Share to:

 

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองซึ่งต่อต้าน และสนับสนุน ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ[1][2][3] เสถียรภาพทางการเมืองในไทย[4] ทั้งยังสะท้อนภาพความไม่เสมอภาคและความแตกแยกระหว่างชาวเมืองและชาวชนบท[5] การละเมิดพระราชอำนาจ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[6] และผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้บั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548

การชุมนุมต่อต้านและสนับสนุนทักษิณ

การชุมนุมเพื่อขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ 1 โดยมีการรวมตัวของกลุ่มคนในนามกลุ่มประชาชนเพื่อชาติและราชบัลลังก์ ตามด้วยการชุมนุมปราศรัยทางการเมือง ก่อนที่จะแพร่หลายขึ้นใน พ.ศ. 2548 แรงกดดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังกรณีการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป การประท้วงต่อต้านส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูงและพวกนิยมเจ้า ร่วมกับกลุ่มสันติอโศก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว และพนักงานของรัฐวิสาหกิจซึ่งต่อต้านการแปรรูป รวมทั้งสถาบันการศึกษา และปัญญาชน

การประกาศตัวครั้งแรกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์[7] การชุมนุมหลายครั้งถัดมาได้ปรากฏลักษณะของความรุนแรงเพิ่มขึ้น ถึงกับรังควานนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์[8] รวมทั้งกีดขวางการจรจารและการจัดงานกาชาดประจำปี[9]

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 3 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มาชุมนุมที่ท้องสนามหลวงโดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมหาศาล ซึ่งในสื่อไทยระบุไว้ถึง 200,000 คน[10] นับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา กลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางมาจากภาคเหนือและภาคอีสานเพื่อมาชุมนุมกันที่สวนจตุจักร[11]

หนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งใหม่ กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินขบวนไปตามย่านการค้า สถานที่ประกอบธุรกิจและอาคารสำนักงานหลายแห่งจนต้องปิดทำการ ซึ่งคาดกันว่าสร้างความเสียหายถึง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ[12] และในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ได้ก่อให้เกิดการจราจรติดขัดอย่างหนักในกรุงเทพมหานครและรบกวนการขนส่งของรถไฟฟ้า BTS อีกส่วนหนึ่ง พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และทำให้สัดส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับการชุมนุมลดลงกว่าครึ่ง[13]

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความต้องการให้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แทรกแซงการเมือง โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เพื่อยุติความขัดแย้ง เช่นเดียวกับ พธม. สภาทนายความ และสภาสื่อแห่งประเทศไทย[14][15] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ตรัสตอบแนวคิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน ว่าการกระทำเช่นนั้น "ไม่เป็นประชาธิปไตย" "เป็นความยุ่งเหยิง" และ "ไม่มีเหตุผล"[16]

เหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 และสถานการณ์การเมืองสมัยรัฐบาลทหาร

คืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินได้รัฐประหารยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลทักษิณ โดยได้แถลงเหตุผลของรัฐประหารไว้ใน "สมุดปกขาว"[17] สองวันถัดมา พธม. ประกาศยุติการชุมนุมและประกาศว่าภารกิจสำเร็จแล้ว[18] ภายหลังการก่อรัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางไปยังกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

คณะรัฐประหารยังได้มีการจับกุมนักการเมืองรัฐบาลทักษิณหลายคน คือ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์, นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งถูกคุมขัง ณ กองบัญชาการทหารบก[19] นอกจากนี้ ยังได้มีคำสั่งเรียกตัวนายยงยุทธ ติยะไพรัชและนายเนวิน ชิดชอบ[20] ซึ่งทั้งสองได้เข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 21 กันยายน[21][22] และถูกควบคุมตัวไว้ ก่อนที่ทั้งหมด ยกเว้นสมชาย จะได้รับการปล่อยตัวภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว[23] เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549

หลังจากนั้น คณะรัฐประหารเริ่มการสอบสวนข้าราชการซึ่งถูกแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลทักษิณ และในการแต่งตั้งนายทหารประจำปี พ.ศ. 2550 นายทหารซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของระบอบใหม่ก็ถูกแต่งตั้งแทนที่นายทหารซึ่งภักดีต่อรัฐบาลเก่า[24][25] และเมื่อวันที่ 20 กันยายน คณะรัฐประหารได้ประกาศว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่าจะต้องถูกยกเลิกทั้งหมด[26] อย่างไรก็ตาม สถานะของจารุวรรณ เมณฑกายังคงไม่เปลี่ยนแปลง[27] และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจเงินแผ่นดินเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาความไม่ชอบมาพากล[28] รวมทั้งมีตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบรัฐบาลเก่า คือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ[29]

ในระหว่างนี้ ยังได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใช้ปกครองประเทศต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จนเสร็จ และได้ให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผู้เห็นชอบคิดเป็นสัดส่วน 57.81% ของผู้มาใช้สิทธิ[30] พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม

การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551

จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พบว่าพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกมากที่สุด คือ 233 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับรองลงมา คือ 165 ที่นั่ง นายสมัคร สุนทรเวชเริ่มวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ [31] ฝ่ายพันธมิตรฯ เองก็เริ่มมองว่ารัฐบาลสมัครมีพฤติการณ์ที่ส่อถึงความทุจริตหลายอย่าง เช่น การยกปราสาทเขาพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว[32] และความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ[33]

การปิดถนนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2551

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลับมาชุมนุมอีกครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา[34] ต่อมา กลุ่มพันธมิตรได้ทำการ "ดาวกระจาย" ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทวงถามการตรวจสอบทุจริตในรัฐบาลทักษิณ[35] รวมทั้งเร่งรัดคดีการทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช[36] และเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พธม. ได้เคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุม 9 เส้นทางเพื่อยึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะย้ายกลับไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ หลังจากมีคำสั่งของศาลแพ่งให้เปิดเส้นทาง[37]

ก่อนที่ พธม. จะเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม[38] ในวันต่อมา แกนนำ พธม. 9 คน ถูกแจ้งความในความผิดข้อหากบฏ ผู้ชุมนุมทำการปิดล้อมท่าอากาศยานหาดใหญ่และท่าอากาศยานภูเก็ต โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย ได้แจ้งปิดท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยขอยกเลิกเที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 16.40 น. จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นได้ ให้บริการตามปกติ ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ปิดการให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 16.50 น. ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลา 11.00 น. หลังจากนั้นได้เปิดให้บริการตามปกติ [39]หลังจากนั้นได้มีการปะทะกับกลุ่ม นปช. ซึ่งมีการชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่าย จนมีผู้เสียชีวิต 1 คน นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเช้าวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551[40][41]ซึ่งเป็นวันที่ ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดท่าอากาศยานหาดใหญ่ในวันที่ 2 กันยายน 2551 และเลิกปิดใน วันที่ 3 กันยายน 2551[42] ภายหลังจากนั้นรัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 14 กันยายน[43]

เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในคดีจัดรายการ ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยง 6 โมงเช้า ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติต้องห้าม[44] ต่อมา ได้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผลปรากฏว่า สมชาย วงศ์สวัสดิ์ได้รับเลือก และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรก เมื่อวันที่ 24 กันยายน

วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนไล่ นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน[45]

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พธม. ได้ชุมนนุมหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อกดดันมิให้คณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันรุ่งขึ้น ตำรวจจึงได้เข้าสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางเข้าออกอาคารทั้งก่อนและหลังการประชุม จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีผู้เสียชีวิต 1[46]-2 คน และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 คน[47]

ปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคม พธม. ได้บุกยึดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ[48] จนมีผู้โดยสารตกค้าง[49] และสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นการดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้าพนักงานอัยการเลื่อนฟ้องคดีถึง18ครั้งใช้เวลาทำคดีก่อนส่งฟ้องต่อศาล 4 ปี 5 เดือน[50]และอัยการส่งฟ้องเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556[51] การชุมนุมดังกล่าวดำเนินไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551[52] ภายหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ[53] และสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, ผศ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายอมร อมรรัตนานนท์, นายนรัญยู หรือ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และ นายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำ พธม. ทั้ง 13 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค. 51 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ จากกรณีร่วมกันปิดท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 โดยจำเลยทั้ง 13 คน ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ซึ่งอ้างเหตุสุดวิสัย และศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาดังกล่าว ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว[54]

การจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์

ภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของสมชาย ได้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ผลปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้รับคะแนนเสียงมากกว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก[55] ทำให้การเมืองพลิกขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้จัตตั้งรัฐบาลผสม จากเดิมที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลทักษิณ สมัครและสมชาย[56] ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบนักการเมืองเดิมจากพรรคพลังประชาชน รัฐบาลเก่า กลายเป็นฝ่ายค้านแทน โดยมีรายงานอย่างกว้างขวางว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก บีบบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนย้ายมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์[57]

การประท้วงและเหตุการณ์ไม่สงบ เมษายน พ.ศ. 2552

ราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ วิดีโอลิงก์มายังกลุ่มผู้สนับสนุน โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2549 และองคมนตรีบางคนคือ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ ใช้อำนาจทางทหารค้ำตำแหน่งของอภิสิทธิ์ ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุน พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ต้องการให้บุคคลดังกล่าวลาออกทั้งหมด[58][59]

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 ที่เมืองพัทยา รถยนต์ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ โดยสาร ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทุบจนกระจกแตก แต่อภิสิทธิ์สามารถหลบหนีไปได้[60] วันต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มการชุมนุมครั้งใหญ่ โดยรวมตัวกันบริเวณทำเนียบรัฐบาล และลานพระราชวังดุสิต ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100,000 คน[61] การชุมนุมดังกล่าวขยายตัวไปยังเมืองพัทยา ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 ในขณะที่เดินทางไปยังสถานที่ประชุมนั้น กลุ่มคนเสื้อน้ำเงินเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม[62] เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์รับผิดชอบ แต่ไม่มีการตอบรับ ในที่สุดกลุ่มผู้ชุมนุม จึงบุกเข้าค้นหาตัวอภิสิทธิ์ ภายในสถานที่ประชุม ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศเลื่อนการประชุม[63] พร้อมทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน[64] แต่ประกาศยกเลิกในวันเดียวกัน[65] ขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ออกความเห็นว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลเสียความน่าเชื่อถือในสายตาประชาคมโลก[66] อีกทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การประท้วงเริ่มลุกลามในเขตกรุงเทพมหานคร จนเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และประชาชนผู้อยู่อาศัยทั่วไป จนนายอภิสิทธิ์ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบอีกแห่งหนึ่ง[67] และมีการกล่าวว่า "ถ้าใครมีความยินดีท่ามกลางความเสียหายของประเทศ จะถือว่าเป็นศัตรูของชาติ"[68] นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจแก่รัฐบาลในการเซ็นเซอร์การแพร่ภาพทางโทรทัศน์[69]

เมื่อวันที่ 12 เมษายน ได้มีการจับกุมแกนนำ นปช. ด้วยข้อหาบุกรุกสถานที่ประชุม สุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก[70] เป็นวันเดียวกับที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และรุมเข้าทุบทำลายรถยนต์ที่เชื่อว่า อภิสิทธิ์และรัฐมนตรีบางคนโดยสารอยู่ โดยแท้จริงแล้วเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่โดยสารอยู่ ระหว่างเดินทางออกจากกระทรวง แต่ก็สามารถหลบหนีออกมาได้ หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมปิดถนนบริเวณทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการสำคัญ และเส้นทางการจราจรทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นผลให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ, อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่ 12 เมษายน[71] ถึงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

วันที่ 13 เมษายน ทหารในเครื่องแบบเต็มชุด เข้าสลายการชุมนุมที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้บาดเจ็บราว 70 คน[72] ส่วนทางกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวบนเวทีว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คน จากกระสุนปืนของทหาร แต่ฝ่ายกองทัพออกมาปฏิเสธ ในวันเดียวกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังออกคำสั่งปิด ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม สถานีประชาธิปไตย ของฝ่ายผู้ชุมนุมลง[73] รวมถึงวิทยุชุมชนบางแห่ง เนื่องจากเชื่อว่าสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม[74] เหตุปะทะกันยังคงมีขึ้น ในหลายจุดของกรุงเทพมหานคร ระหว่างนั้นมีการออกหมายจับ พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ และแกนนำ นปช.อีก 13 คน[75] ในเวลาดึกของคืนดังกล่าว มีชาวบ้านชุมชนนางเลิ้งจำนวนหนึ่ง เข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิต 2 คน[76] ช่วงกลางดึก รัฐบาลอภิสิทธิ์จัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ขึ้นโดยให้ พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เป็นผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน[77]

ในวันที่ 14 เมษายน แกนนำ นปช. หลายคนยอมมอบตัว การชุมนุมจึงสงบลง[75] แม้ว่าผู้ชุมนุมบางส่วนจะยังคงชุมนุมกันต่อไป สถานการณ์ฉุกเฉินมีผลจนถึงวันที่ 24 เมษายน นายกรัฐมนตรีจึงประกาศยกเลิก[78] สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 120 คน ระหว่างการชุมนุม[79] ในเวลาต่อมา ได้พบศพ นปช. 2 คน ลอยตามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางตำรวจสรุปว่าเป็นการฆาตกรรมด้วยชนวนเหตุทางการเมือง[80] กลุ่มนปช. กล่าวอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน แต่ศพได้ถูกฝ่ายทหารเอาไปซ่อน แต่ทางกองทัพปฏิเสธ[81]

เหตุการณ์ลอบยิงสนธิ

แกนนำ พธม. สนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบยิงเมื่อเช้าวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552 โดยมือปืนได้ใช้อาวุธสงครามกราดยิงรถของสนธิกว่า 100 นัด สนธิและคนขับรถได้รับบาดเจ็บ[82] กลุ่มมือปืนดังกล่าวได้หลบหนีเมื่อผู้ติดตามของสนธิในรถอีกคันหนึ่งใช้ปืนเปิดฉากยิงใส่ สนธิถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะ ก่อนจะได้รับการผ่าตัดในเข้ารักษาที่โรงพยาบาล[83] นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายของสนธิ กล่าวประณามว่าว่ามีทหารหรือคนในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว[84]

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว[85] และอ้างต่อไปว่าเขา นายอภิสิทธิ์ นายกรณ์ จาติกวาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าหมายของแผนการลอบสังหารด้วยเช่นกัน[86]

สำหรับสาเหตุของการลอบยิงนั้น สนธิกล่าวว่า เพราะ "ผมไปเปิดโปงสุภาพสตรีคนหนึ่ง ซึ่งในภาพแสดงออกว่าเป็นคนใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท" แต่มิได้ระบุว่าเป็นผู้ใด[87]

การประท้วงและเหตุการณ์ไม่สงบ ปลายปี พ.ศ. 2552

การชุมนุมในพื้นที่เขตพระนคร ปลายปี 2552

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 กลุ่ม นปช. จัดกิจกรรมชุมนุมที่สนามหลวง และเคลื่อนไปตามถนน ผ่านโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อ้อมไปพระบรมมหาราชวัง สิ้นสุดที่ หน้าประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่ทักษิณ ชินวัตร[88] กลุ่ม นปช. วางแผนจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 บริเวณทำเนียบรัฐบาล[89]และ 19 กันยายน พ.ศ. 2552 บริเวณลานพระราชวังดุสิต หรือพระบรมรูปทรงม้า และจะเคลื่อนขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์[90] จัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบริเวณทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2552[91]

รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2552 ถึง 1 กันยายน 2552 ในพื้นที่เขตดุสิต[92]เนื่องจากกลุ่ม นปช. วางแผนจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 บริเวณทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 18 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2552 ในพื้นที่เขตดุสิต[93]เนื่องจากการจัดชุมนุมของนปช.ที่ลานพระราชวังดุสิต[94] ในวันที่ 19 กันยายน 2552[95]

รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 15 ถึง 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ในพื้นที่เขตดุสิต[96]เนื่องจากการจัดชุมนุมใหญ่สะพานชมัยมรุเชฐและบริเวณทำเนียบรัฐบาลของกลุ่ม นปช. ในวันที่ 17 ตุลาคม 2552[97]

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง ถูกคนร้ายโยนระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย[98]

วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ขู่ฆ่าเอาชีวิตนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านรายการวิทยุชุมชน 92.5 เมกกะเฮิรตซ์ สถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51[99]เหตุเกิดที่ โรงแรมวโรรส แกรนด์ พาเลซ จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล และกลุ่ม นปช.เชียงใหม่จัดชุมนุมที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เรียกร้องให้ พ.ต.อ.ยุทธชัย พัวประเสริฐ ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงใหม่ ให้ออกจากพื้นที่

ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยครั้งนี้ใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด[100]เนื่องจากกลุ่ม นปช. วางแผนจะชุมนุมในวันที่ 29 พฤศจิกายน รวมทั้งดาวกระจายไปตามถนนสายต่างๆ ทั่ว กทม.ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 จนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2552[101]และจัดชุมนุมใหญ่ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 10 ธันวาคม 2552

นอกจากนั้นในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552 นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร่วมกันหมิ่นประมาท นายวัชระ เพชรทอง ผ่านรายการโทรทัศน์[102]

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553 กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีมติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ได้แก่ การกระทำความผิดทางอาญากรณีก่อการร้าย การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใด ๆ การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของทางราชการ อันเกี่ยวกับการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไปในราชอาณาจักร รวมถึง ความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน[103]

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายึดทรัพย์มูลค่า 46,000 ล้านบาทของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร[104] เย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ระเบิดเอ็ม 67 ถูกโยนมาจากมอเตอร์ไซค์ด้านนอกธนาคารกรุงเทพสามสาขา[105][106][107][108] ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 กลุ่มผู้ประท้วง นปช. ได้มาบรรจบกันที่กรุงเทพเพื่อแสดงความต้องการให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศเลือกตั้งใหม่ การเคลื่อนไหวดังกล่าว นำโดย นปช. ประกอบด้วยกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ต่อมา ได้มีการประท้วงโดยการรับบริจาคเลือดของผู้ชุมนุมไปเทด้านนอกของบ้านพักนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ในขณะนั้น[109]

สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 โดยผู้ชุมนุมได้เข้ายึดสถานีเผยแพร่โทรทัศน์ ทำให้นายกรัฐมนตรีกล่าวให้สัญญาว่าจะฟื้นฟูประเทศให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ[110][111] วันที่ 11 เมษายน การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและทหารทำให้มีผู้เสียชีวิต 18-19 คน (ในจำนวนนี้มีทหาร 1 นาย) และอีกมากกว่า 800 คน ได้รับบาดเจ็บ[112][113][114] เมื่อวันที่ 15 เมษายน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 24 ศพ[115]

ความตึงเครียดยังดำเนินต่อไป เมื่อมีการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลปรากฏขึ้นพร้อมกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล วันที่ 22 เมษายน เหตุระเบิดหลายครั้งในกรุงเทพมหานครทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 85 คน ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติ 4 คนรวมอยู่ด้วย เหตุระเบิดบางส่วนเกิดขึ้นจากระเบิดมือ รัฐบาลกล่าวหาว่าพฤติการณ์ดังกล่าวมาจากที่พักของกลุ่มคนเสื้อแดง[116][117] คำกล่าวหาดังกล่าวได้รับการปฏิเสธอย่างชัดเจนจากผู้นำการชุมนุม ผู้ซึ่งสงสัยว่าอาจเป็นแผนการที่เตรียมไว้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับการชุมนุมโดยสงบ

วันที่ 3 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีประกาศว่าเขามีความต้องการจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งในวันรุ่งขึ้น ผู้นำการชุมนุมประกาศยอมรับข้อเสนอที่จะยุติการชมนุมเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามแผนกำหนดเดิม แต่ได้มีการเสนอรายละเอียดของแผนเพิ่มเติม เมื่อปรากฏชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีกระบวนการทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้นำบางคนในรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สังหารกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป

วันที่ 14 พฤษภาคม ตำรวจและทหารพยายามที่จะล้อมและตัดที่พักหลักของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้มีการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อแดงและมีผู้เสียชีวิต 10 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 125 คน รวมทั้งผู้สื่อข่าวต่างชาติบางคน วันเดียวกัน นายทหารนอกราชการ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงด้วยปืนไรเฟลซุ่มยิงระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติ[118] วันรุ่งขึ้น ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 24 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 175 คน ผู้นำการชุมนุมเตือนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจปะทุขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองได้ ทหารได้ตั้งเขตกระสุนจริงขึ้นใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุมและยิงทุกคนในพื้นที่ที่พบเห็น[119]

จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการปะทะกันตามท้องถนนเพิ่มขึ้นเป็น 35 ศพ โดยในจำนวนนี้ 1 ศพเป็นทหาร[120] ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มในอีก 5 จังหวัดเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม[121]

วันที่ 19 พฤษภาคม กองทัพ พร้อมรถลำเลียงหุ้มเกราะเข้าโจมตีค่ายผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และผู้สื่อข่าวชาวอิตาลี 1 คน ผู้นำกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมดยอมมอบตัวหรือพยายามหลบหนี ได้เกิดเหตุจลาจลทั่วกรุงเทพมหานครเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมถูกบีบบังคับให้ออกจากค่าย ได้มีการวางเพลิงซึ่งทำลายศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารอื่น ๆ[122]

ยอดความสูญเสียทั้งหมดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม อยู่ที่ 85 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1,378 คน[123]

ภาพกรุงเทพมหานครบางส่วนเกิดอัคคีภัยระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองเดือนพฤษภาคม 2553

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Reporters Without Borders. Thailand เก็บถาวร 23 ตุลาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  2. The Nation. Junta's bills stifle free expression in run-up to vote. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  3. Thomas Bell. Thailand analysis: 'land of smiles' becomes land of lies. The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  4. The Nation. Political stability is topmost priority เก็บถาวร 20 สิงหาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  5. maesotcity.com. สื่อนอกชี้ทางเลือกวิกฤตการเมืองไทย “ยุบสภา-ลาออก-รัฐประหาร” เก็บถาวร 29 กันยายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
  6. Frank G. Andersen. Lese majeste in Thailand เก็บถาวร 14 กรกฎาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. UPI Asia.com. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  7. 2bangkok.com. A tale of two newspapers: Gaining strength or losing steam? 5,000 or 100,000? เก็บถาวร 27 พฤษภาคม 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  8. The Nation. Non-violence is not simply the absence of physical violence เก็บถาวร 3 มีนาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 27-12-2552.
  9. The Nation. PAD tells top police it will not budge เก็บถาวร 6 มีนาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
  10. "PRO-GOVERNMENT RALLY: Thaksin on warpath". The Nation. 8 มีนาคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 ธันวาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2006.
  11. เมื่อ"ศิลปินดัง"โดนบอยคอตวงการบันเทิงชัก"อยู่ยาก"
  12. 4 มีนาคม 2549 – เริ่มชุมนุมต่อต้าน ‘ทักษิณ ชินวัตร’
  13. "Thaksin faces last pre-poll rally". soc.culture.thai. Google Groups. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2006.
  14. The Nation. LEADERSHIP CRISIS King the only hope for end to deadlock, say PAD protesters. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
  15. The Nation. PREMIERSHIP Replace PM, professionals urge Palace เก็บถาวร 5 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
  16. The Nation. HM the King's April 26 speeches (unofficial translation) เก็บถาวร 8 กรกฎาคม 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
  17. กรุงเทพธุรกิจ. สมุดปกขาว คมช. เหตุยึดอำนาจ เก็บถาวร 2 เมษายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
  18. Anti-Thaksin alliance dissolved. Xinhua via People's Daily Online. สืบค้นเมื่อ 28-12-2552.
  19. The Nation. Govt heavies flee after many held เก็บถาวร 11 ตุลาคม 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  20. The Nation. Yongyuth and Newin ordered to report themselves to ARC. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  21. The Nation. Urgent: Newin reports to ARC เก็บถาวร 29 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  22. The Nation. Urgent : Yongyuth reports to ARC เก็บถาวร 29 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  23. The Nation. Four key men under Thaksin freed : Sonthi. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  24. Wassana Nanuam, Yuwadee Tunyasiri. Sonthi loyalists put in key military positions. Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  25. Veera Prateepchaikul. Mid-year reshuffle completes the Thaksin purge. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  26. "ย้อนรอยรัฐประหารยึดอำนาจ 'ทักษิณ ชินวัตร'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 ตุลาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2021.
  27. The Nation. ARC issues order to maintain Jaruvan's status. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  28. The Nation. GLO chief resigns. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  29. AsianLii. Inspection of Acts being Detrimental to the State - Announcement of the Council for Democratic Reform No. 30. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  30. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  31. แนวหน้า. ธีรยุทธสับเละรบ.ลูกกรอก1 ชั่วครองเมือง ชี้แก้รธน.เพื่อตัวเองพังแน่ เก็บถาวร 22 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  32. The Nation. PAD begins rallying in front of MFA building to protest Preah Vihear Temple map เก็บถาวร 1 สิงหาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 29-12-2552.
  33. นิรโทษให้ทักษิณด้วยไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2552
  34. Daily Xpress. Political passions run high เก็บถาวร 11 ธันวาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  35. ASTVผู้จัดการออนไลน์. พันธมิตรฯ ไม่หวั่นเดินหน้าบุก ก.ล.ต.-DSI เปิดโปงพิรุธคดี “แม้ว” เก็บถาวร 13 สิงหาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  36. The Nation, PAD rally to support EC will see streets closed เก็บถาวร 21 พฤศจิกายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน June 16, 2008.
  37. The Nation. [DAILY XPRESS PAD suffers reverse]. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  38. BBC. Thai protesters 'want new coup'. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  39. เรื่อง แจ้งข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมสนามบิน
  40. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร. เล่ม 125 ตอนพิเศษ 144 ง หน้า 1. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  41. ราชกิจจานุเบกษา. ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน. เล่ม 125 ตอนพิเศษ 144 ง หน้า 4-5. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  42. สนามบินหาดใหญ่งดเที่ยวบิน พธม.ปักหลักปิดทางเข้า-ออก. Teenee.com. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  43. UPI. Bangkok state of emergency lifted. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  44. ศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑ เก็บถาวร 5 มิถุนายน 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  45. ควงมือตบสยบมารไล่ “สมชาย” เจอ 2 เด้งทั้งมธ.-พารากอน
  46. Seth Mydans & Thomas Fuller. Hundreds Injured in Thai Protests. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  47. AFP. Thai protest leaders say they will surrender เก็บถาวร 10 ตุลาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  48. Marwaan Macan-Markar. POLITICS-THAILAND: Heading For Mobocracy?. IPS. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  49. The Nation. About 3,000 outbound passengers still stranded at Suvarnabhumi เก็บถาวร 18 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  50. "เลื่อนสั่งฟ้อง พธม.ยึดสนามบินครั้งที่ 18". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2016.
  51. อัยการส่งฟ้องแกนนำพธม.ปิดสนามบิน
  52. The Nation. PAD cease all anti-government protests เก็บถาวร 3 ธันวาคม 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  53. ศาลรัฐธรรมนูญ. สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๐/๒๕๕๑ เก็บถาวร 5 มิถุนายน 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 30-12-2552.
  54. ศาลยกคำร้องขอขยายเวลาฎีกาคดี 13 แกนนำ พธม.นำมวลชนชุมนุมหน้าสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ
  55. "New Thai prime minister elected". BBC news. 15 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2008.
  56. BBC News. Thai opposition 'set for power'. 10 December 2008
  57. Thomas Bell. Thai army to 'help voters love' the government. The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  58. Thomas Bell. Thai protesters bring Bangkok to a halt. The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  59. คมชัดลึก. แถลงการณ์เสื้อแดงจี้"เปรม-สุรยุทธ์-ชาญชัย-มาร์ค"ลาออกทันที เก็บถาวร 25 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  60. BBC. Asia-Pacific | Thai PM's car hit by protesters. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  61. Reuters India. UPDATE 4-Anti-govt rally in Bangkok, PM says Asia summit on เก็บถาวร 2012-07-12 ที่ archive.today. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  62. Nirmal Ghosh. LIVE: Flashpoint Pattaya เก็บถาวร 23 กรกฎาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Strait Times. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  63. Thomas Fuller. Thailand Cancels Summit After Protests. The New York Times. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  64. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชลบุรี. เล่ม 126 ตอนพิเศษ 53 ง. หน้า 1. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  65. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศ เรื่อง ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชลบุรี. เล่ม 126 ตอนพิเศษ 54 ง. หน้า 1-2. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  66. ว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลเสียความน่าเชื่อถือในสายตาประชาคมโลก เก็บถาวร 20 สิงหาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 26-10-2553.
  67. BBC. Troops in Thai emergency patrols. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  68. The Age. Sacrificing democracy won't end Thailand's chaos. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  69. Committee to Protect Journalists. Thai government issues censorship decree. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  70. Reuters. Protesters storm Thai ministry. Time of Malta. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  71. ราชกิจจานุเบกษาประกาศ เรื่อง สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
  72. Times Online. Thai troops open fire on protesters in Bangkok เก็บถาวร 2011-09-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  73. กรุงเทพธุรกิจ. ไทยคมตัดสัญญาณโทรทัศน์D-Stationแล้ว เก็บถาวร 4 พฤษภาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  74. MCOT. Community radio stations ordered to close temporarily เก็บถาวร 28 ตุลาคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  75. 75.0 75.1 Jonathan Watts. Thailand issues Thaksin arrest warrant over Bangkok violence. The Guradian. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  76. คมชัดลึก. คนชุมชนนางเลิ้งปะทะเสื้อแดงดับ2 เก็บถาวร 25 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  77. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  78. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร.... เล่ม 126 ตอนพิเศษ 60 ง. หน้า 1-2. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  79. BBC. Army pressure ends Thai protest. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  80. The Straits Times. Police probe 'Red Shirt' deaths. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  81. MCOT. Thai army chief: No deaths in operation to break red-shirt protest เก็บถาวร 16 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  82. Bloomberg. Thai Anti-Thaksin Protester Recovers After Shooting (Update1). สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  83. The Times. Thailand's Yellow Shirt leader Sondhi Limthongkul survives assassination attempt เก็บถาวร 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  84. The Nation. Sondhi's son alleges "Gestapo" behind his father's assassination attempt เก็บถาวร 22 เมษายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  85. Bangkok Post. Thaksin accused of being behind attack on Sondhi. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  86. Richard S. Ehrlich. Assassins Haunt Thailand's Government after Insurrection Is Crushed. The Seoul Times. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  87. ASTVผู้จัดการออนไลน์. “สนธิ” เปิดใจครั้งแรก เบื้องลึกปมลอบยิง โยงทหารฮั้วการเมืองเก่า เก็บถาวร 15 มิถุนายน 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 31-12-2552.
  88. เสื้อแดงยื่นฎีกาแล้ว ราชเลขาธิการส่งให้รัฐบาลไปพิจารณาถวายความเห็น
  89. เปิดอำนาจ พ.ร.บ.มั่นคง ส่งผลอย่างไรกับ การชุมนุมทางการเมือง?
  90. โรงเรียนเสื้อแดงกำหนด 7ยุทธวิธีไล่ รบ.อำมาตย์! ขัดขืนอำนาจรัฐ-ไล่รมต.ทุกที่. Sanook.com. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  91. จัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบริเวณทำเนียบรัฐบาล
  92. พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2552 ถึง 1 กันยายน 2552
  93. พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 18 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2552
  94. Thaksin supporters protest anniversary of Thailand coup
  95. เนื่องจากการจัดชุมนุมของนปช.ที่ลานพระราชวังดุสิต เก็บถาวร 4 มิถุนายน 2016 ที่ archive.today. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  96. พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 15 ถึง 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552
  97. เสื้อแดงทยอยเข้าร่วมชุมนุม ด้านรัฐวางกำลังรับมือแน่นหนา
  98. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง ถูกคนร้ายโยนระเบิดมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย
  99. ขู่เอาชีวิต นายกฯ อภิสิทธิ์ รายการวิทยุชุมชน 92.5 เมกกะเฮิรตซ์ สถานีวิทยุชุมชนของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 เก็บถาวร 4 มิถุนายน 2016 ที่ archive.today. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  100. พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยครั้งนี้ใช้ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ทั้งหมด
  101. เนื่องจากกลุ่มนปช. รวมทั้งดาวกระจายไปตามถนนสายต่างๆ เก็บถาวร 4 มิถุนายน 2016 ที่ archive.today. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  102. "การหมิ่นประมาทของกลุ่มแนวร่วม นปช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2016.
  103. มีมติคณะกรรมการคดีพิเศษให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ
  104. Bangkok Post, Court confiscates B46bn of Thaksin's assets เก็บถาวร 2011-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  105. The Nation, PM pleads for public calm following several Bangkok bomb attacks เก็บถาวร 3 มีนาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 28 February 2010.
  106. Bangkok Post, Stringent security measures invoked เก็บถาวร 2011-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  107. Bangkok Post, UDD denies link in bomb attacks เก็บถาวร 2011-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  108. Bangkok Post, Warrant issued for bomb suspect, 1 March 2010
  109. Bangkok Post, Reds pour, throw blood at PM's home เก็บถาวร 2011-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  110. CCTV International, Thai "red-shirts" win back PTV broadcasting after raid on Thaicom, 10 April 2010
  111. XINHUANEWS, Thailand's PM vows to restore normalcy quickly, 10 April 2010
  112. "Bangkok death toll climbs to 21". BBC News. 11 เมษายน 2010.
  113. Al Jazeera English, Bloodiest Thai clashes in 18 years, 11 April 2010
  114. NST Online Australia, Australia 'very concerned' over Thailand clashes, 11 April 2010
  115. "Number of fatalities rises to 24; Protesters vow to stay at Ratchaprasong". 15 เมษายน 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2010.
  116. "'Terrorists' blamed for attacks amid Thai deadlock". BBC News. 23 เมษายน 2010. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2010.
  117. "Bangkok grenade blasts kill 3, deputy PM says". Reuters. 23 เมษายน 2010. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2024.
  118. thaiclashes นายทหารนอกราชการ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงด้วยปืนไรเฟลซุ่มยิง
  119. Doherty, Ben (15 พฤษภาคม 2010). "Redshirts warn of civil war as Thai troops told to shoot on sight". The Guardian. London.
  120. "The Straits Times, May 16, 2010: Bangkok Death Toll Rises to 35". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤษภาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2011.
  121. Daniel, Zoe (17 พฤษภาคม 2010). "Australian embassy in Bangkok shuts doors". ABC News, BBC. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010.
  122. McElroy, Damien; MacKinnon, Ian (19 พฤษภาคม 2010). "Bangkok in flames as protesters refuse to back down". The Telegraph. Bangkok. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010.
  123. "PM vows to seek truth". Bangkok Post. 22 พฤษภาคม 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 สิงหาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2010.
Kembali kehalaman sebelumnya