เพลิน พรหมแดน
สมส่วน พรหมสว่าง หรือรู้จักในชื่อ เพลิน พรหมแดน เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงเป็นที่รู้จักในเพลง ชมทุ่ง, บุญพี่ที่น้องรัก, คนเดินดิน, คนไม่มีดาว, อย่าลืมเมืองไทย, ข่าวสดๆ, อาตี๋สักมังกร และให้พี่รวยเสียก่อน ซึ่งส่วนมากเป็นเพลงพูด จึงได้รับสมญานาม ราชาเพลงพูด[1] ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำ พ.ศ. 2555[2][3] ประวัติมีชื่อจริงว่า สมส่วน พรหมสว่าง มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านกิโลสอง อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันแยกออกมาเป็นจังหวัดสระแก้ว) เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นบุตรของนายปลื้มและนางตุ่น พรมสว่าง มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน เป็นบุตรคนที่ 5 เริ่มศึกษาในระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศรีอรัญโญทัย หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาแล้ว ได้ช่วยพ่อแม่ทำนาอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นบรรพชาเป็นสามเณร และจำพรรษาอยู่ ณ วัดเศวตฉัตร กรุงเทพมหานคร เมื่อสอบได้นักธรรมโท จึงลาสิกขาออกมาช่วยบิดามารดาทำนาที่บ้านเกิด เข้าสู่วงการเนื่องจากเป็นผู้มีนิสัยชื่นชอบการร้องเพลง เมื่ออายุประมาณเกือบ 20 ปี ได้สมัครเข้าประกวดร้องเพลงตามงานต่างๆ ที่รับสมัครประกวดร้องเพลง และได้เข้ามาร้องเพลงเชียร์รำวงในคณะรำวง "คณะตาเหมือน" เมื่อสถานีวิทยุยานเกราะประกาศรับสมัครประกวดร้องเพลง นายสมส่วนได้สมัครเข้าแข่งขัน และได้รับรางวัลชนะเลิศ ภายหลังได้ก้าวเข้าสู่วงการดนตรีโดยเข้าสังกัดในคณะวงดนตรีชุมนุมศิลปิน หัวหน้าวงดนตรี คือ จำรัส วิภาตะวัต ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนชื่อจากนายสมส่วน พรหมสว่าง มาเป็น เพลิน พรหมแดน จนได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิตเพลง ทุ่งร้างนางลืม ผลงานของ "นิยม มารยาท" ต่อมาได้แยกตัวออกมาตั้งวงดนตรี เพลิน พรหมแดน โดยเพลงส่วนใหญ่ เพลิน พรหมแดน จะเป็นผู้ประพันธ์เองและร้องเอง แนวเพลงที่ทำให้ประสบความสำเร็จจะเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและคำพูดในแนวตลกสนุกสนานจนได้รับสมญานามว่า ราชาเพลงพูด เพลงแรกที่ เพลิน พรหมแดน ได้ร้องแล้วพูดในเพลงคือ "สมัครด่วน" ใน พ.ศ. 2513 ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้ชักชวนให้แสดงภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกคือ ฝนใต้ ตามต่อเรื่อง ฝนเหนือ และระเริงชล และใน พ.ศ. 2522 ได้แสดงเป็นพระเอกเรื่อง แค้นไอ้เพลิน คู่กับนางเอก วิยะดา อุมารินทร์ สำหรับวงดนตรีเพลิน พรหมแดน ได้ยุบวงดนตรีไปนานแล้ว แต่ยังร้องเพลงตามงานต่าง ๆ ที่มาติดต่อให้ไปแสดง ผลงานที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาจังหวัดสระแก้ว ได้แก่ การบูรณะวัดกิโลสาม (วัดศรีอุทัย) ให้เป็นวัดธรรมยุติประจำอำเภออรัญประเทศ และได้ยกที่ดินบางส่วนให้กับเทศบาลอรัญประเทศเพื่อขยายโรงเรียนเทศบาลกิโลสอง เสียชีวิตเพลิน พรหมแดน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลาประมาณ 11:10 น. สิริอายุ 85 ปี[4][5] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ , หีบลายก้านแย่ง และ พวงมาลาพระราชทาน ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาวางที่หน้าหีบศพด้วย ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ผลงานเพลงชุด คนโคราช
ชุด เมืองนักปราชญ์
ชุด อาก๋งกับอาม้า
ชุด คนเก่งภาษา
ชุด ปูไข่ไก่หลง
ชุด ผู้ใหญ่ลีดิสโก้
ชุด คนเดินดิน
ชุด ชมทุ่ง
ชุด คนไม่มีดาว
ชุด กลัวตาย
ชุด แอ่วสาว
ชุด กลัวดวง
ชุด ตลาดเมืองใต้
ชุด ให้พี่รวยเสียก่อน
ชุด ชมกรุง
ชุด สมัครด่วน
ชุด ศิษย์หนุ่มกับครูสาว
ชุด ผู้แทนมาแล้วประพันธ์เพลงโดย มนต์ เมืองเหนือ
ชุด มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ชุด เลือกตั้งผู้ว่า
ชุด เปาบุ้นจิ้นเผาศาล
ชุด สามกั๊ก
ชุด ยาบ้า
ชุด รวมฮิตราชาเพลงพูด
ชุด แชร์อาเชี่ยน
ชุด คนโคราชตะลุยเมืองหลวง
ชุด อาตี๋สักมังกร ตอน มังกรโปลิโอ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|