ลัทธิอนาธิปไตย
ลัทธิอนาธิปไตย (อังกฤษ: Anarchism) เป็นปรัชญาและขบวนการทางการเมืองที่ตั้งข้อกังขาต่อการให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทุกรูปแบบ และต้องการยกเลิกสถาบันใดก็ตามที่มองว่าใช้การบีบบังคับและการจัดลำดับชั้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งโดยทั่วไปรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะรัฐบาล รัฐชาติ[1] และทุนนิยม ลัทธิอนาธิปไตยสนับสนุนการแทนที่รัฐด้วยสังคมไร้รัฐหรือสมาคมเสรีรูปแบบอื่น ๆ และในฐานะขบวนการฝ่ายซ้ายในประวัติศาสตร์ที่มักถูกวางลงในฝั่งซ้ายสุดของสเปกตรัมการเมือง ลัทธิอนาธิปไตย ชุมชนนิยม (Communalism (Bookchin)) และลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมนับเป็นปีกอิสรนิยมของขบวนการสังคมนิยม (สังคมนิยมแบบอิสรนิยม) ก่อนการสถาปนารัฐ ราชอาณาจักร หรือจักรวรรดิอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มนุษย์อาศัยในสังคมซึ่งไม่มีลำดับชั้นอย่างเป็นทางการ เมื่อองค์กรแบบลำดับชั้น (hierarchical organization) ถือกำเนิดขึ้น ความกังขาต่ออำนาจก็เช่นกัน แม้ว่าร่องรอยความคิดแนวอนาธิปไตยพบเห็นได้ตลอดห้วงประวัติศาสตร์ ลัทธิอนาธิปไตยสมัยใหม่ถือกำเนิดจากยุคเรืองปัญญา ขบวนการลัทธิอนาธิปไตยเติบโตในหลายแห่งทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ปลดปล่อย (emancipation) กรรมกร ในช่วงเวลานี้มีการก่อตั้งสำนักคิดอนาธิปไตยหลายสำนักขึ้นมา นักอนาธิปัตย์มีส่วนร่วมในการปฏิวัติหลายครั้ง ที่โดดเด่นเช่นคอมมูนปารีส สงครามกลางเมืองรัสเซีย และสงครามกลางเมืองสเปน ที่จุดจบของมันเป็นจุดจบยุคคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย (classical era of anarchism) ขบวนการอนาธิปไตยในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดำเนินมาจนคริสต์ศตวรรษที่ 21 ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ความนิยมและอิทธิพลเติบโตภายในขบวนการต่อต้านทุนนิยม (anti-capitalist) ขบวนการต่อต้านสงคราม (anti-war) และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalisation) นักอนาธิปัตย์ใช้ยุทธวิธีที่หลากหลาย (diversity of tactics) ในการบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์ สามารถแบ่งออกได้อย่างกว้าง ๆ เป็นยุทธวิธีปฏิวัติและยุทธวิธีวิวัฒนาการ ทั้งสองประเภทมีส่วนทับซ้อนกันอยู่บ้าง ยุทธวิธีปฏิวัติมุ่งที่จะล้มอำนาจและรัฐ และในอดีตเคยหันไปหาความรุนแรง ส่วนยุทธวิธีวิวัฒนาการมุ่งที่จะคาดการณ์ว่าสังคมแบบอนาธิปไตยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แนวคิด ข้อวิจารณ์ และปฏิบัติการ (Praxis (process)) ของลัทธิอนาธิปไตยมีบทบาทในหลากหลายบริเวณของสังคมมนุษย์ คำศัพท์และนิยามต้นกำเนิดทางศัพทมูลวิทยาของ anarchism คือภาษากรีกโบราณ anarkhia หมายถึง "ไร้ผู้ปกครอง" ซึ่งประกอบขึ้นจากอุปสรรค an- ("ไร้") และคำว่า arkhos ("ผู้นำ" หรือ "ผู้ปกครอง") ส่วนปัจจัย -ism หมายถึงกระแสอุดมการณ์ที่สนับสนุนอนาธิปไตย[3] Anarchism ปรากฎในภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1642 เป็น anarchisme และใน ค.ศ. 1539 เป็น anarchy การใช้งานคำในภาษาอังกฤษในช่วงแรกเน้นความหมายถึงความไร้ระเบียบ[4] หลายฝักฝ่ายในการปฏิวัติฝรั่งเศสตราหน้าฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น anarchists แม้ว่าน้อยคนที่ถูกกล่าวหาจะมีมุมมองร่วมกับนักอนาธิปัตย์ในภายหลัง นักปฏิวัติหลายคนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาทิวิลเลียม กอดวิน (William Godwin) (ค.ศ. 1756–1836) และวิลเฮ็ล์ม ไวท์ลิง (Wilhelm Weitling) (ค.ศ. 1808–1871) ได้มีส่วนร่วมต่อหลักการลัทธิอนาธิปไตยของคนรุ่นต่อไป แต่ไม่ได้เรียกตัวเองหรือความเชื่อของตัวเองว่า anarchist หรือ anarchism[5] นักปรัชญาการเมืองคนแรกที่เรียกตัวเองว่า anarchist (ฝรั่งเศส: anarchiste) คือปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง (Pierre-Joseph Proudhon) (ค.ศ. 1809–1865) เป็นกากบาทจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของลัทธิอนาธิปไตยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1890 และเริ่มต้นในประเทศฝรั่งเศส[6] คำว่า libertarianism มักใช้เป็นคำพ้องความหมายกับคำว่าลัทธิอนาธิปไตย[7] และยังคงถูกใช้ในความหมายเดียวกันอยู่อย่างแพร่หลายข้างนอกประเทศสหรัฐอเมริกา[8] การใช้คำว่า libertarianism ในบางกรณีหมายถึงปรัชญาตลาดเสรีปัจเจกนิยม (individualism) เท่านั้น โดยเฉพาะคำว่าลัทธิอนาธิปไตยตลาดเสรี (free-market anarchism) จะใช้คำว่า libertarian anarchism[9] แม้คำว่า libertarian โดยส่วนมากจะมีความหมายเหมือนกับลัทธิอนาธิปไตย[10] ความหมายของมันเจือจางลงไปจากการใช้งานในวงกว้างโดยกลุ่มที่มีความแตกต่างกันทางอุดมการณ์[11] ไม่ว่าจะเป็นพวกฝ่ายซ้ายใหม่ (New Left) หรือลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับพวกสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม (Authoritarian socialism) และพรรคแนวหน้า (vanguard party) หรือพวกเสรีนิยมทางวัฒนธรรม (cultural liberalism) ซึ่งสนใจเรื่องเสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) เป็นหลัก[11] นักอนาธิปัตย์บางคนเรียกตัวเองว่า libertarian socialist[12] เพื่อหลีกเลี่ยงนัยเชิงลบของลัทธิอนาธิปไตยและเน้นความเชื่อมโยงกับแนวคิดสังคมนิยม[11] คำว่า Anarchism เป็นคำที่ใช้เรียกฝ่ายต่อต้านอำนาจนิยม (anti-authoritarianism) ของขบวนการสังคมนิยม[13][nb 1] ลัทธิอนาธิปไตยเป็นขั้วตรงข้ามของสังคมนิยมรูปแบบอิงรัฐหรือจากบนลงล่าง[18] โดยทั่วไป นักวิชาการลัทธิอนาธิปไตยจะเน้นความเป็นสังคมนิยมของลัทธิอนาธิปไตย[19] และวิจารณ์ความพยายามสร้างการแบ่งขั้วระหว่างทั้งสอง[20] นักวิชาการบางคนกล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยม[11] และเป็นทั้งเสรีนิยมและสังคมนิยมแต่เป็นมากกว่า[21] ในขณะเดียวกัน นักวิชาการส่วนใหญ่ปฏิเสธแนวคิดลัทธิอนาธิปไตย-ทุนนิยม (anarcho-capitalism) โดยมองว่าเป็นการเข้าใจผิดในหลักการอนาธิปไตย[22][nb 2] ถึงแม้ว่าแก่นหลักแนวคิดลัทธิอนาธิปไตยคือการต่อต้านรัฐ (Anti-statism) แต่การให้นิยามของลัทธิอนาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการถกเถียงกันอย่างมากระหว่างนักวิชาการและนักอนาธิปัตย์ในประเด็นนี้ และกระแสการเมืองต่าง ๆ มองลัทธิอนาธิปไตยแตกต่างกันไปเล็กน้อย[24][nb 3] องค์ประกอบนิยามหลักประกอบด้วยเจตจำนงมุ่งหาสังคมที่ไร้การบีบบังคับ การไม่ยอมรับกลไกของรัฐ และการเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์ทำให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่และรุดหน้าไปสู่สังคมที่ไร้การบีบบังคับได้ และการนำเสนอวิธีการดำเนินไปสู่อนาธิปไตยในอุดมคติ[27] ประวัติยุคก่อนสมัยใหม่ก่อนการก่อตั้งเมืองและนคร อำนาจจัดตั้งยังไม่เกิดขึ้น แนวคิดแบบลัทธิอนาธิปไตยเกิดขึ้นมาในฐานะปฏิกิริยาต่อสถาบันอำนาจ[29] สารตั้งต้นของลัทธิอนาธิปไตยที่โด่งดังที่สุดในโลกโบราณอยู่ในจีนและกรีซ ในจีน นักปรัชญาลัทธิเต๋าเช่นจวงจื่อและเล่าจื๊อวางเค้าโครงให้กับลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญา (philosophical anarchism) (การถกเถียงกันว่าด้วยความชอบธรรมของรัฐ)[30] มีการกล่าวว่าในลัทธิเต๋าและลัทธิสโตอิกมี "การคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ" ที่มีในลัทธิอนาธิปไตย[31] มีการแสดงทัศนคติแบบอนาธิปไตยจากนักประพันธ์โศกนาฏกรรมและนักปรัชญาในกรีซ ไอส์คูลอสและโซโพเคลสใช้เรื่องปรัมปราชื่ออันตีโกเนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างกฎหมายซึ่งบังคับใช้โดยรัฐกับอัตตาณัติ (autonomy) ของบุคคล โสกราตีสตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจในเอเธนส์อยู่เสมอ และยืนหยัดในสิทธิในเสรีภาพทางความคิดของบุคคล ลัทธิซีนิก (Cynicism (philosophy)) ไม่ยอมรับกฎหมายมนุษย์ (โนมอส (Nomos (sociology))) และอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่พยายามใช้ชีวิตตามธรรมชาติ (ฟูสิส (physis)) ลัทธิสโตอิกสนับสนุนสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและไม่เป็นทางการระหว่างพลเมืองในสังคมโดยปราศจากรัฐ[32] ในยุโรปยุคกลาง ไม่มีกิจกรรมแบบลัทธิอนาธิปไตยยกเว้นขบวนการศาสนาพรตนิยมบางส่วน ขบวนการเหล่านี้และขบวนการมุสลิมอื่น ๆ ในภายหลังได้ให้กำเนิดแก่ลัทธิอนาธิปไตยเชิงศาสนา (Anarchism and religion) ในจักรวรรดิซาเซเนียน แมซแดก (Mazdak) เรียกร้องสังคมเสมอภาคและการเลิกล้มราชาธิปไตย แต่สุดท้ายโดนพระเจ้าโควอดที่ 1 (Kavad I) ประหารชีวิต[33] ในบัสรา หลายนิกายสอนต่อต้านรัฐ[34] ในยุโรป หลายนิกายพัฒนาแนวคิดที่ต่อต้านรัฐและเป็นแบบอิสรนิยม[35] เริ่มมีความสนใจในยุคโบราณใหม่อีกครั้งในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและความสนใจในการพิพากษาส่วนบุคคลในการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ ซึ่งฟื้นฟูองค์ประกอบของโลกิยนิยมแนวต่อต้านอำนาจนิยม โดยเฉพาะในฝรั่งเศส[36] มีการตั้งคำถามถึงผู้ถืออำนาจทางปัญญา (ทางโลกและทางศาสนา) ในยุคเรืองปัญญา และการปฏิวัติในคริสต์ทศวรรษ 1790 และ ค.ศ. 1848 ล้วนร่วมกันได้กระตุ้นการพัฒนาทางอุดมการณ์ของช่วงเวลาที่จะกลายเป็นยุคคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย[37] ยุคสมัยใหม่ในการปฏิวัติฝรั่งเศส กลุ่มพลพรรคอย่างพวกอ็องราเฌ (Enragés) และซ็อง-กูว์ล็อตประสบกับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของแนวคิดสหพันธรัฐและแนวคิดต่อต้านรัฐที่กำลังคุกรุ่น[38] แนวคิดอนาธิปไตยกระแสแรกพัฒนาขึ้นมาในประเทศอังกฤษยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาของวิลเลียม กอดวิน ซึ่งปฏิเสธความชอบธรรมทางจริยธรรมของรัฐ แนวคิดของมัคส์ ชเตียร์เนอร์ (Max Stirner) ปูทางไปสู่ปัจเจกนิยมและทฤษฎีมิวชวลลิสต์ (Mutualism (economic theory)) ของปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง หยั่งรากในฝรั่งเศส[39] จนช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1870 สำนักคิดอนาธิปไตยหลายสำนักมีนิยามที่ชัดเจนแล้ว และคลื่นโลกาภิวัตน์ของลัทธิอนาธิปไตยที่ในขณะนั้นไม่มีใครคาดคิดดำรงอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1880 ถึง 1914[40] ยุคคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตยจบลงเมื่อสงครามกลางเมืองสเปนถึงจุดจบ และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นยุคทองของลัทธิอนาธิปไตย[39] มีฮาอิล บาคูนิน สถาปนาลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่ม (collectivist anarchism) โดยดึงเอาแนวคิดจากมิวชวลลิสม์ และเข้าร่วมสมาคมกรรมกรสากล สหภาพแรงงานที่เป็นที่รู้จักในภายหลังในชื่อสากลที่หนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1864 เพื่อรวบรวมกระแสการปฏิวัติต่าง ๆ สากลนี้กลายเป็นอำนาจทางการเมืองที่สำคัญ โดยมีคาร์ล มาคส์ เป็นผู้นำและสมาชิกสภาทั่วไปของสากล ปีกของบาคูนิน (สหพันธ์ฌูรา (Jura Federation)) กับผู้ติดตามของพรูดง (พวกมิวชวลลิสต์) ต่อต้านสังคมนิยมรัฐและสนับสนุนการงดการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการถือครองที่ดินขนาดเล็ก[41] หลักจากขัดแย้งกันอย่างหนัก ปีกของบาคูนินถูกพวกมาร์กซิสต์ขับไล่ออกจากสากลที่การประชุมใหญ่กรุงเฮก ค.ศ. 1872[42] และใน ค.ศ. 1896 อนาธิปัตย์ถูกขับไล่ออกจากสากลที่สองในแบบเดียวกัน[43] คำทำนายของบาคูนินที่โด่งดังกล่าวว่าหากนักปฏิวัติได้อำนาจตามแบบของมาคส์ สุดท้ายพวกเขาก็จะกลายเป็นทรราชคนใหม่ของกรรมกร กลุ่มอนาธิปไตยที่ถูกขับไล่ออกจากสากลที่หนึ่งร่วมกันก่อตั้งองค์การอนาธิปไตยสากลแซ็งต์-อีมีเย ลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์เป็นแนวคิดที่คาบเกี่ยวกับกลุ่มนิยม (collectivism) ที่รับอิทธิพลมาจากนักอนาธิปัตย์ชาวรัสเซียปิออตร์ โครปอตกิน (Peter Kropotkin)[44] นักอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์สนับสนุนสหพันธรัฐที่เสรีและการกระจายสินค้าตามความต้องการของแต่ละคน โดยได้แรงบันดาลใจจากคอมมูนปารีส[45] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลัทธิอนาธิปไตยแพร่กระจายไปทั่วโลก[46] และเป็นส่วนสำคัญในขบวนการสหการนิยมระดับนานาชาติ[47] ในประเทศจีน นักเรียนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งชูแนวคิดอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์แนวมนุษยนิยมที่สนับสนุนวิทยาศาสตร์[48] เยาวชนขบถจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเดินทางมาศึกษาที่โตเกียวซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมของนักเรียนกลุ่มนั้น[49] ในลาตินอเมริกา อาร์เจนตินา (Anarchism in Argentina) เป็นฐานที่มั่นของสหการนิยมแบบอนาธิปไตย (anarcho-syndicalism) ซึ่งกลายเป็นอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่โดดเด่นที่สุดในประเทศ[50] ในช่วงเวลาเดียวกัน อนาธิปัตย์ส่วนน้อยเลือกใช้ยุทธวิธีปฏิวัติด้วยความรุนแรงทางการเมือง (political violence) ที่เรียกว่าการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการกระทำ (propaganda of the deed)[51] หลังขบวนการสังคมนิยมฝรั่งเศสแตกออกเป็นหลาย ๆ กลุ่ม และหลังจากการปราบปรามคอมมูนปารีสและการประหารชีวิตหรือเนรเทศกอมูว์นาร์ (Communards) ไปยังทัณฑนิคมต่าง ๆ ได้เปิดทางให้แก่การแสดงออกและการกระทำทางการเมืองของปัจเจก[52] แม้ว่าอนาธิปัตย์หลายคนถอยตัวเองออกห่างจากการก่อการร้าย ขบวนการก็ได้รับชื่อเสียงในทางลบและมีความพยายามป้องกันไม่ให้อนาธิปัตย์อพยพเข้าสหรัฐ เช่นรัฐบัญญัติคนเข้าเมือง ค.ศ. 1903 (Immigration Act of 1903) เรียกอีกชื่อว่ากฎหมายกีดกันอนาธิปัตย์ (Anarchist Exclusion Act)[53] อีกหนึ่งยุทธวิธีที่อนาธิปัตย์บางคนใช้ในช่วงเวลานี้คือคตินิยมผิดกฎหมาย (Illegalism)[54] แม้จะมีความกังวล แต่นักอนาธิปัตย์เข้าร่วมในการปฏิวัติรัสเซียเพื่อต่อต้านขบวนการขาวอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะในมัคนอวช์ชือนา (Makhnovshchina) แต่เมื่อรัฐบาลบอลเชวิค (Bolshevik government) คงตัวแล้วกลับถูกปราบปรามอย่างหนัก เช่นในกบฏครอนชตัดต์ (Kronstadt rebellion) อนาธิปัตย์หลายคนจากเปโตรกราดและมอสโกหนีมาที่ยูเครน ก่อนที่พวกบอลเชวิคจะสามารถทำลายขบวนการอนาธิปไตยที่นั่นได้ในที่สุด[55] หลังจากการปราบปรามในรัสเซีย กระแสการเมืองสองกลุ่มใหม่ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันเกิดขึ้นมา กล่าวคือคติแพลตฟอร์ม (platformism) กับลัทธิอนาธิปไตยสังเคราะห์ (synthesis anarchism) คติแพลตฟอร์มต้องการสร้างกลุ่มก้อนที่เชื่อมโยงกันเพื่อทำการปฏิวัติ ในขณะที่ลัทธิอนาธิปไตยสังเคราะห์ต่อต้านทุกอย่างที่คล้ายพรรคการเมือง คนงานและนักกิจกรรมหลายคนหันหน้าหาพรรคคอมมิวนิสต์หลังจากได้เห็นชัยชนะของพวกบอลเชวิคในการปฏิวัติเดือนตุลาคมและสงครามกลางเมืองรัสเซียที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ขบวนการอนาธิปไตยและสังคมนิยมกระแสอื่น ๆ สมาชิกของขบวนการสหการนิยมขนาดใหญ่ในฝรั่งเศสและสหรัฐลาออกจากองค์กรเดิม อาทิสมาพันธ์แรงงานทั่วไปฝรั่งเศส (General Confederation of Labour (France)) และคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก แล้วไปเข้าร่วมองค์การคอมมิวนิสต์สากล[56] ในสงครามกลางเมืองสเปนระหว่าง ค.ศ. 1936-1939 นักอนาธิปัตย์กับสหการนิยม (สมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปนกับสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรีย) จับมือกับกระแสการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ อีกครั้งหนึ่ง ธรรมเนียมลัทธิอนาธิปไตยสเปน (Anarchism in Spain) ที่มีมาอย่างยาวนานได้ทำให้นักอนาธิปัตย์มีบทบาทหลักในสงคราม โดยเฉพาะในการปฏิวัติสเปน ค.ศ. 1936 (Spanish Revolution of 1936) ในการตอบโต้กองทัพที่กบฏต่อรัฐบาลสาธารณรัฐ ขบวนการชาวนาและคนงานแนวอนาธิปไตยที่ได้รับความสนับสนุนจากกองกำลังติดอาวุธได้เข้าควบคุมเมืองบาร์เซโลนาและพื้นที่ชนบทสเปนขนาดใหญ่และเปลี่ยนที่ดินกลายเป็นของส่วนรวม[57] สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนอยู่บ้างในช่วงต้นสงครามกลางเมืองในปริมาณที่จำกัด ผลสุดท้ายเกิดความขัดแย้งกันระหว่างพวกคอมมิวนิสต์กับพวกฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ในเหตุการณ์เมย์เดส์ (May Days) เมื่อโจเซฟ สตาลิน ใช้อำนาจโซเวียตควบคุมเหนือรัฐบาลสาธารณรัฐ และลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของอนาธิปัตย์ด้วยเงื้อมมือคอมมิวนิสต์[58] หลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงไป ขบวนการอนาธิปไตยอ่อนแออย่างสาหัส[59] ลัทธิอนาธิปไตยเติบโตขึ้นใหม่อีกครั้งในคริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นเหตุจากความล้มเหลวของลัทธิมากซ์-เลนินและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากสงครามเย็น[60] ในช่วงเวลานี้ ลัทธิอนาธิปไตยไปปรากฏอยู่ในขบวนการต่าง ๆ ที่วิพากษ์ทุนนิยมและรัฐ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ (Anti-nuclear movement) ขบวนการสิ่งแวดล้อม (Environmental movement) ขบวนการสันติภาพ (peace movement) วัฒนธรรมต่อต้านในคริสต์ทศวรรษ 1960 (counterculture of the 1960s) และฝ่ายซ้ายใหม่[61] และยังแปลงตัวเองจากความเป็นปฏิวัติในอดีตไปเป็นการปฏิรูปแบบต่อต้านทุนนิยม (anti-capitalist reform) แนวยั่วยุท้าทาย[62] ลัทธิอนาธิปไตยถูกเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมย่อยพังก์ (punk subculture) เห็นได้จากวงดนตรีเช่นคราสส์ (Crass) และเซ็กซ์พิสทอลส์[63] สตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตย (anarcha-feminism) ซึ่งเป็นกลุ่มแนวสตรีสิทธินิยมที่มีอยู่ก่อนแล้วกลับมามีพลังท่ามกลางกระแสการเมืองสตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สอง (second-wave feminism)[64] อนาธิปไตยคนผิวดำ (Black anarchism) เริ่มประกอบร่างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และส่งอิทธิพลให้สัดส่วนประชากรในขบวนการลัทธิอนาธิปไตยเปลี่ยนจากการมีชาวยุโรปเป็นหลัก (Eurocentrism)[65] พร้อมกับการที่ไม่สามารถจับกระแสในยุโรปเหนือได้แต่กลับได้รับความสนใจในระดับที่คาดไม่ถึงในแถบลาตินอเมริกา[66] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ลัทธิอนาธิปไตยได้รับความนิยมและมีอิทธิพลมากขึ้นภายในขบวนการต่อต้านทุนนิยม ขบวนการต่อต้านสงคราม และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์[67] นักอนาธิปัตย์กลายเป็นที่รู้จักจากการมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านการประชุมองค์การการค้าโลก กลุ่ม 8 (G8) และสภาเศรษฐกิจโลก กลุ่มอนาธิปัตย์บางกลุ่มในการประท้วงเหล่านี้เข้าร่วมการจลาจล ทำลายทรัพย์สิน และเผชิญหน้ากับตำรวจด้วยความรุนแรง ปฏิบัติการเหล่านี้กระทำโดยกลุ่มแกนนำนิรนามเฉพาะกิจที่ไม่มีผู้นำที่เรียกว่าแนวร่วมชุดดำ (black bloc) ยุทธวิธีการรวมตัวอื่นซึ่งถูกริเริ่มในช่วงเวลานี้ได้แก่วัฒนธรรมความมั่นคง (security culture) กลุ่มเครือสหาย และการใช้เทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ เช่นอินเทอร์เน็ต หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานี้คือการประจันหน้ากันที่การประท้วงองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเทิล ค.ศ. 1999 (1999 Seattle WTO protests)[67] แนวคิดอนาธิปไตยมีอิทธิพลต่อการพัฒนาของซาปาติสตาในเม็กซิโกและของฝ่ายปกครองตนเองซีเรียเหนือและตะวันออกหรือโรจาวาซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองโดยพฤตินัยในซีเรียเหนือ[68] แม้ว่าลัทธิอนาธิปไตยจะมีจุดมุ่งหมายเป็นการปฏิวัติ แต่หลายกลุ่มไม่ใช้การเผชิญหน้าอีกต่อไป และใช้วิธีการสร้างทางเลือกใหม่สำหรับการจัดระเบียบทางสังคมแทน โดยมีพื้นฐานเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกันและการร่วมมือกันโดยสมัครใจ นักวิชาการคาริสซา ฮันนีเวลล์ (Carissa Honeywell) ยกตัวอย่างของกลุ่มคอลเลกทีฟฟูดนอตบอมส์ (Food not Bombs) เพื่อชี้ถึงวิธีการทำงานของกลุ่มอนาธิปไตย กล่าวคือการกระทำโดยตรง (direct action) การทำงานร่วมกัน และความสามัคคีกับผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และในขณะเดียวกันให้ความรู้เกี่ยวกับอัตราความหิวโหยในโลกที่เพิ่มขึ้น และเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาความหิวโหย ตั้งแต่การลดงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมอาวุธจนถึงการจัดการกับนโยบายห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์และสิทธิบัตรของมอนซานโต้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาการทำให้อาหารและที่อยู่อาศัยกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์[69] ฮันนีเวลล์ชี้ว่าอนาธิปัตย์ร่วมสมัยไม่ได้ให้ความสนใจกับความเจริญของมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงความเจริญของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมด้วย[70] และกล่าวว่าปัญหาที่เพิ่มพูนไม่ว่าจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหรือความยากจนทั่วโลกกำลังแสดงให้เห็นว่ากรอบที่มีอยู่ในปัจจุบันนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเหล่านี้ของมนุษยชาติได้แล้ว แต่ยังเป็นเหตุปัจจัยของพวกมันด้วย ส่งผลให้มีแนวคิดที่ปฏิเสธระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนและองค์ของรัฐเอง[71] สำนักคิดโดยทั่วไป สำนักคิดอนาธิปไตยถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือลัทธิอนาธิปไตยสังคม (social anarchism) และลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก (individualist anarchism) ตามต้นกำเนิด ค่านิยม และวิวัฒนาการของแต่ละแนวคิด[72] สำนักปัจเจกนิยมให้ความสำคัญกับเสรีภาพเชิงลบ (negative liberty) ในการต่อต้านข้อจำกัดของปัจเจกบุคคลเสรี ในขณะที่สำนักสังคมให้ความสำคัญกับเสรีภาพเชิงบวก (positive liberty) ในการบรรลุศักยภาพเสรีของสังคมผ่านความเท่าเทียมและการเป็นเจ้าของร่วมกันในสังคม (social ownership)[73] หากแบ่งตามลำดับเวลา ลัทธิอนาธิปไตยสามารถแบ่งออกเป็นสำนักคลาสสิกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสำนักหลังคลาสสิกที่พัฒนาต่อจากนั้นมา (สตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตย ลัทธิอนาธิปไตยสีเขียว (green anarchism) และหลังลัทธิอนาธิปไตย (post-anarchism))[74] นอกเหนือจากฝักฝ่ายต่าง ๆ ในขบวนการอนาธิปไตยซึ่งเป็นลัทธิอนาธิปไตยทางการเมืองแล้ว ยังมีลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาที่มองว่ารัฐไม่มีความชอบธรรมทางศีลธรรม แต่ไม่ได้ยอมรับว่าการปฏิวัติล้มล้างมันเป็นสิ่งจำเป็น[75] ลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก[76] และอาจยอมให้มีรัฐขนาดเล็ก (minimal state) ได้ แต่มองว่าพลเมืองไม่มีภาระหน้าที่ทางศีลธรรม (moral obligation) ที่จะต้องเชื่อฟังรัฐบาลหากมันขัดแย้งกับอัตตาณัติของปัจเจกบุคคล[77] ลัทธิอนาธิปไตยให้ความสนใจกับการให้เหตุผลทางศีลธรรมเป็นพิเศษเพราะจริยธรรมเป็นแก่นกลางของปรัชญาอนาธิปไตย[78] การให้ความสำคัญกับคติต่อต้านทุนนิยม สมภาคนิยม (egalitarianism) และการขยายตัวของชุมชนและความเป็นปัจเจกเป็นสิ่งที่แยกลัทธิอนาธิปไตยออกจากแนวคิดจำพวกลัทธิอนาธิปไตย-ทุนนิยมและอิสรนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic liberalism) ชนิดอื่น ๆ[22] ลัทธิอนาธิปไตยมักถูกวางไว้บนฝั่งซ้ายสุดของสเปกตรัมการเมือง[79] เศรษฐศาสตร์ (Anarchist economics) และนิติปรัชญา (Anarchist law) ของลัทธิอนาธิปไตยสะท้อนการตีความการเมืองฝ่ายซ้ายและสังคมนิยมแบบต่อต้านอำนาจนิยม ต่อต้านรัฐ อิสรนิยม และมูลวิวัติ (Radical politics)[14] อาทิกลุ่มนิยม คอมมิวนิสต์ ปัจเจกนิยม มิวชวลลิสต์ สหการนิยม (anarcho-syndicalism) และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวสังคมนิยมแบบอิสรนิยมอื่น ๆ[80] ลัทธิอนาธิปไตยมีหลากหลายชนิดและหลากหลายกลุ่มซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก[81] เพราะลัทธิอนาธิปไตยไม่ได้กำหนดชุดหลักการจากโลกทัศน์แนวหนึ่งโดยเฉพาะ[82] ลัทธิอนาธิปไตยโดยปราศจากคุณศัพท์เป็นปฏิกิริยาต่อการแบ่งฝักฝ่าย (sectarianism) ภายในแวดวงอนาธิปัตย์ โดยเป็นการเรียกร้องให้อนาธิปัตย์ยอมให้กันและมีเอกภาพ เฟร์นันโด ตาร์ริดา เดล มาร์โมล (Fernando Tarrida del Mármol) เป็นผู้นำมาใช้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1889 เพื่อตอบโต้การถกเถียงเกี่ยวกับทฤษฎีอนาธิปไตยในยุคนั้น[83] นักอนาธิปัตย์เคยยอมรับแนวคิดสุญนิยม (nihilism) ทางการเมือง[84] ถึงแม้ว่ามีการแบ่งกลุ่มกัน แต่สำนักคิดอนาธิปไตยต่าง ๆ ไม่นับเป็นสิ่งที่ต่างกันแต่เป็นกลุ่มการเมืองที่ผสมและเชื่อมโยงกันผ่านชุดของหลักการที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอัตตาณัติของปัจเจกและท้องถิ่น ระบบร่วมด้วยช่วยกัน (mutual aid) องค์การแบบเครือข่าย ประชาธิปไตยชุมชน อำนาจที่ชอบธรรม และการกระจายอำนาจ[85] คลาสสิกกระแสลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกเริ่มต้นมีมิวชวลลิสม์กับลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก และตามมาด้วยกระแสลัทธิอนาธิปไตยสังคม (กลุ่มนิยม คอมมิวนิสต์ และสหการนิยม) ทั้งสองแตกต่างกันในมุมมองการจัดระเบียบและเศรษฐกิจของสังคมในอุดมคติ[87] มิวชวลลิสม์เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จากคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งถูกพัฒนากลายเป็นทฤษฎีอนาธิปไตยโดยปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง โดยมีเป้าหมายเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocity (cultural anthropology)) สมาคมเสรีของผู้ผลิต (Free association of producers) สัญญาสมัครใจ สหพันธรัฐ และการปฏิรูปการเงิน (monetary reform) ทั้งสินเชื่อและเงินตราโดยมีธนาคารของประชาชนเป็นผู้กำกับ[88] ในภายหลังมีการจัดให้มิวชวลลิสม์เป็นแนวคิดที่อยู่กึ่งกลางทางอุดมการณ์ระหว่างลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกกับแบบกลุ่ม[89] พรูดงกล่าวถึงเป้าหมายของเขาเป็นครั้งแรกใน What Is Property? (ค.ศ. 1840) ว่าเป็น "สังคมรูปแบบที่สาม ภาวะสังเคราะห์ของชุมชนกับทรัพย์สิน"[ฉ][90] ลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่มเป็นลัทธิอนาธิปไตยแนวสังคมนิยมปฏิวัติ (revolutionary socialism)[91] ซึ่งสัมพันธ์กับมีฮาอิล บาคูนิน[92] อนาธิปัตย์แบบกลุ่มสนับสนุนให้กลุ่มเป็นเจ้าของ (collective ownership) ปัจจัยการผลิตโดยมีทฤษฎีว่าจะสำเร็จได้ผ่านการปฏิวัติด้วยความรุนแรง[93] และสนับสนุนให้คนงานมีรายได้ตามเวลาที่ทำงาน แทนที่จะให้สินค้าถูกกระจายออกตามความต้องการของแต่ละคนอย่างเช่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่มเกิดขึ้นมาพร้อมกับลัทธิมากซ์แต่ปฏิเสธแนวคิดเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) ถึงแม้จะมีเป้าหมายแบบลัทธิมากซ์เป็นสังคมไร้รัฐแบบกลุ่มนิยม[94] ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอนาธิปไตยเป็นทฤษฎีลัทธิอนาธิปไตยที่สนับสนุนให้มีสังคมคอมมิวนิสต์ซึ่งส่วนรวมเป็นเจ้าของ (common ownership) ปัจจัยการผลิต[95] โดยมีเครือข่ายสหพันธ์ของสมาคมสมัครใจเป็นผู้ถือครอง[96] และให้การผลิตและการบริโภคอยู่บนพื้นฐานหลักการนำว่า "จากทุกคนตามที่สามารถ ให้ทุกคนตามที่ต้องการ" (From each according to his ability, to each according to his need)[97] ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอนาธิปไตยพัฒนามาจกกระแสการเมืองสังคมนิยมมูลวิวัติหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส[98] แต่ก่อตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในสัดส่วนอิตาลีของสากลที่หนึ่ง (First International)[99] งานทฤษฎีของปิออตร์ โครปอตกิน ขยายความแนวคิดนี้[100] และต่อมาแนวทางของเขากลายเป็นมุมมองหลักของอนาธิปัตย์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[101] สหการนิยมแบบอนาธิปไตยเป็นลัทธิอนาธิปไตยที่มองว่าสหการแรงงาน (labour syndicate) เป็นกำลังที่มีศักยภาพปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม แทนที่ทุนนิยมกับรัฐด้วยสังคมใหม่ที่จัดการตนเองโดยคนงานผ่านประชาธิปไตย หลักการพื้นฐานของสหการนิยมแบบอนาธิปไตยประกอบด้วยการกระทำโดยตรง ความสามัคคีของคนงาน (solidarity) และการจัดการโดยคนงานเอง (workers' self-management)[102] ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกเป็นชุดของกลุ่มการเมืองในขบวนการอนาธิปไตยที่เน้นเรื่องของปัจเจก (individual) และเจตจำนงของปัจเจก (Will (philosophy)) เหนือตัวกำหนดภายนอกชนิดอื่น ๆ[103] ผู้มีอิทธิพลต่อลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกในตอนแรกประกอบด้วยวิลเลียม กอดวิน มัคส์ ชเตียร์เนอร์ และเฮนรี เดวิด ทอโร ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกสามารถดึงดูดศิลปินโบฮีเมียน (bohemianism) และปัญญาชนมาเป็นผู้ติดตามกลุ่มเล็ก ๆ แต่หลากหลายได้ในหลายประเทศ[104] รวมถึงอนาธิปัตย์นอกกฎหมายวัยเยาว์ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อคตินิยมผิดกฎหมายและการยึดคืนส่วนบุคคล (individual reclamation)[105] หลังคลาสสิกและร่วมสมัยหลักการอนาธิปไตยเป็นพื้นฐานของขบวนการทางสังคมแนวมูลวิวัติร่วมสมัยของฝ่ายซ้าย ความสนใจในลัทธิอนาธิปไตยพัฒนาขึ้นพร้อมกับแรงส่งในขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์[106] ที่เครื่อข่ายนักกิจกรรมนำมีแนวโน้มแบบอนาธิปไตย[107] หลักการอนาธิปไตยได้รับการยอมรับมากขึ้นเมื่อมีส่วนในการร่างเค้าโครงคติมูลวิวัติของคริสต์ศตวรรษที่ 21 และส่งสัญญาณถึงความสนใจที่ฟื้นกลับมา[107] ลัทธิอนาธิปไตยยังคงผลิตขบวนการและนักปรัชญาออกมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งบางคราวเป็นการสรรผสานจากหลากหลายแหล่งที่มาและแนวคิดเข้าด้วยกันเพื่อสร้างแนวทางปรัชญาแบบใหม่[108] แนวคิดต่อต้านทุนนิยมของลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกยังคงเป็นแนวคิดหลักในลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัย[109] การรายงานข่าวร่วมสมัยที่ให้ความสำคัญกับการชุมนุมแบบแนวร่วมชุดดำส่งเสริมภาพจำความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างลัทธิอนาธิปไตยกับความไร้ระเบียบและความรุนแรง ชื่อเสียงของมันทำให้นักวิชาการในสาขาวิชาอย่างมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการอนาธิปไตย อย่างไรก็ตามลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยสนับสนุนการกระทำเหนือทฤษฎีทางวิชาการ[110] กลุ่ม แนวโน้ม และสำนักคิดอนาธิปไตยร่วมสมัยมีอยู่หลากหลาย ทำให้อธิบายลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยได้อย่างยากลำบาก[111] ถึงแม้ว่านักทฤษฎีและนักกิจกรรมจะกำหนดชุดของหลักการอนาธิปไตยที่ค่อนข้างคงที่ไว้แล้ว แต่ยังขาดฉันทมติว่าหลักการใดเป็นแก่นกลางหลัก นักวิจารณ์กล่าวถึงลัทธิอนาธิปไตยในฐานะกลุ่มการเมืองมากกว่าลัทธิอนาธิปไตยแนวคิดเดียว โดยมีหลักการร่วมกันระหว่างแต่ละสำนักอนาธิปไตย แต่แต่ละกลุ่มจะให้ความสำคัญกับหลักการเหล่านั้นแตกต่างกันไป ความเท่าเทียมทางสถานะเพศอาจเป็นหลักการที่มีร่วมกัน แต่มีความสำคัญในสตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตยมากกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอนาธิปไตย[112] โดยทั่วไป อนาธิปัตย์ต่อต้านอำนาจแบบบีบบังคับในทุกรูปแบบ กล่าวคือ "รัฐบาลที่รวมศูนย์อำนาจและเป็นลำดับชั้นทุกรูปแบบ (อาทิราชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน สังคมนิยมรัฐ ฯลฯ) ระบบชนชั้นทางเศรษฐกิจ (อาทิทุนนิยม ลัทธิบอลเชวิค ระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบทาส ฯลฯ) ศาสนาอัตตาธิปัตย์ (อาทิอิสลามแบบมูลฐานนิยม โรมันคาทอลิก ฯลฯ) ปิตาธิปไตย คตินิยมรักต่างเพศ ความสูงสุดของคนผิวขาว และจักรวรรดินิยม"[ช][113] แต่ละสำนักอนาธิปไตยเห็นต่างกันตรงที่วิธีการต่อต้านสิ่งเหล่านี้[114] หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม (equal liberty) มีความใกล้เคียงกับจริยธรรมทางการเมืองแนวอนาธิปไตยมากกว่าในแง่ที่เป็นการก้าวข้ามแนวทางแบบเสรีนิยมและสังคมนิยม ซึ่งแสดงว่าไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพหรือความเท่าเทียมล้วนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐ ส่งผลให้ตั้งคำถามต่อการครอบงำและลำดับชั้นในทุกรูปแบบ[115] ยุทธวิธีอนาธิปัตย์ใช้ยุทธวิธีหลากหลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปมีอยู่สองเป้าหมายหลัก ๆ กล่าวคือ ประการแรกเพื่อต่อต้านสถาบันที่ดำรงอยู่ (the Establishment) และประการที่สองเพื่อส่งเสริมจริยธรรมอนาธิปไตยและสะท้อนวิสัยทัศน์ของสังคมแบบอนาธิปไตย เหล่านี้แสดงถึงเอกภาพระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย[116] การจัดประเภทโดยกว้างแบ่งแยกระหว่างเป้าหมายเพื่อที่จะทำลายรัฐและสถาบันที่กดขี่ด้วยวิธีการปฏิวัติในด้านหนึ่ง กับเป้าหมายเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านวิธีการวิวัฒนาการในอีกด้านหนึ่ง[117] ยุทธวิธีวิวัฒนาการใช้แนวทางความไม่รุนแรง (nonviolence) ปฏิเสธความรุนแรง และเดินหน้าสู่เป้าหมายอนาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ยุทธวิธีทั้งสองแบบมีส่วนทับซ้อนกันอยู่[118] ยุทธวิธีอนาธิปไตยเปลี่ยนไปตลอดศตวรรษที่ผ่านมา อนาธิปัตย์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ให้ความสำคัญกับการนัดหยุดงานและการปะทะ แต่อนาธิปัตย์ร่วมสมัยใช้แนวทางที่กว้างขึ้น[119] สมัยคลาสสิกในสมัยคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย อนาธิปัตย์มีแนวทางปะทะต่อสู้ นอกจากการเผชิญหน้ากับกองกำลังติดอาวุธของรัฐเช่นในสเปนและยูเครน ยังมีการใช้การก่อการร้ายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการกระทำ มีความพยายามลอบสังหารประมุขแห่งรัฐซึ่งในบางกรณีทำได้สำเร็จ อนาธิปัตย์ยังมีส่วนร่วมในการปฏิวัติต่าง ๆ[120] อนาธิปัตย์บางคน โดยเฉพาะพวกกัลเลอานิสตี (Galleanisti) เชื่อว่าความพยายามเหล่านี้จะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านทุนนิยมและรัฐ[121] ในหลายกรณีผู้โจมตีเป็นปัจเจกบุคคลและส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1870 ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1880 และในคริสต์ทศวรรษ 1890 และยังมีบางกรณีเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900[122] ความแพร่หลายของวิธีนี้ลดน้อยลงไปอันเป็นผลจากอำนาจตุลาการที่เพิ่มขึ้นและการเพ่งเล็งและเก็บรายชื่อโดยสถาบันรัฐ[123] มุมมองของอนาธิปัตย์ต่อความรุนแรงเป็นข้อถกเถียงมาโดยตลอด[124] ลัทธิอนาธิปไตยแบบสันตินิยม (Anarcho-pacifism) สนับสนุนวิธีการไม่รุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายไม่รุนแรงที่ไม่มีรัฐ[125] อนาธิปัตย์กลุ่มอื่น ๆ สนับสนุนการกระทำโดยตรงซึ่งอาจประกอบด้วยการก่อวินาศกรรม (sabotage) หรือการก่อการร้าย แนวคิดนี้เป็นทัศนคติหลักในศตวรรษที่ผ่านมาเพราะมองว่ารัฐเป็นทรราช และอนาธิปัตย์บางคนเชื่อว่าพวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะต่อต้านการกดขี่ (oppression) โดยรัฐด้วยวิธีใดก็ตามที่มีความสามารถจะทำ[126] เอมมา โกลด์แมน (Emma Goldman) และแอร์รีโก มาลาเตสตา (Errico Malatesta) เป็นผู้สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในระดับจำกัด โดยกล่าวว่าความรุนแรงนี้เป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อความรุนแรงโดยรัฐและเป็นความชั่วร้ายจำเป็น (necessary evil)[127] อนาธิปัตย์มีบทบาทอย่างแข็งขันในการนัดหยุดงาน (strike action) แม้ว่าจะไม่พอใจกับแนวคิดสหการนิยมตามแบบและมองว่าเป็นแนวคิดปฏิรูปนิยม (reformism) พวกเขามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐและระบอบทุนนิยม.[128] อนาธิปัตย์ยังได้ส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อภายในแวดวงศิลปะ บางส่วนปฏิบัติตามคตินิยมธรรมชาติ (naturism) พวกเขาสร้างชุมชนบนพื้นฐานของมิตรภาพและมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมข่าว (news media)[129] ปฏิวัติอนาธิปัตย์ชาวอิตาลีอัลเฟรโด โบนันโน (Alfredo Bonanno) ผู้สนับสนุนลัทธิอนาธิปไตยแบบก่อการกบฏ (insurrectionary anarchism) ได้รื้อฟื้นข้อถกเถียงเกี่ยวกับความรุนแรงขึ้นมาใหม่ด้วยการปฏิเสธยุทธวิธีไม่รุนแรงที่โครปอตกินและอนาธิปัตย์คนสำคัญต่อ ๆ มานำมาใช้ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โบนันโนและกลุ่มชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่าคณะกรรมการล่องหน (The Invisible Committee) สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มเครือสหายขนาดเล็กที่ไม่เป็นทางการขึ้นมา โดยสมาชิกแต่ละคนจะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองแต่ทำงานร่วมกันเพื่อโค่นล้มการกดขี่ผ่านการก่อวินาศกรรมและการใช้ความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ ต่อรัฐ ทุนนิยม และศัตรูอื่น ๆ สมาชิกของคณะกรรมการล่องหนถูกจับกุมใน ค.ศ. 2008 ด้วยหลายข้อหา หนึ่งในนั้นคือข้อหาก่อการร้าย[130] โดยรวมแล้ว อนาธิปัตย์ร่วมสมัยใช้ความรุนแรงและการปะทะต่อสู้น้อยกว่าบรรพชนทางอุดมการณ์มาก ส่วนใหญ่จะปะทะกับตำรวจระหว่างการชุมนุมและการจลาจล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแคนาดา (Anarchism in Canada) กรีซ (Anarchism in Greece) และเม็กซิโก (Anarchism in Mexico) เป็นต้น กลุ่มประท้วงแนวร่วมชุดดำแบบเผชิญหน้าเป็นที่รู้จักจากการปะทะกับตำรวจ[131] ทว่าอนาธิปัตย์ไม่ได้ปะทะกับผู้กระทำที่เป็นรัฐเท่านั้น แต่ยังต่อสู้กับฟาสซิสต์และพวกเหยียดเชื้อชาติด้วย ด้วยการดำเนินปฏิบัติการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (anti-fascism) และการระดมพลป้องกันไม่ให้การเดินขบวนแสดงความเกลียดชังจัดขึ้นได้[132] วิวัฒนาการอนาธิปัตย์โดยทั่วไปใช้การกระทำโดยตรง อาจเป็นในรูปแบบของการขัดขวางและการประท้วงต่อต้านลำดับชั้น (hierarchy) ที่อยุติธรรม หรือในรูปแบบของการจัดการชีวิตของตนเองผ่านการสร้างสถาบันต่อต้านไม่ว่าจะเป็นคอมมูนหรือคอลเลกทีฟที่ไม่มีลำดับชั้น[117] ซึ่งการตัดสินใจทำในแนวทางต่อต้านอำนาจนิยม โดยทุกคนมีปากเสียงเท่า ๆ กันในการตัดสินใจแต่ละกรณี แนวทางนี้เรียกว่าวิถีระนาบ (horizontalism)[133] อนาธิปัตย์ร่วมสมัยมีส่วนร่วมในหลายขบวนการรากหญ้าที่ตั้งอยู่บนวิถีระนาบไม่มากก็น้อยแม้ว่าจะไม่ได้เป็นแนวอนาธิปไตยอย่างชัดเจน ซึ่งเคารพในอัตตาณัติของบุคคลและเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมของมวลชนไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานหรือการชุมนุม ลัทธิอนาธิปไตยแบบ a ตัวเล็กแบบใหม่นี้แสดงถึงความแตกต่างจากลัทธิอนาธิปไตยแบบ A ตัวใหญ่ของสมัยคลาสสิกตรงที่แนวทางของการไม่วางความคิดและการกระทำไว้บนฐานของลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกหรืออ้างอิงอนาธิปัตย์สมัยคลาสสิกอย่างปิออตร์ โครปอตกิน และปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ความคิดเห็นของพวกเขา อนาธิปัตย์พวกนี้นิยมวางความคิดและปฏิบัติการของพวกเขาบนฐานของประสบการณ์ของตัวเองซึ่งจะนำมาสร้างทฤษฎีในภายหลัง[134] กระบวนการตัดสินใจของกลุ่มเครือสหาย (affinity group) อนาธิปัตย์ขนาดเล็กมีบทบาทที่สำคัญทางยุทธวิธี[135] อนาธิปัตย์สร้างฉันทมติภายในสมาชิกกลุ่มโดยไม่ต้องมีผู้นำหรือกลุ่มผู้นำด้วยวิธีการที่หลากหลาย วิธีการหนึ่งให้บุคคลหนึ่งจากกลุ่มทำหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยการสร้างฉันทมติโดยไม่เข้ามีส่วนร่วมในการสนทนาเองหรือชูประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เสียงข้างน้อยโดยปกติจะยอมรับฉันทมติคร่าว ๆ ยกเว้นเมื่อรู้สึกว่าข้อเสนอนั้นขัดแย้งกับจริยธรรม เป้าหมาย และค่านิยมแบบอนาธิปไตย อนาธิปัตย์โดยปกติจะสร้างกลุ่มที่มีขนาดเล็ก (5-20 คน) เพื่อพัฒนาอัตตาณัติและมิตรภาพระหว่างสมาชิก กลุ่มจำพวกนี้มักเชื่อมโยงกันระหว่างแต่ละกลุ่มเป็นเครือข่ายที่ใหญ่กว่า อนาธิปัตย์ยังคงสนับสนุนและเข้าร่วมการนัดหยุดงาน โดยเฉพาะการนัดหยุดงานโดยพลการ (Wildcat strike action) เพราะเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่มีผู้นำและไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นจากส่วนกลางโดยสหการ[136] ในอดีต อนาธิปัตย์ใช้หนังสือพิมพ์และวารสาร และได้เปลี่ยนมาเผยแพร่ข้อเรียกร้องของพวกเขาทางออนไลน์ผ่านเวิลด์ไวด์เว็บ เนื่องด้วยความยากลำบากทางการแจกจ่ายและอื่น ๆ อนาธิปัตย์จึงสร้างเว็บไซต์ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์และช่องทางอื่น ๆ ขึ้นมาซึ่งทำได้ง่ายกว่า[137] นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่เผยแพร่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย วิธีการพัฒนาและแจกจ่ายของแฮกติวิสต์มีความคล้ายกับอุดมการณ์แบบอนาธิปไตย โดยเฉพาะในเรื่องของการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จากการสอดส่องโดยรัฐ[138] อนาธิปัตย์อาจรวมพลเข้าจับจองและยึดพื้นที่สาธารณะคืนในเหตุการณ์สำคัญอย่างการประท้วงหรือเมื่อพื้นที่กำลังถูกยึดครอง เรียกว่าเขตปกครองตนเองชั่วคราว (TAZ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ศิลปะ กวีนิพนธ์ และลัทธิเหนือจริงผสมเข้ากันเพื่อจัดแสดงอุดมคติแบบอนาธิปไตย[139] อนาธิปัตย์มองว่าการจับจองเป็นวิถีทางหนึ่งในการยึดเอาพื้นที่เมืองคืนมาจากตลาดทุนนิยม โดยทำไปด้วยความต้องการทางปฏิบัติและเพื่อให้เป็นแบบอย่างของการกระทำโดยตรง[140] การหาพื้นที่มาได้ทำให้อนาธิปัตย์สามารถทดลองกับแนวคิดของตัวเองและสร้างพันธะทางสังคม[141] เมื่อพิจารณายุทธวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเข้าใจว่าอนาธิปัตย์แต่ละคนไม่ได้มีมุมมองต่อพวกมันในแบบเดียวกัน ประกอบกับการประท้วงรูปแบบต่าง ๆ ในเหตุการณ์ที่มีความเป็นสัญลักษณ์สูง เหล่านี้เป็นบรรยากาศแบบคาร์นิวัล (carnivalesque) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างหลากหลายภายในลัทธิอนาธิปไตยของยุคร่วมสมัย[142] ประเด็นหลักลัทธิอนาธิปไตยเป็นปรัชญาที่ครอบคลุมทัศนคติ แนวคิด และสำนักคิดที่หลากหลาย เป็นเรื่องปกติที่จะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับค่านิยม อุดมการณ์ และยุทธวิธี ความหลากหลายนี้ทำให้มีการใช้คำศัพท์คำเดียวกันแต่คนละความหมายในแนวคิดแบบอนาธิปไตยต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลทางนิยามในทฤษฎีอนาธิปไตย (definitional concerns in anarchist theory) ความเข้ากันได้ระหว่างลัทธิอนาธิปไตยกับทุนนิยม (Anarchism and capitalism)[143] ชาตินิยม (Anarchism and nationalism) และศาสนา (Anarchism and religion) เป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง ลัทธิอนาธิปไตยมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับอุดมการณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ กลุ่มนิยม ลัทธิมากซ์ หรือสหภาพแรงงาน นักอนาธิปัตย์อาจได้แรงผลักดันจากมนุษยนิยม พระเป็นเจ้า ประโยชน์ส่วนตน (enlightened self-interest) วีแกน (Veganarchism) หรือหลักจริยธรรมทางเลือกอื่น ๆ ลัทธิอนาธิปไตยบางกลุ่มอาจวิจารณ์ปรากฏการณ์เช่นอารยธรรม เทคโนโลยี (เช่นในบรรพกาลนิยมแบบอนาธิปไตย) และกระบวนการประชาธิปไตย แต่อาจมีบางกลุ่มที่สรรเสริญสิ่งเหล่านี้ในขณะเดียวกัน[144] รัฐการต่อต้านรัฐและสถาบันของรัฐเป็นหลักที่ขาดไม่ได้ (sine qua non) ของลัทธิอนาธิปไตย[145] อนาธิปัตย์มองว่ารัฐเป็นเพียงเครื่องมือครอบงำและเชื่อว่าไม่มีความชอบธรรมไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใดก็ตาม อภิสิทธิ์ชนกลุ่มน้อยเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ แทนที่ผู้คนจะสามารถควบคุมทุกแง่มุมในชีวิตของตัวเองได้ ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายผู้มีอำนาจก็ตั้งอยู่บนอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่เปิดเผย (Open government) หรือโปร่งใสก็ตาม เพราะยังคงสามารถบีบบังคับผู้คนได้ เหตุผลในการต่อต้านรัฐอีกแบบของลัทธิอนาธิปไตยอ้างว่าผู้คนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลจะพยายามเพิ่มอำนาจตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเท่าใดก็ตาม และจะนำไปสู่การทุจริต อนาธิปัตย์มองแนวคิดที่กล่าวว่ารัฐคือเจตจำนงร่วมกันของประชาชนว่าเป็นเพียงนิยายที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าชนชั้นปกครอง (ruling class) เป็นกลุ่มคนที่แตกต่างจากสังคมที่เหลือ[146] ทัศนคติที่อนาธิปัตย์มีต่อรัฐมีความแตกต่างกันไป รอเบิร์ต พอล โวล์ฟ (Robert Paul Wolff) เชื่อว่าความตึงเครียดระหว่างอำนาจกับอัตตาณัติจะทำให้รัฐไม่มีทางมีความชอบธรรมได้ บาคูนินมองว่ารัฐหมายถึง "การบีบบังคับ การครอบงำด้วยการบีบบังคับ อาจอำพรางตัว แต่อาจโจ่งแจ้งไม่ไว้หน้าใครถ้าจำเป็น"[ซ] เอ. จอห์น ซิมมอนส์ (A. John Simmons) และเลสลี กรีน (Leslie Green (philosopher)) ซึ่งมีแนวโน้มลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาเชื่อว่ารัฐสามารถชอบธรรมได้ถ้าปกครองผ่านฉันทมติ แต่ก็มองว่าสิ่งนี้มีโอกาสเป็นไปได้น้อย[147] นอกจากนี้ ความเชื่อในวิธีการล้มล้างรัฐก็มีความแตกต่างเช่นกัน[148] สถานะเพศ เพศวิถี และความรักเสรีเพราะสถานะเพศและเพศวิถีมาพร้อมกับพลวัตทางลำดับชั้น นักอนาธิปัตย์หลายคนกล่าวถึง วิเคราะห์ และต่อต้านการกดทับอัตตาณัติของบุคคลจากบทบาททางเพศ[149] นักอนาธิปัตย์สมัยคลาสสิกไม่ค่อยพูดถึงเพศวิถี แต่บางคนที่พูดถึงมองว่าสังคมอนาธิปไตยจะนำไปสู่เพศวิถีที่พัฒนาขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ[150] นักอนาธิปัตย์สนใจกับประเด็นความรุนแรงทางเพศ แต่บางคนเช่นเบนจามิน ทักเกอร์ (Benjamin Tucker) ต่อต้านกฎหมายกำหนดอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้[151] ขบวนการในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นและเฟื่องฟูในลัทธิอนาธิปไตยระหว่าง ค.ศ. 1890 กับ 1920 คือความรักเสรี (free love) กระแสการเมืองนี้เหลือรอดมาในลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยในรูปของแนวคิดที่สนับสนุนการมีคนรักหลายคน อนาธิปไตยความสัมพันธ์ (relationship anarchy) และลัทธิอนาธิปไตยเควียร์ (queer anarchism)[152] ผู้สนับสนุนความรักเสรีต่อต้านการสมรส เพราะมองว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้ชายใช้อำนาจเหนือผู้หญิง เหตุผลหลักเป็นเพราะกฎหมายการสมรสเข้าข้างอำนาจของผู้ชายอย่างมาก ความรักเสรีมีนัยที่กว้างและยังรวมถึงการวิพากษ์ระเบียบสังคมที่เป็นอยู่ซึ่งจำกัดเสรีภาพและสุขารมณ์ทางเพศของผู้หญิง[153] ขบวนการความรักเสรีมีส่วนในการก่อตั้งบ้านส่วนรวมที่ให้นักเดินทางกลุ่มใหญ่ นักอนาธิปัตย์ และนักกิจกรรมอื่น ๆ นอนด้วยกัน[154] ความรักเสรีมีรากเหง้าอยู่ในยุโรปและสหรัฐ นักอนาธิปัตย์บางส่วนมีปัญหากับความอิจฉาที่เกิดขึ้นจากความรักเสรี[155] นักสตรีสิทธินิยมแนวอนาธิปไตยมีวาระสนับสนุนความรักเสรี ต่อต้านการสมรส และสนับสนุนสิทธิการทำแท้งซึ่งคล้ายกัน นักสตรีสิทธินิยมแนวอนาธิปไตยกับไม่อนาธิปไตยมีความเห็นต่างกันในเรื่องสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่สนับสนุนกันและกัน[156] ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลัทธิอนาธิปไตยเข้าไปข้องเกี่ยวกับขบวนการสตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สอง ซึ่งส่งอิทธิผลต่อขบวนการสตรีสิทธินิยมบางกลุ่มและยังได้รับอิทธิพลกลับมาเช่นกัน จนทศวรรษท้าย ๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งนักอนาธิปัตย์กับนักสตรีสิทธินิยมเรียกร้องสิทธิและอัตตาณัติให้กับผู้หญิง เกย์ เควียร์ และกลุ่มคนชายขอบกลุ่มอื่น ๆ และมีนักคิดสตรีสิทธินิยมบางคนเสนอให้หลอมรวมสองกลุ่มการเมืองนี้เข้าด้วยกัน[157] ต่อมาในกระแสสตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สาม (Third-wave feminism) นักอนาธิปัตย์เริ่มศึกษาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและความรักต่างเพศภาคบังคับ กลายเป็นข้อวิจารณ์ความปรกติทางเพศแบบหลังโครงสร้างนิยม[158] นักอนาธิปัตย์บางคนแยกตัวเองออกจากความคิดแนวนี้ โดยกล่าวว่าเป็นการเอนเอียงเข้าหาปัจเจกนิยมที่กำลังทิ้งเป้าหมายการปลดปล่อยทางสังคม[159] การศึกษา
นักอนาธิปัตย์สนใจด้านการศึกษาตั้งแต่เริ่มแรกลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิก โดยมองว่าการศึกษาที่เหมาะสมจะต้องวางพื้นฐานอัตตาณัติในอนาคตให้กับปัจเจกกับสังคมและเป็นระบบร่วมด้วยช่วยกันแบบหนึ่ง[161] นักเขียนอนาธิปัตย์อย่างวิลเลียม กอดวิน (Enquiry Concerning Political Justice) และมัคส์ ชเตียร์เนอร์ (The False Principle of Our Education) โจมดีทั้งการศึกษาโดยรัฐและเอกชนว่าเป็นเพียงวิธีการผลิตซ้ำอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง[162] ใน ค.ศ. 1901 นักอนาธิปัตย์ชาวกาตาลาและนักคิดอย่างอิสระฟรันซิสโก เฟร์เรร์ (Francisco Ferrer) ก่อตั้งเอสกูเอลา โมเดร์นา (Escuela Moderna) ในบาร์เซโลนาเพื่อต่อต้านสถาบันระบบการศึกษาที่ศาสนจักรคาทอลิกควบคุม[163] แนวทางของเฟร์เรร์เป็นแบบโลกวิสัยที่ปฏิเสธการแทรกแซงกระบวนการศึกษาไม่ว่าจะโดยรัฐหรือศาสนจักร และมอบอัตตาณัติให้กับนักเรียนในการวางแผนการทำงานและการเข้าเรียนเอง เฟร์เรร์ตั้งเป้าให้การศึกษากับชนชั้นแรงงานและพยายามฟูมฟักสำนึกทางชนชั้น (class consciousness) ภายในกลุ่มนักเรียน โรงเรียนต้องปิดตัวลงหลังรัฐคุกคามและจับกุมตัวเฟร์เรร์ในเวลาต่อมา แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนแบบโมเดิร์น (Ferrer Center and Colony) ทั่วโลก[164] นักอนาธิปัตย์คริสเตียนเลโอ ตอลสตอย ที่เขียนความเรียน Education and Culture ก่อตั้งโรงเรียนที่คล้ายกันโดยมีหลักการพื้นฐานว่า "การศึกษาจะมีประสิทธิภาพได้จะต้องไม่มีค่าใช้จ่าย"[165] เอ. เอส. นีล (A. S. Neill) ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ขึ้นใน ค.ศ. 1921 ด้วยเหตุผลเดียวกันและประกาศว่าจะปราศจากการบีบบังคับ[166] การศึกษาแบบอนาธิปไตยตั้งอยู่บนแนวคิดของการเคารพในสิทธิของเด็กที่จะพัฒนาอย่างอิสระโดยปราศจากการบิดเบือนและการที่ความมีเหตุผลจะนำพาเด็กไปสู่บทสรุปที่ถูกต้องทางศีลธรรม ทว่ายังไม่มีฉันทมติในหมู่นักอนาธิปัตย์ว่าอะไรบ้างที่เป็นการบิดเบือน เฟร์เรร์เชื่อว่าการปลูกฝังความเชื่อทางศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็นและสั่งสอนนักเรียนอย่างชัดเจนว่าความเท่าเทียม เสรีภาพ และความยุติธรรมทางสังคมไม่มีทางเป็นไปได้ภายในระบอบทุนนิยม พร้อมกับการวิจารณ์รัฐบาลและชาตินิยม[167] นักเขียนอนาธิปัตย์ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และร่วมสมัย (พอล กูดแมน (Paul Goodman) เฮอร์เบิร์ต รีด (Herbert Read) and โคลิน วอร์ด (Colin Ward)) เน้นและขยายข้อวิจารณ์การศึกษาโดยรัฐของลัทธิอนาธิปไตย โดยชี้ไปที่ความจำเป็นต้องมีระบบที่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กมากกว่าความสามารถในการงานอาชีพหรือการบริโภค (consumerism) ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมผู้บริโภค[168] โคลิน วอร์ด กล่าวว่าการศึกษาโดยรัฐทำหน้าที่เป็นเครื่องผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคม[169] แม้สถาบันการศึกษาแบบอนาธิปไตยหลงเหลืออยู่ในสมัยใหม่ไม่มาก แต่หลักการสำคัญของโรงเรียนอนาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นความเคารพในอัตตาณัติของเด็กและการใช้วิธีการสอนด้วยการให้เหตุผลมากกว่าการปลูกฝังได้แพร่กระจายเข้าสู่สถาบันการศึกษากระแสหลักแล้ว จูดิธ ซูยซา (Judith Suissa) ยกตัวอย่างโรงเรียนสามแห่งที่เป็นโรงเรียนของอนาธิปัตย์อย่างเด่นชัด กล่าวคือ Free Skool Santa Cruz ในสหรัฐซึ่งเป็นส่วนของเครือข่ายหนึ่งของโรงเรียนอเมริกัน-แคนาดา Self-Managed Learning College ที่ไบรตันในสหราชอาณาจักร และ Paideia School ในสเปน[170] ศิลปกรรมลัทธิอนาธิปไตยกับศิลปะมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งในสมัยคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย โดยเฉพาะในกระแสศิลปะที่กำลังพัฒนาขึ้นในยุคสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นอนาคตนิยม ลัทธิเหนือจริง และอื่น ๆ[172] ในวรรณกรรม ลัทธิอนาธิปไตยมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม New Apocalyptics และขบวนการจินตนิยมใหม่ (neo-romanticism)[173] ในดนตรี ลัทธิอนาธิปไตยมีความสัมพันธ์กับดนตรีแนวต่าง ๆ เช่นพังก์[174] นักอนาธิปัตย์อย่างเลโอ ตอลสตอย และเฮอร์เบิร์ต รีด กล่าวว่าเส้นแบ่งระหว่างศิลปินกับคนที่ไม่ใช่ศิลปิน ระหว่างศิลปะกับกิจประจำวัน คือสิ่งประกอบสร้างอันเป็นผลผลิตจากความแปลกแยกที่เกิดขึ้นจากทุนนิยมและเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข[175] นักอนาธิปัตย์บางคนสนับสนุนและใช้ศิลปะเป็นวิธีการบรรลุเป้าหมายอนาธิปไตย[176] ในหนังสือ Breaking the Spell: A History of Anarchist Filmmakers, Videotape Guerrillas, and Digital Ninjas คริสโตเฟอร์ โรเบ (Christopher Robe) กล่าว่า "แนวปฏิบัติแบบอนาธิปไตยถูกนำมาใช้วางโครงสร้างการดำเนินกิจกรรมทางวิดิโอในขบวนการเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น"[177] ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักอนาธิปัตย์คนสำคัญหลายคน (ปิออตร์ โครปอตกิน เอมมา โกลด์แมน กุสตาฟ ลันเดาเออร์ (Gustav Landauer) และกามิลโล แบร์เนรี (Camillo Berneri)) และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อาทินิตยสาร Anarchy เขียนถึงประเด็นที่เกี่ยวกับศิลปกรรม[178] ศิลปะมีสมบัติสามประการที่ทับซ้อนกันซึ่งทำให้มีประโยชน์ใช้สอยกับนักอนาธิปัตย์ เช่นความสามารถในการวาดภาพข้อวิจารณ์สังคมและลำดับชั้นที่เป็นอยู่ การทำหน้าที่เป็นเครื่องมือฉายภาพอนาคตสะท้อนสังคมในอุดมคติของอนาธิปัตย์ และการเป็นวิธีการกระทำโดยตรงในฐานะส่วนหนึ่งของการประท้วง ศิลปะดึงดูดใจมนุษย์และส่งผลกระทบอย่างทรงพลังเพราะศิลปะดึงดูดทั้งอารมณ์และเหตุผล[179] ขบวนการลัทธิประทับใจใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีสุนทรียะแบบนิเวศวิทยาและแสดงแบบอย่างของเส้นทางสู่สังคมนิยมในมุมมองของอนาธิปัตย์[180] การผสมผสานระหว่างสุนทรียะและความบรรสานทางสังคมใน Les chataigniers a Osny ของจิตรกรอนาธิปัตย์กามีย์ ปีซาโร เป็นการฉายภาพของชุมชนเกษตรกรรมแนวอนาธิปไตยในอุดมคติ[171] ข้อวิจารณ์ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยข้อหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดกล่าวว่ามนุษย์ไม่สามารถปกครองตนเอง (Self-governance) และจึงจำเป็นต้องมีรัฐขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ สนับสนุนข้อวิจารณ์นี้โดยกล่าวว่า "สันติ สงคราม ภาษี การควบคุมสุขาภิบาลและการซื้อขายยาเสพติดให้โทษ การพิทักษ์รักษาระบบการกระจายที่ยุติธรรม เหล่านี้และอื่น ๆ เป็นภารกิจที่มิอาจกระทำได้เลยในประชาคมซึ่งไม่มีรัฐบาลกลาง"[181] ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยอีกข้อหนึ่งกล่าวว่ามันเหมาะสมกับโลกที่อยู่กันแบบสันโดษซึ่งรวมกลุ่มกันขนาดเล็กพอที่จะสามารถปกครองตนเองได้เท่านั้น นักคิดอนาธิปัตย์ตอบโต้ว่าพวกเขาสนับสนุนให้มีระบบสหพันธรัฐแบบอนาธิปไตย[182] อาจารย์ปรัชญาแอนดรูว์ จี. ฟีอาลา (Andrew G. Fiala) รวมรวมเหตุผลต่อต้านลัทธิอนาธิปไตยที่พบได้บ่อยไว้ ซึ่งรวมถึงข้อวิจารณ์ว่าลัทธิอนาธิปไตยมีธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการทำลายล้างเป็นต้น โดยไม่เพียงแต่ในโลกจริงเช่นในการประท้วงเท่านั้นแต่ในโลกของจริยธรรมเช่นกัน ข้อที่สองประเมินว่าลัทธิอนาธิปไตยเป็นไปไม่ได้หรือเป็นแนวคิดแบบยูโทเปียเพราะจะไม่สามารถมีชัยชนะเหนือรัฐได้ในทางปฏิบัติ เหตุผลแนวนี้ถูกใช้เพื่อเรียกร้องให้มีการกระทำทางการเมืองเพื่อปฏิรูปจากภายในระบบ เหตุผลข้อที่สามกล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยมีความขัดแย้งในตัวเองเพราะเป็นทฤษฎีการปกครองที่ไม่มีทฤษฎีการปกครอง และยังเรียกร้องให้มีการกระทำเป็นกลุ่มแต่ส่งเสริมอัตตาณัติของปัจเจกในเวลาเดียวกัน การกระทำเป็นกลุ่มจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ข้อสุดท้าย ฟีอาลากล่าวถึงข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาว่าไม่เป็นผล (ดีแต่พูดกับคิด) และทุนนิยมกับชนชั้นกระฎุมพีจะยังคงเข้มแข็งต่อไป[183] ลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาได้รับคำวิจารณ์จากวงการวิชาการหลังจากการตีพิมพ์ของหนังสือต่าง ๆ ที่สนับสนุนลัทธิอนาธิปไตยอาทิ Moral Principles and Political Obligations ของ เอ. จอห์น ซิมมอนส์ (A. John Simmons)[184] ศาสสตราจารย์ด้านกฎหมายวิลเลียม เอ. เอดมันด์สัน (William A. Edmundson) เขียนความเรียงให้เหตุผลต่อต้านหลักการอนาธิปไตยเชิงปรัชญาหลักสามข้อที่เขามองว่าผิด เอดมันด์สันกล่าวว่าแม้ปัจเจกจะไม่มีหน้าที่เชื่อฟังรัฐแต่ก็ไม่ได้แปลว่าลัทธิอนาธิปไตยจะเป็นบทสรุปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และรัฐยังคงถือความชอบธรรมทางศีลธรรม[185] ใน The Problem of Political Authority ไมเคิล ฮิวเมอร์ (Michael Huemer) ปกป้องลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาว่า[186] "อำนาจหน้าที่ทางการเมืองเป็นภาพลวงตาทางศีลธรรม"[187] ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยที่เกิดขึ้นมาครั้งแรก ๆ กล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยขัดขืนและไม่เข้าใจความโน้มเอียงทางชีววิทยาเข้าหาอำนาจ[188] โยเซฟ ราซ (Joseph Raz) กล่าวว่าการยอมรับอำนาจหมายถึงความเชื่อมั่นว่าเมื่อทำตามคำสั่งของอำนาจจะทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่า[189] ราซเชื่อว่าเหตุผลนี้เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการทำตามคำสั่งที่สร้างความสำเร็จหรือความผิดพลาดก็ตาม[190] นักอนาธิปัตย์ปฏิเสธข้อวิจารณ์นี้เพราะการท้าทายหรือไม่เชื่อฟังอำนาจไม่ได้แปลว่าข้อได้เปรียบจากการยอมรับอำนาจเช่นแพทย์หรือทนายว่าน่าเชื่อถือจะหายไป เพียงไม่ได้เป็นการยอมสละการตัดสินใจโดยอิสระของตนไปโดยสิ้นเชิง[191] นักวิชาการต่าง ๆ วิจารณ์แนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในมุมมองอนาธิปัตย์ การปฏิเสธรัฐ และความมุ่งมั่นปฏิวัติสังคมว่าไร้เดียงสา เรียบง่ายเกินไป และไม่สมจริงตามลำดับ[192] ลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกถูกวิจารณ์ว่าพึ่งพาในความเชื่อว่าการล้มล้างรัฐจะนำไปสู่มนุษย์ที่ร่วมมือกันเจริญก้าวหน้ามากเกินไป[150] ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักของลัทธิมากซ์วิจารณ์การต่อต้านอำนาจนิยมของลัทธิอนาธิปไตยว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ เพราะในมุมมองของเขา การปฏิวัติเป็นอำนาจนิยมในตัวมันเอง[193] จอห์น มอลีนิว (John Molyneux (trotskyist)) เขียนในหนังสือ Anarchism: A Marxist Criticism ว่าอนาธิปไตยไม่สามารถชนะได้ โดยเชื่อว่าขาดความสามารถนำแนวคิดของมันมาปฏิบัติใช้จริงได้อย่างเหมาะสม[194] ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยแบบมาร์กซิสต์กล่าวว่ามีลักษณะเป็นยูโทเปียเพราะทุก ๆ คนจะต้องมีมุมมองและค่านิยมแบบอนาธิปไตย มาร์กซิสต์มองว่าเนื้อแท้ของลัทธิอนาธิปไตยคือการที่ความคิดทางสังคมจะเกิดขึ้นโดยตรงจากทั้งอุดมคติมนุษย์แบบนี้กับเจตจำนงเสรีของปัจเจกทั้งปวงและกล่าวว่าความขัดแย้งนี้เป็นเหตุให้มันไร้ความสามารถในการกระทำ อนาธิปัตย์มองว่าความขัดแย้งระหว่างเสรีภาพกับความเท่าเทียมสามารถตกลงกันได้ผ่านการอยู่ร่วมกันและการสานเข้าด้วยกัน[195] ดูเพิ่ม
อ้างอิงหมายเหตุหมายเหตุอธิบาย
หมายเหตุคำแปล
อ้างอิง
บรรณานุกรมแหล่งปฐมภูมิ
แหล่งทุติยภูมิ
แหล่งตติยภูมิ
อ่านเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
|