกในจารึกยิซุงเก ซึ่งเขียนด้วยอักษรมองโกเลีย อายุราว พ.ศ. 1767 – 1768 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 – 20 ภาษามองโกเลียเขียนด้วยอักษร 4 ชนิดคือ อักษรมองโกเลียที่พัฒนามาจากอักษรอุยกูร์ อักษรพักปา อักษรจีนและอักษรอาหรับ นักวิชาการบางคนเรียกภาษามองโกเลียที่เขียนด้วยอักษรสามชนิดหลังว่าภาษามองโกเลียยุคกลาง ภาษามองโกเลียคลาสสิกเกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 24 ซึ่งเป็นภาษาเขียนที่มีมาตรฐานในการสะกดคำและการเรียงประโยค และมีความแตกต่างจากภาษามองโกเลียสมัยใหม่ ใน พ.ศ. 2229 อักษรสวยัมภูซึ่งใช้สำหรับเอกสารทางพุทธศาสนาได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น

Kembali kehalaman sebelumnya