Share to:

 

โรงเรียนปัว

โรงเรียนปัว
Pua School
ที่ตั้ง
แผนที่
ไทย
เลขที่ 266 หมู่ 8 ถนนวรนคร ตำบลปัว
อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120
พิกัด19°10′54″N 100°54′09″E / 19.181539°N 100.902472°E / 19.181539; 100.902472
ข้อมูล
ชื่ออื่นปว. (PUA.)
ประเภทโรงเรียนรัฐ
คติพจน์ลูกปัว เลือดม่วงขาว รู้-เคารพ กติกาและหน้าที่
สถาปนา18 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 (60 ปี)
หน่วยงานกำกับสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาน่าน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
รหัส55100405
ผู้อำนวยการนายประกวด พายัพสถาน
ครู/อาจารย์108 [1]
ระดับปีที่จัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
เพศสหศึกษา
จำนวนนักเรียน1,925 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2567)
ภาษาที่ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาที่มีการเรียนการสอนในโรงเรียน
ไทย ภาษาไทย
สหราชอาณาจักร ภาษาอังกฤษ
ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่น
จีน ภาษาจีน
สี  ม่วง   ขาว
เพลงมาร์ชม่วงขาว
ดอกไม้ประจำโรงเรียนดอกช่อม่วง
เว็บไซต์www.pua.ac.th
โรงเรียนมาตรฐานสากล

โรงเรียนปัว (อังกฤษ: Pua School; อักษรย่อ: ปว. , PUA.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ประเภทโรงเรียนประจำอำเภอ จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา และเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล (World Class Standard School) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาน่าน ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 266 หมู่ 8 ถนนวรนคร ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 (60 ปี)

ประวัติ

โรงเรียนปัว เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา แบบสหศึกษา ประจำอำเภอปัว ตั้งอยู่เลขที่ 266 หมู่ที่ 8 ตำบลปัว อำเภอปัว จังหวัดน่าน เปิดการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 โดยอาศัยอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านปรางค์ปราสาท (โรงเรียนบ้านปรางค์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ มีครู 2 คน นักการภารโรง 1 คน นักเรียน 35 คน ต่อมาจึงย้ายทำการเรียนการสอน ณ สถานที่ปัจจุบัน ซึ่งได้รับความอุปถัมภ์จากข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ในเขตอำเภอปัวร่วมกันซื้อที่ดินประมาณ 17 ไร่ และซื้อมาเพิ่มเติมต่อมา ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 67 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา[2]

เมื่อปี พ.ศ. 2515 โรงเรียนปัวได้ทำการเปิดสาขาพื้นที่การศึกษาที่ โรงเรียนประชาพัฒนา อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน จำนวน 2 ห้องเรียน เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2516 โรงเรียนประชาพัฒนา ได้รับการอนุมัติจากกรมสามัญศึกษา ให้เปิดเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอเชียงกลาง และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเชียงกลาง (ประชาพัฒนา) ในปัจจุบัน[3]

เมื่อปี พ.ศ. 2532 โรงเรียนปัวได้ทำการเปิดสาขาพื้นที่การศึกษาที่ โรงเรียนบ่อเกลือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ทำการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีนักเรียนจำนวน 34 คน มีครูจากโรงเรียนปัวมาดูแลและทำการสอนจำนวน 1 คน คือ อาจารย์ประสิทธิ์ แข็งข้อ ตำแหน่งอาจารย์ 1 และนายพงษ์พัฒน์ ธีรประเทืองกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนปัว ทำหน้าที่บริหารโรงเรียน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2532 โรงเรียนบ่อเกลือ สาขาโรงเรียนปัว ได้รับการอนุมัติจากกรมสามัญศึกษา ให้เปิดเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอบ่อเกลือในปัจจุบัน[4]

เมื่อปี พ.ศ. 2534 โรงเรียนปัวได้รับผิดชอบดูแล โรงเรียนศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์ อำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2534 โดยมีท่านผู้อำนวยการประพันธ์ พันธุปาล ผู้อำนวยการโรงเรียนปัว เป็นผู้ดูแลบริหารงานในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2534 มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 167 คน จนถึงในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2534 ทางกรมสามัญศึกษาจึงได้แต่งตั้งผู้บริหารและครูอาจารย์เข้ารับผิดชอบมาจนถึงปัจจุบัน[5]

โรงเรียนปัว เป็นโรงเรียนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีสภาพเป็นที่ราบด้านหน้าติดถนนวรนคร ส่วนพื้นที่ด้านหลังติดกับถนนน่าน-ทุ่งช้าง โดยมีสภาพเป็นเนินเขากับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยป่าไม้ที่ต้องอนุรักษ์เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป

รายนามผู้บริหารโรงเรียนปัว

ป้ายหน้า โรงเรียนปัว ด้านถนนวรนคร
ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนปัว
ลำดับ รายนาม วาระการดำรงตำแหน่ง
1 นายอรุณ ไชยกลางเมือง พ.ศ.2507 - พ.ศ.2508
2 นายพงษ์พัฒน์ ธีรประเทืองกุล พ.ศ.2508 - พ.ศ.2532
3 นายประพันธ์ พันธุปาล พ.ศ.2532 - พ.ศ.2534
4 นายอดิเรก รัตนธัญญา พ.ศ.2534 - พ.ศ.2535
5 นายชูพงษ์ เหมพิสุทธิ์ พ.ศ.2535 - พ.ศ.2542
6 นายเพ็ชร ธรรมราช พ.ศ.2542 - พ.ศ.2544
7 นายไพบูลย์ เกษตรการุณย์ พ.ศ.2544 - พ.ศ.2545
8 นายเสรี พิมพ์มาศ พ.ศ.2545 - พ.ศ.2548
9 นายชาติ ก๋าแก้ว พ.ศ.2549 - พ.ศ.2559
10 นายประกวด พายัพสถาน พ.ศ.2559 - พ.ศ.2567
11 นายเกียรติศักดิ์ สุทธหลวง พ.ศ.2567 - ปัจจุบัน

อาคาร สถานที่ในโรงเรียน

ซุ้มช่อม่วง หน้าอาคารกาญจนาภิเษก สถานที่พักผ่อนของนักเรียนโรงเรียนปัว

สถานที่จัดการเรียนการสอน

  • อาคารกาญจนาภิเษก : เป็นอาคารเอนกประสงค์ที่สูงที่สุดในโรงเรียนปัว มีจำนวน 4 ชั้น ประกอบด้วย
  • อาคาร 1 : เป็นอาคารสูง 3 ชั้น เป็นที่จัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยังเป็นอาคารผู้บริหาร ฝ่ายงานต่างๆของทางโรงเรียน
  • อาคาร 2 : เป็นอาคารไม้สูง 2 ชั้น (เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโรงเรียนปัว) เป็นที่ตั้งของศูนย์ครอบครัวพอเพียงโรงเรียนปัว และห้องสื่อสารการเรียนการสอน ICT 6
  • อาคาร 3 : เป็นอาคารสูง 3 ชั้น เป็นที่จัดการเรียนการสอนของนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 และเป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • อาคาร 4 (ลานปัวงาม) : เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ด้านหน้าอาคารมีสระน้ำเฉลิมพระเกียรติ เป็นที่จัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 และเป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
  • อาคาร 5 : เป็นอาคารสูง 3 ชั้น เป็นที่จัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 และเป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
  • อาคาร 6 : เป็นอาคารสูง 4 ชั้น เป็นที่จัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และห้องเรียนพิเศษทางด้านภาษา นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และกลุ่มสาระการเรียนรู้สัคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
  • อาคารชาวดง : เป็นอาคารเรียนชั่วคราว สร้างขึ้นตามเนินเขาหลังโรงเรียน
  • อาคารเกษตรกรรม : เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้จัดการเรียนการสอนด้านการเกษตร และเป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ
  • อาคารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม : เป็นอาคารชั้นเดียว 2 อาคารเชื่อมติดกันด้วยโดม ใช้จัดการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และมีลานกว้างใช้ทำกิจกรรม
  • อาคารคหกรรม : เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้จัดการเรียนการสอนด้านคหกรรม เช่น ทำอาหาร งานเย็บปัก งานประดิษฐ์ เป็นต้น
  • อาคารศิลปศึกษา : เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้จัดการเรียนการสอนด้านดนตรีสากลและดนตรีไทย
  • อาคารกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา : เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
  • อาคารอูปแก้ว : เป็นอาคารชั้นเดียว เป็นที่ตั้งของงานกิจกรรมลูกเสือ และงานสภานักเรียน
  • โรงพลศึกษา,หอประชุม : เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้านพลศึกษา และใช้ในการจัดพิธีสำคัญหรือจัดประชุมในโอกาสต่างๆ

สถานที่สำคัญ

ดอกช่อม่วง ดอกไม้ประจำโรงเรียนปัว
  • ศาลอารักษ์โรงเรียนปัว : ตั้งอยู่หน้าอาคาร 2 เป็นสถานที่เคารพ สักการะ ของบุคลากร และนักเรียนโรงเรียนปัวทุกคน
  • พระศรีศากยมุนีวรนคร : ประดิษฐานบนแท่นประทับอยู่ทางด้านประตู 3 หลังโรงเรียน หน้าอาคาร 5 เป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียน
  • ศาลาปฏิบัติธรรม : เป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือของอาคาร 2 ใช้ในการปฏิบัติธรรมของนักเรียน
  • พุทธวนาราม : เป็นศาลาชั้นเดียว ตั้งอยู่ในสวนป่าบนเนินเขาหลังโรงเรียน ใช้ในการปฏิบัติธรรมของนักเรียน และประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
  • ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอปัว : เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางด้านประตู 1 เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมประจำอำเภอปัว และเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนนาฏศิลป์ และศิลปศึกษา
  • บ้านสามสมัย : เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างขึ้นตามรูปแบบความนิยมในการสร้างที่อยู่อาศัยของชาวล้านนาใน 3 ยุคสมัย ตั้งอยู่ทางด้านประตู 1 เป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนปัว
  • ห้องประชุมสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนปัว : อยู่ที่ชั้น 1 อาคาร 5 เป็นห้องประชุมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนปัว เพื่อใช้จัดการประชุมในโอกาสต่างๆของทางโรงเรียน และยังเปิดให้บริการกับหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถมาขอใช้บริการได้
  • ธนาคารออมสิน สาขาโรงเรียนปัว และร้านค้าสหกรณ์โรงเรียน : เป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่ตรงข้ามอาคาร 6 ใช้เป็นที่จัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ ภายในโรงเรียน และบริการธุรกรรมทางการเงิน
  • ศาลาธรรมคุณนุสรณ์ : เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่ทางด้านประตู 1 ใช้เป็นห้องพักของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน
  • เรือนพยาบาล : เป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่ตรงข้ามอาคารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
  • สระน้ำเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ : ตั้งอยู่หน้าอาคาร 4 (ลานปัวงาม) เป็นสระน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
  • ซุ้มช่อม่วง : ดอกช่อม่วง (ชื่ออื่น : ดอกเครือออน , ดอกพวงประดิษฐ์) เป็นดอกไม้ประจำโรงเรียนปัว ทางโรงเรียนจึงมีซุ้มช่อม่วงขนาบสองข้างของสนามฟุตบอลในโรงเรียน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียน
  • โดมเขียว : ตั้งอยู่ข้างโรงพลศึกษา ข้างสนามฟุตบอลในโรงเรียน เป็นลานม้านั่งหินอ่อน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียน
  • สวนปาล์ม : ตั้งอยู่ข้างโรงพลศึกษา เป็นสวนที่รวมต้นปาล์มชนิดต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน
  • สวนป่า : ตั้งอยู่หลังโรงเรียน เป็นเนินเขาที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ รักษาไว้เพื่อเป็นที่แหล่งเรียนรู้ของนักเรียนต่อไปในอนาคต
  • สนามกีฬา 50 ปี โรงเรียนปัว : ตั้งอยู่ด้านนอกบริเวณหลังโรงเรียน (ประตู 3) เป็นสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่งขนาดมาตรฐาน ใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาและกรีฑาของนักเรียนโรงเรียนปัว

ปัวปริทัศน์

ปัวปริทัศน์ หรืองาน Open School เป็นงานที่ทางโรงเรียนปัวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือว่าเป็นงานใหญ่ระดับอำเภอเลยทีเดียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพด้านการเรียนการสอน ด้านวิชาการ ด้านกีฬา ด้านดนตรี ฯลฯ ให้กับประชาชนภายนอกได้รับรู้ ในงานจะมีการจัดแสดงผลงานในด้านต่างๆของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และฝ่ายงานต่างๆของทางโรงเรียน โดยจะมีผู้ปกครอง ครู อาจารย์ นักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ ประชาชน รวมถึงผู้ที่สนใจ เข้ามาเยี่ยมชมผลงานของทางโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนักเรียนโรงเรียนปัวจะจัดซุ้มแสดงผลงานในจุดต่างๆของโรงเรียน และในงานปัวปริทัศน์จะมีโครงการทดสอบความรู้ทางวิชาการสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ชื่อว่า "สอบวัดความรู้เชิดชูสถาบัน" ซึ่งคุณครูในโรงเรียนระดับประถมศึกษานิยมพานักเรียนมาทำการทดสอบในโครงการนี้ ทั้งโรงเรียนในเขตอำเภอปัว และโรงเรียนในเขตอำเภอใกล้เคียง เพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน โดยทางโรงเรียนปัวจะทำการทดสอบและรวบรวมคะแนน แล้วจัดเรียงลำดับคะแนนที่นักเรียนสอบได้ทั้งหมดจากมากไปหาน้อย และทางโรงเรียนปัวจะมอบประกาศนียบัตรให้กับทางโรงเรียนและนักเรียนที่ทำคะแนนได้มากเป็นอันดับต้นๆด้วย

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

อ้างอิง

  1. "ข้อมูลบุคลากรโรงเรียนปัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-31. สืบค้นเมื่อ 2023-04-12.
  2. "ประวัติโรงเรียนปัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-29. สืบค้นเมื่อ 2012-08-17.
  3. "ประวัติโรงเรียนเชียงกลาง (ประชาพัฒนา)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-15. สืบค้นเมื่อ 2018-06-24.
  4. "ประวัติโรงเรียนบ่อเกลือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-23. สืบค้นเมื่อ 2018-06-24.
  5. ประวัติโรงเรียนศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์
Kembali kehalaman sebelumnya