Share to:

 

เคน ดาเหลา

เคน ดาเหลา
ลีลาการฟ้อนของหมอลำเคนฮุด
ลีลาการฟ้อนของหมอลำเคนฮุด
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่อเกิดเคน ดาเหลา
ชื่ออื่นหมอลำเคนฮุด
เกิด3 เมษายน พ.ศ. 2473
จุดกำเนิดประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย
เสียชีวิต9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 (84 ปี)
บิดาโอ๋ ดาเหลา
มารดาจันทร์แดง ดาเหลา
คู่สมรสเบ็ญ คำไม
พูนทรัพย์ ผาลา
คำภา ฤทธิทิศ
บุญเพ็ง ไฝผิวชัย
บุตร10 คน
อาชีพศิลปินพื้นบ้าน
นักร้องหมอลำ
ผลงานเด่นลำกลอนแตงสังหารสาว ฯลฯ
รางวัล
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2534 - สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)

เคน ดาเหลา มีฉายาทางหมอลำกลอนว่า หมอลำเคนฮุด ปรมาจารย์ผู้มีความสามารถโดนเด่นด้านหมอลำกลอนแห่งภาคอีสานของประเทศไทย เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2473 ปีมะเมีย ที่บ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือตำบลหนองเต่า) เป็นบุตรของโอ๋ ดาเหลา และจันทร์แดง ดาเหลา มีพี่น้องรวม 7 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 4 คน

ชีวิตวัยเยาว์

พ.ศ. 2483 เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกมาทำนาทำไร่ช่วยบิดามารดา แต่ด้วยความสนใจในการแสดงพื้นบ้านอีสานคือหมอลำที่มีอยู่ในตัว ประกอบกับเป็นผู้มีแววศิลปินมาตั้งแต่เด็กๆ จึงได้เริ่มหัดลำ ลิเกพื้นบ้าน และหนังประโมทัยด้วยตนเอง

ชีวิตครอบครัว

เคน ดาเหลา ได้ประกอบอาชีพทางด้านศิลปินด้วยการแสดงหมอลำเพียงอย่างเดียว จนประสบผลสำเร็จในด้านชื่อเสียง และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร จนสามารถสนับสนุนให้บุตรธิดาได้รับการศึกษาในระดับสูงๆ และประกอบอาชีพอย่างมั่นคงได้ หมอลำเคน ดาเหลา มีภรรยา และบุตรธิดา ดังนี้

  1. นางเบ็ญ คำไม มีบุตรธิดาร่วมกัน 3 คน
  2. นางพูนทรัพย์ ผาลา มีบุตรร่วมกัน 1 คน
  3. นางคำภา ฤทธิทิศ มีบุตรธิดาร่วมกัน 6 คน
  4. นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2540 ไม่มีบุตรธิดาร่วมกัน อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 528/155 หมู่บ้านแก่นทองธานี ต.บ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

การทำงานหมอลำ

พ.ศ. 2489 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้านคือ โรคผีดาษ หรือ โรคไข้ทรพิษ ระบาดไปทั่วหมู่บ้านในอีสานผู้คนล้มตายมาก ชาวบ้านจึงแยกย้ายกันไปอยู่ตามทุ่งนา ไม่มีการพบปะกันเท่าที่ควร เคน ดาเหลา ก็ได้ไปอาศัยอยู่ที่ทุ่งนาของตน และใช้เวลาว่างนอนท่องกลอนลำเล่น โดยอาศัยการได้สัมผัสจดจำ ลีลาการแสดงและท่องกลอนที่จดจำมาจากหมอลำคง ดาเหลา ซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นหมอลำที่กำลังมีชื่อเสียงในละแวกบ้านของตน และได้ยึดลีลาท่าทางการแสดงและกลอนลำของพี่ชายเป็นหลักในการฝึก จนสามารถลำเองได้โดยไม่มีครูสอนให้

พ.ศ. 2491 หมอลำคง ดาเหลา ผู้เป็นพี่ชายได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน จึงได้นำกลอนลำที่ผู้เป็นพี่ชายได้จดบันทึกเอาไว้มาหัดท่องจนสามารถจดจำได้ เมื่อมีการแสดงจึงถูกนำขึ้นเป็นหมอลำแสดงแทนพี่ชายของตน และสามารถแสดงหมอลำกลอนได้เป็นอย่างดี จนได้รับความนิยมในหมู่ชาวอีสานอย่างรวดเร็ว

พ.ศ. 2500 เคน ดาเหลา ได้เริ่มหัดแต่งกลอนลำได้เอง โดยอาศัยวิธีการแต่งตามประสบการณ์ในการลำ และศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมตามแหล่งความรู้ต่างๆ ที่พอจะหาได้ จนสามารถแต่งกลอนเพื่อใช้ลำเอง และลูกศิษย์ได้ใช้ลำมากมาย กลอนลำที่ท่านแต่งจะมีลีลาและจังหวะที่แปลกไปจากกลอนลำของหมอลำอื่นๆ ในด้านเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น ในด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน ประวัติศาสตร์ นิทาน กลอนลำ แบบตลก กลอนลำเบ็ดเตล็ด เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นำเอาสำนวนภาษาอีสาน หรือสำนวนผญาอีสานมาแทรกไว้ในกลอนได้อย่างดียิ่ง จึงทำให้กลอนลำมีเนื้อหาสาระ สัมผัสคล้องจองที่ดี และมีภาษาที่ลึกซึ้งกินใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง กลอนลำได้สอดแทรกด้านเนื้อหาสาระ และสัมผัสตามรูปแบบการประพันธ์ โดยอาศัยประสบการณ์ในการลำและกลอนลำของครูที่ใช้ลำมาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่มิได้ขาด จึงทำให้ผลงานการแต่งกลอนลำของท่าน มีความสัมพันธ์กับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างดี

พ.ศ. 2509 เคน ดาเหลา ได้ก่อตั้งโรงเรียนหมอลำที่บ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล และสำนักงานหมอลำ (ข้างวัดแจ้ง) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และมีลูกศิษย์เดินทางเข้ามาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนมีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ ทองเจริญ ดาเหลา (บุตรชายของหมอลำคง ดาเหลา) ฉวีวรรณ ดำเนิน และบุญช่วง เด่นดวง เป็นต้น

ต่อมาเคน ดาเหลา ได้เปิดสำนักงานหมอลำร่วมกับหมอลำคำภา ฤทธิทิศ ที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ลูกศิษย์ที่เดินทางเข้ามาเล่าเรียนในยุคนี้มีบุญเสริม เพ็ญศรี อำพัน สร้อยสังวาลย์ และทองศรี ศรีรักษ์ เป็นต้น

พ.ศ. 2527 มูลนิธิญี่ปุ่น (The Japan Foundation) และบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (Japan Broadcasting Corporation) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้เชิญเคน ดาเหลา , บุญเพ็ง ไฝผิวชัย และฉวีวรรณ ดำเนิน ร่วมเดินทางไปทำการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมอีสานที่ประเทศญี่ปุ่น

ด้วยการพัฒนาตนเองขึ้นมาเรื่อยๆ จึงทำใหมีลักษณะการลำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ท่วงท่าลีลาการฟ้อน น้ำเสียงก้องกังวาล มีคารมคมคาย ทั้งลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ย และลำเบ็ดเตล็ดอื่นๆ มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศในเชิงกลอนลำสด ที่เรียกว่า แตกลำ การใช้สำนวนผญาแบบอีสาน สำนวนกลอนที่มีความเฉียบคมลึกถึงใจผู้ฟังแล้วยังประกอบไปด้วยสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนเป็นหมอลำชั้นครูต้นแบบของการแต่งกลอนลำ และลำแม่บทที่เรียกว่า ลำแม่บท 32 ท่า ได้สมบูรณ์แบบที่สุด จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และมีผู้คนนิยมกันเป็นวงกว้างทั่วภาคอีสาน จนเป็นได้รับการยอมรับในวงการหมอลำทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ขนานนามว่า บรมครูหมอลำ

การเสียชีวิต

เคน ดาเหลา ได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายมาร่วมเดือน โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557 สิริรวมอายุ 84 ปี นับเป็นการสูญเสียปูชนียาจารย์แห่งวงการหมอลำของภาคอีสาน

และวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ได้จัดให้มีงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดสว่างสุทธาราม บ้านหนองกุง ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ผลงาน

ผลงานด้านกลอนลำของเคน ดาเหลา ส่วนใหญ่เกี่ยวกับด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านศาสนาและความเชื่อ ด้านการศึกษา ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี และด้านการดำเนินชีวิตของผู้คน อาทิ

  • ลำกลอนแตงสังหารสาว
  • ลำกลอนฟ้อน 32 ท่า
  • ลำกลอนต้นกำเนิดหมอลำ
  • ลำกลอนล่องโขง
  • ลำกลอนสอนผู้เฒ่า
  • ลำกลอนสร้อยศาสนา
  • ลำกลอนเว้าสาวสวนแตง
  • ลำกลอนร่างกาย 32 อย่าง
  • อัลบั้มเคนฮุดชุดเต้ย (ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้าย)

รางวัลและเกียรติคุณ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 73 เล่มที่ 110 ตอนที่ 36 22 มีนาคม 2536
Kembali kehalaman sebelumnya