Share to:

 

มนัส ปิติสานต์

มนัส ปิติสานต์
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด1 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 (96 ปี)
มนัส ปิติสานต์
อาชีพนักดนตรี, นักประพันธ์เพลง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2486 - ปัจจุบัน
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2555 - สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล)
เมขลาเพลงประกอบละครยอดเยี่ยม
พ.ศ. 2526 - "ดาวพระศุกร์"

พันจ่าอากาศเอก มนัส ปิติสานต์[1] (เกิด 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2471) เป็นนักดนตรี และนักประพันธ์เพลง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ประจำปี 2555 เกิดที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายมูล และนางจำเริญ ปิติสานต์ บิดารับราชการจึงติดตามบิดามาเรียนหนังสือที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แล้วย้ายมาเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนเนติศึกษา ย่านราชวัตร จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ย้ายไปเรียนที่กองดุริยางค์ทหารอากาศ เป็นลูกศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ รุ่นเดียวกับ สง่า อารัมภีร, ปรีชา เมตไตรย์, ชลหมู่ ชลานุเคราะห์ และฑีฆา โพธิเวส เข้ารับราชการเป็นนักดนตรีกองดุริยางค์ทหารอากาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 จนเกษียณอายุราชการ

มนัส ปิติสานต์ มีโอกาสร่วมงานกับ สง่า อารัมภีร และ ปรีชา เมตไตรย์ เล่นดนตรีและแต่งเพลงร้อง เพลงละครเวที ให้กับคณะศิวารมณ์ของ หม่อมหลวงทรงสอางค์ ฑิฆัมพร ต่อมาทั้งสามท่านได้ร่วมกันก่อตั้ง วงดนตรีกระชับมิตร ในปี พ.ศ. 2498

มนัส ปิติสานต์ มีผลงานแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงเช่น เพลง "เสน่หา" (แต่งเมื่อ พ.ศ. 2507 ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ พ.ศ. 2509) "เหมือนคนละฟากฟ้า" (แต่งเมื่อ พ.ศ. 2503 คำร้องโดย จงรัก จันทร์คณา ขับร้องโดยธานินทร์ อินทรเทพ เมื่อ พ.ศ. 2506) "ระฆังใจ", "คืนนั้น", "ไม่มีเสียงเรียกจากใจ", "เพื่อเธอที่รัก", "เปลวไฟรัก", "ฝนรักฝนเศร้า", "คืนคำรัก" "เธอก็รู้" และ "ฝันกลางฤดูฝน" ฯลฯ

มนัส ปิติสานต์ ยังได้ประพันธ์เพลงประกอบละครโทรทัศน์ที่สร้างชื่อเสียงไว้เกือบร้อยเรื่อง ได้แก่เพลง "พิภพมัจจุราช" (ชับร้องโดย วิเชียร ภู่โชติ [2]) "กระสือ", "หุ่นไล่กา", "อมฤตาลัย", "ปอบผีฟ้า", "แม่นาคพระโขนง", "สิงหไกรภพ", "สี่ยอดกุมาร", "แก้วนพแก้ว", "ขุนแผนผจญภัย", "ห้องหุ่น", "ดาวพระศุกร์", "ซ่อนกลิ่น", "กฏแห่งกรรม", "ละอองดาว", "จินดาสมุทร", "เจ็ดสุริยัน", "จุดเจ็บในดวงใจ", "เจ้าสาสชุดสีดำ", "ขวานฟ้าหน้าดำ", "เจ้าหญิงแตงอ่อน", "นางสิบสอง", "ฉนวนบาป", "ช้างเพื่อนแก้ว", "บาอาลี", "ความรักมักเป็นอย่างนี้" ฯลฯ

ผลงานเพลง "เหมือนคนละฟากฟ้า" (คำร้องโดย จงรัก จันทร์คณา) ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ครั้งที่ 1 จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประเภทนักร้องชายชนะเลิศ เพลงไทยสากล ประเภท ก. ประจำปี พ.ศ. 2507

อ้างอิง

  1. น.อ.อภิชัย ศักดิ์สุภา (นนอ.๒๒). "พันจ่าอากาศเอก มนัส ปิติสานต์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๕". atatat9.blogspot.com. สืบค้นเมื่อ 2019-03-13.
  2. บทสัมภาษณ์ครูมนัส ปิติสานต์ เก็บถาวร 2020-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย 2 ตุลาคม 2549
  • ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3


Kembali kehalaman sebelumnya