Share to:

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Faculty of Humanities and Social Sciences,
Khon Kaen University
ตราพระธาตุพนม
สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัย
ชื่อย่อมนส. / HUSO
สถาปนา18 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 (46 ปี)[1]
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ
ที่อยู่
วารสารวารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์
สี  สีขาว
มาสคอต
กาสะลอง
เว็บไซต์huso.kku.ac.th

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ: Faculty of Humanities and Social Sciences, Khon Kaen University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะวิชาที่จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 7 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นคณะวิชาที่โอนย้ายมาจาก "คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์"[2] (ปัจจุบัน คือ คณะวิทยาศาสตร์) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานให้กับนักศึกษาคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย และผลิตบัณฑิตทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อการพัฒนาภูมิภาคและสนับสนุนความเจริญจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค

ประวัติ

"คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น" ในยุคเริ่มการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นในปี พ.ศ. 2507 นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ "คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์" (ปัจจุบัน คือ คณะวิทยาศาสตร์) โดยทำหน้าที่ในการให้บริการสอนวิชาพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ และมีภาควิชาภาษาอังกฤษสอนวิชาทางด้านภาษาต่างประเทศให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ส่วนวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ จะเปิดสอนอยู่ในคณะเกษตรศาสตร์[3]

ในปี พ.ศ. 2513 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ขึ้น และจัดให้มีภาควิชาพื้นฐานการศึกษา ทำหน้าที่รับผิดชอบในการสอนวิชาพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้แก่นักศึกษา ต่อมาได้มีภารกิจให้บริการแก่คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากทบวงมหาวิทยาลัยได้วางเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรีให้นักศึกษาทุกสาขา ต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพิ่มขึ้น

คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ได้รับจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2518 อีกภาควิชาหนึ่ง ทำการสอนนักศึกษาวิชาเอกบรรณารักษศาสตร์ระดับปริญญาตรี เพื่อผลิตบรรณารักษ์ออกไปทำงานในโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังขาดแคลนบรรณารักษ์อยู่อีกเป็นจำนวนมาก

ในแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีโครงการจัดตั้ง "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" ขึ้น เนื่องจากเห็นว่าบุคคลที่สอนวิชาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น กระจัดกระจายอยู่ในหลายคณะด้วยกันได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพทางวิชาการ และการบริหารเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาที่ติดตามมาหลาย ๆ ด้าน เช่นการทำงานซ้ำซ้อนกั้น การสูญเปล่า การขาดคุณภาพ และประสิทธิภาพในการสอน การขาดการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิชาการ ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อความสามารถของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิต ให้การศึกษาค้นคว้าวิจัย บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย[4]

เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในการจัดตั้งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ขึ้น คือบรรดาผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศที่มาช่วยงานและมาเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัย ได้เน้นให้เห็นความสำคัญของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่จะสามารถช่วยศึกษาและอธิบายปัญหาต่าง ๆ ที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถตอบได้ ประกอบกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ควบคู่กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาภาคอีสานได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ในการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2519 จึงมีมติให้รวมหน่วยงานและบุคลากรที่ทำการสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไว้ด้วยกัน เพื่อจัดตั้งเป็นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนการสอน ค้นคว้า และวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ส่วนการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ก็ยังคงให้ดำเนินการต่อไป)[5]

จากมติที่ประชุมคณบดีดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่างโครงการจัดตั้งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 คณะกรรมการร่างโครงการฯ ได้ดำเนินการจนบรรลุผลสำเร็จ โดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 แบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์รวมกันอยู่ด้วย ประกาศดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 72 หน้า 433 - 437 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[6]

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้มีคณะวิชาที่แยกออกจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คือ "คณะวิทยาการจัดการ" (ปัจจุบัน คือ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี) "คณะศิลปกรรมศาสตร์" "คณะนิติศาสตร์" และ "วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น"

สัญลักษณ์

  • สัญลักษณ์ประจำคณะ

สัญลักษณ์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ กาสะลอง (ปีบ) "กาสะลอง" เป็นภาษาถิ่นที่ใช้เรียกต้นปีบในภาคเหนือ สำหรับภาคอีสานเรียกว่าดอกก้านของ ในบริเวณที่ตั้งคณะในปัจจุบัน มีต้นปีบเป็นจำนวนมาก จึงได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้มีการนิยามความหมายไว้ว่า ดอกกาสะลองนั้นอยู่รวมกันเป็นช่อ ก็หมายถึงความสามัคคีในหมู่คณะ และมีดอกสีขาว เปรียบเสมือนดั่งจิตใจของนักศึกษาที่อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งเป็นที่มาของสีประจำคณะคือ สีขาว

อนึ่ง คณะพยาบาลศาสตร์ ก็ใช้สัญลักษณ์ประจำคณะคือ ดอกปีบ เช่นเดียวกัน แต่เรียกคนละชื่อ ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ จะเรียกว่า "ดอกปีบ" ส่วนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะเรียกว่า "กาสะลอง"

  • สีประจำคณะ

  สีขาว

  • ต้นไม้/ดอกไม้ประจำคณะ

กาสะลอง (ปีบ)

หลักสูตร

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น[7]
สาขาวิชา ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

สาขาวิชามนุษยศาสตร์

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาปรัชญา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนาตะวันออก
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ (นานาชาติ)

สาขาวิชาสังคมศาสตร์

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาสังคมศาสตร์
    • วิชาเอกพัฒนาสังคม
  • สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
  • สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.)

  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์
  • สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.)

  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาพัฒนศาสตร์
  • สาขาวิชาสังคมวิทยา
  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

สาขาวิชาภาษาไทย

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาภาษาไทย

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาภาษาไทย

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาภาษาไทย

สาขาวิชาภาษาตะวันออก

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาภาษาจีน
  • สาขาภาษาเกาหลี

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน

สาขาวิชาภาษาอังกฤษ

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ

สาขาวิชาภาษาตะวันตก

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาภาษาตะวันตก
    • วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส
    • วิชาเอกภาษาเยอรมัน
    • วิชาเอกภาษาสเปน

สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์

หลักสูตรสารสนเทศศาสตรบัณฑิต (สท.บ.)

  • สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์

หลักสูตรสารสนเทศศาสตรมหาบัณฑิต (สท.ม.)

  • สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Department of Public Administration,
Faculty of Humanities and Social Sciences,
Khon Kaen University
สิงห์มอดินแดง
สัญลักษณ์ประจำสาขาวิชา
สถาปนา27 กันยายน พ.ศ. 2547 (20 ปี)
หัวหน้าภาควิชารศ.ดร.สุกัญญา เอมอิ่มธรรม
ที่อยู่
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
123 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40002
วารสารวารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
สี  สีเทา
มาสคอต
สิงห์มอดินแดง
เว็บไซต์https://pol.kku.ac.th

เมื่อ พ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) โดยวางเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยให้มีความกว้างขวาง เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และครบถ้วนทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากแนวความคิดดังกล่าว ใน พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีมติอนุมัติให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้และบัณฑิตทางด้านสังคมศาสตร์มากยิ่งขึ้น จึงดำเนินการพิจารณาเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) สาขาวิชานิติศาสตร์ ซึ่งจัดให้มีการเรียนการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2547 (ปัจจุบันได้โอนย้ายไปเป็น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

จากมติที่ประชุมของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2547 จึงได้มอบหมายให้ “ภาควิชาสังคมศาสตร์” เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนวิชาทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ขึ้นภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งแต่เดิมนั้น ภาควิชาสังคมศาสตร์มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานทางด้านสังคมศาสตร์ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (เช่น รายวิชารัฐศาสตร์ รายวิชาภูมิศาสตร์ รายวิชากฎหมาย เป็นต้น) และเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารการพัฒนา) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 จึงมีความพร้อมในการเปิดทำการสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อมุ่งที่จะผลิตบัณฑิตให้ตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ โดยเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2548

ในปี พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีการให้ความสำคัญในวิชาทางด้านรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นผู้เริ่มพัฒนาการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ โดยจัดตั้งวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (สิงห์น้ำตาล) ในปี 2546 และภายในปี พ.ศ. 2548 จึงเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (สิงห์มอดินแดง) และมีการจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สิงห์แสด) ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและพัฒนาบุคลากร นักปกครอง นักบริหาร เพื่อมาพัฒนาภูมิภาคและท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในยุคโลกาภิวัฒน์

เมื่อ พ.ศ. 2553 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้มีการปรับรูปแบบองค์กรใหม่ เพื่อมีความสะดวกและคล่องตัวในการบริหารมากขึ้น จึงยกเลิกระบบภาควิชา และจัดเป็นกลุ่มสาขาวิชาแทน ดังนั้น ภาควิชาสังคมศาสตร์ จึงเปลี่ยนเป็นสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และเป็นผู้รับผิดชอบในจัดการเรียนการสอนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2554 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ได้มีการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทั้งระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และพิจารณาเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอกขึ้น เพื่อความทันสมัยของรายวิชา ตอบสนองกับความต้องการของนักศึกษา ตลาดแรงงาน และสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้กับศาสตร์ดังกล่าว ส่งผลให้ในปัจจุบันสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้เปิดทำการเรียนการสอนทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ครบในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก

เมื่อ พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำระดับโลก (World Class Research University) จึงทำให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้มีนโยบายในการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อส่งเสริมความเป็นเอกภาพทางการบริหารมากยิ่งขึ้น จึงมีการจัดเป็นสาขาวิชาสังคมศาสตร์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ประกอบด้วย 4 กลุ่มวิชา ได้แก่ 1. กลุ่มรัฐประศาสนศาสตร์ 2. สาขาสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย วิชาเอกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา วิชาเอกพัฒนาสังคม และ 3. วิชาปรัชญาและศาสนา

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันด้านรัฐประศาสนศาสตร์แห่งที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือถัดจากสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นนักบริหารจัดการมืออาชีพที่มีความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์ ประยุกต์ และบูรณาการองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนเป็นนักบริหารที่มีคุณภาพและคุณธรรม ในการบริหารจัดการภารกิจสาธารณะ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ และเป็นองค์กรการศึกษาที่มีคุณภาพ และการบริการวิชาการให้กับสังคมได้อย่างเต็มที่

สัญลักษณ์

  • สัญลักษณ์

สัญลักษณ์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ "สิงห์มอดินแดง" โดย "สิงห์" หมายถึง สัญลักษณ์แห่งการเป็นนักปกครอง และ "มอดินแดง" หมายถึง พื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอ เป็นภาษาอีสาน แปลว่า พื้นที่เนินสูง) ประกอบกับสีของดินในพื้นที่เป็นสี "ดินแดง" ซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น คำว่า "มอดินแดง" นั้นจึงเป็นชื่อเฉพาะที่กล่าวถึงความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น

"สิงห์มอดินแดง" เป็นชื่อเรียกที่แตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติในวงการวิชารัฐศาสตร์ไทย เพราะใช้ลักษณะพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเป็นหลักมากกว่าสีประจำสิงห์ อันเนื่องมาจากการใช้สีนั้นไม่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์และความหลากหลายของประชาคมได้อย่างเพียงพอ ขาดมิติความเป็นอัตลักษณ์และความผูกพันในพื้นที่มหาวิทยาลัย จึงได้ใช้คำว่า "มอดินแดง" เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งบ่งบอกความเป็นภาคอีสาน มีความรู้สึกเป็นพวกพ้องเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีความหลากหลายจากนักศึกษาที่ต่างถิ่นฐานมาอยู่ร่วมกันในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ รวมไปถึงความมุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตและสร้างประชาคมที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานให้พัฒนามากยิ่งขึ้นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และบำรุงรักษาวัฒนธรรมอันโดดเด่น

“สิงห์” เป็นตราประจำกระทรวงมหาดไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดให้ชำระสะสางระเบียบราชการซึ่งเคยมีอยู่มากมาย แต่กระจัดกระจายหายไปบางส่วนครั้งเสียกรุงแก่พม่า ครั้นชำระแล้วให้ประทับตราพระราชสีห์ (สิงห์) พระคชสีห์ บัวแก้ว ไว้ทุกเล่มเป็นสำคัญเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายตรา 3 ดวง” และ“สิงห์” ได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของบุคลากรสายงานด้านปกครองที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานของประเทศ ทำให้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ควบคู่กับสายงานด้านการปกครองป้องกันของประเทศไทย รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับสายงานด้านการปกครองไม่ว่าจะอยู่ในระดับคณะ ภาควิชา หรือสาขาวิชาทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ นำโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ในปี พ.ศ. 2491 (สิงห์ดำ) ติดตามด้วยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง) ในปีถัดมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2508 ก็ได้มีการจัดตั้งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (คณะรัฐศาสตร์ฯ ในปัจจุบัน) (สิงห์ขาว)

ในปี พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีการให้ความสำคัญในวิชาทางด้านรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นผู้เริ่มพัฒนาการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ โดยจัดตั้งวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (สิงห์น้ำตาล) และภายในปี พ.ศ. 2548 จึงเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (สิงห์มอดินแดง) และมีการจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สิงห์แสด) ขึ้น[8]

  • คำขวัญ

รฏฺฐกิจฺจํ วิชฺชาปญฺญาจริยาย สมิชฺฌติ (กิจแห่งรัฐสำเร็จได้ด้วย วิชา ปัญญา จริยา)

  • สีประจำสาขาวิชา

  สีเทา หมายถึง การเป็นนักรัฐศาสตร์ต้องยอมรับในความหลากหลายของสังคม และเป็นผู้บูรณาการองค์ความรู้เพื่อสังคม

  • หลักสูตร
หลักสูตรที่เปิดสอนในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
หน่วยงาน ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.)

  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.)

  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

หลักสูตรปรัชญดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

คณบดี

ทำเนียบคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.เทอด เจริญวัฒนา 10 ตุลาคม พ.ศ. 2521 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2522
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรินทร์ เปาโรหิตย์

1 เมษายน พ.ศ. 2522 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2522
29 ตุลาคม พ.ศ. 2529 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 (รักษาการ)
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 - 30 กันยายน พ.ศ. 2537

3. รองศาสตราจารย์ จินดา โพธิ์เมือง 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2526
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพิน เตชะมณี

1 เมษายน พ.ศ. 2526 - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2529
2 ตุลาคม พ.ศ. 2529 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2529 (รักษาการ)
1 ตุลาคม พ.ศ. 2537 - 30 กันยายน พ.ศ. 2541
1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 - 30 กันยายน พ.ศ. 2544

5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีปัญญา ใจใหญ่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - 30 กันยายน พ.ศ. 2547
6. รองศาสตราจารย์ พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 - 30 กันยายน พ.ศ. 2549
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวลักษณ์ อภิชาติวัลลภ

1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 30 กันยายน พ.ศ. 2553
1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - 30 กันยายน พ.ศ. 2555

8. รองศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา ท้วมสุข 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 - 30 กันยายน พ.ศ. 2559
1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563
9. รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี และผู้รักษาการแทนคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

บุคคลที่มีชื่อเสียง

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 95, ตอนที่ 72 ก, 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2521, หน้า 433
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 83, ตอนที่ 26 ก, 22 มีนาคม พ.ศ. 2509, หน้า 242
  3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 135
  4. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 135
  5. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 136
  6. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 136
  7. ระบบฐานข้อมูลหลักสูตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  8. สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทำไมต้องสิงห์. 25 กรกฎาคม 2565"
Kembali kehalaman sebelumnya