ทางรถไฟสายปากน้ำ
ทางรถไฟสายปากน้ำ ต่อมาเรียก รถไฟสายกรุงเทพ–สมุทรปราการ เป็นทางรถไฟเอกชนที่เดินรถระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร กับสถานีรถไฟปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ[2] เป็นระยะทาง 21.3 กิโลเมตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 ถึง พ.ศ. 2503 เป็นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย[3] ที่ก่อตั้งขึ้นก่อนการเดินรถของรถไฟหลวงสายกรุงเทพ-อยุธยาถึงสามปี[4] แต่เดิมทางรถไฟสายดังกล่าวเป็นสัมปทานของบริษัทรถไฟปากน้ำทุนจำกัด[1] โดยมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้าง และได้เสด็จไปในพิธีเปิดด้วย แต่เดิมทางรถไฟสายปากน้ำมีทั้งหมด 10 สถานี ต่อมาจึงเพิ่มเติมเป็น 12 สถานี หลังสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟดังกล่าวตกอยู่ในการบริหารกิจการของกรมรถไฟต่อ ครั้นในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยได้มีการสร้างถนนแทน ปัจจุบัน คือ ถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ ประวัติทางรถไฟสายปากน้ำดำเนินการโดย กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำทุนจำกัด[1] บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก[3] และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429 เป็นเวลา 50 ปี สิ้นสุด พ.ศ. 2479 เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2434 [5] มีวิศวกรเดินรถชื่อ ที.เอ. ก็อตเช่ (Captain T.A. Gottsche) ชาวเดนมาร์ก ต่อมาได้รับราชทินนามเป็น ขุนบริพัตรโภคกิจ ต้นสกุล คเชศะนันทน์ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434[4] เมื่อทางรถไฟสายปากน้ำแล้วเสร็จเปิดเดินขบวนรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436[3] (ร.ศ. 112) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์[6] ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า[7]
25 ธันวาคม พ.ศ. 2453 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอำนาจพิเศษแก่บริษัทรถไฟสายปากน้ำทุนจำกัด[8][9] หลังสิ้นสุดสัมปทาน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ซื้อเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวมาดำเนินกิจการระยะหนึ่ง[10] และท้ายที่สุดได้มีการยกเลิกทางรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีคำสั่งให้รื้อทางรถไฟและถมคลองสร้างเป็นถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่า[4] การเดินรถสถานีต้นทางรถไฟ คือ สถานีหัวลำโพง ตั้งอยู่ริมคลองหัวลำโพง [11] ปัจจุบันคือบริเวณถนนพระราม 4 ตรงข้ามกับสถานีรถไฟกรุงเทพในปัจจุบัน สถานีปลายทางคือ สถานีปากน้ำ ปัจจุบันเป็นถนนหน้าทางเข้าท่าเรือข้ามฟากไปฝั่งพระสมุทรเจดีย์[11] ระหว่าง พ.ศ. 2436 ถึง พ.ศ. 2459 มีสถานีรายทางทั้งสิ้น 10 สถานี และเพิ่มเป็น 12 สถานีจนสิ้นสุดการเดินรถ ค่าโดยสารไปกลับราคา 1 บาท ส่วนรายสถานีคิดค่าโดยสารระยะสถานี สถานีละ 1 เฟื้อง มีขนาดราง 1.00 เมตร ขบวนรถโดยสารหนึ่งขบวนจะประกอบไปด้วยตู้โดยสารสี่ตู้ และโบกี้ห้ามล้ออีกหนึ่งโบกี้ มีระดับชั้นที่นั่งสองระดับคือชั้นสองและชั้นสามเท่านั้น ทั้งนี้ตลอดหนึ่งชั่วโมงของการเดินทางจะต้องผ่านสะพานข้ามคูคลองจำนวนมากซึ่งสะพานส่วนใหญ่ทำจากไม้ มีเพียงบางส่วนที่เป็นไม้กับเหล็ก[10] การเดินรถในระยะแรก ใช้หัวรถจักรไอน้ำ ผลิตโดยบริษัท Krauss & Co of Munich[10] จากเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี[11] จนกระทั่ง พ.ศ. 2468 จึงได้เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถรางในกรุงเทพฯ[4] อย่างไรก็ตามกิจการทางรถไฟสายปากน้ำต้องประสบกับการขาดทุนด้านทางราชการจึงให้เงินกู้ยืม ถือเป็นครั้งแรกที่ให้บริษัทต่างชาติกู้ยืมเงิน ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาทางรถไฟสายแรกของไทยให้ดำเนินกิจการต่อไปได้[4] ในปี พ.ศ. 2492-3 ทางรถไฟสายปากน้ำได้มีการใช้รถไฟฟ้าจากบริษัทนิปปอนชาเรียวของญี่ปุ่นแทนการใช้รถจักรไอน้ำด้วยมีประสิทธิภาพกว่าประกอบกับกำลังได้รับความนิยม[10] โดยได้เปิดการเดินรถพร้อมกับรถไฟฟ้าของโตเกียว[12] ลุมาจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รถรางสายปากน้ำได้รับความเสียหายเนื่องจากสายเคเบิลไฟฟ้าถูกตัดขาดที่บริเวณบางจาก แต่ก็ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ตามปกติ โดยพนักงานรถรางจะต้องปีนขึ้นไปบนหลังคารถแล้วบังคับแหนบรับไฟให้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้โดยตลอด ในขณะที่รถผ่านบริเวณจุดที่เกิดความเสียหายเพื่อให้รถรางสามารถวิ่งต่อได้จนถึงปลายทาง[10] เหตุการณ์สำคัญช่วงเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อคราที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบสองลำฝ่าการป้องกันของป้อมพระจุลจอมเกล้าเข้ามาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 รถไฟขบวนสุดท้ายในคืนนั้นถูกลูกหลงจากการโจมตีไม่ทราบฝ่ายเป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย และมีหญิงชราหัวใจวายตายไปอีกหนึ่งคน[4] พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการป้องกันปากแม่น้ำจึงขึ้นรถไฟสายนี้ตามเรือรบฝรั่งเศสเข้ามา หวังจะเอาเรือพระที่นั่งมหาจักรีพุ่งชน แต่ทางการไทยเกรงว่าจะเกิดปัญหากับฝรั่งเศสอีกจึงใช้วิธีเจรจาแทน[4] รายชื่อสถานีทางรถไฟสายปากน้ำ มีความยาวตลอดทั้งสาย 21.3 กิโลเมตร แต่เดิมมีสถานีทั้งหมด 10 สถานี และต่อมาได้มีการเพิ่มเติมขึ้นเป็น 12 สถานี โดยรายชื่อจะสะกดด้วยอักขรวิธีเก่าปรากฏดังต่อไปนี้[13]
เส้นทางอ้างอิง
|