Share to:

 

ประเทศสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
กองทหารอาสาสยามเข้าร่วมการเดินขบวนฉลองชัยโดยธงชัยกองทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่กรุงปารีส ค.ศ. 1919

ราชอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยส่งกำลังพลไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลางที่แนวรบด้านตะวันตกในประเทศฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงแม้จะไม่มีผลกระทบต่อภายในสยามมากนัก แต่การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จของสยามที่ทำให้นานาประเทศในยุโรปยอมรับสยามมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการเสียดินแดนให้กับประเทศยุโรปในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสียดินแดน, ลัทธิชาตินิยม และแสนยนิยมของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นก็เป็นปัจจัยหลักผลักดันทำให้สยามเข้าร่วมสงคราม

สยามเริ่มมีบทบาทในสงครามหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สยามประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี สยามส่งกองกำลังทหารไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่แนวหน้าตะวันตกโดยทั้งหมดประจำการอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส กองทัพสยามที่ถูกส่งไปมีจำนวนทหารประจำการอยู่ทั้งหมด 1,248 นาย สยามเข้าร่วมสงครามในวันที่ 22 กรกฎาคม 1917 และส่งทหารไปร่วมรบในกลางเดือนกันยายนของปีเดียวกัน กองทัพสยามที่ถูกส่งไปได้ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พวกเขามีความสามารถในด้านการซุ่มโจมตีเนื่องจากมีกำลังพลที่ค่อนข้างน้อยแต่ก็เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงตามความเห็นของทหารสัมพันธมิตรชาติอื่น ๆ [1] หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรและเยอรมนีลงนามสงบศึกกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 กองทัพสยามก็เข้าร่วมการยึดครองไรน์ลันท์ สยามทำการเข้ายึดครองเมืองนอยสตัท อัน เดอ ไวน์สตาเซอ (Neustadt an der Weinstraße)

ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งฝ่ายเยอรมันและฝ่ายสัมพันธมิตร ธุรกิจของเยอรมันในสยามเฟื่องฟูทำปริมาณต่อปีได้ 22 ล้านมาร์คทองในช่วงก่อนสงคราม นอกจากนี้ยังมีชาวเยอรมันรับราชการในรัฐบาลสยาม แต่ในขณะเดียวกันพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงโปรดฝ่ายไตรภาคี[2] อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดความเห็นต่างกันในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ สยามดำรงนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดมาตลอด 3 ปีของสงคราม ก่อนจะเริ่มโอนเอนเมื่อทราบรายงานว่าฝ่ายเยอรมันมีส่วนในการปลุกปั่นชาวอินเดียในสยามให้กระด้างกระเดื่องต่อจักรวรรดิบริติช บวกกับการดำเนินการสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตของฝ่ายเยอรมันที่โจมตีเรือโดยไม่ประกาศล่วงหน้า ส่งผลให้เรือ อาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย อับปาง เป็นสาเหตุให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงคราม รวมถึงความประสงค์ของสยามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่ทำไว้กับชาติอื่น[3] วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง สั่งจับกุมพลเมืองชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีในประเทศ และยึดทรัพย์สินและเรือที่เทียบท่า[4] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1917 มีการจัดตั้งกองทหารอาสาสยามที่ประกอบด้วยหน่วยขนส่งยานยนต์ บุคลากรทางการแพทย์ และกองบิน จำนวน 1,284 นาย[5] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1918 กองทหารอาสาสยามเดินทางถึงเมืองท่ามาร์แซย์ โดยกองบินถูกส่งไปฝึกที่เมืองอิสตร์ ส่วนหน่วยขนส่งยานยนต์ถูกส่งไปฝึกที่เมืองลียง[6] หน่วยขนส่งยานยนต์มีส่วนในการส่งกำลังพล ยุทธภัณฑ์และเสบียงในการรุกเมิซ–อาร์กงทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และภายหลังได้รับเหรียญครัวซ์เดอแกร์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีจากความชอบนี้[7] ขณะที่กองบินยังอยู่ในช่วงฝึกซ้อมเมื่อมีการลงนามสงบศึกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918

หลังสงคราม สยามเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 และเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสันนิบาตชาติ มีโอกาสแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ด้านกองทหารอาสาสยามเสียกำลังพล 19 นาย ซึ่งอัฐิถูกบรรจุที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดให้สร้างวงเวียน 22 กรกฎาคม เพื่อระลึกถึงการเข้าร่วมสงคราม[8]

ภูมิหลัง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ในชุดนายพลทหารอังกฤษแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ค.ศ. 1917)

ในช่วงต้นศตวรรษ 20 จักรวรรดิอังกฤษ, ฝรั่งเศส และ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้มีอิทธิพลเหนือทวีปเอเชีย อาณานิคมเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศยุโรปเหล่านั้น เพราะถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่ทำให้การค้าขายของพวกเขาดำเนินไปได้ด้วยดีและมั่นคง อาณานิคมในเอเชียก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งเนื่องจากเป็นแหล่งที่ทำให้ประเทศแม่อย่างเช่นอังกฤษ สามารถมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้ ลัทธิจักรวรรดินิยมเป็นอีกประเด็นที่ทำให้สยามในสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสียดินแดนลาวและกัมพูชาให้กับประเทศยุโรป การที่สยามไม่ถูกยึดครองเป็นอาณานิคมเลยแต่รอบด้านของประเทศกลับกลายเป็นอาณานิคมจนหมด ก็ย่อมทำให้สยามกลายเป็นรัฐที่ต้องการลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของชาติยุโรปแล้วก็ทำการบูรณะประเทศชาติให้มีการพัฒนามากขึ้นเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น เศรษฐกิจของสยามในตอนนั้นยังคงพึ่งพาได้เพียงแค่การส่งออกข้าวและพืชพันธุ์ เนื่องจากการอุตสหกรรมยังไม่ได้ก้าวหน้ามากนัก[9][10] เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับบรมราชาภิเษก พระองค์ก็ทรงปกครองสยามตามแบบอังกฤษ เนื่องจากช่วงที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นพระองค์ได้ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารที่นั้นและเข้ารับราชการทหารในกรมทหารราบอังกฤษ วัฒนธรรม, ประเพณี และ สังคมที่ประเทศอังกฤษหล่อหลอมให้พระองค์ทรงมีความมั่นใจและยืนหยัดที่จะใช้การปกครองในแบบอังกฤษ[9]

บุคคลที่สนับสนุนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส

สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทบาทสำคัญที่นำพาสยามเข้าสู่สงคราม ช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเสด็จไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นก็ทรงเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศรัสเซียจากการเชิญชวนของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ที่เป็นพระสหายคนสำคัญของพระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร ณ กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ใน ค.ศ. 1902 และทรงได้รับเข้าประจำการในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย เช่นเดียวกันกับพระเชษฐาของพระองค์ พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลของจักรวรรดิบริติชและรัสเซีย ก็เลยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวพระองค์ทรงมีความเห็นที่จะเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีทหารบกในช่วงสงครามและทรงช่วยเหลือกองทัพสยามในฝรั่งเศสในด้านต่าง ๆ ทั้งยังทรงก่อตั้งกองกำลังอากาศขึ้นมาโดยเป็นกองย่อยของกองทัพบก ทำให้สยามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางทหารในทวีปเอเชีย[9]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระปิตุลาของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1885 พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ดำเนินการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมมาตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีนโยบายที่เข้มงวดต่อชาวต่างชาติ และ ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ พระองค์ทรงเป็นพระสหายคนสำคัญของ เซอร์ เดริ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงดำริว่าอังกฤษมีอิทธิพลเหนือแผ่นดินสยามมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป[11]

บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงคราม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ และ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม ทั้งสามพระองค์เป็นพระอนุชาของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสำเร็จการศึกษาที่จักรววรดิเยอรมันและได้รับการฝึกฝนในแบบทหารเยอรมัน พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ทรงเสกสมรสกับหม่อมเอลิซาเบท รังสิต ณ อยุธยา สตรีชาวเยอรมัน เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ทรงมีตำแหน่งเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพปรัสเซีย การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจักรวรรดิเยอรมันไม่ได้หยุดถึงแม้สยามจะเป็นคู่สงครามกับเยอรมันก็ตาม เนื่องจากพระอนุชาทั้งสามพระองค์ยึดมั่นและมีแรงบันดาลใจในการปกครองบ้านเมืองมาจากจักรวรรดิเยอรมัน ทั้งสามพระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่ไม่เห็นด้วยกับพระเชษฐา[12]

ความสัมพันธ์กับประเทศยุโรป

ปีแยร์ เลอแฟร์-เวปองเตลิสในจังหวัดพระนคร (ค.ศ. 1893)

การขยายอิทธิพลของประเทศยุโรปเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันทำให้สยามต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลกในคริสต์ศตวรรษ 20 นี่ก็หมายความว่าแรงผลักดันที่จะทำให้สยามเข้าร่วมสงครามส่วนหนึ่งก็มาจากความสัมพันธ์ระหว่างสยามและประเทศคู่สงครามในยุโรป ด้านล่างคือรายละเอียดบุคคลจากชาติในสงครามที่พำนักอยู่ในสยาม

  • เซอร์ เฮอร์เบิร์ต เดริ่ง (Sir Herbert Dering) อัครราชทูตจากประเทศอังกฤษที่ได้รับมอบหมายมาประจำอยู่ที่สยามตั้งแต่ ค.ศ. 1915 จนถึง 1919 เดริ่งได้สร้างอิทธิพลที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของสยาม เขาเป็นบุคคลชาวต่างชาติที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อองค์พระมหากษัตริย์มากที่สุด
  • ปีแยร์ เลอแฟร์-เวปองเตลิส (Pierre Lefèvre-Pontalis) ผู้ปกครองอินโดจีนของฝรั่งเศส ได้รับหน้าที่เป็นอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามในปี 1912 ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยามได้ตกต่ำลงหลังจากการเสียดินแดนของสยาม ฝรั่งเศสก็ยังเป็นชาติยุโรปอีกชาติหนึ่งที่ยังคงมีอิทธิพลต่อราชวงศ์จักรีและสยามประเทศ ปีแยร์เป็นพระสหายคนสำคัญของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เพราะว่าทั้งสองมีประวัติสำเร็จการศึกษาที่จักรวรรดิรัสเซีย

ถึงแม้ว่าสยามจะได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสและอังกฤษมามากก็ตาม แต่ด้านการค้าจักรวรรดิเยอรมันก็ถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสยาม เยอรมันไม่ได้มีอิทธิพลในทวีปเอเชียมากนักถ้าเทียบกับฝรั่งเศสและอังกฤษที่มีอิทธิพลจากการขยายอาณานิคมเกือบทุกภูมิภาคของเอเชีย เยอรมันเองก็ต้องการที่จะขยายอิทธิพลมาทางเอเชียตะวันออกบ้างหลังจากที่ได้เห็นการขยายอิทธิพลอำนาจของฝรั่งเศสและอังกฤษ สยามที่ได้เซ็นต์สัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับฝรั่งเศสและอังกฤษก็กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเยอรมัน เยอรมันมองว่าสยามเป็นอีกประเทศ ๆ หนึ่งที่พวกเขาสามารถเข้ามาค้าขายด้วยได้โดยไม่มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งใด ๆ ต่อฝรั่งเศสและอังกฤษ นักลงทุนเยอรมันหันมาสนใจสยามและทำการลงทุน มูลค่ากาารค้าขายและการลงทุนระหว่างสยามและเยอรมันมีมากถึง 22 ล้านไรชส์มาร์ค ($5.2 ล้าน) ต่อปี โดยเงินส่วนมากมาจากโรงแรม, ร้านตัดผม, ร้านอาหาร, ร้านขายยา และ บริษัทประกัน ที่นักลงทุนชาวเยอรมันเข้ามาลงทุนในสยาม ชาวเยอรมันเข้ามาพำนักในสยามมากขึ้นเรื่อย ๆ และ จังหวัดพระนครก็กลายเป็นท่าเรือสำคัญท่าเรือหนึ่งของเยอรมัน นอกจากนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำเข้ามาในประเทศ อย่างเช่นรางรถไฟ และ เครื่องโทรเลข ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีของเยอรมัน[9]

การวางตัวเป็นกลาง

สยามได้ผลกระทบปานกลางจากสงครามที่กำลังปะทุ และ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การค้าขายจากประเทศยุโรปหยุดชะงักการค้าขายทันทีในช่วงเดือนแรกของสงคราม ทำให้เกิดผลเสียขึ้นมากมาย โดยเฉพาะราคาของนำเข้าที่พุ่งขึ้นสูงกว่าราคาปกติถึง 30-40% การสร้างรางรถไฟหยุดชะงักลง เนื่องจากการนำเข้าปูนซีเมนต์ และ เหล็ก ได้หยุดลง[13] ชาวอังกฤษ, ฝรั่งเศส และ เยอรมัน ที่อยู่ในสยามก็ถูกเรียกตัวกลับไปประเทศของตนเพื่อให้ไปเกณฑ์ทหาร แต่ชาวเยอรมันส่วนมากก็ทำการหลบหนี เพราะว่าพวกเขาถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นเรือโดยสารเดียวกันกับชาวยุโรปอื่น ๆ จากข่าวคราวที่รายงานเกี่ยวกับสงครามในแต่ละวันก็กลายเป็นตัวบีบบังคับให้สยามจำเป็นต้องเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เดริ่ง อัครราชทูตอังกฤษในสยามก็ทำการโน้มน้าวใจพระมงกุฎเกล้าให้เข้าร่วมสงคราม มีการโฆษณาจากฝ่ายสัมพันธมิตรเกิดขึ้นในสยาม ด้วยการช่วยเหลือของเดริ่งที่ทำงานให้กับอังกฤษเลยมีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่เนื้อหาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตร หนังสือพิมพ์เหล่านั้นถูกตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย ออตโต เชฟาร์ (Otto Schaefer) นักลงทุนชาวเยอรมัน ที่หลบหนีมาจากอินโดจีนของฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม ได้ทำการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเอียงข้างหาฝ่ายมหาอำนาจกลางในชื่อ Umschau หรือ ในภาษาไทยที่เรียกกันว่า ข่าวเยอรมัน เชฟาร์หวังว่าการกระทำของเขาจะเป็นการโน้มน้าวให้สยามเข้าร่วมฝ่ายมหาอำนาจกลาง อัครราชทูตอังกฤษเมื่อเห็นดังนั้นจึงประท้วงทางการสยามที่ให้มีการตีพิมพ์สื่อที่เอียงข้างไปหาเยอรมันออกมา พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงกล่าวกับอัครราชทูตอังกฤษว่าการสั่งให้ ข่าวเยอรมัน หยุดตีพิมพ์นั้นจะทำให้ต่างชาติมองว่าสยามไม่ได้เป็นกลาง และ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ทางการอังกฤษก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันในสยาม เพราะพวกเขารู้ว่าทางการสยามก็เอียงข้างเข้าหาฝ่ายสัมพันธมิตร เห็นได้จากสำนักพิมพ์ทั่วทั้งจังหวัดพระนคร ที่มักจะเขียนข่าวเอียงข้างไปหาฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เสมอ[14]

ภายในสยามก็ได้มีการสร้างความเอกภาพขึ้นมาให้เกิดในสังคมของทุก ๆ ชนชั้น พระมงกุฎเกล้าทรงมองเห็นว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นตัวผลักดันความชาตินิยมในหมู่ผู้คนให้เพิ่มมากขึ้น "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" พระราชดำรัสของพระองค์ ที่เคยตรัสไว้ใน ค.ศ. 1911 ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยบทบาทของพระราชดำรัสคือ ชูจุดยืนของประเทศสยาม, ความเป็นผู้นำขององค์พระมหากษัตริย์, ให้ปวงชนยึดมั่นในความเอกภาพของประเทศสยาม, เพิ่มความสนใจต่อการปกป้องประเทศ และ ชูความแสนยนิยมของสยาม[15] ความเป็นกลางของสยามค่อย ๆ ลดลงในปี 1915 เมื่อทางการสยามได้สั่งการให้กองทัพเรือซื้อเรือพิฆาตเพิ่มจากอังกฤษ[9]

กองทัพสยาม

เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถประทับบนเครื่องบินในปี 1911

เมื่อสงครามประทุขึ้นในเดือนสิงหาคม 1914 กองทัพสยามมีทหารประจำอยู่ทั้งหมด 30,000 นาย กระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านทางการทหารอย่างกระทรวงกลาโหมถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1892 รัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยเดียวกันนั้น ได้มีการยกเลิกทาส แต่ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลสยามก็ต้องการคนเพิ่มในกองทัพจึงได้มีการเกณฑ์ทหาร ชายชาวสยามจะต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพ 2 ปี และ เป็นกำลังพลสำรอง 15 ปี ส่วนในด้านผู้นำของกองทัพ กษัตริย์เป็นผู้บัญชาการสูงสุดที่ได้รับการแนะนำจากเสนาบดีของกระทรวงกลาโหม สงครามนั้นทำให้กระทรวลกลาโหมได้งบประมาณมากที่สุด เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเป็นผู้บัญชาการของกรมเสนาธิการทหารบก พระองค์ทรงทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม และ ทรงมีหน้าที่ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสยามกับกองทัพต่างชาติ กองทัพบกของสยามในช่วงของพระองค์ได้พัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากพระองค์ได้ทำการบูรณะกองทัพสยามให้เหมือนกับกองทัพชาติตะวันตก[16][17]

ใน ค.ศ. 1911 กองทัพบกได้ถูกแบ่งเป็น 3 กองทัพน้อย โดยแต่ละกองทัพน้อยประกอบไปด้วย 3 กองพล และ 1 กองพลอิสระ กองทัพบกในช่วงประทุของสงครามไม่ได้มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากนัก กองทัพใช้ปืนใหญ่สนามที่ล้าสมัยของจักรวรรดิเยอรมัน ไม่มีพาหนะเคลื่อนที่เป็นหลักเป็นเป็นแหล่ง แต่จะจ้างเกวียนของพลเรือนแทน ในบางครั้งที่ฝนตกพื้นแฉะ จะมีการขี่หลังควายเพื่อการเคลื่อนพล หลังจากที่สยามประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางแล้ว ก็เห็นได้ว่าในปี 1918 กองทัพสยามที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้ใช้รถบรรทุกในการเคลื่อนพล และ ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ ส่วนในด้านของกองทัพเรือก็ล้าสมัยไม่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะมีการบูรณะ และ สรรหาจัดซื้อเรือรบเข้ามา การป้องกันตามชายฝั่งของประเทศไม่ได้แข็งแรงมากนัก ในด้านของกองทัพอากาศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ผู้ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมทรงมีพระประสงค์ที่จะนำอากาศยานมาเป็นกำลังสนับสนุนของกองทัพบกหลังจากที่พระองค์ได้ศึกษาดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส ได้มีการสร้างสนามบินดอนเมืองขึ้นมาในปี 1914 ใช้เป็นสนามบินการทหาร ในปี 1916 กองอากาศยานสยามประกอบไปด้วยนักบิน 5 คน, นักบินระหว่างการฝึก 6 คน และ อีกประมาณ 60 คน เป็นผู้ช่วยภาคพื้นดิน และ ช่างซ่อม มีการฝึกตามแบบมาตราฐานของนักบินฝรั่งเศส เครื่องยนต์นำเข้าจากฝรั่งเศสแต่เครื่องบินสร้างขึ้นภายในสยาม[18][19]

ความขัดแย้งระหว่างกองเสือป่ากับกองทัพสยาม

จากการที่พระมงกุฏเกล้าได้ทรงสถาปนากองกำลังกึ่งทหารที่มีชื่อว่ากองเสือป่าขึ้นในปี 1911 ก็ทำให้มีความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับฝ่ายพระมหากษัตริย์ กล่าวก็คือนายทหารส่วนมากของกองทัพคิดว่าพระมงกุฏเกล้าจะใช้อำนาจที่มีต่อกองเสือป่าในการลดอิทธิพลของกองทัพ และ ทำให้กองทัพหมดอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง นายทหารบางกลุ่มที่ไม่พอใจในการกระทำของพระมงกุฏเกล้าได้รวบรวมกลุ่มปัญญาชนกลุ่มหนึ่งให้เข้ามาร่วมการกบฏด้วย ซึ่งพวกเขามีจุดประสงค์ก็คือการปฏิวัติรัฐบาลของพระมงกุฏเกล้า และ ทำการบีบบังคับให้พระมงกุฏเกล้ามอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการปฏิวัติครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ กบฏ ร.ศ. 130 แต่แผนการแตกเสียก่อน และ ผู้ก่อการถูกจับกุมตัว ในภายหลังนั้นพระมงกุฏเกล้าทรงพยายามที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ และ กองเสือป่าดีขึ้น ด้วยการกระจายอำนาจให้ทั้งสองเท่า ๆ กัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือกองทัพคงเป็นกองกำลังหลักของสยามเช่นเดิม แต่ในทางกลับกันนั้นกองเสือป่าถูกลดอิทธิพลลงอย่างสิ้นเชิง[20]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Hart, Keith (1982): "A NOTE ON THE MILITARY PARTICIPATION OF SIAM IN WWI" เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. Stefan Hell (2017). Siam and World War I: An International History. River Books. ISBN 978-616-7339-92-4.
  3. Heather Streets-Salter (13 April 2017). World War One in Southeast Asia: Colonialism and Anticolonialism in an Era of Global Conflict. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-13519-2.
  4. Stefan Hell (26 June 2019). "Siam on the world stage". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 26 June 2020.
  5. Keith Hart (1982). "A Note on the Military Participation of Siam in WWI" (PDF). Journal of the Siam Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
  6. Duncan Stearn (22 August 2009). "Thailand and the First World War". First World War.com. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
  7. เผด็จ ขำเลิศสกุล (22 กรกฎาคม 2560). "ครบรอบ 100 ปี สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1: ย้อนรอยการเลือกข้างเพื่อความอยู่รอด". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ทวี แจ่มจำรัส (24 พฤศจิกายน 2560). "100 ปีสยาม กับผลประโยชน์ของชาติ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยวีรกรรมของทหารไทย". มติชน. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Hell, Stephen: SIAM IN WORLD WAR 1, River Books, 2017, ISBN 978-6167339924
  10. Brown, Ian: The Élite and the Economy in Siam, East Asian Historical Monographs, 1988, ISBN 978-0195888775
  11. Dering to Balfour, 25 June 1918, NA UK, FO 371/3364, 154726
  12. Soontravanich, Chalong: Siam and the First World War: The Last Phase of Her Neutrality, 1973
  13. Straits Times, 12 August 1914
  14. Siam and the War, 5 May 1917, AMAE, CPCOM Siam, vol. 13, Vella, page 102
  15. Thep Boontanondha, 'Prabath Somdej Phra Mongkut Klao Chao Yu Hua Kab Kan Sang Pab Lak Thang Kan Thahan', M.A. thesis (History), Chulalongkorn University, 2013
  16. Major Collardet: The Siamese Army (Confidential Memoranda), NA UK, 31 January 1914, FO 371/2101
  17. Peel to Grey, 16 February 1914, NA UK, FO 371/2102, F 13674
  18. Remy to Bethmann-Hollweg, 20 June 1916, PA AA, R 19254
  19. Edward M. Young: A History of Aviation in Thailand, Smithsonian Institution Press, 1995, page 24 and 29
  20. von der Goltz to Bethmann-Hollweg, 12 March 1912 and 9 March 1912, PA AA, R 19253
Kembali kehalaman sebelumnya