โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย (อังกฤษ: Ayutthaya Wittayalai School; อักษรย่อ: อ.ย.ว. – A.Y.W.) เป็นโรงเรียนรัฐบาลมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ แบบสหศึกษา และเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2448 โดยพระราชดำรัสจัดตั้งโรงเรียนหลวงตามมณฑลต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อว่า โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า ตั้งอยู่บริเวณวัดเสนาสนารามหลังพระราชวังจันทรเกษม (ปัจจุบันโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ได้ใช้พื้นที่ในการทำการเรียนการสอนแทน) ในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการย้ายที่ตั้งของโรงเรียนไปอยู่บริเวณบึงพระราม โดยโรงเรียนได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ในการก่อสร้างเป็นอาคารเรียน หอประชุม และบ้านพักครูหลังใหม่ในพื้นที่ที่ย้าย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน ประวัติสถาปนาโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่าพ.ศ. 2448–2484 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ โดยทั่วกัน ยึดแบบอย่างของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยโรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า
ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการปกครองส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้น โดยให้รวมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน 3–4 เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. 2438 โปรดให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี[2] โดยมี พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พร เดชะคุปต์) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลประจำมณฑล ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า และได้สนองพระบรมราชโองการของพระองค์ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงเรียน เขาได้ขอพระราชานุญาตขยายพื้นที่วัดเสนาสนาราม และเรี่ยไรเงินจากผู้มีจิตศรัทธาในการสร้างโรงเรียน และได้มอบหนังสือตำนานกรุงเก่าให้กับห้องสมุด[3] เพื่อเตรียมสร้างโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นใน ร.ศ. 123 หรือปี พ.ศ. 2448 โดยในระยะแรกใช้กุฏิพระ ศาลาวัด และบริเวณใกล้เคียงกับวัดเสนาสนาราม หลังพระราชวังจันทรเกษม เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน[4]: 1 โดยมีขุนประกอบวุฒิสารท (ทิพ เปรมกมล) เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2448 มีปรากฏทะเบียนรายชื่อนักเรียนไว้ จำนวน 259 คน แต่ไม่ปรากฏรายชื่อครู โดยในเวลานั้น ยังมีนักเรียนที่เป็นพระและสามเณร และยังไม่มีนามสกุลและเลขประจำตัวใช้[4]: 4 ต่อมาพระอนุสิษฐ์วิบูลย์ (เปี่ยม จันทรสถิตย์) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากขุนประกอบวุฒิสารท ในปี พ.ศ. 2449 กระทรวงธรรมการเห็นว่าประชาชนนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก จนทำให้สถานที่เดิมคับแคบ จึงได้จัดสร้างอาคารเรียนแบบประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะถาวร 2 ชั้นแบบ 6 ห้องเรียนและห้องประชุมอีก 1 ห้อง ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้นเรียกชื่อโรงเรียนกันว่า "โรงเรียนหลังวัง" (ซึ่งตึกที่กระทรวงธรรมการได้สร้างนั้น ต่อมาโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ขอใช้ตึกนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน เพราะโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยย้ายมาอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2449 พระวิเศษกลปกิจ (รัตน์ ปัทมะศิริ) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากพระอนุสิษฐ์วิบูลย์ ในเวลานั้นโรงเรียนไม่มีการจัดเป็นชั้นประถมและมัธยม แต่มีการจัดไว้เป็นชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 3 ฯลฯ เท่านั้น วันหยุดของโรงเรียนเป็นวันโกนวันพระ นอกจากโรงเรียนจะมีคุณครูเป็นผู้สอน ยังมีนักเรียนฝึกหัดสอนเป็นผู้สอนนักเรียนด้วย โดยคุณครูจะต้องควบคุมดูแลการสอนของนักเรียนฝึกหัดสอนอีกทีหนึ่ง ในปีดังกล่าวมีนักเรียนเข้าใหม่จำนวน 89 คน[4]: 4 ในปี พ.ศ. 2450 ขุนบำเหน็จวรสาร (ชิต) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากพระวิเศษกลปกิจ ในปีนี้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เจ้ากรมตรวจกระทรวงธรรมการ ได้มาตรวจโรงเรียนเพื่อเปลี่ยนระเบียบของโรงเรียนใหม่ โดยได้ให้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า" เรียกนักเรียนฝึกหัดครูว่า "นักเรียนสอน" จัดนักเรียนออกเป็น 6 ห้องเรียน ได้แก่ มูล 1, มูล 2, เตรียม, ประถม 1, ประถม 2 และประถม 3 เปลี่ยนทะเบียนใหม่ และได้รับนักเรียนใหม่เข้ามาเพิ่มในวันดังกล่าวจำนวน 151 คน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2450 โรงเรียนได้ถูกใช้เป็นสถานที่พักข้าราชการในงานสมโภชกรุงเก่า จึงได้ทำการปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 2–3 วัน และตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2450 พระชำนาญขบวนสอน (เฉย สุกุมาลนันท์) ครูรองของโรงเรียน ได้มาทำหน้าที่เป็นครูใหญ่แทน ส่วนขุนบำเหน็จวรสารได้ย้ายไปเป็นผู้รั้งข้าหลวงธรรมการ[4]: 5 ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2451 พระชำนาญขบวนสอน ครูใหญ่ ได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยข้าหลวงธรรมการ รัตน์ ครูรองของโรงเรียน จึงมาเป็นครูใหญ่แทน[4]: 5 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2451 ขุนบำเหน็จวรสาร ข้าหลวงธรรมการ ได้มีคำสั่งให้ย้ายสร่าง ครูใหญ่โรงเรียนเสนาสน์ มาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2451 และให้ครูใหญ่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่าดูแลรับผิดชอบโรงเรียนเสนาสน์ด้วย โดยได้รวมให้โรงเรียนเสนาสน์มาอยู่รวมในการปกครองของโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า ให้เป็นโรงเรียนเดียวกัน[4]: 5–6 ในปี พ.ศ. 2452 ได้มีการนำนักเรียนไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม โดยได้จัดให้นักเรียนเดินแถวไปรับน้ำที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร รัตน์ได้เป็นครูใหญ่จนถึงเดือนพฤษภาคม เมื่อเริ่มเดือนมิถุนายน ปุ่นจึงได้มาเป็นครูใหญ่แทน ต่อมาทางเทศามณฑลกรุงเก่าได้มีการขอไปยังกรมทหารราบที่ 13 ให้ทางทหารได้มาฝึกหัดนักเรียนโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่าเป็นครั้งแรก ซึ่งคล้ายกับยุวชนทหาร[4]: 6 ในปี พ.ศ. 2453 เล็กได้เป็นครูใหญ่แทนปุ่น และเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ผันก็ได้เป็นครูใหญ่แทนเล็ก[4]: 6 ในปี พ.ศ. 2454 โรงเรียนได้ทำการเปิดรับนักเรียนหญิง เป็นมูลศึกษาแผนกหญิงครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2454 มีครูผู้สอนเป็นผู้หญิงคือ ผิว แพทย์ผดุงครรภ์ เริ่มแรกมีนักเรียนหญิงจำนวน 5 คน แต่ต่อมาก็ได้ถูกยกเลิกไป เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ด้วยผิว แพทย์ผดุงครรภ์ ขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะมีครรภ์จึงไม่สามารถเดินทางไปมาไกล เพื่อมาสอนได้[4]: 7 ในปี พ.ศ. 2455 ขุนกลั่นวิชาสอน (วิชา หัมพานนท์) ได้เป็นครูใหญ่ต่อจากผัน ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2456 การสอนวิชาทหารจากกรมทหารราบที่ 13 ซึ่งได้เริ่มสอนเมื่อ พ.ศ. 2452 ได้ถูกยกเลิกไป โดยต่อมาคุณครูในโรงเรียนได้ทำการสอนวิชาทหารกันเอง จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2457 ทหารก็ได้กลับมาสอนนักเรียนอีกครั้ง โดยผู้ที่มาสอนคือ นายร้อยตรีห้อย นายเวรทหารราบที่ 13[4]: 7 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2457 โรงเรียนได้ทำการส่งนักเรียนไปแข่งขันกรีฑาที่กรุงเทพมหานคร และการลูกเสือของโรงเรียนก็ได้มีการเดินทางจากเมืองกรุงเก่าหรืออยุธยา ไปเข้าค่ายพักแรม และซ้อมรบกันถึงที่เมืองลพบุรี[4]: 8 ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา ซึ่งก็คือพระราชวังจันทรเกษม ในส่วนของตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย) และพระที่นั่งพิมานรัตยา แต่อาคารหลังอื่น ๆ ในพระราชวัง ทางโรงเรียนก็ได้ขอใช้ทำการเรียนการสอนต่อ แต่ก็ส่งผลทำให้สถานที่เล่าเรียนของโรงเรียนมีพื้นที่น้อยลง และในปี พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก "มณฑลกรุงเก่า" เป็น "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยามีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหารการปกครองมากขึ้น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา[5]: 5 จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาลตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารส่วนอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2467 เปลี่ยนให้มณฑลต่าง ๆ นั้นเลื่อนฐานะเป็นจังหวัดแต่อยุธยายังคงเป็นมณฑลเทศาภิบาลอยู่ จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นผลทำให้โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ดังปัจจุบัน อาคารพระราชทานพ.ศ. 2484–ปัจจุบัน หลังจากที่เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่ามาเป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้วนั้น การเรียนการสอนก็เป็นไปอย่างราบรื่นและได้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด นับจากปี พ.ศ. 2448 จนถึงปี พ.ศ. 2483 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุถึง 35 ปี ที่ใช้อาคารเรียนอยู่ด้านหลังพระราชวังจันทรเกษม จนประชาชน ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงเรียนหลังวัง จนมีศิษย์เก่าสำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก และซึ่งศิษย์เก่ารุ่นแรก ๆ เหล่านี้เป็นบุคคลที่มีเกียรติอันควรคารวะ อาทิ ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าศึกษาใน ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2455 และสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 134 หรือ พ.ศ. 2458 เลขประจำตัว 791[5]: 5 พลตรี พลเรือตรี นาวาอากาศเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าศึกษาใน ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2455 และสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 136 พ.ศ. 2460 เลขประจำตัว 640 สิ่งที่เป็นอนุสรณ์คือสร้างหอพระพุทธรูปและมอบทุนการศึกษา[5]: 5 พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ หรือหม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์ อดีตองคมนตรี สิ่งที่เป็นอนุสรณ์ คือ ตั้งทุนถาวรมอบให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย วิโรจน์ กมลพันธ์ อดีตธรรมการจังหวัดและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขประจำตัว 684 ชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย รวมทั้งครู อาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิอีกมากมายหลายท่าน ทำให้ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ให้การยอมรับและพร้อมใจกันส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นทุก ๆ ปีจนสถานที่นั้นคับแคบลงทุกปี จนกระทั่งเมื่อ ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีแผนที่จะปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และได้เล็งเห็นว่า สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย แต่เดิมนั้นคับแคบ ไม่มีโอกาสขยายได้อีกเท่าที่ควร ซึ่งโดยความหวังของปรีดี พนมยงค์ นั้น มุ่งหวังที่จะให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมหาวิทยาลัยด้วย ฉะนั้น เมื่อวิโรจน์ กมลพันธ์ นักเรียนโรงเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งดำรงตำแหน่งธรรมการจังหวัดในขณะนั้นได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องการย้ายสถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ปรีดี พนมยงค์มีความเห็นชอบด้วย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งได้รับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงิน 1 แสนบาท และได้มีพระราชดำรัสสั่ง ให้จัดสร้างอาคารตึกถาวร 2 ชั้น 1 หลัง สร้างหอประชุมพระราชทาน 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลัง จากนั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้ หลวงบริหารชนบท (ส่าน สีหไตรย์) ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้พิจารณาเลือกสถานที่ โดยหลวงบริหารชนบทได้เสนอแผนการก่อสร้าง และได้รับความเห็นชอบ เพราะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเป็นโรงเรียนรัฐบาลของจังหวัด นอกจากนี้ยังสามารถขยายบริเวณโรงเรียนออกไปให้กว้างขวางได้อีก[5]: 5 หลวงบริหารชนบทได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า "สถานที่ตั้งของโรงเรียนนี้เหมาะสมมาก โดยอยู่จุดกึ่งกลางของเกาะเมืองและมีบริเวณสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีปูชนียสถาน ซึ่งเหมาะสมกับสถานศึกษา ด้านหน้าของโรงเรียนก็เป็นที่ตั้งของ สวนสาธารณะบึงพระราม ด้านหลังก็เป็นถนนที่ตัดตรงมาจากกรุงเทพฯ มีสถานที่ราชการสองฝั่งถนน ซึ่งเหมาะสมในทุกๆด้าน"[5]: 5 งานก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2482 แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 โดยมีหลวงบริหารชนบท เป็นกรรมการควบคุมการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ยังได้ควบคุมงานก่อสร้างหอประชุมพระราชทานอีก 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลังบนพื้นที่ 84 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา และอาคารเรียนนั้นได้ทำพิธีเปิดอาคารเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 และเนื่องจากอาคารหลังนี้ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง จึงได้ชื่ออาคารนี้ว่า "อาคารพระราชทาน" เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารนามว่า “สิริมงคลานันท์”[6]: 28 ภายหลังจากที่ทรงพระราชทานชื่ออาคาร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาทรงเป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร “สิริมงคลานันท์” และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรห้องพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาทั้ง 9 ห้อง บนอาคารสิริมงคลานันท์ รวมทั้งยังทรงปลูกต้นพิกุลไว้ด้านหน้าอาคารอเนกประสงค์ขณะที่กำลังก่อสร้างอยู่ด้วย เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งยังดำรงพระยศสยามมกุฎราชกุมาร) พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (ครั้งยังดำรงพระยศพระวรชายา) เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานมอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินแก่ราษฎรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ หอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงปลูกต้นพะยอม และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ทรงปลูกต้นประดู่กิ่งอ่อน ไว้ด้านหน้าหอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ครั้นถึงปี พ.ศ. 2486 – 2487 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยคุกคามจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับภาระด้วย กล่าวคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขออาศัยใช้สถานที่เรียนเป็นการลี้ภัยชั่วคราว จึงทำให้นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการเรียนกันอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ครู อาจารย์ และนักเรียนก็เต็มใจและยินดี เพราะถือได้ว่าได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัน[6]: 28 เมื่อประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติในยุคต่อ ๆ มา การเรียนการสอน การศึกษาของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้ขยายตัวอย่ารวดเร็ว มีอาคารเรียนถาวรเพิ่มขึ้นอีกหลายอาคาร ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่อีกหลายท่าน จำนวนครูและนักเรียนก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงได้ถูกนำมาบรรจุเข้าไว้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน อย่างค่อนข้างพร้อมในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ปัจจุบัน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการพัฒนาทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนได้รับเกียรติบัตรรางวัลพระราชทาน จำนวน 6 ครั้งด้วยกัน ดังนี้
และยังมีนักเรียนของโรงเรียนที่ได้รับเกียรติบัตรรางวัลพระราชทานเช่นกัน ซึ่งได้รับในปี
ลำดับการเปลี่ยนชื่อโรงเรียน
ข้อสังเกต โรงเรียนประจำมณฑลส่วนใหญ่จะมีคำสร้อย "วิทยาลัย" ต่อท้าย เช่น ราชสีมาวิทยาลัย (โรงเรียนประจำมณฑลนครราชสีมา), ยุพราชวิทยาลัย (โรงเรียนหลวงประจำมณฑลพายัพ), ภูเก็ตวิทยาลัย (โรงเรียนตัวอย่างมณฑลภูเก็ต), ร้อยเอ็ดวิทยาลัย (โรงเรียนประจำมณฑลร้อยเอ็ด) และอยุธยาวิทยาลัย เป็นต้น เกียรติบัตรรางวัลพระราชทานรางวัลพระราชทานสำหรับนักเรียน นักศึกษาและสถานศึกษา เกิดขึ้นจากน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชปรารภแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล. ปิ่น มาลากุล) ในปี พ.ศ. 2506 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน การศึกษา 2506 ใจความของพระราชปรารภมีว่า "มีนักเรียนจำนวนมากซึ่งมีความประพฤติดีและมีความมานะพยายามศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี รวมทั้งมีโรงเรียนซึ่งจัดการศึกษาดี จนนักเรียนได้รับการเรียนดีเป็นส่วนรวม นักเรียนและโรงเรียนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวสมควรจะได้รับรางวัลพระราชทาน และทรงยินดีจะพระราชทานรางวัลให้" ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (โดยกรมวิชาการ) ได้รับพระราชปรารภมาพิจารณาดำเนินการด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่ปฏิบัติสืบต่อมา เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสอันดีในการทำกิจกรรมที่สนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว รางวัลพระราชทานยังเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาของชาติให้ดียิ่งขึ้นด้วย จึงเป็นที่ตระหนักชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้นทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาแห่งชาติ พระราชทานขวัญกำลังใจแก่นักเรียน นักศึกษาที่มีความประพฤติดี มีผลการเรียนดี ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษาที่จัดการศึกษาได้มาตรฐานดีเด่นด้วยการพระราชทานรางวัลให้ ซึ่งในระยะแรกทรงพระราชทานด้วยพระองค์เองจวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบ 40 ปี กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการและพัฒนางานมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาได้รับรางวัลพระราชทานไปแล้วกว่า 3,000 คน มีสถานศึกษาที่เป็นผู้นำทางวิชาการประมาณกว่า 2,000 แห่ง โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้สมัครเข้ารับการพิจารณาเพื่อเข้ารับรางวัลพระราชทานทั้งของนักเรียนและสถานศึกษา โดยเข้ารับคัดเลือกในระดับจังหวัดได้เป็นลำดับที่ 1 แล้วจึงเข้ารับการพิจารณาได้ระดับเขตการศึกษา และเขตตรวจราชการ โดยนำเสนอการพัฒนาระบบทั้งองค์กร 6 ประการคือ 1. มุ่งพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นโยบายปัญจปฏิรูปของ กระทรวงศึกษาธิการและยุทธศาสตร์ 10 ประการของกรมสามัญศึกษา 2. เร่งพัฒนาการจัดการกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ มีนิสัยรักการอ่าน และวิธีการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ 3. พัฒนาโรงเรียนให้มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นสวยงาม น่าอยู่เพื่อให้นักเรียนมีนิสัยที่อ่อนโยน ภูมิใจและรักโรงเรียน 4. ส่งเสริม สนับสนุนให้ครู อาจารย์ ได้พัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นตามมาตรฐานวิชาชีพครู 5. สนับสนุนให้ชุมชนองค์กรท้องถิ่น สมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครองฯเครือข่าย ฯลฯ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน 6. มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้อยู่ในระดับดีเยี่ยม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขยายผล และพัฒนาแนวทางให้เกิดเป็นระยะที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้นำโครงการและกิจกรรมดีเด่นของโรงเรียน ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาองค์กร การจัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน โครงการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน คณะกรรมการประเมินโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยคณะกรรมการการประเมินเพื่อรับรางวัลพระราชทาน เข้ามายังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เพื่อประเมินโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในทุกด้าน โดยเริ่มประเมินตั้งแต่นักเรียนเริ่มมาโรงเรียน จนถึงกลับบ้านในตอนเลิกเรียน การประเมินคณะกรรมการได้ทำการประเมินทุกรูปแบบ อาทิ ดูจากเอกสารร่องรอยของการดำเนินการ การสัมภาษณ์บุคลากรตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนเก่า ครู อาจารย์ และที่สำคัญที่สุดคือการสัมภาษณ์นักเรียน ทั้งนักเรียนที่นัดหมายหรือนักเรียนที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างของคณะกรรมการเอง สถานศึกษารางวัลพระราชทานและนักเรียนรางวัลพระราชทานโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลพระราชทานถึง 6 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 นายเจริญ ลัดดาพงศ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2537 นายจักรกฤษณ์ ธีระอรรถ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2546 นายอำนาจ ศรีชัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2557 นายเฉลิมศักดิ์ ภาระธัญญา เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2561 นายวรากร รื่นกมล เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 2565 ว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤดิ์ทรัพย์ เชื้อพันธ์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงนักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยยังได้รับเกียรติรางวัลพระราชทานถึง 7 ครั้งอีกด้วย อาทิ นายวีระ ขันธชัย, นายณัฐพล อัศวสงคราม, นายอรรถพงษ์ รักขธรรม, นายต้นตระการ ทรัพย์ภักดี, นายภัคพล ขันธบรรพ สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นความมงคลสำหรับชาวอยุธยาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับ สมาคมนักเรียนอยุธยาวิทยาลัย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปีพุทธศักราช 2527 อาคารและสถานที่ภายในโรงเรียน
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาท ในการสร้างอาคารเรียน 1 หลัง หอประชุม 1 หลัง และบ้านพักครูอีกจำนวน 20 หลัง โดยพระบรมราชานุสาวรีย์จะตั้งอยู่ ณ สนามกลางโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บริเวณด้านหน้าอาคารสิริมังคลานันท์ ซึ่งในทุกวันจันทร์นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจะทำการถวายพวงมาลัยข้อพระกรและทำการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์โดยพร้อมเพรียงกัน และในทุกวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อันประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะครู สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นักเรียนปัจจุบัน และนักเรียนเก่า ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน พิธีวางพวงมาลาและถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
เป็นอาคารเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในโรงเรียน มีรูปแบบอาคารเป็นแบบอลังการศิลป์ (Art Deco)[7] และเป็นสถาปัตยกรรมคณะราษฎร[8] เป็นอาคารสีขาว สูง 2 ชั้น พื้นอาคารปูด้วยกระเบื้องสีน้ำตาลมีลายสีขาว–ส้ม คล้ายลายของเสือ ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือ "ชาติเสือ" อาคารสิริมงคลานันท์เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2484 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ปัจจุบันเป็นอาคารอำนวยการของโรงเรียน
เป็นอาคารสีเหลืองสูง 2 ชั้น เดิมเรียกว่าอาคาร 8 เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2516 โดยชั้นล่างจะเป็นห้องของกลุ่มบริหารวิชาการและห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ชั้นสองเป็นห้องเรียนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนและห้องพักครูวิชาคอมพิวเตอร์ บริเวณด้านหน้าอาคารมีจอ LED ขนาดใหญ่ ไว้เพื่อใช้สำหรับประชาสัมพันธ์กิจกรรมข่าวสารในโรงเรียน
เป็นอาคารเรียนสีขาว–แดงสูง 3 ชั้น เดิมเรียกว่าอาคาร 9 เริ่มก่อสร้างในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2514 และมีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2516 โดยก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิด ปัจจุบันเป็นอาคารเรียนวิชาสังคมศึกษาและการงานอาชีพ (ธุรกิจศึกษา)
เป็นอาคารสีขาว–แดงสูง 4 ชั้น เดิมเรียกว่าอาคาร 19[9] เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2521 โดยเป็นอาคารเรียนวิชาภาษาต่างประเทศ
เป็นอาคารเรียนสีเขียวสูง 4 ชั้น เดิมชื่ออาคาร 324 ก่อสร้างขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษาในปี พ.ศ. 2534 อาคารดังกล่าวได้สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 ด้วยงบประมาณจากกรมสามัญศึกษาจำนวน 11,460,000 บาท และสำนักพระราชวังได้อนุญาตให้ใช้ชื่ออาคารว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี" ปัจจุบันเป็นอาคารเรียนวิชาคณิตศาสตร์
เป็นอาคารเรียนสูง 4 ชั้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2535 และสร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ 2537 ด้วยงบประมาณจากกรมสามัญศึกษาจำนวน 21,582,000 บาท ในปี พ.ศ. 2539 ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นอาคารเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
เป็นอาคารเรียนชั้นเดียว บริจาคเงินก่อสร้างโดย พลเอกชาญ บุญประเสริฐ โดยมี ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเกียรติเป็นประธานในพิธีรับมอบ และเปิดอาคารเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2535 ประกอบด้วยห้องพักครูวิชาแนะแนว ห้องเรียนจำนวน 7 ห้องเรียน ใช้เป็นห้องเรียนวิชาแนะแนวและภาษาต่างประเทศ
เป็นอาคารเรียนวิชาศิลปะ ดนตรี-นาฎศิลป์
เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในวาระโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ก่อสร้างโดยเงินบริจาคของนักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
เป็นอาคาร 1 ชั้น ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์จำนวน 4 ห้องเรียน และห้องเรียนสีเขียว 1 ห้อง
เป็นอาคาร 1 ชั้น เดิมใช้สำหรับการทำปฏิบัติการฟิสิกส์ แต่ในปัจจุบันได้ใช้เป็นอาคารที่ทำการของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา
เป็นอาคาร 2 ชั้น ใช้ในการเรียนวิชาภาษาไทย
เป็นอาคารสำหรับเล่นกีฬาแบดมินตัน ตระกร้อ ปิงปอง และบาสเก็ตบอล
หลักสูตรและแผนการเรียน
การบริหารงานผู้อำนวยการโรงเรียน ครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่
กิจกรรมในโรงเรียนกิจกรรมสำคัญ
วันอานันทมหิดล หรือ วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมสำคัญได้แก่ พิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
วันอยุธยาวิทยาลัย ตรงกับวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบวันสถาปนาโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า หรือปัจจุบันคือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมในปี พ.ศ. 2448 ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2448 โดยในวันดังกล่าวจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ งานชาติเสือคืนถิ่น ซึ่งเป็นงานที่จะรวมศิษย์เก่า มาจัดกิจกรรมรื่นเริงพบปะสังสรรค์กัน และการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อแถลงกิจการงานของสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็นพิธีประดับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ "ค่าแห่งคุณธรรม" ของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ให้แก่นักเรียนที่ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีและเป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียน โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 โดยในแต่ละปีจะมีนักเรียนได้รับเพียงไม่กี่คน ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการของโรงเรียนเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมในการเข้าเสนอชื่อรับรางวัล โดยเกณฑ์ที่ใช้พิจารณามีดังต่อไปนี้
กิจกรรมกีฬาภายในงานกีฬาภายในของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย หรือ ชาติเสือเกมส์ เป็นงานกิจกรรมการแข่งขันกีฬาและกรีฑาภายในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ซึ่งงานจะจัดขึ้น 3 วันในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี โดยมีการแบ่งคณะสีทั้งหมดออกเป็น 6 คณะสี ได้แก่
ซึ่งจะไล่เรียงแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง โดยเริ่มจากห้องเลขที่แรกไปจนถึงห้องเลขที่สุดท้ายในแต่ละระดับชั้น ตามลำดับ บุคคลสำคัญรายพระนามและรายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง
นักธุรกิจ
ศิลปิน ดารา นักแสดง นักดนตรี นักกีฬา และผู้มีชื่อเสียง
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
|