Share to:

 

ชลธี ธารทอง

ชลธี ธารทอง
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด31 สิงหาคม พ.ศ. 2480
สมนึก ทองมา
อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 (85 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสศศิวิมล รัตนอำพันธุ์
อาชีพนักประพันธ์เพลง, นักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2508 - 2565 (57 ปี)
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2542 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงลูกทุ่ง-ประพันธ์)

ชลธี ธารทอง (31 สิงหาคม พ.ศ. 2480​ -​ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566)​ มีนามเดิมว่า สมนึก ทองมา เป็นนักประพันธ์ชายเพลงไทยลูกทุ่ง มีผลงานเพลงเป็นที่รู้จัก และได้สร้างนักร้องมีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนประดับวงการเพลงในประเทศไทย ชลธี ธารทอง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักประพันธ์เพลงลูกทุ่ง) ประจำปี 2542

ประวัติ

ชลธี ธารทอง มีชื่อจริงว่า สมนึก ทองมา[1] เกิดเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2480[2] ที่หมู่ 2 ตำบลสระสี่เหลี่ยม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี คุณพ่อชื่อ นายผัน คุณแม่ชื่อ นางสมเกลี้ยง ทองมา บิดามีอาชีพรับจ้างเร่ร่อนไปทั่ว มารดาเจ็บท้องคลอดตอนกำลังเกี่ยวข้าว และตกเลือดเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 6 เดือน ตอนเขาเกิด แม้แต่ผ้าขี้ริ้วที่จะนำมาทำผ้าอ้อมก็ยังไม่มี ชีวิตในวัยเด็กนั้นยากจน ชลธีเข้าเรียนชั้นประถม 1 ที่โรงเรียนวัดแก้วศิลาราม ที่ชลบุรี มาต่อชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนวัดโคกขี้หนอน ที่ชลบุรี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อําเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี จากนั้นก็ย้ายมาอยู่กับญาติที่ราชบุรี เขาเคยผ่านงานมาหลากหลาย ทั้งทำนา ทำไร่ ขุดดิน เผาถ่าน ช่างไม้ ก่อสร้าง นักมวย ลิเกนักพากย์หนัง หางเครื่อง กรรมกร และนักร้อง ปัจจุบันมีถิ่นพำนักอยู่ที่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

เข้าสู่วงการ

ชลธีสนใจการร้องเพลงลูกทุ่งมาตั้งแต่เล็ก และเคยเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงของวงดาวทอง เชียร์รำวงชื่อ ดังอีกวงของยุคนั้น ต่อมาสมัครเข้าเป็นนักร้องในวงดนตรีของสุรพล สมบัติเจริญ​ ราชาเพลงลูกทุ่งไทย และได้ขึ้นเวที ในวันที่มาสมัคร แต่เนื่องจากไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปกลับต่างจังหวัด (ราชบุรี) ขณะเดียวกันก็ไม่ชำนาญเส้นทางในกรุงเทพ จึงมาเข้าวงสายตลอด 3 วันถัดมา จึงถูกไล่ออก

จากนั้นก็มีผู้ชักชวนให้มาอยู่กับวงลิเก และพากย์หนัง ก่อนจะบวช หลังจากสึกก็มาเป็นหางเครื่องอยู่กับวง เทียนชัย สมยาประเสริฐ ที่มีนักร้องดังอย่าง ผ่องศรี วรนุช ซึ่งเป็นภรรยารวมอยู่ด้วย แต่ลาออกจากวงเพราะถูกกล่าวหาว่าขโมยทองของนักร้องในวงระหว่างที่รถของคณะเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ

ต่อมา ได้สมัครประกวดร้องเพลงที่จัดโดยวงรวมดาวกระจายของครูสำเนียง ม่วงทองโดยใช้เพลงที่เขาแต่งขึ้นเอง ซึ่งเขาก็ชนะ และครูสำเนียงรับให้มาอยู่ร่วมคณะ แต่ไม่ได้ขึ้นร้องเพราะนักร้องเต็ม และครูสำเนียงเป็นคนตั้งชื่อให้เขาว่า ชลธี ธารทอง เพราะเป็นคนเมืองชลฯ หลังจากอยู่มาปีครึ่ง ชลธี จึงได้ขึ้นร้องเพลง และต่อมาได้มีโอกาสได้ร้องเพลงบันทึกเสียงเพลงแรกในชีวิต คือเพลง “เรือนหอที่ไร้นาง” ลงานการประพันธ์ของ ทองหล่อ คงสุข (อาเนี๊ยว ททท.) หลังจากนั้นก็ได้ร้องอีก 3 เพลง มี ลาก่อนความรัก, เรือจ้างท่าพระจันทร์ และ แฟชั่นใหม่ ระหว่างนั้น ถ้ามีเวลาว่าง เขาก็ได้ศึกษาวิชาแต่งเพลงอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากครูสำเนียง และก็ได้นำความรู้ความสามารถในการเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้ในการแต่งเพลง

ระหว่างที่อยู่วงรวมดาวกระจายนี้เองที่เพลง "พอหรือยัง" ของชลธี ถูกศรคีรี ศรีประจวบนำไปร้องจนประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีใครเชื่อว่าเขาเป็นคนแต่ง เพราะเพลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาไปหลงรักสาวร่วมวงรวมดาวกระจาย และก็อกหัก เลยแต่งเพลงนี้นำมาร้องแก้กลุ้ม พอดีมีนักร้องชายในวงอีกคนเกิดชอบ ก็มาขอไปร้องบนเวที ต่อมานักร้องคนนั้นโดนไล่ออก และได้ไปอยู่กับวงศรคีรี และเมื่อศรคีรีได้ยินเพลงนี้จึงถามว่าใครแต่ง นักร้องคนนั้นได้บอกว่าเขาแต่งเอง ศรคีรีจึงขอเอามาอัดแผ่นเสียงโดยใช้ชื่อคนแต่งว่าศรคีรี เมื่อชลธี ธารทอง ออกมา ทักท้วง ศรคีรี ก็ได้มาอธิบายจนเป็นที่เข้าใจกันทุกฝ่าย

อยู่กับครูสำเนียงได้หลายปีเหมือนกัน พอเริ่มจะมีชื่อเสียงก็ถูกเชิญให้ออก วันหนึ่งขณะที่วงดนตรี “รวมดาวกระจาย” ยกวงไปทำการแสดงที่จังหวัดพิษณุโลก ครูสำเนียง ได้เชิญ ชลธี ธารทอง, ประยงค์ ชื่นเย็น, แดน บุรีรัมย์ และ รุ่งโรจน์ พัทลุง ให้ออกจากวง ในข้อกล่าวหาดังแล้วแยกวง ซึ่งไม่เป็นความจริง ท่ามกลางความงุนงงของเจ้าตัวและนักร้องคนอื่น ทั้งหมดจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยยังไม่ได้ขึ้นเวทีเลย ระหว่างทางครูชลธี ธารทอง แต่งเพลง “ฝากใจไว้พิษณุโลก” ได้ 1 เพลง ภายหลังนำมาให้ จีระพันธ์ วีระพงษ์ ร้องบันทึกเสียง

จากนั้นก็มีนายทุนออกเงินตั้งวงให้ ชื่อวง "สุรพัฒน์" ของคุณประพล สุรพัฒน์ ซึ่งมีเพื่อนอีก 2 คน ไปอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว คือ ประสบโชค มีลาภ และ รุ่งระวี หนองแค อยู่วงสุรพัฒน์ ได้เพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน ไปร้องบันทึกเสียงคนละเพลง โดย ชลธี ธารทอง ได้เพลง “สาวจันทบูรณ์” แดน บุรีรัมย์ ได้เพลง “รักกันฉันเพื่อน” รุ่งระวี หนองแค ได้เพลง “หนุ่มหนองแค” รุ่งโรจน์ พัทลุง ได้เพลง “น้ำตาแกล้มเหล้า” ประสบโชค มีลาภ ได้เพลง “หลงรัก” ประยงค์ ชื่นเย็น ได้เพลง “ละครหลงบท” โดยทั้ง 6 คน เป็นนักร้องหลักของวง

อยู่กับวงสุรพัฒน์ ได้ปีกว่า ๆ ในช่วงนี้มีเพลงที่ร้องเองดังหลายเพลงเหมือนกัน เช่น เหลือไม่เท่าเก่า, มาลัยรักจากแฟนเพลง, ยกให้ผู้หญิง, ของปลอม, ดังแหวกตลาด ฯลฯ พอออกจากวงสุรพัฒน์ ก็ไปตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเอง โดยนำ รุ่งโรจน์ พัทลุง ไปด้วย

ขณะที่เพลงของเขาก็ขายไม่ค่อยได้เพราะคนไม่รู้จักชื่อเสียง ก็พอดีกับศรคีรีมาขอให้ช่วยแต่งเพลงให้ แต่พอเขาแต่งเพลงชุดนั้นเสร็จ ศรคีรีก็มาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน ชลธีจึงตัดสินใจหันหลังให้วงการเพลง และหอบครอบครัวไปช่วยพ่อตาแม่ยายทำไร่ข้าวโพดที่แก่งเสือเต้น แต่ก่อนจะไปจากกรุงเทพฯ เขาบังเอิญไปพบกับเด็กล้างรถที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล ซึ่งมีเสียงถูกใจจึงได้มอบเพลง 2 เพลงที่กะจะให้ศรคีรีกับเด็กคนนั้นไปโดยไม่คิดเงิน ต่อมาเด็กคนนั้นก็คือสายัณห์ สัญญา ที่โด่งดังจากเพลง"ลูกสาวผู้การ" และ "แหม่มปลาร้า"ที่เขามอบให้ในวันนั้น ในปี พ.ศ. 2516

เมื่อสายัณห์โด่งดัง เขาจึงถูกมนต์ เมืองเหนือเรียกตัวกลับกรุงเทพเพื่อให้มาแต่งเพลง ทำให้ลูกศิษย์คนต่อมาของเขาก็คือ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง​ โด่งดังจากเพลง"ทหารอากาศขาดรัก" จากนั้นชลธีก็ตั้งหน้าตั้งตาผลิตผลงานและสรรหานักร้องคุณภาพออกมาประดับวงการอยู่เนืองๆ จนประสบความสำเร็จอย่างมาก และในที่สุดก็ได้รับฉายาจาก "ยิ่งยง สะเด็ดยาด" คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ว่า " เทวดาเพลง "

ชลธี ธารทองเคยหันมาจับธุรกิจทำวงดนตรีลูกทุ่ง โดยทำวงให้กับ สุริยัน ส่องแสง แต่ปรากฏว่า นักร้องนำถูกยิงตายเสียก่อน เขาเลยต้องเป็นหนี้ยกใหญ่

บทเพลงของชลธี ธารทองมีจุดเด่นในการเลือกสรรถ้อยคำในลักษณะของกวีนิพนธ์มาใช้ในการแต่งเพลง เนื้อหามีสาระส่งเสริมคุณค่าวิถีชีวิตไทย ท่วงทำนองเพลงมีความไพเราะตรึงใจผู้ฟัง บทเพลงมีความดีเด่นในศิลปะการประพันธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ เป็นนักแต่งเพลงที่แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงเอง ผลงานเพลงล้วนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักฟังเพลง สร้างนักร้องลูกทุ่งให้มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากอาทิ สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, ก๊อต จักรพันธ์, ศรเพชร ศรสุพรรณ, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, เสรีย์ รุ่งสว่าง, เอกพจน์ วงศ์นาค, แอ๊ด คาราบาว, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, ดำรง วงศ์ทอง, เฉลิมพล มาลาคำ เป็นต้น

ผลงานการแต่งเพลง

ชลธี ธารทองมีผลงานการประพันธ์เพลงมากกว่า 2,000 เพลงที่เป็นที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่น

  • พอหรือยัง (สายัณห์ สัญญา)
  • จำปาลืมต้น (สายัณห์ สัญญา)
  • ไอ้หนุ่มรถไถ (สายัณห์ สัญญา)
  • วานนี้รักวันนี้ลืม (สายัณห์ สัญญา)
  • คาถามัดใจ (สายัณห์ สัญญา)
  • ปิดห้องร้องไห้ (สายัณห์ สัญญา)
  • นางฟ้ายังอาย (สายัณห์ สัญญา)
  • พบรักปากน้ำโพ (สายัณห์ สัญญา)
  • คำสั่งเตรียมพร้อม (สายัณห์ สัญญา)
  • คนซื่อที่ไร้ความหมาย (สายัณห์ สัญญา)
  • ทหารอากาศขาดรัก (สายัณห์ สัญญา)
  • ฝากใจไว้ที่เดือน (สายัณห์ สัญญา)
  • นักเพลงคนจน (สายัณห์ สัญญา)
  • แหม่มปลาร้า (สายัณห์ สัญญา)
  • ยินดีรับเดน (สายัณห์ สัญญา)
  • รักทรมาน (สายัณห์ สัญญา)
  • น้ำตาอีสาน (สายัณห์ สัญญา)
  • ลูกสาวผู้การ (สายัณห์ สัญญา)
  • กินอะไรถึงสวย (สายัณห์ สัญญา)
  • ของขวัญจากแฟน (สายัณห์ สัญญา)
  • ล่องเรือหารัก (สายัณห์ สัญญา)
  • ไอ้หนุ่มตังเก (สายัณห์ สัญญา)
  • ของขวัญให้แฟน (สายัณห์ สัญญา)
  • ของขวัญคนจน (สายัณห์ สัญญา)
  • เทพธิดาผ้าซิ่น (เสรี รุ่งสว่าง)
  • จดหมายจากแม่ (เสรี รุ่งสว่าง)
  • หนุ่มทุ่งกระโจมทอง (เสรี รุ่งสว่าง)
  • ร้องเพลงเพื่อแม่ (เสรี รุ่งสว่าง)
  • คนกล่อมโลก (เสรี รุ่งสว่าง)
  • กอดแก้จน (เสรี รุ่งสว่าง)
  • ยินดีรับเดน (เสรี รุ่งสว่าง)
  • รักอันตราย (เสรี รุ่งสว่าง)
  • ไอ้หนุ่มรถซุง (เสรี รุ่งสว่าง)
  • เรียกพี่ได้ไหม (เสรี รุ่งสว่าง)
  • ปิ๊กบ้านเฮาเต๊อะ (เสรี รุ่งสว่าง)
  • จดหมายจากแนวหน้า (ยอดรัก สลักใจ)
  • สาวผักไห่ (ศรเพชร ศรสุพรรณ)
  • ล่องเรือหารัก (ยอดรัก สลักใจ)
  • ห่มธงนอนตาย (ยอดรัก สลักใจ)
  • เงินใช่ไหม (ยอดรัก สลักใจ)
  • คนบ้านนอก (ยอดรัก สลักใจ)
  • สวรรค์บ้านทุ่ง (ยอดรัก สลักใจ)
  • เลือดสีเดียวกัน (ยอดรัก สลักใจ)
  • หน้าอย่างเธอจะรักใครจริง (สดใส รุ่งโพธิ์ทอง)
  • ไอ้ทองร้องไห้ (ศรเพชร ศรสุพรรณ)
  • ไม่รักอย่ามอง (ศรเพชร ศรสุพรรณ)
  • คนจนอย่างพี่ (ศรเพชร ศรสุพรรณ)
  • วันนี้สวยกว่าเมื่อวาน (ก๊อต จักรพันธ์)
  • เมตตาธรรม (เพลงการกุศล สมทบกองทุนเพื่อเด็กไทย)
  • ยังรักเสมอ (ดำรง วงศ์ทอง)
  • เดือนครึ่งดวง (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ผู้หญิงคนสุดท้าย (ดำรง วงศ์ทอง)
  • ทหารก็มีหัวใจ (ดำรง วงศ์ทอง)
  • เรารอเขาลืม (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • ไอ้หนุ่ม ต.ช.ด. (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • แอบฝัน (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • เชื่อผมเถอะน่า (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • สาวโรงงานคนสวย (เอกพจน์ วงศ์นาค)
  • ห่มฝางต่างผ้า (มนต์สิทธิ์ คำสร้อย)
  • ไม่รักแต่คิดถึง (มนต์สิทธิ์ คำสร้อย)
  • เทวดาเพลง (แอ๊ด คาราบาว)
  • กระโถนใบใหม่ (สันติ ดวงสว่าง)
  • พบรักวันเข้าพรรษา (สันติ ดวงสว่าง)
  • บุญหล่นทับ (สันติ ดวงสว่าง)
  • งูสี่ตีน (สันติ ดวงสว่าง)
  • หนุ่มเมืองเพชร (วันชนะ เกิดดี)
  • เสียใจทำไม (วันชนะ เกิดดี)
  • แม่ค้าจ๋าอย่าหน้างอ (วันชนะ เกิดดี)
  • หนุ่มนาหาแฟน (วันชนะ เกิดดี)
  • โรคแพ้ความสวย (วันชนะ เกิดดี)
  • คืนลาอาลัย (สนธิ สมมาตร)
  • แยกทางกันเดิน (นคร มีโชคชัย)
  • หนุ่มเพชรบูรณ์ยังคอย (นคร มีโชคชัย)
  • รักสาวโรงงาน (นคร มีโชคชัย)
  • พอได้ (นคร มีโชคชัย)
  • บักหำถูกหวย (นคร มีโชคชัย)
  • ศิลปิน (บันเทิง ธารทอง)
  • ราชาแห่งราชัน (เพลงถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)
  • ฟ้าร้องไห้ (เพลงถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)

ผลงานแสดงภาพยนตร์

คอนเสิร์ต

  • คอนเสิร์ต 78 ปี ตำนานแห่งสายน้ำ ครูชลธี ธารทอง (16 พฤษภาคม 2558)
  • คอนเสิร์ต 80 ปี ตำนานแห่งสายน้ำ ครูชลธี ธารทอง (2 พฤษภาคม 2560)

งานเขียน

  • หนังสือ "ชลธี ธารทอง เทวดาเพลง" (2547)

ครอบครัว

มีลูกด้วยกัน 2 คนที่เกิดกับภรรยาคนแรก คือ นายเอกรินทร์ ทองมา หรือหนุ่ม กับ นางสาวชลาลัย ทองมา หรือแนน ส่วนภรรยาคนที่ 2 คือนางศศิวิมล ทองมา หรือครูปุ้ม ซึ่งมีอายุห่างกันถึง 28 ปี[3]

เกียรติยศ

  • แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน 1 รางวัล จากเพลง“อีสาวทรานซิสเตอร์” ปี 2525
  • รางวัลเสาอากาศทองคำ 3 รางวัล จากเพลง “น้ำตาอีสาน”ปี 2518, “ใต้ถุนธรณี” ปี 2521และ "ห่มธงนอนตาย” ปี 2519
  • รางวัลงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยภาค 1-2 รวมจำนวน 7 รางวัล จากเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก", "ไม้เรียวครู", " สาวใต้ไร้คู่" และ "อีสาวทรานซิสเตอร์" ปี 2532 และจากเพลง “ล้นเกล้าเผ่าไทย", "เทพธิดาผ้าซิ่น" และ แรงงานข้าวเหนียว ปี 2534
  • รางวัลชนะเลิศเพลงประเพณีสงกรานต์ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ 1 รางวัล ปี 2533
  • รางวัลลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรมไทย 3 รางวัล จากเพลง" หนาวใจชายแดน", "พบรักนครพนม" และ"จงทำดี”
  • โล่เกียรติคุณงานมหกรรมเพลงอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียจากเพลง"อีสาวทรานซิสเตอร์" ปี 2524
  • ได้รับเกียรติให้นำผลงานเพลง "ล้นเกล้าเผ่าไทย" แสดงในงาน 60 ปี เล่าขานตำนานลูกทุ่งไทย [4]

เสียชีวิต

ชลธี ธารทอง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.57 น. ในวัย 85 ปี หลังจากเข้ารักษาตัวด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร [5]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ์ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานหีบลายก้านแย่ง และพระราชทานพวงมาลาวางที่หน้าหีบศพด้วย พร้อมกันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาส่วนพระองค์วางที่หน้าหีบศพด้วย และเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ.2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีศิลปินนักร้องผู้ที่ใกล้ชิดกับชลธี ธารทอง ตลอดจนประชาชนมาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. ประวัติ ชลธี ธารทอง ครูเพลงชื่อดัง ศิลปินแห่งชาติ
  2. จากหนังสือ เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0 ระบุว่าเกิดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2480
  3. นัดสืบพยานโจทก์ 'ครูปุ้ม' ยื่นฟ้องแพ่งเรียก3ล้านเลขาคนสนิทสามี 'ชลธี ธารทอง'
  4. ประวัติ...ชลธี ธารทอง...ศิลปินแห่งชาติ
  5. "สุดเศร้า ครูชลธี ธารทอง เสียชีวิตในวัย 85 ปี หลังรักษาตัว รพ. เกือบ 3 เดือน". www.thairath.co.th. 2023-07-21.
Kembali kehalaman sebelumnya